Friday, 25 April 2025
Hard News Team

สหรัฐฯ เพิกถอนวีซ่านักเรียนต่างชาติกว่า 300 คน กรีนการ์ดก็ไม่รอด หลังตรวจพบโพสต์โซเซียลมีเดียหนุนกลุ่มฮามาส

(8 เม.ย. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐฯ ตรวจสอบกิจกรรมทางโซเชียลมีเดียของผู้สมัครวีซ่าบางราย โดยเฉพาะผู้ที่มีแนวโน้มวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ และ อิสราเอล เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีทัศนคติเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯ เข้าประเทศ

โดยคำสั่งดังกล่าวถูกส่งในโทรเลขถึงคณะผู้แทนทางการทูตเมื่อวันที่ 25 มีนาคม กำหนดให้เจ้าหน้าที่กงสุลส่งผู้สมัครวีซ่า นักเรียนและนักท่องเที่ยวแลกเปลี่ยนบางราย ไปที่ “หน่วยป้องกันการฉ้อโกง” เพื่อทำการตรวจสอบโซเชียลมีเดียตามข้อบังคับที่กำหนด

มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า มีนักเรียนต่างชาติอย่างน้อย 300 คนที่ถูกเพิกถอนวีซ่าในช่วงที่รัฐบาลทรัมป์ใช้มาตรการปราบปรามผู้อพยพเข้าเมือง

“เราทำแบบนั้นทุกวัน ทุกครั้งที่ผมพบคนบ้าพวกนี้ ผมก็จะยึดวีซ่าของพวกเขาไป” เขากล่าวเสริม “ผมหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะหมดวีซ่าไป เพราะเราได้กำจัดพวกเขาทั้งหมดแล้ว แต่เรายังคงตามหาคนบ้าพวกนี้ที่คอยทำลายข้าวของทุกวัน”

นอกเหนือจากผู้ถือวีซ่านักเรียนแล้ว รัฐบาลทรัมป์ยังดำเนินการกับผู้มีถิ่นพำนักถาวรอย่างถูกกฎหมาย เช่นมะห์มุด คาลิล นักเคลื่อนไหวชาวปาเลสไตน์ ที่ถูกเพิกถอนกรีนการ์ดจากผู้มีถิ่นพำนักถาวรอย่างถูกกฎหมาย 

“รัฐมนตรีต่างประเทศตัดสินใจว่ากิจกรรมในต่างประเทศของผู้สมัคร ก่อให้เกิดหรือมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติหรือต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ” รัฐบาลสหรัฐ แถลงการณ์

คำสั่งดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามนโยบายของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มุ่งเน้นการเนรเทศชาวต่างชาติที่ถูกมองว่ามี “ทัศนคติเป็นปฏิปักษ์” ต่อสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการปราบปรามสิ่งที่เขาเรียกว่า “การต่อต้านชาวยิว” โดยเฉพาะการประท้วงที่สนับสนุน “ปาเลสไตน์” ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งส่งผลให้มีการเนรเทศนักศึกษาต่างชาติที่เข้าร่วมการประท้วงดังกล่าว

ทั้งนี้ การตรวจสอบโซเชียลมีเดียของผู้สมัครวีซ่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการป้องกันการเข้าประเทศของบุคคลที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศหรือมีพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของสหรัฐฯ รวมถึงการต่อต้านพันธมิตรสำคัญอย่างอิสราเอล โดยกระบวนการตรวจสอบจะรวมถึงนักเรียนต่างชาติในสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2023 ซึ่งเป็นวันที่ฮามาสโจมตีอิสราเอล

Volkswagen และ Audi สั่งเก็บรถยนต์ไว้ที่ท่าเรือสหรัฐฯ หลัง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประกาศเก็บภาษี 25% รถนำเข้าจากยุโรปและเม็กซิโก

(8 เม.ย. 68) บริษัท Audi ในเครือ Volkswagen กำลังเก็บรถยนต์ที่เดินทางมาถึงท่าเรือสหรัฐฯ หลังวันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการเก็บภาษี 25% กับรถยนต์ที่นำเข้า จากยุโรปและเม็กซิโก หลังการประกาศดังกล่าว บริษัทต่าง ๆ กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนและพยายามหาทางออกเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเก็บภาษีนี้

Audi ระบุเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ว่ามีรถยนต์จำนวนหนึ่งถูกเก็บไว้ที่ท่าเรือของสหรัฐฯ เนื่องจากการนำเข้ารถยนต์ต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้ต้องพิจารณาถึงผลกระทบในระยะยาวต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ขณะที่หลายบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังพยายามหาทางออกว่าจะตอบสนองต่อภาษีใหม่อย่างไร

ส่วนของ Volkswagen แบรนด์อื่นๆ ในกลุ่มบริษัทได้แจ้งว่า มีรถยนต์กว่า 37,000 คัน อยู่ในคลังสินค้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพียงพอสำหรับการขายในตลาดประมาณ 2 เดือน ตามที่โฆษกของบริษัทกล่าว โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทในระยะเวลาอันใกล้ และยังต้องรอดูว่าจะมีมาตรการปรับตัวหรือการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การจัดจำหน่ายอย่างไรในอนาคต

โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ผลิตรถยนต์จะมีสินค้าคงคลังในสหรัฐอเมริกาประมาณ 3 เดือน ตามข้อมูลจาก Cox Automotive ผู้ให้บริการด้านยานยนต์ ซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตมีเวลาหายใจและรักษาอุปทานไว้จนกว่าจะกำหนดกลยุทธ์ในระยะยาวสำหรับการรับมือกับภาษีศุลกากร

ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารระดับสูงของอุตสาหกรรมยานยนต์จะเข้าพบกับ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานสหภาพยุโรปในช่วงบ่ายวันจันทร์เพื่อหารือถึงวิธีการตอบสนองต่อภาษีนำเข้า ขณะที่ หุ้นในยุโรป ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน เนื่องจากนักลงทุนหวั่นเกรงว่าราคาสินค้าจะสูงขึ้น ความต้องลดลง และอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

ทั้งนี้ มาตรการเก็บภาษี 25% ของทรัมป์ เป็นการเพิ่มภาษีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการผลิตนอกสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการค้าที่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในเวทีการค้าโลก

รัฐบาลญี่ปุ่นเตือน หากเกิดแผ่นดินไหว 9 แมกนิจูด ที่ร่องลึกนันไค เกิดแน่ ‘สึนามิ-อาคารถล่ม’ ซึ่งอาจคร่าชีวิตผู้คนกว่า 298,000 ชีวิต

(8 เม.ย. 68) รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานประเมินภัยพิบัติฉบับใหม่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยระบุว่าหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงประมาณ 9 แมกนิจูด บริเวณร่องลึกนันไค (Nankai Trough) ซึ่งทอดตัวตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของประเทศ อาจมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 298,000 คน

รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นโดย คณะผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติและการป้องกันภัยของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งระบุว่า สาเหตุหลักของการสูญเสียชีวิตจำนวนมากมาจาก “คลื่นสึนามิ” ที่จะพัดถล่มชายฝั่งภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังเกิดแผ่นดินไหว รวมถึงการพังถล่มของอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

สำหรับร่องลึกนันไค เป็นพื้นที่ที่นักวิทยาศาสตร์จับตามองมานาน เนื่องจากมีประวัติการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในอดีตหลายครั้ง และมีศักยภาพที่จะปลดปล่อยพลังงานสะสมขนาดมหาศาลในอนาคต

ส่งผลให้ รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมลงทุนกว่า 20 ล้านล้านเยน (ราว 5 ล้านล้านบาท) ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2569 เพื่อเสริมความสามารถในการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ

รัฐบาลเตือนว่า หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นจริง หลายเมืองใหญ่ในภูมิภาคคันไซและชูโงกุ รวมถึงบางส่วนของภูมิภาคโทไก อาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งจากคลื่นยักษ์ ความเสียหายของระบบคมนาคม และการหยุดชะงักของโครงข่ายสาธารณูปโภค

ด้าน คณะรัฐมนตรี รัฐบาลกล่าวว่าแผ่นดินไหวจะผลักดันให้การผลิตและบริการภายในประเทศลดลงสูงถึง 45.4 ล้านล้านเยน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งจะมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์และการผลิตอื่น ๆ จึงเรียกร้องให้ผู้ผลิตกระจายฐานการผลิตและซัพพลายเออร์ เพื่อบรรเทาความเสี่ยงและปรับปรุงความต้านทานแผ่นดินไหวของโรงงาน

โดย บริษัทโตโยต้ากำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการย้ายสายการผลิตบางส่วนในภูมิภาคโทไกซึ่งเป็นภูมิภาคหลัก ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากแผ่นดินไหวนันไก ไปยังภูมิภาคโทโฮกุและเกาะคิวชู

ขณะที่ บริษัทฮอนด้า มอเตอร์ ถูกบังคับให้ลดการผลิตรถยนต์มินิวีครุ่นเรือธง N-Box เป็นการชั่วคราว หลังจากที่ซัพพลายเออร์ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรโนโตะในปี 2567

“เรากำลังสร้างการจำลองเพื่อให้แน่ใจถึงความปลอดภัยของพนักงานเป็นอันดับแรก และเพื่อรักษาการดำเนินงานให้ได้มากที่สุด แม้ว่าการจัดหาชิ้นส่วนจะหยุดชะงักก็ตาม” เจ้าหน้าที่ของฮอนด้ากล่าว

นอกจากนี้ บริษัท Panasonic Holdings ได้สร้างกำแพงกั้นน้ำทะเลสำหรับโรงงานแห่งหนึ่งในเมืองมัตสึชิเกะ จังหวัดโทคุชิมะ โดยที่โรงงานในเมืองสึ จังหวัดมิเอะ สายการผลิตแปรรูปโลหะที่สำคัญได้ถูกย้ายจากชั้น 1 ไปยังชั้น 3 เป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมลงทุนกว่า 20 ล้านล้านเยน (ราว 5 ล้านล้านบาท) ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2569 เพื่อเสริมความสามารถในการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวขนาดใหญ่จากรอยเลื่อนนังไก ตามร่างแผนฉบับใหม่ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568

ม.โตเกียว เปิดคณะใหม่ครั้งแรกในรอบ 70 ปี คณะ ‘วิทยาลัยการออกแบบ’ หลักสูตรควบตรี-โท สอนอังกฤษล้วน รับต่างชาติครึ่งรุ่น

(8 เม.ย. 68) มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ประกาศเปิดตัวคณะใหม่ในชื่อ “วิทยาลัยการออกแบบแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว” (UTokyo College of Design) ซึ่งมีกำหนดเปิดการเรียนการสอนในเดือนกันยายน ปี 2027 โดยใช้ ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนทุกชั้นปี ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญที่มุ่งสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้สามารถรับมือกับปัญหาและความท้าทายระดับโลกที่ซับซ้อน

คณะใหม่นี้จะเปิดสอนใน หลักสูตรควบระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ระยะเวลา 5 ปี โดยแบ่งออกเป็น การเรียนระดับปริญญาตรีใน 4 ปีแรก และ ระดับบัณฑิตศึกษาในช่วง 1 ปีสุดท้าย 

เนื้อหาหลักสูตรจะครอบคลุมสาขาวิชาหลากหลาย เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษา สำรวจและเลือกเรียนตามความสนใจของตนเอง เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ การออกแบบระบบนโยบายสาธารณะ และความยั่งยืนในระดับโลก

จำนวนรับนักศึกษาอยู่ที่ 100 คน โดยสงวนที่นั่งสำหรับนักศึกษาต่างชาติไว้ถึงครึ่งหนึ่ง เพื่อส่งเสริมความหลากหลายและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม นอกจากนี้หัวหน้าคณะจะเป็นศาสตราจารย์ชาวต่างชาติประจำมหาวิทยาลัยโตเกียว และมีคณาจารย์ร่วมสอนจากทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ รวมถึงนักวิจัยชั้นนำในหลากหลายสาขา

ศาสตราจารย์เทรุโอะ ฟูจิอิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยจะสร้างพื้นที่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่เปิดกว้างและยืดหยุ่น เพื่อให้นักศึกษาสามารถ เปลี่ยนความฝันให้เป็นจริง โดยใช้ทรัพยากรและศักยภาพของมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่”

สำหรับการเปิดวิทยาลัยการออกแบบในครั้งนี้ นับเป็นการก่อตั้งคณะใหม่ครั้งแรกของมหาวิทยาลัยโตเกียวในรอบเกือบ 70 ปี นับตั้งแต่การจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์เมื่อปี 1958 และสะท้อนถึงแนวทางใหม่ของการศึกษาระดับสูงที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์ต่างๆ เพื่อรองรับโลกอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กลุ่มอาจารย์ - นักวิชาการ เศรษฐศาสตร์ มธ. ออกโรงค้าน พรบ.สถานบันเทิงครบวงจร

(8 เม.ย. 68) กลุ่มอาจารย์ นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 30 คนร่วมลงนามออกแถลงการณ์ คัดค้านการออก พรบ.ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ชี้เป้าหมายหลักคือ การเปิดบ่อนกาสิโน

“.... นี่คือความเลวร้าย แค่คิดก็เลวร้าย สร้างอุบายทั้งอกุศลเกิดขึ้น เพื่อชักนำไปสู่สิ่งที่ไม่ถูกต้องว่าถูกต้อง คนพวกนี้ไม่ควร  ปกครองแผ่นดิน” พระราชวัชรสุทธิวงศ์ (พระอาจารย์อารยวังโส) 29 มีนาคม 2568 

การดำเนินนโยบายจัดตั้งบ่อนกาสิโน โดยรัฐบาลอ้างว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น พิจารณาโดยรอบด้านแล้วเห็นว่า ผลได้ทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยไม่อาจหักล้างผลเสียที่จะเกิดกับสังคมในวงกว้างและยาวนานอย่างแน่นอน และจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน ไม่ปลอดภัย

กลุ่มอาจารย์และนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จึงจำเป็นต้องคัดค้าน พรบ. ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร  อันมีเป้าหมายหลักคือการเปิดบ่อนกาสิโน และคัดค้าน พรบ.เกี่ยวกับการพนันออนไลน์ที่จ่อคิวตามมา

ปัญหาสังคมต่างๆ ในสังคมไทยที่รุนแรงเรื้อรังขยายตัวสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนมากเกี่ยวโยงบ่มเพาะจากการพนันและการเสี่ยงโชคทุกชนิด เป็นอบายมุขที่คนไทยที่ตั้งใจทำงานต้องรับภาระจากผลกระทบที่เกิดขึ้น

ปัญหาความยากจน กลุ่มที่หาเช้ากินค่ำ กู้เงินดอกเบี้ยรายวันเพื่อเสี่ยงโชคซื้อหวยใต้ดิน คนกลุ่มนี้จึงมีหนี้อมตะ คนที่รายได้มากขึ้นก็เสี่ยงโชคกับล็อตเตอรี่รัฐบาล ซึ่งปัจจุบันพิมพ์เพิ่มนับล้านใบ  ต่อไปความยากจนจะมากขึ้น เพราะมีแหล่งอบายมุขเพิ่มมาก

ปัญหาทักษะอาชีพตกต่ำไร้คุณภาพ มีเงินเท่าไรจึงหมดไปกับการเสี่ยงโชค ไม่คิดที่จะใช้ เงินเพื่อเพิ่มทักษะการประกอบอาชีพ  เพิ่มพูนรายได้เป็นเงินออมไว้ใช้ในยามชรา

ปัญหาครอบครัวแตกแยก หากผู้ใหญ่ในครอบครัวหมกมุ่นอยู่กับการเสี่ยงโชคการพนันละเลยการดูแลเอาใจใส่  อบรมสั่งสอนลูกหลาน จึงเป็นการทำร้ายเยาวชนของชาติ ทั้งยังเป็นตัวอย่างเลวร้ายแก่บุตรหลานอีกด้วย

ปัญหาอาชญากรรม จะเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันนักโทษล้นคุกก็แก้ปัญหาโดยระบายนักโทษจำนวนหนึ่งออกจากคุกเป็นระยะๆ อาจก่ออาชญกรรมซ้ำซาก จะเกิดนักโทษมือใหม่จี้ปล้นหาเงินไปเสพอบายมุข ซึ่งรวมการพนันต่างๆ ทุกชนิดที่มีพร้อมในเวลานี้ 

ปัญหาความฉ้อฉลของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมการรับสินบนส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องกับการพนันและการเสี่ยงโชคที่ฝังอยู่ในกมลสันดานของคนไทยจำนวนมาก ความไม่พร้อมในการควบคุมให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ กฎหมายจะทำให้บ่อนกาสิโน และพนันออนไลน์ขยายตัว 

ปัญหาการฟอกเงิน บ่อนกาสิโนเป็นแหล่งฟอกเงินของคนโกง สามารถอ้างว่าทรัพย์สินที่ถือครองอย่างผิดปกติ ได้จากการเสี่ยงโชคในสถานกาสิโน 

ทำลายล้างอนาคตประเทศไทย เมื่อเยาวชนถูกมอมเมาด้วยการพนันและการเสี่ยงโชค นอกเหนือจากยาเสพติดที่ฝังรากอยู่แล้ว สมรรถภาพทั้งทางร่างกายและสภาพจิตใจจึงถูกทำลาย ทำการงานไม่ได้ แถมยังกลายเป็นภาระของครอบครัวและสังคม 

หากรัฐบาลแพทองธาร ยังดื้อดึงผลักดันให้มีบ่อนกาสิโนพนันออนไลน์ จะถือว่ารัฐบาลนี้มุ่งมั่นทำลายประเทศและสังคมไทย ซึ่งไม่ควรให้เป็นผู้ปกครองประเทศอีกต่อไป

6 เมษายน 2568 

รายนามอาจารย์และนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์

1.    รองศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา นิธังกร
2.    รองศาสตราจารย์ วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน
3.    รองศาสตราจารย์ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
4.    ศาสตราจารย์ ดร. ปราณี ทินกร
5.    ศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย พันธเสน
6.    รองศาสตราจารย์ ดร.ภาวดี ทองอุไทย
7.    ดร. สาธิต อุทัยศรี
8.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จินตนา เชิญศิริ
9.    อาจารย์ สุพรรณ นพสุวรรณชัย
10.    รองศาสตราจารย์ พรพิมล สันติมณีรัตน์
11.    รองศาสตราจารย์ ชูศรี มณีพฤกษ์
12.    รองศาสตราจารย์ สุขุม อัตวาวุฒิชัย
13.    รองศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
14.    รองศาสตราจารย์ ดร. เพลินพิศ สัตย์สงวน
15.    รองศาสตราจารย์ ดร. ดาว มงคลสมัย
16.    รองศาสตราจารย์ ดร.เยาวเรศ ทับพันธุ์ 
17.    รองศาสตราจารย์ ดร. สมนึก ทับพันธุ์
18.    รองศาสตราจารย์ ดร.ลิลี่ โกศัยยานนท์
19.    รองศาสตราจารย์ ดร. สิริลักษณา คอมันตร์
20.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรียา โตสงวน
21.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จรินทร์ พิพัฒนกุล
22.    รองศาสตราจารย์ ชยันต์ ตันติวัสดาการ
23.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิธินันท์ วิศเวศวร
24.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประชา คุณธรรมดี
25.    อาจารย์ พงศ์พลิน  ยิ่งชนม์เจริญ
26.    รองศาสตราจารย์ รัชนีวรรณ อุทัยศรี
27.    ศาสตราจารย์ ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์
28.    รองศาสตราจารย์ดร.วรากรณ์่ สามโกเศศ
29.    รองศาสตราจารย์ มณีรัตน์ ภิญโญภูษาฤกษ์
30.    รองศาสตราจารย์ วณี จีระแพทย์

‘ไล่ ชิงเต๋อ’ ปธน.ไต้หวัน ย้ำไม่ตอบโต้ภาษีทรัมป์ 32% ชู 5 แนวทางรับมือ ยึดผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก

(8 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีไต้หวัน นายไล่ ชิงเต๋อ ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อประชาชนผ่านวิดีโอในวันนี้ ภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไต้หวันในอัตรา 32% ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนในภาคเศรษฐกิจและการค้าในภูมิภาค

ในการแถลงดังกล่าว นายไล่ ชิงเต๋อ ยืนยันว่า ไต้หวันจะไม่ตอบโต้ด้วยการใช้มาตรการเก็บภาษีศุลกากรใดๆ โดยระบุว่า “ไต้หวันจะไม่เลือกเดินในเส้นทางของความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ แต่จะใช้สติปัญญาและการเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของชาติ”

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไต้หวันได้เสนอแนวทางรับมือสถานการณ์นี้ 5 ประการ ได้แก่
1.เจรจาปรับปรุงอัตราภาษีและจัดตั้งทีมระดับสูง 
2.การเปิดตัวโครงการสนับสนุนอุตสาหกรรม โดยให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับความสำคัญเป็นพิเศษ
3.เปิดตัวแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะกลางถึงระยะยาวและสร้างเกาะอัจฉริยะ AI
4.การกำหนดรูปแบบเศรษฐกิจใหม่แบบ “ไต้หวัน + 1” และการเสริมสร้างความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา 
5.เปิดตัว “Industry Listening Tour” เพื่อรับฟังเสียงจากผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ นายไล่ ชิงเต๋อยังกล่าวเน้นว่า พันธกรณีด้านการลงทุนของบริษัทไต้หวันในสหรัฐฯ จะยังคงดำเนินต่อไป “ตราบใดที่การลงทุนเหล่านั้นยังสอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติและประชาชนของเรา”

ทั้งนี้ คำแถลงของประธานาธิบดีไต้หวันในวันนี้สะท้อนถึงความพยายามในการรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น และเป็นสัญญาณถึงจุดยืนเชิงบวกของรัฐบาลไต้หวันต่อประชาคมโลกในยามวิกฤต

“เรามาทำงานร่วมกันเถอะ!” ไหลชิงเต้กล่าวคำร้องขอจากใจจริงต่อประชาชน โดยหวังว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะไม่เพียงแต่เป็นจุดเริ่มต้นของความท้าทายเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวันอีกด้วย

‘Mr. S - Miss W’ นร.นอกที่จบจากตะวันตก ปั่นกระแส ทำลายความสัมพันธ์ ‘ไทย - จีน’ ใส่ร้าย!! สร้างวาทกรรม ‘จีนเทา’ ทั้งที่จริงนักลงทุนจีน 99% ดำเนินกิจการ อย่างโปร่งใส

(7 เม.ย. 68) มองให้ลึก ก่อนเหมารวม : เมื่อความเงียบกลายเป็นพลังบ่อนทำลาย

ช่วงนี้ในแวดวงความคิดเห็นและการเมืองระหว่างประเทศ เริ่มมีกระแสบางอย่างที่น่าสนใจและควรค่าแก่การจับตา

มีกระแสหนึ่งที่กำลังค่อย ๆ บ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนอย่างเงียบเชียบ มีทิศทางชัดเจน และใช้กลวิธีที่แนบเนียน

เบื้องหลังของกระแสดังกล่าว มีบุคคลกลุ่มเล็ก ๆ โดยเฉพาะสองคนที่รู้จักกันในวงในชื่อย่อว่า Mr. S และ Miss W สองนักเรียนนอกจากโลกตะวันตก ผู้ร่วมกันผลักดันวาทกรรมในเชิง “ป้ายสีจีน” ด้วยการหยิบยกข้อมูลบางด้าน และใช้เทคนิคทางภาษาเพื่อชี้นำสังคมให้เข้าใจผิด เหมารวมว่านักลงทุนจีนทั้งหมดเป็น “ทุนสีเทา”

หลายฝ่ายในวงการเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจไม่ใช่แค่ความเห็นส่วนตัว แต่เป็นการ “ปั้นกระแส” อย่างมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน

สิ่งที่สังคมไทยควรตั้งสติและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนคือ—เราไม่ควรเหมารวมบริษัทจีนทั้งหมดว่าเป็นกลุ่มทุนสีเทา

ในความเป็นจริงแล้ว นักลงทุนจีนกว่า 99% ที่เข้ามาในประเทศไทย ล้วนเป็นบริษัทระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง โปร่งใส และสร้างงานให้กับคนไทยอย่างจริงจัง อาทิ :
 • GWM
 • Haier
 • Midea
 • Hisense
 • BYD
 • GAC AION
 • Longi
 • MG
 • ChangAn
 • CATL
 • SVOLT

บริษัทเหล่านี้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ

แม้จะไม่มีใครกล้ายืนยันว่าเบื้องหลังของกระแสนี้คืออะไรแน่ แต่ในโลกของการทูต “ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยบังเอิญ”

ทุกกระแสที่ถูกจุดขึ้น ล้วนมีที่มา

และทุกความเคลื่อนไหว ย่อมมี “ราคา” ที่ตามมาเสมอ

‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ แนะ!! ‘ไทย’ ควรสงวนท่าทีเจรจากับ ‘สหรัฐฯ’ หาทางตั้งรับดีกว่า แล้วค่อยพาดบันได รอโอกาส ตอน ‘ทรัมป์’ ถอย

(7 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ แนะไทยสงวนท่าทีเจรจากับสหรัฐฯ หาทางตั้งรับดีกว่า แล้วค่อยพาดบันได รอโอกาส ตอนทรัมป์ถอย ยันมีกองทุน 3 พันล้านดูแลผู้ส่งออก

การรีบเร่งเจรจาเหมือนประเทศอื่นๆ ไม่ได้ผล เนื่องจากทรัมป์มีเป้าหมายชัดเจนที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลกและลดการขาดดุลของสหรัฐฯ โดยไม่สนใจแนวทางเดิมๆ 

ทีมงานไทยจึงประเมินสถานการณ์และเสนอแนวทางเชิงรุก คือ แทนที่จะรีบลดภาษีหรือให้สิ่งตอบแทนทันที ควรมุ่งสร้างพันธมิตรกับภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์ โดยเสนอซื้อ วัตถุดิบทางการเกษตรจากสหรัฐฯ มาแปรรูปเป็นอาหารส่งออกทั่วโลก ควบคู่ไปกับการเตรียม "บันได" หรือข้อเสนอผ่อนปรนอื่นๆ ไว้ แต่จะยื่นข้อเสนอเมื่อสหรัฐฯ ส่งสัญญาณพร้อมเจรจา หรือเมื่อนโยบายของทรัมป์เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง 

การเจรจาควรดำเนินการตามลำดับขั้น เริ่มจากระดับเจ้าหน้าที่ (USTR) ก่อน ถึงระดับรัฐมนตรี พร้อมกันนี้ ไทยมีมาตรการบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้าสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบด้วย

ศุภวุฒิ อธิบายว่าหลายประเทศที่รีบเจรจากับสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทรัมป์ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการค้าโลกและลดการขาดดุลการค้าอย่างจริงจัง แม้แต่พันธมิตรใกล้ชิดอย่างอังกฤษ ก็ยังถูกขึ้นภาษี 

การตัดสินใจของทรัมป์มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้การเจรจาในช่วงแรกเป็นไปได้ยาก 

ทีมยุทธศาสตร์ของไทย นำโดยปลัดกระทรวงพาณิชย์และมี ศุภวุฒิ และ พันศักดิ์ เป็นที่ปรึกษา ประเมินว่าทรัมป์มีเหตุผล 3 ประการในการขึ้นภาษี คือ 1) มองว่าการขาดดุลคือการถูกเอาเปรียบ 2) ต้องการหารายได้ชดเชยการลดภาษีคนรวย 3) ต้องการดึงการผลิตกลับสหรัฐฯ

ดังนั้น แทนที่จะรีบเจรจาและให้สิ่งตอบแทนโดยเปล่าประโยชน์ ไทยควรใช้ยุทธศาสตร์ "รอจังหวะ" และ "สร้างพันธมิตร" โดยเสนอตัวเป็นผู้ซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรรายใหญ่จากสหรัฐฯ (เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด) ซึ่งไทยผลิตไม่พออยู่แล้ว นำมาแปรรูปเป็นอาหารส่งออก แนวทางนี้จะช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกรสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์และพรรครีพับลิกัน

พร้อมกันนี้ ไทยเตรียมมาตรการผ่อนปรนอื่นๆ เช่น การลดภาษีสินค้าบางรายการ หรือการร่วมลงทุน/นำเข้า LNG ไว้เป็น "บันได" ให้สหรัฐฯ ลง 

หากนโยบายภาษีเริ่มส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง (เช่น เงินเฟ้อ หุ้นตก) และสหรัฐฯ พร้อมจะเจรจามากขึ้น การเจรจาควรเริ่มจากระดับเจ้าหน้าที่ (USTR ผ่านกรอบ TIFA) ก่อนเพื่อกรุยทางในรายละเอียด แล้วค่อยให้ระดับรัฐมนตรีตัดสินใจในประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้ 

การเดินทางไปสหรัฐฯของคณะทำงานจึงเป็นการไป "พบปะหารือ" สร้างแนวร่วม ไม่ใช่การ "เจรจา" ในทันที


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top