รู้จัก ‘Supercomputer’ ของไทย ที่แรงติดอันดับโลก กับประโยชน์มหาศาล ช่วยหนุนงานวิจัยเชิงลึก
จากที่ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงข่าวการจัดอันดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ TOP500 ซึ่งเป็นการจัดอันดับเพื่อจัดเก็บข้อมูลเชิงสถิติของระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์จากทั่วโลก รวมทั้งยังถูกนำไปใช้ในการแสดงศักยภาพด้านการคำนวณ
หลายคนคงจะสงสัยว่า Supercomputer มันคืออะไร แล้วไทยจำเป็นต้องซื้อมาด้วยหรือ แล้วคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เหล่านั้น มันจะซื้อมาทำไม มันจะทำงานอย่างไร มันจะเหมือนที่เราเห็นในหนังไซไฟหรือไม่ แล้วในโลกของความเป็นจริง Supercomputer จะทำได้เหมือนในหนังหรือ แค่เพียงดีดนิ้วปุ๊บ ทุกอย่างก็จะประมวลผลออกมาเลยหรือ
คำตอบก็คือ มันยังไม่ล้ำถึงขนาดในหนังหรอก แต่ Supercomputer นั้นก็จะถูกนำไปใช้งานในเรื่องต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยพันธุกรรมดีเอ็นเอต่าง ๆ เรื่องยา การแพทย์ การเกษตร โดยทีมนักวิจัยนั้นก็จะใช้ Supercomputer ในการประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะรวดเร็วขึ้นมาก
นอกจากนั้นก็จะนำไปใช้จำลองสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างเช่น ภัยพิบัติสึนามิ ถ้าจะเกิดขึ้นอีกจะเกิดขึ้นในลักษณะไหน และเราควรจะอพยพกันแบบใด Supercomputer ก็จะช่วยเราประมวลผลได้ล่วงหน้า หรือ นำ Supercomputer มาใช้ร่วมกันกับ Ai ซึ่ง Ai นั้นก็เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่ช่วยเราประมวลผล แต่ก่อนที่มันจะประมวลผลได้ มันก็จะต้องทำงานโดยมีฐานข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งต้องอาศัย Supercomputer นั่นเอง
และที่จริงนั้น ประเทศไทย เรามี Supercomputer กันตั้งนานแล้ว มีมาตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดย Supercomputer เครื่องแรกในไทยนั้น คือ IBM RS/6000 ซึ่งใช้พยากรณ์อากาศอยู่ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา เครื่องนี้มีความเร็วอยู่ที่ 12.96 GFLOP
ซึ่งคอมพิวเตอร์ทั่วไปความเร็วจะไม่ถึง 0.5 GFLOP ด้วยซ้ำไป และต่อมา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ก็ได้ซื้อ Supercomputer มาใช้ในงานวิจัยต่าง ๆ เช่น การจัดการข้อมูลน้ำของประเทศ ออกมาเป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านการจัดการน้ำของประเทศ ให้สามารถขึ้นมาดูได้ในหน้าเดียว ในคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ประโยชน์ได้
และในปัจจุบันก็ได้พัฒนาเป็นแอป Thai water ต่อมา TNGC ก็นำ Supercomputer มาใช้ความเร็วอยู่ที่ 2.5 Teraflop แรงกว่า Supercomputer เครื่องแรกที่กรมอุตุนิยมวิทยา 200 เท่า ต่อมาก็เป็นระบบอิคลิปส์คลัสเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ศูนย์ไบโอเทค และก็มีเครื่องศิลาคลัสเตอร์ ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ก็มีอีกเครื่องชื่อว่า ชาละวัน ในปี 2016 เครื่องนี้ความเร็วอยูที่ 16 Teraflop และในปี 2019 ประเทศไทยก็ได้จัดตั้งศูนย์ Supercomputer ขึ้นมา มีระบบชื่อว่า ธารา เป็น CPU 4,320 cores โดยทางจุฬาฯ เคยใช้เครื่องนี้ช่วยประมวลผลการวิจัยสารต้านโควิด จากที่เคยต้องประมวลผลประมาณ 1 สัปดาห์ เจ้าเครื่องนี้ก็ประมวลผลให้เสร็จภายใน 2 ชั่วโมง
นอกจากนี้ก็ยังใช้เครื่องนี้ในการวิจัย คาดการณ์ P.M. 2.5 จากที่เคยใช้เวลา 12 ชั่วโมง ก็เหลือแค่ 45 นาที และบอกเตือนล่วงหน้าได้ถึง 3 วัน และตัวที่แรงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีชื่อว่า ลันตา นั้นความเร็วอยู่ที่ 13 Petaflop มี CPU 31,744 cores แรงขึ้นกว่าระบบ ธารา 30 เท่า หรือเทียบได้กับ iPhone 14 pro max 6,500 เครื่อง
แล้วทำไมไทยต้องมี Supercomputer ด้วยหล่ะ ง่าย ๆ เลยไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ Supercomputer ก็จะช่วยในการประมวลผลงานวิจัยเพื่อต่อยอดเศรษฐกิจ เรื่องเครื่องสำอาง สัตว์ อาหาร การแพทย์ โดยใช้ฐานข้อมูลกลุ่มต่าง ๆ นำมาวิเคราะห์ รวมถึงถ้ามีโรคใหม่อุบัติขึ้นมา เราก็จะสามารถหาวิธีการรักษาได้เร็วขึ้น รวมถึงประเมินผลผลิตทางการเกษตรเพื่อวางแผนรายปี รวมถึงใช้คำนวณทางด้านประชากรศาสตร์ การเกิด ตาย รายได้ การศึกษา
หรืออย่างบริษัทมาสเตอร์การ์ด ก็นำ Supercomputer มาตรวจสอบรายการใช้จ่ายว่ารายการใดจริงหรือลวงได้ โดยสามารถตรวจสอบรายการได้ 165 ล้าน Transaction ภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งถ้าไทยเราเอา Supercomputer มาใช้ตรวจสอบพฤติกรรมการโทรเข้าโทรออกก็จะช่วยสามารถนำไปกวาดล้างแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ได้
จะเห็นได้ว่า Supercomputer นั้นมันมีประโยชน์มากจริง ๆ ในการใช้พัฒนาประเทศ และที่สำคัญตอนนี้ประเทศไทยเราก็มี Supercomputer ที่แรงติดอันดับโลกแล้วนะ
อ้างอิง : https://www.thansettakij.com/technology/technology/547247
https://www.youtube.com/watch?v=lxaIM1t7S9E