Wednesday, 2 July 2025
ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล

‘ปฏิบัติการกรงเล็บอินทรี’ สหรัฐฯ บุกอิหร่านครั้งแรก เป้าช่วยตัวประกันแต่ผลลัพธ์พังพาบสังเวยทหาร 8 นาย

ปฏิบัติการครั้งนี้ประสบกับความล้มเหลว ทำให้ต้องสูญเสียทหารอเมริกันไป 8 นาย และต้องล้มเลิกแผนการในการใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อช่วยเหลือนักการทูตอเมริกันที่ถูกจับเป็นตัวประกันในอิหร่าน

ห้วงเวลานี้สงครามในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเข้ามายุ่งเกี่ยวพัวพันด้วยกำลังเป็นประเด็นที่โลกต้องจับตามอง จึงขอนำเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติอิหร่าน 1979 ซึ่งเป็นการโค่นราชวงศ์ปาห์ลาวีภายใต้ “ชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (Shah Pahlavi)” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และการแทนที่ด้วยสาธารณรัฐอิสลามภายใต้ “อยาโตลาโคมัยนี” ผู้นำการปฏิวัติ ผู้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การฝ่ายซ้าย และองค์การอิสลามหลายแห่ง รวมทั้งขบวนการนักศึกษาอิหร่าน

ต่อมา วันที่ 4 พฤศจิกายน 1979 กลุ่มนักศึกษาปฏิวัติมุสลิมเคร่งศาสนา โกรธแค้นที่รัฐบาลสหรัฐฯ รับอดีตกษัตริย์ชาห์ ปาห์เลวี (Shah Pahlavi) แห่งอิหร่านให้ลี้ภัยในนสหรัฐอเมริกาได้ จึงได้บุกเข้ายึดและจับตัวผู้ที่ทำงานในสถานทูตสหรัฐในกรุงเตหะราน (Tehran) โดยนักการทูตอเมริกัน 52 คน ถูกกักตัวไว้นานถึง 444 วัน และที่สุดตัวประกันซึ่งเป็นนักการทูตของสหรัฐฯ ก็ได้รับการปล่อยตัว แต่การกักตัวทูตและนักการทูตในครั้งนั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องความละเมิดที่มิได้เกี่ยวกับสถานที่ของคณะผู้แทนทางการทูต ตามข้อ22 แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายทางการทูต ปี 1961

โดยช่วงเวลาที่มีการกักตัวประกันไว้ในสถานทูตนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีความพยายามช่วยตัวประกัน โดยมี “ปฏิบัติการกรงเล็บอินทรีย์” (Operation Eagle Claw) ในวันที่ 24 เมษายน 1980 อันเป็นปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านเป็นครั้งแรก ซึ่งปฏิบัติการนี้น่าจะเป็น “ปฏิบัติการกรงเล็บอินทรีหัก” (Operation Eagle Claw Broken) เสียมากกว่า เพราะว่าปฏิบัติการครั้งนี้ประสบกับความล้มเหลว ทำให้ต้องสูญเสียทหารอเมริกันไป 8 นาย และต้องล้มเลิกแผนการในการใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อช่วยเหลือนักการทูตอเมริกันที่ถูกจับเป็นตัวประกันในอิหร่าน

ปฏิบัติการกรงเล็บอินทรีย์ (Operation Eagle Claw) เป็นปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐฯ ตามคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นคือ Jimmy Carter ซึ่งพยายามยุติวิกฤติการณ์ตัวประกันในอิหร่านด้วยการส่งกำลังเข้าไปช่วยเหลือนักการทูต 52 คนที่ถูกควบคุมตัวภายในสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ณ กรุงเตหะราน เมื่อวันที่ 24 เมษายน 1980 ความล้มเหลวนำไปสู่การขายหน้าที่เกิดขึ้นเป็นการทำลายชื่อเสียงของสหรัฐฯ ไปทั่วโลก ทำให้ประธานาธิบดี Jimmy Carter ถูกตำหนิ จนเป็นผลให้พ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 1980 อันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการช่วยเหลือตัวประกันสหรัฐฯ ให้เป็นอิสระ

“ปฏิบัติการกรงเล็บอินทรีย์” ถูกวางแผนไว้เป็นภารกิจ 2 คืน ในคืนแรกเครื่องบินทหารของสหรัฐฯ จะบินเข้าอิหร่านทางพื้นที่ชายฝั่งห่างไกล 60 ไมล์ (100 กม.) ทางตะวันตกของเมือง Chabahar และบินไปยังจุดรวมพล Desert One (พิกัด 33 ° 04′23″ N 55 ° 53′33″ E) ผ่านทางทะเลทราย Dasht-e Lut โดยจุดรวมพล Desert One จะได้รับการจัดตั้งและคุ้มกันโดยมีกองกำลังป้องกัน และมีน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 6,000 แกลลอนสหรัฐ (22,700 ลิตร) เตรียมไว้สำหรับอากาศยาน ซึ่งถูกนำเข้าพื้นที่โดยบรรจุในถังเชื้อเพลิงที่สามารถยุบตัวได้ ซึ่งโดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ โดยเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 มีเครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์แบบ EC-130Es 3 ลำ (นามเรียกขาน : Republic 4, 5, และ 6) ทำหน้าที่ส่งยุทโธปกรณ์และเสบียง และ MC-130E Combat Talons (นามเรียกขาน : Dragon 1 ถึง 3) นำหน่วย Delta Force พร้อมกับอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เข้าไปยังพื้นที่ปฏิบัติการ

ระหว่างการวางแผนมีการเตรียมเฮลิคอปเตอร์ชองกองทัพเรือสหรัฐฯแบบ RH-53D Sea Stallion ไว้ที่เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Nimitz โดยลูกเรือของ Nimitz ไม่ทราบสาเหตุของการปรากฏตัวของเฮลิคอปเตอร์ 8 ลำบนเรือของพวกเขาเป็นเวลาหลายเดือน พวกเขาได้รับเพียงการบอกเล่าว่า เฮลิคอปเตอร์ใช้ในภารกิจปฏิบัติการกวาดทุ่นระเบิด แผนดังกล่าวกำหนดให้เฮลิคอปเตอร์รับการเติมเชื้อเพลิงและบินนำทหารหน่วย Delta Force เป็นระยะทาง 260 ไมล์ (420 กม.) ไปยังจุดนัดพบ Desert Two (พิกัด 35 ° 14′00″ N 52 ° 09′00″ E) อยู่ห่างจากกรุงเตหะรานราว 52 ไมล์ (84 กม.) ด้วยเวลาที่ใกล้เช้ารุ่งเช้า เฮลิคอปเตอร์และกองกำลังภาคพื้นดินจะถูกซ่อนพรางตัวในระหว่างกลางวัน ณ จุด Desert Two โดยการปฏิบัติการกู้ภัยจะเกิดขึ้นในคืนที่สอง เริ่มจากสายของ CIA ในอิหร่านจะนำรถบรรทุกไปยังจุด Desert Two ร่วมกับกองกำลังภาคพื้นดิน (หน่วย Delta Force) จากนั้นจะขับรถจากจุด Desert Two ไปยังกรุงเตหะราน ในขณะที่กองกำลังจู่โจมหลักกำลังเคลื่อนไปยังกรุงเตหะราน กองกำลังสหรัฐหน่วยอื่น ๆ จะตัดกระแสไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อชะลอการตอบโต้ใด ๆ จากกองกำลังของอิหร่าน ยิ่งไปกว่านั้นเครื่องบิน Gunship แบบ AC-130 จะบินไปยังกรุงเตหะรานเพื่อทำการยิงสนับสนุนในกรณีที่จำเป็น

ท้ายสุดแล้ว กองกำลัง Ranger จะทำการยึดฐานทัพอากาศ Manzariyeh ที่อยู่ใกล้เคียง (พิกัด 34 ° 58′58″ N 50 ° 48′20″ E) เพื่อให้เครื่องบิน C-141 Starlifter ลงจอด กองกำลังภาคพื้นดินจะทำการโจมตีสถานทูต และกำจัดผู้คุม หลังจากนั้นจะพาตัวประกันและกองกำลังไปยังจุดนัดพบกับเฮลิคอปเตอร์ในฝั่งตรงข้ามบริเวณสนามกีฬา Amjadieh แล้วเฮลิคอปเตอร์จะพาทุกคนไปยังฐานทัพอากาศ Manzariyeh ขึ้น C-141s เพื่อบินพาทุกคนกลับไปยังดินแดนที่เป็นมิตร การป้องกันทางอากาศจะให้ กองบินนาวีที่ 8 (CVW-8) ปฏิบัติการจาก USS Nimitz และ กองบินนาวีที่ 14 (CVW-14) ปฏิบัติการจาก USS Coral Sea ในปฏิบัติการนี้เครื่องบินรบจะติดแถบพิเศษเพื่อระบุตัวตนที่ปีกขวา ประกอบด้วย กองบินนาวีที่ 14 (CVW-14) เครื่องบินรบแบบ F-4Ns ติดแถบสีแดงสำหรับกองบินขับไล่โจมตีนาวิกโยธินที่ 323 (VMFA-323) หรือสีเหลืองสำหรับกองบินขับไล่โจมตีนาวิกโยธินที่ 323 (VMFA-531) แถบสีดำ 2 แถบของกองบินนาวีที่ 14 (CVW-14) เครื่องบินจู่โจมแบบ A-7s และ A-6s มีแถบสีส้มล้อมรอบด้วยแถบสีดำ 2 แถบ เพราะมีเครื่องบินซึ่งคล้ายกัน (เพื่อช่วยแยกแยะเครื่องบินสหรัฐจากเครื่องบินอิหร่านที่ซื้อจากสหรัฐอเมริกา) คือ เครื่องบินขับไล่แบบ F-14 Tomcats และ F-4 Phantoms

แต่เมื่อมีการปฏิบัติจริง มีเพียงการส่งหน่วยระวังป้องกัน/ทีมกู้ภัย อุปกรณ์ และเชื้อเพลิงโดยเครื่องบิน C-130 เท่านั้นที่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หน่วยปฏิบัติการพิเศษออกจากฐานบินบนเกาะ Masirah ประเทศโอมาน และบินไปยังจุด Desert One โดย Dragon 1 บินถึงเวลา 22:45 ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากมีการเปิดไฟที่ซ่อนอยู่ การลงจอดภายใต้สภาพที่มืดมิดโดยใช้ระบบแสงอินฟราเรดบนลานบิน ซึ่งสามารถเห็นได้ด้วยแว่นมองกลางคืนเท่านั้น ด้วย Dragon 1 บรรทุกน้ำหนักมหาศาล ในการลงจอด แม้จะมีตรวจสอบว่าไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางวิ่ง แต่ก็เกิดความเสียหายต่อปีกเครื่องบินจากการปะทะสิ่งกีดขวาง และต้องทำการซ่อมบนภาคพื้นดินในภายหลัง แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ และเครื่องบินยังคงบินได้

กองกำลังภาคพื้นดินประกอบด้วยหน่วย Delta Force 93 นายเตรียมบุกโจมตีสถานทูต โดยหน่วยจู่โจมพิเศษ 13 คนจากหน่วย "A" กองพล Berlin จะเข้าจู่โจมกระทรวงการต่างประเทศ Ranger อีก 12 นาย จะจัดตั้งแนวกีดขวาง และกำลังผสมอิหร่านและอเมริกันซึ่งพูดฟาร์ซีได้ 15 นาย ซึ่งส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เป็นคนขับรถบรรทุก ทีมควบคุมการปฏิบัติการรบ (Combat Control Team : CCT) จัดตั้งเขตลงจอดขนานทางตอนเหนือของถนนลูกรัง และติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณ TACAN เพื่อเป็นแนวลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบิน MC-130s ลำที่ 2 และ 3 ลงจอดโดยใช้ทั้งรันเวย์ และปล่อยส่วนที่เหลือของหน่วย Delta Force หลังจากที่ Dragon 1 และ 2 บินออกในเวลา 23:15 เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับ EC-130 และ ฮ. RH-53D 8 ลำ และกลับไปที่ ฐานบิน ซึ่งจะอนุญาตให้ลูกเรือเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติการในคืนที่สอง

ไม่นานหลังจากที่ลูกเรือคนแรกลงพื้น และเริ่มเฝ้าระวัง จุด Desert One มีรถบรรทุกซึ่งขนน้ำมันเถื่อนวิ่งผ่านจึงถูกยิงจนระเบิดด้วยจรวดประทับไหล่โดยทีมกั้นถนนของหน่วย Ranger ขณะพยายามหลบหนีออกจากพื้นที่ คนในรถบรรทุกเสียชีวิต แต่คนขับพยายามหลบหนีด้วยรถกระบะที่มาด้วยกัน ในขณะที่รถบรรทุกน้ำมันที่ถูกประเมินว่า มีส่วนร่วมในการลักลอบขนน้ำมันโดยตัวคนขับรถก็ไม่ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของภารกิจ แต่เปลวไฟที่เกิดขึ้นสว่างมากในยามค่ำคืนเห็นได้ในระยะหลายไมล์ จึงเป็นการชี้ทางไปยังจุด Desert One สำหรับเฮลิคอปเตอร์ที่ยังไม่ลงจอด รถบัสพร้อมคนขับและผู้โดยสารพลเรือนชาวอิหร่าน 43 คน ซึ่งเดินทางบนถนนสายเดียวกัน ซึ่งตอนนั้นเป็นรันเวย์สำหรับเครื่องบินถูกบังคับให้จอด และทั้งหมดถูกควบคุมตัวในเครื่องบิน Republic 3

ระหว่างทาง เฮลิคอปเตอร์ Bluebeard 6 ต้องลงจอดฉุกเฉินกลางทะเลทราย เมื่อนักบินอ่านค่าของเซ็นเซอร์ซึ่งระบุว่า ใบพัดร้าว โดย ฮ. Bluebeard 8 ได้รับเอาลูกเรือของฮ. Bluebeard 6 ออกจากพื้นที่ เฮลิคอปเตอร์ที่เหลือบินเข้าไปในสภาพอากาศที่ไม่คาดคิดที่รู้จักกันในชื่อ Haboob (เมฆฝุ่นขนาดมหึมาที่เกือบจะทึบแสงซึ่งเกิดตามพายุฝนฟ้าคะนอง) Bluebeard 5 บินเข้า haboob ต้องละภารกิจ และบินกลับไปยัง USS Nimitz เมื่ออุปกรณ์เครื่องวัดประกอบการบินทำงานผิดปกติ ทำให้ต้องบินโดยปราศจากอุปกรณ์ฯ แต่การบินด้วยสายตาก็เป็นไปไม่ได้ การก่อตัวกระจัดกระจายมาถึงจุด Desert One นาน 50 ถึง 90 นาที ตามกำหนดการ Bluebeard 2 มาถึง Desert One เมื่อเวลา 01:00 น. ด้วยระบบไฮดรอลิกชุดหนึ่งเกิดขัดข้อง แต่ระบบดังกล่าวมี 2 ชุด จึงทำให้มีระบบไฮดรอลิกเพียงชุดเดียวในการควบคุมเฮลิคอปเตอร์ให้บินได้

ดังนั้นจึงเหลือเฮลิคอปเตอร์เพียง 5 ลำเท่านั้นที่จะบินส่งทหารและอุปกรณ์ไปยัง Desert Two ซึ่งผบ.ภาคสนามคิดว่า ภารกิจคงต้องยกเลิก และแล้วภารกิจก็มาถึงจุดจบ เมื่อนักบินปฏิเสธที่จะใช้เฮลิคอปเตอร์ Bluebeard 2 ในภารกิจ ขณะที่ผบ.ภาคสนามเองก็ปฏิเสธที่จะลดขนาดทีมกู้ภัย ซึ่งคาดว่า อาจจะสูญเสียเฮลิคอปเตอร์เพิ่มในเวลาต่อมา จึงมีการแจ้งขอยกเลิกภารกิจผ่านวิทยุสื่อสารดาวเทียมถึงประธานาธิบดี หลังจากนั้นสองชั่วโมงครึ่งก็ได้รับคำสั่งให้ยกเลิกภารกิจ

ขณะถอนกำลังเกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งชนเข้ากับเครื่องบินลำเลียงโดยใบพัดหลักฟันกับแพนหางของเครื่องบินและลำตัวชนเข้ากับโคนปีกจนเกิดเพลิงไหม้ เป็นเหตุให้ลูกเรือเฮลิคอปเตอร์ซึ่งสังกัดกองกำลังนาวิกโยธิน 3 ใน 5 นายเสียชีวิต ลูกเรือเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศเสียชีวิต 5 จาก 14 นาย ระหว่างการอพยพไปยังเครื่องบินลำเลียงแบบ EC-130s ลูกเรือเฮลิคอปเตอร์พยายามในการค้นเอกสารภารกิจลับ และทำลายเฮลิคอปเตอร์ ลูกเรือเฮลิคอปเตอร์ทั้งหมดขึ้นเครื่อง EC-130s โดยทิ้งเฮลิคอปเตอร์ RH-53 ทั้ง 5 ลำไว้ข้างหลัง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสภาพไม่บุบสลาย และบางส่วนได้รับความเสียหายจากกระสุน ต่อมาเฮลิคอปเตอร์ Bluebeards 2 และ 8 ถูกกองทัพเรือแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านนำไปใช้งาน เครื่องบิน EC-130E (Republic 5) ซึ่งกลับมาอย่างปลอดภัย และถูกปลดจากกองทัพอากาศสหรัฐในเดือนมิถุนายน 2013 ปัจจุบันตั้งแสดง ณ พิพิธภัณฑ์การบิน Carolinas

เครื่องบิน EC-130s ได้นำกำลังที่เหลือกลับไปยังสนามบินที่เกาะ Masirah โอมาน โดยมีเครื่องบินลำเลียงทางการแพทย์แบบ C-141 2 ลำจากฐานทัพอากาศ Wadi Abu Shihat, อียิปต์ เพื่อรอรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ลูกเรือเฮลิคอปเตอร์ สมาชิกหน่วย Rangers และ หน่วย Delta Force ถูกพากลับไปฐานทัพอากาศ Wadi Kena ส่วนผู้บาดเจ็บถูกส่งไปยังฐานทัพอากาศ Ramstein ในเยอรมันตะวันตก (ขณะนั้น) ทีม CIA ประจำกรุงเตหะรานถอนตัวออกจากอิหร่านโดยไม่ทิ้งร่องรอย

ทำเนียบขาวประกาศว่า ปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันล้มเหลวเมื่อเวลา 01:00 น. ของวันถัดไป ตัวประกันในสถานทูตได้ถูกกระจายไปทั่วประเทศอิหร่านในภายหลังเพื่อให้การช่วยเหลือครั้งที่ 2 เป็นไปไม่ได้ เจ้าหน้าที่ของกองทัพอิหร่านพบศพ 9 ศพ เป็นชาวอเมริกัน 8 ศพ และพลเรือนอิหร่านอีก 1 ศพ ส่วนพลเรือนชาวอิหร่าน 44 คนบนรถบัสที่ถูกกักตัวก็ได้เล่าเรื่องราวของปฏิบัติการนี้ให้เจ้าหน้าที่ของกองทัพอิหร่าน มีการจัดทำแผ่นป้ายรำลึกถึงทหารรสหรัฐ 8 นาย ซึ่งเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติภารกิจ ในสุสานแห่งชาติ Arlington วันที่ 25 เมษายน 1980 พลตรี Robert M. Bond ได้อ่านคำสดุดีของประธานาธิบดี Jimmy Carter ที่พิธีศพเพื่อแสดงความระลึกถึงพวกเขาเหล่านั้น พลเรือเอก James L. Holloway III (เกษียณ) อดีตผู้บัญชาการฝ่ายปฏิบัติการกองทหารเรือ ได้ทำการสอบสวนอย่างเป็นทางการในปี 1980 อ้างถึงข้อบกพร่องในการวางแผนของภารกิจ คำสั่ง และการควบคุม และความสามารถในการปฏิบัติการร่วม และกลายเป็นตัวเร่งให้มีการจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม และรัฐบัญญัติ Goldwater-Nichols ในปี 1986

ความล้มเหลวของการปฏิบัติการร่วม ซึ่งขาดความพร้อมเพรียงทำให้เกิดการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ๆ ในอีกหลายปีต่อมา ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐอเมริกา (USSOCOM) เริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 16 เมษายน 1987 โดยแต่ละเหล่าทัพมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษของตนเองภายใต้การควบคุมปฏิบัติการร่วมโดย USSOCOM การขาดนักบินเฮลิคอปเตอร์ที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี มีความสามารถในการบินกลางคืนระดับต่ำ ซึ่งจำเป็นสำหรับภารกิจในปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ทันสมัย ทำให้เกิดหน่วยบินปฏิบัติการพิเศษที่ 160 (SOAR) (Night Stalkers) นอกจากหน่วยบินปฏิบัติการพิเศษที่ 160 (SOAR) แล้ว กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังได้ฝึกนักบินเฮลิคอปเตอร์จำนวนมากให้สามารถบินเจาะทะลุในระดับต่ำ สามารถเติมน้ำมันกลางอากาศ และใช้แว่นมองกลางคืน ทำการบินเฮลิคอปเตอร์แบบ MH-47, CH-53E, MH-60 และ MV-22 รวมถึงเพิ่มความสามารถในการบินเพื่อปฏิบัติการพิเศษ ความล้มเหลวนำมาสู่การพัฒนาเทคนิควิธีในการปฏิบัติการพิเศษมากมาย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจประจำของ USSOCOM่

ประธานาธิบดี Carter ยังคงพยายามให้ตัวประกันถูกปล่อยตัว ก่อนการสิ้นสุดของสมัยของประธานาธิบดี Carter วันที่ 20 มกราคม 1981 ไม่กี่นาทีหลังจากสิ้นสุดวาระของ Carter ตัวประกัน 52 คนที่ถูกกักขังในอิหร่านได้รับการปล่อยตัว สิ้นสุด 444 วันวิกฤติตัวประกันอเมริกันในอิหร่าน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ Cyrus R. Vance เชื่อว่า ปฏิบัติการนี้จะไม่ประสบผล และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของตัวประกัน จึงเลือกที่จะลาออก โดยไม่คำนึงว่าภารกิจสำเร็จหรือไม่ Ruhollah Khomeini ประณามประธานาธิบดี Carter และในคำพูดหลังจากเหตุการณ์โดยอ้างพระเจ้าโยนทรายเพื่อปกป้องอิหร่าน เขากล่าวว่า "ใครเป็นคนทำลายเฮลิคอปเตอร์ของ Carter? เราทำ? ทรายทำ! ตัวแทนของพระเจ้า ลมเป็นตัวแทนของพระเจ้า ... ทรายเหล่านี้เป็นตัวแทนของพระเจ้า พวกเขา (อเมริกัน) สามารถลองของได้อีก!

เหตุวิกฤติจบลงในที่สุด เมื่อมีการลงนามในสัญญา Algiers Accords ในประเทศอัลจีเรียในวันที่ 19 มกราคม 1981 และมีการปล่อยตัวประกันเมื่อวันที่ 21 มกราคม 1981 ในข้อตกลง มีการปล่อยตัวคนอเมริกันที่ถูกกักตัวในอิหร่าน และอีกด้านหนึ่ง มีการปล่อยตัวคนสัญชาติอิหร่านที่ต้องโทษในสหรัฐอเมริกา แต่สนธิสัญญานี้ครอบคลุมเพียงด้านกฎหมาย แต่ในวันที่ 7 เมษายน 1980 สหรัฐอเมริกาได้ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านในวันที่ 24 เมษายน 198เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล 

ส่องขีดความสามารถกำลังรบ – ยุทโธปกรณ์อิหร่าน ในวันที่ต้องเปิดแนวรบเต็มรูปแบบกับ ‘อิสราเอล’

ปัจจุบันทุกวันนี้ กรณีพิพาทระหว่างประเทศได้ขยายตัวยกระดับกลายเป็นสงครามในหลายภูมิภาคบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็น รัสเซียกับยูเครน อิหร่านกับอิสราเอล กรณีพิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถาน หรือ กระทั่งกรณีพิพาทระหว่างไทยกับเขมร ซึ่งมีการเผชิญหน้าด้วยกำลังทหารตลอดแนวชายแดนของสองประเทศ

สงครามคือ การต่อสู้ของคู่พิพาทหรือคู่ขัดแย้งด้วยกองกำลังติดอาวุธ ในสภาวะที่ปกติแล้วมีการสู้รบด้วยอาวุธอย่างเปิดเผยและประกาศระหว่างรัฐหรือประเทศต่าง ๆ โดยการทำสงครามนั้น คู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายจำเป็นต้องมีกำลังอำนาจทางทหาร ซึ่งประกอบด้วย (1) กำลังรบ กำลังทหาร หรือกองกำลังติดอาวุธ (ที่จัดเตรียมไว้แล้ว) และ (2) ศักย์สงคราม

ศักย์สงคราม (War potential) ได้แก่ ขีดความสามารถที่จะผลิตกำลังรบเพิ่ม ผลิตอำนาจการรบเพิ่ม โดยองค์ประกอบของศักย์สงครามอาจแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1) กำลังอำนาจทางเศรษฐกิจ 2) กำลังอำนาจทางการเมือง 3) ขวัญและกำลังใจเมื่อเกิดการสู้รบขึ้น และ 4) การสนับสนุนจากพันธมิตร

นอกจากองค์ประกอบ 4 ประเภทที่กล่าวมาแล้ว ยังรายละเอียดตามเงื่อนไขปัจจัยดังต่อไปนี้ คือ (1) ขนาด ที่ตั้ง และลักษณะของประเทศ (2) จำนวน อายุ ลักษณะประชากร ขีดความสามารถทางแรงงานและขวัญของพลเมือง (3) จำนวนและชนิดของอาหารและวัตถุดิบ ตลอดจนจำนวนสำรองของวัตถุดิบรวมทั้งขีดความสามารถที่จะนำเข้ามาทั้งยามสงบและยามสงคราม (4) ขีดความสามารถทางอุตสาหกรรม (5) ขีดความสามารถในด้าน Logistics (6) ทรัพยากรด้านวัตถุและกำลังคนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (7) คุณภาพของผู้นำและผู้บริหารของชาติ รวมทั้งขีดความสามารถในการระดมสรรพกำลังที่มีอยู่ด้วย

ศักย์สงครามของอิหร่าน ในขณะนี้ โลกกำลังจับตาดูความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านว่า จะพัฒนาไปอย่างไร จะกลายเป็นสงครามที่มีการขยายพื้นที่เป็นสงครามขนาดใหญ่ หรือสงครามจำกัดขอบเขตพื้นที่เช่นที่เป็นมา บทความนี้จะขอพูดถึงศักย์สงครามของอิหร่านในสองมิติ โดยจัดเรื่องของอำนาจกำลังรบของอิหร่านไว้ในมิติแรก และมิติที่ 2 คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

(1) อำนาจกำลังรบของอิหร่าน กำลังทหารอิหร่านประกอบด้วยสามหน่วยหลักได้แก่ (1.1) กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps (Sepah)) และ (1.2) กองทัพ(บก)สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (Islamic Republic of Iran Army (Artesh)) และ (1.3) กองกำลังบังคับใช้กฎหมาย (ตำรวจ) โดยสองหน่วยแรกมีกำลังพลราว 530,000 นาย ส่วนตำรวจมีกำลังพลราว 500,000 นาย และตำรวจอาสาสมัครอีก 35,000 นาย กองกำลังทุกหน่วยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคณะเสนาธิการแห่งกองทัพฯ ภายใต้สำนักงานผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน โดยกระทรวงกลาโหม และหน่วยส่งกำลังบำรุงของกองทัพรับผิดชอบในการวางแผนส่งกำลังบำรุง และการจัดการงบประมาณของกองทัพ และไม่เกี่ยวข้องกับการบังคับบัญชาสั่งการตลอดจนปฏิบัติการทางทหารในสนามรบ

กองทัพของอิหร่านได้รับการจัดอันดับให้เป็นกองทัพที่มีความแข็งแกร่งลำดับที่ 16 ของโลก จากการจัดอันดับของ Global Firepower ในปี 2025 ประกอบด้วย (1.) กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามประกอบด้วย (1.1) กองกำลังภาคพื้นดิน เป็นกองกำลังปฏิวัติอิสลาม(IRGC) ซึ่งปฏิบัติการคู่ขนานกับกองทัพบกอิหร่าน นอกเหนือจากบทบาททางการทหารของพวกเขาแล้ว ยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยภายใน มีกำลังพลประมาณ 100,000 นาย (1.2) กองกำลัง Basij (องค์การเพื่อการเคลื่อนไหวของผู้ถูกกดขี่) เป็นกองทหารอาสาสมัครที่จัดตั้งขึ้นปี 1979 ตามคำสั่งของ Ayatollah Khomeini เดิมประกอบด้วยอาสาสมัครพลเรือนเข้าร่วมสู้รบในสงครามอิหร่าน-อิรัก และถูกระบุว่า เป็นองค์กรก่อการร้ายโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา, บาห์เรน และซาอุดิอาระเบีย มีกำลังพลประมาณ 90,000 นาย อาสาสมัครอีก 11.2ล้านนาย รวมอาสาสมัครพร้อมปฏิบัติการ 600,000 นาย (1.3) กองกำลัง Quds เป็นหน่วยหนึ่งในกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (IRGC) เป็นกองกำลังที่เชี่ยวชาญในการทำสงครามนอกแบบ และปฏิบัติการทางการข่าวทางทหาร รับผิดชอบการปฏิบัติการนอกประเทศ กองกำลัง Quds ได้ให้การสนับสนุนกองกำลังในหลายประเทศรวมถึง Hezbollah, Hamas ในเลบานอน และญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ ในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์, Houthis ในเยเมน และ Shia militias ในอิรัก ซีเรีย และ อัฟกานิสถาน มีการประเมินว่า Quds มีกำลังพลราว 10,000-20,000 คน ขึ้นตรงต่อผู้นำสูงสุดของอิหร่าน Ayatollah Khamenei (1.4) กองกำลังทางอากาศ (การบินและอวกาศ) แห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (AFAGIR) 

ซึ่งปฏิบัติการคู่ขนานไปกับกองทัพอากาศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (IRIAF) โดยใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารร่วมกับ กองทัพอากาศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (IRIAF) และ (1.5) กองกำลังทางเรือแห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามประกอบด้วยกำลังพลประมาณ 20,000 นาย เรือรบ 1,500 ลำ มีการพัฒนาขีดความสามารถอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการรบทางน้ำนอกแบบ และคุ้มครองผลประโยชน์นอกชายฝั่ง แนวชายฝั่ง และเกาะต่าง ๆ ในอ่าวเปอร์เซียที่เป็นของอิหร่าน

(2) กองทัพสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (Islamic Republic of Iran Army (Artesh)) ประกอบด้วย (2.1) กองกำลังภาคพื้นดิน หรือ กองทัพบก เป็นกองกำลังภาคพื้นดินของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน กองทัพ ในภาษาฟาร์ซีเรียกว่า อาร์เทช (Artesh : ارتش) ซึ่งแปลว่า "กองทัพบก" ในปี 2007 ประมาณว่า กองทัพบกอิหร่าน มีบุคลากรราว 350,000 นาย (ทหารเกณฑ์ 220,000 นาย และทหารประจำการ 130,000 นาย) และทหารกองหนุนอีกประมาณ 350,000 นาย รวม 700,000 นาย ทหารเกณฑ์เป็นเวลา 21 เดือนและมีการฝึกฝนเพื่อเป็นทหารอาชีพ อาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วย รถถัง 3,000 คัน รถหุ้มเกราะ 1,550 คัน ปืนใหญ่ลากจูง 2,118 ระบบ ปืนใหญ่อัตตาจร 365 ระบบ เครื่องยิงจรวด 1,500+ ระบบ เฮลิคอปเตอร์ 260 ลำ เฮลิคอปเตอร์โจมตี 80+ ลำ และ UAV 400 ลำ (2.2) กองกำลังป้องกันทางอากาศ แยกออกมาจาก IRIAF ทำหน้าที่ควบคุมและปฏิบัติการในการป้องกันทางอากาศ (ภาคพื้น) ของอิหร่าน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2008 มีกำลังพลราว 15,000 นาย อาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วย ปืนและจรวดต่อสู้อากาศยานหลายแบบจำนวนมาก (2.3) กองทัพอากาศสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (IRIAF) มีกำลังพลราว 37,000 นาย อาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วยเครื่องบินรบ 348 ลำ  และเครื่องบิน/เฮลิคอปเตอร์แบบต่าง ๆ รวมทั้งหมด 741 ลำ และ (2.4)กองทัพเรือของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน มีกำลังพลราว 18,000 นาย อาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วย เรือผิวน้ำ 86 ลำ เรือดำน้ำ 19 ลำ และอากาศยานอีก 54 ลำ

ศักย์สงครามของอิหร่านในมิติของ "อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ" ท่านอายุน้อยกว่าห้าสิบอาจจะยังไม่ทราบว่า สี่สิบปีก่อนอิหร่านรบกับอิรักนานเกือบแปดปี ในตอนนั้นสหรัฐฯ และพันธมิตรได้ให้การสนับสนุนอิรักอย่างเต็มที่ ทหารของทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บตายฝ่ายละหลายแสนนาย (ตัวเลขจากหลายแหล่งไม่ปรากกฏตรงกันเลย) กองทัพอิหร่านหลังสงครามอ่อนแอลงมาก สูญเสียอาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาล แต่ก็สามารถยันอิรักไว้ได้ ก่อนการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน กองทัพอิหร่านแข็งแกร่งด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาลที่กษัตริย์ชาห์ปาเลวีสั่งซื้ออย่างมากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สุดล้ำในยุคนั้น อาทิ เครื่องบินขับไล่แบบ F-14 Tomcat ซึ่งนอกจากกองทัพเรือสหรัฐฯ แล้ว มีเพียงกองทัพอากาศอิหร่านเท่านั้นที่มีใช้

ความอ่อนแอของกองทัพอิหร่านเกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ปี 1979 เพราะแม่ทัพนายกองของกองทัพอิหร่านส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ภักดีต่อกษัตริย์ชาห์ปาเลวี ดังนั้นเมื่ออยาตอลาห์โคไมนีได้อำนาจการปกครองประเทศ จึงมีการกวาดล้างผู้ภักดีต่อราชวงศ์ปาเลวี รวมทั้งอดีตข้าราชการและแม่ทัพนายกองถูกสังหารร่วม 8,000 คน หลังจากสงครามอิหร่านกับอิรัก อิหร่านได้การพัฒนากิจการทหารอย่างมากมายทั้งบุคลากร อาวุธยุทโธปกรณ์ ไปจนถึงอุตสาหกรรมป้องกันประเทศด้วย อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอิหร่านเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสมัยของกษัตริย์ชาห์โมฮัมหมัดเรซาปาห์ลาวี ในปี 1973 โดยบริษัทอิหร่านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (IEI) ก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมและซ่อมแซมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยอาวุธยุทโธปกรณ์ของอิหร่านส่วนใหญ่ก่อนการปฏิวัติอิสลามนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและยุโรประหว่างปี 1971 และ 1975 กษัตริย์ชาห์ได้สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่ากว่า 8 พันล้านดอลลาร์เฉพาะจากสหรัฐอเมริกา สิ่งนี้สร้างความตื่นตระหนกแก่รัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เพิ่มความเข้มงวดกับกฎหมายว่าด้วยการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ในปี 1968 และเปลี่ยนชื่อเป็นรัฐบัญญัติควบคุมการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ ถึงกระนั้นก็ตามสหรัฐอเมริกายังคงขายอาวุธจำนวนมากให้แก่อิหร่านจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอิสลามใน ปี 1979

1977 อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอิหร่านได้ร่วมมือกับอิสราเอลในการผลิตขีปนาวุธตามโครงการ Flower และขอเข้าร่วมโครงการพัฒนาขีปนาวุธร่วมกับสหรัฐฯ แต่ถูกปฏิเสธ ในปี 1979 อิหร่านเริ่มก้าวแรกสู่การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์เองโดยเริ่มจากการทำวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse engineering) กับจรวดแบบต่าง ๆ ของสหภาพโซเวียต อาทิ RPG-7, BM21 และ SA-7 หลังจากการปฏิวัติอิสลาม และเริ่มสงครามอิหร่าน – อิรัก การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการคว่ำบาตรทางอาวุธระหว่างประเทศที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ประกอบกับความต้องการอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารมากขึ้น ทำให้อิหร่านต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในประเทศ เพื่อซ่อมแซมและผลิตอะไหล่ชิ้นส่วน กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามได้รับหน้าที่ให้ทำการจัดระเบียบอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอีกครั้ง ภายใต้การกำกับดูแลของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอิหร่านสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว และกระทรวงกลาโหมได้สนับสนุนงบประมาณมหาศาลเน้นไปที่อุตสาหกรรมขีปนาวุธ ในไม่นานนักอิหร่านก็กลายเป็นชาติที่มีขีปนาวุธมากมาย

ปี 1992 อิหร่านสามารถผลิตรถถังเอง รวมทั้งรถหุ้มเกราะ ขีปนาวุธ เรือดำน้ำ และเครื่องบินรบ 2006 เหตุการณ์ต่าง ๆ จากโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประกาศคว่ำบาตรอิหร่านโดยห้ามไม่ให้ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกรูปแบบ แม้จะมีบทลงโทษเหล่านี้อิหร่านก็ขายอุปกรณ์ทางทหารให้กับประเทศต่าง ๆ เช่น ซูดาน ซีเรีย และเกาหลีเหนือ อิหร่านก็ไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์ทางทหาร เช่น S-300 จากรัสเซีย แต่ก็ออกแบบและสร้างเองแทน เช่น Bavar- 373 และส่งออกอาวุธไปยังกว่า 50 ประเทศ

เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2012 กองทัพอิหร่านได้แถลงว่า ประสบความสำเร็จในการผลิตอุปกรณ์ทางทหารและความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่านทำให้ประเทศมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านนี้ "ต่างจากประเทศตะวันตกที่ซ่อนอาวุธและยุทโธปกรณ์ใหม่ แต่กองทัพสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านไม่กลัวที่จะแสดงความสำเร็จทางทหารล่าสุดและทุกประเทศจะต้องตระหนักถึงความก้าวหน้าของอิหร่านในการผลิตอาวุธ" ตั้งแต่ปี 2016 กระทรวงกลาโหมอิหร่านได้ร่วมมือกับบริษัทระดับชาติมากกว่า 3,150 แห่ง และมหาวิทยาลัยอีก 92 แห่ง อีกทั้งความสามารถในการทำวิศวกรรมย้อนกลับทำให้อิหร่านสามารถพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่ยึดได้จากอิรัก กระทั่งในปัจจุบันอิหร่านสามารถยิงอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ของสหรัฐฯ ได้หลายแบบ และใช้เทคนิควิศวกรรมย้อนกลับในการผลิต UAV หรือโดรนเพื่อทำการรบที่มีประสิทธิภาพได้มากมายหลายแบบ

เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า “ศักย์สงครามของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน” ที่มีอยู่จะทำให้ “อิหร่าน” สามารถรับมือ หรือเอา “อิสราเอล” อยู่หรือไม่ เพราะ “อิสราเอล” นั้น ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง

‘อิหร่าน’ ยิงเครื่องบินขับไล่ F-35 ของ ‘อิสราเอล’ ตกอีกลำ ระหว่างการปะทะกัน!! อย่างต่อเนื่อง ‘เตหะราน-เทลอาวีฟ’

(15 มิ.ย. 68) หน่วยประชาสัมพันธ์กองทัพอิหร่านระบุในแถลงการณ์ว่า กองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของตนประสบความสำเร็จในการโจมตีและทำลายเครื่องบินขับไล่ F-35 ของอิสราเอลอีกลำหนึ่งในพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศ โดยชะตากรรมของนักบินยังคงไม่ทราบแน่ชัด และอยู่ระหว่างการสอบสวน จะมีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่านประสบความสำเร็จในการยิงเครื่องบินรบ F-35 จำนวน 2 ลำ พร้อมด้วยโดรนหลายลำของอิสราเอลตก อิสราเอลได้ส่งเครื่องบินล้ำสมัยเหล่านี้มาใช้ในการรุกรานสาธารณรัฐอิสลามในช่วงเช้าวันศุกร์ ซึ่งส่งผลให้ผู้บัญชาการทหารระดับสูงของอิหร่าน นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ และพลเรือนรวมทั้งผู้หญิงและเด็กถูกสังหาร

เครื่องบินรบ F-35 ที่ของอิสราเอลถือเป็นเครื่องบินรบที่ล้ำหน้าที่สุดในรุ่นเดียวกัน อิสราเอลซื้อเครื่องบินรบเหล่านี้จากสหรัฐอเมริกา โดยเครื่องบิน F-35 Lightning II ผลิตโดย Lockheed Martin ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินอวกาศสัญชาติอเมริกัน อิสราเอลเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้รับอนุญาตจากสหรัฐอเมริกาให้ใช้งานเครื่องบินรบสเตลท์รุ่นที่ 5 ล้ำสมัยนี้ 

F-35 เครื่องบินขับไล่ล่องหนของอิสราเอลเป็นรุ่นปรับปรุงพิเศษ ได้รับการออกแบบมาเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ ช่วยให้นักบินอิสราเอลสามารถปฏิบัติภารกิจเจาะลึกในดินแดนศัตรู โดยมีความเสี่ยงที่จะถูกสกัดกั้นหรือติดตามน้อยลง กองทัพอิหร่านจึงเป็นหน่วยรบแรกของโลกที่สามารถยิงเครื่องบินขับไล่ล่องหนแบบ F-35 ตก (รวม 3 ลำ) โดยกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่าน ซึ่งมีกำลังพลราว 15,000 นาย และเป็นเหล่าทัพหนึ่งในสี่เหล่าทัพของกองทัพอิหร่าน อันประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศ

ปืนลูกซอง...อาวุธระยะประชิด ที่ดีที่สุดในการพิฆาตโดรนสังหาร

ในสงครามสมัยใหม่ อากาศยานควบคุมระยะไกลหรือโดรน จัดว่าเป็นหนึ่งในอาวุธที่ทรงอานุภาพ ปัจจุบันมีการนำโดรนมาใช้การรบทุกสมรภูมิ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2025 ยูเครนได้ใช้โดรนติดอาวุธโจมตีฐานทัพอากาศรัสเซียเสียหายไป 4 แห่ง ทำให้เครื่องบินรบของรัสเซียเสียหายไปหลายลำ เหตุการณ์นี้ยิ่งสร้างความตระหนักแก่กองทัพของชาติต่าง ๆ ในการคิดค้นออกแบบยุทธวิธีและอาวุธยุทโธปกรณ์ในการรับมือจากการโจมตีของ “โดรนติดอาวุธ” หรือ “โดรนสังหาร”

“โดรนติดอาวุธ” หรือ “โดรนสังหาร”หมายถึง อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ทางทหารที่ออกแบบมาเพื่อการรบ โดยเฉพาะโดรนประเภทนี้สามารถบรรทุกอาวุธ เช่น ขีปนาวุธ ระเบิด หรือแม้แต่อุปกรณ์ระเบิดแสวงเครื่อง (IED) เพื่อโจมตีเป้าหมาย โดยถูกควบคุมจากระยะไกล แต่จะมีระดับการทำงานอัตโนมัติที่มีระบบปฏิบัติการที่มีความแตกต่างกัน

“โดรนสังหาร” มีบทบาทสำคัญในสมรภูมิรบสมัยใหม่ จากการใช้งานโดรนอย่างแพร่หลายในยูเครนสามารถเป็นเครื่องยืนยันได้ และแม้ว่าสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่จะมีศักยภาพในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” แต่โดรนสังหารขนาดเล็กจำนวนมากสามารถหลบเลี่ยงแนวป้องกันที่ดีที่สุดได้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาในทุกวิถีทางเพื่อต่อต้านขีดความสามารถของ “โดรนสังหาร”

อุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในขณะนี้คือ “ปืนต่อต้านโดรน (Anti-drone gun)” ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีรูปร่างคล้ายปืนยาวใช้ในการปล่อยสัญญาณรบกวนการทำงานของโดรน โดยเฉพาะ สัญญาณการสื่อสาร และระบบนำทาง ปืนเหล่านี้จะรบกวนความถี่ที่ใช้ในการควบคุมโดรน ทำให้โดรนลงจอด ลอยนิ่ง หรือกลับสู่จุดเริ่มต้น นอกจาก นี้บางรุ่นยังรบกวนสัญญาณ GPS ซึ่งทำให้โดรนทำงานช้าลงอีกด้วย

แต่พัฒนาการของ “โดรนสังหาร” นั้นก้าวไปไกลมากจนกระทั่งประสิทธิภาพในการทำงานของ “ปืนต่อต้านโดรน” ลดลงจนอาจไม่ได้ผลเลย เมื่อมีการนำ สัญญาณการสื่อสาร และระบบนำทาง แบบพิเศษมาใช้ใน “โดรนพิสังหาร” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการทำงานของ “ปืนต่อต้านโดรน” กอปรกับบทเรียนจากสงครามยูเครน-รัสเซียได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าเกี่ยวกับวิธีการที่ “โดรนสังหาร” กำหนดรูปแบบของสนามรบสมัยใหม่ โดยเฉพาะความสามารถของ “โดรนสังหาร” ในการโจมตีหน่วยทหารราบ ยานพาหนะ ตลอดจนยุทโธปกรณ์ ยุทธภัณฑ์ ข้าวของเครื่องใช้ และเสบียงต่าง ๆ ตลอดจนทรัพยากรสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อแนวรบของทั้งสองฝ่าย

“โดรนสังหาร” สามารถซุ่มโจมตีเหนือพื้นที่ปฏิบัติการและโจมตีอย่างแม่นยำ โดยสามารถส่งวัตถุระเบิดพร้อมกับถ่ายทอดข้อมูลสำคัญ หรือ “โดรนสังหาร” สามารถโอบล้อมพื้นที่เพื่อให้กำลังทหารเข้าใกล้เป้าหมายโดยไม่ถูกตรวจพบ กองกำลังทั้งยูเครนและรัสเซียต่างใช้ “โดรนสังหาร” ในการขัดขวางการเคลื่อนไหวของศัตรู ลดขีดความสามารถของยานเกราะ และสร้างอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ ฯลฯ

ดังนั้นจึงมีการหยิบเอาอาวุธที่มีอยู่มาใช้ในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” ซึ่ง “ปืนลูกซอง” จัดว่าเป็นอาวุธที่ใช้ในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ “โดรนสังหาร” ขนาดเล็ก ทหารของยูเครนได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ในการต่อต้านภัยคุกคามจาก “โดรนสังหาร” ด้วยปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีประสิทธิภาพอย่างน่าทึ่งในการขัดขวางการปฏิบัติการของ “โดรนสังหาร” รัสเซีย แม้ว่า “ปืนลูกซอง” อาจไม่ใช่อาวุธหลักในการป้องกัน “โดรนสังหาร” แต่ก็สามารถใช้เพื่อเป็นแนวป้องกันสุดท้ายที่มีประสิทธิภาพได้ เพราะปืนลูกซองมีความทนทาน สามารถปรับใช้งานได้ง่าย และกลุ่มกระสุนกระจายเป็นวงกว้าง จึงทำให้แม้แต่ทหารที่ได้รับการฝึกฝนมาเพียงเล็กน้อยก็มีโอกาสยิง “โดรนสังหาร” ถูกได้ อย่างไรก็ตาม การฝึกฝนในการใช้ “ปืนลูกซอง” จะเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น

ประเทศพันธมิตรของยูเครน เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี และเบลเยียม ต่างทราบดีถึงบทเรียนของทหารยูเครน และได้เริ่มนำปืนลูกซองมาใช้ในยุทธวิธีในการป้องกัน “โดรนสังหาร” โดยทั้งกองทัพทั้ง 3 ชาติต่างเลือกใช้ปืนลูกซองยี่ห้อเบเนลลี่หลายแบบที่ใช้ทั้งกระสุนลูกซองแบบดั้งเดิมและแบบพิเศษ ในระหว่างการทดสอบภาคสนาม อาวุธเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพอย่างมากในการยิง “โดรนสังหาร” ในระยะ 80–120 เมตร ทำให้สามารถนำไปใช้ในการป้องกันกองกำลังในขณะปฏิบัติการได้ กองทัพสหรัฐฯ เองจำเป็นต้องมีการฝึกฝนอย่างเต็มที่ในการใช้ปืนลูกซองเพื่อยิง “โดรนสังหาร” ซึ่งเป็นเป้าหมายทางอากาศในระยะประชิด

“ปืนลูกซอง” จึงเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับ “โดรนสังหาร” ในระยะประชิด แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่หลายประการ อาทิ การยิง “โดรนสังหาร” ที่กำลังบินมาหานั้น ผู้ที่ทำการยิงต้องมีความกล้าหาญเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้ว “โดรนสังหาร” เหล่านี้ยังสังเกตได้ยากมากอีกด้วย ถึงแม้ “โดรนสังหาร” แบบ Quadrocopter มักจะส่งเสียงดังตลอดเวลา แต่ในสนามรบซึ่งเป็นสถานที่ที่มีเสียงดังมากและมีความวุ่นวายตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องปกติที่ทหารที่เคยเจอโดรนเหล่านี้เล่าว่า เราจะไม่ทันสังเกตเห็น “โดรนสังหาร” จนกว่ามันจะบินอยู่เหนือเรา ซึ่งมีหลักฐานวิดีโอที่สนับสนุนในเรื่องนี้

ข้อดี:
- ความสะดวกในการใช้งานและความพร้อมใช้งานของปืนลูกซอง: สามารถเรียนรู้และใช้งานได้ค่อนข้างง่าย
- กลุ่มกระสุนครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้าง: กระสุนปืนลูกซองที่กระจายตัวจะเพิ่มโอกาสในการยิงถูกเป้าหมายขนาดเล็กที่เคลื่อนที่เร็ว เช่น “โดรนสังหาร” ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในขณะที่บินต่ำหรือลอยตัวนิ่ง
- ความคุ้มค่า: โดยทั่วไป “ปืนลูกซอง” จะราคาไม่แพงไปกว่าเทคโนโลยีต่อต้านโดรนขั้นสูงอย่าง “ปืนต่อต้านโดรน” จึงทำให้ปืนลูกซองเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

ข้อจำกัด:
- ปืนลูกซองมีระยะยิงที่จำกัด ราว 80-100 เมตร และอาจไม่มีประสิทธิภาพในการยิง “โดรนสังหาร” ที่บินในระดับความสูงที่พ้นระยะหรือในระยะไกลมาก

กระสุน:
- กระสุนปืนลูกซองมีมากมายหลายแบบ สามารถเลือกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการต่อต้านโดรนได้ รวมไปถึงกระสุนพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อจับหรือทำลายใบพัดของโดรน เช่น กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ทดสอบกระสุนปืนลูกซองแบบ SkyNet Mi-5 ซึ่งสามารถปล่อยตาข่ายออกกลางอากาศเพื่อให้พันรอบใบพัดของโดรน
ทางเลือกสุดท้าย:
- แม้ “ปืนลูกซอง” จะไม่ใช่อาวุธสำหรับการป้องกันหลัก แต่ “ปืนลูกซอง” ก็สามารถใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อระบบป้องกัน “โดรนสังหาร” อื่น ๆ ไม่สามารถใช้การได้

สำหรับกองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการพัฒนาการใช้โดรนสำหรับภารกิจต่าง ๆ แต่การต่อต้านโดรนนั้น กองทัพบกได้พัฒนาปืนเล็กยาว M-16 ประกอบฐานยิง เพื่อใช้ในการต่อต้านโดรน ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการจัดซื้อจัดหา “ปืนต่อต้านโดรน” มาใช้ ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า หน่วยงานความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ควรได้ทำการศึกษาแนวทางในการใช้ “ปืนลูกซอง” ในการต่อต้านโดรนที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและอธิปไตยของชาติ ทั้งวิธีการใช้ “ปืนลูกซอง” ในการต่อต้านโดรน โดยเฉพาะการพัฒนากระสุนปืนลูกซองที่เหมาะสมต่อการทำลานโดรนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและให้ประสิทธิผลมากที่สุด รวมทั้งอุปกรณ์ต่อต้านโดรนอื่น ๆ อาทิ ปืนเล็กกลสำหรับยิงโดรนขนาด .22 ซึ่งราคากระสุนจะถูกกว่ากระสุนขนาดมาตรฐานของกองทัพ และยิงได้ไกลกว่าปืนลูกซอง ฯลฯ โดยผู้เขียนยินดีให้ความรู้และคำแนะนำแก่หน่วยงานทุกหน่วยที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อนำไปใช้ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติต่อไป

ปฏิบัติการเรือดำน้ำสัมพันธมิตรอังกฤษ - อเมริกัน ในน่านน้ำไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ในเวลานี้ เรือดำน้ำของไทยยังเป็นประเด็นที่มีการถกกันอยู่ จึงขอเล่าถึงประวัติศาสตร์และเรื่องราวเกี่ยวกับปฏิบัติการของเรือดำน้ำสัมพันธมิตรในน่านน้ำไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นภัยคุกคามจากเรือดำน้ำข้าศึกซึ่งไทยได้ประสบพบเจอในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 โดยสังเขปดังนี้

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2485 เป็นวันที่ประเทศไทยถูกรุกรานโดยเรือ ดำน้ำเป็นครั้งแรก เรือดำน้ำอเมริกัน ชื่อ เทรชเชอร์ (USS Theresher: SS200) (ลำแรก) ได้วางทุ่นระเบิดแม่เหล็ก Mk. 12 จำนวน 32 ลูก ในบริเวณเกาะล้าน ซึ่งเป็นสนามทุ่นระเบิดที่วางด้วยเรือดำน้ำสนามแรกในสงครามมหาเอเชียบูรพา เรือลำเลียงญี่ปุ่นชื่อ ซิดนีย์มารู (Sydney Maru) บรรทุกข้าวสารที่เกาะสีชังเพื่อเดินทางไปสิงคโปร์ ได้ถูกทุ่นระเบิดสนามนี้ในวันที่ 16 ตุลาคม (วันรุ่งขึ้น) ที่บริเวณท้ายเรือและกลางลำต้องจูงไปเกยตื้นที่เกาะไผ่ กองทัพเรือได้จัด ร.ล.จวง ลำแรกไปกวาดทุ่นระเบิดสนามนี้แต่ไม่ได้ผล ในวันเดียวกับที่เรือดำน้ำเทรชเชอร์วางทุ่นระเบิดที่เกาะล้านนั้น เรือดำน้ำอเมริกัน การ์ (USS Gar : SS-206) ก็วางทุ่นระเบิดแบบเดียวกันอีก 32 ลูก ทางใต้เกาะคราม ร.ล.รัตนโกสินทร์ ได้ถูกทุ่นระเบิดสนามในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 เรือชำรุดแต่แล่นเข้าอ่าวสัตหีบได้

ในระหว่าง พ.ศ. 2487 - 2488 เรือดำน้ำพันธมิตร คือ อังกฤษและอเมริกาได้เข้ามาปฏิบัติคุกคามการเดินเรือในน่านไทย หลายครั้ง โดยเรือดำน้ำอังกฤษปฏิบัติการทางด้านทะเลอันดามันและในอ่าวไทย ส่วนเรือดำน้ำอเมริกาปฏิบัติการในอ่าวไทย ทางด้านฝั่งทะเลอันดามัน อังกฤษได้ใช้เรือดำน้ำแบบ S (ระวางขับน้ำเหนือน้ำ 830 ตัน ความเร็ว 14 นอต มีปืนใหญ่ 3 นิ้ว 1 กระบอก ตอร์ปิโดขนาด 53 ซม. 7 ท่อ) และเรือดำน้ำแบบ T (ระวางขับน้ำเหนือน้ำ 1,300 ตัน ความเร็ว 15.5 นอต มีปืนใหญ่ 4 นิ้ว 1 กระบอก ตอร์ปิโดขนาด 53 ซม. 11 ท่อ) ปฏิบัติการจากฐานทัพที่ทริงโคมาลีในลังกา รายการสำคัญ ๆ ที่ควรกล่าวถึงคือ ได้วางทุ่นระเบิดทั้งชนิดทอดประจำที่และชนิดแม่เหล็กที่บริเวณเกาะตะรุเตา บริเวณนอกฝั่งสตูล บริเวณใกล้เกาะลันตา และนอกแหลมปากพระ ภูเก็ต ได้ยิงและชนเรือสินค้าและเรือใบทั้งของญี่ปุ่นและไทยจมหลายลำ เช่น เรือบันไตมารู โฮเรมารู ซิกิมารู ของญี่ปุ่น เรือกลไฟถ่องโหของไทย เป็นต้น ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2487 ได้ยิงเรือยนต์จูงเรือฉลอมขนย้ายครอบครัวของพันตำรวจตรี ขีด ศิริศักดิ์ ผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดพังงา จมที่บริเวณแหลมนาค ห่างฝั่งประมาณ 2 กม. พันตำรวจตรี ขีด ฯ ได้รับบาดเจ็บ ตำรวจตาย 1 คน หายไป 3 คน ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2487 เรือดำน้ำ HMS Trenchant (เรือดำน้ำแบบ T) ของอังกฤษได้บรรทุกตอร์ปิโดคนและมนุษย์กบมาทำลายเรือสินค้าอิตาลีสองลำในอ่าวภูเก็ต เรือสองลำนี้ได้จมตัวเองเมื่อเกิดสงคราม ญี่ปุ่นกำลังกู้ขึ้นเพื่อจะนำไปใช้และถูกมนุษย์กบของอังกฤษเข้าทำลายจนจมอีกครั้งหนึ่ง

ทางด้านอ่าวไทย อังกฤษใช้เรือดำน้ำแบบ T ซึ่งมีฐานทัพที่เมืองฟรีแมนเติล ในออสเตรเลีย อเมริกาใช้เรือดำน้ำแบบ Balao หรือ Fleet Type (ระวางขับน้ำเหนือน้ำ 1,525 ตัน ความเร็วสูงสุดเหนือน้ำ 20 นอต มีปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว 1 กระบอก ตอร์ปิโด ขนาด 53 ซม. 10 ท่อ) บริเวณที่เข้ามาปฏิบัติการคือ ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยหน้าอ่าวระยองทางฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย ตั้งแต่ใต้ประจวบคีรีขันธ์ลงไปจนถึงตรังกานู ได้ยิงเรือลำเลียงและเรือใบที่เดินชายฝั่งทั้งของไทยและของญี่ปุ่นจมหลายลำ ส่วนใหญ่ใช้ปืนใหญ่ประจำเรือยิงทำลาย ที่ใช้ตอร์ปิโดก็มีบ้าง อาทิ

วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำอเมริกัน USS Sealion II (SS-315) ยิง ร.ล.สมุย (ลำแรก) ด้วยตอร์ปิโดจมที่ฝั่งตรังกานู วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำ 4 ลำโผล่ขึ้นยิงเรือลำเลียงญี่ปุ่น 9 ลำนอกฝั่งอำเภอปะนาเระ ปัตตานี ทั้ง ๆ ที่มีเครื่องบินคุ้มกัน 3 เครื่อง เรือลำเลียงถูกยิงจมและไฟไหม้ 5 ลำ ตอร์ปิโดของเรือดำน้ำที่ผิดเป้าเกยฝั่งหาดทรายบ้านท่าสูง 1 ลูก วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำ USS Baya เข้าร่วมกับเรือดำน้ำ USS Lagarto ในอ่าวไทย คืนถัดมาเรือดำน้ำ USS Baya เริ่มติดตามขบวนเรือของญี่ปุ่นที่ประกอบด้วยเรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำและเรือคุ้มกัน 2 คน เรือดำน้ำ USS Baya เคลื่อนตัวเข้าสู่ตำแหน่งและทำการโจมตี แต่การโจมตีไม่ประสบผลสำเร็จ เรือคุ้มกันของญี่ปุ่นจึงไล่ตาม แต่ USS Baya หนีไปได้อย่างรวดเร็ว วันรุ่งขึ้น USS Baya นัดพบกับ  USS Lagarto เพื่อวางแผนการโจมตีร่วมขบวนเรือของญี่ปุ่นในอ่าวสยาม แต่ขบวนคุ้มกันระวังตัวแจ จึงไม่สามารถโจมตีได้ เช้าวันรุ่งขึ้น เรือดำน้ำ  USS Lagarto พยายามโจมตีขบวนเรือจากตำแหน่ง 22 ไมล์ทะเล (22 กม.) ห่างจาก USS Baya หลังจากนั้น USS Baya พยายามติดต่อ USS Lagarto แต่ไม่มีการตอบรับ และหลังจากนั้นก็ติดต่อไม่ได้อีกเลย เรือดำน้ำของสหรัฐฯ ลำนี้ได้หายสาบสูญไปนับแต่นั้น

การตรวจสอบบันทึกของญี่ปุ่นหลังสงครามเผยข้อมูลที่บ่งชี้ถึงสาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุดที่ USS Lagarto หายไป สาเหตุที่ว่านั้นก็คือ หนึ่งในสองเรือคุ้มกันของญี่ปุ่น คือเรือฮัตสึตากะ (Hatsutaka) ทำการโจมตีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมทำให้เรือดำน้ำอเมริกันจมอยู่ใต้น้ำลึก 30 ฟาทอม (180 ฟุต หรือ 55 ม.) ที่ 7°55′N 102°00′E หรือบริเวณน่านน้ำของจังหวัดสงขลา ส่วนเรือวางทุ่นระเบิดญี่ปุ่นฮัตสึตากะ ต่อมาถูเรือดำน้ำ USS Hawkbill ของสหรัฐฯ ยิงจมลงเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ในอ่าวไทย บริเวณนอกชายฝั่งมาเลเซีย ในรัฐตรังกานู ซึ่งในเวลานั้นตรังกานูเป็นหนึ่งใน "สี่รัฐมาลัย" คือ รัฐกลันตัน, ตรังกานู, ไทรบุรี และปะลิส ของมาเลเซีย ที่ญี่ปุ่นยกให้ไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ไทยได้มอบสี่รัฐมาลัยคืนให้กับฝ่ายทหารอังกฤษ เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2488 หรือหลังจากญี่ปุ่นลงนามยอมแพ้สงครามได้ไม่ถึงหนึ่งเดือน)

วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำยิงเรือไทยนาวา 3 ของบริษัทไทยเดินเรือทะเลจมที่บริเวณหน้าอ่าวชุมพร ร้อยโท กมเลศ จันทร์เรือง นายทหารติดต่อกองพลที่ 6 ที่มากับเรือเสียชีวิต วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำอังกฤษ HMS Tradewind (เรือดำน้ำแบบ T) ยิงเรือยนต์สหประมง 5 และเรือใบที่มาจากตรังกานูจมที่บริเวณเกาะทะลุ บางเบิด มีคนตาย 6 คน และได้จับนายเดช ประกิตตเดช ไปเป็นเชลยร่วมกับนายเพียง แซ่เจียว ซึ่งถูกสะเก็ดกระสุนบาดเจ็บสาหัส ทั้งสองคนถูกคุมขังอยู่ในออสเตรเลียจนสงครามยุติลงจึงถูกส่งกลับประเทศไทย ในวันสุดท้ายของสงครามคือ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เรือดำน้ำอเมริกาได้ยิงเรือประมงชื่อ “ปวยเอง” จมที่บริเวณทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะจวง เรือลำนี้เป็นเรือของเอกชนที่กองทัพเรือเกณฑ์เช่ามากวาดทุ่นระเบิดแม่เหล็กและใช้งานอื่น ๆ ด้วย

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 กลุ่มนักดำน้ำส่วนตัวใต้ทะเลลึก นำโดยนักดำน้ำซากเรือชาวอังกฤษ เจมี แม็คคลาวด์ (Jamie MacLeod) ค้นพบซากเรือจมน้ำลึก 70 เมตร ในอ่าวไทย ซากเรือส่วนใหญ่ไม่บุบสลายและตั้งตรงอยู่บนพื้นมหาสมุทร พบรอยแตกขนาดใหญ่ในบริเวณหัวเรือ ซึ่งบ่งบอกว่าเรือดำน้ำลำนี้จมลงเพราะระเบิดน้ำลึก (Depth charge) ซึ่งน่าจะมาจากเรือฮัตสึตากะของญี่ปุ่นเป็นเรือวางทุ่นระเบิดพอดี "ระเบิดน้ำลึก" เป็นอาวุธสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ (ASW) มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายเรือดำน้ำโดยการทิ้งลงไปในน้ำใกล้เคียงและทำให้เกิดการระเบิด ส่งผลให้เป้าหมายได้รับแรงกระแทกแบบไฮดรอลิกที่ทรงพลังและทำลายล้างได้ ประจุความลึกส่วนใหญ่ใช้ประจุระเบิดสูงและสายชนวนที่ตั้งไว้เพื่อทำให้เกิดการระเบิด ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ที่ความลึกเฉพาะ ประจุความลึกสามารถทิ้งได้จากเรือ จากเครื่องบินลาดตระเวน และเฮลิคอปเตอร์

การจมลงของเรือดำน้ำ USS Lagarto แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระเบิดน้ำลึกที่ทิ้งจากเรือรบผิวน้ำ และแสดงว่าเรือผิวน้ำก็มีศักยภาพในการทำลายเรือดำน้ำที่ปฏิบัติการในอ่าวไทยได้ ในเวลานั้น กองทัพเรือไทยมีอาวุธปราบเรือดำน้ำอย่างเดียวคือ ลูกระเบิดลึกที่ซื้อมาจากญี่ปุ่นก่อนสงคราม และไม่มีเครื่องมือค้นหาเรือดำน้ำ เช่น โซนาร์หรือเครื่องฟังเสียงใต้น้ำเลย การค้นหาเรือดำน้ำใช้การตรวจการณ์ด้วยสายตาอย่างเดียว จึงไม่ได้ผล เพราะส่วนมากเรือดำน้ำจะดำอยู่ใต้น้ำในเวลากลางวัน จะโผล่ขึ้นมายิงทำลายเรืออื่น เมื่อเห็นว่าไม่มีเครื่องบินหรือเรือรบอยู่ใกล้ ๆ เรือดำน้ำของต่างชาติที่เข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเรือที่มีระวางขับน้ำเหนือน้ำประมาณ 1,500 ตัน ทั้งสิ้น ดังนั้นที่มีการกล่าวว่า เรือดำน้ำขนาดใหญ่ไม่สามารถปฏิบัติการในอ่าวไทยได้ จึงเป็นคำกล่าวที่ห่างไกลจากข้อเท็จจริงมาก

นายทหารเรือท่านหนึ่งที่ผู้เขียนรู้จักและนับถือคือ พล.ร.อ.ชัชวาลย์ อัมระปาล อดีต ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ ผู้บัญชาการกองเรือภาคที่ 2 และผู้บังคับการเรือหลวงปิ่นเกล้า ได้เคยเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งในการฝึกร่วมกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐฯ มีการฝึกซ้อมการปราบเรือดำน้ำ โดยฝ่ายสหรัฐฯ นำเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำใหญ่มากมาร่วมฝึกซ้อมด้วย โดยลอยลำให้หมู่เรือฝึกเห็นกันชนิดจะจะ เลย พอเริ่มการฝึก เรือดำน้ำก็ดำลงใต้น้ำ เพียงไม่กี่อึดใจโซนาร์ของหมู่เรือฝึกก็ไม่สามารถตรวจจับเรือดำน้ำลำนั้นได้อีกเลย ด้วยเทคนิคยุทธวิธีที่ทหารประจำเรือดำน้ำจะทราบและปฏิบัติได้เป็นอย่างดี เรือดำน้ำจึงเป็นอาวุธที่น่ากลัวมากสำหรับเรือผิวน้ำ สำหรับประเทศอาเซียนรอบบ้านเราเกือบทุกประเทศล้วนแต่มีเรือดำน้ำประจำการแล้ว ได้แก่ เวียดนาม 6 ลำ อินโดนีเซีย 4 ลำ มาเลเซีย 2 ลำ สิงคโปร์ 4 ลำ เมียนมา 2 ลำ โดยอินโดนีเซียยังอยู่ระหว่างการจัดหาเพิ่มอีก 5 ลำ และสิงคโปร์จัดหาเพิ่มอีก 4 ลำ

รู้จัก 'Surströmming' ปลาร้าสวีเดน หนึ่งในอาหารที่มีกลิ่นแรงที่สุดในโลก!!

ทุก ๆ ประเทศบนโลกใบนี้ ต่างก็มีการถนอมอาหารด้วยการหมักดองตามวัฒนธรรมของตัวเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นจากพืชผัก อาทิ ผักกาดดองของจีน กิมจิของเกาหลี ผลไม้ดองของหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งรวมทั้งเนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ แม้กระทั่งปลา เช่น ปลาเค็ม ปลาแห้ง ปลาร้า ฯลฯ ของบ้านเรา ในประเทศยุโรปเหนืออย่างสวีเดนก็มีการหมักดองปลาเพื่อเป็นการถนอมอาหารเช่นกัน

Surströmming (ซูร์สตรอมมิง) ซึ่งภาษาสวีเดนแปลว่า 'ปลาเฮอริงรสเปรี้ยว' ทำจากปลาเฮอริงทะเลบอลติกหมักเกลือเล็กน้อย Surströmming เป็นอาหารสวีเดนดั้งเดิมตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยปลาเฮอริงชนิดนี้แตกต่างไปจากปลาเฮอริงที่ผ่านการทอดหรือดอง ปลาเฮอริงทะเลบอลติกซึ่งในภาษาสวีเดนเรียกว่า Strömming จะมีขนาดเล็กกว่าปลาเฮอริงแอตแลนติกที่พบในทะเลเหนือ ตามธรรมเนียมแล้ว Strömming จะหมายถึงปลาเฮอริงที่จับได้ในน้ำกร่อยของทะเลบอลติกทางตอนเหนือของช่องแคบคาลมาร์ ปลาเฮอริงที่ใช้ในการทำ Surströmming จะถูกจับก่อนฤดูวางไข่ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม

ในระหว่างการผลิต Surströmming จะใช้เกลือในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเฮอริงดิบเน่าเสียในขณะที่ยังหมักไม่ได้ที่ โดยกระบวนการหมักใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนซึ่งจะทำให้ปลามีกลิ่นแรงเฉพาะตัวและรสเปรี้ยวเล็กน้อย กระป๋อง Surströmming ที่เปิดใหม่เป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกจัดว่ามีกลิ่นเหม็นที่สุดชนิดหนึ่งของโลก กลิ่นจะเหม็นแรงยิ่งว่าอาหารหมักประเภทปลา เช่น ฮองเงอโฮเอของเกาหลี คูซายะของญี่ปุ่น หรือฮาคาร์ลของไอซ์แลนด์ ด้วยกลิ่นที่เหม็นอย่างรุนแรงทำให้ Surströmming กลายเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่บรรดานักชิมต้องได้ลิ้มลอง

ในช่วงปลายทศวรรษปี 1940 ผู้ผลิต Surströmming ในสวีเดนได้ล็อบบี้ให้มีพระราชกฤษฎีกา Förordning เพื่อป้องกันไม่ให้ขายปลาหมักไม่สมบูรณ์ พระราชกฤษฎีกาที่ออกนั้นห้ามขายผลผลิตของปีปัจจุบันในสวีเดนก่อนวันพฤหัสบดีที่สามของเดือนสิงหาคม แม้ว่าปัจจุบันพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะไม่มีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม แต่ผู้ค้าปลีก Surströmming ยังคงกำหนดวัน "เปิดตัว" ของปลาที่จับได้ในปีนั้นตามที่เคยมีการกำหนดไว้ Surströmming ต่างจาก Anchovy (แอนโชวี่) ซึ่งทำปลาทะเลขนาดเล็กจำพวกปลากะตัก มักจะถูกนำมาหมักเค็มแล้วแช่ในน้ำมันมะกอกเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหารต่าง ๆ Anchovy มีรสชาติเค็มจัดและกลิ่นหอมเฉพาะตัว

ปลาหมักเป็นอาหารหลักดั้งเดิมของยุโรป การค้นพบทางโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการหมักปลามีอายุ 9,200 ปี และมีต้นกำเนิดมาจากทางใต้ของสวีเดนในปัจจุบัน ตัวอย่างล่าสุดได้แก่ การุม ซึ่งเป็นน้ำปลาหมักที่ทำโดยชาวกรีกและโรมันโบราณ และซอสวูสเตอร์เชอร์ ซึ่งมีปลาหมักผสมอยู่ด้วย การถนอมปลาโดยการหมักในน้ำเกลือเจือจางอาจพัฒนาขึ้นเมื่อการหมักยังมีราคาแพงจากต้นทุนของเกลือ แต่ในยุคปัจจุบัน ปลาจะถูกหมักในน้ำเกลือเข้มข้นก่อนเพื่อดึงเลือดออกมา จากนั้นหมักในน้ำเกลือเจือจางในถังก่อนจะบรรจุลงกระป๋อง

ขั้นตอนการบรรจุกระป๋องซึ่งนำมาใช้ในศตวรรษที่ 19 ทำให้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในร้านค้าและเก็บไว้ในบ้านได้ ในขณะที่ก่อนหน้านี้ ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการจัดเก็บในถังไม้ขนาดใหญ่และถังขนาดเล็กขนาด 1 ลิตร การบรรจุกระป๋องยังทำให้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางตอนใต้ของสวีเดนได้อีกด้วย โดยการหมักเกิดขึ้นผ่านการสลายตัวเองและเริ่มต้นจากเอนไซม์กรดแลกติกในกระดูกสันหลังของปลา ร่วมกับแบคทีเรีย กรดที่มีกลิ่นฉุนจะก่อตัวขึ้น เช่น กรดโพรพิโอนิก กรดบิวทิริก และกรดอะซิติก นอกจากนี้ยังมีการเกิดไฮโดรเจนซัลไฟด์ โดยเกลือจะเพิ่มแรงดันออสโมซิสของน้ำเกลือเหนือโซนที่แบคทีเรียที่ทำให้เกิดการเน่าสามารถเจริญเติบโตได้ และป้องกันการสลายตัวของโปรตีนเป็นโอลิโกเปปไทด์และกรดอะมิโนในทางกลับกัน สภาวะออสโมซิสทำให้แบคทีเรียฮาลาเนอโรเบียม เช่น H. praevalens เจริญเติบโตและย่อยสลายไกลโคเจนของปลาเป็นกรดอินทรีย์ ทำให้มีรสเปรี้ยว (เป็นกรด) ซึ่งจะถูกกระตุ้นหากสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ และความเข้มข้นของน้ำเกลือเหมาะสม อุณหภูมิต่ำในสวีเดนตอนเหนือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ส่งผลต่อลักษณะของผลิตภัณฑ์ในขั้นตอนสุดท้าย

Surströmming แต่ละกระป๋องด้านบนจะโป่งออกอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากก๊าซที่หมักหมมอยู่ภายในปลาเฮอริ่งจะถูกจับในเดือนเมษายนและพฤษภาคม เมื่อพวกมันอยู่ในสภาพที่ดีที่สุดและกำลังจะวางไข่ โดยที่ตัวยังไม่อ้วนโต ปลาจะถูกนำไปแช่ในน้ำเกลือเข้มข้นประมาณ 20 ชั่วโมงเพื่อดึงเลือดออกมา หลังจากนั้นจึงนำหัวและไส้ออก แล้วจึงนำปลาไปแช่ในน้ำเกลือที่เจือจางลง ถังจะถูกวางไว้ในห้องควบคุมอุณหภูมิที่อุณหภูมิ 15–20 °C (59–68 °F) การบรรจุกระป๋องจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมและต่อเนื่องไปอีก 5 สัปดาห์ ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายจะถูกจัดส่งไปยังผู้ค้าส่งก่อนกำหนดเวลาเปิดฤดูกาลจำหน่ายราว 10 วัน

ก่อนที่จะมีการพัฒนาวิธีการบรรจุกระป๋องสมัยใหม่ Surströmming จะถูกขายในถังไม้เพื่อบริโภคทันที เนื่องจากแม้แต่ถังขนาดเล็กก็อาจรั่วได้ การหมักดำเนินต่อไปในกระป๋อง ทำให้กระป๋องพองออกอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นสัญญาณของเชื้อโบทูลิซึมหรืออาหารเป็นพิษอื่น ๆ ในอาหารกระป๋องที่ไม่ได้ผ่านการหมัก แบคทีเรียฮาลาเนอโรเบียมเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการสุกในกระป๋อง แบคทีเรียเหล่านี้ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์และสารประกอบหลายชนิดที่ทำให้เกิดกลิ่นเฉพาะตัว ได้แก่ กลิ่นฉุน (กรดโพรพิโอนิก) ไข่เน่า (ไฮโดรเจนซัลไฟด์) เนยหืน (กรดบิวทิริก) และกลิ่นน้ำส้มสายชู (กรดอะซิติก) เนื่องมาจากก๊าซเหล่านี้ ในปี 2014 ระหว่างที่เกิดไฟไหม้ที่โกดังสินค้าในสวีเดน Surströmming หนึ่งพันกระป๋อเกิดระเบิดขึ้นภายในระยะเวลาหกชั่วโมง

Surströmming มีขายในร้านขายของชำทั่วประเทศสวีเดน ตามรายงานจากสถิติ Surströmming Academy ในปี 2009 ระบุว่า มีผู้คนราว 2 ล้านคนที่ทาน Surströmming ทุกปี การส่งออก Surströmming ของสวีเดนคิดเป็นเพียง 0.2% ของ Surströmming ที่ผลิตได้ทั้งหมด แม้ผู้คนมากมายไม่ชอบ Surströmming แต่ก็เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสวีเดนตอนเหนือมากกว่าในส่วนอื่นๆ ของประเทศ ในปี 2023 ซึ่งเป็นช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปริมาณปลาเฮอร์ริ่งบอลติกและปลาเฮอร์ริ่งอื่นๆ ที่ชาวประมงสวีเดนจับได้ลดลงอย่างมาก การประมงปลาเฮอร์ริ่งบอลติกถูกใช้ไม่ยั่งยืนมาตั้งแต่ยุคกลาง และการทำประมงมากเกินไปทำให้ประชากรปลาใกล้จะล่มสลาย ด้วยจำนวนการจับที่ต่ำเช่นนี้ ผู้ค้าปลีกจึงสามารถขายหมดสต็อกทั้งหมดภายในไม่กี่นาทีหลังจากการเปิดตัว Surströmming ประจำปี

Surströmming กับมันฝรั่งและหัวหอมบนขนมปังแบนสไตล์สวีเดนที่ทาเนย เสิร์ฟพร้อมนมหนึ่งแก้ว ชาวสวีเดนมักจะรับประทาน Surströmming หลังจากวันพฤหัสบดีที่สามของเดือนสิงหาคม ซึ่งเรียกว่า "วัน Surströmming" จนถึงต้นเดือนกันยายน เนื่องจากมีกลิ่นแรง จึงมักรับประทานกลางแจ้ง กระป๋องที่มีแรงดันมักจะถูกเปิดกลางแจ้งและห่างจากโต๊ะอาหาร โดยมักจะเจาะกระป๋องในขณะที่แช่อยู่ในถังน้ำ หรือหลังจากเคาะและเอียงกระป๋องขึ้น 45 องศา เพื่อป้องกันไม่ให้ก๊าซที่พุ่งออกมาจากน้ำเกลือรั่วออกมา Surströmming มีทั้งแบบไม่ได้ควักไส้และเอาเฉพาะหัวออก โดยปลาจะถูกควักไส้ก่อนรับประทาน และบางครั้งกระดูกสันหลังและบางครั้งก็ลอกหนังออก ไข่ปลาจะถูกรับประทานพร้อมกับปลา

เนื่องจาก Surströmming ทำมาจากปลาเฮอริ่งที่มาจากทะเลบอลติก ปัจจุบันจึงมีไดออกซินและ PCB ในปริมาณที่สูงกว่าที่สหภาพยุโรปอนุญาต สวีเดนได้รับข้อยกเว้นสำหรับกฎเหล่านี้ตั้งแต่ปี 2002 ถึงปี 2011 จากนั้นจึงยื่นขอต่ออายุข้อยกเว้น ผู้ผลิตกล่าวว่าหากใบสมัครถูกปฏิเสธ พวกเขาจะได้รับอนุญาตให้ใช้ปลาเฮอริงที่มีความยาวไม่เกิน 17 เซนติเมตร (6.7 นิ้ว) เท่านั้น เนื่องจากปลาเฮอริงมีปริมาณน้อยกว่า ซึ่งจะส่งผลต่อความพร้อมจำหน่ายของปลาเฮอริง หลังจากที่ Surströmming ได้รับการยอมรับว่าเป็นอาหารที่มีกลิ่นแรงที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ในปี 1981 เจ้าของบ้านชาวเยอรมันได้ขับไล่ผู้เช่าออกไปโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าหลังจากที่ผู้เช่าได้ราดน้ำเกลือ Surströmming ลงในช่องบันไดของอาคารอพาร์ตเมนต์ เมื่อเจ้าของบ้านถูกนำตัวขึ้นศาล ศาลได้ตัดสินว่าการยุติสัญญาเป็นเหตุเป็นผลหลังจากที่ฝ่ายเจ้าของบ้านได้แสดงหลักฐานโดยเปิดกระป๋องในห้องพิจารณาคดี ศาลได้สรุปว่าศาลได้ "โน้มน้าวตัวเองว่ากลิ่นปลาที่น่ารังเกียจนั้นเหม็นเกินกว่าที่ผู้เช่าร่วมในอาคารจะสามารถทนได้"

ในเดือนเมษายน 2006 สายการบินหลักหลายแห่ง (เช่น แอร์ฟรานซ์ บริติชแอร์เวย์ ฟินน์แอร์ และเคแอลเอ็ม) ห้ามนำ Surströmming ขึ้นเครื่องบิน โดยอ้างว่าปลากระป๋องอัดแรงดันอาจระเบิดได้ ต่อมาการขายปลาชนิดนี้ก็ถูกยกเลิกที่สนามบินสตอกโฮล์มอาร์ลันดา ผู้ที่เป็นผู้ผลิตปลาชนิดนี้กล่าวว่าการตัดสินใจของสายการบินนี้ "ขาดความรู้ด้านวัฒนธรรม" โดยอ้างว่าเป็น "ปลากระป๋องระเบิดได้เป็นเพียงตำนาน" เท่านั้น วันที่ 4 มิถุนายน 2005 พิพิธภัณฑ์ Surströmming แห่งแรกของโลกได้เปิดทำการในเมืองสเคปส์มาเลน ห่างจากเมืองเอิร์นเคิลด์สวิกซึ่งเป็นเมืองที่ปลายสุดทางเหนือของไฮโคสต์ ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 20 กม. (12 ไมล์) ชื่อของพิพิธภัณฑ์คือ "ฟิสเควิสเทต" (แปลว่า 'ค่ายปลา')

Kowloon Walled City อดีตสลัมที่ไร้ระเบียบแออัดและสกปรกที่สุดในโลก ก่อนจะกลายมาเป็นสวนสวยของฮ่องกง

เราท่านอาจนึกไปว่า 'ฮ่องกง' เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเต็มไปด้วยตึกระฟ้าทันสมัย ถนนในเมือง และผู้คนมีวิถีชีวิตที่ล้ำสมัย แต่ฮ่องกงก็มีด้านมืดเช่นเดียวกันกับเมืองอื่น ๆ ทั่วโลก บทความนี้จึงขอเล่าเรื่องราวของ Kowloon Walled City (KWC) หรือ 'เมืองกำแพงเกาลูน' ซึ่งเคยเป็นชุมชนที่ไร้ระเบียบ แออัด และสกปรกที่สุดในโลกของฮ่องกง

KWC ตั้งอยู่ในเขตเกาลูนของอดีตฮ่องกงของอังกฤษ KWC ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นป้อมปราการทางทหาร ของจักรพรรดิจีน และกลายเป็นดินแดนที่ถูกปกครอง โดยกฎหมายหลังจากที่ดินแดนใหม่ถูกเช่าโดยสหราชอาณาจักรในปี 1898 ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมากหลังจากญี่ปุ่นยึดครองฮ่องกงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งดึงดูดผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ที่หลบหนีสงครามกลางเมืองในจีนที่ปะทุขึ้นใหม่ จนทำให้มีประชากรราว 4-50,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่อย่างแออัดเบียดเสียดในพื้นที่ 6.4 เอเคอร์ หรือ 26,000 ตร.ม. หรือ ประมาณสนามฟุตบอลสี่สนาม ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดในโลก โดยมีความหนาแน่นของประชากรเกือบ 2 ล้านคนต่อตารางกิโลเมตร ลองนึกดูว่า หากมนุษย์ทุกคนเริ่มใช้ชีวิตอย่างอัดแน่นกันเท่ากับคนใน KWC จะเท่ากับพลโลกทั้ง 7.7 พันล้านคนสามารถอาศัยอยู่ในมลรัฐโรดไอแลนด์ของสหรัฐอเมริกาได้

KWC เมืองที่มีกำแพงล้อมรอบเป็นศูนย์กลางของกลุ่มอาชญากรและกลุ่มอาชญากรในพื้นที่ และมีอัตราการค้าประเวณี การพนัน การลักลอบขนของ และการใช้ยาเสพติดสูง ผลจากการขาดระเบียบและระบบกฎหมาย ผู้อยู่อาศัยและธุรกิจในเมืองจึงไม่มีกฎหมายเทศบัญญัติเข้ามาควบคุม เนื่องมาจากความไร้ระเบียบของ KWC ทำให้การค้าสินค้าต้องห้ามผิดกฎหมายเฟื่องฟูตั้งแต่ยาเสพติดไปจนถึงเนื้อสุนัข ในช่วงทศวรรษ 1950 ถึง 1970 KWC ถูกควบคุมโดยองค์กรที่เรียกว่า 'แก๊งสามก๊ก' อาทิ 14K และ Sun Yee On ตั้งแต่ช่วงปี 1950 เป็นต้นมา ทำให้มีอัตราการค้าประเวณี การพนัน และการใช้ยาเสพติดสูง จนแม้แต่ตำรวจฮ่องกงก็ยังเกรงกลัวที่จะเข้ามาในพื้นที่นี้ จนกลายเป็นสวรรค์สำหรับอาชญากร ตำรวจฮ่องกงจะกล้าเข้าไปเฉพาะเมื่อไปเป็นกลุ่มใหญ่เท่านั้น กระทั่งในปี 1973 และ 1974 ตำรวจฮ่องกงได้บุกเข้าจับกุมผู้ต้องสงสัยมากกว่า 3,500 ราย ส่งผลให้จับกุมผู้ต้องหาในคดีต่าง ๆ ได้กว่า 2,500 ราย และยึดยาเสพติดได้กว่า 1,800 กิโลกรัม (4,000 ปอนด์) อำนาจของแก๊งสามก๊กจึงเริ่มลดน้อยลง ด้วยการสนับสนุนจากประชาชน โดยเฉพาะจากผู้อยู่อาศัยที่อายุน้อย การบุกเข้าจับกุมอย่างต่อเนื่องทำให้การใช้ยาเสพติดและอาชญากรรมรุนแรงลดน้อยลงเรื่อย ๆ ในปี 1983 ผู้บัญชาการตำรวจประจำเขตได้ประกาศว่าอัตราการก่ออาชญากรรมในเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบอยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว

ด้านล่างของ KWC เต็มไปด้วยคลินิกแพทย์และทันตแพทย์ที่ดำเนินงานโดยไม่มีใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ ร้านอาหารเสิร์ฟอาหารที่ย่ำแย่มาก ๆ เช่น เนื้อสุนัข ไม่มีการใส่ใจเรื่องสุขอนามัยและการทำความสะอาดเลย ,uตรอกซอกซอยมากมายใน KWC ที่ทั้งมืดและสกปรกเชื่อมต่อห้องพักที่อยู่อาศัยที่อยู่ลึกเข้าไปในเขตที่มีกำแพงล้อมรอบ ท่อน้ำรั่วตลอดเวลา และผู้คนต่างทิ้งขยะบนระเบียงหรือตรอกซอกซอยด้านล่าง พื้นที่หนาแน่นมากและปิดกั้นแสงที่ส่องมาจากด้านบนเกือบทั้งหมด จนทำให้พื้นที่ด้านล่างมืดสนิท รัฐบาลฮ่องกงไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย KWC จึงเป็นเขตที่เป็นเสมือนเป็นเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ และทำให้สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วย นักเลง อันธพาล แมงดา และพ่อค้ายาเสพติด ผู้คนที่อยู่อาศัยใน KWC ใช้จ่ายเงินเฉลี่ย 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนสำหรับห้องขนาดเล็กเพียง 40 ตารางฟุต มีห้องเล็ก ๆ เช่นนี้หลายพันห้องอยู่ติดกันทอดยาวออกไปทั่วเขต KWC ที่มีกำแพงล้อมรอบ มีอาคารประมาณ 500 หลังที่สร้างขึ้นโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอย่างถูกกฎหมาย ชั้นต่าง ๆ จะถูกเพิ่มแบบสุ่มตามความต้องการจนกว่าอาคารจะถึงชั้นที่ 14 ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียและสุขาภิบาล 

แม้ว่า KWC จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อาชญากรรมมายาวนานแล้วก็ตาม แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมใด ๆ และใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ภายใน KWC มีโรงงานและธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จ และชาวเมืองบางส่วนได้รวมกลุ่มกันเพื่อจัดระเบียบและปรับปรุงชีวิตประจำวันในเมือง ความพยายามของรัฐบาลในปี 1963 ที่จะรื้อถอนอาคารบางหลังในมุมหนึ่งของเมืองทำให้เกิด 'คณะกรรมการต่อต้านการรื้อถอน' ซึ่งทำหน้าที่เป็นพื้นฐานของสมาคมไคฟง ทำให้องค์กรการกุศล สมาคมศาสนา และกลุ่มสวัสดิการอื่น ๆ ค่อย ๆ เข้ามาในเมือง ในขณะที่คลินิกและโรงเรียนก็ยังไม่ได้รับการควบคุม รัฐบาลฮ่องกงได้ให้บริการบางอย่าง เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา และกิจการไปรษณีย์

แม้ว่า KWC จะเต็มไปด้วยความน่ากลัว แต่ก็ยังมีลานด้านในซึ่งเป็นที่เดียวในระดับถนนที่ดวงอาทิตย์สามารถมองเห็นได้ KWC ตั้งอยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติ Kai Tak (สนามบินหลักของฮ่องกงในอดีต) เพียงครึ่งไมล์ จึงก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางเสียงอันเนื่องมาจากเครื่องบินบินผ่าน มีทฤษฎีว่า เมืองหยุดเติบโตหลังจากมีอาคารสูง 14 ชั้น เนื่องจากจะทำให้เครื่องบินชนอาคารเหล่านั้นได้ ชีวิตใน KWC นั้นคับแคบ สกปรก เสียงดัง และไม่เป็นมิตร แต่ผู้คนก็ยังคงดึงดูดให้เข้ามาในเมืองนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ 

คุณภาพชีวิตในเมือง โดยเฉพาะสภาพสุขาภิบาล ยังคงตามหลังเขตอื่น ๆ ของฮ่องกงยู่มาก แถลงการณ์ร่วมระหว่างจีนและอังกฤษในปี 1984 ได้วางรากฐานสำหรับการรื้อถอน KWC การตัดสินใจร่วมกันของรัฐบาลทั้งสองในการรื้อถอน KWC ได้รับการประกาศเมื่อวันที่ 14 มกราคม 1987 ในวันที่ 10 มีนาคม 1987 หลังจากมีการประกาศว่า KWC จะถูกเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ เลขาธิการฝ่ายบริหารของเขตจึงได้ร้องขออย่างเป็นทางการให้สภาเมืองเข้ามาดูแล KWC หลังจากการรื้อถอน เนื่องจากมีพื้นที่สีเขียวอื่น ๆ มากมายในพื้นที่ จึงมีความสงสัยถึงความจำเป็นในการมี 'สวนสาธารณะอีกแห่ง' จากมุมมองการวางแผนและการดำเนินการ แต่ที่สุดสภาเมืองก็ตกลงที่จะยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลฮ่องกงโดยมีเงื่อนไขว่า รัฐบาลฮ่องกงจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสวนสาธารณะ

รัฐบาลฮ่องกงได้จ่ายเงินชดเชยจำนวน 2.7 พันล้านเหรียญฮ่องกง (350 ล้านเหรียญสหรัฐ) ให้แก่ประชาชนและธุรกิจประมาณ 33,000 ราย ตามแผนที่คณะกรรมการพิเศษของสำนักงานที่อยู่อาศัยฮ่องกงได้วางแผนไว้ แม้ว่า ประชาชนบางส่วนจะไม่พอใจกับเงินชดเชยและถูกขับไล่โดยใช้กำลังระหว่างเดือนพฤศจิกายน 1991 ถึงกรกฎาคม 1992 ทำให้ KWC กลายเป็นสถานที่รกร้างว่างเปล่า และถูกใช้ถ่ายทำฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Crime Storyใน ปี 1993 หลังจากการวางแผนที่ใช้เวลา 4 เดือน การรื้อถอน KWC ก็เริ่มต้นในวันที่ 23 มีนาคม 1993 และเสร็จสิ้นในเดือนเมษายน 1994 งานก่อสร้างสวนสาธารณะ KWC เริ่มต้นในเดือนถัดมา 

โครงสร้างทางประวัติศาสตร์บางส่วนภายในสวนสาธารณะเดิมได้รับการอนุรักษ์และผนวกเข้ากับ 'Kowloon Walled City Park' สวนสาธารณะแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ติดกับ Carpenter Road Park มีขนาด 31,000 ตารางเมตร( 330,000 ตารางฟุต หรือ 7.7 เอเคอร์) สร้างเสร็จในเดือนสิงหาคม 1995 และส่งมอบให้กับสภาเมืองได้มีการเปิดอย่างเป็นทางการโดยผู้ว่าการเกาะฮ่องกง คริส แพตเทน ในวันที่ 22 ธันวาคม 1995 การก่อสร้างสวนสาธารณะนี้มีค่าใช้จ่ายรวม 76 ล้านเหรียญฮ่องกง การออกแบบของสวนสาธารณะนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากสวน Jiangnan ของราชวงศ์ชิงตอนต้น สวนสาธารณะแห่งนี้แบ่งภูมิทัศน์ออกเป็น 8 ส่วน โดยมี Yamen ที่ได้รับการบูรณะอย่างสมบูรณ์ เป็นจุดศูนย์กลาง ทางเดินและ ศาลาของสวนสาธารณะตั้งชื่อตามถนนและอาคารต่าง ๆ ของ KWC นอกจากนี้ สิ่งประดิษฐ์จาก KWC เช่น หินสลัก 5 ก้อน และบ่อน้ำเก่า 3 บ่อ ยังจัดแสดงอยู่ในสวนสาธารณะอีกด้วย สวนสาธารณะแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดยแผนกบริการสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับรางวัลอันทรงเกียรติจาก Central Society of Horticulture of Germany สำหรับการพัฒนาขึ้นใหม่ 

สวนสาธารณะ 'Kowloon Walled City Park' ประกอบด้วย:
- ทางเดินแห่งดอกไม้ทั้ง 8 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งตั้งชื่อตามพืชหรือดอกไม้ที่แตกต่างกัน
- สวนหมากรุกที่มี กระดานหมากรุกจีนขนาด 3x5 เมตร (9.8x16.4 ฟุต) จำนวน 4 กระดาน
- สวนนักษัตรจีนที่มีรูปปั้นหินรูปนักษัตรทั้ง 12 ของจีน
- สวน 4 ฤดู (จตุรัส Guangyin ตามชื่อพื้นที่เปิดโล่งขนาดเล็กใน KWC) เป็นสวนขนาด 300 ตารางเมตร (3,200 ตารางฟุต) ที่มีต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ของ 4 ฤดู
- Six Arts Terrace พื้นที่จัดงานแต่งงาน ขนาด 600 ตารางเมตร (6,500 ตารางฟุต) ที่มีสวนและศาลาไม้ไผ่
- ศาลากุยซิง ซึ่งรวมถึงประตูพระจันทร์ที่ล้อมรอบด้วยแผ่นหินสองแผ่น และหินกุยบี้ที่สูงตระหง่าน ซึ่งเป็นตัวแทนของการกลับคืนสู่จีนของฮ่องกง
- ศาลาชมวิวภูเขา เป็นอาคาร 2 ชั้น รูปทรงคล้ายเรือจอดเทียบท่า มองเห็นทัศนียภาพของสวนสาธารณะทั้งหมดได้อย่างชัดเจน
- ศาลาลุงซุน ยุกตง และศาลาลุงนัม
- ย่าเหมินและซากประตูทางทิศใต้

รู้จัก ‘Alcatraz’ คุกบนเกาะกลางอ่าวซานฟรานซิสโก ที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เตรียมใช้คุมขังนักโทษร้ายแรงอีกครั้ง

โลกใบนี้มีเรือนจำบนเกาะอยู่มากมายหลายแห่ง โดยเกาะเหล่านี้แยกตัวออกมาอยู่กลางทะเลตามธรรมชาติ จึงทำให้นักโทษไม่สามารถหลบหนีได้ The Rock สมญานามของเกาะ Alcatraz เกาะเล็ก ๆ กลางอ่าวซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เกาะนี้ในอดีตเคยเป็นสถานที่ตั้งประภาคาร ป้อมปราการของกองทัพสหรัฐฯ และยังเป็นเรือนจำสำหรับคุมขังนักโทษ แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเรือนจำแห่งนี้ รวมถึงเปิดให้เข้าชมพื้นที่ห้องขังจริง ๆ และจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้จริงของนักโทษ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2025 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้กล่าวว่า เขาจะสั่งการทำการปรับปรุงเรือนจำบนเกาะ Alcatraz เพื่อเปิดใช้งานใหม่ โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้สั่งให้มีการประเมินในทุกส่วนที่ยังไม่ได้รับการประเมินเพื่อกำหนดความต้องการและขั้นตอนต่อไปในการปรับปรุงเรือนจำรัฐบาลกลาง Alcatraz ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานเพื่อเป็นการฟื้นฟูสัญลักษณ์อันทรงพลังของกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย และความยุติธรรม ของสหรัฐฯและรัฐบาลกลางของประเทศอื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตร

เกาะแห่งนี้มีพืชพรรณเพียงเล็กน้อยและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกทะเลเมื่อได้รับการสำรวจในปี 1775 โดยร้อยโท Juan Manuel de Ayala ซึ่งตั้งชื่อเกาะนี้ว่า Isla de los Alcatraces ('เกาะแห่งนกกระทุง') ต่อมาในปี 1849 ถูกขายให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เกาะนี้ไม่เหมาะที่จะอยู่อาศัย เนื่องจากกระแสน้ำทะเล พืชผักที่มีปริมาณน้อยมาก และพื้นดินที่แห้งแล้ง เนื่องจากเกาะแห่งนี้ตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางอ่าวตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิเยือกแข็งและคลื่นลมแรง กองทัพสหรัฐฯ สร้างป้อมปราการบนเกาะ Alcatraz ขึ้นในปี 1850 มีการติดตั้งปืนใหญ่เพื่อป้องกันอ่าวจากการรุกรานจากศัตรูต่างชาติอันเนื่องมาจากการเติบโตของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิก

นอกจากนี้ยังใช้เพื่อปกป้องนคร San Francisco จากการบุกรุกในช่วงสงครามกลางเมือง ไม่นานหลังจากนั้นมันก็ได้รับการพิจารณาให้ใช้เป็นที่คุมขังนักโทษ มีการสร้างประภาคารแห่งแรก และต่อมามีการสร้างอาคารอื่น ๆ บนเกาะ และกองทหารประจำการชุดแรกได้ตั้งกองทหารรักษาการณ์ในปี 1859 ในปี 1861 เกาะนี้ถูกกำหนดให้เป็นที่กักขังบรรดาผู้กระทำความผิดทางทหาร ต่อมามีนักโทษรวมถึง ชาวอินเดียแดงเผ่านโฮปี 19 คน จากมลรัฐแอริโซนาซึ่งต่อต้านความพยายามของรัฐบาลที่จะกลืนกลายพวกเขา ในปี 1861 เกาะนี้ได้เป็นที่รองรับนักโทษจากสงครามกลางเมืองจากรัฐต่าง ๆ และผลพวงจากสงครามสเปน-อเมริกัน ในปี 1898 ทำให้จำนวนนักโทษเพิ่มขึ้นจาก 26 คน เป็น 450 คน และในปี 1900 กักขังทหารอเมริกันที่ต่อสู้ในฟิลิปปินส์แต่แปรพักตร์เข้าร่วมกับฝ่ายฟิลิปปินส์ ในปี 1907 เกาะนี้ถูกกำหนดให้เป็นสาขาแปซิฟิกของเรือนจำทหารสหรัฐอเมริกา จากนั้นในปี 1906 ได้เกิดแผ่นดินไหวในนครซานฟานซิสโก (ซึ่งทำลายเมืองนี้อย่างรุนแรง) บรรดานักโทษจึงถูกย้ายไปบนเกาะเพื่อความปลอดภัย ในปี 1912 มีการก่อสร้างคุกขนาดใหญ่ที่ใจกลางเกาะ และในปลายทศวรรษ 1920 อาคารสามชั้นนี้ก็เสร็จสมบูรณ์

กองทัพสหรัฐฯ เป็นดูแลผู้รับผิดชอบเกาะแห่งนี้มามากว่า 80 ปี จากปี 1850 จนถึงปี 1933 แล้วเกาะนี้ได้ย้ายไปอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงยุติธรรมเพื่อใช้เป็นที่คุมขังนักโทษ รัฐบาลกลางได้ใช้เป็นสถานที่กักขังที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงสุด โดยผู้ต้องขังปราศจากสิทธิพิเศษใด ๆ เพื่อจัดการกับบรรดานักโทษ และแสดงถึงประสิทธิภาพทางกฎหมายที่รัฐบาลต้องการลดคดีอาชญากรรมที่มีมากมาย ในช่วงปี 1920 และปี 1930 ตั้งแต่ปี 1934 ถึง 1963 เรือนจำแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นเรือนจำของรัฐบาลกลางสำหรับนักโทษพลเรือนที่อันตรายที่สุดบางคนนักโทษที่ มีชื่อเสียง ได้แก่ อัล คาโปน จอร์จ เคลลี และโรเบิร์ต สตรูด มนุษย์นกแห่งเกาะ Alcatraz ('Birdman of Alcatraz') ผู้ซึ่งเลี้ยงนกและทำการวิจัยเกี่ยวกับนกขณะอยู่ในเรือนจำ” แม้ว่าเรือนจำ Alcatraz จะสามารถขังนักโทษได้ 450 คนในห้องขังที่มีขนาดประมาณ 10 x 4.5 ฟุต (3 x 1.5 เมตร) แต่ความเป็นจริงแล้วในแต่ละครั้งจะมีการขังนักโทษโดยเฉลี่ยประมาณคือ 260-275 คน (จำนวนนักโทษนี้ยังไม่ถึงปริมาณที่รองรับได้สูงสุด 336 คน ซึ่งนับได้ว่าจำนวนนักโทษของเกาะมีสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของจำนวนนักโทษทั่วประเทศ) โดยที่นักโทษมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่านักโทษที่อื่น (ตัวอย่างเช่น นักโทษหนึ่งคนต่อหนึ่งห้องขัง) ซึ่งมีนักโทษหลายคนได้ขอย้ายไปอยู่ที่เรือนจำบนเกาะเกาะ Alcatraz ความพยายามในการหลบหนีจากเรือนจำบนเกาะแห่งนี้นั้นยากมาก ๆ แต่ก็มีผู้ต้องขังเพียงไม่กี่คนที่หลบหนีออกจากเกาะได้ แต่ที่สุดไม่รู้ว่าพวกเขารอดชีวิตจากกระแสน้ำเย็นในอ่าวได้หรือไม่ การหลบหนีจากเกาะแห่งนี้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Escape from Alcatraz (1979)

ในที่สุด ความยากลำบากในการขนน้ำจืดและของเสียออกจากเกาะได้ส่งผลทำให้เรือนจำบนเกาะ Alcatraz ก็ถูกปิดตัวลงในปี 1963 เนื่องจากขาดงบประมาณในการบริหารจัดการ ในเดือนมีนาคม 1964 กลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกันได้อ้างสิทธิ์บนเกาะนี้โดยอ้างถึงสนธิสัญญาปี 1868 อนุญาตให้ชาวอินเดียนจากเขตสงวนอ้างสิทธิ์ใน "ดินแดนของรัฐบาลที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย" อย่างไรก็ตาม พวกเขายึดครอง Alcatraz ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ในเดือนพฤศจิกายน 1969 นักเคลื่อนไหวชาวอินเดียนรวมถึงสมาชิกของขบวนการอินเดียนอเมริกันได้ทำการยึดครองเกาะนี้อีกครั้ง โดยเรียกร้องกรรมสิทธิ์ในเกาะและปฏิเสธที่จะออกไป จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐบาลกลางบังคับให้ออกไปในเดือนมิถุนายน 1971 และเกาะ Alcatraz ก็ถูกโอนย้ายไปอยู่ในการดูแลของสำนักอุทยานแห่งชาติในปี 1972 หลังจากนั้นจึงมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ แล้วเปลี่ยนสภาพจากเรือนจำไปเป็นพิพิธภัณฑ์ และเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้อนรับผู้เข้าชมประมาณ 1.2 ล้านคนต่อปีมาจนถึงปัจจุบัน เกาะ Alcatraz อยู่ในเขตพื้นที่สันทนาการแห่งชาติโกลเดนเกต (Golden Gate National Recreation Area) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งตะวันตกรอบ ๆ ปากอ่าวซานฟรานซิสโกกว่า 82,116 เอเคอร์ เกาะ Alcatraz ซึ่งเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ นักท่องเที่ยวสามารถไปเยี่ยมชมได้โดยขึ้นเรือเฟอร์รี่ที่ท่าเรือ Pier 33 จากชายฝั่งนครซานฟรานซิสโก ใช้เวลาเดินทาง 4 กิโลเมตรไปยังเกาะประมาณ 20-30 นาที นอกจากนี้ เกาะ Alcatraz ยังเป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่อง และยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในปี 1986 อีกด้วย

‘Song Wencong’ วิศวกรผู้ออกแบบ และสร้างเครื่องบินขับไล่แบบ ‘J – 10’ ราคา 30 ล้านเหรียญ สามารถยิงเครื่องบินขับไล่ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ตกได้

(11 พ.ค. 68) เป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลกเมื่อเครื่องบินขับไล่แบบ J-10C ที่มีราคา 30 ล้านเหรียญสหรัฐที่ผลิตโดยจีนของกองทัพอากาศปากีสถานสามารถยิงเครื่องบินขับไล่แบบ Rafale ราคา 200 ล้านเหรียญสหรัฐที่ผลิตโดยฝรั่งเศสของกองทัพอากาศอินเดียตก ผลลัพธ์ของการรบทางอากาศระหว่างอินเดียและปากีสถานสร้างความตกตะลึงให้กับโลก และเครื่องบินขับไล่ J-10 ก็ได้เปิดฉากช่วงเวลาสำคัญนี้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการกว่าจะมาถึงการสร้างเครื่องบินขับไล่แบบ J-10 เป็นความยากลำบากที่มีเพียงไม่กี่คนที่ยังจำได้ เริ่มต้นในปี 1956 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานเหมาเจอตงได้เรียกร้องครั้งสำคัญให้จีน “เดินหน้าสู่วิทยาศาสตร์” โดยเลือกเส้นทางของการพึ่งพาตนเองและการพัฒนาที่เป็นอิสระ โดยจีนยุคใหม่ได้นำพาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าสู่การพัฒนาประเทศ

ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1964 ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างจีนและสหภาพโซเวียต บุคลากรด้านการบินของจีนใหม่เริ่มพัฒนาเครื่องบินขับไล่ตามแนวคิดของประธานเหมาฯ ที่ว่า "พึ่งพาตนเองเป็นหลัก" และภารกิจพัฒนาเครื่องบินขับไล่ J-8 และ J-9 ได้รับการเสนอและดำเนินการโดยสถาบัน 601 และหน่วยงานอื่น ๆ ในเมืองเสิ่นหยางตามลำดับ เครื่องบินขับไล่ J-7 ลำก่อนหน้านี้ที่จีนผลิตนั้นเป็นเพียงสำเนาของเครื่องบินขับไล่ไอพ่นรุ่นที่ 2 ของอดีตสหภาพโซเวียตซึ่งก็คือเครื่องบินขับไล่ MiG-21 ตามแผนเดิม J-8 ถือเป็นเครื่องบินขับไล่ MiG-21 สองเครื่องยนต์รุ่นขยายใหญ่ขึ้น ในขณะที่ J-9 ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในด้านตัวบ่งชี้การออกแบบและแผนงานเมื่อเทียบกับ J-8 และได้ก้าวไปถึงระดับเครื่องบินขับไล่ไอพ่นรุ่นที่ 3 ของโลกในขณะนั้นแล้ว

ในปี 1970 จีนตัดสินใจเร่งพัฒนาเครื่องบินขับไล่ J-9 เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากทางเหนือ ในปีเดียวกัน Song Wencong ซึ่งเคยเป็นวิศวกรอากาศยานในสงครามเกาหลี ได้ย้ายจากเมืองเสิ่นหยางไปยังนครเฉิงตูพร้อมกับนักออกแบบเครื่องบินกว่า 300 คน ด้วยความฝันที่จะพัฒนาเครื่องบินขับไล่ ในเวลานั้น พวกเขามีชื่อรหัสเพียงว่า “สถาบัน 611” ซึ่งมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากคือการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ J-9 ที่สามารถแข่งขันกับเครื่องบินรบที่ทรงพลังที่สุดในโลกได้ นักออกแบบเหล่านี้ที่เพิ่งมาถึงนครเฉิงตูได้เริ่มต้นความฝันในการสร้างเครื่องบินขับไล่ขั้นสูงภายใต้เงื่อนไขทางวัสดุที่เรียบง่าย ในขณะที่พวกเขาต้องสร้างบ้านด้วยตัวเอง ปลูกข้าวและธัญญพืช และแม้กระทั่งต้องขนปุ๋ยคอกและใส่ปุ๋ยเอง

พวกเขาได้ออกแบบเครื่องบินขับไล่ J-9 ทีละขั้นตอนโดยจากแบบร่างเปล่า ภายใต้เงื่อนไขที่ยากลำบากดังกล่าว ทำให้ชุดแบบจำลองการออกแบบชุดแรกที่มีปีกหน้าสามเหลี่ยม (Canard) และเริ่มทำการทดสอบในอุโมงค์ลมความเร็วสูง ในปี 1974 หลังจากใช้งานและแก้ไขข้อบกพร่องมานานกว่า 5 ปี เครื่องยนต์ 910 (WS-6 ซึ่งเลิกผลิตไปแล้วในภายหลัง) ของ J-9 ในที่สุดก็แก้ปัญหาทางเทคนิคที่สำคัญได้ ทำความเร็วได้ 100% และเข้าสู่การทดสอบการทำงานความเร็วสูง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 1975 คณะกรรมการวางแผนของรัฐและสำนักงานอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศตกลงที่จะทดลองผลิต J-9 จำนวน 5 ลำ โดยต้องบินครั้งแรกในปี 1980 และเสร็จสิ้นในปี 1983 และอนุมัติในหลักการให้จัดสรรค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมอีก 400 ล้านหยวน (400 ล้านหยวนถือเป็นตัวเลขที่สูงลิบลิ่วในขณะนั้น)

ในช่วงต้นปี 1976 สถาบัน 611 ได้ปรับโครงร่างอากาศพลศาสตร์โดยรวมและพารามิเตอร์การออกแบบเพิ่มเติมตามประเภท J-9VI โดยปรับปรุง J-9VI-2 ให้มีช่องรับอากาศทั้งสองด้านเป็นระบบมัลติเวฟแบบปรับไบนารีแบบผสมการบีบอัด เครื่องบินติดตั้งเรดาร์แบบ 205 ที่มีระยะตรวจจับ 60-70 กิโลเมตรและระยะติดตาม 45-52 กิโลเมตร ปืนกล Gatling 30 มม. 6 ลำกล้อง ขีปนาวุธสกัดกั้น PL-4 4 ลูก ซึ่งแบ่งออกเป็นสองระบบการค้นหาที่แตกต่างกันได้แก่ (1) เรดาร์กึ่งแอคทีฟประเภท PL-4A ที่มีระยะสูงสุด 1B:F- เมตร และ (2) อินฟราเรดแบบพาสซีฟประเภท PL-4B ที่มีระยะที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 8 กิโลเมตร เครื่องบินติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน 6 ที่มีแรงขับสถิตท้ายเครื่องยนต์เต็มกำลัง 124 kN

J-9VI-2 มีรูปทรงทางอากาศพลศาสตร์ของ J-9VI-2 นั้นมีความคล้ายคลึงกับ J-10 มาก เพียงแต่ Canard เป็นแบบตายตัวและไม่คล่องตัวเท่า J-10 เท่านั้นเอง J-10C ก่อนหน้านี้ ผู้คนจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศต่างพากันปล่อยข่าวลือว่า J-10 นั้นได้ต้นแบบมาจาก Lavi ของอิสราเอล และ Gripen ของสวีเดน และ J-10 นั้นใช้เทคโนโลยีของอิสราเอล ซึ่งนั่นเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี หาก J-9 ไม่ถูกยกเลิก ก็จะกลายเป็นเครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์เดียวลำแรกของโลกที่มีเลย์เอาต์แบบ Canard ก่อน Gripen ของสวีเดนอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 1978 ตามคำแนะนำ โครงการ J-9 ถูกยกเลิกเนื่องจากการปรับเปลี่ยนโครงการของหน่วยพัฒนา และมีการจัดเก็บข้อมูลไว้ ในปี 1980 อันเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจแห่งชาติในขณะนั้น โครงการ J-9 จึงถูกยกเลิกโดยสิ้นเชิง

ในเดือนพฤศจิกายน 1979 ก่อนที่ J-9 จะถูกยกเลิกโดยสิ้นเชิง เครื่องยนต์ WS-6 ได้บรรลุการทำงานที่มั่นคงในระยะยาวที่ความเร็วสูง เมื่อโครงการ J-9 สิ้นสุดลงและนำเครื่องยนต์ Spey มาใช้ การพัฒนาเครื่องยนต์ WS-6 ที่เข้าคู่กันก็หยุดลงโดยสิ้นเชิงในเดือนกรกฎาคม 1983 และแผนการพัฒนาก็ถูกหยุดลงโดยสิ้นเชิงในช่วงต้นปี 1984 เรดาร์ขับไล่แบบ 205 ที่รองรับ J-9 ก็หยุดการพัฒนาเช่นกันในปี 1981 ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ PL-4 อยู่ในสถานะ "เฝ้าระวัง" เป็นเวลานานหลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบต้นแบบ หลังจากการทดสอบร่วมกันในช่วงปลายปี 1985 ก็หยุดการพัฒนา ก่อนที่ J-9 จะถูกยกเลิก

ในความเป็นจริงแล้ว J-9 ใช้เงินไปเพียง 20 ล้านเหรียญสหรัฐในการวิจัยและพัฒนาเท่านั้น แต่ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปและวัสดุใหม่ ๆ มากมายแล้ว มีการผลิตโมเดล ชิ้นส่วนทดสอบ และอุปกรณ์ทดสอบมากกว่า 500 ชิ้น และทดสอบอุโมงค์ลมความเร็วสูงและความเร็วต่ำ 12,000 ครั้ง รวมถึงทดสอบโครงสร้าง ความแข็งแรง ระบบ และวัสดุพิเศษ 258 ครั้ง มีการรวบรวมโปรแกรมคำนวณ 154 โปรแกรม วิเคราะห์การคำนวณมากกว่า 15,000 ชั่วโมง และแก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่สำคัญมากกว่า 20 ปัญหา น่าเสียดายที่ J-9 ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่การสะสมทางเทคนิคของ J-9 ได้กลายเป็นทรัพย์สินอันมีค่าสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีการบินของจีนในเวลาต่อมา ตัวอย่างเช่น การจัดวางแบบแคนาร์ดส่งผลกระทบต่อ J-10 และ J-20 อย่างมากมายในเวลาต่อมา มีการเก็บรักษาอุปกรณ์ทดสอบและทีมงานของ WS-6 ไว้ ซึ่งวางรากฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเครื่องยนต์ Kunlun ในเวลาต่อมา จึงเป็นการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับวางรากฐานการวิจัยและพัฒนาสำหรับการพัฒนาเรดาร์และอาวุธในเวลาต่อมา

หลายคนยังคงให้ร้าย J-9 ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ล้มเหลวจากการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ โดยกล่าวว่าการยุติการผลิต J-9 เป็นผลจากความทะเยอทะยานเกินไป แต่ความถูกผิดนั้นอยู่ในใจของผู้คน ข้อเท็จจริงสามารถให้ความรู้แก่ผู้คนได้ดีที่สุด ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 แนวคิดที่ว่า "การซื้อดีกว่าการผลิต" ได้รับความนิยม และกองทัพอากาศก็เริ่มสนใจ Mirage 2000 ของฝรั่งเศสและ F16 ของอเมริกา ในเวลานั้น ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาอยู่ในช่วงหวานชื่น และการจัดซื้อ F16 ดูเหมือนจะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาต้องการขาย F16 ที่ใช้เครื่องยนต์ด้วยที่ล้าสมัย และราคาซื้อขายที่ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่สหรัฐฯ จะขาย F16 ให้กับจีนในราคา 35 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากกลางทศวรรษ 1980 ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโซเวียตและสหรัฐอเมริกากับโซเวียตเริ่มคลี่คลายและดีขึ้นทีละน้อย และสหรัฐอเมริกาก็สูญเสียความต้องการเชิงยุทธศาสตร์ในการ "เป็นพันธมิตรกับจีนเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต" ช่วงเวลาหวานชื่นระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาจึงสิ้นสุดลง และในที่สุด แผนการจัดหา F16 ก็พังทลายลง

ในที่สุด ความฝันที่จะการแปลงโฉม J-8 ในที่สุดก็เริ่มต้นขึ้น เดือนมกราคม 1986 คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการป้องกันประเทศแห่งชาติได้ประกาศ “อนุมัติการพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 3 ของประเทศ เครื่องบินขับไล่แบบ J-10 ซึ่งมีชื่อรหัสว่า Project No. 10 โดย Song Wencong วิศวกรอากาศยานซึ่งอายุ 56 ปีในขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าผู้ออกแบบเครื่องบินขับไล่แบบ J-10 หลังจากความสำเร็จของ J-10 สื่อบางสำนักได้ทบทวนประวัติของ J-10 และมักกล่าวถึงว่าโครงการ J-10 ใหม่นั้น "ได้รับการลงทุนในช่วงเริ่มต้นประมาณ 500 ล้านหยวน" ไม่ชัดเจนว่า โครงการดังกล่าวได้รับเงินมากมายขนาดนั้นในช่วงเริ่มต้นหรือไม่ เมื่อ Song Wencong เริ่มต้นการทำงานกับทีมของเขา โดยเขายังคงใช้แนวทางดั้งเดิมที่สุดในการพัฒนาเครื่องบินขับไล่! ทีมของ Song Wencong ไม่มีแม้แต่คอมพิวเตอร์เพราะต้องรักษาข้อมูลไว้เป็นความลับอย่างเคร่งครัด นักออกแบบเครื่องบินของสาธารณรัฐใช้พัดลมที่ดังสนั่นไหวทำงานในโกดังที่มีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส สวมเสื้อกั๊กและกางเกงขาสั้น และวาดแบบร่างด้วยมือถึง 67,000 ภาพ! สำหรับทีมของ Song Wencong นอกจากจะมีปัญหาทางเทคนิคแล้ว ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดคือการขาดเงิน! เนื่องจากครอบครัวของเขาประสบปัญหาทางการเงิน Song Wencong จึงต้องขายบะหมี่ที่แผงขายของหลังเลิกงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ ในเมื่อหัวหน้านักออกแบบยังเป็นแบบนี้ สถานการณ์ที่บรรดานักวิจัยและพัฒนาคนอื่น ๆ เผชิญก็ยิ่งจินตนาการได้ยากยิ่งไปกว่านั้นอีก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าการไม่มีเงินและไม่มีเทคโนโลยีก็คือ Song Wencong กังวลอยู่เสมอว่า J-10 จะประสบชะตากรรมเดียวกับ J-9 ในปี 1989 จีนได้จัดคณะผู้แทนทางทหารชุดใหญ่เพื่อเยือนสหภาพโซเวียต และ Song Wencong ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมคณะผู้แทนด้วย หลังจากการเยี่ยมชมเครื่องบินขับไล่แบบ Su-27SK ซึ่งเครื่องบินรบล้ำสมัยของโซเวียตในขณะนั้นทำให้คณะผู้แทนจากจีนต้องตกตะลึง หลังจากกลับถึงจีน มีคนเสนอทันทีว่า "เมื่อเทียบกับJ-10 แล้ว Su-27 มีประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมกว่ามาก จึงควรเลิกผลิต J-10 แล้วประหยัดเงินเพื่อซื้อ Su-27 แทน น่าจะคุ้มทุนกว่า"

ผู้นำในยุคนั้นบางคนพูดตรง ๆ ว่าการพัฒนา J-10 คือความ "ต้องการปีนกำแพงเมืองจีนด้วยเงินเพียง 5 เซนต์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้"! แต่คนรุ่นเก่าในวงการการบินที่นำโดย Song Wencong นั้นมีจิตวิญญาณที่ไม่ยอมแพ้! ตลอด 18 ปีของการพัฒนา J-10 ที่ยากลำบาก นักออกบบและวิศวกรหลักหลายคนเสียชีวิตระหว่างทำงาน อาทิ Yang Baoshu ผู้จัดการทั่วไปของ Chengfei มีส่วนสนับสนุนอย่างมากในการพัฒนา J-10 แต่โชคร้ายที่ป่วยเป็นมะเร็งปอดและเสียชีวิตในวัย 60 ปี Su Dor รองหัวหน้าหน่วยบินทดสอบ J-10 ป่วยเป็นมะเร็งทวารหนักและอุจจาระเป็นเลือดวันละ 3-4 ครั้ง แต่เขายังคงยืนกรานที่จะทำงานจนเสียชีวิต Zhou Zhichuan หัวหน้าวิศวกรการบินทดสอบ อายุ 63 ปีแล้วในขณะนั้น แต่เขาอาศัยอยู่ในฐานบินทดสอบนาน 10 เดือน และเป็นหมดสติหลายครั้งระหว่างการทำงาน แต่สั่งอย่างเคร่งครัดให้แพทย์ที่เดินทางไปด้วย "อย่าบอกใคร" ในปี 1998 ซึ่งเป็นปีที่ J-10 ขึ้นบินเป็นครั้งแรก

รู้จัก ‘Muhammad Mahmood Alam’ ผู้ใช้เวลาไม่ถึงสองนาทียิงเครื่องบินรบอินเดียตก 5 ลำ

ข่าวการสู้รบระหว่างอินเดียและปากีสถานในขณะนี้เป็นที่จับตามองของชาวโลกเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทั้ง 2 ชาติต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ผลจากการปะทะในครั้งนี้อินเดียต้องสูญเสียเครื่องบินรบสมรรถนะสูงไปถึง 5 ลำ โดยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2025 กองทัพอากาศอินเดียได้ส่งเครื่องบินขับไล่แบบ Rafale พร้อมขีปนาวุธ SCALP และระเบิด AASM Hammer ออกปฏิบัติการในช่วงเช้าตรู่เพื่อโจมตีค่ายก่อการร้ายหลายแห่งในปากีสถาน ซึ่งปากีสถานระบุว่าได้ยิงเครื่องบินอินเดียตก 5 ลำที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีครั้งนี้ รวมถึงเครื่องบินขับไล่แบบ Rafale จำนวน 3 ลำ ก่อนหน้านี้ ปากีสถานได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของระบบป้องกันภัยทางอากาศที่สามารถต่อต้านระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ของเครื่องบินขับไล่แบบ Rafale ของอินเดียได้สำเร็จ ตามรายงานของ CNN เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสได้ยืนยันถึงการสูญเสียเครื่องบิน Rafale 1 ลำ และกำลังสืบสวนการสูญเสียในการรบเพิ่มเติม โดยปรากฏภาพของชิ้นส่วนเครื่องบิน Rafale หมายเลขประจำเครื่อง BS001 ของกองทัพอากาศอินเดียบนโซเชียลมีเดีย ปากีสถานระบุว่า เครื่องบินรบของอินเดียถูกยิงตกโดยขีปนาวุธนำวิถีด้วยเรดาห์ (อากาศสู่อากาศ) แบบ PL-15Es จากเครื่องบินขับไล่แบบ J-10CE (ซึ่งทั้งคู่ผลิตโดยจีน) ในเวลาต่อมา สำนักข่าวรอยเตอร์ได้อ้างว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ไม่เปิดเผยชื่อได้ยืนยันการยิงเครื่องบินรบอินเดียตกอย่างน้อย 2 ลำ (รวมถึงเครื่องบินขับไล่แบบ Rafale) โดยเครื่องบินขับไล่แบบ J-10CE ของปากีสถาน

อันที่จริงแล้ว กองทัพอากาศปากีสถานมีขีดความสามารถในการรบทางอากาศเหนือกว่ากองทัพอากาศอินเดียมานานแล้ว ตั้งแต่การรบทางอากาศในสงครามระหว่างอินเดียและปากีสถานในปี 1965 โดยสงครามครั้งนั้น กองทัพอากาศอินเดียสูญเสียเครื่องบินรบในราว 60-75 ลำ ขณะที่กองทัพอากาศปากีสถานสูญเสียเครื่องบินรบในราว 19-20 ลำ คิดเป็นอัตราส่วนความสูญเสียของอินเดีย-ปากีสถานที่ 3-3.5 ต่อ 1 ในยุคนั้นกองทัพอากาศอินเดียประจำการด้วยเครื่องบินรบจากอังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคมเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่กองทัพอากาศปากีสถานใช้เครื่องบินรบส่วนใหญ่จากสหรัฐอเมริกา อันได้แก่ เครื่องบินขับไล่แบบ F-86F Sabre และ F-104

หนึ่งในเสืออากาศที่มีชื่อเสียงที่สุดของกองทัพอากาศปากีสถาน ได้แก่ นาวาอากาศเอก(พิเศษ) Muhammad Mahmood Alam (6 กรกฎาคม 1935 – 18 มีนาคม 2013) เป็นที่รู้จักในชื่อ M.M. Alam หรือ มังกรน้อย (Little dragon) หรือ M.M. Sabre เป็นนักบินขับไล่และวีรบุรุษสงครามแห่งปากีสถาน เขาเป็นเสืออากาศที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากกองทัพอากาศปากีสถานว่าสามารถยิงเครื่องบินขับไล่แบบ Hawker Hunter ของอินเดียตกได้ 5 ลำในเวลาเพียงไม่ถึงสองนาทีในสงครามอินเดีย-ปากีสถานในปี 1965 M.M. Alam เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 1935 ในครอบครัวชาวเบงกอลมุสลิม เขาเกิดและเติบโตในนครกัลกัตตา เบงกอล จักรวรรดิอินเดียของอังกฤษในขณะนั้น เขาพูดภาษาเบงกอลได้คล่องเนื่องจากเป็นภาษาแม่ ด้วยมารดามีเชื้อสายเบงกอลและบิดามีเชื้อสายบิฮารี โดยอพยพมาจากปัตนาและต่อมาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดเบงกอล ต่อมาครอบครัวของเขาอพยพมาอพยพต่อไปยังดินแดนเบงกอลตะวันออก (ซึ่งต่อมากลายเป็นปากีสถานตะวันออกและบังกลาเทศในปัจจุบัน) หลังจากก่อตั้งปากีสถานในปี 1947 เขาจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในปากีสถานตะวันออก โดยสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของรัฐบาลในเมืองธากาในปี 1951 เขาเข้าร่วมกองทัพอากาศปากีสถานในปี 1952 โดยเข้าประจำการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1953 เนื่องจากเป็นพี่คนโตในบรรดาพี่น้อง 11 คน เขาจึงไม่ได้แต่งงานเนื่องจากต้องรับผิดชอบในการเลี้ยงดูครอบครัว น้องชายของเขาเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงในทางวิชาการที่หลากหลาย อาทิ M. Shaheed Alam นักเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น บอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา และ M. Sajjad Alam นักฟิสิกส์อนุภาคแห่งมหาวิทยาลัยออลบานี (SUNY) มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

วันที่ 7 กันยายน 1965 ในช่วงสงครามอินเดีย-ปากีสถาน M.M. Alam ประจำการอยู่กับฝูงบินที่ 11 ฐานทัพอากาศ Sargodha และทำการบินด้วยเครื่องบินขับไล่แบบ F-86F Sabre เขาประสบความสำเร็จในภารกิจสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่น่าจดจำที่สุดในประวัติศาสตร์การรบทางอากาศ โดยสามารถยิงเครื่องบินขับไล่แบบ Hawker Hunter ของกองทัพอากาศอินเดียตกเพียงลำพังได้ถึง 5 ลำภายในเวลาไม่ถึงสองนาที โดย 4 ลำใช้เวลาเพียง 30 วินาทีเท่านั้น โดยมีการกล่าวอ้างว่า ครั้งนั้นเขาสามารถยิงเครื่องบินรบ Hunter ตกถึง 7 ลำ แต่ 2 ลำในจำนวนนี้ถูกจัดว่า "น่าจะ" ถูกยิงตก (ซึ่งไม่มีการยืนยัน) โดยเขาเล่าว่าในขณะนั้น เขาได้บิน "หมุนตัว 270 องศาด้วยความเร็วประมาณ 12 องศาต่อวินาที และยิงเครื่องบินรบ Hunter ตกไป 4 ลำรวด และต่อมาอีก 1 ลำ" ผลงานอันน่าทึ่งนี้ทำให้เขาได้รับการยอมรับทั่วโลกและได้รับเกียรติอันหายากในการเป็น 'สุดยอดเสืออากาศในหนึ่งวัน' ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มอบให้กับนักบินขับไล่ที่สามารถยิงเครื่องบินของศัตรูตกได้ตั้งแต่ 5 ลำขึ้นไปในหนึ่งวัน ผลงานของเขาเป็นเครื่องพิสูจน์ทักษะ ความแม่นยำ และความกล้าหาญที่ไม่มีใครเทียบได้ภายใต้การโจมตี ตำนานของ M.M. Alam ยังคงสร้างแรงบันดาลใจอย่างมากมายให้กับชาวปากีสถาน และชื่อของเขายังได้รับการจารึกไว้ในปากีสถานผ่านเกียรติยศต่างๆ เช่น ถนน M. M. Alam ซึ่งเป็นถนนสายหลักในเมืองลาฮอร์ รัฐปัญจาบ ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ในสงครามปากีสถาน-อินเดียปี 1965 ในการสู้รบทางอากาศ เขาสามารถยิงเครื่องบินรบอินเดียตกได้ทั้งหมด 9 ลำ (และน่าจะยิงตกอีก 2 ลำ)

M.M. Alam เป็นนักบินขับไล่คนแรกของกองทัพอากาศปากีสถานที่ถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อหอเกียรติยศ (Hall of Fame) ของพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศปากีสถาน ในนครการาจี และได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษแห่งชาติของปากีสถาน รางวัล 'Sitara-e-Jurat' และเหรียญ BAR อีกด้วย ในปี 1967 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการฝูงเครื่องบินขับไล่แบบ Dassault Mirage III ฝูงบินแรกที่กองทัพอากาศปากีสถานจัดหา ในปี 1982 เขาเกษียณอายุราชการและย้ายไปอยู่ที่นครการาจี เขาปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดในช่วงบั้นปลายชีวิต ในบางครั้ง เขาจะรับเชิญให้ไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในปากีสถาน เขาสะสมหนังสือเป็นจำนวนมาก และอ่านหนังสือพิมพ์วันละหลายฉบับเพื่อติดตามข่าวสาร หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของปากีสถานระบุว่า "M.M. Alam เป็นชายที่เคารพตัวเองมาก เขาใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและนับถือตัวเองอย่างที่สุด เขาเป็นคนตรงไปตรงมาและเป็นกันเองกับเพื่อนที่เขาไว้ใจ" M.M. Alam เข้ารับการรักษาปัญหาทางเดินหายใจเป็นเวลา 18 เดือนที่โรงพยาบาล PNS Shifa ของฐานทัพเรือปากีสถานในนครการาจี และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2013 สิริอายุ 77 ปี มีการสวดภาวนาเพื่อไว้อาลัย ณ ฐานทัพอากาศ PAF Masroor ซึ่งเป็นที่ที่เขาประจำการใช้ในช่วงหลายปีที่สำคัญในอาชีพทหาร เขาถูกฝังที่สุสาน Shuhuda (ผู้พลีชีพ) ซึ่งตั้งอยู่ภายในฐานทัพอากาศ Masroor


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top