Thursday, 15 May 2025
Hard News Team

"พรรคกล้า" จับมือภาครัฐ-เอกชน สร้างศูนย์พักคอย โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ รองรับผู้ป่วยเคสสีเหลือง-แดง เขตจอมทอง , บางบอน , บางขุนเทียน ย้ำวัฒนธรรมการลงมือทำสำคัญ 

กลุ่มกล้าอาสา พรรคกล้า นำโดยนายอรรถวิชช์  สุวรรณภักดี ร่วมกับสำนักงานเขตจอมทอง ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 โรงพยาบาลคลองตัน การไฟฟ้านครหลวง ทพ.ศิรศักดิ์ ตั้งทองหยก - ทพ.ธัญวิชญ์ เผือกขาว และกลุ่มเพื่อนกรุงเทพคริสเตียน กลุ่มหมออาฟ Mastermind มูลนิธิบูรณพุทธ กลุ่มสหวิชาชีพจิตอาสา และโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ เปิดศูนย์พักคอย โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า เขตจอมทอง ถือเป็นอีกหนึ่งเขตที่มีผู้ติดเชื้อสูงที่สุดติดอันดับ 5 ของ กทม. ซึ่งหวังว่าศูนย์แห่งนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน รองรับผู้ติดเชื้อที่เข้ามากักตัว รักษาอาการ รวมถึงฟื้นฟูร่างกายหลังพ้นระยะวิกฤต เป็นศูนย์ดูแลสำหรับผู้ป่วยขาเข้าและขาออก 

"การสร้างศูนย์พักคอยแห่งนี้ เป็นความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคงที่มีทหารเรือ ทหารบก เข้ามาช่วย และภาคเอกชน พรรคการเมือง โดยปราศจาการเมือง การแบ่งฝ่าย  เราเป็นมุมเล็กๆ แต่สิ่งที่เรามีคือการร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันทำให้มันเกิดขึ้น วัฒนธรรมการลงมือทำ สำคัญ จุดพักคอย อย่าหยุดสร้าง มีหรือไม่มีคนใช้ สร้างไปก่อน" นายอรรถวิชช์ กล่าว 

ศูนย์พักคอยโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ถึงระดับเหลืองและแดง คือกลุ่มที่มีอาการปานกลางไปจนถึงหนัก โดยมีทีมแพทย์ พยาบาลจากศูนย์บริการสาธารณสุข 29 และโรงพยายบาลคลองตัน เป็นผู้ดูแล สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 40 เตียง ในพื้นที่จอมทอง บางบอน บางขุนเทียน และพื้นที่ใกล้เคียง โดยผู้ติดเชื้อ ต้องลงทะเบียนทางสายด่วน 1330 หรือโทรไปที่ 20 คู่สายเขต จากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะประสานเพื่อให้มาพักที่ศูนย์พักคอยแห่งนี้

รมว.ยุติธรรม แจง พืชกระท่อมปลูก ใช้ ครอบครอง ขายใบสดได้เสรี น้ำต้มกินเอง-แจกจ่ายได้ แต่หากจะนำมาทำอาหาร-น้ำสมุนไพรขายยังผิดกฎหมาย สาธารณสุขกำลังเร่งปรับแก้ให้สอดคล้อง 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ภายหลังจากที่รัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ซึ่งเป็นการถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไปแล้วนั้น แต่ยังมีหลายคนสงสัย เกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมว่าสามารถทำในส่วนใดได้บ้าง ดังนั้นตนจึงขอชี้แจงว่า ในส่วนของการเคี้ยวใบ การปลูก การครอบครองและการขายใบสดที่ไม่ได้ปรุงหรือทำเป็นอาหารทำได้อย่างเสรีไม่ผิดกฎหมาย แต่ส่วนการนำไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่แจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข เพราะมี พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุมอยู่ นอกจากนี้การนำไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น  พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ยังไม่ปลดล็อคให้สามารถนำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ โดยประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ. 2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย หรือแม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลยก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิตเพื่อจำหน่ายตามประกาศฉบับนี้ การฝ่าฝืน ผลิต และขาย อาหาร ที่ พ.ร.บ. อาหาร ห้าม มีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือน - 2 ปี ปรับ 5,000 - 20,000 บาท

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอาง ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ จากพืชกระท่อมได้อย่างเต็มที่ กระทรวงสาธารณสุขจึงสมควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ จากพืชกระท่อมเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอางได้เรื่องนี้เป็นอุปสรรคในการค้าขายแบบชาวบ้าน ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. .... คณะกรรมาธิการฯ ซึ่งตนเป็น ประธานฯ ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะส่งให้กระทรวงสาธารณสุขรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไปแล้ว แต่สำหรับในช่วงนี้ที่ประกาศยังไม่ถูกแก้ไข หากผู้ประกอบการที่อยากจะพัฒนาต่อยอดเพื่อสกัดหรือแปรรูปพืชกระท่อมโดยใช้ประโยชน์จากสารสำคัญในใบกระท่อมเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือยาแผนโบราณ ที่มีสรรพคุณในการบำบัดหรือบรรเทาออาการต่าง ๆ นั้น สามารถขอคำแนะนำหรือติดต่อได้ที่ กองควบคุมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)

"กรณ์ พรรคกล้า" ชี้!! หลังโควิดโลกเปลี่ยนครั้งใหญ่ แนะไทยต้องมีรัฐบาลมืออาชีพด้านเศรษฐกิจ-เทคโนโลยี

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ก่อตั้งสมาคมไทย-ฟินเทค ร่วมเวทีสัมมนาใหญ่ประจำปีของเครือหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยเขาได้รับเชิญในฐานะรัฐมนตรีคลังของไทย ที่ได้รับการยกย่องจากสื่อดังกล่าวให้เป็นรัฐมนตรีคลังโลกเมื่อปี 2553 เพื่อร่วมสัมมนาและหาทางออกให้กับความเปลี่ยนแปลงของโลกร่วมกับนักการเมืองชั้นนำของโลกหลายคน 

ภายในงานมีการจัดเวทีเป็นลักษณะ 8 เวทีคู่ขนานสามารถเลือกฟังได้ตามประเด็นที่สนใจ ธีมหลักของงานคือ "โลกหลังโควิด และความเปลี่ยนแปลงในขั้วอำนาจหลักของโลก" เพื่อให้ทุกประเทศเตรียมความพร้อมยุคที่เรียกว่า 'ดิสรัปชั่น' โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐอเมริกาและ NATO ได้ถอนตัวจากอัฟกานิสถาน หลายคนเอาประสบการณ์ของตนมาใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี John Major และ Dame Sarah Gilbert ผู้ค้นคว้าวัคซีน Oxford Astra Zeneca ซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดมีผลต่อประเทศไทยทุกเรื่อง 

นายกรณ์ ได้ตั้งคำถามภายหลังร่วมงานว่า จากการเปลี่ยนแปลงระดับโลกในครั้งนี้ รัฐมนตรีหรือ ส.ส.ของเราติดตามหรือใส่ใจมากพอหรือไม่ ทุกประเด็นในเวทีการเมืองของไทย กลับกลายเป็นประเด็นการแบ่งข้างทางการเมือง ทุกปัญหาจึงเป็นเรื่องความขัดแย้ง หาทางออกได้ยาก ซึ่งหากใครคิดว่าโลกจะเป็นอย่างไร เราก็อยู่ของเราได้ คงต้องคิดใหม่ครับ ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเรามีบทเรียนมากมายจาก Financial Crisis : Hamburger Crisis ปี 2008, Covid, Climate Crisis หรือการแข่งขันระหว่างขั้วอำนาจจีน-สหรัฐอเมริกา ทุกเรื่องทุกเหตุการณ์ส่งผลตรงกับเราทั้ง ๆ ที่เราอยู่ของเราดี ๆ ไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับใครมากมาย แต่สุดท้ายก็ไม่แคล้วต้องรับผลของปัญหามาเป็นภาระของเราที่ต้องแก้ไข 

“วันนี้ประเทศไทยเราแทบไม่อยู่ในสายตาต่างชาติ หากเทียบกับ 20-30 ปีที่แล้วในยุค 'โชติช่วงชัชวาล' ระดับความสนใจต่อประเทศเรามีน้อยลงมาก เสน่ห์เราหาย เราเหมือนหนุ่มสาวที่พึ่งพารูปร่างหน้าตาจนลืมที่จะพัฒนาตัวเอง วันดีคืนดีเราพบว่ามีคนอื่นเขาสดกว่าเรามาดึงดูดความสนใจไป แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือเพื่อนวัยเดียวกันก็ไปไกลแล้ว เพราะเขาเพิ่มทักษะและเสริมความรู้มาตลอด ในขณะที่เราต้องแต่งหน้าเสริมสวยมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาเลิกพึ่งพาหน้าตามานานแล้ว ซึ่งก็อีก หากใครบอกว่า ใครไม่สนก็ช่างเขา ก็คงไม่ได้อีก เพราะวันนี้เราต้องพึ่งทั้งการลงทุน ทั้งนักท่องเที่ยว และทั้งการส่งออกสินค้านานาชนิดไปต่างประเทศ และทั้งหมดนี้กลับกลายเป็นเงินเข้ากระเป๋าพี่น้องชาวไทยของเราทั้งหมด เราเลยยิ่งต้องใส่ใจ” นายกรณ์ กล่าว

และยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า โควิดทำให้เราเห็นว่า รัฐบาลมีความสำคัญกับชีวิตเราแค่ไหน มีอำนาจและบทบาทเหนือชีวิตเราในระดับที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน สั่งให้เราห้ามออกจากบ้านได้เป็นเดือน ๆ จัดยา จัดวัคซีนให้กับเรา ดูแลให้เรามีเงินใช้ มีข้าวกิน (ช้าบ้าง ไม่พอบ้าง) ออกคำสั่งปิด-เปิดประเทศ ปิด-เปิดร้านค้าร้านอาหาร และสร้างภาระหนี้มหาศาลให้เราและลูกหลานเรา อำนาจนี้เสมือน ดาบอำนาจรัฐที่เมื่อดึงออกจากฝักแล้วคงไม่ใส่กลับง่าย ๆ 

เราจึงยิ่งจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่รอบรู้ มีความสามารถ มีความเป็นมืออาชีพโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและ เทคโนโลยี และต้องพร้อมฟังและตัดสินใจด้วยหลักศีลธรรมและความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่า ยิ่งรัฐบาลมีบทบาทและอำนาจมาก ยิ่งต้องมีความโปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะเป็นเช่นนี้ได้ต้องเป็นรัฐบาลโดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง และนี่คือบทเรียนที่สำคัญที่สุดของเราจากโควิด

ก.แรงงาน เร่งระดมสมองวางแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve 

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 4/2564 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และผ่านระบบ Video Conference โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้แทนสภาองค์การนายจ้าง ผู้แทนสภาองค์การลูกจ้าง ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนร่วมประชุม โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเสนอ 4 เรื่องให้      ที่ประชุมพิจารณา ได้แก่ การเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กพร.ปจ. แทนตำแหน่งที่ว่างลง การแก้ไขเพิ่มเติมรายชื่ออนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กพร.ปจ. (ร่าง) แผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve (พ.ศ.2565-2570) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพ (พ.ศ.2564-2570)  

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพของกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างระบบการศึกษากับระบบการพัฒนากำลังแรงงาน ประสานนโยบายแผนการพัฒนาฝีมือแรงงาน และแผนการฝึกอาชีพของ ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อความเป็นเอกภาพในการพัฒนาแรงงาน ขจัดปัญหาความซ้ำซ้อนและความสิ้นเปลือง รวมถึงติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการพัฒนาแรงงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพ โดยมีคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) เป็นกลไกระดับจังหวัดในการขับเคลื่อนติดตามและดำเนินงานตามแผนการพัฒนากำลังแรงงานในพื้นที่จังหวัด 

การประชุมในวันนี้ นอกจากเรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอแล้ว กพร. ได้รายงานถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ได้ปรับปรุงคำสั่งให้เป็นปัจจุบัน เพิ่มองค์ประกอบของ กพร.ปช. และปรับปรุงอำนาจหน้าที่แล้ว 
การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ขณะนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมการบินและ   โลจิสติกส์จัดทำแผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแล้วเสร็จ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ นั้น อยู่ระหว่างการประชุมร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อยกร่างแผนผังตำแหน่งงานและแนวโน้มการจ้างงานใน   แต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมายในรูปแบบการระดมความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 

การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพ สรุปการจัดงานสัมมนาออนไลน์ “ให้กลไกตลาดทุน เกื้อหนุนผู้พิการ สร้างงานสร้างอาชีพ” เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบไมโครซอฟท์ทีม และถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊ค ของ กลต. กระทรวงแรงงาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน  ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาประกอบด้วยผู้บริหาร ผู้แทนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ องค์กร สมาคมคนพิการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จำนวน 524 คน โดยมีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์สนใจทำ CSR ด้านคนพิการ จำนวน 75 แห่ง ซึ่ง กพร. จะติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานต่อไป และการสนับสนุนซิมการ์ดพัฒนาฝีมือแรงงานออนไลน์ 500 ซิม จาก บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

ในการนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดพิธีแถลงข่าวและรับมอบซิมการ์ด จำนวน 500 ชุด เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ณ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดย กพร. ร่วมกับสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ดำเนินการแจกจ่ายซิมการ์ดให้แก่กลุ่มแรงงานคนพิการและกลุ่มเปราะบางเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ยกระดับศักยภาพด้านดิจิทัล ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผลการช่วยเหลือแรงงานกลุ่มเปราะบาง ประจำปี 2564 กระทรวงแรงงานเป้าหมาย 72,150 แห่ง ผลการสำรวจแล้ว 22,370 แห่งและการเตรียมรองรับการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 อีกด้วย “คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) มีองค์ประกอบมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมกันบูรณาการและวางแผนการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อความเป็นเอกภาพในการพัฒนาแรงงาน เพื่อให้แรงงานมีความรู้และทักษะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ให้แรงงานไทยสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ และเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง” อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย

“ดอน” แจงกต.แค่ติดต่อเจรจา ตปท.หาวัคซีนเข้าไทย “โยน” สธ.ชี้ขาดรับของหรือไม่  ยัน 2 กระทรวงไร้ปัญหา 

ที่ทำเนียบรัฐบาล  นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลกำลังเจรจาสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่มอีก ว่า  กระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบหมายเป็นเพียงฝ่ายติดต่อ โดยเราถือเป็นจุดเริ่มต้นในการไปหาว่าประเทศไหนมีวัคซีนอะไร และประเทศไหนพร้อมจะขาย โดยเราจะให้ทูตไปติดต่อประสานงาน  ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ตัดสินใจเลือกว่าจะซื้อวัคซีนนั้นๆหรือไม่  และเมื่อเราติดต่อได้แล้ว กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องมาพิจารณาว่าเข้าแผนที่ได้วางไว้หรือไม่  อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีระบบการจัดสรรวัคซีน 3 ระบบ คือ 1.การรับบริจาค 2.การแลกเปลี่ยน และ3.การซื้อ  ทั้งนี้ เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ถ้าประเทศไหนบอกว่าไม่ต้องการเงิน และพร้อมจะให้เรา  เราก็ยินดีรับ  หรือบางประเทศที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ แต่เขาต้องการขายเพื่อเอาเงิน เราก็ซื้อ ขณะที่การแลกเปลี่ยนนั้น ถ้าประเทศใดมีวัคซีน เขาให้เราก่อน แล้วถ้าเรามีวัคซีนเหลือ เราก็เอาไปใช้คืนเขา 
 
เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่ากระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงสาธารณสุขไม่ค่อยจะลงรอยกันเท่าไหร่  นายดอน กล่าวว่า  คนพูดกันไปเอง ขอยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกัน กระทรวงการต่างประเทศมีทูตอยู่ทั่วโลก เรามอบหมายให้ทูตไปติดต่อแล้วมาแจ้งกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งเขาจะไปวางแผนเรื่องการใช้วัคซีน

 “เป็นเรื่องแปลกที่มีคนพยายามพูดโยงอย่างนั้นอย่างนี้ให้มีปัญหากัน ทั้งที่ไม่มีปัญหา  ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องการเมือง เพราะเห็นมีปัญหาอยู่อย่างเดียวที่พยายามทำให้เกิดปัญหา คือการเมืองในบ้านเรานั่นเอง หลายประเทศบอกว่าเขาไม่มาหรอก ให้พวกคุณไปทะเลาะกันให้เรียบร้อยก่อน” นายดอน กล่าว

เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีได้กำชับอะไรในเรื่องการประสานกับต่างประเทศหรือไม่  นายดอน กล่าวว่า  ไม่มี เพราะที่ผ่านมา เราติดต่อทำความตกลงเองมา 7 ปีอยู่แล้ว ซึ่งราบรื่นมาตลอด และเรารายงานนายกรัฐมนตรีให้รับทราบตลอดเช่นกัน  นายกรัฐมนตรีจึงไม่ต้องห่วง เพราะอะไรอยู่แล้ว ตอนนี้ถือว่าการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศในการติดต่อกับประเทศต่างๆ มีความเสถียรและรู้ว่าจะต้องทำอะไร จังหวะไหน อย่างไร เพื่ออะไร  แต่ตนอยากให้สื่อมวลชนช่วยทำความเข้าใจกับคนในประเทศเราด้วย อย่าให้มีปัญหา มิฉะนั้นจะทำให้เรื่องที่ควรจะเดินต่อ ไม่สามารถเดินหน้าได้  จึงต้องช่วยกันออกข่าวเตือนประชาชนบ้าง เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ  เพราะถ้าเราทำให้มีปัญหาอยู่ตลอดเวลา ก็จะทำให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต  

'หมอเฉลิมชัย' เผยข้อมูลการฉีดวัคซีนให้เด็กในต่างประเทศ สะท้อนเด็กไทยควรฉีดวัคซีนโควิดตัวไหน ระหว่าง Sinovac Sinopharm Pfizer และ Moderna แนะผู้ปกครองพิจารณา 3 มิติ

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  

เด็กไทยควรฉีดวัคซีนโควิดตัวไหนดี ระหว่าง Sinovac Sinopharm Pfizer และ Moderna

ในสถานการณ์โควิดกำลังเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก กินเวลากว่าหนึ่งปีเศษแล้วนั้น ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นกลุ่มที่มีรายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการฉีดวัคซีนน้อยที่สุด เพราะนักวิจัยมักจะหลีกเลี่ยงการทดลองในอาสาสมัครเด็กเสมอ โดยจะเริ่มทำการทดลองในอาสาสมัครที่เป็นผู้ใหญ่ก่อน หลังจากนั้นก็จะขยับมาทำการทดลองในผู้สูงอายุ และจะทดลองในเด็กเป็นลำดับสุดท้าย

เพราะเด็กเป็นวัยที่เปราะบาง ร่างกายยังไม่สมบูรณ์แข็งแรง และจิตใจก็ยังไม่เป็นผู้ใหญ่พอ ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครอง มักจะไม่ยินยอมให้เด็กเข้าสู่การทดลองใดใดทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องการทดลองยาหรือวัคซีน

โดยในช่วงเริ่มต้น เราจะมีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนในอาสาสมัครอายุ 18-59 ปีเป็นหลัก แล้วจะเริ่มขยับไปทดลองในกลุ่มสูงอายุ ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

ส่วนการทดลองในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา ก็จะเป็นกลุ่มสุดท้าย และจะค่อยทดลองจากอายุมากขยับลงไปหาอายุน้อยที่สุดเป็นลำดับ

จนถึงปัจจุบัน ทุกวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติให้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะกำหนดให้ฉีดในผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นของ Pfizer ที่ทดลองในเด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป

ต่อมาเริ่มมีการวิจัยการให้วัคซีนในผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปี และมีข้อสรุปดังนี้

1.) ในเด็กและเยาวชนที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป สามารถฉีดวัคซีนของ Pfizer และ Moderna ได้ในประเทศที่ได้รับการอนุมัติให้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

2.) ในกลุ่มที่มีการทดลองยังไม่สมบูรณ์ และให้เริ่มฉีดได้เลย ได้แก่

(2.1) ชิลี ให้ฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบเป็นต้นไป
(2.2) คิวบา ให้ฉีดในเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปได้

3.) ในส่วนที่ทำการวิจัยทดลองยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังไม่อนุญาตให้ฉีดเป็นการทั่วไป  ได้แก่

(3.1) วัคซีนของ Pfizer และ Moderna กำลังทดลองฉีดในอายุตั้งแต่ห้าขวบขึ้นไป
(3.2) วัคซีนของ Sinovac และ Sinopharm กำลังทดลองฉีดในเด็กอายุสามขวบขึ้นไป

สำหรับในประเทศไทย โดยคำแนะนำของสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ได้แนะนำ

1.) ยังไม่ฉีดเป็นการทั่วไป ในเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีลงมา

2.) เด็กอายุ 12-15 ปี ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงคือมีโรคประจำตัวที่อาจจะเป็นอันตราย ให้พิจารณาฉีดวัคซีนได้

ก็จะมาถึงปัญหาของคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองว่า ถ้าลูกตนเองอยู่ในกลุ่มที่จะฉีดวัคซีนได้แล้ว จะฉีดวัคซีนบริษัทไหนดี ด้วยเหตุผลว่าอะไร คงจะต้องพิจารณาจาก 3 มิติด้วยกัน

1.) มิติผลข้างเคียง วัคซีนเทคโนโลยี mRNA เป็นเทคโนโลยีใหม่ ยังไม่เคยผลิตเป็นวัคซีนและฉีดให้เด็กและเยาวชนมาก่อนเลย และเริ่มพบมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็กและเยาวชนผู้ชายพอสมควร พบประมาณ 5 รายใน 1 ล้านโดส

ส่วนวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย ได้เคยผลิตวัคซีน และนำมาฉีดในเด็กและเยาวชนมาหลายสิบปีแล้ว จึงมีความสบายใจได้ในเรื่องผลข้างเคียง

2.) มิติประสิทธิผล วัคซีนเทคโนโลยี mRNA มีประสิทธิผลสูงกว่าเทคโนโลยีเชื้อตาย

3.) มิติการเจ็บป่วยจากโควิด พบว่าในเด็กและเยาวชน เมื่อติดโควิดแล้วจะไม่ค่อยแสดงอาการ ในรายที่แสดงอาการ ก็จะมีอาการไม่ค่อยรุนแรง และมีจำนวนป่วยหนักและเสียชีวิตค่อนข้างน้อย

โดย 3 มิติดังกล่าวข้างต้น คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองจึงต้องชั่งใจให้ครบถ้วนว่า จะฉีดวัคซีนให้บุตรหลานตนเองหรือไม่อย่างไร และจะฉีดด้วยวัคซีนอะไรดี

สำหรับในประเทศไทย อย.ได้จดทะเบียนให้วัคซีน Pfizer กับ Moderna สามารถฉีดในอายุ 12 ปีขึ้นไปได้

ส่วนวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย Sinopharm ได้ยื่นขอจดทะเบียนฉีดในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปแล้ว กำลังรอผลการพิจารณา

ส่วนวัคซีน Sinovac จะยื่นขอจดทะเบียนในเร็ววันนี้ สำหรับฉีดในเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป

ส่วนการฉีดวัคซีนให้กับเด็กในต่างประเทศนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลพบว่า ประเทศคิวบาเป็นประเทศแรกในโลก ที่ประกาศฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ให้กับเด็กอายุน้อย ตั้งแต่สองขวบขึ้นไป เพื่อรองรับการเปิดเทอม โดยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 คิวบาได้สร้างความประหลาดใจให้กับทั่วโลก โดยการประกาศให้ฉีดวัคซีนสองยี่ห้อ คือ Abdala และ Soberana ซึ่งใช้โปรตีนเป็นฐานแบบเดียวกับ Novavax และ Sanofi ให้กับเด็กตั้งแต่อายุ 2 ขวบถึง 11 ปี

สหรัฐอเมริกา อิสราเอล เยอรมัน ฝรั่งเศส ให้ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ เฉพาะของ Pfizer

ชิลี ให้ฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไปได้ ของ Sinovac

อังกฤษและไทย ให้ฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป ส่วนอายุ 12-15 ปี ฉีดให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้แก่ มีโรคประจำตัว

โดยที่บริษัท Pfizer และ Moderna กำลังวิจัยทดลองในเด็กอายุตั้งแต่ห้าขวบขึ้นไป

ส่วนบริษัท Sinovac และ Sinopharm กำลังวิจัยทดลองในเด็กอายุตั้งแต่สามขวบขึ้นไป


ที่มา : https://www.blockdit.com/posts/6138ba2e4d06050c5ead97df

“โฆษกรัฐบาล” ป้อง “นายกฯ” ซื่อสัตย์สุจริต ลั่น ไม่จำเป็นต้องแจกเงิน ส.ส.แลกโหวตไว้วางใจ จ่อให้ฝ่ายกฎหมาย เอาผิดคนพูดเท็จทำเสียหาย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ระบุว่า 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมรวมหลักฐานยื่นให้คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการกรณีมีคนจ่ายเงินให้ส.ส.ที่ชั้น 3 อาคารรัฐสภา เพื่อจูงใจให้ส.ส.ลงคะแนนก่อนลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยพบหลักฐานมีภาพจากกล้องวงจรปิด ภาพถ่าย และพยานบุคคลที่จะเอาผิดได้ แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะไม่ได้จ่ายเอง แต่สามารถเชื่อมโยงไปถึงได้ เพราะมีบุคคลเป็นตัวกลางจ่ายแทน ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี และการลงมติเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุดจนทุกอย่างผ่านไปอย่างราบรื่นและสมบูรณ์ ข้อมูลต่างๆทั้งจากการอภิปรายและการชี้แจงเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และรัฐบาลพร้อมที่จะนำข้อเสนอแนะไปปรับใช้ หลายเรื่องเป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ขณะที่หลายเรื่องน่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานของรัฐบาลให้ดียิ่งขึ้นได้ เพราะรัฐบาลไม่ได้มองแค่ว่าต้องเป็นแนวความคิดของรัฐบาลเท่านั้น หากแนวคิดของฝ่ายค้านเกิดประโยชน์ต่อประชาชน รัฐบาลก็พร้อมพิจารณา
 
“ยืนยันว่านายกฯ ไม่ใช่คนแบบนั้น ขอย้ำว่านายกฯ มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ไม่ทำเรื่องเช่นนี้เด็ดขาด และนายกฯได้ชี้แจงแล้วว่า มี ส.ส.มาเข้าพบเพื่อให้กำลังใจ ไม่ได้มีการแจกเงินทั้งสิ้น ในห้องของนายกฯ มีแต่กระเป๋าเอกสาร ซึ่งเปิดให้สื่อมวลชนดูแล้ว หากมีความพยายามทำเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นการเมือง พูดเท็จจนทำให้นายกฯ เสียหาย นายกฯ ก็จำเป็นต้องมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป"นายธนกร กล่าว

กระทรวงอุตฯ เชื่ออุตสาหกรรมอาหารไทย 5 เดือนหลัง โตสวนทางโควิด ชี้ Bubble and Seal ช่วยรันสายพานธุรกิจให้ไม่ขาดช่วง

อุตสาหกรรมอาหารไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคการผลิตและการส่งออก แม้เผชิญการระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอย่างต่อเนื่อง ภาพรวม 7 เดือนแรกการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 การส่งออกมีมูลค่า 622,700 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ชี้ปัจจัยหลักมาจากภาคธุรกิจใช้มาตรการ Bubble and Seal คาดอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง 5 เดือนหลังโตแกร่งสวนโควิด-19 ประเมินว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 มูลค่า 427,300 ล้านบาท ทั้งปีคาดว่าภาคการผลิตจะขยายตัวร้อยละ 4.5 การส่งออกจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากปี 2563

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ว่าได้พลิกกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากหดตัวลงในปีก่อน โดยการผลิตที่วัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 

ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการที่ภาคธุรกิจใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อควบคุมความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดในโรงงาน ทำให้โรงงานส่วนใหญ่สามารถเดินสายการผลิตได้ตามปกติ ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบภาคเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นที่ตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ส่งผลทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรวัตถุดิบมีเพียงพอกับความต้องการของโรงงานแปรรูป โดยเฉพาะอ้อย มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ต่าง ๆ จำพวกสับปะรด และข้าวโพดหวาน เป็นต้น 

นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ภายใต้โครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอาหาร

ด้านการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกพบว่า มีมูลค่า 622,700 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ผ่อนคลายมาตรการ Lockdowns หลังจากสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน ธุรกิจบริการร้านอาหารต่าง ๆ มีการฟื้นตัว โดยการส่งออกไปจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.0 เนื่องจากมีความต้องการสินค้าจำนวนมากเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวมาตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน 

ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปก็มีสัญญาณการฟื้นตัวเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง จำพวกกุ้ง ปลา ปลาหมึก สับปะรดกระป๋อง ที่มีการขยายตัวตามช่องทางจำหน่ายในธุรกิจบริการร้านอาหารที่กำลังฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับ Pent up demand หรือความต้องการที่ถูกอั้นไว้ในช่วงที่ออกนอกบ้านไม่ได้และร้านอาหารถูกปิดเป็นเวลาหลายเดือน

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยใน 5 เดือนหลังยังจะโตแกร่งสวนทางโควิด-19 โดยคาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 มูลค่า 427,300 ล้านบาท ทั้งปีประเมินว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 การส่งออกจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากปี 2563 

สำหรับปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง 5 เดือนหลัง มองว่ามาจากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มขยายตัวหลังการกลับมาเปิดเมือง (Reopening) ทำให้สินค้าที่มีช่องทางจำหน่ายในธุรกิจบริการร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม จัดเลี้ยง (HORECA) มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ากุ้งและอาหารทะเลสดแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มะพร้าว และกะทิสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน 

ประกอบกับสต็อกสินค้าอาหารของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เริ่มลดลง ทำให้มีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งแรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยที่ส่วนใหญ่เน้นใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศ

ด้านปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อระบบการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารของไทยในครึ่งปีหลัง อาทิ การแพร่ระบาดของ COVID-19 เข้าสู่สถานประกอบการ จะกระทบต่อกำลังการผลิตและส่งมอบสินค้า การกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้หลายประเทศอาจต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมการระบาด จะส่งผลทำให้ปริมาณความต้องการสินค้าชะลอตัวลง 

ค่าระวางเรือยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า Commodity เช่น ข้าว น้ำตาล ธัญพืชต่าง ๆ ที่มีราคาต่อหน่วยต่ำ รวมถึงทางการจีนอาจชะลอการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากการที่เร่งนำเข้ามาตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งอาจส่งผลทำให้การส่งออกอาหารของไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

แนะผู้ประกอบการปรับมาตรการ Bubble and Seal และ Factory Isolation ให้เหมาะสมกับขนาดกิจการ เพื่อรับมือการแพร่ระบาดในโรงงาน พร้อมกับการสื่อสารให้กับแรงงานและชุมชนเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่หยุดประกอบกิจการ

กระทรวงอุตสาหกรรมรวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและให้คำแนะนำ (Coaching) การทำ Bubble and Seal ทั้งในรูปแบบ Online และ Offline เพื่อให้โรงงานทุกขนาดสามารถดำเนินมาตรการได้พร้อมกันทั่วประเทศ อีกทั้งจะมีการปรับเกณฑ์ Good Factory Practice (GFP) เพื่อปิดช่องว่างที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด โดยเสนอเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) และเข้มงวดการตรวจกำกับหอพัก รถรับส่งแรงงาน รวมทั้งการเว้นระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน 

นอกจากนี้ จะเร่งขอความร่วมมือโรงงานโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าประเมินตนเอง Online ในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) และการสุ่มตรวจประเมินโรงงาน (Onsite) เพื่อแนะนำการใช้มาตรการต่าง ๆ ในเชิงรุก ซึ่งการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถฝ่าฟันวิกฤตและรักษาสถานภาพโรงงานทั้งในด้านการผลิตและส่งออก เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารสามารถทำรายได้จากการส่งออกและเป็นภาคส่วนสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศไทย

หมอธีระวัฒน์ เตือนเด็กฉีดไฟเซอร์ เสี่ยงหัวใจอักเสบ แนะฉีดเชื้อตาย 2 เข็ม ก่อนฉีดกระตุ้นต่อด้วยวัคซีนอื่น

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 64 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ข้อความระบุว่า “ในกลุ่มเด็กควรได้รับวัคซีนทั้งหมดครับ แต่มีข้อควรระวังอย่างสูงในกรณีของวัคซีนไฟเซอร์เกี่ยวข้องกับหัวใจอักเสบที่จะพบได้ในกลุ่มอายุเช่นนี้เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ”

“การฉีดวัคซีนเชื้อตาย “สองเข็ม” น่าจะให้ความปลอดภัยได้มากกว่า และหลังจากนั้นจะฉีดกระตุ้นต่อด้วยวัคซีนอื่น โดยวิธีเข้าชั้นผิวหนัง ก็ทำได้โดยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในการควบคุมสายพันธุ์ต่าง ๆ และให้ความปลอดภัยด้วย”


ที่มา : https://www.facebook.com/thiravat.h/photos/a.981731828527038/4850077881692394/

'โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ' ออกชี้แจง ปม ‘ทอม เครือโสภณ’ กล่าวหา ‘ดอน’ ปฏิเสธรับบริจาควัคซีนเพื่อนบ้าน

จากกรณีที่ นายทอม เครือโสภณ ได้ออกคลิปกล่าวหาว่ากระทรวงการต่างประเทศปฏิเสธความร่วมมือด้านวัคซีนโควิด-19 จากมิตรประเทศนั้น เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564

ล่าสุด นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมาชี้แจงดังนี้

1.) ข้อกล่าวหานี้ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด !!! กระทรวงการต่างประเทศทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนไทยและคนต่างชาติที่อาศัยในไทย เข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยเร็วที่สุด ทั้งการอำนวยความสะดวกในการจัดซื้อ การแลกเปลี่ยนวัคซีน (vaccine swap) หรือรับมอบความช่วยเหลือจากมิตรประเทศ 

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังได้ติดตามพัฒนาการของวัคซีนโควิด-19 จากทั่วโลก เจรจากับรัฐบาลและหน่วยงานของต่างประเทศเพื่อผลักดันความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับประเทศที่มีศักยภาพ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนและแหล่งกระจายวัคซีนในภูมิภาค 

โดยได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวร และสถานกงสุลใหญ่ของไทยทั่วโลกดำเนินการในเชิงรุกผ่านช่องทางทางการทูตทุกระดับทุกช่องทาง

2.) ไทยไม่เคยปฏิเสธความร่วมมือด้านวัคซีนของมิตรประเทศ !!! กรณีความร่วมมือกับสิงคโปร์นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ แจ้งว่า สิงคโปร์รู้สึกขอบคุณไทยที่ได้บริจาคอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ให้ในช่วงต้นของการระบาดรุนแรงในสิงคโปร์ 

ดังนั้น โดยที่สิงคโปร์มีวัคซีนมากพอสำหรับการใช้ในประเทศแล้ว จึงประสงค์จะส่งวัคซีนแอสตราเซเนกามาให้ประเทศไทยจำนวน 120,000 โดส ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความขอบคุณและขอรับความช่วยเหลือนี้ในรูปแบบการยืม (swap) โดยจะส่งวัคซีนคืนให้สิงคโปร์เมื่อไทยมีวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ

เช่นเดียวกับความตกลงที่ไทยได้ทำกับภูฏาน โดยเรามองว่า เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ได้คิดว่าใครจะเล็ก หรือใหญ่ หรือเป็นการเสียหน้าใครแต่อย่างใด

3.) กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าผู้แทนของบริษัท Moderna ไม่สามารถเข้าถึงตัวแทนทางการทูตของไทยได้นั้น ขอชี้แจงว่าทั้งกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน ได้รับไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์จากผู้แทนบริษัทจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์แห่งหนึ่งซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ของ Moderna ในประเทศไทย 

โดยมีข้อความแจ้งว่า โรงงานผู้ผลิตหลักของ Moderna ในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งผลิตวัคซีนให้ประเทศนอกสหรัฐฯ ติดขัดบางประการ จึงทำให้เกิดความขาดแคลนและความล่าช้าในการส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทย 

จึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตฯ เจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ให้เลื่อนการรับมอบวัคซีน Moderna 10 ล้านโดส ที่จะได้รับในไตรมาส 3 ของปีนี้ออกไปก่อน เพื่อให้ Moderna สามารถส่งมอบวัคซีนให้แก่ไทยได้ เนื่องจากสหรัฐฯ มีวัคซีนส่วนเกินจำนวนมาก 

ทั้งนี้ ผู้แทนบริษัทฯ ดังกล่าว ไม่ได้แสดงเอกสารใด ๆ แม้แต่สัญญาการสั่งซื้อวัคซีนของหน่วยราชการไทยที่อ้างถึง รวมถึงรายละเอียดความต้องการวัคซีน Moderna ของภาคเอกชนไทย จำนวนวัคซีน และกรอบเวลาการส่งมอบ ตลอดจนข้อมูลท่าทีและการดำเนินการของบริษัทฯ ในการผลักดันประเด็นที่ขอให้ไทยเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงช่องทางการติดต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ของบริษัทฯ รวมถึงไม่เคยมีหนังสือแจ้งความจำนงกับกระทรวงการต่างประเทศอย่างเป็นทางการ 

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้หยิบยกกับผู้แทนระดับสูงของฝ่ายสหรัฐฯ เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยและความต้องการวัคซีนอย่างเร่งด่วน และมีหนังสือขอรับการสนับสนุนจากทางการสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อขอเร่งการส่งมอบวัคซีนที่ไทยสั่งซื้อ 

ส่วนกรณีวัคซีนส่วนเกินของมลรัฐต่าง ๆ และสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้รับแจ้งว่า ยังไม่มีมาตรการส่งวัคซีนส่วนเกินบริจาคหรือขายต่อให้ประเทศอื่น ๆ 

อย่างไรก็ตาม สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถในการประสานกับผู้แทนของฝ่ายสหรัฐฯ รวมถึงการพูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภา Tammy Duckworth เพื่อขอรับการสนับสนุนการส่งมอบวัคซีนที่หน่วยราชการไทยได้สั่งซื้อโดยเร็ว และผลักดันการเข้าถึงวัคซีนที่สหรัฐฯ ไม่ได้ใช้ต่อไป

4.) ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการเกี่ยวกับการแสวงหาความร่วมมือด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 และความร่วมมืออื่น ๆ แล้ว ดังนี

(4.1) จีน - รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนในหลายโอกาส โดยไทยได้รับบริจาควัคซีน Sinovac จำนวน 1 ล้านโดส 

นอกจากนี้จีนยังอำนวยความสะดวกและติดตามการจัดหาวัคซีนของบริษัท Sinovac และบริษัท Sinopharm เพื่อประสานงานให้การจัดซื้อและส่งมอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

(4.2) สหรัฐฯ - กระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมือเพื่อเข้าถึงวัคซีนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนของสหรัฐฯ ได้แก่ Pfizer Moderna Johnson & Johnson และ Novavax อย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ทั้งในรูปแบบของการจัดซื้อ การขอรับความช่วยเหลือ และการเจรจาข้อตกลงการแลกเปลี่ยนวัคซีนล่วงหน้า (vaccine swap) 

โดยไทยได้รับบริจาควัคซีน Pfizer จำนวนกว่า 1 ล้าน 5 แสนโดส เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 และฝ่ายสหรัฐฯ มีแผนที่จะมอบเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดส

(4.3) ญี่ปุ่น - กระทรวงการต่างประเทศทาบทามการแลกเปลี่ยนวัคซีน (vaccine swap) กับญี่ปุ่น และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งมอบวัคซีน AstraZeneca จำนวนกว่า 1,050,000 โดสให้แก่ไทยแล้ว และบริจาคเพิ่มให้อีก 300,000 โดสโดยส่งมอบในวันที่ 8 กันยายน นี้ 

นอกจากนี้ ยังให้ความช่วยเหลือด้านการเฝ้าระวังตรวจหาเชื้อและส่งเสริมการวิจัยยารักษาโรค รวมถึงอุปกรณ์อีกกว่า 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีแผนส่งมอบเครื่องผลิตออกซิเจนให้ไทย 775 เครื่องมูลค่า 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกด้วย

(4.4) สหราชอาณาจักร - ไทยได้ขอรับการสนับสนุนวัคซีน AstraZeneca ซึ่งสหราชอาณาจักรได้ส่งมอบวัคซีนให้จำนวน 415,000 โดสให้แก่ไทยด้วยแล้ว

(4.5) ภูฏาน - รัฐบาลภูฏานกับรัฐบาลไทยได้เห็นชอบการแลกเปลี่ยนวัคซีนล่วงหน้า (vaccine swap) จำนวน 150,000 โดส บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ไทยและภูฏานมีร่วมกันอย่างใกล้ชิด

(4.6) เยอรมนี - กระทรวงการต่างประเทศกำลังประสานการรับมอบ Monoclonal antibody (Casirivimab/Imdevimab) ซึ่งเป็นยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนัก จากกระทรวงสาธารณสุขประเทศเยอรมนีของบริษัท Regeneron จำนวน 2,000 ยูนิตโดยเร็วที่สุด เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19

(4.7) สวิตเซอร์แลนด์ - กระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบเครื่องช่วยหายใจ 102 เครื่อง และชุดตรวจ Rapid Antigen 1.1 ล้านชุดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังอยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือเพื่อการสรรหาวัคซีนจากอินเดีย เกาหลีใต้และออสเตรเลียเพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุขของไทยอย่างต่อเนื่อง

5.) หากกระทรวงการต่างประเทศ “กลัวเสียหน้า” ที่จะรับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศต่าง ๆ ตามที่ได้แจกแจงข้างต้น ความร่วมมือกับมิตรประเทศต่าง ๆ ที่เทมาให้ไทย คงไม่สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ 

ตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่ทุกระดับของกระทรวงการต่างประเทศได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อพยายามทุกวิถีทางให้คนทุกกลุ่มในไทยเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง 

ซึ่งหากคิดด้วยเหตุผล ก็จะเข้าใจได้เองว่า หากประเทศไทยไม่อยู่ในสายตาของมิตรประเทศเหล่านี้ จะเป็นไปได้อย่างไรที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะทุ่มเทให้ความช่วยเหลือเราอย่างทันควัน !!!!

นั่นก็เพราะการดำเนินการทางการทูตของไทยทำให้ไทยได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้ต่างชาติเห็นว่าไทยเป็นมิตร จึงเป็นห่วงเป็นใยกันและประสงค์จะช่วยเหลือเราเพราะเราเองก็มีประโยชน์ต่อเขาเฉกเช่นเดียวกัน 

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศดำเนินนโยบายการต่างประเทศโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ประชาชนชาวไทย และความโอบอ้อมเกื้อกูลต่อมิตรประเทศโดยสมดุลและมีประสิทธิภาพ 

จึงทำให้มิตรประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญของไทยในฐานะหุ้นส่วนที่มีศักยภาพและมีความห่วงใยต่อประชาชนชาวไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระทรวงการต่างประเทศประสบความสำเร็จในการแสวงหาความร่วมมือด้านวัคซีนกับประเทศต่าง ๆ ทำให้มีวัคซีนให้แก่ชาวไทยรวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทยเพิ่มขึ้นโดยรวมอย่างน้อยกว่าสามล้านโดสจากการดำเนินการดังกล่าว

6.) ขออย่าด้อยค่าการทำงานของคนบัวแก้วที่ทุ่มเททำงานตลอด 24 ชั่วโมงอยู่ทั่วโลกเพื่อช่วยเหลือคนไทยและช่วยประเทศเราแก้ปัญหาเร่งด่วนอันเป็นเป้าหมายสูงสุดในการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ !!!!

การกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังเป็นการให้ข้อมูลเท็จแก่ประชาชน และสร้างความเสียหายต่อทั้งข้าราชการและประชาชนให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดได้


ที่มา : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=1483595168663922&id=100010403598013


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top