Saturday, 5 July 2025
World

คลิปไวรัลจากชิบูย่า ยกหนุ่มไทย ‘หล่อสุด’ ในใจสาวญี่ปุ่น ถึงไม่รู้ว่าไทยอยู่ไหนในแผนที่ แต่ตั้งเป้าขอไปเห็นด้วยตาตัวเอง

(25 พ.ค. 68) กลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียล เมื่อคลิปสัมภาษณ์สาวญี่ปุ่นจากช่อง girlsinterviewjapan หลังพิธีกรลงพื้นที่ห้าแยกชิบูย่า กรุงโตเกียว เพื่อสอบถามกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายหญิง 3 คนในหัวข้อ “ประเทศไหนมีคนหล่อเยอะที่สุดในความคิดคุณ”

โดยเริ่มต้นด้วยการให้เลือกเปรียบเทียบทีละคู่ ตั้งแต่ “เกาหลีใต้ VS จีน” ซึ่งทั้ง 3 คนเลือกเกาหลีใต้แบบไม่ลังเล จากนั้นแม้จะเทียบกับ “อิหร่าน” พวกเธอก็ยังเลือกเกาหลีใต้ แต่เมื่อถึงคำถาม “เกาหลีใต้ VS ไทย” คำตอบกลับเปลี่ยนทันทีเป็น “ประเทศไทย” และไม่ว่าไทยจะถูกจับเทียบกับประเทศใดต่อ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรืออินเดีย คำตอบก็ยังคงมั่นคงที่ “ไทย”

เมื่อถามถึงเหตุผลที่เลือกประเทศไทย สาว ๆ ทั้งสามให้เหตุผลว่า “คนหล่อ ๆ ที่พวกเราเคยเห็นมักมาจากประเทศไทย” พร้อมเสริมว่ายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไทยอยู่ตรงไหนในแผนที่ แต่ก็อยากไปให้ได้สักครั้ง พร้อมชวนกันแบบน่ารักว่า “เฮ้ยแก ไปประเทศไทยกันนะ” ปิดท้ายคลิปอย่างสดใสและกลายเป็นไวรัลทันที

อดีต ตชด. สะท้อนปัญหากะเหรี่ยง หนังเก่าวนฉายซ้ำ คนกะเหรี่ยงยังเป็นฝ่ายรับกรรม

(25 พ.ค. 68) ไม่นานมานี้บนเฟสบุ๊กของอดีต ตชด. ท่านหนึ่งออกมาวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่ KNU ตีฐานของกองทัพเมียนมาแตกว่า เหมือนหนังเก่าที่วนมาฉายซ้ำไม่ต่างจากละครดาวพระศุกร์ หรือคู่กรรม  แต่ต่างตรงที่ในโลกความเป็นจริงคนกะเหรี่ยงคือคนรับกรรมและไทยก็คือแหล่งกบดาน

ในข้อความเอ่ยว่าในอดีตกองกำลังกะเหรี่ยงมีฐานตามแนวชายแดนไทยตั้งแต่สบเมยไปจนถึงน้ำพุร้อน  ในอดีตทำการค้าดีโดยเฉพาะการเก็บเงินจากสัมปทานไม้สัก เหมืองทองและเหมืองหยก โดยอู้ฟู่ที่สุดคือยุคนายพลโบ เมี๊ยะครองอำนาจ

จากนั้นหลังจากปี 2537 ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนในกลุ่มกะเหรี่ยงสูงขึ้นจนเกิดความขัดแย้งภายใน  ว่ากันว่ามีการคอร์รัปชั่นในกลุ่มกองกำลังกะเหรี่ยงจนแยกตัวออกมาเป็น DKBA จนสุดท้ายก็ไปรวมกลายเป็น BGF ในที่สุด

มาจนถึงวันนี้กะเหรี่ยงหลายคนคิดว่ากองกำลังที่เขาต่อสู้คือกองทัพเมียนมาแต่ความเป็นจริง กองกำลังนี้คือกองกำลังประจำถิ่นอันประกอบด้วยคนเชื้อสายกะเหรี่ยงเป็นส่วนใหญ่

ตลอด 75 ปีที่รบกันมา ฝ่ายกะเหรี่ยงก็พยายามสร้างวิวาทะ ขายฝันหลอกคนรุ่นใหม่ของกะเหรี่ยงมาเป็นทหารออกรบเพื่อชาติตนเอง ทั้งๆที่การสร้างชาติที่แท้จริงสามารถจบได้บนโต๊ะเจรจา

สุดท้ายคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามในขณะนี้กองกำลังกะเหรี่ยงก็ไม่ต่างอะไรกับทหารรับจ้างของพวกตะวันตกที่พยายามสร้างประเด็นในเมียนมาเพื่อป้องกันการรุกคืบของจีนและรัสเซียในภูมิภาคนี้

กอทูแล ณ วันนี้คนกะเหรี่ยงคงไม่มีโอกาสได้เห็นและจะไม่มีวันได้เห็นหากสุดท้ายคนกะเหรี่ยงเองเลือกที่จะจับอาวุธเข้ายึดแทนที่จะเลือกหนทางสันติวิธี

ส่วนไทยคงต้องตอบคำถามให้หนักว่าเราเลยจุดที่เอากะเหรี่ยงเป็นรัฐกันชนหรือยัง  เพราะอย่าลืมว่า ณ วันนี้ยาเสพติดส่วนหนึ่งเข้ามาประเทศไทยโดยทางช่องทางธรรมชาติในพื้นที่กะเหรี่ยงนั่นเอง

‘สี จิ้นผิง’ ยกหูคุย ‘มาครง’ ถกด่วนภาษี–สงคราม–การค้าโลก ย้ำจีนพร้อมร่วมมือกับอียู รับมือความปั่นป่วนจากสหรัฐ

(25 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีน ได้หารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการร่วมมือด้านการค้าโลก พร้อมเคลียร์ข้อพิพาทภาษีนำเข้าบรั่นดีฝรั่งเศสในจีน ขณะเดียวกัน ผู้นำจีนเรียกร้องให้ฝรั่งเศสร่วมกันปกป้องกฎเกณฑ์การค้าโลก ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากภัยคุกคามของภาษีสหรัฐฯ

สี จิ้นผิง ระบุว่า จีนและฝรั่งเศสในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ควรเป็นกำลังสำคัญในการธำรงระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และยึดมั่นในพหุภาคีนิยมอย่างแท้จริง โดยย้ำว่าจีนมองยุโรปเป็นขั้วอำนาจอิสระที่ควรมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก พร้อมจับมือรับมือกับความท้าทายระดับโลก

การพูดคุยครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่จีนเริ่มสอบสวนการทุ่มตลาดบรั่นดีจากอียู ขณะที่ฝรั่งเศส ซึ่งส่งออกคอนญัก (บรั่นดีที่ผลิตจากไวน์องุ่นในเขตคอนญัคของฝรั่งเศส) ไปจีนกว่า 1.4 พันล้านยูโรต่อปี ได้รับผลกระทบรุนแรง คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 50 ล้านยูโรต่อเดือน โดยมาครงระบุว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงจะเร่งคลี่คลายประเด็นนี้โดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตฝรั่งเศส

นอกจากนี้ ทั้งสองผู้นำยังหารือเรื่องสงครามยูเครน โดยมาครงระบุว่าทั้งคู่เห็นพ้องในเป้าหมาย “สันติภาพที่ยั่งยืนและมั่นคง” ซึ่งต้องเริ่มจากการหยุดยิงทันทีแบบไม่มีเงื่อนไข รวมถึงยังจะร่วมมือกันเตรียมการประชุมว่าด้วยทางออกแบบสองรัฐในตะวันออกกลางที่กำหนดจัดขึ้นที่นิวยอร์กในเดือนมิถุนายนนี้ โดยฝรั่งเศสร่วมเป็นเจ้าภาพกับซาอุดีอาระเบีย

‘เยอรมนี’ อาจฟื้นระบบเกณฑ์ทหารปีหน้า หากไม่มีอาสาสมัครมากเพียงพอในอนาคต

(26 พ.ค. 68) บอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีกลาโหมของเยอรมนี เปิดเผยเมื่อวันเสาร์ (24 พ.ค.) ว่า รัฐบาลอาจพิจารณานำระบบเกณฑ์ทหารกลับมาใช้ภายในปี 2569 หากจำนวนผู้สมัครใจเข้าร่วมกองทัพยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

เยอรมนีในฐานะสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) กำลังเร่งเสริมศักยภาพทางการทหารนับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนในปี 2565 แต่การรับสมัครทหารโดยสมัครใจยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

กองทัพเยอรมนีระบุว่า ยังต้องการกำลังพลเพิ่มอีกประมาณ 100,000 นายในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพันธะผูกพันกับ NATO ได้อย่างเต็มที่

พิสโตริอุสกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลยังเน้นการรับสมัครทหารแบบสมัครใจเป็นหลัก แต่หากจำนวนผู้สมัครไม่เพียงพอในอนาคต อาจจำเป็นต้องพิจารณานำระบบเกณฑ์ทหารภาคบังคับกลับมาใช้ พร้อมเสริมว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจมีผลบังคับใช้เร็วที่สุดในวันที่ 1 ม.ค. 2569

ด้านอันเดรียส เฮนเน ผู้บัญชาการกองบัญชาการปฏิบัติการภายในประเทศของกองทัพเยอรมนี กล่าวสนับสนุนความพยายามในการเพิ่มจำนวนผู้สมัคร โดยระบุว่า เยอรมนีกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ยังจำเป็นต้องเร่งให้มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ โครงสร้างพื้นฐาน และกำลังพล

สมาคมรถยนต์ไฟฟ้าเยอรมนี ยื่น ‘ล้มละลาย’ สื่อคาดต้นเหตุมาจากบอร์ดแตกหัก จนพาองค์กรล้ม

เมื่อวันที่ (23 พ.ค. 68) ที่ผ่านมา ศาลในกรุงเบอร์ลินได้ประกาศว่า Bundesverband Elektromobilität (BEM) หรือสมาคมรถยนต์ไฟฟ้าเยอรมนี ได้ยื่นขอล้มละลายอย่างเป็นทางการ โดยมีทนายความ โยอาคิม โฟกต์-ซาลุส ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเหตุผลที่นำไปสู่การล้มละลายยังไม่มีการเปิดเผยชัดเจน ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในเยอรมนีกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงและแรงสั่นสะเทือนอย่างหนัก

BEM อ้างว่ามีสมาชิกประมาณ 450 ราย ประกอบด้วยผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตสถานีชาร์จไฟ ผู้ให้บริการด้านกฎหมาย รวมถึงซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรม นอกจากนี้สมาคมยังเคยมีคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาเยอรมันและยุโรป

ทั้งนี้ เบื้องหลังการล้มละลายอาจเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งภายในองค์กร ซึ่งปรากฏสู่สาธารณะเมื่อราวหนึ่งปีครึ่งก่อน โดยเป็นความขัดแย้งระหว่างอดีตประธานสมาคม เคิร์ท ซิกล์ และสมาชิกบอร์ดอีกสองราย ได้แก่ คริสเตียน ฮีพ และ มาร์คุส เอ็มเมิร์ต ในประเด็นการใช้เงินและการดำเนินงานของบริษัทในเครือ BEM Academy GmbH จนนำไปสู่การแยกทางกับ Sigl ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2024 โดยไม่มีการแต่งตั้งผู้มาแทน

จนถึงขณะนี้ สมาคมยังไม่ได้แถลงการณ์ใดๆ อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว การล้มละลายของ BEM กลายเป็นสัญญาณเตือนสำคัญที่สะท้อนความไม่แน่นอนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของเยอรมนี ซึ่งแม้จะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีนี้ในยุโรป แต่อุปสรรคภายในและแรงกดดันจากภายนอกก็ยังคงมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของภาคส่วนนี้

‘ทรัมป์’ บีบ ‘ฮาร์วาร์ด’ เปิดรายชื่อนักศึกษาต่างชาติ ตั้งคำถามประเทศต้นทาง ‘ไม่ช่วยจ่าย ทำไมได้เรียนฟรี’

(26 พ.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social ให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเปิดเผยรายชื่อนักศึกษาต่างชาติพร้อมสัญชาติของแต่ละคน โดยอ้างว่าเป็น “คำขอที่สมเหตุสมผล” เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ มอบเงินสนับสนุนจำนวนมากแก่สถาบันนี้ ขณะเดียวกัน ทรัมป์ยังตั้งคำถามว่าทำไมประเทศต้นทางเหล่านี้ ซึ่งบางแห่งไม่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ ถึงไม่ต้องจ่ายอะไรเลยให้กับนักศึกษาของตนเอง

ข้อเรียกร้องนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งต่อเนื่องระหว่างทรัมป์กับฮาร์วาร์ด โดยล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ศาลรัฐบาลกลางมีคำสั่งระงับความพยายามของฝ่ายบริหารที่ต้องการสั่งห้ามไม่ให้นักศึกษาต่างชาติเรียนที่ฮาร์วาร์ด ซึ่งทางมหาวิทยาลัยระบุว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ

อลัน การ์เบอร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แถลงตอบโต้ว่า การกระทำของรัฐบาล “ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไร้เหตุผล” พร้อมเตือนว่า นี่อาจเป็นผลกระทบจะรุนแรงต่ออนาคตของนักศึกษาและนักวิจัยนับพันคนทั้งในและนอกประเทศ และยังเป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพของสถาบันการศึกษาทั่วสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างทรัมป์กับฮาร์วาร์ดทวีความรุนแรงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ระงับงบวิจัยกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ และข่มขู่จะยกเลิกสิทธิ์ยกเว้นภาษีของมหาวิทยาลัย พร้อมเรียกร้องให้จัดทำการตรวจสอบ “ความหลากหลายทางแนวคิด” ภายในองค์กรอีกด้วย

‘หลี่ เฉียง-ปราโบโว’ จับมือแน่นในเวทีโลก พร้อมดันเศรษฐกิจ-รถไฟความเร็วสูง ‘จาการ์ตา-บันดุง’

(26 พ.ค. 68) หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน พบหารือกับประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโตของอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 25 พ.ค. โดยระบุว่าจีนพร้อมร่วมมือกับอินโดนีเซียเพื่อเพิ่มความไว้วางใจทางการเมืองและการประสานงานเชิงยุทธศาสตร์สู่ระดับที่สูงขึ้น พร้อมถ่ายทอดความปรารถนาดีจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิง

นายกรัฐมนตรีของจีนกล่าวว่า ทั้งสองประเทศมีมิตรภาพแน่นแฟ้นตลอด 75 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูต และได้ยกระดับสู่ความเป็น “ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคและระดับโลก โดยจีนพร้อมร่วมเดินหน้าโครงการสำคัญ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง และแผน “สองประเทศ สองนิคมอุตสาหกรรม”

ทั้งนี้ จีนเสนอขยายความร่วมมือในหลากหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ การเงินและอวกาศ ตลอดจนเพิ่มการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน เช่น ด้านสุขภาพ การเกษตร และการบรรเทาความยากจน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศ

หลี่ เฉียง ยังย้ำจุดยืนต่อต้านกีดกันการค้าและการดำเนินการฝ่ายเดียว พร้อมเรียกร้องให้จีน อินโดนีเซีย และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ร่วมกันปกป้องระบบพหุภาคี ส่งเสริมการค้าเสรี และผลักดันโลกาภิวัตน์ที่เท่าเทียม มีระบบระเบียบ และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

‘ม.โตเกียว’ พร้อมช่วย ‘นศ.ต่างชาติ ฮาร์วาร์ด’ หลังทรัมป์แบน เล็งใช้แนวทางรับเรียนชั่วคราว แต่โอนหน่วยกิตได้เมื่อคลี่คลาย

(26 พ.ค. 68) มหาวิทยาลัยโตเกียว ประกาศเตรียมเปิดรับนักศึกษาญี่ปุ่นและนักศึกษาต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เพิกถอนสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในการรับนักศึกษาต่างชาติ โดยนักศึกษาจะสามารถเข้าเรียนเพื่อสะสมหน่วยกิต ซึ่งสามารถโอนกลับไปยังฮาร์วาร์ดได้หากสถานการณ์คลี่คลาย

สำหรับ ม.โตเกียว เคยใช้แนวทางนี้มาแล้วจากกรณีช่วยเหลือนักศึกษาในสงครามประเทศยูเครน ซึ่งจะอนุญาตให้เข้าร่วมเรียนในรายวิชาต่าง ๆ และใช้บริการห้องสมุด เพื่อให้โอกาสในการศึกษาต่อไม่สะดุด โดยรองอธิการบดี คาโอริ ฮายาชิ ระบุว่า สถาบันต้องการสนับสนุนนักศึกษาที่มีความตั้งใจจริง ให้สามารถเรียนต่อได้อย่างราบรื่น

ขณะเดียวกัน นักศึกษาญี่ปุ่นในฮาร์วาร์ดต่างแสดงความวิตกและไม่พอใจอย่างมากต่อคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยหนึ่งในนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวที่ไปศึกษาเรื่องควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่ฮาร์วาร์ด กล่าวว่า หากต้องยุติการเรียนกลางคัน “ความพยายามที่ผ่านมาจะสูญเปล่า”

ทั้งนี้ มาตรการใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ บังคับให้นักศึกษาต่างชาติที่ยังเรียนอยู่ในฮาร์วาร์ดต้องโอนย้ายไปสถาบันอื่น มิฉะนั้นจะสูญเสียสถานะพำนักในประเทศ ขณะที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงปิดภาคฤดูร้อน อาจทำให้นักศึกษาหลายคนไม่มีเวลาย้ายสถาบันได้ทัน

ข้อมูลจากองค์การสนับสนุนนักเรียนญี่ปุ่นระบุว่า ปัจจุบันมีนักเรียนญี่ปุ่นกว่า 13,500 คนในสหรัฐฯ โดย 260 คนอยู่ที่ฮาร์วาร์ด นักวิชาการในญี่ปุ่นเตือนว่าหากสถานการณ์ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานะของนักศึกษาต่างชาติ สหรัฐฯ อาจสูญเสียความนิยมในฐานะจุดหมายด้านการศึกษานานาชาติ โดยแคนาดา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย อาจกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า

คนฟิลิปินส์บ่น หลังผู้นำประเทศทำเป็นแต่แจกเงิน สุดท้ายประเทศไร้การพัฒนา

ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Withawatt Cozy Tansuhaj ได้โพสต์ข้อความว่า …

(26 พ.ค. 68) เมื่อวานคุยกับฟิลิปปินส์คนหนึ่งเป็นลูกค้าที่กิจการ ถามเขาว่าที่โน่นเป็นไง เขาส่ายหัวตอบว่า แย่หน่อยคนนี้เป็นแต่แจกเงิน อย่างอื่นไม่พัฒนาอะไร แล้วเขาก็ถามผมกลับว่า แล้วของคุณเป็นไงบ้าง ผมก็ได้ยิ้มแล้วยักไหล่

หมอนั่นก็บ่นต่อให้ฟังว่า คุณรู้ไหมว่าพ่อมัน (ฟอร์ดินาล มาร์กอส) โกงชาติไปไม่รู้กี่หมื่นล้าน แต่คนฟิลิปปินส์ก็ยังเลือกลูกมันเข้ามาอีก นี่แหละ สาเหตุที่ประเทศผมไม่ไปถึงไหนซะที ( that's why we ain't go nowhere)

ผมต้องรีบเปลี่ยนเรื่อง ก่อนเขาจะถามว่าแล้วประเทศคุณเป็นไงบ้างอีกรอบ

ทรัมป์จวกปูติน ‘บ้า’ ปมถล่มยูเครนครั้งใหญ่ เตือนรุกรานยูเครนมาก จะพารัสเซียล่มสลาย

(26 พ.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ วิจารณ์ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียอย่างรุนแรงผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social โดยระบุว่าปูติน “บ้าไปแล้ว” และเตือนว่าหากยังคงพยายามยึดครองยูเครนทั้งหมด จะนำไปสู่ “จุดจบของรัสเซีย”

ทรัมป์แสดงความไม่พอใจต่อการที่รัสเซียยิงขีปนาวุธและโดรนโจมตีเมืองต่างๆ ในยูเครน พร้อมระบุว่าเป็นการสังหารผู้บริสุทธิ์โดยไม่จำเป็น และกำลังพิจารณาคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม

นอกจากปูติน ทรัมป์ยังวิจารณ์ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน โดยกล่าวว่าท่าทีแข็งกร้าวของเซเลนสกี “สร้างปัญหา” และ “ควรหยุดพูดแบบนั้นได้แล้ว” พร้อมชี้ว่าความขัดแย้งนี้เป็นผลจาก “ความไร้ความสามารถ”

ทรัมป์ย้ำว่าสงครามยูเครนจะไม่เกิดขึ้นหากเขายังเป็นประธานาธิบดี โดยโยนความรับผิดชอบไปที่ปูติน เซเลนสกี และอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน พร้อมยืนยันว่าเขาเพียงต้องการ “ช่วยดับไฟสงครามที่ใหญ่และน่าเกลียดนี้”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top