Friday, 16 May 2025
World

มือปืนหญิง บุก รร.ประถมเมืองแนชวิลล์ สหรัฐฯ ก่อเหตุกราดยิง เด็กและ จนท. เสียชีวิตรวม 6 ราย

หญิงวัย 28 ปีพร้อมอาวุธครบมือ บุกสังหารเด็ก 3 รายและเจ้าหน้าที่ 3 รายในโรงเรียนประถมเอกชนของเมืองแนชวิลล์ ก่อนถูกตำรวจวิสามัญ ถือเป็นการก่อเหตุรุนแรงด้วยอาวุธปืนครั้งล่าสุดที่สร้างความตกตะลึงให้กับสหรัฐอเมริกา

(28 มี.ค.66) เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2566 กล่าวว่า เกิดเหตุกราดยิงอุกอาจในโรงเรียนของเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมือปืนหญิงรายหนึ่งนำปืนไรเฟิลจู่โจมอย่างน้อย 2 กระบอกและปืนพก 1 กระบอกเข้าไปในโรงเรียน Christian Covenant School ทางประตูด้านข้าง ก่อนจะเปิดฉากยิงจนมีผู้เสียชีวิตรวม 6 ราย

ดอน อารอน โฆษกตำรวจแนชวิลล์กล่าวในการแถลงข่าวว่า ผู้ก่อเหตุซึ่งตำรวจเชื่อว่าเป็นอดีตนักเรียนของโรงเรียน ทำการกราดยิงหลายนัดโดยไม่เจาะจงเหยื่อ

เจ้าหน้าที่ตำรวจไปถึงที่เกิดเหตุภายในเวลา 15 นาทีหลังจากรับสายแจ้งเหตุครั้งแรกในเวลาประมาณ 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) และได้ยิงปะทะกับมือปืน ก่อนที่ผู้ก่อเหตุจะถูกตำรวจยิงเสียชีวิต

ดอน อารอน กล่าวว่า ตำรวจยังไม่พบข้อบ่งชี้เบื้องต้นเกี่ยวกับแรงจูงใจในการกราดยิง แต่เจ้าหน้าที่สามารถระบุตัวตนเบื้องต้นได้ว่า เด็กนักเรียน 3 รายที่เสียชีวิตมีอายุระหว่าง 8-9 ขวบ และผู้ใหญ่ 3 รายที่เสียชีวิตมีอายุระหว่าง 60-61 ปี เช่นเดียวกับตัวมือปืนเองที่ถูกระบุว่าเป็นหญิงข้ามเพศ

เขายังเสริมด้วยว่า นอกจากตำรวจบาดเจ็บ 1 นายแล้ว ก็ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บอื่นๆจากเหตุครั้งนี้ ส่วนนักเรียนที่เหลือทั้งหมดถูกนำตัวออกจากอาคารได้พร้อมกับอาจารย์และเจ้าหน้าที่โรงเรียนคนอื่นๆ โดยกลุ่มคนทั้งหมดที่อยู่ในเหตุการณ์อุกอาจนี้จะได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อตรวจสอบอาการให้แน่ใจ

The Covenant School เป็นสถาบันเพรสไบทีเรียนเอกชนที่มีนักเรียนมากกว่า 200 คนในระดับอนุบาลจนถึงอายุประมาณ 12 ปี และผู้ใหญ่ 3 รายที่ถูกยิงเสียชีวิตนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในโรงเรียนซึ่งมีจำนวนทั้งหมดราว 40-50 คน

ทั่วโลกจับตาเศรษฐกิจ ‘พญามังกร’ ฟื้นตัว ความหวังท่ามกลางความผันผวนรอบด้าน

(28 มี.ค.66) จากที่ World Maker ได้รายงานไปว่าทาง IMF ออกมาเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการเงินโลกที่อยู่ในระดับสูงเป็นพิเศษ และมองว่าจีนจะกลายเป็นความหวังในการพยุงเศรษฐกิจโลกในปี 2023 นี้ ! ซึ่งล่าสุดก็มีรายงานออกมาอีกว่าตอนนี้รัฐบาลจีนกำลังกู้ยืมเงินในอัตราที่เร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์เพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ!

จำนวนพันธบัตรที่รัฐบาลจีนออกขายในไตรมาสแรกของปี 2023 (กู้ยืมเงินจากการระดมทุน) มีมูลค่าอย่างน้อย 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1997 ที่เริ่มเก็บข้อมูลมาเลยทีเดียว คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง +35% จากปี 2022

ซึ่งทางรัฐบาลจีนเองก็ประกาศแผนงบประมาณปี 2023 ว่าจะกู้ยืมเงินเพิ่มประมาณ +20% จากปีที่แล้ว โดยจะนำเงินเหล่านี้มาช่วยหนุนเศรษฐกิจในภาคท้องถิ่นให้สามารถจัดการกับความตึงเครียดด้านสภาพคล่องได้ และยังมีแผนขยายการลงทุนเชิงโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ เช่น การปรับปรุงระบบระบายน้ำ-สาธารณูปโภคในเมืองต่าง ๆ

เป้าหมาย GDP ของจีนถูกตั้งไว้ราว +5% ในปีนี้ สอดคล้องกับคาดการณ์ของ IMF ที่ราว +5.2% ซึ่งหากจีนทำได้ตามเป้าก็จะถือเป็น 1 ในเสาหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดในสหรัฐฯ ที่เกิดจากภาวะดอกเบี้ยสูงและวิกฤตต่าง ๆ เช่น Bank Run

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการฟื้นตัวในไตรมาสแรกของจีนจะอ่อนแอกว่าที่คาดหวังเอาไว้ไม่มากก็น้อย เนื่องจากผลกำไรภาคอุตสาหกรรมในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ร่วงลงถึง -22.9% เมื่อเทียบจากปี 2022 แม้ว่าการผลิตใน Sector นี้จะดีดตัวขึ้นจากการที่จีนเริ่มเปิดประเทศอีกครั้ง

การลดลงของรายได้นี้ อยู่ในระดับที่รุนแรงกว่าการลดลงของต้นทุน ซึ่งจะส่งผลต่อ 'อัตรากำไรขั้นต้น' ของบริษัทต่าง ๆ และชี้ให้เห็นว่า Demand ทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่ได้กลับมาเร็วอย่างที่คาดหวัง ดังนั้นต่อให้การผลิตดีดตัวสูงขึ้น แต่ถ้าไม่มีการบริโภคก็จะไม่มีความหมายเลยต่อเศรษฐกิจ กลับกันอาจกลายเป็นแย่ยิ่งกว่าเดิม

นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ IMF แนะนำให้จีนส่งเสริมภาคการบริโภคของประเทศ โดยตอนนี้บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจในจีนดูเหมือนจะได้รับผลกระทบหนักสุดเพราะผลกำไรร่วงลง -35.7% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี เทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ -9.5% ในขณะที่กำไรของบริษัทเอกชนจีนลดลง -19.9% และรัฐวิสาหกิจลดลง -17.5%

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในผู้ผลิต (PPI -1.4%) และผู้บริโภค (CPI 1%) ของจีนก็ยังอยู่ในระดับต่ำมากทีเดียว โดยเฉพาะ PPI ที่ติดลบหรืออยู่ในภาวะเงินฝืด หมายความว่าต้นทุนการผลิตสินค้าต่าง ๆ ลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และโรงงานบางแห่งก็ได้ปรับลดราคาขาย ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้และกำไรที่ลดลงด้วย (ค่อนข้างดีต่อผู้บริโภค แต่ในแง่ของตัวเลขทางเศรษฐกิจและการเติบโตก็จะลดลงไปด้วย)

สาเหตุหนึ่งที่บริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้นั้น เป็นเพราะว่า Demand ไม่ได้อยู่ในช่วงขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากขึ้นราคาสินค้าตอนนี้ก็จะกลายเป็นการลด Demand ลงอีก ซึ่งไม่ใช่คำตอบสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในประเทศจีน

ดังนั้นจึงชัดเจนว่าปัญหาหลักคือจีนจะทำอย่างไรให้การบริโภคฟื้นตัว ? จะเรียกความเชื่อมั่นของตลาดกลับมาได้อย่างไร ? ยิ่งไปกว่านั้น อัตราว่างงานของจีนตอนนี้ยังอยู่ในระดับสูงและการลงทุนในภาคอสังหาฯ ซึ่งคิดเป็นราว 25% ของ GDP ก็ยังตกต่ำจากวิกฤตที่เกิดขึ้นซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นหดหายไปอย่างมาก

Maersk หนึ่งในบริษัทขนส่งสินค้ายักษ์ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ได้ออกมาเตือนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในตอนนี้อ่อนแอกว่าที่เคยคาดเอาไว้ โดยชี้ไปที่เหตุผลเดียวกันคือผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะช็อก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจนั้นมีหลายมิติ ไม่ใช่แค่ว่าการผลิตฟื้นตัวแล้วจะแปลว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ต้องมีการสนับสนุนผู้บริโภคควบคู่กันไปด้วย

ที่สำคัญคือเงินออมราว 70% ของจีนอยู่ในภาคอสังหาฯ ที่ยังคงตกต่ำและได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นเราคงพอจะเข้าใจเหตุผลว่าทำไมในปีนนี้รัฐบาลจีนประกาศว่าจะเริ่มกลับมาหนุนภาคการเงินและอสังหาฯ

ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติและตลาดหุ้นของจีนก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงไม่ต่างจาก Real Estate ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาหุ้นยักษ์ใหญ่หลายตัวของจีนร่วงลงมากกว่า -50% ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Tencent และอื่น ๆ พร้อมกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นจากสงครามยูเครนและความตึงเครียดกับสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ในแง่ดีคือการฟื้นตัวกำลังค่อย ๆ กลับมา และรัฐบาลจีนก็ดูเหมือนจะรู้ถึงปัญหาที่จะต้องส่งเสริมการบริโภคมากขึ้น โดยล่าสุดทาง PBOC ก็เริ่มปรับลดอัตราส่วนความต้องการทุนสำรองของธนาคาร (Reserve Requirement Ratio : RRR) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงิน แต่ทั้งนี้ก็อาจต้องมีมาตรการหนุนผู้บริโภคมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวในภาคการผลิต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนถือเป็น 1 ในความหวังหลักของโลกสำหรับปี 2023 นี้ และต่างชาติหลายประเทศก็ให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในจีน โดยเฉพาะหากรัฐบาลเปิดกว้างมากกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่นล่าสุด Saudi Aramco ยักษ์ใหญ่น้ำมันจากซาอุฯ ก็พึ่งบรรลุดีลสร้างโรงกลั่นยักษ์ใหญ่ในประเทศจีนร่วมกับ North Huajin Chemical และ Panjin Xincheng โดยจะเริ่มโครงการในไตรมาสที่ 2 นี้ คาดว่าจะพร้อมใช้งานในปี 2026

ดีลดังกล่าวถูกประเมินเบื้องต้นว่าอาจมีมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ มีขนาดการกลั่นอยู่ที่ 300,000 บาร์เรล/วัน โดยซาอุฯ จะถือหุ้น 30% ส่วน Norinco Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ North Huajin Chemical จะถือหุ้น 51% และ Panjin Xincheng จะถือหุ้นส่วนที่เหลือ ซึ่งจะทำให้ทั้งจีนและซาอุฯ ได้รับประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย และยังเป็นการเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะยาวให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย

แผนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการที่ซาอุฯ ตั้งเป้าจะขยายกำลังการผลิตน้ำมันให้ถึง +1,000,000 บาร์เรล/วัน และจะเพิ่มการผลิตก๊าซอีกมากกว่า +50% ภายในปี 2030 พร้อมกับพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมกลั่นให้สามารถ 'ลดการปล่อยคาร์บอนให้ต่ำลงกว่าเดิม'

ขณะเดียวกัน ทางด้านรัสเซียกำลังผลักดันการใช้เงินหยวนของจีนเป็น 1 ในสกุลเงินหลักสำหรับทุนสำรองระหว่างประเทศและการค้ากับชาติพันธมิตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่รัสเซียจะใช้หลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ-ชาติตะวันตก และยังเตรียมสร้างขั้วอำนาจใหม่ที่หวังจะมาทุบอำนาจของเงินดอลลาร์ให้เสื่อมลงอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้รัสเซียเป็นผู้นำในสิ่งที่หาดูได้ยาก คือการใช้เงินหยวนมากกว่าดอลลาร์-ยูโรในทุนสำรอง แต่ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับรัสเซียด้วยเช่นกัน เพราะจีนเองเคยมีมาตรการลดค่าเงินอย่างกะทันหันและอาจทำให้ทุนสำรองหยวนที่รัสเซียถืออยู่มีมูลค่าลดลงได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่มันเกิดขึ้นอีกครั้ง

ชาวมุสลิมเชื้อสายปากีฯ คนแรกในประวัติศาสตร์ เตรียมนั่งแท่นนายกรัฐมนตรีของสกอตแลนด์

หลังจากที่อังกฤษเพิ่งได้ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดที่มีเชื้อสายอินเดียคนแรกไปแล้ว คราวนี้ ที่สกอตแลนด์ ก็กำลังจะได้ผู้นำที่มีพื้นเพเป็นชาวเอเชียอีกคน นั่นคือ 'ฮัมซา ยูซาฟ' นักการเมืองดาวรุ่งวัยเพียง 37 ปี เชื้อสายปากีสถาน หลังคว้าชัยการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ของพรรคชาติสกอต (SNP) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำหลักของรัฐบาลสกอตแลนด์ 

และทำให้นาย ฮัมซา ยูซาฟ ขึ้นแท่นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสกอตแลนด์ ต่อจาก นิโคลา สเตอร์เจียน อดีตหัวหน้าพรรค SNP และผู้นำสกอตแลนด์ ที่เพิ่งลาออกไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหลังจากดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานกว่า 8 ปี

ฮัมซา ยูซาฟ เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งที่สนับสนุน นิโคลา สเตอร์เจียนมาโดยตลอด โดยเฉพาะนโยบายการพาชาติสกอตแลนด์เป็นเอกราช ไม่รวมเป็นส่วนหนึ่งกับสหราชอาณาจักรอีกต่อไป และเขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่า หากได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาจะผลักดันให้สกอตแลนด์เป็นเอกราชให้สำเร็จ แต่ทั้งนี้ ฮัมซา ยูซาฟ ไม่ได้ระบุว่าหมายถึงการจัดลงประชามติเพื่อขอแยกตัวจากสหราชอาณาจักรเป็นครั้งที่ 2 หรือไม่

ฮัมซา ยูซาฟ เกิดและเติบโตที่เมืองกลาสโกว์ ของสกอตแลนด์ บิดาของเขาเป็นชาวปัญจาบ จากปากีสถาน มารดาเป็นชาวเคนยา ทั้งคู่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากในสกอตแลนด์ โดยบิดาของยูซาฟ ทำงานเป็นนักบัญชี และพยายามส่งเสริมให้เขาได้เรียนโรงเรียนชั้นดี อย่าง Hutchesons' Grammar School หนึ่งในโรงเรียนเอกชนที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมาก โดยหวังให้เขาเลือกเรียนสายวิชาชีพระดับสูง เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ หรือนักบัญชีอย่างบิดา

แต่จุดเปลี่ยนในชีวิตของ ฮัมซา ยูซาฟ เกิดขึ้นในวันที่สหรัฐอเมริกาถูกก่อวินาศกรรมในเหตุการณ์ 9/11 เขาถูกเพื่อนร่วมโรงเรียนมองเขาในสายตาที่เปลี่ยนไป และเข้ามาเค้นหาคำตอบจากเขาว่าทำไมชาวมุสลิมถึงเกลียดได้สหรัฐอเมริกาขนาดนี้

จากวันนั้นทำให้เขาหันมาสนใจการเมืองอย่างมาก และเลือกเรียนสาขารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ทำกิจกรรมด้านสังคมมาโดยตลอด เป็นประธานสมาคมนักศึกษามุสลิม และยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรค SNP ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา

เบื้องลึกกองกำลังประชาชนแห่งเมียนมา ไทย…'ผู้รับบุญ' หรือ 'แพะรับบาป'

ไทยเราได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้การดูแลชาวต่างชาติที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นมาช้านานแล้ว

แต่หากนับในยุคปัจจุบันในรัชสมัยของพ่อหลวงล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ก็มี 'เหตุการณ์ที่ท่าแขก' หรือ 'วันท่าแขกแตก' ซึ่งเป็นกลุ่มชาวเวียดนามที่ทางการไทยเรียกว่า 'ญวนอพยพ' การหนีข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งลาวมาฝั่งไทยครั้งนี้เป็นการหนีการปราบปรามของกองกำลังฝรั่งเศสจากเวียงจันทน์ สะหวันเขตและท่าแขก แขวงคำม่วน มายังหนองคาย มุกดาหาร 

จาก 'เหตุการณ์ที่ท่าแขก' ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 ครั้งนั้น นับเป็นการอพยพครั้งใหญ่ของชาวเวียดนามมายังไทย ทำให้ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ที่ท่าแขกได้หนีข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทยประมาณ 50,000 คน รวมทั้งชาวลาวอีก 4,000 คน โดยชาวเวียดนามเกือบทั้งหมดยังคงลี้ภัยและพำนักอาศัยอยู่ในภาคอีสานของไทยต่อมาจวบจนปัจจุบัน หรือจะเหตุการณ์ที่คอมมิสนิสต์มีชัยในดินแดนอินโดจีนในช่วงประมาณปี 2517 ก็มีชาวเวียดนาม ลาว เขมรจำนวนไม่น้อยที่เดินทางมาลี้ภัยในประเทศไทย และไทยก็เปิดศูนย์รับผู้ลี้ภัยเพื่อรอวันที่พวกเขาเหล่านั้นเดินทางกลับ  และอีกหลายคนก็เลือกที่จะใช้ชีวิตในไทย

>> สงครามกะเหรี่ยงกับภาระของไทย
สงครามระหว่างกะเหรี่ยงกับกองทัพเมียนมามีมาตั้งแต่ปี 2492 โดยรัฐบาลไทยเคยใช้รัฐกะเหรี่ยงเป็นรัฐกันชนกับพม่า ซึ่งหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยเกรงภัยจากคอมมิวนิสต์ที่ได้ตั้งพรรคทั้งในไทยและเมียนมาหรือพม่าในขณะนั้น ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ไทยและสหรัฐฯ ที่สนับสนุนกบฏกะเหรี่ยง และในช่วง พ.ศ. 2503 – 2533 สหรัฐฯ ยังให้การสนับสนุนรัฐบาลเมียนมาในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ด้วย 

โบเมียะกล่าวว่า รัฐกะเหรี่ยงเป็นรัฐกันชนที่ไม่ให้คอมมิวนิสต์ในไทยและเมียนมารวมตัวกัน นโยบายของรัฐไทยเปลี่ยนไปในช่วง พ.ศ. 2533 เมื่อเมียนมาได้เป็นสมาชิกอาเซียนใน พ.ศ. 2540 ไทยจึงได้ยุติการให้ความช่วยเหลือกองกำลังกะเหรี่ยง ในแง่ของผู้อพยพจากสงครามพบว่ามีชาวกะเหรี่ยงเริ่มอพยพเข้าสู่ไทยใน พ.ศ. 2527 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ประโยชน์จากค่ายผู้อพยพในไทยในฐานะเป็นที่หลบภัยและเป็นแหล่งสนับสนุนอาหารและวัสดุอื่นๆ ผ่านสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย มีชาวกะเหรี่ยงราว 2 แสนคนอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมามีชาวกะเหรี่ยง 73,775 คน  และเมื่อหลังจากการปฎิวัติชาวกะเหรี่ยงและเมียนมาอีกจำนวนไม่น้อยที่อพยพมาตามชายแดน ซึ่งนี่ไม่รวมถึงผู้ที่ข้ามแดนมาอย่างผิดกฎหมาย

ในวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 อ.แม่สอด, กองกำลังนเรศวร, เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.ตาก และฝ่ายปกครอง อ.แม่สอด พร้อมหน่วยข่าวด้านความมั่นคงนำกำลังเข้าควบคุม อาคารพาณิชย์ 4 ชั้น เกือบ 40 คูหา ย่านชุมชนหนาแน่น ถนนตาลเดี่ยว ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก

หลังจากสืบทราบว่ามีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา กลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะ PDF ซึ่งหนีข้ามมาจากฝังเมียนมาเข้ามาเช่าบ้านหลบอาศัยอยู่ในพื้นที่แม่สอดกันอย่างอิสระจำนวนมาก เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีรายงานว่ามีชาวต่างชาติ และองค์กรระหว่างประเทศเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเมื่อตรวจค้นภายในอาคารพบสัมภาระทางทหาร อุปกรณ์ทางทหาร เครื่องแบบทหาร โลโก้หน่วยทหารกลุ่มต่อต้านต่างๆ รวมทั้งโดรนขนาดต่างๆ อุปกรณ์ควบคุม อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่สำคัญพบกระสุนปืนจำนวนหนึ่ง 

‘ดิสนีย์’ ประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่ 7,000 คน หลังกำไรธุรกิจสตรีมมิ่งไม่ปังตามเป้า

ดิสนีย์ประกาศปลดพนักงาน 7,000 คน เพื่อควบคุมต้นทุนให้เกิดสภาพคล่องมากขึ้นในธุรกิจ หลังดิสนีย์ เข้าไปลงแข่งในวงการสตรีมมิ่ง และทำกำไรไม่ได้ตามเป้า 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บ็อบ ไอเกอร์ CEO ของวอลท์ ดิสนีย์ (Walt “Disney”) ออกจดหมายถึงพนักงานว่า ดิสนีย์ประกาศการปลดพนักงานจำนวน 7,000 คน โดยจะเริ่มแจ้งพนักงานกลุ่มแรกในอีก 4 วันข้างหน้า ส่วนในรอบที่ 2 ซึ่งจะเป็นการประกาศครั้งใหญ่จำนวนหลายพันคน จะมีในเดือนเมษายน

และรอบสุดท้ายจะประกาศก่อนช่วงฤดูร้อน ทั้งนี้ การประกาศดังกล่าว เป็นการตัดสินใจยากลำบากของบริษัท เนื่องจาก พนักงานหลายคนเลือกมาทำงานที่นี่ ด้วยความหลงใหลในดิสนีย์ที่มีมาตลอดชีวิต

ถกงานเขียน 'อกาธา คริสตี' ที่ควรต้องถูกปรับใหม่ หลังหลายประโยคดูเชยๆ และดูหมิ่นเหยียดหยาม

ไม่นานมานี้ เพิ่งมีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนว่า หนังสือเด็ก ‘Charlie and the Chocolate Factory’ (ชื่อเล่มภาษาไทย: โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ) ของโรอัลด์ ดาห์ล ควรได้รับการแก้ไขเพื่อผู้อ่านวัยเยาว์ยุคปัจจุบันหรือไม่ เพื่อลบล้างหรือลดทอนคำและถ้อยความที่ตอนนี้ถูกมองว่ารุนแรงหรือก้าวร้าวเกินไป ส่วนใหญ่เกี่ยวกับคำซึ่งแสดงการเหยียดผิว การด้อยค่าดูแคลน และการพรรณนาถึงความรุนแรง แต่ทว่าสำนักพิมพ์ควร หรือได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงวรรณกรรมคลาสสิกหรือไม่ นี่ยังคงเป็นคำถามที่ดูเหมือนจะไม่มีคำตอบที่น่าเชื่อถือได้

ตอนนี้การถกเถียงที่คล้ายกันกำลังปะทุขึ้นอีกครั้งกับผลงานของอกาธา คริสตี-ราชินีแห่งอาชญากรรม นักเขียนอังกฤษมีผลงานนวนิยายตีพิมพ์จำนวน 66 เล่มตลอดช่วงชีวิตของเธอ และเป็นผู้ชุบชีวิตนักสืบชื่อดังอย่าง มิสมาร์เปิล และเฮอร์คูล ปัวโรต์ เธอเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมมากที่สุดมานานหลายทศวรรษ หนังสือของเธอได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 100 ภาษา และหลายเล่มได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ จะว่าเธอเป็นนักเขียนเหยียดเชื้อชาติ-สีผิวคงไม่ได้ เพราะเธอใช้ชีวิตและเขียนหนังสือในช่วงเวลาที่ผู้คนจำนวนมากมีมุมมองต่อโลกแปลกปลอมภายนอกแตกต่างจากผู้คนในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้เธอมักจะใช้ตัวละครคลิเช คร่ำครึ และจมอยู่กับอคติในยุคสมัยของเธอ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หนังสือของคริสตีถูกปรับเปลี่ยนภาษา ด้วยเหตุผลของ “ความถูกต้องทางการเมือง” นวนิยายระทึกขวัญแนวจิตวิทยา ‘Ten Little Niggers‘ ซึ่งมีชื่อมาจากเพลงกล่องเด็กโบราณ และเป็นคำปกติทั่วไปในปี 1939 แต่กลับกลายเป็นชื่อน่ารังเกียจสำหรับผู้อ่านในอีกไม่กี่ปีต่อมา เมื่อตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาปี 1940 จึงมีการเปลี่ยนชื่อปกเป็น ‘And Then There Were None’ ซึ่งเป็นห้าคำสุดท้ายของบทเพลง

กรณีศึกษา Nestle ถอนตัวออกจากเมียนมา   สะท้อน!! ไม่มีใครทำร้ายชาติเราได้เท่าคนในชาติตัวเอง

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีข่าวที่ดังไปทั่วเมียนมาเมื่อบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่อย่าง Nestle ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 ถอนตัวออกจากเมียนมา โดยมีแถลงการออกมาจากทาง Nestle ว่าทางบริษัทจะยุติการดำเนินการทั้งสายโรงงานและการปฏิบัติงานในส่วนของออฟฟิศทั้งหมด  

ข่าวนี้สร้างแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจของเมียนมาพอสมควร โดยทาง Nestle อ้างว่าการที่บริษัทตัดสินใจเช่นนี้เป็นเพราะบริษัทมีปัญหาในเรื่องการนำเข้าและปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน 

พออ่านมาถึงจุดนี้ คือต้องมาเอ๊ะ เดี๋ยวก่อน….เราควรมาดูข้อมูลรอบตัวของข่าวนี้ก่อนดีไหม? เริ่ม!!

ข้อแรก Nestle เป็นบริษัทของสวิตเซอร์แลนด์ แต่การดำเนินการของ Nestle เมียนมานั้นอยู่ภายใต้การดำเนินการของ Nestle สาขาประเทศไทย ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์เป็น 1 ในประเทศคู่ค้าของกลุ่ม EU ที่ทำการแซงชันเมียนมา โดยการแซงชันของ EU นั้น นอกจากเน้นไปที่ตัวบุคคลแล้วยังเน้นไปยังกลุ่มธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของเช่น อัญมณี เหมืองแร่ น้ำมันและก๊าซรวมถึงป่าไม้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าธุรกิจเหล่านั้นได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแซงชันดังกล่าว โดยเฉพาะธุรกิจน้ำมันและก๊าซในเมียนมาที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีคนนอกในการผลิตและแปรรูป  

จึงไม่แปลกที่ธุรกิจของประเทศในกลุ่มดังกล่าวจะโดนกดดันจากฝั่งเมียนมา ซึ่งบางธุรกิจเช่นธุรกิจผลิตวัตถุดิบบางอย่างของสัญชาติอเมริกันก็เลือกที่จะปิดตัวเองเลย ซึ่งแม้บริษัทเหล่านั้นอาจจะมีการทำ Political Insurance ไว้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเงินสินไหมจะทดแทนกับมูลค่าที่ลงทุนและโอกาสทางการตลาดที่เสียไปได้หรือไม่

กลับมาที่ Nestle เมียนมา ก็ต้องขอปรบมือให้ทีมบริหารที่ใช้ความพยายามในการผลักดัน เพราะตลอดระยะเวลา 2 ปีในขณะที่หลายๆ บริษัท ทั้งบริษัทที่เป็นของชาวต่างชาติก็ดี หรือของคนเมียนมาเองก็ดี ต่างทยอยปิดตัวลงจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แทบจะเรียกได้ว่า Nestle เป็นบริษัทท้ายๆ ที่ใช้เหตุผลนี้มาปิดบริษัท เพราะตอนนี้ก็เหมือนเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤตต่างๆ เริ่มคลี่คลายลงแล้ว ซึ่งสังเกตได้จากหลายๆ บริษัทในเขตนิคมเองก็เปิดมากขึ้น  

อย่างไรก็ดีด้วยประเด็นของการที่ประเทศในกลุ่มอียูมีนโยบายแซงชันเมียนมา จึงเป็นอะไรที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เนสเล่ ที่เจ้าของคือ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งผู้เป็นคู่ค้ารายสำคัญของกลุ่มประเทศอียูจะโดนบีบให้ปฏิบัติตามด้วยก็ไม่แปลก เพราะหากเทียบความสูญเสียที่เกิดขึ้นในเมียนมากับมูลค่าที่จะสูญเสียในยุโรปนั้น Nestle บริษัทแม่เลือกไม่ยากเลยที่จะเลือกปิดโรงงาน ลอยแพคนงานเมียนมาและหันกลับมาใช้ระบบตัวแทนจำหน่ายที่เป็นบริษัทเมียนมาแทน  

‘เซเลนสกี’ เอ่ยปากเชิญ ‘สี จิ้นผิง’ ผู้นำจีน เยือนยูเครน เย้ย ‘ปูติน’ ไร้พันธมิตร - สูญเสียทุกอย่างเพราะสิ่งที่ตัวเองก่อ

(29 มี.ค. 66) ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ออกปากเชื้อเชิญประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนไปเยือนกรุงเคียฟเพื่อร่วมหาทางออกให้กับสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังจากที่ผู้นำจีนเพิ่งจะเดินทางไปเยือนมอสโกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษกับผู้สื่อข่าว AP บนขบวนรถไฟจากเมืองซูมี (Sumy) ‘เซเลนสกี’ ผู้นำยูเครน ได้เอ่ยย้ำคำเชิญไปยัง ‘สี จิ้นผิง’ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำชาติมหาอำนาจที่ยังไม่เคยไปเยือนกรุงเคียฟ นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานเมื่อเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว

“เราพร้อมที่จะพบกับท่านที่นี่” เซเลนสกี กล่าว

“ผมอยากจะพูดคุยกับท่าน ผมเคยติดต่อท่านก่อนที่สงครามจะปะทุอย่างเต็มรูปแบบ แต่ตลอดช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา ผมยังไม่มีโอกาสเช่นนั้นเลย”

จีนมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับรัสเซีย ทั้งในทางเศรษฐกิจการเมืองมานานหลายสิบปี และแม้รัฐบาล สี จิ้นผิง จะประกาศจุดยืน ‘เป็นกลาง’ ในสงครามครั้งนี้ ทว่าในทางปฏิบัติก็ยังคงให้การสนับสนุนทางการทูตต่อประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำของรัสเซีย

การเยือนมอสโกของ สี จิ้นผิง ระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น ทำให้ชาติตะวันตกหวาดระแวง ว่าจีนอาจตัดสินใจส่งอาวุธและเครื่องกระสุนไปช่วยเติมเต็มคลังแสงของรัสเซีย ที่ร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ ทว่าสุดท้ายแล้วการเยือนก็จบลงแบบไม่มีคำแถลงใด ๆ ที่มีนัยสำคัญ

หลายวันต่อมา ปูติน ประกาศจะส่งขีปนาวุธทางยุทธวิธีไปประจำการที่เบลารุส ซึ่งเท่ากับว่า ‘คลังแสงนิวเคลียร์’ ของรัสเซียกำลังจะถูกลำเลียงเข้าใกล้แผ่นดิน ‘นาโต’ มากขึ้นอีก

เซเลนสกี มองว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ ปูติน น่าจะเป็นความพยายาม ‘แก้เก้อ’ จากการที่ผู้นำจีนไม่ได้รับปากมอบความช่วยเหลือทางทหารอย่างเป็นรูปธรรม และอาจเป็นการตอบโต้ที่อังกฤษจะส่งกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ (depleted uranium ammunition) ให้กับยูเครนด้วย

รัฐบาลทหารพม่าสั่งยุบพรรค NLD ของ 'อองซาน' พร้อมตัดสิทธิ์การลงสนามเลือกตั้งใหญ่ในปีนี้

เมื่อวันอังคาร (28 มี.ค. 66) คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารพม่าของนายพลมิน อ่อง หล่าย ได้มีคำสั่งให้ยุบพรรค สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของนางออง ซาน ซูจี เนื่องจากไม่มาจดทะเบียนพรรคการเมืองก่อนเส้นตายที่ระบุไว้ในกฎหมายเลือกตั้งใหม่

โดยพรรค NLD เป็นหนึ่งใน 40 พรรคการเมืองของพม่าที่จะต้องถูกยุบเนื่องจากทำผิดกฎข้อบังคับ ที่ไม่ยอมมาจดทะเบียนพรรคการเมือง  และทำให้พรรค NLD ที่ก่อตั้งมานานกว่า 35 ปีต้องยุติลงตั้งแต่วันนี้ 

กฎหมายเลือกตั้งใหม่ ถูกประกาศขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ที่ระบุให้พรรคการเมืองทุกพรรคในพม่าต้องมาจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ทั้งหมดภายใน 60 วัน จนถึงกรอบเส้นตายในวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา มิฉะนั้น จะถูกยุบพรรค และทรัพย์สินของพรรคการเมืองนั้น ๆ ก็จะต้องถูกยึดด้วย

และพรรคการเมืองที่ลงทะเบียนถูกต้อง จะมีสิทธิ์ส่งผู้สมัครลงสนามเลือกตั้งใหญ่ที่รัฐบาลทหารพม่าเคยประกาศไว้ว่าจะมีขึ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2566 นี้ ที่จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา

แต่เป้าหมายของกฎหมายเลือกตั้งใหม่ ถูกมองว่ามีมาเพื่อทำลายพรรคการเมืองใหญ่อย่าง NLD โดยเฉพาะ ที่ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายทุกครั้งในสนามเลือกตั้งของรัฐบาลพลเรือน เนื่องจากเงื่อนไขของการจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ระบุว่า จะต้องไม่มีสมาชิกพรรคคนใดต้องโทษจำคุก หรือเกี่ยวพันในองค์กรที่ผิดกฎหมายของพม่า

ซึ่งในตอนนี้ทั้งนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรค สมาชิกพรรค NLD และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของพม่าจำนวนมากถูกตัดสินให้ต้องโทษจำคุก

นอกจากนี้ ลูกพรรค NLD หลายคนได้เปลี่ยนแนวการต่อสู้ด้วยการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลเงา ที่เรียกตนเองว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) และอีกส่วนหนึ่งได้จัดตั้งคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw หรือ CRPH) ที่สถาปนาตนเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น และทั้ง 2 องค์กรก็ถูกรัฐบาลทหารพม่าขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรก่อการร้าย 

เมื่อครูยึดขนบปฏิบัติจนขาดความยืดหยุ่นและเมตตา  ส่วนพ่อแม่ก็ยัดเยียดความเกลียดชังให้ลูกตั้งแต่เด็ก

ไม่ร้องเพลงชาติ อาจเจอครูแจ้งจับ

เมื่อไม่นานมานี้ มีคดีน่าสนใจคดีหนึ่ง นั่นคือครูอเมริกันแจ้งตำรวจให้มาจับนักเรียนของตัวเอง ด้วยข้อหาประหลาดว่า “นักเรียนรายนี้ไม่ยอมร้องเพลงชาติ”

ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือเด็กนักเรียนที่เปรี้ยวใส่กฎระเบียบโรงเรียนอายุแค่ 11 ขวบเท่านั้น และเป็นเด็กผิวดำแอฟริกัน-อเมริกัน 

ครูสาวในโรงเรียนลอว์ตัน ไชลส์ มิดเดิล อคาเดมี รัฐฟลอริดา โทรเรียกตำรวจมาจับเด็กนักเรียนชายวัย 11 ขวบ เพราะนักเรียนคนนี้ไม่ยอมยืนตรงเคารพธงชาติ โดยให้เหตุผลว่าการเคารพธงชาติเป็นการเหยียดผิว และเพลงชาติมีเนื้อหาที่เต็มไปด้วยการดูหมิ่นแอฟริกันอเมริกัน

กรณีนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในโซเชียลมีเดีย ว่า เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นอะไร? และจบลงอย่างไร?

ตามเนื้อข่าว เมื่อครูอเมริกันถามนักเรียนว่า...

“ทำไมจึงไม่ไปอยู่ที่อื่น หากว่าที่นี่เลวร้ายเกินทน”

คำถามแบบนี้ฟังดูคุ้นๆ หูอีกแล้ว แต่เด็กสวนกลับไปทันควันว่า...

“พวกเขา (หมายถึงคนผิวขาว) นำผมมาที่นี่”

เดี๋ยวนะ...หนู สงสัยพ่อแม่เปิดหนังเรื่อง ‘รูทส์’ ให้ดูตั้งแต่เกิดเลยล่ะมั้ง คือตอบเอาจริงเอาจังไปมั้ยน่ะ แม้ว่าจะเป็นเรื่องจริงก็ตามที

เมื่อเรื่องนี้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ความเห็นของฝรั่งอั้งม้อออกไปในแนวว่า พ่อแม่เด็กเสี้ยมให้ลูกเกลียดชังทุกสิ่งทุกอย่างในอเมริกา 

หลายคนมองว่าครูทำเกินกว่าเหตุ เรื่องแค่นี้ไม่น่าต้องโทรเรียกตำรวจมาจับเด็กที่อายุแค่ 11 ขวบเลย แต่ควรใช้หลักความเมตตาอบรมสั่งสอนดีๆ ซึ่งครูสาวส่ายหน้าท่าเดียว เพราะนอกจากพูดจาท้าทายแล้ว เด็กชายคนนี้ยังมีอาการต่อต้านทุกคนอย่างชัดเจน เช่น ขู่ทำร้ายครูและไม่ยอมออกจากห้องเรียน

ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร เด็กผิวสีรายนี้ก็ถูกส่งไปสถานสงเคราะห์สำหรับเยาวชน หรือเทียบง่ายๆ คือบ้านเมตตาบ้านกรุณาของเราอะไรทำนองนั้นนั่นแหละ

โฆษกของเขตการศึกษาโพล์ค เคาน์ตี พับลิก สกูลส์ แถลงการณ์ว่าเด็กชายถูกจับ เพราะทำให้ระบบของโรงเรียนยุ่งเหยิง และปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งโรงเรียน ไม่ได้ถูกจับเพราะไม่ยอมทำความเคารพธงชาติ 

หากจะถามว่าการที่เด็กไม่เคารพธงชาติมีความผิดไหม ถ้ายึดตามตัวบทกฎหมายอเมริกัน คงต้องตอบว่าไม่ผิด ตามกฎหมายพลเมืองสหรัฐฯ ว่าด้วยบทข้อแก้ไขที่ 1 ที่เรียกว่า The First Amendment ห้ามโรงเรียนบังคับให้เด็กนักเรียนต้องกล่าวปฏิญาณต่อธงชาติสหรัฐฯ หรือเคารพธงชาติ  

แต่ในความเป็นจริง เคยเกิดคดีอื้อฉาวที่ครูโรงเรียนมัธยมคนหนึ่งใช้ด้ามธงชี้กระดานดำประกอบการสอน ผลคือ ครูคนนั้นถูกไล่ออกจากโรงเรียนทันที

เด็กผิวสีอ้างว่าไม่อยากร้องเพลงชาติและเคารพธงชาติ เพราะเป็นเรื่องการเหยียดผิว ซึ่งก็ไม่ใช่อีกนั่นแหละ เนื้อหาเพลงชาติอเมริกาที่เรียกว่า ‘เดอะสตาร์สแปงเกิลด์แบนเนอร์’ หรือแปลง่ายๆ ว่า ‘ธงดาราประดับ’ มีที่มาจากบทกวี Defence of Fort M'Henry หรือการพิทักษ์ป้อมแมคเฮนรี่ แต่งโดยฟรานซิส สก็อตต์ คีย์ ผู้เป็นทั้งทนายและกวี  

แรงบันดาลใจนั้นมาจากธงชาติอเมริกา สะพัดเหนือป้อมเมื่อฝ่ายอเมริกันได้ชัยชนะ ในยุทธการบัลติมอร์ ปี ค.ศ. 1812 ต่อมานำมาทำเป็นเพลงชาติและใช้ชื่อว่า ‘เดอะสตาร์สแปงเกิลด์แบนเนอร์’


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top