Wednesday, 14 May 2025
Hard News Team

‘ครูธัญ’ จี้ ‘รมต.ศึกษา’ ขจัดความรุนแรงในรร. หลังคลิปครูทำร้ายเด็กนักเรียนว่อนโซเชียล

(16 พ.ย. 65) นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงคลิปครูคนหนึ่ง ของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.หนองคาย ทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียนอย่างรุนแรง ว่านับวันยิ่งเห็นความรุนแรงในโรงเรียนจนลืมไปว่านี่คือสถานศึกษาที่ผู้ปกครองวางใจเมื่อส่งลูกมาโรงเรียน เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นผู้กระทำกลับเป็นครูที่ละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชน ส่งผลต่อความรุนแรงทางตรงต่อร่างกาย ตัวอย่างข่าวครูข่มขืนนักเรียน และล่าสุดครูโหดซ้อมทำร้ายนักเรียนต่อหน้านักเรียนจำนวนมาก วันนี้เราต้องตั้งคำถามเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร ทุกครั้งที่เราพูดเรื่องความรุนแรงไม่ใช่แค่การทำร้ายร่างกายแต่ความรุนแรงนั้นบ่มเพาะในสถานศึกษาผ่านบทเรียนต่าง ๆ อีกทั้งกฎระเบียบชุดนักเรียนการไว้ทรงผมที่ไม่ส่งเสริมให้เด็กค้นหาตัวตน แต่กลับให้เด็กเรียนรู้การเป็นผู้ตาม ไม่กล้าถามไม่กล้าคิด เมื่อใครแตกแถวหรือคิดต่างก็จะมีครูทำโทษ ที่ในช่วงสามปีที่ผ่านมาข่าวได้มีการนำเสนอมากมาย เราเห็นสิ่งเหล่านี้ไม่เว้นแต่ละวัน

รู้จัก ‘Supercomputer’ ของไทย ที่แรงติดอันดับโลก กับประโยชน์มหาศาล ช่วยหนุนงานวิจัยเชิงลึก

จากที่ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงข่าวการจัดอันดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ TOP500 ซึ่งเป็นการจัดอันดับเพื่อจัดเก็บข้อมูลเชิงสถิติของระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์จากทั่วโลก รวมทั้งยังถูกนำไปใช้ในการแสดงศักยภาพด้านการคำนวณ 

หลายคนคงจะสงสัยว่า Supercomputer มันคืออะไร แล้วไทยจำเป็นต้องซื้อมาด้วยหรือ แล้วคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เหล่านั้น มันจะซื้อมาทำไม มันจะทำงานอย่างไร มันจะเหมือนที่เราเห็นในหนังไซไฟหรือไม่ แล้วในโลกของความเป็นจริง Supercomputer จะทำได้เหมือนในหนังหรือ แค่เพียงดีดนิ้วปุ๊บ ทุกอย่างก็จะประมวลผลออกมาเลยหรือ 

คำตอบก็คือ มันยังไม่ล้ำถึงขนาดในหนังหรอก แต่ Supercomputer นั้นก็จะถูกนำไปใช้งานในเรื่องต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยพันธุกรรมดีเอ็นเอต่าง ๆ เรื่องยา การแพทย์ การเกษตร โดยทีมนักวิจัยนั้นก็จะใช้ Supercomputer ในการประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะรวดเร็วขึ้นมาก 

นอกจากนั้นก็จะนำไปใช้จำลองสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างเช่น ภัยพิบัติสึนามิ ถ้าจะเกิดขึ้นอีกจะเกิดขึ้นในลักษณะไหน และเราควรจะอพยพกันแบบใด Supercomputer ก็จะช่วยเราประมวลผลได้ล่วงหน้า หรือ นำ Supercomputer มาใช้ร่วมกันกับ Ai ซึ่ง Ai นั้นก็เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่ช่วยเราประมวลผล แต่ก่อนที่มันจะประมวลผลได้ มันก็จะต้องทำงานโดยมีฐานข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งต้องอาศัย Supercomputer นั่นเอง 

และที่จริงนั้น ประเทศไทย เรามี Supercomputer กันตั้งนานแล้ว มีมาตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดย Supercomputer เครื่องแรกในไทยนั้น คือ IBM RS/6000 ซึ่งใช้พยากรณ์อากาศอยู่ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา เครื่องนี้มีความเร็วอยู่ที่ 12.96 GFLOP

ซึ่งคอมพิวเตอร์ทั่วไปความเร็วจะไม่ถึง 0.5  GFLOP ด้วยซ้ำไป และต่อมา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ก็ได้ซื้อ  Supercomputer มาใช้ในงานวิจัยต่าง ๆ เช่น การจัดการข้อมูลน้ำของประเทศ ออกมาเป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านการจัดการน้ำของประเทศ ให้สามารถขึ้นมาดูได้ในหน้าเดียว ในคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ประโยชน์ได้ 

และในปัจจุบันก็ได้พัฒนาเป็นแอป Thai water ต่อมา TNGC ก็นำ Supercomputer มาใช้ความเร็วอยู่ที่ 2.5 Teraflop แรงกว่า Supercomputer เครื่องแรกที่กรมอุตุนิยมวิทยา 200 เท่า ต่อมาก็เป็นระบบอิคลิปส์คลัสเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ศูนย์ไบโอเทค และก็มีเครื่องศิลาคลัสเตอร์ ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ก็มีอีกเครื่องชื่อว่า ชาละวัน ในปี 2016 เครื่องนี้ความเร็วอยูที่ 16 Teraflop และในปี 2019 ประเทศไทยก็ได้จัดตั้งศูนย์ Supercomputer ขึ้นมา มีระบบชื่อว่า ธารา เป็น CPU 4,320 cores โดยทางจุฬาฯ เคยใช้เครื่องนี้ช่วยประมวลผลการวิจัยสารต้านโควิด จากที่เคยต้องประมวลผลประมาณ 1 สัปดาห์  เจ้าเครื่องนี้ก็ประมวลผลให้เสร็จภายใน 2 ชั่วโมง  

นอกจากนี้ก็ยังใช้เครื่องนี้ในการวิจัย คาดการณ์ P.M. 2.5 จากที่เคยใช้เวลา 12 ชั่วโมง ก็เหลือแค่ 45 นาที และบอกเตือนล่วงหน้าได้ถึง 3 วัน และตัวที่แรงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีชื่อว่า ลันตา นั้นความเร็วอยู่ที่ 13 Petaflop มี CPU 31,744 cores แรงขึ้นกว่าระบบ ธารา 30 เท่า หรือเทียบได้กับ iPhone 14 pro max 6,500 เครื่อง

‘บิ๊กป้อม’ ล่าก๊วนป่วนภาพลักษณ์ไทย หลังเหตุระเบิด 2 ปั๊มน้ำมันยะลา

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำ รอง นรม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้สั่งการ กอ.รมน.ภาค 4 (ส่วนหน้า) และหน่วยงานความมั่นคงให้ขยายผลสืบสวนติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุระเบิดป่วนปั๊มน้ำมัน 2 จุด ที่ อ.ยะหริ่ง และ อ.เมือง จ.ยะลา เป็นเหตุให้สถานีเชื้อเพลิงได้รับความเสียหายเมื่อคืนที่ผ่านมา 

พร้อมย้ำ ขอให้หน่วยงานข่าวและหน่วยงานความมั่นคง เฝ้าระวังป้องกัน ไม่ประมาทจากการก่อเหตุทั้งในและนอกพื้นที่ที่อาจเกิดขึ้น โดยให้ยกระดับความเข้มข้น ตื่นตัวเฝ้าระวังและตรวจสอบติดตามความเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายทั้งในและนอกพื้นที่ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงข้อมูลกับเทคโนโลยีเฝ้าตรวจ เพื่อปฏิบัติการป้องกันเชิงรุกและสามารถปฏิบัติการแก้ปัญหาต่อเหตุการณ์และเป้าหมายได้รวดเร็วทันต่อสถานการณ์

‘ทิพานัน’ เผย ประชาชนให้ความสนใจ APEC 2022 พร้อมชู ‘BCG โมเดล’ พัฒนาศก.ไทย กระจายรายได้สู่ฐานราก

‘ทิพานัน’ เผยประชาชนตื่นตัวให้ความสนใจการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปก โชว์ศักยภาพไทยพัฒนาเศรษฐกิจ BCG โมเดล กระจายรายได้สู่ฐานราก โต้เพื่อไทยชูทักษิณนักโทษหนีคดีเป็นแบบอย่างน่าอายไปทั่วโลก

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนและช่องทางสื่อสารในสังคมออนไลน์ มีพี่น้องประชาชนให้ความสนใจและตื่นตัวในการเป็นเจ้าภาพที่ดี ต้อนรับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปก 2022 ในช่วงสัปดาห์นี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำเสนอประเทศไทยในมิติต่าง ๆ รวมถึง ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG’ เพื่อให้เอเปกมีทิศทางการทำงานที่ชัดเจน สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งผลักดันและส่งเสริมนั้น ได้รับความสนใจจากนานาชาติ โดยเฉพาะศักยภาพทางด้านการออกแบบสินค้าเชิงสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ในภาคอุตสาหกรรม การสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่หลายผลิตภัณฑ์ของไทยได้มาตรฐานสากลและวางจำหน่ายในยุโรปบางประเทศแล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ในชุมชนถึงรากหญ้า 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า กระแสโมเดลเศรษฐกิจ BCG ยังปลุกให้บรรดาสตาร์ตอัปในประเทศให้ความสนใจและเข้าใจโมเดล BCG มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เมนูอาหารของผู้นำเอเปกที่นำวัตถุดิบชั้นดีจากทั่วประเทศมาประกอบอาหาร กลายเป็นสินค้าขายดี นำเสนอซอฟต์พาวเวอร์อย่างเห็นผล สร้างรายได้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มการประชุมอย่างเป็นทางการนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่สำคัญการประชุมเอเปกยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ทำหน้าที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพหลัก จัดการประชุมสุดยอดซีอีโอแห่งภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก 2022 หรือ ‘เอเปก ซีอีโอ ซัมมิท 2022’ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย.65 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญที่มีภาคเอกชน ผู้นำและซีอีโอระดับชั้นนำของภูมิภาคมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่จะมีการนำประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG เข้ามาแลกเปลี่ยนเพื่อต่อยอดกัน โดยเป้าหมายหลักจะเน้นในเรื่องของการส่งเสริมการเปิดเขตเสรีการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านสังคมและการพัฒนาในทุกมิติ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ประจำปีการศึกษา 2564

เมื่อวานนี้ (15 พ.ย.65) - สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี ประจำปี 2564 จำนวน 30 คน โดยแบ่งเป็นระดับปริญญาเอก จำนวน 26 ราย และระดับปริญญาโท จำนวน 4 ราย และพระราชทานทุนการศึกษา ‘ศรีเมธี’ ให้กับนิสิตที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมจากสถาบันฯ จำนวน 4 ราย รวมทั้งพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่สำเร็จการศึกษา รุ่นที่ 5 โดยนายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. พร้อมกับคณะผู้บริหารและพนักงาน กลุ่ม ปตท. เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรผลงานทางวิชาการและงานวิจัยของสถาบันวิทยสิริเมธี ที่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ งานวิจัยทางด้านระบบปัญญาและหุ่นยนต์ (Al and Robotic) งานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน การพัฒนาแบตเตอรี่และวัสดุคุณภาพสูง (Energy Materials & Environment) และงานวิจัยพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และการเพิ่มมูลค่าขยะอินทรีย์ อนึ่ง สถาบันวิทยสิริเมธี ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อร่วมกันสร้างนักวิจัย พัฒนางานวิจัยที่มีศักยภาพไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และสร้างคุณค่าให้แก่สังคม อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของสถาบันฯ 

ต่อมาทรงเป็นประธานในการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สถาบันวิทยสิริเมธี และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากการดำเนินโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV และห้องปฏิบัติการ ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) พื้นที่ประมาณ 88 ไร่

เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ให้เป็นเครื่องมือที่มีพลานุภาพ เป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่สามารถสร้างคุณประโยชน์มากมายมหาศาลต่องานวิจัยทางด้านการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม และด้านอื่น ๆ โดยเครื่องกำเนิดแสงที่จะจัดสร้างนี้ มีค่าระดับพลังงาน 3 GeV และใช้เทคโนโลยี Double Triple Bend Achromat (DTBA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้แสงซินโครตรอนมีความสว่างจ้ามากกว่าเดิม 1 ล้านเท่า และรองรับระบบลำเลียงแสงได้สูงถึง 22 ระบบ จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ด้านงานวิจัยได้หลากหลาย

จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการวิศวกรรม (Fabrication Center) ซึ่งเป็นห้องทดลองสำหรับนักเรียนในการสืบค้นข้อมูลและพัฒนาต้นแบบสิ่งประดิษฐ์ตามแนวคิดของตนเอง พร้อมทรงติดตามความก้าวหน้าและความยั่นยืนของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ โดยมี 

รองศาสตราจารย์ ดร.บุญโชติ เผ่าสวัสดิ์ยรรยง ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ กราบบังคมทูลรายงาน ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินไปยัง ‘ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา’ ซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้สำคัญในการพัฒนาภาพลักษณ์ของเกษตรกรไทยยุคใหม่ ให้เป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจและยั่งยืน โดย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และ นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที ดิจิทัล โซลูชั่น จำกัด ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือและแพลตฟอร์ม ‘สวนสมรม’ ที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบการเกษตร

ต่อมาทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนลานใจบ้าน สถาบันวิทยสิริเมธี โดยมีนายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและพนักงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ และนำเสนอนิทรรศการโครงการด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม ผลงานของ ปตท.สผ. ร่วมกับพันธมิตร ที่จะช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 ของ ปตท.สผ.

อบจ.สุโขทัย ร่วมกับ สปสช. สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องช่วยทางการแพทย์ ให้ รพ.สุโขทัย พร้อมดูแลผู้ป่วย-ผู้พิการ-ผู้สูงอายุ ในพื้นที่

นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย และประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ จ.สุโขทัย เป็นประธานในพิธีโครงการจัดหาอุปกรณ์และจัดบริการยืม-คืนอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ โรงพยาบาลสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย เพื่อให้ผู้ป่วยระยะกึ่งเฉียบพลัน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ได้ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพตนเอง ลดปัญหาการพึ่งพิง ลดภาวะแทรกซ้อน ที่สำคัญส่งเสริมให้ผู้ป่วยเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ทั้งนี้ อบจ.สุโขทัย ร่วมกับ สปสช. ในนามกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดสุโขทัย สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 660,200 บาท ให้แก่โรงพยาบาลสุโขทัย จัดหาอุปกรณ์เครื่องช่วยทางการแพทย์ เช่นรถนั่งผู้พิการชนิดพับได้ ที่นอนลม เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องช่วยฝึกเดิน เตียงผู้ป่วยพร้อมเบาะ และเสาน้ำเกลือ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้ผู้ที่มีปัญหาการพึ่งพิง ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นกำลังใจและสร้างความมั่นใจในการดำรงชีวิต

‘บิ๊กตู่’ เปิดประชุมวิชาการเอเปค ที่จุฬาฯ ชู ‘ภาคการศึกษา’ พื้นฐานขับเคลื่อน ศก. – สังคม

เริ่มทางการแล้วประชุมวิชาการเอเปค ‘บิ๊กตู่’ ร่ายยาว เปิดงาน APEC University Leaders ย้ำความร่วมมือระหว่างกันเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศให้ก้าวผ่านวิกฤตไปได้ ขอคนไทยโชว์รัก สามัคคี พร้อมต้อนรับด้วยยิ้มแห่งสยาม 

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 16 พ.ย. ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเป็นประธานกล่าวเปิดงาน APEC University Leaders’ Forum: “Preventing the Next Pandemic (AULF) ภายใต้หัวข้อการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดครั้งต่อไป โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า 

ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมทางวิชาการ APEC University Leaders Forum 2022 ในวันนี้ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิกกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งสอดรับกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ APEC โดยเป็นโอกาสให้เครือข่ายการศึกษาทั่วโลกได้พัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในระดับนานาชาติ และเป็นเวทีในการแบ่งปันประสบการณ์ในมิติต่าง ๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่และอาจต้องเผชิญอีกในอนาคตโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันจากความท้าทายดังกล่าว อีกทั้งเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูและเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืน ได้ต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยในปีนี้ เรามุ่งผลักดันการสร้างความร่วมมือภายใต้แนวคิด 'Open. Connect. Balance.' เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในยุคหลังโควิด - 19 โดยในส่วนของเรื่อง Open เน้นการผลักดันให้เอเปคนำเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกมาหารือใหม่ เพื่อให้เอเปคสามารถรับมือกับความท้าทายและใช้โอกาสจากบริบทโลกแบบใหม่ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การค้ากับโรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ในส่วนของ Connect ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความเชื่อมโยงของภูมิภาคในทุกมิติ ทั้งการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างสะดวกปลอดภัย และความเชื่อมโยงทางดิจิทัล เพื่อให้เอเปคมีแนวทางการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดในอนาคต โดยยังสามารถรักษาการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด และสุดท้าย Balance เน้นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม โดยส่งเสริมโมเดลธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่สร้างผลกำไรควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และชับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกันทั้งสังคม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งผลลัพธ์สำคัญของการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ คือ ไทยจะเสนอให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค รับรองเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ของไทยมาเร่งกระบวนการทำงานในเอเปค และวางบรรทัดฐานใหม่ให้เอเปคมุ่งเน้นการสร้างเสริมการค้าการลงทุนควบคู่ไปกับการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้ที่นอกจากจะให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมุ่งขยายความสำคัญไปถึงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยเพื่อยกระดับองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาสังคมและสร้างความปลอดภัยในชีวิตให้แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตนเชื่อว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ผู้วางนโยบาย และผู้นำธุรกิจจะได้มาร่วมมือกันสร้างสรรค์นโยบาย ออกแบบทิศทางและแผนการบริหารประเทศที่สอดรับกับวิถีความปกติใหม่ของโลก โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ที่แม้ว่าเราจะก้าวผ่านการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 มาแล้ว แต่องค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความจำเป็นเร่งด่วนของทั่วโลกในขณะนี้คือการทำวิจัยที่เกี่ยวกับชีวการแพทย์ การบำบัดโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ที่พร้อมต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือนวตกรรมเชิงป้องกัน และการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลเป็นรูปธรรมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในวิกฤตสาธารณสุขที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า ความถูกต้องของข้อมูลและการเผยแพร่ รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการบริหารสถานการณ์วิกฤตของรัฐบาล การเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน ต้องอาศัยความถูกต้องทางวิชาการ ทั้งจากการศึกษา ค้นคว้า ซึ่งภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย นักวิชาการ เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องแก่สังคม เพื่อขจัดข้อมูลเท็จ โฆษณาชวนเชื่อ และข่าวปลอมที่แพร่กระจายและเป็นภัยอยู่ในสังคม ยกตัวอย่างเช่นในช่วงต้นของการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ที่ประชาชนบางส่วนมีความกังวลใจเกี่ยวกับผลค้างเคียงของวัคซีนจากข้อมูลข่าวสารที่อาจไม่ถูกต้อง 

แต่ในภายหลัง ความหวาดกลัวได้คลายลงเมื่อข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้เริ่มปรากฏออกมามากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้อย่างน่าพอใจ และในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้ การสร้างความร่วมมือระหว่างกันเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศให้ก้าวผ่านวิกฤตไปได้ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก และนานาประเทศถึงนโยบายและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการดูแลประชาชน ทั้งการป้องกัน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และด้วยความสำเร็จนี้ องค์การอนามัยโลกได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบในโครงการนำร่องการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ทั้งสถาบันการศึกษาและศูนย์วิจัยต่าง ๆ ตลอดจนอาสาสมัครและประชาชนทุกคน และมิตรประเทศ รวมถึงความม่งมั่นในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ยารักษาโรค วัคซีน และเครื่องมือทางการแพทย์กับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องด้วย

“ผมขอชื่นชมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคการศึกษาทั้งหมดที่ได้ร่วมมือกับ ศบค. ในการช่วยเหลือประเทศภายใต้รูปแบบ นวัตกรรมเพื่อสังคมโดยได้นำผลการศึกษาวิจัยมาพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริง และนำมาช่วยเหลือสังคมในช่วงวิกฤต เช่น CU-RoboCOVID (ซี-ยู-โรโบ-โควิด) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ให้การสนับสนุนด้านการแพทย์ภายในโรงพยาบาลสนาม และ Chula COVID-19 Strip Test (จุฬา-โควิด-19-สตริป-เทสต์) รวมถึงนวัตกรรมการรักษา 'วัคซีนใบยา' ที่เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA (เอ็ม-อาร์-เอ็น-เอ) ที่ทางมหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้น โดยนวัตกรรมต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นจากการร่วมมือพัฒนาของนักวิชาการและนักวิจัยสหสาขา 

บิ๊กป้อม ย้ำต้องไม่มีใครมาขัดขวางการประชุม APEC 2022 ขอบทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศ ย้ำ ผบ.ตร.เพิ่มความเข้มการักษาความปลอดภัย และอำนวยการจราจร 

วันนี้ (16 พ.ย. 65) เวลา 09.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการฯ ได้มอบหมาย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร./รอง ผอ.กอร. เป็นประธานประชุมขับเคลื่อนกองอำนวยการร่วมฯ ติดตามสถานการณ์ด้านการข่าว สภาพภูมิอากาศ และแผนการปฏิบัติรักษาความปลอดภัยและการจราจรประจำวัน บูรณาการทุกภาคส่วน รวมกว่า 30 หน่วยงาน

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ เปิดเผยว่า ภาพรวมการปฏิบัติมีความพร้อมทุกภาคส่วน และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้สถานการณ์ด้านการข่าวทั้งในและนอกพื้นที่ กทม. ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งทุกฝ่ายได้เตรียมแผนการปฏิบัติรองรับไว้แล้ว และ สภาพการจราจรในวันนี้ ปริมาณรถน้อยเคลื่อนตัวได้อย่างคล่องตัว เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการตามที่รัฐบาลกำหนด ทั้งนี้ ได้มีประกาศราชกิจจาลงวันที่ 14 พ.ย. 65 ประกาศข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในเขต กทม. ว่าด้วยการจัดการจราจรการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 - 19 พ.ย.65 ดังนี้
1. ห้ามรถทุกชนิดเดินรถในถนนตลอดเวลา ถนนรัชดาภิเษก (ตั้งแต่แยกอโศกมนตรี ถึงแยกพระรามที่ 4) และถนนดวงพิทักษ์ (ตลอดสาย)
2. ห้ามรถทุกชนิดเดินรถในถนนเฉพาะเวลา 18.00 น. – 06.00 น.(ของวันรุ่งขึ้น) ถนน 5 สาย
3. ให้เดินรถทางเดียวในถนนเฉพาะเวลา 18.00 น. – 06.00 น.(ของวันรุ่งขึ้น) ถนน 3 สาย

งดการใช้สถานีรถไฟฟ้า MRT ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 16 – 19 พ.ย.65 และกำหนดพื้นที่ควบคุมการเดินเรือเป็นการเฉพาะคราวแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.65  สำหรับการลงทะเบียนของผู้พักอาศัยบริเวณถนนที่งดการใช้การจราจรขณะนี้มีกว่า 48,000 รายในพื้นที่ สน.ลุมพินี และ สน.ทองหล่อ และได้เปิดให้ลงทะเบียนต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ย.65 กรณีเจ้าหน้าที่ขนส่งพัสดุ ไปรษณีย์ อาหารหรือเอกสารต่างๆ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณจุดตรวจและแสดงเอกสารหลักฐานเพื่อขอเข้าพื้นที่ได้ตามแต่กรณี

‘ธนกร’ ซัด ‘พิธา’ วิจารณ์ ‘BCG Model’ มั่วนิ่ม เหน็บ!! ไม่พูดสักเรื่อง ก็ไม่มีใครว่าเป็นใบ้

‘ธนกร’ สวน ‘พิธา’ หยุดวิจารณ์ BCG Model ถ้าไม่รู้จริง อัดอย่าเอาทุกเรื่องมาปนกันจนประชาชนสับสน แจงปัญหา PM2.5 นายกฯ สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง เหน็บไม่พูดเรื่องที่ไม่รู้จริงสักเรื่องก็ไม่มีใครหาว่าเป็นใบ้ โว BCG Model จะเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศที่สร้างมูลค่ากว่า 4.4 ล้านล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า

นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า รัฐบาลฝันที่จะใช้การประชุมเอเปกสร้างเศรษฐกิจสีเขียว แต่แค่ PM2.5 ฝุ่นข้ามชาติ ยังไร้ภาวะผู้นำที่จะแก้ไขว่า ถ้านายพิธาไม่รู้จะพูดเรื่องอะไรเพื่อให้ตัวเองได้คะแนนนิยม การไม่วิจารณ์เรื่องการประชุมเอเปกแบบมั่ว ๆ ด้วยชุดข้อมูลผิด ๆ สักเรื่องก็คงไม่มีใครหาว่านายพิธาเป็นใบ้ เพราะนายพิธาไม่ควรเอาทุกเรื่องมาโยงเป็นเรื่องเดียวกันจนทำให้ประชาชนสับสน 

ทั้งนี้ เรื่อง BCG Model เป็นเรื่องหลักที่รัฐบาลจะนำไปหารือในการประชุมเอเปกครั้งนี้ ซึ่งเป็นจุดแข็งในภาคเกษตรของไทย มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดขยะ และเน้นการใช้กระบวนการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงในอนาคตการประกอบธุรกิจภายใต้แนวคิด BCG อาจจะได้ประโยชน์ทางด้านภาษีเมื่อทำการค้าระหว่างประเทศด้วย สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกเรื่องสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหนึ่งทางออกที่ครอบคลุมให้ทุกการพัฒนาไม่มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลด้วย 

ส่วนเรื่องปัญหา PM2.5 นั้น รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ดังนั้น หากนายพิธาไม่รู้ก็ควรจะหาข้อมูลให้ได้ข้อเท็จจริงก่อน ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์แบบตีหัวแล้วเข้าบ้าน ซึ่งไม่น่าจะใช่แนวทางของนักการเมืองรุ่นใหม่อย่างที่พรรคนายพิธามักจะกล่าวอ้างอยู่บ่อย ๆ

นายธนกร กล่าวอีกว่า BCG Model ดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาลไทยตามแผนการปฏิบัติด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างน้อย 5 เป้าหมาย ได้แก่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังสอดรับกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย 

'กองทัพเรือ' แถลงข่าวเตรียมกิจกรรมครบรอบวันสิ้นพระชนม์ 100 ปี พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เพื่อเทิดพระเกียรติ 'องค์บิดาของทหารเรือไทย'

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.00 น. กองทัพเรือจัดงานแถลงข่าว เตรียมจัดกิจกรรมครบรอบวันสิ้นพระชนม์ 100 ปี พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เพื่อเทิดพระเกียรติ โดยมี พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในการแถลงข่าว ร่วมด้วย นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร, หม่อมราชวงศ์ จิยากร อาภากร เสสะเวช ประธานมูลนิธิราชสกุลอาภากร , พลเรือเอก จุมพล ลุมพิกานนท์ ประธานมูลนิธิกรมหลวงชุมพรหาดทรายรี และ พลเรือโท ชาติชาย ทองสะอาด รองเสนาธิการทหารเรือ ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องชมวัง อาคารราชนาวิกสภา ถ.อรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 

ด้วยวันที่ 19 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กองทัพเรือได้เทิดพระเกียรติและขนานนามพระองค์เป็น 'องค์บิดาของทหารเรือไทย' และกำหนดให้วันที่ 19 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น 'วันอาภากร' โดยในวันที่19 พฤษภาคม 2566 นี้ จะเป็นวันครบรอบวันสิ้นพระชนม์ 100 ปี กองทัพเรือ จึงกำหนดจัดกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่านในส่วนของกองทัพเรือ ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2565 ถึง 19 พฤษภาคม 2566 ประกอบด้วย

1. กิจกรรมร่วมร้องเพลงพระนิพนธ์นำเข้าสู่การจัดกิจกรรม 100 ปี วันสิ้นพระชนม์ ในวันที่ 19 ธันวาคม 2565 โดยมีการจัดพิธีเปลี่ยนธงราชนาวี เปลี่ยนธงพระยศ การติดตราสัญลักษณ์ '100 ปี วันสิ้นพระชนม์ฯ' กิจกรรมแปรขบวน และถ่ายภาพกำลังทางเรือ และกิจกรรมร่วมร้องเพลงพระนิพนธ์ ในพื้นที่หลัก ณ เขาแหลมปู่เจ้า อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ร่วมกับพื้นที่อื่น ๆ ของ ทร. และพื้นที่ ศรชล.จังหวัดทั้ง 23 จังหวัด พื้นที่ที่มีศาล พระรูป และพระอนุสาวรีย์ ตั้งอยู่ 

2. กิจกรรมเทิดพระเกียรติวันคล้ายวันประสูติ ในวันที่ 19 ธันวาคม 2565 โดยมีการทำบุญตักบาตร กิจกรรมจิตอาสาบูรณะศาล พระรูป และพระอนุสาวรีย์ กิจกรรมบริจาคโลหิต กิจกรรมบริการประชาชน กิจกรรมหน่วยแพทย์หมอพรเคลื่อนที่ กิจกรรมแสดงดนตรี กิจกรรมแสดงแสงสีเสียง โดยจัดขึ้น ณ บริเวณหนองตะเคียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

3. กิจกรรมกองทัพเรือเพื่อประชาชน (CSR) ในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ จำนวน 5 ครั้ง ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ ทัพเรือภาคที่ 1 ทัพเรือภาคที่ 2 ทัพเรือภาคที่ 3 กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด และหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง โดยจัดหน่วยแพทย์หมอพรเคลื่อนที่ทั้งทางบกและทางน้ำ การแสดงดนตรีจากวงดุริยางค์ทหารเรือ และการจัดนิทรรศการแสดงพระประวัติฯ 

4. การปรับปรุงบูรณะศาล พระรูป และพระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เปลี่ยนธงราชนาวี และธงพระยศ 270 ศาล ทั่วประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top