Friday, 5 July 2024
Hard News Team

คลังเผยผู้คัดกรอง คุณสมบัติ ‘เราชนะ' กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนเข้าเกณฑ์รับเงิน 7,000 บาท

8 เมษายน 2564 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการประกาศผลการคัดกรองคุณสมบัติประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ (กลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน) ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะ (โครงการฯ) ระหว่างวันที่ 8 – 26 มีนาคม 2564 ว่า ประชาชนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถตรวจสอบผลการคัดกรองคุณสมบัติได้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2564 เป็นต้นมา ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com หรือ Call Center ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หมายเลขโทรศัพท์ 0 2111 1122 โดยผู้ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติจะได้รับการโอนวงเงินสิทธิ์ จำนวน 7,000 บาท และสามารถใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผ่านบัตรประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ได้ที่ผู้ประกอบการร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2564 

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำว่า สำหรับประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียง) ที่ไม่สามารถเดินทางออกจากที่พักอาศัยได้และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยรับลงทะเบียนเคลื่อนที่ ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 9 เมษายน 2564 จะทราบผลการคัดกรองคุณสมบัติได้ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2564 เป็นต้นไป โดยผู้ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติจะได้รับการโอนวงเงินสิทธิ์ จำนวน 7,000 บาท และสามารถใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผ่านบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ได้ที่ผู้ประกอบการร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2564 

โฆษกกระทรวงการคลังได้แถลงเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าของโครงการฯ ณ วันที่ 7 เมษายน 2564 ดังนี้ 1) ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 72,028 ล้านบาท 2) ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 16.8 ล้านคน และมีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 108,313 ล้านบาท และ 3) ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 2.3  ล้านคน มียอดใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสม 

ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา จำนวน 11,844 ล้านบาท ทำให้มีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการฯ แล้ว รวมทั้งสิ้น จำนวน 32.8 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 192,185 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการณ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1.3 ล้านกิจการ 

โฆษกรัฐบาล ยัน ไม่ผูกขาด - ไม่ปิดกั้นเอกชน จัดซื้อวัคซีนโควิด-19 แจง ความต้องการทั่วโลกสูงกว่าการผลิต ย้ำ อย. พร้อมออกใบอนุญาตหากเอกชนจัดหาวัคซีนได้

เมื่อวันที่ 8 เมษายน นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีที่ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนให้ประชาชนเกิดความสับสนโดยต่อเนื่องว่ารัฐบาลผูกขาดการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อยู่ที่ผู้ผลิตเพียงไม่กี่บริษัท และยังแสดงข้อความที่ทำให้เข้าใจว่ารัฐบาลปิดกั้นไม่ให้เอกชนนำเข้าวัคซีน รัฐบาลย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลไม่ได้ผูกขาดการจัดซื้อวัคซีนเพียงบางบริษัท และไม่ได้ปิดกั้นที่เอกชนจะนำเข้าวัคซีนแต่อย่างใด ประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจให้ตรงกันคือความต้องการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากทุกประเทศทั่วโลกมีสูงกว่าความสามารถในการผลิตของผู้ผลิตทุกราย ตลาดเป็นของผู้ขายไม่ใช่ผู้ซื้อ และผู้ผลิตทุกรายซึ่งผลิตวัคซีนด้วยมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เวลานี้ก็ผลิตเพื่อส่งให้ประเทศที่ทำการสั่งซื้อไว้แล้วเป็นหลักเท่านั้น

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ข้อมูลของของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม(อว.) ที่รวบรวมจากแหล่งต่าง ๆ พบว่าจนถึงวันที่ 5 เมษายน 2564 ทุกประเทศทั่วโลกมียอดจองวัคซีนโควิด-19 สูงถึง 9,600 ล้านโดส หลายประเทศมีคำสั่งซื้อสูงกว่าจำนวนประชากร 2 - 3 เท่าตัว ขณะที่ยอดวัคซีนที่มีการฉีดแล้วอยู่ที่ 658 ล้านโดส แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตยังต้องผลิตตามยอดคำสั่งซื้อของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ อีกจำนวนมาก ดังนั้นแม้รัฐบาลจะนำเข้าวัคซีนจากบริษัทคือซิโนแวคและแอสตราเซนเนกา แต่ก็มีความพยายามจัดหาวัคซีนจากบริษัทอื่นเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับประชาชนในประเทศ แต่ยังมีข้อจำกัดการผลิตของผู้บริษัทรายอื่นที่ยังไม่เพียงพอตามข้อมูลข้างต้น โดยวัคซีนจากผู้ผลิตทุกรายในเวลานี้เป็นการใช้แบบกรณีฉุกเฉิน หากเกิดอะไรขึ้นจากการใช้วัคซีนกับประชาชน รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบไม่ใช่บริษัทผู้ผลิต จึงทำให้ขณะนี้เกือบทุกประเทศทั่วโลก รัฐบาลจะเป็นผู้จัดหาและนำเข้าวัคซีน โดยถือว่าวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะ ยังไม่มีประเทศใดที่ให้ซื้อวัคซีนโควิด-19ได้เองแบบเชิงพาณิชย์ และยังมีประเด็นที่รัฐบาลต้องระมัดระวังคือ เมื่อกระจายการสั่งซื้อไปยังเอกชนแล้วอาจจะต้องบริหารจัดการอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาว่าประชาชนได้รีบวัคซีนปลอม

“ขณะนี้ยังคงมีความพยายามสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเรื่องวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะประเด็นการนำเข้าโดยเอกชน ซึ่งรัฐบาลไม่ขัดข้องที่เอกชนจะนำเข้า แต่ปัญหาอยู่ที่เอกชนก็หาวัคซีนไม่ได้ ขณะเดียวกันผู้ผลิตวัคซีนหลายรายก็ไม่ขายให้รายย่อย เช่น จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน บอกชัดเจนว่าในระยะแรกจะขายให้หน่วยงานของรัฐเท่านั้น ของจีนก็ต้องมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้สั่ง สถานการณ์วัคซีนทั่วโลกเวลานี้เป็นแบบนี้ แต่แนวทางของรัฐบาลเองชัดเจนว่าหากเอกชนรายใดหาวัคซีนได้องค์การอาหารและยา (อย.) ก็พร้อมออกใบอนุญาตให้อยู่แล้ว” นางสาวไตรศุลี กล่าว

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจาก อย. ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว 3 บริษัท คือ ซิโนแวค แอซตร้าเซนเนกา และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ส่วนที่อยู่ในขั้นตอนยื่นเอกสารแบบต่อเนื่อง หรือ rolling submission คือวัคซีนของบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี ประเทศอินเดีย นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และยังมีส่วนที่อยู่ในขั้นตอนการหารือกับ อย. เพื่อเตรียมการยื่นคำขอขึ้นทะเบียน คือวัคซีนโมเดอร์นา จากสหรัฐฯ วัคซีนสปุตนิก ไฟว์ จากรัสเซีย และวัคซีน ซิโนฟาร์ม จากจีน

โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จับมือ อเมซอน ฟอลส์ เปิดธีมพาร์คและสวนน้ำโคลัมเบีย พิคเจอร์สแห่งแรกของโลกในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส" เตรียมเปิดให้บริการตุลาคมนี้

โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จับมือ บริษัท อเมซอน ฟอลส์ จำกัด เตรียมเปิดสนุกและสวนน้ำในธีมภาพยนตร์ของโคลัมเบีย พิคเจอร์ส ในประเทศไทยเป็นแห่งแรกในโลก บนทำเลทองพื้นที่กว่า 35 ไร่ ณ ชายทะเลบางเสร่ ภายใต้ชื่อ โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส (Columbia Pictures’ Aquaverse)

นายเจฟฟรี่ย์ ก็อดสิค รองประธานบริหารสายงานโกลบอล พาร์ทเนอร์ชิพ และแบรนด์ เมเนจเม้นต์ โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เปิดเผยว่า โซนี่ พิคเจอร์สฯ ได้ร่วมกับ บริษัท อเมซอน ฟอลส์ จำกัด นำสวนสนุกและสวนน้ำในธีมภาพยนตร์ของโคลัมเบีย พิคเจอร์ส มาเปิดในประเทศไทยเป็นแห่งแรกในโลก บนพื้นที่กว่า 35 ไร่ บริเวณชายทะเลบางเสร่ จังหวัดชลบุรี ภายใต้ชื่อ โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส เพื่อช่วยสร้างความบันเทิงที่ให้ผู้บริโภคออกมาสัมผัสในสถานที่จริงกับเรื่องราวในภาพยนตร์ผ่านสวนน้ำ การจัดแสดงนิทรรศการ และอุปกรณ์เครื่องเล่นต่าง ๆ โดยพร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่เดือน ต.ค. นี้

สำหรับสวนน้ำโคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควำเวิร์สแห่งนี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ช่วยดึงดูดแฟนภาพยนตร์และนักท่องเที่ยวจากทั้งในประเทศและทั่วโลกให้มาเล่นเครื่องเล่น จากคาแร็คเตอร์ภาพยนตร์ฮอลลีวูดยอดนิยมตลอดกาลทั้ง โกสต์บัสเตอร์ส บริษัทกำจัดผี, จูแมนจี้ เกมดูดโลกมหัศจรรย์, แบดบอยส์ คู่หูขวางนรก, เอ็มไอบี หน่วยจารชนพิทักษ์จักรวาล, และโฮเทล ทรานซิลเวเนีย โรงแรมผี หนี ไปพักร้อน

รวมทั้งยังมีโซน เซิร์ฟอัพ สวรรค์ของนักเซิร์ฟ บนคลื่นยักษ์, โซน ผจญภัยในแม่น้ำสวอลโลว์ฟอลส์กับมหัศจรรย์ลูกชิ้นตกทะลุมิติ ผ่านการล่องไปตามสายน้ำ ทักทายบรรดาสัตว์อาหารกลายพันธุ์ฟู้ดนิมอลจากภาพยนตร์แอนิเมชัน และยังมีโซน สระคลื่นยักษ์วีโว่ เป็นสระน้ำที่จะซัดลูกคลื่นขนาดยักษ์เข้าใส่ตัว ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์มิวสิคัลแอนิเมชันที่กำลังจะเปิดฉายในเร็ว ๆ นี้ รวมทั้งยังมีพื้นที่ใช้สำหรับจัดกิจกรรม คอนเสิร์ต หรือไลฟ์โชว์ของศิลปินดังระดับโลกด้วย

กสร. ชี้แจงประเด็นดัง “รปภ. ถูกเลิกจ้างเนื่องจากถามค่าแรงในวันหยุดกับนายจ้าง” 

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้แจงข้อกฎหมายประเด็น พนักงานรักษาความปลอดภัยพ้นสภาพการจ้างงานเนื่องจากถามค่าแรงในวันหยุดกับนายจ้าง ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมชี้แจงสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชี้แจงประเด็นพนักงานรักษาความปลอดภัยพ้นสภาพการจ้างงานทันทีโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เนื่องจากถามค่าแรงในวันหยุดกับนายจ้าง ว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายที่ใช้คุ้มครองดูแลสิทธิและหน้าที่ของทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง การที่ลูกจ้างสอบถามค่าแรงของตนเองในการทำงานในวันหยุดนั้น ไม่ได้เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่นายจ้าง ไม่มีเหตุอันสมควรที่ถูกเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง ตามมาตรา 17/1  และอาจเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 

ในส่วนของค่าชดเชย เนื่องจากลูกจ้างยังทำงานติดต่อกันไม่ครบ 120 วัน จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากนายจ้าง ตามมาตรา 118 และข้อสงสัยที่ว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดเป็น 2 เท่า ช่วงวันหยุดสงกรานต์ได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ลูกจ้างทุกประเภทไม่ว่า จะเป็นลูกจ้างรายวัน รายเดือน หรืออยู่ระหว่างการทดลองงาน มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีที่นายจ้างประกาศกำหนดไว้ ตามมาตรา 56 (2) หากนายจ้างให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดดังกล่าว ลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มอีก 1 เท่า ตามมาตรา 62 (1) รวมกับค่าจ้างที่ต้องได้อยู่แล้วเป็น 2 เท่า   

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเด็นที่บริษัทอ้างถึงระเบียบข้อบังคับในการทำงานว่า ต้องทำงานครบ 120 วัน จึงจะได้รับค่าจ้างเป็น 2 เท่านั้น ไม่ได้มีการกำหนดไว้ในข้อกฎหมายแต่อย่างใด ข้อบังคับในส่วนนี้จึงใช้บังคับมิได้ จากกรณีนี้ทั้งตัวลูกจ้างและนายจ้างอาจไม่เข้าใจข้อกฎหมายที่ถูกต้อง จนทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในทางปฏิบัติ ดังนั้น หากมีข้อสงสัยด้านกฎหมายแรงงาน หรือต้องการขอคำปรึกษา หรือลูกจ้างประสงค์ยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่อพนักงานตรวจแรงงาน สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 และช่องทางยื่นคำร้องอิเล็กทรอนิกส์ http://eservice.labour.go.th

รูปแบบการเดินทางในอนาคตกำลังเปลี่ยนแปลงไป ความอัจฉริยะ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กำลังเข้าเป็นส่วนผสมสำคัญใหม่ของยานยนต์แห่งอนาคตชัดขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการเชื่อมต่อกับสิ่งต่าง ๆ (Connected)

เช่น ความสามารถขับขี่อัตโนมัติ (Automated) การใช้งานยานยนต์ร่วมกัน (Shared) และการใช้ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electrified) หรือเรียกโดยรวมว่า C-A-S-E Technology ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยียานยนต์ดังกล่าวจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในด้านโอกาสและความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากงานสัมมนาเปิดโครงการ ภายใต้หัวข้อ ‘การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ของประเทศไทย’ ได้มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติ ที่จะมาควบคู่กับเทคโนโลยียานยนต์เชื่อมต่อ หรือเรียกรวมกันว่ายานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (Connected and Autonomous Vehicle: CAV) ซึ่งเทคโนโลยี CAV จะส่งผลต่อการใช้งานยานยนต์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ลดความสูญเสียจากการชนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ช่วยลดความคับคั่งจากการจราจร ลดการปล่อยมลพิษ ลดต้นทุนการขนส่งจากการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดธุรกิจใหม่ ๆ รวมทั้ง ทำให้ผู้คนทุกกลุ่มสามารถเดินทางได้สะดวก ช่วยทำให้การใช้พื้นที่เมืองมีประสิทธิภาพ ทำให้เมืองน่าอยู่ และเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยว

การใช้งาน CAV ไม่เพียงแต่ต้องเตรียมความพร้อมด้านยานยนต์ แต่ต้องคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ถนนและสัญญาณจราจรต่าง ๆ สัญญาณสื่อสาร 5G กฎหมายขนส่ง และความปลอดภัยของข้อมูล ดังนั้น การจัดทำแผนยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากประเทศไทยปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยีใหม่นี้ ในเวลาไม่เกิน 10 ปี จะส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนของภูมิภาค และการเติบโตของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการสื่อสาร และอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve)

เกี่ยวกับประเด็นที่ว่านี้ ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้สถาบันยานยนต์ดำเนินโครงการ ‘การจัดทำแนวการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อัตโนมัติ’ โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อให้การส่งเสริมการผลิตยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งดำเนินกิจกรรมสร้าง ‘ภาคีเครือข่ายทางธุรกิจ (Business Alliance)’ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการต่อยอดไปสู่การผลิตยานยนต์ต้นแบบไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์

สำหรับการจัดงานสัมมนาเปิดโครงการ ภายใต้หัวข้อ ‘การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ของประเทศไทย’ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติให้แก่ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งนักวิชาการและนักวิจัย ภายในงานสัมมนาประกอบด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่จากผู้เชี่ยวชาญมากมาย อาทิ การบรรยายเรื่อง ‘จับตาการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในอนาคตของเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่’ จาก รศ.ดร.สรวิศ นฤปิติ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.นักสิทธิ์ นุ่มวงษ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อด้วยการเสวนา เรื่อง ‘อุตสาหกรรมไทยกับการก้าวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (CAV) ภายใต้ภาคีเครือข่ายธุรกิจ (Business Alliance)’ โดย คุณฐิติภัทร ดอกไม้เทศ ผู้จัดการแผนกวิจัยอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ ผศ.ดร.นักสิทธิ์ นุ่มวงษ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ดร.ปาษาณ กุลวานิช ผู้ชำนาญการด้านการพัฒนารถไร้คนขับและระบบหุ่นยนต์เคลื่อนที่แบบอัตโนมัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยแนวทางสำคัญที่จะช่วยยกระดับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องไปสู่การผลิต CAV คือ การรวมกลุ่มเป็นภาคีเครือข่ายธุรกิจ (Business Alliance) ที่จะร่วมมือกันตั้งแต่การทำวิจัยพัฒนายานยนต์ต้นแบบไปจนถึงการผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งความร่วมมือนี้ไม่ใช่เพียงกิจกรรมที่พิสูจน์ความมุ่งมั่นของสมาชิกในเครือข่ายเท่านั้น แต่ยังเป็นงานที่ต้องได้รับความร่วมมือและความเชื่อมั่นกันของสมาชิกที่จะมาจากหลากหลายธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่ไม่ใช่เพียงอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น อีกทั้งต้องประสานความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศด้วย

ปิดท้ายด้วยการบรรยาย เรื่อง ‘เทคโนโลยีและชิ้นส่วนยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (CAV)’ จาก ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ และ ดร.จาตุวัฒน์ ราชเรืองระบิน หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งการนำเสนอครั้งนี้มุ่งเน้นแสดงให้เห็นตัวอย่างการสร้างเทคโนโลยียานยนต์ CAV ผ่านการวิจัยและพัฒนาที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการพัฒนางานทางด้านการขนส่งสมัยใหม่ พร้อมกับร่วมขับเคลื่อนการพัฒนา Ecosystem ในเชิงอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศ รวมทั้งการเปรียบเทียบเทคโนโลยีและชิ้นส่วนสำคัญที่มีการประยุกต์ใช้ในยานยนต์ CAV ซึ่งเริ่มมีการนำมาใช้งานในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ภายในงานสัมมนายังมีการสาธิตการใช้งานรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติต้นแบบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ รวมทั้งชมเทคโนโลยีเชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติจากผู้ผลิตรถยนต์ ได้แก่ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด

‘บิ๊กตู่’ รับห่วงสถานการณ์โควิด-19 สั่ง ‘กทม.- มท.’ เตรียมพื้นที่ โรงพยาบาลสนาม ให้พร้อม ยันไม่ต้องการปิดทั่วประเทศ พร้อมให้เร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้าว่า...

วันนี้เป็นการประชุมครม.ในลักษณะวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แต่ได้พูดคุยหารือเช่นครม.ปกติ ซึ่งมีรัฐมนตรีหลายท่านที่อยู่ในมาตรการกักตัว แต่ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะมีการเชื่อมต่อระบบออนไลน์อยู่แล้ว ในส่วนของคำถามประชาชนวันนี้ให้ความสำคัญสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลห่วงใยและจำเป็นต้องหามาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการ เราต้องบริหารหลายเรื่องทั้งโควิด-19 เศรษฐกิจ การบริหารความรู้สึกประชาชน ซึ่งตนไม่สบายใจ แต่อย่าท้อแท้ ต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และสร้างการรับรู้ของประชาชน ไม่ว่าการแพร่ระบาดจะระดับใดก็ตาม หรือโควิด-19 จะกลายพันธุ์หรือไม่กลายพันธ์ุ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องมาตรการด้านสาธารณสุข ซึ่งคณะแพทย์ได้หารือกันขณะนี้

นายกฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเราต้องเร่งรัดฉีดวัคซีนให้มากยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับวัคซีนที่กำลังทยอยเข้ามาในประเทศ หลายเรื่องเป็นปัญหาระดับโลกและระดับประเทศ แม้กระทั่งประเทศผู้ผลิตวัคซีนก็มีปัญหาในการผลิตวัคซีน เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งจะทำให้มีปัญหาในการจัดหาวัคซีนก็ต้องเตรียมแก้ปัญหา ขอความร่วมมือจากทุกคนให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และทุกคนต้องมีมาตรการของตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง ไม่เข้าไปอยู่สถานที่หรือพื้นที่เสี่ยง สถานที่ท่องเที่ยว สถานบันเทิง ซึ่งรัฐบาลจำเป็นจะต้องปิดสถานบริการบางแห่ง บางพื้นที่ ทั้งนี้หากมีการตรวจสอบพบว่าสถานบริการใด ไม่พร้อมในเรื่องมาตรการควบคุมโควิดก็จะสั่งปิดโดยทันที

“ผมไม่อยากสั่งปิดทั่วประเทศ เพราะผมเข้าใจ แต่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ ดูแลตัวเองและครอบครัวอย่างไร ความสนุกสนาน ความบันเทิง ขอทุกคนระงับ ยับยั้งและชั่งใจด้วย เพราะผลมันกระทบต่อครอบครัวตัวเองและสังคม ทั้งนี้ไม่ว่าเป็นใครก็ตามผมก็ห่วงใยทั้งสิ้น” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ตนได้สั่งการกระทรวงสาธารณสุขให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด การรักษา ตนยืนยันทุกอย่างในขณะนี้ เรายังรับได้อยู่ ขณะเดียวกันได้สั่งการให้กรุงเทพฯ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดเตรียมพื้นที่สำหรับทำโรงพยาบาลสนามให้พร้อมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ในกรณีสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดจำนวนมาก หากไม่เพียงพอให้กระทรวงกลาโหมจัดหาพื้นที่เพิ่มเติม วันนี้มีหลายจังหวัด แต่ก็มีความแตกต่างกันในเรื่องของธุรกิจ เรื่องประชาชน ซึ่งตนได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พิจารณาเพิ่มเติมมาตรการตามความจำเป็น ข้อสำคัญเราต้องการ์ดไม่ตก ใส่หน้ากากอนามัย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับการจัดกิจกรรมในช่วงสงกรานต์ อาจจะต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น และอะไรที่ไม่จำเป็นก็อย่าจัดเลย โดยเฉพาะการรดน้ำดำหัวที่คนเยอะๆ แม้กระทั่งการทำบุญก็คงต้องเว้นระยะห่างให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือคนที่ไปทำบุญก็ต้องใส่หน้ากากทั้งหมด วันนี้สิ่งที่ตนอยากแนะนำคือ ยังรดน้ำใครไม่ได้ เพราะการแพร่ระบาด ก็ให้รดน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน วันนี้รัฐบาลได้ยกเลิกงานที่จะจัดสงฆ์น้ำพระที่ทำเนียบรัฐบาล ไปแล้ว เพราะเป็นห่วงไม่อยากให้คนมารวมกันจำนวนมาก สถานที่มีความเสี่ยง สถานที่ท่องเที่ยว ทุกคนต้องระมัดระวังให้มากที่สุด เพราะคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนในครอบครัวของท่านเองและสังคม ส่วนเชื้อที่แพร่จะเป็นสายพันธุ์เก่า หรือสายพันธุ์ใหม่ หรือเชื้อกลายพันธุ์ ตรงนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาอยู่แล้ว ขอให้เป็นเรื่องทางการแพทย์ที่จะพิจารณา อย่าเพิ่งตื่นตระหนกตรงนี้


ที่มา: https://siamrath.co.th/n/233704

ครม.อนุมัติเงินกู้ ให้สำนักงานธนานุเคราะห์ ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 500 ล้านบาท เตรียมพร้อมรองรับคนใช้บริการราว 1.45 ล้านคน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ว่า ครม. อนุมัติการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายในกิจการของสำนักงานธนานุเคราะห์ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 500 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรองรับธุรกรรมการรับจำนำของประชาชนที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง และเพื่อประกันการขาดสภาพคล่องทางการเงินที่ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน

ทั้งนี้เนื่องจากสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) ประเมินว่า ในงบประมาณปี พ.ศ.2564 จะมีผู้มาใช้บริการประมาณ 1.45 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 48,333 ราย และมีจำนวนเงินรับจำนำประมาณ 20,647 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 609 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องเสนอแผนเงินกู้ดังกล่าวไว้รองรับ

“โรงรับจำนำของรัฐเป็นช่องทางหนึ่งที่เป็นแหล่งพึ่งพิงสำคัญ สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถกู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่น ๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมา สธค. มีผลประกอบการที่มีกำไรอย่างต่อเนื่อง มีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี และวงเงินกู้ดังกล่าวได้รับการบรรจุในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2564 ตามที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563”

‘รองโฆษกพรรคกล้า’ วอนรัฐให้ความสำคัญ ‘คลัสเตอร์ทองหล่อ’ พร้อมเร่งจัดสรรวัคซีนให้กรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ ชี้รอบนี้ไม่ธรรมดา ติดเชื้อถึงระดับรัฐมนตรี ขอเปิดโอกาสให้ รพ.เอกชน ช่วยกระจายวัคซีน คุมระบาด

นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม รองโฆษกพรรคกล้า กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรวัคซีนให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้มากกว่าแผนที่วางไว้ โดยทราบว่าภายในเดือนเมษายนนี้มีแผนกระจายวัคซีนในพื้นที่ กทม.อีก 150,000 โดส ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการระบาดใหม่คลัสเตอร์ทองหล่อ จึงอยากให้รัฐบาลจัดสรรวัคซีนเพิ่มขึ้นตามความจำเป็นของพื้นที่

"ทราบว่าผู้ว่า กทม. เร่งลงพื้นที่จัดสรรวัคซีน 4,200 โดส ในพื้นที่ทองหล่อแล้ว แต่อาจไม่เพียงพอ เพราะการระบาดกระจายหลายพื้นที่ ดังนั้นรัฐบาลควรคำนึงถึงแผนการฉีดวัคซีน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเสี่ยงหรือพื้นที่ติดจังหวัดสมุทรสาครเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงการฉีดวัคซีนทุกพื้นที่อย่างจริงจัง และขอให้กำลังใจบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขันโดยตลอดรวมถึงช่วงนี้ด้วย" นายแสนยากรณ์ กล่าว

รองโฆษกพรรคกล้า ย้ำว่า สถานการณ์ขณะนี้ไม่ธรรมดา ขณะนี้ผู้ติดเชื้อกระจายไปหลายกลุ่ม ไม่เว้นแม้แต่นักการเมืองกลุ่มใหญ่ที่ต้องกักตัว หรือระดับรัฐมนตรีก็มีผลตรวจออกยืนยันออกมาแล้วว่าติดเชื้อ รวมถึงบุคคลกลุ่มอื่นๆ ที่ติดเชื้อ กระจายตัวไปถึง 18 จังหวัดแล้ว ซึ่งสถานการณ์นี้อาจกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นการกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจำนวนวัคซีนที่เพียงพอแล้ว การกระจายวัคซีนให้รวดเร็วก็ถือเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งตอนนี้โรงพยาบาลของรัฐฉีดวัคซีนได้เฉลี่ยวันละ 10,000 โดส ดังนั้นหากเป็นไปได้ ควรเปิดให้โรงพยาบาลเอกชนช่วยกระจายการฉีดวัคซีน เพื่อเพิ่มการป้องกันและจำกัดวงการระบาดให้รวดเร็วกว่าเดิม

ครม. เห็นชอบ ขยายเวลาผู้ประกันตนม.33 สิ้นสุดการเป็นลูกจ้าง ยื่นสมัครม.39 ถึง 30 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 7 เมษายน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการแสดงความจำนงเป็นผู้ประกันตนและการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 64เป็นต้นไป

โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่สิ้นสุดการเป็นลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 -วันที่ 31 ธันวาคม 2563หากประสงค์อยู่ในระบบประสังคมต่อไป ให้แสดงความจำนงเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และให้ขยายกำหนดเวลานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน สำหรับเงินสมทบที่ต้องนำส่งประจำงวดเดือนมีนาคม 2563-งวดเดือนพฤษภาคม 2564 ให้นำส่งภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เพื่อให้ผู้ประกันตนรักษาสถานภาพตามมาตรา 39 พ.ร.บ.ประกันสังคม ประมาณ 207,700 คน  และมีหลักประกันด้านสุขภาพผ่ายสิทธิประโยชน์ประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง

ครม.ไฟเขียวกฎหมายคุมร้านขายก๊าซหุงต้ม

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบให้มีการควบคุมธุรกิจร้านขายแก๊สหุงต้มให้มีความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานมากขึ้น โดยได้มีการอนุมัติร่างกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทร้านจำหน่าย ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการประกอบกิจการในปัจจุบัน 

สำหรับสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่ตั้ง แผนผัง รูปแบบ และลักษณะของสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทร้านจำหน่าย การเก็บรักษาและการจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประกอบด้วย 1.ห้ามตั้งร้านจ้าหน่ายถังก๊าซหุงต้มในอาคารชุด อาคารสรรพสินค้า อาคารแสดงสินค้า หรือสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว 2.ร้านจำหน่ายที่อยู่ห่างจากอาคารอื่น ไม่เกิน 6 เมตร  ให้เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ไม่เกิน 2,400 ลิตร ถ้าอยู่ห่างจากอาคารอื่น เกิน 6 เมตรขึ้นไป ให้เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ไม่เกิน 12,000 ลิตร  3.ร้านจำหน่ายลักษณะที่ 2 (ร้านจำหน่ายที่มีการเก็บก๊าซปริโตรเลียมเหลวเกิน 500 ลิตรขึ้นไป) ต้องมีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย แบบกระจายน้ำดับเพลิง ที่สามารถฉีดน้ำครอบคลุมบริเวณที่เก็บถังก๊าซหุงต้มหรือกระป๋องก๊าซ

สำหรับร้านจำหน่ายที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนที่กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีผลบังคับใช้ และร้านจำหน่ายที่ตั้งอยู่ในตึกแถวที่ประกอบกิจการอยู่ก่อน จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีกรรมสิทธิ์ในตึกแถวข้างเคียงที่มีผนังร่วมกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top