สื่อแฉ ‘มัสก์’ ขอร้อง ‘ทรัมป์’ ไม่สำเร็จ หวังให้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้า ที่ทำหุ้น Tesla ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ดิ่งกว่า 42% นับตั้งแต่ต้นปี
(8 เม.ย. 68) สำนักข่าววอชิงตันโพสต์รายงานว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทสลาและหนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลแห่งวงการเทคโนโลยีระดับโลก ได้ร้องขอโดยตรงต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ยกเลิกนโยบายการเก็บภาษีนำเข้าระดับสูง ซึ่งเป็นมาตรการตอบโต้ต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ แต่ไม่เป็นผล
แหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า บทสนทนาระหว่างสองผู้นำทางธุรกิจและการเมืองในครั้งนี้มีความตึงเครียดอย่างชัดเจน และอาจนับเป็นรอยร้าวสำคัญระหว่างมัสก์ ผู้เคยให้การสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจเสรี กับทรัมป์ ผู้เดินหน้าดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าอย่างแข็งกร้าว
การเจรจาระหว่างทั้งสองเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าสหรัฐฯ โดยมีบางประเทศที่อาจถูกรีดภาษีเพิ่มขึ้นในระดับสูงเป็นพิเศษ
โดยก่อนหน้านี้ อีลอน มัสก์ ได้ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ และยุโรป ยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกัน โดยเขาย้ำว่า ภาษีนำเข้า ของสหรัฐฯ กำลังสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจของเขาเอง
คำเรียกร้องของมัสก์เกิดขึ้นในช่วงการปรากฏตัวผ่านวิดีโอคอลในการประชุมของพรรค League ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายขวาของอิตาลี ที่จัดขึ้นในเมืองฟลอเรนซ์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
มัสก์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังกล่าวอีกว่า การจัดเก็บภาษีศุลกากรระหว่างประเทศที่เป็นพันธมิตร เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ถือเป็นอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็น และควรมีการ ลดลงเหลือศูนย์ เพื่อช่วยลดต้นทุนและกระตุ้นการเติบโต
การเรียกร้องครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนักในบริษัทของเขาเอง หลังจาก ยอดขายรายไตรมาสของ Tesla ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์ที่กำหนดอัตราขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมด รวมถึงรถยนต์จากยุโรป
ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์ ออกมาปฏิเสธแนวคิดของ มัสก์ ในวันจันทร์ (7 เม.ย.) พร้อมระบุว่าไม่แปลกใจที่ได้ยินข้อเสนอเช่นนี้จาก “เจ้าของโรงงานประกอบรถยนต์”
เนื่องจากหุ้น Tesla ของอีลอน มัสก์ ปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ที่ราคา 233.29 ดอลลาร์ต่อหุ้น ซึ่งลดลงกว่า 42% นับตั้งแต่ต้นปี สะท้อนความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่อทิศทางธุรกิจในอนาคต
ขณะเดียวกัน มัสก์กำลังถูกจับตามองจากบทบาทใหม่ในฐานะผู้ก่อตั้ง “แผนกประสิทธิภาพรัฐบาล” ซึ่งมีเป้าหมายในการลดการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับถูกวิจารณ์ว่ากลยุทธ์ของเขาอาจไม่ตอบโจทย์ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนในปัจจุบัน
นักเศรษฐศาสตร์หลายรายเตือนว่า การขึ้นภาษีนำเข้าอาจทำให้เกิดเงินเฟ้ออีกระลอก เพิ่มภาระค่าครองชีพให้กับครอบครัวชาวอเมริกัน โดยบางครัวเรือนอาจต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มหลายพันดอลลาร์ต่อปี พร้อมเตือนว่าหากดำเนินต่อไป นโยบายนี้อาจเป็นหนึ่งในตัวจุดชนวนของภาวะ เศรษฐกิจถดถอย ในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ แม้มัสก์จะเคยสนับสนุนทรัมป์ในหลายโอกาส แต่ความเห็นต่างครั้งนี้สะท้อนถึงความตึงเครียดภายในกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อการกำหนดนโยบายในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ
