Saturday, 5 July 2025
World

ร้านยากิโทริในโอซาก้า ติดป้ายห้ามคนจีนเข้า เดือดร้อน บ.แม่แถลงขอโทษ ย้ำไม่สนับสนุนการเลือกปฏิบัติ

(29 พ.ค. 68) ร้านไก่ย่างถ่านชื่อดังในโอซาก้า “Sumibi Yakitori Hayashin” กลายเป็นประเด็นดราม่าร้อน หลังมีผู้เผยภาพป้ายที่ระบุไม่อนุญาตให้ลูกค้าชาวจีนเข้าร้าน โดยให้เหตุผลว่า “หลายคนไร้มารยาท” จนเกิดเสียงวิจารณ์หนักทั้งในญี่ปุ่นและจีน

แม้ทางร้านยังไม่มีแถลงการณ์ชี้แจง แต่กระแสในโซเชียลหลายคนมองว่าการเหมารวมเช่นนี้เข้าข่ายการเลือกปฏิบัติ ส่วนชาวญี่ปุ่นสายชาตินิยมบางกลุ่มกลับสนับสนุนการกระทำของร้าน ขณะที่ชาวเน็ตจีนส่วนใหญ่แสดงความโกรธและผิดหวัง

SASAYA Holdings บริษัทแม่ของร้าน ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ระบุว่าป้ายดังกล่าวเป็นการตัดสินใจของร้านโดยไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัท พร้อมย้ำจุดยืนในการให้บริการอย่างเท่าเทียมกับลูกค้าทุกเชื้อชาติ

หลังเกิดเหตุ ร้าน Hayashin ได้หยุดให้บริการทันทีในวันเดียวกับการแถลงขอโทษ และชื่อร้านก็ถูกถอดออกจากเว็บไซต์ของบริษัทแม่แล้ว ขณะเดียวกันประเด็นนี้ยังสะท้อนปัญหาความตึงเครียดระหว่างชาวญี่ปุ่นบางกลุ่มกับนักท่องเที่ยวจีน

แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างมาก แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกไม่พอใจกับพฤติกรรมไร้มารยาทของนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่มักตกเป็นเป้าในกระแส “มลพิษทางการท่องเที่ยว” หรือ Overtourism ที่กำลังเป็นคำฮิตในสังคมญี่ปุ่นขณะนี้

ชาวเนปาลนับหมื่นลงถนน เรียกร้องฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ หลังไม่พอใจรัฐบาล ทำเศรษฐกิจประเทศตกต่ำ

เมื่อวานนี้ (29 พ.ค.68) ประชาชนหลายหมื่นคนออกมารวมตัวกันในกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เรียกร้องให้ฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ที่ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2008 ท่ามกลางความไม่พอใจต่อสภาพเศรษฐกิจและการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน โดยผู้ชุมนุมยังเรียกร้องให้ศาสนาฮินดูกลับมาเป็นศาสนาประจำชาติ

กลุ่มผู้ชุมนุมได้ตะโกนข้อว่า “จงนำกษัตริย์กลับคืนราชบัลลังก์และช่วยชาติ เรารักกษัตริย์มากกว่าชีวิต” ขณะที่เป้าหมายของการเรียกร้องครั้งนี้คือการให้ กษัตริย์เกียนเอนทรา ชาห์ วัย 77 ปี อดีตกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของเนปาล ซึ่งยังพำนักอยู่ในกาฐมาณฑุ กลับคืนสู่บัลลังก์อีกครั้ง

เนปาลกลายเป็นสาธารณรัฐหลังยกเลิกระบอบกษัตริย์ และปัจจุบันมีประธานาธิบดีเป็นประมุข อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนบางส่วนที่ไม่พอใจกับชนชั้นการเมืองและสภาพเศรษฐกิจ ที่ทำให้ชาวเนปาลจำนวนมากต้องเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อส่งเงินกลับบ้าน

แม้จะมีเสียงเรียกร้องเพิ่มขึ้น แต่โอกาสในการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ยังคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากพรรคการเมืองหลักทั้งสามพรรคในสภายังคัดค้านแนวคิดดังกล่าว ขณะที่พรรคฝ่ายหนุนกษัตริย์อย่าง Rastriya Prajatantra Party มีเพียง 13 ที่นั่งจากทั้งหมด 275 ที่นั่งในรัฐสภาเท่านั้น

ยูเครนร้องจีนสองมาตรฐาน ระงับขายโดรนให้ตะวันตก แต่ส่งให้รัสเซียเพิ่ม

(30 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีของยูเครน เปิดเผยเมื่อ 29 พ.ค. ว่า จีนได้หยุดขายโดรนให้ยูเครนและประเทศตะวันตก แต่ยังคงส่งโดรนให้รัสเซีย โดยระบุว่า “Mavic จากจีนเปิดขายให้รัสเซีย แต่ปิดให้ยูเครน” ซึ่งเป็นโดรนรุ่นยอดนิยมของบริษัท DJI จากจีน

เลนสกีเผยอีกว่า มีสายการผลิตโดรนตั้งอยู่ในรัสเซียโดยมีตัวแทนจากจีนอยู่ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ยุโรปที่ระบุว่าจีนได้ลดการส่งออกชิ้นส่วนโดรน เช่น แม่เหล็กมอเตอร์ ไปยังตะวันตก แต่เพิ่มการส่งให้รัสเซีย

แม้จีนจะอ้างความเป็นกลาง แต่ตลอดช่วงสงคราม โดรนได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในสนามรบ โดยทั้งสองฝ่ายนำมาใช้ในภารกิจลาดตระเวนและโจมตีแม่นยำ ขณะที่ยูเครนเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตโดรนภายในประเทศให้ถึงขีดสุด เพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติ

กระทรวงการต่างประเทศจีนยังคงปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งยุทโธปกรณ์ให้ฝ่ายใด พร้อมยืนยันว่าควบคุมเข้มสินค้าสองทาง (Dual-use goods) แต่การที่จีนกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียมากขึ้น ได้สร้างความกังวลให้กับโลกตะวันตกและนาโต ซึ่งระบุว่าจีนกำลังเป็น 'ผู้สนับสนุนหลัก' ให้รัสเซียรุกรานยูเครน

เวียดนามสั่งแบน The Economist ฉบับ ‘โต เลิม’ หวั่นปกนิตยสารกระทบ!..ภาพลักษณ์ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์

(30 พ.ค. 68) รัฐบาลเวียดนามมีคำสั่งห้ามวางจำหน่ายนิตยสาร The Economist ฉบับล่าสุด หลังขึ้นปกภาพ โต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์วัย 67 ปี โดยภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นดวงตาของเขาถูกปิดด้วยดาวสีเหลืองบนพื้นหลังสีแดง พร้อมพาดหัวว่า 'บุรุษผู้มีแผนสำหรับเวียดนาม' ซึ่งถูกมองว่าเป็นภาพเชิงสัญลักษณ์ที่อ่อนไหว

แหล่งข่าวในประเทศให้ข้อมูลกับสำนักข่าว Reuters ว่า ได้รับคำสั่งให้ฉีกหน้าปกและบทความที่เกี่ยวข้องกับ โต เลิม ออกจากนิตยสาร ก่อนที่จะมีคำสั่งให้ระงับการจำหน่ายทั้งหมด แม้จนถึงขณะนี้ ทางการยังไม่มีแถลงการณ์ชี้แจงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเหตุผลของการแบน

การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางควบคุมสื่อที่เข้มงวดของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งมีประวัติการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 173 จาก 180 ประเทศ ตามดัชนีเสรีภาพสื่อของ Reporters Without Borders (RSF) ปี 2025 สะท้อนถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนที่อยู่ในระดับต่ำมาก

สำหรับเนื้อหาในบทความของ The Economist ระบุว่า โต เลิม เป็นผู้นำที่แข็งกร้าวซึ่งจำเป็นต้องปรับบทบาทเป็นนักปฏิรูปเพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ การใช้ภาพสื่อถึงสัญลักษณ์ชาติบนใบหน้าของเขาอาจถูกตีความว่าเป็นการวิจารณ์เชิงล้อเลียน

การแบนครั้งนี้สะท้อนถึงความอ่อนไหวของรัฐบาลเวียดนามต่อการวิจารณ์ผู้นำระดับสูงจากสื่อต่างชาติ แม้ฉบับพิมพ์จะถูกระงับ แต่บทความฉบับออนไลน์ของ The Economist ยังสามารถเข้าถึงได้

‘ยูเครน’ กุมขมับวิกฤต ‘หนีทหาร’ ปีนี้พุ่งไม่หยุด คาดยอดจะทะลุ 61,000 ราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์

(30 พ.ค. 68) กองทัพยูเครนกำลังเผชิญปัญหาทหารหลบหนีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนผู้ละทิ้งหน้าที่โดยไม่ได้รับอนุญาตในปี 2025 จะทะลุ 61,000 ราย เกือบเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อน ตามการวิเคราะห์ของผู้สื่อข่าว Sputnik โดยอ้างอิงจากบันทึกคดีในศาลยูเครน

กรณีการหลบหนีส่วนใหญ่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 407 วรรค 5 ของประมวลกฎหมายอาญายูเครน ซึ่งระบุถึงการ “ละทิ้งหน่วยหรือสถานที่ปฏิบัติหน้าที่เกิน 3 วัน ภายใต้กฎหมายกฎอัยการศึกหรือสถานการณ์การรบ”

ข้อมูลจากทะเบียนคดีของศาลยูเครนระบุว่า เดือนเมษายน 2025 มีคดีหนีทหารสูงสุดที่ 6,245 คดี ส่งผลให้ยอดสะสม 5 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 25,508 คดี หากแนวโน้มยังดำเนินต่อไป จำนวนรวมทั้งปีอาจสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

เมื่อเทียบกับปีก่อน แนวโน้มดังกล่าวน่ากังวลอย่างยิ่ง โดยในปี 2024 มีรายงานการหลบหนีถึง 35,750 คดี เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากปี 2023 ที่มีเพียง 12,563 คดี สะท้อนภาวะขาดเสถียรภาพในกำลังพลอย่างต่อเนื่อง

WFP เผย 'ฝูงชนอดอยาก' ล้อมคลังอาหารในกาซา ดับแล้ว 2 ราย บาดเจ็บอีกเพียบในการแย่งเสบียง

(30 พ.ค. 68) สถานการณ์ความอดอยากในฉนวนกาซาทวีความรุนแรง ขณะที่โครงการอาหารโลก (WFP) เปิดเผยว่า กลุ่มชาวปาเลสไตน์จำนวนมากซึ่งหิวโหย ได้บุกเข้าโกดังเก็บเสบียงในเมืองเดียร์ เอล-บาลาห์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีกหลายคน เหตุเกิดท่ามกลางภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก 

ในขณะเดียวกัน การโจมตีจากอิสราเอลยังคงดำเนินต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขในกาซาระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 70 รายทั่วพื้นที่ โดยเฉพาะในค่ายผู้ลี้ภัยบูเรจในกาซากลาง มีผู้เสียชีวิต 23 ราย จากการโจมตีอาคารที่พักอาศัย ซึ่งเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินต้องใช้เวลานานกว่า 30 นาทีในการกู้ร่างผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

นอกจากนี้ ยังมีรายงานการโจมตีบ้านเรือนและโรงเรียนอนุบาลในเขตจาบาเลีย ทางเหนือของกาซา ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกอย่างน้อย 7 ราย ขณะที่จุดแจกจ่ายความช่วยเหลือที่ก่อตั้งโดยมูลนิธิ Gaza Humanitarian Foundation (GHF) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ก็เกิดระเบิดต่อเนื่อง โดยยังไม่มีความชัดเจนถึงสาเหตุ

องค์กรสิทธิมนุษยชนและสหประชาชาติแสดงความกังวลต่อบทบาทของ GHF โดยระบุว่าโครงการดังกล่าวขาดความเป็นกลางและละเมิดหลักการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งยังอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางทหารหรือการควบคุมพลเรือนของอิสราเอล

แม้อิสราเอลจะยืนยันว่าอนุญาตให้นำส่งความช่วยเหลือทั้งผ่าน UN และ GHF แต่เจ้าหน้าที่ UN ระบุว่าจำนวนความช่วยเหลือที่เข้าสู่กาซายัง 'น้อยเกินไป' เมื่อเทียบกับความต้องการระดับวิกฤต พร้อมเตือนว่า การแจกจ่ายแบบ 'จับตา-จำกัด' นี้ อาจยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ขาดแคลนอาหารและบั่นทอนหลักมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง

ศ.หญิงรายได้สูง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถูกไล่ออกจากฮาร์วาร์ด ฐานบิดเบือนข้อมูลวิจัย

(30 พ.ค. 68) ฟรานเชสกา จิโน (Francesca Gino) อดีตศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์แห่ง Harvard Business School ซึ่งเคยมีรายได้สูงถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 36 ล้านบาท) ระหว่างปี 2018-2019 ถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกเพิกถอนตำแหน่งถาวร หลังผลสอบชี้ชัดว่าเธอมีการบิดเบือนข้อมูลในงานวิจัยถึง 4 ชิ้น เพื่อให้ผลลัพธ์สนับสนุนสมมติฐานของตนเอง

การสืบสวนเริ่มขึ้นในปี 2021 หลังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับงานวิจัยชื่อดังของจิโน ว่าด้วยการลงนามคำมั่นสัญญาความซื่อสัตย์ ซึ่งภายหลังถูกเพิกถอนเพราะพบหลักฐานปลอมแปลงข้อมูล การตรวจสอบเชิงลึกโดยมหาวิทยาลัย และบริษัทนิติวิทยาศาสตร์จากภายนอก พบการปรับแต่งข้อมูลในอีก 3 งานวิจัยที่เธอร่วมเขียนระหว่างปี 2012-2020

แม้จิโนจะออกมาปฏิเสธผ่านเว็บไซต์ส่วนตัวว่าไม่ได้กระทำการฉ้อโกงทางวิชาการ และอ้างว่าอาจเป็นความผิดของผู้ช่วยวิจัยหรือมีผู้เจตนาร้ายแทรกแซงข้อมูล แต่ผลสอบของมหาวิทยาลัยไม่ยอมรับคำชี้แจงดังกล่าว พร้อมเดินหน้าปลดเธอออกจากตำแหน่งโดยทันที และเสนอให้เพิกถอนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

จิโนถือเป็นศาสตราจารย์คนแรกของฮาร์วาร์ดที่ถูกเพิกถอนตำแหน่งในรอบกว่า 80 ปี เธอยังได้ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัย อดีตคณบดี และบล็อกเกอร์กลุ่ม Data Colada เรียกค่าเสียหาย 25 ล้านดอลลาร์ แต่คำร้องถูกศาลกลางในบอสตันปฏิเสธ โดยระบุว่างานวิจัยของเธอเป็นเรื่องที่เปิดให้สาธารณะวิจารณ์ได้ภายใต้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ

กรณีนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนในวงวิชาการสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งจิโนเคยเป็นนักวิจัยแนวหน้า ได้รับการตีพิมพ์บทความมากกว่า 140 ชิ้น และได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางจากสื่อมวลชนตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

‘สหพันธ์มวยโลก’ ลั่น!! ไม่อนุญาตให้ ‘อิมาน เคลิฟ’ ชกกับนักมวยหญิง เว้นแต่จะยินยอม!! เข้ารับการตรวจเพศ เพื่อแสดงว่ามี ‘โครโมโซม XX’

(31 พ.ค. 68)  เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

สหพันธ์มวยโลกประกาศว่า อิมาน เคลิฟ นักมวยชาวแอลจีเรีย จะไม่ได้รับอนุญาตให้แข่งขันกับนักมวยหญิงในรายการ Eindhoven Box Cup ที่จะจัดขึ้นในเร็วๆ นี้ เว้นแต่เคลิฟจะยินยอมเข้ารับการตรวจเพศ

ต่อไปนี้คณะกรรมการมวยสากลของแอลจีเรียจะต้องแสดงให้เห็นว่าเคลิฟมีโครโมโซม XX เพื่อที่จะแข่งขันกับผู้หญิงได้ในรายการมวยสากลโลกทั้งหมด

อดีตนาวิกโยธินอังกฤษ วัย 53 ปี ถูกตั้งข้อหาหนัก!! หลังขับรถพุ่งชนฝูงชน!! ในงานฉลองแชมป์ลิเวอร์พูล

(31 พ.ค. 68) Amthaipaper (หนังสือพิมพ์ไทยในอังกฤษ) รายงานว่า ชายชาวอังกฤษนาม Paul Doyle วัย 53 ปี จากย่าน West Derby เมืองลิเวอร์พูล อดีตนาวิกโยธินของกองทัพอังกฤษ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาหลายกระทง หลังจากเขาขับรถพุ่งชนกลุ่มแฟนบอลจำนวนมากในงานขบวนแห่ฉลองแชมป์ของสโมสร Liverpool FC จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากถึง เกือบ 80 คน บางรายอาการสาหัส

แม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นในช่วงขบวนแห่ที่ผู้คนหลั่งไหลกันมานับหมื่น แต่นาย Doyle ไม่ได้มาร่วมขบวนแห่แชมป์ ตามรายงานจากสื่อท้องถิ่น เขาขับรถมาส่งเพื่อนที่บริเวณใกล้เคียงจุดจัดงาน ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนว่าพฤติกรรมของเขาในขณะนั้นเป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้าหรือเกิดขึ้นด้วยเหตุอื่น

จากรายงานของตำรวจและสื่อหลายสำนัก นาย Paul Doyle ถูกตั้งข้อหาดังนี้
• ขับรถโดยประมาทอันตราย (Dangerous driving)
• ทำร้ายร่างกายสาหัสโดยเจตนา (Grievous bodily harm – GBH – with intent)
• พยายามทำร้ายร่างกายสาหัส (Attempted GBH)
• และทำร้ายร่างกายโดยมีเจตนา (Wounding with intent)

Paul Doyle คือใคร

Paul Doyle เป็นอดีตทหาร Royal Marine ที่เคยรับใช้ชาติ แต่หลังปลดประจำการ ดูเหมือนว่าเขาจะใช้ชีวิตเงียบ ๆ ในฐานะ คุณพ่อลูกสาม และถูกมองว่าเป็น คนรักครอบครัว (family man) โดยผู้ที่รู้จักใกล้ชิด

ภาพของเขาที่ยิ้มแย้ม นั่งเล่นกับลูก ๆ หรือสวมหมวกปาร์ตี้ในบรรยากาศครอบครัว ถูกนำมาเปรียบเทียบกับภาพขณะนั่งอยู่หลังพวงมาลัยในรถที่ใช้ก่อเหตุ ซึ่งสร้างความสับสนและตกใจให้กับสาธารณชนอย่างมาก

แม้จะมีบุคลิกดูอ่อนโยนและไม่มีประวัติน่ากังวลในอดีต แต่ข้อกล่าวหาจากทางการในครั้งนี้ชี้ว่าการกระทำของเขาอาจเกิดขึ้นโดยเจตนา ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่กำลังถูกสอบสวนอย่างละเอียด

คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีและการไต่สวนในชั้นศาล ผู้ต้องหายังไม่ได้รับการตัดสินว่ามีความผิดตามกฎหมาย ข่าวนี้เป็นการรายงานข้อกล่าวหาที่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะ

เด็กหนุ่มญี่ปุ่น ป.6 ทำโครงงานปิดเทอม สุดเจ๋ง!! นับรถทุกคันที่ไม่หยุดให้ข้ามทางม้าลาย ส่งตำรวจ

(31 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘JapanSalaryman’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

น้องโคตะคุง นักเรียนชั้นป.6 ต้องเดินข้ามทางม้าลายแถวบ้านทุกเย็น เพื่อไปเรียนพิเศษ

แต่ปัญหาคือ…
รถแทบทุกคัน “ไม่เคยหยุด” ให้เขาข้ามเลย
ไม่ว่าจะยกมือ โบกมือ หรือมองตากับคนขับก็แล้ว
ก็ยังไม่มีใครเบรกให้เลยสักคัน วิ่งผ่านหน้าตาเฉย
จนวันหนึ่งเขาตัดสินใจว่า “จะไม่ปล่อยผ่านอีกต่อไป”
เขายืนเฝ้าทางม้าลายวันละหลายชั่วโมง
และนับอย่างจริงจังเลยว่า “มีรถกี่คันที่ไม่หยุดให้ข้าม”
เป็นการเก็บข้อมูล

น้องทำตารางนับอย่างละเอียด ตั้งแต่ 7:30 เช้า ถึง 19:00 แบ่งช่วงเวลาเป็น 30 นาที ทำต่อเนื่อง 12 วันเต็ม ในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน

ผลที่ได้ออกมาว่า…
ช่วงที่รถไม่หยุดมากที่สุด คือเวลา 8:00–8:30 น. (ซึ่งตรงกับ 'ชั่วโมงเร่งด่วน' ของคนทำงาน) ช่วงนั้น เฉลี่ยแล้ว รถ 5 คันกว่า ๆ ถึงจะมีคันนึงหยุด

แต่น้องโคตะไม่ได้แค่นับจำนวนนะครับ เขายังวิเคราะห์ต่ออีกว่า คนขับแบบไหนที่หยุดให้…หรือไม่หยุดเลย?
1.คนที่ "ชอบหยุดให้ข้าม" คือ… คุณลุงหน้าตาใจดี, รถบรรทุกใหญ่ ๆ, หรือพี่ชายที่ดูโหดแต่กลับใจดี
2.คนที่ "มักไม่หยุดเลย" คือ… รถคันเตี้ย ๆ และคนขับที่เป็นคุณป้าหรือคุณยาย

ความรู้จากแม่ของโคตะช่วยเติมเต็มงานนี้อีกชั้น แม่เคยเล่าให้ฟังว่า ถ้าโดนจับข้อหาไม่หยุดให้คนข้าม จะต้องโดนปรับ 9,000 เยนต่อคัน! น้องเลยลอง “คำนวณค่าปรับทั้งหมด” จากข้อมูลที่ตัวเองนับมา ผลคือ… ถ้าตำรวจจับได้ครบ จะเก็บค่าปรับได้ถึง 5,742,000 เยน!! (9,000 เยน × 638 คันที่ไม่หยุด)

พอปิดเทอมจบ หลังจากสรุปข้อมูลทั้งหมด โคตะคุงส่งรายงานให้คุณครู พร้อมทั้ง.. ส่งรายงานนี้ให้กับสถานีตำรวจในพื้นที่ด้วย! ตำรวจอ่านแล้วประทับใจมาก จนตัดสินใจ “ใช้ข้อมูลของโคตะ” มาทำเป็น “ใบปลิวรณรงค์เรื่องความปลอดภัยหน้าทางม้าลาย” ในใบปลิวก็จะมี
– สถิติช่วงเวลาที่รถไม่หยุด
– ลักษณะของคนขับที่มีแนวโน้มจะหยุด / ไม่หยุด
– กราฟแสดงผลตามช่วงเวลาอย่างละเอียด

น้องโคตะพูดถึงผลของโครงงานนี้ว่า…
“ผมไม่ได้คาดหวังว่าทุกคันจะหยุด แต่อยากให้มีสักคัน ที่อ่านแล้วเริ่มหยุดให้คนข้าม
แค่นั้นผมก็ดีใจแล้วครับ”

ผมว่าเป็นโครงงานที่เรียบง่าย แต่จริงจังมาก เพราะอาจทำให้ทั้งเมืองต้องหันกลับมาสนใจเรื่องเล็ก ๆ ที่หลายคนมองข้ามได้เลยนะ ถ้าเป็นผมขับรถแล้วทำผิด แล้วมารู้ทีหลังว่าเด็ก ป.6 ยังใส่ใจกับเรื่องนี้ ก็คงรู้สึกอายเหมือนกันครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top