Friday, 26 April 2024
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่2

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงเสด็จสวรรคตอย่างสงบ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ แห่งราชวงศ์อังกฤษ เสด็จสวรรคตอย่างสงบที่ปราสาทบัลมอรัลในสก๊อตแลนด์ เมื่อตอนบ่ายของวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๕ พระชนม์พรรษา ๙๖ ปี ทรงครองราชย์สมบัตินานที่สุดของราชวงศ์อังกฤษ

บีบีซีได้ประกาศข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ตามเวลาในประเทศไทยเมื่อ หนึ่งนาฬิกา ๑๘ นาที ในคำแถลงของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ที่ตรัสว่า...

"การสวรรคตของสมเด็จพระมารดาอันเป็นที่รักยิ่งของข้าพเจ้าเป็นเวลาที่เศร้าโศกที่สุดสำหรับข้าพเจ้าและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เราไว้อาลัยกับการจากไปของพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและพระมารดาอันเป็นที่รักยิ่ง ข้าพเจ้ารู้ดีว่าการสวรรคตของพระองค์คงเป็นความรู้สึกของคนทั้งประเทศ ตลอดจนประเทศในเครือจักรภพและคนทั่วโลก"

ในคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมกล่าวว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ และพระราชินีจะประทับที่ปราสาทบัลมอรัลในตอนเย็นวันที่ ๘ กันยายนและจะเสด็จกลับกรุงลอนดอนในวันรุ่งขึ้น

ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ ๒ นั้น ได้มีรายงานข่าวของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษออกมาตามเวลาในอังกฤษประมาณบ่าย ห้าโมงเย็นของวันที่ ๘ กันยายน โดยคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ่งแฮมได้อ้างถึงความกังวลของคณะแพทย์ในพระพลานามัยของสมเด็จพระราชินีหลังจากการประเมินผลการตรวจในตอนเช้า จึงขอพระราชทานให้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะแพทย์

อย่างไรก็ดีในคำแถลงของสำนักพระราชวังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า The Queen is “confortable”. หรือสมเด็จพระราชินีทรงสบายดี

แม้ว่าในคำแถลงเพิ่มเติมอาจจะทำให้เห็นว่าสมเด็จพระราชินีไม่ได้ประชวรหนัก แต่ปรากฏการที่พระโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์เสด็จไปเฝ้าที่ปราสาทบัลมอรัลในสก๊อตแลนด์เมื่อเย็นวานนี้ก็ทำให้เกิดความห่วงใยในพระพลานามัยของประมุขของประเทศอังกฤษเช่นกัน

เจ้าชายชาร์ลส์และพระชายาและเจ้าหญิงแอนน์ได้ประทับอยู่ที่บัลมอรัลอยู่แล้ว แต่การเสด็จของเจ้าชายแอนดรูและเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดพระราชโอรสอีกสองพระองค์รวมทั้งพระนัดดาอีกสองพระองค์คือเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮรี่ ทำให้เห็นว่าการที่คณะแพทย์ขอให้สมเด็จพระราชินีอยู่ภายใต้การถวายการรักษานั้นอาจหมายถึงการเฝ้าระวังพระพลานามัยอย่างใกล้ชิด

รายงานข่าวของบีบีซีได้ตั้งข้อสังเกตในคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมครั้งนี้ว่า ค่อนข้างจะผิดแผกแตกต่างกับที่ผ่านมาเพราะมักจะเลี่ยงการพูดถึงพระสุขภาพของสมเด็จพระราชินีด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นเรื่องส่วนพระองค์ 

แด่แฟนตัวยง ชัยชนะแด่แฟนบอลอาร์เซนอลผู้จากไป ขอพระเจ้าโปรดคุ้มครององค์ราชินีสู่สวรรค์

จากเฟซบุ๊กเพจ Arsenal in Thailand อาร์เซนอลไทย ได้โพสต์ถึงชัยชนะของทีมปืนใหญ่ 'อาร์เซนอล' เหนือ 'เอฟซี ซูริค' ด้วยสกอร์ 2-1 แด่แฟนบอลอาร์เซนอลผู้หนึ่งที่ต้องจากไป ระบุว่า...

เป็นหนึ่งเกมที่นอกเหนือจากสามคะแนนที่ได้รับแล้ว วันนี้คงจะเป็นหนึ่งวันที่แฟนบอลหลายคนจดจำได้ไม่ลืม เมื่อ อาร์เซนอล เป็นหนึ่งในสโมสรที่ลงเล่นในช่วงเวลาแห่งการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่สอง แห่งสหราชอาณาจักรผู้ซึ่งเป็นที่รักของประชาชนชาวอังกฤษ และใครหลายคนในโลกด้วยพระชนมพรรษา 96 พรรษาและช่วงครึ่งหลังของเกมก่อนที่เกมจะเริ่มต้นขึ้น นักเตะและทีมงานอาร์เซนอลทุกคนมีการสวมปลอกแขนสีดำ และทั้งสองสโมร รวมถึงแฟนบอลในสนามต่างยืนไว้อาลัย (Minute’s Silence) ให้กับความสูญเสียครั้งนี้

หลังจบเกมนี้ อาร์เซนอล ยกเลิกการสัมภาษณ์ใด ๆ หลังเกมการแข่งขัน ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อเป็นการให้ไว้อาลัย และพรีเมียร์ ลีก กำลังอยู่ในช่วงของการประชุมว่าเกมฟุตบอลอังกฤษในช่วงสุดสัปดาห์นี้จะมีการยกเลิกเกมการแข่งขันหรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไป

วงการฟุตบอล กับราชวงศ์อังกฤษ มีความใกล้ชิดผูกพันกันระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นความผูกพันที่ยาวนาน ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่สองต่างทรงชื่นชอบฟุตบอลไม่น้อย ในวันที่อังกฤษคว้าแชมป์โลกในปี 1966 พระองค์คือผู้มอบถ้วย จูลล์ ริเมส์ ให้กับ บ๊อบบี้ มัวร์ กัปตันทีมชูขึ้นฟ้าในฐานะของแชมป์โลก สมัยแรกและยังคงเป็นสมัยเดียวของประเทศ

สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่สอง มีข่าวลือออกมาว่าพระองค์ทรงเป็นแฟนบอลของเวสต์แฮม ยูไนเต็ด หรือมิลล์วอลล์ แต่ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ 'อาร์เซนอล'

'กรณ์' เผย 4 เหตุการณ์ 'รับเสด็จ-เข้าเฝ้า' ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ยกเป็นความทรงจำอันลํ้าค่าอย่างมากในชีวิต

เมื่อ 9 ก.ย.65 นายกรณ์ จาติกวณิช ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก 'กรณ์ จาติกวณิช – Korn Chatikavanij' ระบุว่า...

#QueenElizabeth II กับ ความทรงจำอันล้ำค่าของผม

นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประชาคมโลกต่อการจากไปของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขอน้อมถวายความอาลัย และเป็นกำลังใจให้เพื่อนชาวสหราชอาณาจักรทุกคนครับ

ผมเองได้มีโอกาสรับเสด็จและเข้าเฝ้าอยู่ 4 ครั้งในแต่ละช่วงบทบาทที่แตกต่างกันไป 

ครั้งแรกตอนผมอายุ 8 ขวบ ผมอยู่โรงเรียนสมถวิล ซอยมหาดเล็กหลวง ตอนนั้นปี 2515 พระองค์ท่านเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พวกเราถือธงชาติไทย-อังกฤษ ยืนรับเสด็จพร้อมเพรียง เมื่อขบวนเสด็จเคลื่อนผ่าน ผมและเพื่อนๆ ต่างชะเง้อมองพระพักตร์ริมหน้าต่างรถพระที่นั่ง ใจจริงตอนนั้นผมชะเง้อมองหาในหลวงของเรา แต่ท่านประทับในรถอยู่คนละฝั่ง (ความรู้สึกของเด็กอย่างผมตอนนั้นคือเสียใจอยู่เหมือนกัน) แต่มุมนั้นทำให้ผมมองเห็นควีนเอลิซาเบธชัดเจนมาก พระองค์ท่านทรงพระสรวลและโบกพระหัตถ์ทักทายเด็กๆ อย่างเราตลอดเส้นทาง

ต่อมาตอนอายุ 11 ขวบ ผมมาเรียนอังกฤษใหม่ๆ เป็นช่วงพระราชพิธีเฉลิมฉลอง Silver Jubilee ก็ได้ไปรับเสด็จริมถนนอีกครั้ง ตื่นเต้นดังเดิม แต่คนเยอะมากไม่เห็นอะไรเลย

ครั้งที่ 3 ตอนอายุ 18 ในฐานะหัวหน้านักเรียน (Head Boy) ของโรงเรียน Winchester College ในช่วงพิธีฉลองครบรอบ 600 ปีของโรงเรียน ครั้งนั้นโรงเรียนแจ้งว่า ผมจะได้ร่วมโต๊ะเสวยกับพระองค์ท่าน ตื่นเต้นและดีใจมากกว่าทุกครั้ง

ก่อนเสด็จฯ ประมาณ 1 เดือน สำนักพระราชวังตรวจรายชื่อผู้ร่วมโต๊ะเสวย จากนั้นก็มีสายจากพระราชวังโทรตามหาตัวผมที่โรงเรียน ถามว่า ผมเป็นอะไรกับ Mr.Chatikavanij ที่เคยรับเสด็จเมื่อครั้งเยือนประเทศไทยปี 2515 ซึ่งท่านผู้นั้นคือคุณลุง ‘เกษม จาติกวณิช’ ผู้ก่อตั้งและผู้ว่าการไฟฟ้าฯ คนแรกของไทย ท่านได้รับเสด็จพระองค์ท่าน และพาเยี่ยมชมโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำตามโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่9 ของเรา 

เมื่อถึงวันงานพระองค์ท่านตรัสกับผมว่า 'when I was in Thailand, your uncle very kindly took care of me.' ถือเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวและวงศ์ตระกูลของเราอย่างมากครับ

ครั้งสุดท้าย ตอนนั้นอายุ 45 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ครั้งนั้นประเทศไทยของเราได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม G20 เป็นกรณีพิเศษเพื่อช่วยนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ผมและนายกฯ อภิสิทธิ์ได้เข้าเฝ้า ร่วมกับผู้นำประเทศและรัฐมนตรีคลังจากประเทศชั้นนำของโลก ในพระราชวัง Buckingham Palace 

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงปรากฏพระองค์ในฐานะกษัตริย์ของสหราชอาณาจักร พร้อมมีพระราชดำรัสแรกอย่างเป็นทางการต่อพสกนิกร

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์องค์ใหม่ของสหราชอาณาจักร ทรงมีพระราชดำรัสต่อพสกนิกรเป็นครั้งแรกหลังขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระมารดาผู้เสด็จสวรรคต

เอเอฟพีรายงานเมื่อวันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2565 กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเสด็จมาประทับที่พระราชวังบักกิงแฮมในกรุงลอนดอนเมื่อวันศุกร์ โดยได้พบปะทักทายพสกนิกรที่มาร่วมไว้อาลัยต่อการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

หลังจากนั้นในช่วงบ่าย พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงบันทึกเทปพระราชดำรัสแรกอย่างเป็นทางการในฐานะพระประมุของค์ใหม่ของสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ ที่ห้องวาดรูปสีน้ำเงิน (Blue Drawing Room) ของพระราชวังบักกิงแฮม

พระราชดำรัสซึ่งบันทึกไว้ล่วงหน้า ได้ออกอากาศทางโทรทัศน์ของสหราชอาณาจักร เมื่อเวลา 18:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (เที่ยงคืนวันเสาร์ ตามเวลาประเทศไทย) โดยมีใจความสรุปกล่าวว่า...

"วันนี้ข้าพเจ้าพูดกับทุกท่านด้วยความรู้สึกเศร้าโศกอย่างสุดซึ้ง ตลอดชีวิตของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ผู้เป็นมารดาอันเป็นที่รักของข้าพเจ้า ทรงเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างแก่ข้าพเจ้าและสมาชิกทุกคนในครอบครัวของข้าพเจ้า พวกเราติดหนี้พระคุณของพระองค์อย่างมหาศาล จากความรัก, ความเสน่หา, การสั่งสอน, ความเข้าใจ และแบบอย่างการดำรงชีวิตของพระองค์"

“ควีนเอลิซาเบธทรงดำเนินชีวิตอย่างดี และยึดมั่นในคำสัญญาเหมือนประหนึ่งชะตาที่ต้องรักษาไว้ พวกเราทุกคนเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการจากไปของพระองค์ และข้าพเจ้าจะอุทิศชีวิตเช่นเดียวกับพระมารดา เพื่อสานต่อคำสัญญาที่ให้ไว้กับพสกนิกรที่ว่า จักขอรับใช้ไปตลอดชีวิต"

"พวกเราได้รับรู้ว่า ไม่ใช่เพียงแค่พวกเราเท่านั้นที่เศร้าโศก แต่ยังมีผู้คนอีกมากมายในสหราชอาณาจักร, ทุกประเทศที่พระราชินีทรงเป็นพระประมุข, ในเครือจักรภพและทั่วโลก ที่เปี่ยมด้วยความรู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อระยะเวลากว่า 70 ปีที่พระมารดาของข้าพเจ้าดำรงพระองค์ในฐานะราชินีผู้รับใช้มวลชนจากหลากหลายชาติ"

"ความทุ่มเทในฐานะราชินีผู้ไม่เคยหวั่นไหว ผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้า ผ่านช่วงเวลาแห่งความสุขและการเฉลิมฉลอง และผ่านช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าและความสูญเสีย"

“ในชีวิตการรับใช้ของพระองค์ พวกเราได้เห็นการดำรงอยู่ของจารีตประเพณีควบคู่กับการยอมรับความก้าวหน้าด้วยความแน่วแน่ ซึ่งทำให้พวกเรายิ่งใหญ่ในฐานะประเทศชาติ อีกทั้งความรัก, ความชื่นชม และความเคารพในฐานะแรงบันดาลใจของสาธารณชน สิ่งเหล่านั้นคือจุดเด่นในรัชสมัยของพระองค์"

"ด้วยศรัทธาและค่านิยมที่เป็นดั่งแรงบันดาลใจ ข้าพเจ้าถูกเลี้ยงดูมาเพื่อทะนุถนอมความรับผิดชอบต่อผู้อื่น และเคารพในประเพณีอันล้ำค่า, เสรีภาพ, ความรับผิดชอบในประวัติศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศและระบบรัฐสภา ด้วยความเคารพอย่างสูงสุด"

"เช่นเดียวกับที่พระราชินีทรงยึดมั่นด้วยความจงรักภักดี บัดนี้ข้าพเจ้าก็สัญญากับตัวเองว่า ข้าพเจ้าจักรักษาหลักการตามรัฐธรรมนูญอันเป็นหัวใจของประเทศชาติไว้ตลอดเวลาที่เหลืออยู่อันพระเจ้าประทานแก่ข้าพเจ้า"

“และไม่ว่าทุกท่านจะอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร หรือในอาณาจักรและดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าภูมิหลังหรือความเชื่อของทุกท่านจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าจะพยายามรับใช้ด้วยความภักดี ด้วยความเคารพ และความรัก ดังที่ข้าพเจ้าได้รับการสั่งสอนมาตลอดชีวิต"

"นี่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงสำหรับครอบครัวของข้าพเจ้า เพื่อเป็นเกียรติแก่คามิลลาผู้เป็นภริยาที่เคียงข้างและรับใช้สาธารณะอย่างซื่อสัตย์มาตั้งแต่การอภิเษกของเราเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ข้าพเจ้าไว้วางใจในความรักของเธอ และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ต่อจากนี้ภริยาผู้เป็นที่รักจะต้องรับภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงในการช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งพาให้กับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอขอบคุณล่วงหน้ากับการอุทิศตนอย่างมั่นคงต่อหน้าที่ของเธอ"

กลุ่มล้มเจ้าใน UK ร่วมอาลัย - งดรณรงค์ต่อต้านชั่วคราว หลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต

กลุ่ม Republic ที่ต้องการเปลี่ยนการปกครองอังกฤษไปสู่ระบอบสาธารณรัฐร่วมไว้อาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 งดรณรงค์ล้มเจ้าไว้ก่อน ชี้ต้องเคารพชีวิตส่วนตัวของราชวงศ์

เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากมีข่าวเกี่ยวกับพระอาการประชวรอย่างหนักของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ทางกลุ่ม Republic ซึ่งมีเป้าหมายการเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกระบอบกษัตริย์และเปลี่ยนการปกครองอังกฤษไปเป็นแบบสาธารณรัฐ ได้ทวิตข้อความทางทวิตเตอร์ Republic (@republicstaff) แสดงความห่วงใยต่อพระอาการประชวร โดยระบุว่า

“เป็นที่ชัดเจนว่าพระพลานามัยของพระราชินีน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ไม่ว่ามุมมองของพวกเราต่อสถาบันกษัตริย์จะเป็นอย่างไร แต่ในช่วงเวลาเช่นนี้เป็นเรื่องของชีวิตส่วนตัวมากๆ ในช่วงเวลาที่เหลือของวันนี้เราจะไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เพิ่มเติมอีก”
 

พระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร หลังเสด็จสวรรคต

พระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร หลังเสด็จสวรรคต

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ของอังกฤษได้มีหมายกำหนดการที่คาดว่าจะดำเนินการตามที่บีบีซีได้รายงาน โดยเริ่มจากวันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายนไปจนถึงวันที่ ๑๙ กันยายน ซึ่งจะเป็นวันฝังพระบรมศพที่โบสถ์เซนต์จอร์จในพระราชวังวินด์เซอร์

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบในพระราชพิธีทั้งหมด ผู้เขียนขอเริ่มจากปราสาทบัลมอรัลอันเป็นสถานที่สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๘ กันยายน โดยในวันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายนเวลา ๑๐ โมงเช้าจะมีการเคลื่อนพระศพโดยรถยนต์จากบัลมอรัลไปตามเส้นทางผ่านเมืองอาเบอดีน, ดันดี และเพิร์ธ เมื่อถึงเมืองปลายทางคือเอดินบะระแล้ว หีบพระบรมศพจะถูกอัญเชิญไปยังท้องพระโรงในพระราชวังฮอลีรูดเฮ้าส์ (The Palace of Holyroodhouse  ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางราว ๖ ชั่วโมง มีประชาชนมายืนไว้อาลัยตามสองข้างทางของเมืองที่ขบวนพระศพผ่านอย่างเป็นระเบียบ เจ้าฟ้าหญิงแอนน์และพระสวามีได้เสด็จมากับขบวนรถพระศพด้วย

พระราชพิธีที่เอดินบะระ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓, พระราชินีและพระราชวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินตามขบวนพระศพจากพระราชวังฮอลีรูดเฮ้าส์ไปยังมหาวิหาร St. Gile (เซนต์ จิลล์) เพื่อพิธีทางศาสนา หลังจากนั้นจะเปิดให้ประชาชนเข้าถวายความเคารพพระบรมศพเป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง

หมายกำหนดการจากนั้นในวันอังคารที่ ๑๓ เจ้าฟ้าหญิงแอนน์จะเสด็จพร้อมหีบพระศพทางเครื่องบินจากเอดินเบอระกลับสู่พระราชวังบัคกิ้งแฮมในกรุงลอนดอน

พระราชพิธีพระบรมศพอย่างเป็นทางการจะเริ่มขึ้นในวันพุธที่ ๑๔ กันยายนโดยพระราชวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินตามขบวนพระศพจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมไปยัง Westminster Hall เพื่อตั้งพระบรมศพเป็นเวลาสี่วันเพื่อเปิดให้ประชาชนเข้าไว้อาลัย

หีบพระบรมศพจะตั้งอยู่บนแท่นคลุมด้วยธงประจำพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่า Royal Standard บนหีบพระศพจะมีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ อันได้แก่ มงกุฎ ที่เรียกว่า Imperial State Crown, คทา และลูกโลกวางอยู่

คลื่นมหาชนชาวอังกฤษ 'แห่จองที่นั่ง-เฝ้ารอข้ามวัน' รับขบวนแห่พระบรมศพ 'ควีนเอลิซาเบธที่ 2' ตลอดเส้นทาง

ชาวอังกฤษนับแสนแห่จับจองที่นั่งตลอดเส้นทางขบวนแห่พระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แม้ต้องรอข้ามวัน เพื่อเก็บภาพแห่งประวัติศาสตร์ไว้ในความทรงจำได้อย่างใกล้ชิด

หลังจากที่มีการเคลื่อนพระบรมศพจากพระราชวังฮอลลิรูด สู่ มหาวิหารเซนต์ไจลส์ ในเมืองเอดินเบอระ ของสกอตแลนด์ ก็มีชาวอังกฤษมากมายมหาศาลมารอชมงานพิธีอย่างหนาแน่นตลอดเส้นทาง Royal Mile และยังมีประชาชนทั้งชาวอังกฤษ และ ชาวต่างชาติมากกว่า 20,000 คนต่อแถวเพื่อสักการะพระบรมศพ แม้จะรอนานแค่ไหนก็ตาม 

เอลิซาเบธ มบูไลเทเย ผู้ย้ายถิ่นมาจากอูกานดา เดินทางจากกลาสโกวมาต่อคิวกับลูกชาย ลูกสาวตั้งแต่เที่ยงวัน กว่าจะเข้ามาถึงสวนหน้ามหาวิหารเซนต์ไจลส์ได้ตอน 2 ทุ่ม บอกว่า แม่ของเธอเกิดปีเดียวกับ ควีน เอลิซาเบธที่ 2 และยังตั้งชื่อเธอตามสมเด็จพระราชินี ครอบครัวของเธอมีความผูกพันกับอังกฤษมาก ดังนั้นวันนี้จึงต้องมาร่วมงานให้ได้ 

อาห์เหม็ด ซากี, มูไทรา ทาน และ อนินดยา ฮัพซารี ทั้ง 3 เป็นนักศึกษาต่างชาติจากอินโดนิเซีย ที่เพิ่งมาเรียนระดับปริญญาโทในเมืองเอดินเบอระ กล่าวอย่างตื่นเต้นว่า "ไม่เคยนึกฝันว่าจะได้มีโอกาสร่วมงานนี้ และถือว่าเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิต" 

ฟิโอนา และ แมท ซิกสเวิร์ธ 2 สามีภรรยาวัย 35 ชาวอังกฤษ ที่เดินทางมาต่อคิวหลายชั่วโมงเพื่อสักการะพระบรมศพเปิดเผยว่า "ถึงแม้พวกเขาจะไม่ใช่ผู้ที่นิยมชมชอบเรื่องราวในราชวงศ์ แต่ก็นับถือควีน เอลิซาเบธ ในฐานะสตรีที่มีความพิเศษกว่าใคร โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจที่ทรงงานหนักเพื่อชาวอังกฤษมาตลอด 70 ปี ซึ่งพิธีในวันนี้มีความหมายอย่างมากในประวัติศาสตร์อังกฤษ"

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ที่มาเฝ้ารอชมขบวนพระบรมศพ และพิธีสักการะในเมืองเอดินเบอระ ของสกอตแลนด์เท่านั้น ก่อนที่จะอัญเชิญพระบรมศพกลับไปประดิษฐานที่มหาวิหารเวสต์มนิสเตอร์ ในกรุงลอนดอน ในวันถัดมา ซึ่งตอนนี้ก็มีชาวลอนดอนหลายหมื่นคนไปจับจองพื้นที่ตลอดเส้นทางที่ขบวนเคลื่อนพระบรมศพยาวเกือบ 10 กิโลเมตรแล้ว แม้จะต้องรอข้ามวันนานกว่า 30 ชั่วโมง
 

รัฐพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ การแสดงออกถึงความนับถือจากปวงชนชาวอังกฤษ

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

รัฐพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ของอังกฤษเริ่มขึ้นในวันพุธที่ ๑๔ กันยายนตามเวลาในกรุงลอนดอนคือ ๑๔.๒๒ น.

ขบวนเริ่มด้วยทหารรักษาพระองค์ที่เรียกว่า The Household Cavalry, The Grenadier และ Scots Guards ในเครื่องแบบเต็มยศงดงามนำขบวน ตามด้วยรถปืนใหญ่ที่มีแต่ล้อและรางสำหรับวางหีบพระบรมศพ หลังรถพระบรมศพ เป็นขบวนที่นำโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓, เจ้าหญิงแอนน์, เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เสด็จพระราชดำเนินตาม ในแถวถัดไปคือ เจ้าชายวิลเลียม, เจ้าชายแฮรี่ และพระราชวงศ์ใกล้ชิดพระองค์อื่น ๆ

นอกจากพระราชวงศ์แล้ว ในแถวถัดไปเป็นข้าราชบริพารที่สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระราชินีนาถ และข้าราชบริพารของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าชายมกุฎราชกุมารร่วมด้วย ขบวนพระบรมศพไม่ยาวนัก เพื่อให้ท่านเห็นภาพชัดเจน บนหีบพระบรมศพคลุมด้วยธงประจำพระองค์ คือ Royal Standard, มีพระมหามงกุฎ ชื่อ The Imperial State Crown และดอกไม้ที่สมเด็จพระราชินีทรงโปรดวางอยู่บนธงเช่นกุหลาบขาว (เมื่อพระบรมศพขึ้นตั้งในเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์แล้วจะมีลูกโลกและคทา มาวางเพิ่ม)

ขบวนพระบรมศพเคลื่อนออกจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมตรงตามเวลาที่กำหนด สองข้างทางของถนนที่ชื่อว่า The Mall อันเป็นถนนหน้าพระราชวังเนืองแน่นไปด้วยประชาชนหากแต่เงียบกริบ ได้ยินแต่เสียงฝีเท้าของเหล่าทหารรักษาพระองค์

การนำเสด็จพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ไปตั้งเป็นรัฐพิธีที่ 'เวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์' (Westminster Hall) จะผ่านเส้นทางที่เป็นใจกลางกรุงลอนดอนซึ่งนักท่องเที่ยวจะรู้จักกันดี, เช่นผ่าน ตึกขาวสองข้างทางที่เรียกว่า Whitehall, Horse Guards Arch เข้าสู่ Parliament Square

สถานที่ที่เรียกว่า Westminster Hall นี้เป็นห้องโถงที่ใหญ่มากมีเพดานที่สร้างด้วยไม้ขนาดใหญ่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๑ แต่รอดพ้นไฟไหม้มาถึงสองครั้งและที่นี่เคยเป็นพระราชวังมาก่อนคือ Westminster Palace

เมื่อขบวนพระบรมศพมาถึงสถานที่ที่จะตั้งแล้ว ทหารพระจำพระองค์ได้เคลื่อนพระบรมศพไปยังแท่นที่ตั้ง, อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี  ซึ่งเทียบได้กับสมเด็จพระสังฆราชได้ทำพิธีทางศาสนาและพระผู้ใหญ่คนอื่น ๆ

ภายในห้องโถงนี้มีเหล่าขุนนาง นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน, นักการเมืองระดับสูงจากสกอตแลนด์, เวลส์ และแขกอีกจำนวนมากยืนเรียงรายรอบ ๆ ห้องโถงอย่างเงียบสงบ เมื่อพิธีทางศาสนาและทางทหารเสร็จสิ้นลงแล้ว พิธีสุดท้ายคือ การยืนประจำการเฝ้าพระบรมศพทั้งสี่มุมโดยทหารรักษาพระองค์ซึ่งจะยืนก้มหน้าสงบนิ่งตลอดเวลาจนกว่าจะมีการเคลื่อนพระศพไปประกอบพิธีที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในวันจันทร์หน้า หากแต่จะมีการผลัดเปลี่ยนตัวคนตามเวลาที่กำหนด

หญิงอังกฤษประกาศเลิกโคฟเวอร์เป็น ‘ควีน’ เพื่อถวายความอาลัยต่อพระองค์ หลังทำมานาน 34 ปี

หญิงชาวอังกฤษวัย 89 ปี ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการแต่งกายเลียนแบบสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประกาศ 'ยุติบทบาท' ที่ทำมา 34 ปี เพื่อถวายความเคารพและความอาลัยต่อองค์พระประมุขที่เธอรู้สึกว่าเป็นเหมือน 'คนในครอบครัว'

แมรี เรย์โนลด์ส (Mary Reynolds) ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองเอปปิง มณฑลเอสเซกซ์ เริ่มหัดโคฟเวอร์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถตั้งแต่ปี 1988 ทว่าอันที่จริงมีคนเคยบอกเธอตั้งแต่อายุ 17 ปีว่า “รูปร่างหน้าตาคล้ายควีนมาก”

ความเหมือนโดยบังเอิญนี้เองทำให้เธอได้รับโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในภาพยนตร์และซีรีส์หลายเรื่อง รวมถึงภาพยนตร์แอ็กชันคอมเมดี้ในปี 1990 เรื่อง Bullseye ที่มีพระเอกคนดังอย่าง 'เซอร์ โรเจอร์ มัวร์' ร่วมแสดงด้วย

เรย์โนลด์ส บอกกับสำนักข่าว PA ว่าเธอรู้สึกโชคดีที่เกิดมาหน้าตาคล้ายควีน แต่วันเวลาแห่งการรับบท 'ควีนตัวปลอม' ของเธอได้สิ้นสุดลงแล้ว

'เดวิด เบ็คแฮม' รอคิวนานถึง 12 ชั่วโมง เพื่อเข้าเคารพพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2

สกายสปอร์ต สื่อชั้นนำของประเทศอังกฤษ เปิดเผยคลิปวิดีโอที่ เดวิด เบ็คแฮม ตำนานนักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เดินทางไปเข้าคิวพร้อมกับผู้คนนับพันเพื่อรอเข้าเฝ้าพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 เป็นเวลานานถึง 12 ชั่วโมงเต็ม

ทั้งนี้ เดวิด เบ็คแฮม ให้สัมภาษณ์เปิดใจผ่านสกายสปอร์ต ว่า “วันนี้เป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก มันยากสำหรับประเทศของเรา และเป็นเรื่องที่ยากสำหรับทุกคนทั่วโลก ผมคิดว่าทุกคนรู้สึกได้ ความคิดของครอบครัวเรามันชัดเจนเช่นเดียวกับทุกคนที่นี่”

“เพราะเป็นสิ่งที่พิเศษที่ได้มาอยู่ตรงนี้เพื่อทำความเคารพ และได้รับฟังเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้คนต่างต้องพูดถึง ช่วงเวลาที่พิเศษที่สุดสำหรับผมคือการได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ ชั้นโอบีอี วันนั้นผมพาปู่ย่าไปกับผมด้วย พวกเขาเป็นคนที่เลี้ยงดูผมให้กลายเป็นผู้ที่นิยมในลัทธิราชาธิปไตย และหลงรักในราชวงศ์ รวมถึงภรรยาของผมด้วย”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top