Sunday, 11 May 2025
Hard News Team

'ผู้ช่วยฯสิรภพ' ลงพื้นที่ ช่วยน้ำท่วมใต้ ออกมาตรการฟื้นฟูซ่อมบ้านเรือนระบบไฟฟ้า พร้อมมอบถุงยังชีพในพื้นที่ จ.ปัตตานี

(4 ธ.ค.67) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบนายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ในการนี้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายพิเชษฐ์  ทองพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน  พร้อมด้วย นายศักดินาถ  สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมลงพื้นที่ โดยมี หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดปัตตานี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ โดย นายสิรภพ  และคณะ ได้ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ จำนวน 4 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 โรงเรียนบ้านบาโงมูลง หมู่ที่ 6 ตำบลเตราะบอน อำเภอสายบุรี มอบถุงยังชีพ จำนวน 100 ชุด จุดที่ 2. ศูนย์พักพิงโรงเรียนบ้านหัวคลอง หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านนอก อำเภอปะนาเระ มอบถุงยังชีพ จำนวน 200 ชุด จุดที่ 3. ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะเปาะ อำเภอหนองจิก มอบถุงยังชีพ จำนวน 100 ชุด และ จุดที่ 4 หมู่ที่ 4 ตำบลดอนรัก อำเภอหนองจิก มอบถุงยังชีพ จำนวน 100 ชุด รวมจำนวน ทั้งสิ้น 500 ชุด  

นายสิรภพ กล่าวว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ ผมพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้ลงพื้นที่นำถุงยังชีพมาช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยได้ปักหลักอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 4 - 7 ธันวาคมนี้ ในส่วนของมาตรการการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ของกระทรวงแรงงานนั้น ประกอบด้วย การลดอัตราเงินสมทบและขยายระยะเวลาการส่งเงินสมทบแก่ลูกจ้างผู้ประกันตนลูกจ้างผู้ประกันตนที่สถานประกอบการถูกน้ำท่วมทำให้ต้องหยุดงานไม่สามารถไปทำงานได้สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย การขึ้นทะเบียนประกันการว่างงาน ผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน กรณีที่อยู่อาศัยของลูกจ้างได้รับผลกระทบเป็นเหตุให้ไปทำงานไม่ได้หรือเข้าทำงานสาย ขอความร่วมมือนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา รวมถึงฟื้นฟูในพื้นที่หลังน้ำลด ซึ่งขณะนี้บางพื้นที่เริ่มคลี่คลายลงแล้ว กระทรวงแรงงานก็จะจัดทีมช่างจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงงาน เข้าไปซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำงาน บ้านเรือน รถจักรยานยนต์ เครื่องยนต์เล็กทางการเกษตร รวมถึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยการจ้างงานภายหลังน้ำลด เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด

“กระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยพี่น้องภาคใต้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยหลังจากนี้ในช่วงน้ำเริ่มลดลง เราจะนำรูปแบบ “เชียงรายโมเดล” เข้าไปช่วยเหลือ เพื่อให้กลับมาทำงานประกอบอาชีพได้ตามปกติ หรือติดต่อสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 ” นายสิรภพ กล่าว

ทั้งนี้ จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ในห้วงวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ประสบสถานการณ์อุทกภัย จำนวน 12 อำเภอ ได้รับความเสียหาย 147,002  ครัวเรือน จำนวนประชาชน 428,223 คน และมีผู้เสียชีวิต จำนวน 7 ราย  มีข้าราชการ/เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดปัตตานี  ได้รับความเสียหาย  81 คน บัณฑิตแรงงาน 64 คน และอาสาสมัครแรงงาน  64 คน ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ได้มอบเงินเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องครอบครัวแรงงาน และเครือข่ายด้านแรงงานในจังหวัดปัตตานีแล้ว จำนวน 21 ราย เป็นเงิน 52,500 บาท

'สุริยะ' ประกาศดันนโยบาย 'คมนาคมสีเขียว' เร่งเดินหน้าลงทุนเปลี่ยนอีวีบัส 5,000 คัน

'สุริยะ' ประกาศนโยบายหนุนคมนาคมสีเขียว ดันลงทุนโครงการและระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เร่งเปลี่ยนอีวีบัสกว่า 5,000 คัน พร้อมเปลี่ยนผ่านการเดินทางด้วยระบบรางครอบคลุมกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมือง

(4 ธ.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงาน งาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ซึ่งจัดโดย 'กรุงเทพธุรกิจ' พร้อมกล่าวปาฐกถาในประเด็น 'Mobility Infrastructure for Sustainability 's Journey' โดยระบุว่า รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการลงทุนทุกระบบให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเชื่อมการเดินทางแบบไร้รอยต่อ และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี ตนได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคม บริการประชาชน เพื่อสร้างโอกาสประเทศไทย สนองนโยบายรัฐบาล สร้างโอกาสการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้า เชื่อมประสิทธิภาพด้านการคมนาคมให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศ ตลอดจนเชื่อมต่อการคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน

สำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงฯ กำหนดกรอบนโยบาย 9 แนวทาง ดังนี้ 1.สานต่อโครงการต่างๆ ตามแผนแม่บทของกระทรวงคมนาคม 2.ส่งเสริมโครงข่ายคมนาคมให้เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ 3.สร้างโอกาสในการลงทุน 4.ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งได้อย่างเท่าเทียม 5.เปิดโอกาสให้โลจิสติกส์ไทย 6.สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กรีนโลจิสติกส์เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 

7. เพิ่มความปลอดภัยภาคคมนาคมขนส่งทั้งในช่วงก่อสร้างและการให้บริการ โดยมุ่งเน้นการกำกับดูแลให้ได้มาตรฐาน 8. ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และหลักธรรมาภิบาลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และ 9.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกมิติ

“เป้าหมายกระทรวงคมนาคม เรามุ่งเน้นปรับเปลี่ยนการขนส่งจากทางถนน เป็นการขนส่งทางรางและทางน้ำ ส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนการเดินทางมาเป็นขนส่งสาธารณะ มุ่งหวังประเทศไทยจะต้องมีคมนาคมขนส่งคนและสินค้าที่มีประสิทธิภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของประชาชน” นายสุริยะ กล่าว

ทั้งนี้ การผลักดันภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพ กระทรวงฯ ได้มุ่งเน้นพัฒนาระบบขนส่งที่ตอบโจทย์การเดินทางของประชาชน เชื่อมต่อทุกการเดินทางจากบ้าน ที่ทำงาน สู่พื้นที่สำคัญต่างๆ โดยเชื่อว่าการเดินทางด้วยระบบราง รถไฟฟ้าที่ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศ

รวมทั้งกระทรวงฯ จะเร่งเสริมให้เอกชน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางบก พัฒนาฟีดเดอร์ที่สนับสนุนระบบราง ด้วยการเปลี่ยนผ่านอีวีบัส รถเมล์ รถโดยสารประจำทาง และรถโดยสาร บขส. ให้ปรับเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเป็นยานยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งตามแผนกระทรวงฯ จะส่งเสริมการเปลี่ยนอีวีบัสรวมกว่า 5,000 คัน ประกอบด้วย รถโดยสารประจำทางไฟฟ้าเขต กทม.และปริมณฑล ภายใต้สัมปทานของเอกชน ปัจจุบันให้บริการ 2,350 คัน จะเพิ่มเป็น 3,100 คันภายในปีหน้า รวมไปถึงการเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าของ ขสมก. ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเปลี่ยนรถไฟฟ้า 1,520 คัน ทดแทนรถโดยสารครีมแดง (รถร้อน) และการเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าระหว่างเมืองของ บขส. ที่มีแผนเปลี่ยน 381 คัน

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า เพื่อผลักดันให้ระบบรางเป็นการคมนาคมหลักของประเทศ กระทรวงฯ มีแผนพัฒนารถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวม 14 เส้นทาง ระยะทาง 554 กิโลเมตร ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 13 โครงการ ระยะทาง 276.84 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ ระยะทาง 84.30 กิโลเมตร อยู่ระหว่างขออนุมัติ 3 โครงการ ระยะทาง 29.34 กิโลเมตร เตรียมความพร้อม 12 โครงการ ระยะทาง 162.93 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ โดยเปิดให้บริการแล้ว 4,044 กิโลเมตร ก่อสร้างเสร็จ 5 เส้นทาง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 เส้นทาง ขออนุมัติโครงการและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 6 โครงการ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้วพร้อมประกวดราคา 1 โครงการ

ขณะที่การพัฒนารถไฟความเร็วสูง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 2 เส้นทาง ระยะทาง 473 กิโลเมตร ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ระยะ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง และรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง ส่วน 1 เส้นทาง อยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการ คือ ไฮสปีดไทยจีนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย

ด้านการพัฒนาขนส่งทางน้ำ กระทรวงมีการพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะ จำนวน 18 ท่า ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 11 ท่า  คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2568 จำนวน 5 ท่า และภายในปี 2570 จะเปิดให้บริการได้ 13 ท่า รวมเป็น 29 ท่า นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาท่าเรือสำราญ (Cruise Terminal) ได้แก่ ชลบุรี เกาะสมุย และภูเก็ต เพื่อเป็นท่าเรือท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เพื่อเพิ่มท่าเทียบเรือและแก้ไขปัญหาการจราจรภายในท่าเรือให้เกิดความสะดวก

ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศ ได้ผลักดันให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ใน 20 อันดับโลกภายในปี 2572 โดยในระยะเร่งด่วน จะนำเทคโนโลยีใหม่มาให้บริการและเร่งปรับปรุงอาคารสถานที่ที่ดำเนินการได้ทันที รวมถึงการตรวจ FAA เพื่อปรับระดับมาตรฐานการบินและการเตรียมพร้อมในการตรวจของ ICAO ตลอดจนการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานในภูมิภาค เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ ซึ่งจะเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลในภูมิภาคอาเซียน โดยการศึกษาพบว่าจะช่วยลดต้นการขนส่งสินค้า  15-20% เพิ่มการจ้างงานได้ 2 แสนอัตรา และโครงการนี้คาดว่าจะทำให้ GDP ของไทยโตขึ้น 5.5%

รัฐสภาเตรียมถอดถอน-ครม.จ่อลาออกยกชุด เกาหลีลงถนนประท้วง "ยุนซอกยอล" ประกาศกฎอัยการศึก

(4 ธ.ค. 67) ประธานาธิบดียุนซอกยอล ของเกาหลีใต้ กำลังเผชิญแรงกดดันให้ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง หลังจากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนที่ผ่านมา แม้ว่าเขาจะยกเลิกคำสั่งในเช้าวันนี้ แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ยังคงรุนแรง  

ขณะที่ 4 ธ.ค. พรรคประชาธิปไตยและพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ในเกาหลีใต้ได้ยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดียุนซอกยอล โดยมีสาเหตุมาจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกอย่างกะทันหันในคืนวันที่ 3 ตุลาคม ซึ่งสร้างความตกตะลึงทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ  

แม้กฎอัยการศึกดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เพียง 6 ชั่วโมงก่อนจะถูกรัฐสภาลงมติยกเลิกในเช้าวันถัดมา แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ยุนเผชิญกับกระแสกดดันอย่างหนักจากทั้งประชาชนและสมาชิกสภา อย่างไรก็ตาม ยุนยังคงปฏิเสธที่จะลาออกและเลือกที่จะเก็บตัวเงียบ โดยในช่วงเช้าวันที่ 4 ธันวาคม เขาได้ยกเลิกภารกิจทางการทั้งหมด  

สำนักงานประธานาธิบดีเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ที่ปรึกษาอาวุโสและเลขานุการส่วนตัวของยุนหลายคนได้เสนอขอลาออก ขณะที่รัฐมนตรีหลายคน รวมถึงนายคิมยองฮยุน รัฐมนตรีกลาโหม ก็กำลังเผชิญเสียงเรียกร้องให้ลาออกจากกรณีสนับสนุนการใช้กฎอัยการศึก ซึ่งถูกมองว่าเป็นความผิดพลาดทางการเมืองครั้งใหญ่

สื่อเกาหลีใต้รายงานว่าคณะรัฐมนตรีของเกาหลีใต้แสดงความตั้งใจจะลาออกจากตำแหน่งยกชุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินมาตรการเพื่อตอบโต้วิกฤตการเมืองของประเทศ

รายงานข่าวเผยว่าฮัน ด็อก-ซู นายกรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ แสดงความพร้อมที่จะ "รับใช้ประชาชนจนวินาทีสุดท้าย" โดยฮันมีกำหนดพบปะกับหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (People Power Party) และผู้ช่วยอาวุโสของประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อลช่วงบ่ายวันพุธ (4 ธ.ค.)

ขณะที่สมาพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี (KCTU) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ได้ออกมาเคลื่อนไหว โดยการโพสต์ข้อความผ่านโลกออนไลน์ ระบุว่า การประกาศกฎอัยการศึกระยะสั้นของยุนว่าเป็น "อาชญากรรมแห่งการก่อกบฏ" พร้อมทั้งเรียกร้องให้สมาชิกมากกว่า 1 ล้านคนมารวมตัวกันที่กรุงโซลและสถานที่อื่นๆ ในเช้าวันพุธ เพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวดังกล่าว

ตามรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ รัฐสภามีอำนาจยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดีหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ หากพบว่ามีการกระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยกระบวนการนี้ต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาซึ่งมีทั้งหมด 300 คน  

ในปัจจุบัน พรรคฝ่ายค้าน รวมกับพรรคเล็ก มีเสียงรวม 192 เสียง เสียงเกินครึ่งนึง ขณะที่ขณะที่พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นรัฐบาล มี 108 เสียง แม้สมาชิกของพรรครัฐบาลจะลงมติไม่เห็นด้วยต่อการประกาศกฎอัยการศึก แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนการถอดถอนหรือไม่

หากรัฐสภามีมติถอดถอน ประธานาธิบดีจะถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ทันที โดยนายกรัฐมนตรีจะขึ้นรักษาการแทน ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาสูงสุด 6 เดือนในการพิจารณาคำร้อง พร้อมตัดสินด้วยคะแนนเสียง 6 ใน 9 เสียง  

ปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีผู้พิพากษาไม่ครบองค์คณะ เนื่องจากว่างอยู่ 3 ตำแหน่ง ยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการพิจารณาได้หรือไม่  

ที่ผ่านมา มีการถอดถอนประธานาธิบดีเกาหลีใต้แล้วหลายครั้ง ตัวอย่างสำคัญคือ นางปาร์กกึนฮเย ประธานาธิบดีหญิงคนแรก ถูกถอดถอนเมื่อปี 2017 ในข้อหาคบคิดกับคนสนิทและใช้อำนาจโดยมิชอบ ในขณะที่นายโนห์มูฮยอน ถูกยื่นญัตติถอดถอนเมื่อปี 2004 แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินไม่รับญัตติ ทำให้เขาดำรงตำแหน่งจนครบวาระ  

หากยุนซอกยอนถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือหากเขาลาออกเอง การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องเกิดขึ้นภายใน 60 วัน โดยในระหว่างนั้นนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรักษาการ  

มุมมองเส้นทางสู่สันติภาพของ ‘อิหร่าน’ เปิดกว้างสู่การเจรจา...รวมถึง ‘สหรัฐ อเมริกา’

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2024 Masoud Pezeshkian ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากพิธีรับตำแหน่ง Ismail Haniyeh อดีตนายกรัฐมนตรีของปาเลสไตน์เนชันแนลออธอริตี้ และประธานสำนักงานการเมืองฮามาส ถูกอิสราเอลลอบสังหารที่บ้านพักใกล้กับทำเนียบประธานาธิบดีอิหร่าน โดย Haniyeh ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีสาบานตน และการสังหารเขาบนแผ่นดินอิหร่านทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อกระบวนการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างของความท้าทายที่ประธานาธิบดี Pezeshkian จะต้องเผชิญในการดำเนินการเพื่อความสำเร็จของนโยบายต่างประเทศของเขา

แต่ ประธานาธิบดี Pezeshkian ได้เตรียมพร้อมเป็นอย่างดีที่จะรับมือกับความยากลำบากทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประธานาธิบดี Pezeshkian ตระหนักดีว่า โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคหลังขั้วโลก ซึ่งผู้มีบทบาทระดับโลกสามารถร่วมมือและแข่งขันกันในพื้นที่ต่างๆ ได้ในเวลาเดียวกัน เขาได้ใช้หลักนโยบายต่างประเทศที่ยืดหยุ่น โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางการทูตและการเจรจาที่สร้างสรรค์มากกว่าการพึ่งพาแนวทางที่ล้าสมัย วิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับความมั่นคงของอิหร่านนั้นครอบคลุมทั้งศักยภาพด้านการป้องกันประเทศแบบดั้งเดิมและการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ผ่านการปรับปรุงในภาคส่วนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ประธานาธิบดี Pezeshkian ต้องการเสถียรภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจในตะวันออกกลาง เขาต้องการร่วมมือกับประเทศอาหรับเพื่อนบ้าน และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรของอิหร่าน แต่เขาก็ยังต้องการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์กับตะวันตกด้วย รัฐบาลของเขาพร้อมที่จะจัดการกับความตึงเครียดกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งเลือกประธานาธิบดีคนใหม่เช่นกัน ประธานาธิบดี Pezeshkian หวังว่า จะมีการเจรจาที่เท่าเทียมกันเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ หรืออาจจะมากกว่านั้น แต่ ประธานาธิบดี Pezeshkian ได้ชี้แจงไว้อย่างชัดเจนว่า อิหร่านจะไม่ยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องที่ไม่สมเหตุสมผล อิหร่านจะยืนหยัดต่อสู้กับการรุกรานของอิสราเอลเสมอ และจะไม่ย่อท้อในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ 

นี่คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์แห่งความมั่นคงที่โลกไม่ควรปล่อยให้หลุดลอยไป แน่นอนว่า เตหะรานจะไม่ทำเช่นนั้น หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความเปราะบางมาเป็นเวลาสองศตวรรษ อิหร่านภายใต้การนำของ Ali Khamenei ผู้นำสูงสุด ซึ่งในที่สุดได้พิสูจน์ให้เห็นว่า อิหร่านสามารถป้องกันตัวเองจากการรุกรานจากภายนอกได้ เพื่อยกระดับความสำเร็จดังกล่าวขึ้นอีกขั้น อิหร่านภายใต้คณะบริหารชุดใหม่มีแผนที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างระเบียบภูมิภาคในอันที่ส่งเสริมเสถียรภาพ ความมั่งคั่ง และความมั่นคง จากผลกระทบของการแทรกแซงจากต่างประเทศ สงคราม ความขัดแย้งทางศาสนา การก่อการร้าย การค้ายาเสพติด การขาดแคลนน้ำ วิกฤตผู้ลี้ภัย และการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม มาอย่างยาวนาน เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ อิหร่านและพันธมิตรจะทำงานเพื่อแสวงหาการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านพลังงาน เสรีภาพในการเดินเรือ การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการเจรจาพูดคุยระหว่างศาสนา

ในที่สุด ความพยายามเหล่านี้จะนำไปสู่การจัดการภูมิภาคแบบใหม่ที่ลดการพึ่งพาอำนาจภายนอกอ่าวเปอร์เซีย และกระตุ้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแก้ไขข้อขัดแย้งผ่านกลไกการแก้ไขข้อพิพาท เพื่อดำเนินการดังกล่าว ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาจดำเนินการตามสนธิสัญญา ก่อตั้งสถาบัน กำหนดนโยบาย และผ่านมาตรการทางกฎหมาย อิหร่านและประเทศเพื่อนบ้านสามารถเริ่มต้นด้วยการเลียนแบบกระบวนการเฮลซิงกิ ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งองค์กรเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป พวกเขาสามารถใช้คำสั่งที่ไม่เคยได้รับการนำไปปฏิบัติซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมอบให้กับเลขาธิการสหประชาชาติในปี 1987 ภายใต้มติ 598 มติดังกล่าวซึ่งยุติสงครามอิหร่าน-อิรัก เรียกร้องให้เลขาธิการหารือกับอิหร่าน อิรัก และรัฐในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อสำรวจมาตรการที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงและเสถียรภาพในอ่าวเปอร์เซีย ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี Pezeshkian เชื่อว่า บทบัญญัตินี้สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายสำหรับการเจรจาระดับภูมิภาคได้อย่างครอบคลุม

แน่นอนว่า มีอุปสรรคที่อิหร่านและประเทศเพื่อนบ้านต้องเอาชนะเพื่อส่งเสริมให้เกิดระเบียบที่ประกอบด้วยสันติภาพและการบูรณาการในภูมิภาค ความแตกต่างบางอย่างกับประเทศเพื่อนบ้านมีต้นกำเนิดที่หยั่งรากลึก ซึ่งถูกกำหนดขึ้นจากการตีความประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ความแตกต่างอื่น ๆ เกิดจากความเข้าใจผิด ซึ่งส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากการสื่อสารที่ไม่ดีหรือไม่เพียงพอ และยังมีอีกหลายสิ่งที่เป็นโครงสร้างทางการเมืองที่ถูกปลูกฝังโดยประเทศภายนอกภูมิภาค เช่น ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับลักษณะและวัตถุประสงค์ของโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน

แต่อ่าวเปอร์เซียต้องเดินหน้าต่อไป วิสัยทัศน์ของอิหร่านนั้น สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศอาหรับ ซึ่งล้วนต้องการภูมิภาคที่มีเสถียรภาพและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นต่อไป อิหร่านและโลกอาหรับจึงควรสามารถทำงานผ่านความแตกต่างได้ การสนับสนุนการต่อต้านของชาวปาเลสไตน์ของอิหร่านอาจช่วยกระตุ้นความร่วมมือดังกล่าวได้ โลกอาหรับจะเป็นหนึ่งเดียวกับอิหร่านในการสนับสนุนการฟื้นฟูสิทธิของชาวปาเลสไตน์

หลังจากการจำกัดทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านมานานกว่า 20 ปี สหรัฐฯและพันธมิตรตะวันตกควรตระหนักว่า อิหร่านไม่ได้สนองตอบต่อแรงกดดัน มาตรการบังคับที่เข้มข้นขึ้นของพวกเขากลับส่งผลเสียอย่างต่อเนื่อง ในช่วงสูงสุดของการรณรงค์กดดันสูงสุดล่าสุดของวอชิงตัน และเพียงไม่กี่วันหลังจากการคว่ำบาตรของอิสราเอล สภานิติบัญญัติของอิหร่านได้ผ่านกฎหมายที่สั่งให้รัฐบาลเร่งพัฒนาโครงการนิวเคลียร์และลดการตรวจสอบระหว่างประเทศ จำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยงในอิหร่านเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่ประธานาธิบดี Donald Trump ของสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ และระดับการเสริมสมรรถนะพุ่งสูงขึ้นจาก 3.5 เปอร์เซ็นต์เป็นมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้หากฝ่ายตะวันตกไม่ละทิ้งแนวทางความร่วมมือ ในเรื่องนี้ Trump ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งอีกครั้งในเดือนมกราคม 2025 และพันธมิตรของวอชิงตันในยุโรปต่างก็มีส่วนรับผิดชอบต่อความก้าวหน้าทางนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องของอิหร่าน

แทนที่จะเพิ่มแรงกดดันต่ออิหร่าน ฝ่ายตะวันตกควรแสวงหาวิธีการเพื่อแก้ปัญหาเชิงบวก ข้อตกลงนิวเคลียร์ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่เหมือนใคร และฝ่ายตะวันตกควรพยายามฟื้นคืนข้อตกลงนี้ แต่เพื่อที่จะทำเช่นนั้น ฝ่ายตะวันตกจะต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริง รวมถึงมาตรการการลงทุนทางการเมือง นิติบัญญัติ และผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้แน่ใจว่าอิหร่านจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากข้อตกลงนี้ตามที่ได้สัญญาไว้ หาก Trump ตัดสินใจดำเนินการดังกล่าว อิหร่านก็เต็มใจที่จะมีการเจรจาที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งเตหะรานและวอชิงตัน

ในขอบเขตที่กว้างขึ้น ผู้กำหนดนโยบายของชาติตะวันตกต้องยอมรับว่า กลยุทธ์ที่มุ่งเป้าไปที่การทำให้อิหร่านและประเทศอาหรับต่อสู้กันโดยสนับสนุนความคิดริเริ่มต่างๆ เช่น ข้อตกลงอับราฮัม (ซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์ปกติระหว่างประเทศอาหรับต่าง ๆ กับอิสราเอล) พิสูจน์แล้วว่า ในอดีตไม่มีประสิทธิภาพและจะไม่ประสบความสำเร็จในอนาคตอีกด้วย ชาติตะวันตกต้องการแนวทางที่สร้างสรรค์กว่านี้ ซึ่งใช้ประโยชน์จากความเชื่อมั่นที่อิหร่านได้รับมาอย่างยากลำบาก ยอมรับอิหร่านว่าเป็นส่วนหนึ่งของเสถียรภาพในภูมิภาค และแสวงหาวิธีแก้ปัญหาแบบร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายร่วมกัน ความท้าทายร่วมกันดังกล่าวอาจกระตุ้นให้เตหะรานและวอชิงตันมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งแทนที่จะเพิ่มความรุนแรงแบบทวีคูณ ทุกประเทศ รวมทั้งอิหร่านและสหรัฐอเมริกา ต่างก็มีผลประโยชน์ร่วมกันในการแก้ไขสาเหตุพื้นฐานของความไม่สงบในภูมิภาค

นั่นหมายความว่า ทุกประเทศต่างมีผลประโยชน์ในการหยุดยั้งการยึดครองของอิสราเอล พวกเขาควรตระหนักว่า การต่อสู้และความโกรธแค้นจะดำเนินต่อไปจนกว่าการยึดครองจะสิ้นสุดลง อิสราเอลอาจคิดว่าสามารถเอาชนะชาวปาเลสไตน์ได้อย่างถาวร แต่ทำไม่ได้ ประชาชนที่ไม่มีอะไรจะสูญเสียไม่สามารถพ่ายแพ้ได้ องค์กรต่าง ๆ เช่น ฮิซบุลเลาะห์และฮามาสเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวปลดปล่อยที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบโต้การยึดครอง และจะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อไปตราบเท่าที่เงื่อนไขพื้นฐานยังคงอยู่ กล่าวคือ จนกว่าสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองของชาวปาเลสไตน์จะบรรลุผล อาจมีขั้นตอนกลาง เช่น การหยุดยิงทันทีในเลบานอนและกาซา

อิหร่านสามารถมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ต่อไปในการยุติฝันร้ายด้านมนุษยธรรมในกาซาในปัจจุบัน และทำงานร่วมกับชุมชนระหว่างประเทศเพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนและเป็นประชาธิปไตยต่อความขัดแย้ง อิหร่านจะยอมรับทางออกใด ๆ ที่ชาวปาเลสไตน์ยอมรับ แต่รัฐบาลของเราเชื่อว่าทางออกที่ดีที่สุดในการหลุดพ้นจากการทดสอบที่ยาวนานนับศตวรรษนี้คือการลงประชามติ โดยทุกคนที่อาศัยอยู่ระหว่างแม่น้ำจอร์แดนและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไม่ว่าจะเป็นมุสลิม คริสเตียน และยิว รวมถึงชาวปาเลสไตน์ที่ถูกขับไล่ให้อพยพไปอยู่ต่างแดนในศตวรรษที่ 20 (พร้อมกับลูกหลานของพวกเขา) จะสามารถกำหนดระบบการปกครองในอนาคตที่ยั่งยืนได้ สิ่งนี้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและจะสร้างขึ้นจากความสำเร็จของแอฟริกาใต้ ซึ่งระบบการแบ่งแยกสีผิวได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นรัฐประชาธิปไตยที่สามารถดำรงอยู่ได้

การมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์กับอิหร่านควบคู่ไปกับความมุ่งมั่นในการทูตพหุภาคีสามารถช่วยสร้างกรอบสำหรับความมั่นคงและเสถียรภาพระดับโลกในอ่าวเปอร์เซียได้ ซึ่งจะช่วยลดความตึงเครียดและส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเอาชนะความขัดแย้งที่หยั่งรากลึก แม้ว่าอิหร่านในปัจจุบันจะมั่นใจว่า สามารถต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเองได้ แต่ต้องการสันติภาพและมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่า อิหร่านสามารถเป็นหุ้นส่วนที่มีความสามารถและเต็มใจได้ ตราบใดที่ความร่วมมือนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกันและเท่าเทียมกัน อย่าพลาดโอกาสนี้สำหรับการเริ่มต้นใหม่

บทความนี้เขียนโดย Mohammad Javad Zarif รองศาสตราจารย์ด้านการศึกษาระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยเตหะราน ปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2024 ตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2021 เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน เขาเป็นหัวหน้าผู้เจรจาเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่าน ตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2015 และเป็นเอกอัครรัฐทูตประจำสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2002 ถึง 2007

“บสย.” ซับน้ำตาน้ำท่วมภาคใต้ “พักหนี้-พักค่างวด-พักค่าธรรมเนียม 6 เดือน” ให้พื้นที่ประสบอุทกภัย

(4 ธ.ค. 67) ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ตอนล่าง ได้ส่งผลเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจ SME จำนวนมาก ทั้งด้านการดำรงชีวิต ด้านการประกอบธุรกิจ และด้านสุขภาพ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จึงได้ออกมาตรการเร่งด่วน ให้ความช่วยเหลือให้ SMEs ประคับประคองธุรกิจ และสามารถฟื้นฟูกิจการหลังน้ำท่วมทันที สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประสบอุทกภัย และมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศ ดังนี้

1.    พักชำระค่างวด 6 เดือน สำหรับลูกหนี้ บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคใต้ปี 2567 ที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ และไม่ผิดนัดชำระหนี้ โดยพักชำระค่างวดที่ถึงกำหนดชำระเป็นระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน ยื่นคำขอพักชำระภายใน 31 ธันวาคม 2567

2.    พักชำระค่าธรรมเนียมและค่าจัดการค้ำประกัน 6 เดือน ทันที สำหรับ SMEs ลูกค้า บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคใต้ปี 2567 และถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันและค่าจัดการค้ำประกัน

รัฐมนตรีสุดาวรรณ เผย ยูเนสโก รับรอง ‘ต้มยำกุ้ง’ อาหารชื่อดังของประเทศไทย ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ประจำปี 2567 

(4 ธ.ค. 67) นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 (The nineteenth session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage: IGC-ICH) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เวลา 16.10 น. (เวลาท้องถิ่น) ณ นครอซุนซิออน (Asuncion) สาธารณรัฐปารากวัย หรือตรงกับ วันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลาประมาณ 02.10 น. (ประเทศไทย เร็วกว่า 10 ชั่วโมง) มีมติรับรองให้ “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity : RL) ประจำปี 2567 ต่อจากรายการ โขน นวดไทย โนราและ สงกรานต์ ในปีที่ผ่านมา 

รมว.วธ. กล่าวว่า ในการเสนอ ต้มยำกุ้ง ขึ้นทะเบียนมรดกฯ กับยูเนสโก นี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564 เห็นชอบให้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เสนอขอขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ของยูเนสโก หลังจากที่ ต้มยำกุ้ง ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเมื่อปี พ.ศ. 2554 ในสาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ประเภทอาหารและโภชนาการ ด้วย ต้มยำกุ้ง เป็นมรดกภูมิปัญญาฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย ที่มีความเรียบง่าย มีสุขภาวะทั้งกายและใจที่แข็งแรง รู้จักการพึ่งพาตนเองด้วยวิธีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็น “กับข้าว” ที่คนในชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำในพื้นที่ภาคกลาง นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยชื่อ ต้มยำกุ้ง เกิดจากการนำคำ 3 คำมารวมกันได้แก่ “ต้ม” “ยำ” และ “กุ้ง” ซึ่งหมายถึงกระบวนการทำอาหารที่นำเนื้อสัตว์ คือ กุ้ง ต้มลงในน้ำเดือดที่มีสมุนไพรซึ่งปลูกไว้กินเองในครัวเรือนอย่างข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และปรุงรสจัดจ้านแบบยำ ให้มีรสเปรี้ยวนำด้วยมะนาว ตามด้วยรสเค็มจากเกลือหรือน้ำปลา รสเผ็ดจากพริก รสหวานจากกุ้ง และขมเล็กน้อยจากสมุนไพร นั่นเอง

“ปัจจุบัน ภูมิปัญญาการทำต้มยำกุ้งได้มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่อง และแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สูตรต้มยำกุ้งที่แปลกใหม่มากมาย เพื่อตอบสนองต่อสภาพทางภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต และรสนิยมการบริโภคอาหารที่แตกต่างกันไปของคนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งยังเป็นอาหารที่ได้รับความนิยม ชื่นชอบของชาวต่างชาติ ถือเป็น Soft power ด้าน อาหาร เมนูสำคัญของประเทศไทย ที่กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็นเมนูยอดนิยมของคนทั่วโลก” รมว.วธ. กล่าว

รมว.วธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่มรดกวัฒนธรรมของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ววธ. มีแนวทางการส่งเสริมและต่อยอดตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม ในการขับเคลื่อน Soft power ด้านอาหาร โดยใช้เศรษฐกิจทางวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ อาทิ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร เกม รายการโทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์ ให้สอดแทรกเนื้อหา ต้มยำกุ้ง เพื่อสร้างกระแสความนิยมในวงกว้าง และบูรณาการกับภาคธุรกิจ-การท่องเที่ยว ในการนำ ต้มยำกุ้ง เป็นเมนูหลัก เมนูอาหารต้องชิม เมื่อมาเที่ยวเมืองไทย บรรจุลงในโปรแกรมการท่องเที่ยว และเป็นเมนูอาหารที่ต้องระบุไว้ในรายการอาหารขึ้นโต๊ะผู้นำ รวมทั้งผู้เข้าร่วมในการประชุมที่จัดในประเทศไทย หรือที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ตลอดจนเชิญชวนให้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวและการบริการ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร่วมจัดแคมเปญพิเศษในการส่งเสริมการขาย เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายเมนูต้มยำกุ้ง และยังเป็นการสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าและสาระของเมนูต้มยำกุ้งไป สู่ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติอีกด้วย

รมว.วธ. เปิดเผยอีกว่า นอกจากรายการต้มยำกุ้งแล้ว ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลาระหว่าง 09.30 - 12.30 น. (เวลาท้องถิ่น) สาธารณรัฐปารากวัย ซึ่งตรงกับวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลาระหว่าง 19.30 – 22.30 น. (เวลาประเทศไทย) ขอเชิญชวนชาวไทย โดยเฉพาะพี่น้องภาคใต้ เตรียมลุ้น “เคบายา” รายการมรดกวัฒนธรรมที่เสนอขอขึ้นร่วม 5 ประเทศ คือ ประเทศมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย จะได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียนในปีเดียวกัน อีกด้วย 

ในโอกาสที่น่ายินดีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงขอเชิญพี่น้องประชาชนร่วมกิจกรรม งานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ระหว่างที่ 6-8 ธันวาคม 2567 ณ Quartier Avenue ชั้น G ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์ โดยในวันที่ 6 ธันวาคม เวลา 18.00 น. จะมีพิธีเปิดงานโดย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติเปิดงานอย่างเป็นทางการ ภายในงานพบกับเชฟไอซ์ ศุภักษร จงศิริ ผู้สร้างประวัติศาสตร์พาร้านอาหารไทย 'ศรณ์' คว้ารางวัล สามดาวมิชลินเป็นแห่งแรกของโลก และการสาธิตการทำต้มยำกุ้ง โดยเชฟตุ๊กตา (ครัวบ้านยี่สาร) หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย พร้อมให้ชิมต้มยำกุ้งฟรี รวมถึงการแสดงแฟชั่นโชว์ชุดเคบายา นำโดยนางสาวไทยและรองนางสาวไทย และร่วมชมนิทรรศการ “ต้มยำกุ้ง” และนิทรรศการ/สาธิตการปักชุด-เครื่องประดับ “เคบายา” และอาหารเปอรานากัน จากจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรังและสตูล และยังได้เพลิดเพลินกับการแสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรมให้รับชมตลอดงาน โดยติดตามรายละเอียดได้ที่ www.culture.go.th และเฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

เจนกิจ นัดไธสง รายงาน 

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ ประกาศความร่วมมือ ‘ดีอี-อว.- ศธ.’ และ ‘UNESCO’ เตรียมเป็นเจ้าภาพงาน ‘UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025’ ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก ย้ำบทบาทประเทศไทย ผู้นำด้านจริยธรรม AI ในเวทีโลก

(4 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แสดงวิสัยทัศน์ผ่านปาฐกถาพิเศษในการแถลงข่าวการจัดงานประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการของกระทรวงดีอี กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในการเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก ‘The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025’ ภายใต้แนวคิด ‘Ethical Governance of AI in Motion’ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2568 ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ว่า ความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ที่ควรต้องเป็นไปตามหลักการสำคัญ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยมีแผนและการเตรียมการในการนำ AI มาใช้ในองค์กรเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2567 สูงถึง 73.3% ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 20% (ข้อมูลจากรายงาน AI Readiness Measurement 2024) ที่จัดทำโดย ETDA และ สวทช. นอกจากนี้ ประเทศไทยได้มีการประกาศ แนวทางการกำกับดูแลโดยมี ‘แนวทางการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหาร’ และ ‘คู่มือแนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร’ เพื่อประโยชน์ในการนำแนวทางและคู่มือไปประกอบการพิจารณาการนำ AI มาใช้ในระดับองค์กรเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น จากศักยภาพของประเทศในมิติต่างๆ จึงได้นำไปสู่ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพร่วมเพื่อจัดงาน ‘UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025’ ในปีหน้านี้ จะมีทั้งเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ การส่งเสริมความร่วมมือในระดับพหุภาคี รวมไปถึงการเสริมสร้างความสามารถในการกำกับดูแล AI ในประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ถือได้ว่าจะเป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลก ที่ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก และแสดงให้เห็นว่าไทยเองมีความสามารถในการเป็น ‘แหล่งเรียนรู้’ ในด้าน AI Governance ที่พร้อมร่วมมือกับ UNESCO อีกด้วย 

ด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึง ความพร้อมของประเทศไทยจากบทบาทของ กระทรวง อว. ในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยี AI ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยไม่เพียงเน้นสร้างนวัตกรรมเท่านั้น ยังให้ความสำคัญกับจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีหน่วยงาน ภายใต้กระทรวง อว. คือ สวทช. ที่ร่วมผลักดันการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม AI ที่จะช่วยตอบโจทย์ระดับประเทศ รวมถึงการมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนากรอบจริยธรรม AI ที่มุ่งเน้นความสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล ประกอบกับ ประเทศไทยได้มีการส่งเสริมและพัฒนาความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ผ่านการเตรียมทำการประเมินความพร้อมด้าน AI ตามกรอบแนวทางของ UNESCO RAM ที่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ไทยได้เข้าใจสถานการณ์ความพร้อม ซึ่งครอบคลุมในมิติต่างๆ 

อีกทั้งข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ จะพัฒนาไปเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสนับสนุนการวางแผนสำหรับประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนการปรับปรุงในมิติที่จำเป็น ภายใต้บริบทของไทยให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การร่วมจัดงาน Global Forum on the Ethics of AI 2025 ในปีหน้านี้ จะช่วยสะท้อนถึงการผนึกกำลังที่เข้มแข็งระหว่างกระทรวง อว. พร้อมด้วยกระทรวงดีอี และกระทรวง ศธ. จากประเทศไทย ในการทำงานร่วมกับ UNESCO เพื่อร่วมสร้างอนาคตที่เท่าเทียมและยั่งยืนสำหรับทุกคน

ขณะที่ นายซิง ฉวี่ รองผู้อำนวยการใหญ่ UNESCO ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยในความเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลจริยธรรม AI และการผลักดันความร่วมมือระดับนานาชาติ พร้อมเน้นย้ำว่าภารกิจของยูเนสโก ในการสร้างสันติภาพผ่านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตของผู้คน พร้อมยังกล่าวถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าในโครงสร้างพื้นฐาน AI ของภูมิภาค จนอาจนำมาสู่ความท้าทายที่เกิดขึ้น เช่น ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และผลกระทบต่อการจ้างงานจากระบบอัตโนมัติอย่าง AI เป็นต้น ซึ่งการที่ประเทศไทยได้มีการนำกรอบแนวทางการประเมินความพร้อมด้าน AI ของยูเนสโก (UNESCO RAM) มาใช้นั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของกรอบการทำงานในการประเมินความพร้อมด้านการประยุกต์ใช้ AI ของไทย ที่มีความแข็งแกร่งและพร้อมส่งเสริมการใช้ AI ด้วยโปร่งใส ตามกรอบธรรมาภิบาลและจริยธรรมตามมาตรฐานสากล โดย Global Forum on the Ethics of AI 2025 จะเป็นเวทีสำคัญสำหรับการเจรจาระดับโลกในการร่วมพัฒนาจริยธรรมการประยุกต์ใช้ AI ที่เคารพสิทธิมนุษยชน โปร่งใส เป็นธรรม พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านธรรมาภิบาลจริยธรรม AI อย่างแท้จริง

พร้อมกันนี้ ในการแถลงข่าวความร่วมมือครั้งนี้ ประเทศไทย ยังได้ประกาศจุดยืนต่อผู้นำโลก ถึงความพร้อมของการประยุกต์ใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาล ตามกรอบ UNESCO’s AI Readiness Assessment หรือ UNESCO RAM พร้อมเปิดเวทีเสวนาเชิงลึกโดยผู้นำและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง กับการเสวนาใน 2 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

• "Thailand's Journey in Driving AI Ethics & Governance: Insights from Hosting the Global Forum on the Ethics of AI" เส้นทางของไทยในการขับเคลื่อนจริยธรรมและการกำกับดูแล AI: มุมมองจากการเป็นเจ้าภาพ Global Forum on the Ethics of AI โดย ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ. NECTEC,
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA และ ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ที่จะมาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์การใช้การประชุมระดับโลกครั้งนี้เป็นแพลตฟอร์มในการยกระดับบทบาทของไทยสู่การเป็นผู้นำด้าน AI ในระดับสากล

• “Policy and Strategic Frameworks”, in the Region Readiness Assessment Methodology (RAM)” นโยบายและกรอบยุทธศาสตร์” ในกรอบแนวทางการประเมินความพร้อมระดับภูมิภาค โดยนายอิราคลี โคเดลี หัวหน้าหน่วยจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ UNESCO ร่วมกับ ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผอ. ETDA, ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ. NECTEC ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการวางกรอบการประเมินความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ (UNESCO RAM) ที่จะเป็นเครื่องมือมาตรฐานสำหรับประเทศในภูมิภาค พร้อมแนวทางการจัดตั้งหอสังเกตการณ์จริยธรรมและการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ระดับโลก ที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ที่ยั่งยืน

จากสถานการณ์การเตรียมความพร้อมของประเทศ และกระแสการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาลในเวทีระดับโลก ที่สะท้อนจากมุมมองในระดับนโยบายของประเทศ สู่ความร่วมมือจากหน่วยงานสำคัญของไทยและ UNESCO จึงได้นำสู่การร่วมดำเนินงานโครงการสำรวจความพร้อมด้านจริยธรรม AI ของประเทศไทยตามแนวทางแนะนำของ UNESCO (โดยติดตามความคืบหน้าในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ได้ผ่านเพจ https://www.ai.in.th/) รวมถึงการเตรียมจัดการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกในเอเซียแปซิฟิก “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ในแนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2568 ที่กรุงเทพฯ โดยติดตามความคืบหน้าในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ได้ผ่านเพจ ETDA Thailand

ขอนแก่น - "ราชมงคล" จัดพิธีเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ฯ 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น พร้อมใจจัดพิธีเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ ในทุกปีเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและแสดงออกถึงความจงรักภักดี ต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สถาบันหลักที่ประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า

(4 ธ.ค. 67) ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น (มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น) ได้จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี 2567 ที่ ศาลาพระพุทธนวราชมงคล และลานรวมใจ วิทยาเขตขอนแก่น

โดยมี อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่มดอกไม้ เป็นผู้แทนกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมนำคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษา ถวายบังคมด้วยความพร้อมเพรียง และพร้อมใจร่วมขับร้องเพลง พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์ และต้นไม้ของพ่อ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและแสดงออกถึงความจงรักภักดี ต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สถาบันหลักที่ประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่าต่างยึดมั่นเทิดทูนและเคารพบูชา ตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ กว่า 70 ปีทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยพระราชวิริยะ อุตสาหะ ด้วยพระราชปณิธาน ด้วยพระราชหฤทัยอันมุ่งมั่น ดังพระปฐมบรมราชโองการ ในพระราชพิธีราชาภิเษก 5 พ.ค.2493 เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

ย้อนดูเส้นทางผู้นำเกาหลีใต้ จุดจบเจอยึดอำนาจ - ลอบสังหาร - ติดคุก

(4 ธ.ค. 67) จากความวุ่นวายทางการเมืองเกาหลีใต้เมื่อคืนวันที่ 3 ธ.ค. ประธานาธิบดียุนซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึก โดยอ้างความจำเป็นเพื่อปกป้องประเทศจากกลุ่มการเมืองที่เกาหลีเหนือหนุนหลังและกลุ่มต่อต้านรัฐที่พยายามทำลายอำนาจรัฐบาล จนสุดท้ายรัฐสภาเกาหลีลงมติเอกฉันท์โหวตคว่ำกฎอัยการศึก ส่งผลให้ในเวลาต่อมาประธานาธิบดียุน ยินยอมประกาศถอนกฎอัยการศึก 

การตัดสินใจของยุนซอกยอล ส่งผลให้เขาอาจถูกสภาเกาหลีใต้ลงมติถอดถอนในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งหากสภามีมิตเป็นเอกฉันท์ ตามขั้นตอนต่อไปต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีพิจารณา หากศาลพิพากษามีมิตมากกว่า 2 ใน 3 เสียง นายยุนจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้เขายังเสี่ยงถูกดำเนินคดีภายหลังจากพ้นตำแหน่งด้วย ซึ่งหากย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่แล้วผู้นำเกาหลีใต้มักมีจุดจบที่ไม่ได้สวยนักหลังลงจากตำแหน่ง สำนักข่าวสปุตนิกพาย้อนดูจุดจบอดีตผู้นำเกาหลีใต้ในแต่ละยุคสมัยว่ามีจุดจบที่แตกต่างกันเช่นไร

อีซึงมัน ประธานาธิบดีเกาหลีคนแรก ภายหลังจากเกาหลีได้รับเอกราชในปี 1945 อีได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา รับเลือกเป็นผู้นำของรัฐบาลเกาหลี 1948 ก่อนจะถูกประชาชนโค้นล้มในปี 1960

ยุนโพซุน สืบตำแหน่งต่อจากอีซังมัน ปกครองเกาหลีได้สองป ก่อนถูกรัฐประหารในปี 1962 

ปาร์คชุงฮี ผู้ที่ยึดอำนาจจากยุนโพซุน ปกครองเกาหลีใต้นาน 17 ปี ก่อนจะถูกลอบสังหารโดย คิมแจกยู อดีตหัวหน้าฝ่ายข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีในปี 1979

ชอยกยูฮา ผู้นำที่ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 10 เดือน ก่อนถูกโค่นล้มในการรัฐประหารในปี 1980

ชอนดูฮวาน ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเกาหลีใต้ที่ปกครองแบบเผด็จการ ปกครองเกาหลีต่อจากชอยกยูฮา ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งใน 1988 หลังจากการปฏิวัติทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยในปี 1987 ถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 1996 จากการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์สังหารหมู่ในกวางจูในปี 1980 แต่ได้รับอภัยโทษในปีถัดมา และเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านในปี 2021

ต่อมาคือ โนเทอู  ทหารที่กลายมาเป็นประธานาธิบดี ปกครองประเทศระหว่างปี 1988-1993 และรับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย ทว่าถูกจับในปี 1995 จากความเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารปี 1980 ถูกตัดสินจำคุก 22 ปี แต่ได้รับการอภัยโทษพร้อมกับชอนดูฮวาน

คิมยังซัม ปกครองระหว่างปี 1993-1998 ถูกจำคุกในช่วงปกครองของปาร์คจุงฮี ก่อนจะได้รับการอภัยโทษในเวลาต่อมา

คิมแดจุง ดำรงตำแหน่งในปี 1998 ปกครองประเทศจนถึงปี 2003 เคยถูกคุมขังในยุคของปาร์คจุงฮี จากการที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลปาร์กจุฮีในยุคนั้น ได้รับโทษตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับอภัยโทษจากชอนดูฮวาน ในสมัยทีดำรงตำแหน่งผู้นำเกาหลี เขาเคยลงนามอภัยโทษให้ทั้งโนเทอู และชอนดูฮวาน คิมแดจุงได้ชื่อว่าเป็น เนลสัน แมนเดลาแห่งเอเชีย  เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 2000 

โนมูฮยอน ปกครองระหว่างปี 2003-2008 ถูกสอบสวนจากข้อหากระทำการโกงเลือกตั้งและถูกรัฐสภาถอดถอน แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับคำถอดถอนของรัฐสภาจึงไม่ได้รับการลงโทษ พลิกคำตัดสินถอดถอนของรัฐสภาเขาอย่างไรก็ตาม เขาฆ่าตัวตายในปี 2009 ท่ามกลางการสอบสวนของกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับการทุจริต

อี มยองบัก ปกครองประเทศระหว่างปี 2008-2013 ถูกจับในข้อหายักยอกทรัพย์สินและฉ้อฉลในปี 2018 ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี และได้รับอภัยโทษจากประธานาธิบดียุนซอกยอลในปี 2022

ปาร์คกึนเฮ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้  ปกครองระหว่างปี 2013-2017 ถูกถอดถอนในปี 2016 และถูกตัดสินจำคุก 25 ปีจากข้อหาคอร์รัปชัน

มุนแจอิน เป็นเพียงประธานาธิบดีเกาหลีใต้ไม่กี่คนที่ลงตำแหน่งโดยปราศจากข้อครหา ไม่มีคดีความใดๆ มุนแจอิน ปกครองเกาหลีระหว่าง  2017-2022 ถือว่าเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้รับคะแนนนิยมอย่างสูง อีกทั้งยังเป็นผู้นำเกาหลีใต้คนแรกที่เปิดการเจรจากับเกาหลีเหนือผ่านการทูตแบบตัวต่อตัวกับนายคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ 

และปัจจุบันคือประธานาธิบดียุนซอกยอล ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศภาคม 2022 และเป็นที่น่าจับตาว่าอาจจะถูกถอดถอนและถูกดำเนินคดีจากกรณีประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าว

ฐานทัพเรือสัตหีบ จัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และ วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม2567

(4 ธ.ค. 67) ที่กองบัญชาการ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พลเรือโท วัชระ พัฒนรัฐ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นประธานในพิธีจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และ วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม2567 ในพื้นที่กองทัพเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งประกอบด้วยพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์-สามเณร 98 รูป พิธีเจริญพระพุทธมนต์ พิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน และพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ โดยมีผู้แทนหน่วยงานกองทัพเรือและกำลังพลพื้นที่สัตหีบ เข้าร่วมพิธี

สำหรับการกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม2567 ในครั้งนี้กองทัพเรือได้จัดกิจกรรมพร้อมกันหลายพื้นที่ประกอบด้วย พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พื้นที่ จ.สงขลา พื้นที่ จ.ภูเก็ต - จ.พังงา พื้นที่ จ.จันทบุรี - จ.ตราด พื้นที่จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ 3 จังหวัดชานแดนภาคใต้  เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรปวงชนชาวไทย

ภาพข่าว สมนึก เชื้อสนุก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top