Saturday, 5 July 2025
World

‘จีน’ เปิดตัวระบบเข้ารหัสควอนตัมไฮบริด ‘รายแรกของโลก’ปกป้องการสื่อสารและข้อมูลสำคัญแบบเรียลไทม์ ระยะ 1,000 กม.

(23 พ.ค. 68) บริษัท ไชน่าเทเลคอม ควอนตัม กรุ๊ป ของจีน เปิดตัวระบบเข้ารหัสแบบไฮบริดเชิงพาณิชย์ระบบแรกของโลก ที่ออกแบบมาเพื่อรับมือกับการโจมตีจากคอมพิวเตอร์ควอนตัมในอนาคต โดยระบบนี้ผสานการกระจายกุญแจควอนตัม (Quantum Key Distribution - QKD) เข้ากับการเข้ารหัสหลังยุคควอนตัม (Post-Quantum Cryptography - PQC) เพื่อปกป้องการสื่อสารแบบเรียลไทม์และข้อมูลสำคัญ

ในขั้นสาธิต บริษัทได้ดำเนินการโทรศัพท์ผ่านการเข้ารหัสควอนตัมเป็นครั้งแรกของโลก ระหว่างปักกิ่งและเหอเฟย ครอบคลุมระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยใช้ระบบเข้ารหัสแบบผสาน ที่สามารถตรวจจับการดักฟังและทนทานต่ออัลกอริธึมควอนตัม ซึ่งอาจล้มล้างระบบเข้ารหัสสาธารณะแบบเดิมในอนาคต

ระบบไฮบริดของไชน่าเทเลคอมประกอบด้วยสามชั้นหลัก ได้แก่ ชั้นกระจายกุญแจควอนตัม ชั้นเข้ารหัสหลังยุคควอนตัม และชั้นแอปพลิเคชัน โดยเริ่มใช้งานจริงแล้วในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว ขณะที่เครือข่ายในเหอเฟยจะกลายเป็นระบบสื่อสารควอนตัมในเขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก รองรับหน่วยงานรัฐกว่า 500 แห่ง และรัฐวิสาหกิจอีกกว่า 380 ราย

การเปิดตัวครั้งนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นของจีนในการเป็นผู้นำด้านความมั่นคงควอนตัมเชิงพาณิชย์ ขณะประเทศตะวันตกยังอยู่ระหว่างพัฒนา ระบบดังกล่าวอาจเป็นต้นแบบในการปกป้องข้อมูลสำคัญทั่วโลก ก่อนที่คอมพิวเตอร์ควอนตัมระดับใช้งานจริงจะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

สหรัฐฯ คว่ำบาตรซูดานรอบใหม่ เพราะเมินกฎเหล็ก ใช้ ‘อาวุธเคมี’ โจมตีใส่พลเรือนและฝ่ายตรงข้าม

(23 พ.ค. 68) สหรัฐเตรียมคว่ำบาตรซูดานรอบใหม่ หลังพบการใช้ 'อาวุธเคมี' ในสงครามกลางเมือง โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า กองทัพซูดานใช้สารเคมีในปี 2024 ระหว่างสู้รบกับกลุ่มกึ่งทหาร RSF (Rapid Support Forces) โดยจะมีการจำกัดการส่งออกจากสหรัฐฯ ไปยังซูดาน และจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เริ่มมีผลตั้งแต่ 6 มิถุนายนนี้

แม้ก่อนหน้านี้ ทั้งกองทัพซูดานและ RSF ต่างถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงคราม ล่าสุดยังไม่มีรายละเอียดแน่ชัดว่าสหรัฐฯ พบอาวุธเคมีชนิดใด แต่รายงานจาก New York Times ระบุว่าซูดานเคยใช้ก๊าซคลอรีน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงถึงชีวิต

สหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลซูดานยุติการใช้อาวุธเคมีและปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี (CWC) โดยย้ำถึงเจตนารมณ์ในการเอาผิดผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการแพร่กระจายของอาวุธดังกล่าว ทั้งนี้ ซูดานเป็นหนึ่งในสมาชิกอนุสัญญาฯ ขณะที่อียิปต์ เกาหลีเหนือ และซูดานใต้ยังไม่เข้าร่วม

สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมาสองปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 150,000 คน ประชาชนกว่า 12 ล้านคนต้องพลัดถิ่น และอีก 25 ล้านคนต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านอาหาร สหรัฐฯ เคยคว่ำบาตรซูดานมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยระบุว่าผู้นำทั้งสองฝ่ายมีส่วนทำลายความหวังในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของประเทศ

‘เกาหลีเหนือ’ เร่งสอบสวน ‘เรือพิฆาตใหม่’ รั่วกลางพิธี ชี้ความเสียหายไม่หนัก แต่ผิดพลาดใหญ่หลวง

(23 พ.ค.68) สื่อทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า ทางการเริ่มการสอบสวนเหตุอุบัติเหตุระหว่างพิธีเปิดตัวเรือรบลำใหม่ขนาด 5,000 ตัน ที่อู่ต่อเรือชองจิน เมื่อวันที่ 21 พ.ค. โดยเรือประสบความเสียหายรุนแรงบริเวณกราบขวาและมีน้ำทะเลรั่วเข้าส่วนท้ายของเรือ

ผลการตรวจสอบเบื้องต้นชี้ว่าไม่มีรูรั่วที่ใต้ท้องเรือ แต่จำเป็นต้องใช้เวลา 2-3 วันในการปรับสมดุลของเรือ และใช้เวลาราว 10 วันในการซ่อมแซมอย่างเต็มรูปแบบ

คณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางของพรรคแรงงานเกาหลีออกแถลงการณ์ว่า แม้ความเสียหายจะไม่ร้ายแรง แต่ถือเป็น 'อาชญากรรมที่มิอาจให้อภัยได้' และยืนยันว่าจะตามหาผู้ที่ต้องรับผิดชอบให้ได้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ค. มีการเรียกตัวฮงกิลโฮ ผู้จัดการอู่ต่อเรือชองจิน เพื่อเข้าสู่กระบวนการสอบสวนและดำเนินการทางกฎหมายแล้ว

รมต.ต่างประเทศรัสเซีย อยากให้เลือกตั้งปธน.ยูเครนก่อนเซ็นสัญญา เกรง!! สัญญาอาจเป็นโมฆะ หากผู้ลงนาม ไม่มีอำนาจลงนามสันติภาพ

(24 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Ethan Hunts’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

รมต.ต่างประเทศรัสเซีย นายเซอร์เก ลาฟรอฟ เผย!! รัสเซียต้องการให้ยูเครนจัดการเลือกตั้ง ให้ได้ประธานาธิปดีเสียก่อน การตกลงสัญญาสันติภาพ

เนื่องจากทางการรัสเซียมองว่า นี่เป็นการรับประกันความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนยูเครน ลงนามรับรองสนธิสัญญา

น่าจะเกรงว่า สัญญาอาจเป็นโมฆะ หากผู้ลงนามไม่มีอำนาจลงนาม ก็เป็นได้

คาด!! ‘ทรัมป์’ จะอนุมัติการซื้อกิจการ US Steel ของ Nippon Steel ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับ ‘นายกฯญี่ปุ่น อิชิบะ’ ที่ล็อบบี้ให้มีการอนุมัติ

(24 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

อิชิบะพูดคุยทางโทรศัพท์กับทรัมป์ โดยเน้นย้ำข้อเท็จจริงที่ว่าการลงทุนของญี่ปุ่นในสหรัฐฯ จะสร้างงาน

ทรัมป์เผยในโซเชียล

“ข้าพเจ้าภูมิใจที่จะประกาศว่าหลังจากการพิจารณาและเจรจากันอย่างถี่ถ้วนแล้ว US Steel จะยังคงอยู่ในอเมริกา และยังคงตั้งสำนักงานใหญ่ในเมืองพิตต์สเบิร์กที่ยิ่งใหญ่ 

เป็นเวลาหลายปีที่ชื่อ "United States Steel" เป็นชื่อที่สื่อถึงความยิ่งใหญ่ และตอนนี้ก็จะเป็นอีกครั้ง 

นี่คือความร่วมมือที่วางแผนไว้ระหว่าง United States Steel และ Nippon Steel ซึ่งจะสร้างงานได้อย่างน้อย 70,000 ตำแหน่ง และเพิ่มมูลค่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ 

การลงทุนส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน 14 เดือนข้างหน้า นับเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเครือรัฐเพนซิลเวเนีย 

นโยบายภาษีศุลกากรของข้าพเจ้าจะทำให้มั่นใจได้ว่าเหล็กจะกลับมาผลิตในอเมริกาอีกครั้ง ตั้งแต่เพนซิลเวเนียไปจนถึงอาร์คันซอ และตั้งแต่มินนิโซตาไปจนถึงอินเดียนา 

AMERICAN MADE กลับมาแล้ว ข้าพเจ้าจะพบกับพวกคุณทุกคนในงาน US Steel ที่พิตต์สเบิร์กในวันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคมนี้ เพื่อร่วมการชุมนุมครั้งใหญ่ ขอแสดงความยินดีกับทุกคน”

ความสำเร็จในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน และเวียดนาม ซึ่งปกครองด้วย พรรคคอมมิวนิวต์ พรรคเดียว

(24 พ.ค. 68) ศ.เจมส์ โรบินสัน ผู้ร่วมเขียนหนังสือ Why Nations Fail ให้กับบีบีซีไทย 
ได้ให้ความเห็น เกี่ยวกับความสำเร็จในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน และเวียดนาม 
ซึ่งปกครองด้วย พรรคคอมมิวนิวต์ พรรคเดียว โดยได้ระบุว่า ...

ถ้าคุณกำลังพิจารณาว่าประเทศจะไปในทิศทางใดในอีก 10 ปีข้างหน้า หรืออนาคตจะเป็นอย่างไร ผมจะมองไปว่าประเทศเหล่านี้ได้สร้างสถาบันทางการเมืองแบบครอบคลุมไว้มากน้อยแค่ไหน 

ประเทศเวียดนามน่าจะยังห่างไกล จากการมีระบบการเมืองที่ชอบทำและมีความครอบคลุมเมื่อเทียบกับประเทศไทย ประเทศเวียดนามโดยพื้นฐานแล้วยังคงถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ พวกเขาเรียนรู้จากช่วงทศวรรษ 1980 ที่พวกเขาทำแบบเดียวกัน 

พวกเขาเรียนรู้จากจีนและเติ้งเสี่ยวผิง สิ่งที่เติ้งเสี่ยวผิงทำ และพวกเขาก็ตระหนักว่าถ้าเราทำสิ่งนี้ในเวียดนามมันจะดี แล้วมันก็ดีจริงๆในทางเศรษฐกิจไม่มีข้อสงสัยเลย แต่ยังคงมีคำถามข้อนี้เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่าน จะเกิดอะไรขึ้นในประเทศเวียดนาม ตอนที่พักคอมมิวนิสต์สูญเสียอำนาจ ซึ่งผมคิดว่ามันเรื่องไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น

ผมคิดว่าสิ่งที่หลักฐานโชว์ก็คือ ประชาธิปไตยช่วยส่งเสริมการจัดสรรสินค้าสาธารณะ ประชาธิปไตยเป็นสิ่งดี สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในทุกที่ทั่วโลก 

แต่สิ่งที่คุณเห็นได้จากกรณีของเอเชียตะวันออกก็คือ กรณีที่ประสบความสำเร็จด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจแม้ปราศจากประชาธิปไตย 

จริงๆแล้วมันมีตัวอย่างเช่นนี้มากมายในประวัติศาสตร์โลก แต่สำหรับทุกๆ 1 ประเทศที่รัฐบาลเผด็จการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจได้สำเร็จ สามารถยกตัวอย่างอื่นๆได้อีก 5 ประเทศที่รัฐบาลเผด็จการทำให้ประเทศยากจนลง

และก็มีอีกหลายกรณีเช่น เรื่องการเติบโตของ AI ในจีนรวมถึงเทคโนโลยี 

ซึ่งนี่คล้ายกับสหภาพโซเวียตมาก สหภาพโซเวียตเคยทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาล และจัดสรรบุคลากรที่เก่งๆไปยังการพัฒนาอาวุธ อาวุธทางทหาร รถถัง จรวด ขีปนาวุธอาวุธนิวเคลียร์ พวกเขาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองขึ้นมา และรัฐบาลจีนก็กำลังทำในสิ่งเดียวกันกับ AI จีนทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาลลงไปใน AI เพราะพวกเขาเชื่อว่า นี่คือเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับเป้าหมายในการรักษาการควบคุมสังคมของตัวเอง พวกเขาสามารถใช้มันได้ มันจะช่วยเพิ่ม ผลิตผลทางการผลิต 

แต่มันก็อนุญาตให้พวกเขาจับตาและควบคุมประชาชน คล้ายกับรูปแบบของเผด็จการเบ็ดเสร็จ มันจะได้ผลไหม ก็ไม่รู้ มีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่มากในตอนนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งนี้จะดีหรือไม่ มันอาจจะแตกต่างอย่างมากจากกรณีของสหภาพโซเวียตก็ได้ 

จีนอาจสามารถผสมผสานรวมโลกสมัยใหม่ กับเทคโนโลยี ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน พร้อมกับการควบคุมประชาชน และบางทีมันก็อาจจะจริง และเทคโนโลยีอาจทำให้ทฤษฎีในหนังสือของเราไม่สอดคล้องกับโลกยุคนี้ อีกต่อไปก็ได้ ซึ่งในปัจจุบันเรายังไม่รู้ว่าจีนจะสามารถทำแบบนั้นได้หรือไม่

ว่าที่สมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียม ต้องกลายเป็นผู้ประสบภัยทางการศึกษา จากนโยบายของทรัมป์ ที่ออกคำสั่งห้าม!! ‘ฮาร์วาร์ด’ รับนักศึกษาต่างชาติ

(24 พ.ค. 68) หนึ่งในผู้ประสบภัยคำสั่งห้ามฮาร์วาร์ดรับนักศึกษาต่างชาติของ โดนัลด์ ทรัมป์ คือ เจ้าหญิง เอลีซาแบ็ต เตแรซ มารี เอแลน ดัชเชสแห่งบราบันต์ รัชทายาทลำดับที่หนึ่งในการสืบราชบัลลังก์เบลเยียม

เจ้าหญิง เอลีซาแบ็ต กำลังศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะ ที่ฮาร์วาร์ด และกำลังจะขึ้นปีที่ 2 เพื่อจบหลักสูตร ก่อนหน้านี้พระองค์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ และ รัฐศาสตร์มาแล้วจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ของอังกฤษ 

แต่จากคำสั่งของรัฐบาลทรัมป์ ที่เพิกถอนสิทธิ์การรับนักศึกษาต่างชาติของฮาร์วาร์ด ที่จะทำให้นักศึกษาต่างชาติทุกคนต้องย้ายไปเรียนที่สถาบันอื่น มิฉะนั้นจะถูกเพิกถอนวีซ่า ไม่เว้นแม้แต่ว่าที่สมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียม ที่ต้องกลายเป็นผู้ประสบภัยทางการศึกษาของทรัมป์

นักลงทุนโวย!! เวียดนามหั่น!! เงินสนับสนุน ‘โซลาร์ - วินด์ฟาร์ม’ เสี่ยงเบี้ยวหนี้ระลอกใหญ่

(24 พ.ค. 68) บริษัทสาธารณูปโภคไฟฟ้าของรัฐในเวียดนามมีการปรับลดอัตราเงินสนับสนุนที่เคยตกลงไว้กับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และลมบางแห่งลง ซึ่งส่งผลให้การลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้เสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้

สำหรับคำร้องดังกล่าวลงวันที่ 16 พฤษภาคม และส่งถึงผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของเวียดนาม สืบเนื่องจากคำเตือนก่อนหน้านี้ของกลุ่มนักลงทุนกลุ่มเดียวกัน

โดยเตือนว่าเม็ดเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายเงินสนับสนุนของรัฐ ทั้งที่เวียดนามยังคงพยายามผลักดันการเติบโตของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว

คำร้องระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2025 บริษัทในเครือของการไฟฟ้าแห่งชาติเวียดนาม (Electricity of Vietnam: EVN) ได้เริ่มระงับการจ่ายเงินบางส่วน 

และใช้อัตราค่าธรรมเนียมไฟฟ้าชั่วคราว (provisional tariff) ที่กำหนดเองโดยฝ่ายเดียว

นักลงทุนรายหนึ่งที่ลงนามในคำร้องกล่าวว่าการดำเนินการนี้ได้บังคับให้บริษัทต้องละเมิดข้อตกลงกับธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งทำให้บริษัทมีความเสี่ยงอย่างมากต่อการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากบริษัทต้องเผชิญกับปัญหาการชำระหนี้และขาดกระแสเงินสดในการดำเนินงาน

โดยมีผู้ถือหุ้นต่างชาติจำนวน 16 รายร่วมลงนามในจดหมายฉบับนี้ อาทิ บริษัทร่วมทุน Dragon Capital, สาขาในเวียดนามของกลุ่มพลังงาน ACEN จากฟิลิปปินส์ รวมถึงนักลงทุนจากไทย จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ นอกจากนั้นยังมีผู้พัฒนาโครงการท้องถิ่นอีกหลายรายร่วมสนับสนุนจดหมาย

การบูมของพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามเริ่มต้นจากอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามนโยบาย (feed-in tariffs: FiTs) ที่น่าสนใจ รัฐบาลรับประกันการรับซื้อไฟฟ้านาน 20 ปี ที่ราคาสูงกว่าตลาด เป็นแรงจูงใจสำคัญให้ผู้ผลิตพลังงาน จะไม่ถูกนำมาใช้กับโครงการที่ละเมิดแนวทางข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังไม่ได้ชี้แจงว่าได้รับใช้กฎเกณฑ์ย้อนหลังหรือไม่ หรือโครงการใดที่ได้รับผลกระทบบ้าง

‘ผบ.ทหารสูงสุดไทย’ ร่วมหารือ!! ‘ผู้นำทหารจีน’ จับมือปราบ!! ‘แก๊งคอลฯ-ยาเสพติด-ค้ามนุษย์’

เมื่อวานนี้ (23 พ.ค. 68) พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผอ.ศอ.ปชด. พร้อมด้วย พลเอกอุกฤษฎ์ บุญตานนท์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด  และคณะ เข้าเยี่ยมคำนับ พลเอก หลิว เจิ้นลี่ ประธานกรมกิจการเสนาธิการร่วม กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน สมาชิกกรรมาธิการทหารกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้แทนกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ณ กระทรวงกลาโหม สาธารณรัฐประชาชนจีน กรุงปักกิ่ง โดยมีพิธีตรวจแถวทหารกองเกียรติยศต้อนรับอย่างสมเกียรติ

โดยมีการประชุมหารือความร่วมมือของ 2 กองทัพ  โดยมี รายงาน ว่า  มีการหารือ การจัดการปัญหาตามแนวชายแดน เมียนมา  ทั้งเรื่อง call center ยาเสพติด และการค้ามนุษย์  ที่ก่อนหน้านี้ ทางการจีน ร่วมมือกับ  ศอ.ปชด. ในการแก้ไขปัญหา  และส่งกลับ ชาวจีน และ อีก หลายประเทศที่เกี่ยวข้องกับแก๊งค์ คอลเซ็นเตอร์กับประเทศ

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในด้านยุทธศาสตร์  ในการสร้างความมั่นคงในภูมิภาค และการฝึกร่วม

‘ผู้พิพากษาสหรัฐฯ’ ขวาง!! รัฐบาลทรัมป์ กรณีเพิกถอนสถานะทางกฎหมาย ‘นศ.ต่างชาติ’

(24 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

เจฟฟรีย์ ไวท์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งห้ามรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพิกถอนสถานะทางกฎหมายของนักศึกษาชาวต่างชาติที่ศึกษาและทำงานอยู่ในสหรัฐฯ โดยปราศจากการพิจารณารายบุคคล รวมถึงห้ามจับกุมหรือกักขังนักศึกษาที่เกิดในต่างประเทศโดยอ้างอิงสถานะผู้อพยพเพียงอย่างเดียว

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยุติการบันทึกข้อมูลชาวต่างชาติหลายพันคนในฐานข้อมูล "ระบบข้อมูลนักศึกษาและผู้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยน" (SEVIS) ของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเมื่อเดือนเมษายนด้วยข้ออ้างปราบปรามนักศึกษาชาวต่างชาติที่มีประวัติอาชญากรรม ทำให้นักศึกษาชาวต่างชาติสูญเสียสถานะทางกฎหมายในสหรัฐฯ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศ

คำสั่งห้ามของวันพฤหัสบดี (22 พ.ค.) ยังห้ามรัฐบาลสหรัฐฯ โอนย้ายโจทก์ในคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาไปยังเขตอำนาจศาลนอกถิ่นพำนักอาศัย ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการบรรเทาความวิตกกังวลครั้งแรกแก่นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ โดยไวท์ระบุว่ารัฐบาลภายใต้การนำของทรัมป์ "สร้างหายนะ" แก่ชีวิตความเป็นอยู่ของโจทก์ รวมถึงนักศึกษาชาวต่างชาติคนอื่นๆ

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ได้เพิกถอนการรับรองมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดภายใต้โครงการนักศึกษาและผู้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเมื่อวันพฤหัสบดี (22 พ.ค.) ซึ่งส่งผลให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไม่สามารถรับสมัครนักศึกษาชาวต่างชาติใหม่เข้าเรียนได้

ด้านมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยื่นฟ้องร้องในวันศุกร์ (23 พ.ค.) ซึ่งผู้พิพากษาในรัฐแมสซาชูเซตส์ได้อนุมัติคำสั่งยับยั้งการเพิกถอนดังกล่าวเป็นการชั่วคราว เพื่ออนุญาตนักศึกษาชาวต่างชาติสามารถลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดต่อไปได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top