Sunday, 6 July 2025
World

‘ทรัมป์’ จ่อเก็บภาษีนำเข้าภาพยนตร์ต่างชาติ 100% อ้างปกป้อง ‘ฮอลลีวูด’ จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

(9 พ.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เขาเตรียมเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 100% สำหรับภาพยนตร์ที่ผลิตจากต่างประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันที่ “กำลังจะตายอย่างรวดเร็วมาก” และมอบหมายให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ดำเนินการทันที

ทรัมป์วิจารณ์ประเทศอื่น ๆ ว่ามีความพยายามร่วมกันในการเสนอแรงจูงใจดึงดูดผู้สร้างภาพยนตร์ ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ” พร้อมระบุว่าภาพยนตร์จากต่างประเทศมักแฝงข้อความโฆษณาชวนเชื่อ พร้อมย้ำผ่านแพลตฟอร์มทรูธโซเชียล ว่า “เราต้องการให้ภาพยนตร์สร้างขึ้นในอเมริกาอีกครั้ง!”

นับตั้งแต่กลับสู่ทำเนียบขาวเมื่อต้นปี ทรัมป์ได้เดินหน้านโยบายภาษีศุลกากรอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 145% และอาจพุ่งถึง 245% สำหรับสินค้าบางรายการ ส่งผลให้จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ 125% ท่ามกลางความกังวลว่าการเผชิญหน้าทางภาษีอาจซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก

ล่าสุด ทรัมป์เผยระหว่างเดินทางบนเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วัน ว่า เขากำลังเจรจาการค้ากับหลายประเทศ รวมถึงจีน แต่ยังไม่มีแผนพบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในสัปดาห์นี้ และกล่าวเพียงว่า “อาจจะมีข้อตกลงเกิดขึ้นก็ได้” โดยไม่เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม

นายกฯ สโลวาเกีย ฝ่ากระแสต้านจาก EU…ยอมบินอ้อมน่านฟ้าบอลติก มุ่งหน้าร่วมขบวนพาเหรด ‘วันแห่งชัยชนะ’ ของรัสเซียในกรุงมอสโก

(9 พ.ค. 68) โรเบิร์ต ฟิโก นายกรัฐมนตรีสโลวาเกีย ออกเดินทางจากบราติสลาวาเมื่อวันพฤหัสบดี โดยใช้เส้นทางอ้อมผ่านฮังการี โรมาเนีย ทะเลดำ และจอร์เจีย เพื่อเดินทางไปร่วมขบวนพาเหรดวันแห่งชัยชนะของรัสเซียในกรุงมอสโก หลังจากลิทัวเนียและประเทศบอลติกอื่นๆ ปฏิเสธไม่ให้น่านฟ้าแก่เที่ยวบินของเขา

ฟิโกถือเป็นผู้นำสหภาพยุโรปเพียงไม่กี่คนที่มีกำหนดเข้าร่วมพิธี 'วันแห่งชัยชนะ' วันที่ 9 พฤษภาคม ที่จัดขึ้นโดยมีประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เป็นเจ้าภาพ พร้อมด้วยผู้นำจากนานาชาติรวมกว่า 24 คน รวมถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ขณะเดียวกันลิทัวเนียยืนยันปิดน่านฟ้าสำหรับเที่ยวบินที่นำตัวโรเบิร์ต ฟิโกและผู้นำเซอร์เบียไปยังรัสเซีย

อย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศในแถบบอลติกแสดงจุดยืนแข็งกร้าวต่อรัสเซีย โดยลัตเวียและเอสโตเนียต่างไม่อนุญาตให้เที่ยวบินดังกล่าวผ่านอาณาเขตของตน ฟิโกระบุทางเฟซบุ๊กว่าการปฏิเสธนี้ “ทำให้ตารางงานของเราซับซ้อนยิ่งขึ้น” นอกจากนี้เส้นทางที่ผ่านยูเครนและเบลารุสก็ยังคงถูกหลีกเลี่ยง เนื่องจากยังมีภัยจากสงคราม

ทั้งนี้ ฟิโกยังมีกำหนดเข้าร่วมประชุมทวิภาคีและพิธีวางพวงหรีดในมอสโก การตัดสินใจเดินทางไปยังรัสเซียในครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการท้าทายต่อแนวทางของสหภาพยุโรป ซึ่งอดีตนายกฯ เอสโตเนีย คาจา คัลลาส เพิ่งเรียกร้องให้บรรดาผู้นำหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองของรัสเซีย โดยนักวิจารณ์ชี้ว่าฟิโกกำลังพาสโลวาเกียเข้าใกล้มอสโกมากเกินไป

‘สีจิ้นผิง-ปูติน’ ลงนามแถลงการณ์ร่วม ยกระดับพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ ประกาศต้านนโยบาย ‘ปิดกั้นสองชั้น’ ของสหรัฐฯ ที่บ่อนทำลายเสถียรภาพโลก

(9 พ.ค. 68) จีนและรัสเซียประกาศยกระดับการประสานงานและความร่วมมือ เพื่อตอบโต้นโยบาย 'ปิดกั้นสองชั้น' (Double Containment) ที่สหรัฐฯ กำลังดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยชี้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความพยายามของวอชิงตันในการจำกัดอิทธิพลของทั้งจีนและรัสเซียในเวทีระหว่างประเทศ พร้อมแสดงจุดยืนคัดค้านการยุยงให้ประเทศอื่นมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย

สำหรับการ 'ปิดกั้นสองชั้น' หมายถึงแนวนโยบายที่สหรัฐฯ และพันธมิตรใช้ควบคุมจีนและรัสเซียไปพร้อมกัน ผ่านมาตรการทางการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการทูต เช่น การคว่ำบาตร, การจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี, การขยายอิทธิพลนาโต้ในเอเชีย-แปซิฟิก และการสนับสนุนกลุ่มประเทศให้แยกตัวจากจีน-รัสเซีย ทั้งสองประเทศมองว่านี่คือความพยายาม 'ตีวงล้อม' ที่บ่อนทำลายเสถียรภาพโลก

ทั้งนี้ แถลงการณ์ร่วมที่ลงนามโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และวลาดิเมียร์ ปูติน ระบุว่า จีนและรัสเซียจะร่วมกันต่อต้านการติดตั้งระบบอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การขยายนาโต้ไปทางตะวันออก และการสร้าง 'วงขนาดเล็ก' เพื่อจำกัดอิทธิพลของชาติอื่น พร้อมยืนยันว่า ความร่วมมือของทั้งสองประเทศเป็นปัจจัยสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในระดับโลก

‘จีน-รัสเซีย’ จับมือหนุนสหประชาชาติ (UN) เป็นแกนกลางกำกับ AI หวังต้านอิทธิพลบางประเทศ…ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือแบ่งขั้วอำนาจโลก

(9 พ.ค. 68) จีนและรัสเซียร่วมแสดงจุดยืนสนับสนุนให้องค์การสหประชาชาติ (UN) รับบทบาทหลักในการกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเน้นว่ากระบวนการดังกล่าวต้องดำเนินไปอย่างเคารพอธิปไตยของแต่ละประเทศ ยึดถือกฎหมายภายใน และยืนอยู่บนพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริมการใช้ AI อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมในระดับสากล

สองชาติมหาอำนาจระบุว่า AI ควรเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่อาวุธเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศใด พร้อมคัดค้านการผูกขาดความรู้ การจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี หรือการสร้าง 'กำแพงเทคโนโลยี' ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในเวทีโลก และทำลายโอกาสของประเทศกำลังพัฒนา

จีนและรัสเซียยังคัดค้านการทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือแนวทางที่นำไปสู่การตัดขาดห่วงโซ่อุปทานระดับโลก พร้อมประกาศสนับสนุนซึ่งกันและกันในการจัดการประชุมสำคัญด้าน AI เช่น การประชุม AI โลก ปี 2025 และเวทีระดับสูงว่าด้วยการกำกับดูแล AI เพื่อส่งเสริมการสร้างมาตรฐานที่ทุกประเทศมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

รัสเซียยังชื่นชมจีนที่ผลักดันมติ “ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถ AI” ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมัชชาใหญ่ UN และพร้อมเปิดรับข้อเสนอของจีนเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการ AI เพื่อทุกคน โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือผ่านเวทีระหว่างประเทศ อาทิ กลุ่ม BRICS และพันธมิตรความร่วมมือ AI พหุภาคี เพื่อผลักดันวิสัยทัศน์ AI ที่ยั่งยืน ยุติธรรม และเป็นสากล

‘บิล เกตส์’ ประณาม ‘อีลอน มัสก์’ มีส่วนฆ่าเด็กยากจน ปมยกเครื่อง USAID ตัดงบช่วยเหลือต่างประเทศในยุคทรัมป์

(9 พ.ค. 68) บิล เกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟต์และนักการกุศลชื่อดัง ออกโรงวิจารณ์อีลอน มัสก์อย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่ามัสก์มีส่วนทำให้เด็กในประเทศยากจนเสียชีวิต จากบทบาทของเขาในการผลักดันการตัดงบสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ระหว่างรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์

ในการให้สัมภาษณ์กับ The New York Times และ Financial Times เกตส์กล่าวว่า การตัดงบดังกล่าวทำลายความก้าวหน้าในการต่อสู้กับโรคร้ายอย่างหัด เอชไอวี และโปลิโอที่ใช้เวลากว่าสองทศวรรษสร้างมา พร้อมเปรียบเปรยว่ามัสก์ได้ 'โยน USAID เข้าเครื่องย่อยไม้'

บิล เกตส์ ยังตั้งคำถามถึงความจริงจังของมัสก์ต่อคำมั่นสัญญาภายใต้ 'Giving Pledge' ซึ่งเขาเคยลงนามว่าจะบริจาคทรัพย์สินอย่างน้อยครึ่งหนึ่งให้การกุศล พร้อมเน้นย้ำว่าแม้มัสก์อาจเป็นผู้ใจบุญในอนาคต แต่ปัจจุบันเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับความตายของเด็กยากไร้จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม โฆษกทำเนียบขาวออกมาปกป้องมัสก์ โดยระบุว่าเขาเป็นผู้รักชาติที่ช่วยรัฐบาลขจัดความสิ้นเปลืองและทุจริต พร้อมเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภายกย่องความพยายามของมัสก์ในการผลักดันวอชิงตันให้โปร่งใส

ทั้งนี้ คำกล่าวของเกตส์มีขึ้นในช่วงที่มูลนิธิเกตส์ครบรอบ 25 ปี โดยเขาให้คำมั่นว่าจะบริจาคทรัพย์สินทั้งหมดภายใน 20 ปีข้างหน้า รวมมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อผลักดันภารกิจด้านสาธารณสุขและการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนา

‘ดร.กอบศักดิ์’ วิเคราะห์!! สหรัฐอเมริกา กำลังด้อยค่า องค์กรระดับโลก ได้มาซึ่งระบบใหม่ ที่มาจากอำนาจเก่า จบด้วยการที่ ‘Changes’ ไม่ยืนยาว

(10 พ.ค. 68) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีใจความว่า...

Changes are Coming แต่จะไม่ยืนยาว ไม่ถาวร!!!

ด้วยมุมมองของผู้นำสหรัฐแบบนี้ ไม่น่าแปลกใจที่ระเบียบโลก องค์กรต่าง ๆ ที่ถูกสร้างและใช้มา 80 ปี กำลังถูกไม่ให้ค่า และกำลังตกเป็นเป้าที่จะต้องถูกจัดการ WTO IMF World Bank UN NATO แต่ความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ของสิ่งที่สหรัฐกำลังทำ ก็คือ ระบบที่ไม่ได้มาจากการยอมรับจากทุกคน ไม่ได้ฉันทานุมัติสร้างด้วยกำปั้น ฉันจะเอาอย่างนี้ ทุกคนจำยอมจะอยู่ได้นานเท่ากับ 'ความเข้มแข็งของกำปั้น' นั้น ต่อให้สร้างขึ้นมาได้ แต่เมื่อความถดถอย เสื่อมถอยมาเยือน ระบบที่ถูกสร้างขึ้นด้วยอำนาจกำปั้นก็จะเสื่อมถอยอย่างรวดเร็วเช่นกัน เฉกเช่นเดียวกับอาคารที่ตั้งอยู่บนเสาต้นเดียว เมื่อเสาต้นนั้นโคลงเคลง ไม่แข็งแรง สุดท้ายก็จะล้มลงมาเช่นกัน  

ทั้งนี้ สิ่งที่สหรัฐทำ จะสำเร็จอย่างถาวร จะสามารถสร้างระเบียบโลกใหม่ได้อีกรอบ ที่ยืนยาว ตั้งมั่น เลี้ยงตัวเองได้เหมือนกับรอบที่แล้วที่อยู่กันมาได้ 80 ปี หรือไม่จะขึ้นกับนโยบายสำคัญ ๆ ที่สหรัฐยังไม่ได้เดินหน้าโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้
- คน
- ประสิทธิภาพการผลิต
- เทคโนโลยี นวัตกรรม
- ขนาดของเศรษฐกิจและการค้า ของสหรัฐกลับมาเป็นผู้นำของโลกอย่างแท้จริง เพราะถ้าไม่แก้สิ่งเหล่านี้ ไม่มุ่งสร้าง Fundamentals และ Foundations ใหม่ที่จะนำไปสู่การสร้างอำนาจใหม่ ที่แท้จริง

สิ่งที่จะได้ก็คือ ระบบใหม่ ที่มาจากอำนาจเก่า ที่กำลังทรุดโทรมลง จบด้วยการที่ 'Changes' ไม่ยืนยาว 'ระบบใหม่ที่พยายามสร้าง' ไม่ถาวร มาดูกันครับว่า จะเป็นเช่นนี้หรือไม่ 

ปล. หากทุกอย่างจะเป็นเช่นนี้ โลกจะเดินไปอย่างนี้ในช่วงการเปลี่ยนแปลงสำคัญ รอบนี้อาจจะดี ที่ทุกประเทศที่เหลือระหว่างที่ 'ยอมเดินไปกับเขา' มาเตรียมการวางรากฐานของ 'บ้านใหม่' ที่มาจากความยอมรับของทุกคนอย่างแท้จริง เพราะ ฉันทามติ ความยอมรับของทุกฝ่าย คือ หัวใจที่แท้จริงของความยั่งยืน 

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เตรียมประกาศรับรอง!! ‘ปาเลสไตน์’ ในการประชุมสุดยอดระหว่าง ‘สหรัฐฯ - อ่าวเปอร์เซีย’

(10 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

ซาอุดีอาระเบียมีกำหนดจะจัดการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐและอ่าวเปอร์เซียในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งแรกของโดนัลด์ ทรัมป์ในช่วงดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง โดยการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2017 ในช่วงดำรงตำแหน่งสมัยแรกของทรัมป์

การประชุมสุดยอดซึ่งจัดขึ้นที่กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย มีการคาดการณ์ล่วงหน้ามากมายเกี่ยวกับการประกาศที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อ้างถึง โดยระบุว่าเป็น 'การประกาศที่สำคัญมาก' ในระหว่างการประชุมกับจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม

นอกเหนือจากสิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ตั้งใจจะประกาศแล้ว วาระการประชุมสุดยอด ข้อตกลง และข้อตกลงต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก็กลายเป็นหัวข้อสนทนาของเมือง ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงด้านความปลอดภัยและการทหาร ข้อตกลงด้านเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์

ผู้นำอ่าวอาหรับทุกคนมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอ่าวเปอร์เซีย-สหรัฐฯ ยกเว้นกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิส ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมงานสาธารณะหรือการประชุมเป็นเวลานานเนื่องจากพระองค์มีพระอาการป่วย

*** ทรัมป์จะยอมรับรัฐปาเลสไตน์หรือไม่??

แหล่งข่าวทางการทูตจากอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อหรือเปิดเผยจุดยืนของตน กล่าวกับ The Media Line ว่า "ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะออกคำประกาศเกี่ยวกับสถานะปาเลสไตน์และการรับรองของอเมริกา และจะมีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์โดยไม่มีกลุ่มฮามาสเข้าร่วม"

แหล่งข่าวยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “หากอเมริกาประกาศรับรองปาเลสไตน์ นั่นจะเป็นการประกาศครั้งสำคัญที่สุดที่จะเปลี่ยนสมดุลอำนาจในตะวันออกกลาง และจะมีประเทศอื่นๆ เข้าร่วมข้อตกลงอับราฮัมมากขึ้น”

แหล่งข่าวยืนยันว่าจะมีข้อตกลงทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่หลายข้อตกลงก็ประกาศไปแล้ว และเราอาจได้เห็นรัฐอ่าวเปอร์เซียได้รับการยกเว้นภาษี

อาเหม็ด อัล-อิบราฮิม อดีตนักการทูตอ่าวเปอร์เซีย กล่าวกับ The Media Line ว่า “ผมไม่คิดว่าจะเกี่ยวกับปาเลสไตน์ ประธานาธิบดีอียิปต์ อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี และกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 แห่งจอร์แดนไม่ได้รับเชิญ พวกเขาเป็น 2 ประเทศที่ใกล้ชิดกับปาเลสไตน์มากที่สุด และจะเป็นเรื่องสำคัญมากที่พวกเขาจะต้องเข้าร่วมงานใดๆ เช่นนี้”

อัล-อิบราฮิมยังกล่าวอีกว่า “จะมีข้อตกลงสำคัญๆ เกิดขึ้น อาจจะคล้ายกับที่เกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดอ่าวเปอร์เซีย-สหรัฐในปี 2017 โดยข้อตกลงระหว่างซาอุดิอาระเบียมีมูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ อย่าลืมว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศการลงทุนในสหรัฐมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ และซาอุดิอาระเบียประกาศการลงทุนมูลค่ามากกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์”

เขากล่าวต่อว่า “นี่เป็นเรื่องชัดเจนเพราะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตั้งใจที่จะเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกาตาร์หลังจากเสร็จสิ้นการเยือนซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นสองเศรษฐกิจสำคัญที่มีแหล่งเงินทุนที่สำคัญและมีการลงทุนครั้งใหญ่ในสหรัฐ”

Ahmed Boushouki นักวิเคราะห์การเมืองชาวซาอุดีอาระเบีย กล่าวกับ The Media Line ว่านี่เป็นเรื่องข้อตกลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย บางทีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ อาจกล่าวเป็นนัยถึงเรื่องนี้เมื่อเขาบอกกับชาวอเมริกันว่า ซื้อหุ้นตอนนี้ ก่อนที่จะมีการประกาศครั้งใหญ่ในอีกสองวันข้างหน้า

เกี่ยวกับข่าวความร่วมมือทางนิวเคลียร์อย่างสันติระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบียในการผลิตไฟฟ้าในซาอุดีอาระเบีย Boushouki กล่าวว่า "ซาอุดีอาระเบียได้ประกาศโครงการมาตั้งแต่ปี 2010 และมีการหารือเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว ปัจจุบัน บริษัทต่างชาติกำลังดำเนินการเพื่อดำเนินโครงการเหล่านี้ในซาอุดีอาระเบีย"

ขณะนี้ ซาอุดีอาระเบียกำลังมีแผนที่จะสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งแรกของซาอุดีอาระเบีย โดยมีบริษัทต่างชาติหลายแห่งแข่งขันกันออกแบบและสร้างเตาปฏิกรณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านในอ่าวเปอร์เซียอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นเจ้าของเตาปฏิกรณ์ Barakah อยู่แล้ว และเป็นประเทศอาหรับเพียงประเทศเดียวที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สี่เตาปฏิกรณ์ โดยร่วมมือกับบริษัทของเกาหลี

ปูติน-สี จิ้นผิง ร่วมสวนสนาม ประกบอดีตทหารผ่านศึกสงครามโลก วัย 99 และ 101 ปี

(10 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Ethan Hunts’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

ผู้อาวุโส 2 ท่านที่นั่งชมสวนสนาม ประกบผู้นำจีน และรัสเซีย คือ แขกพิเศษของ ปธน.ปูติน นั่งติดกับ ปธน.จีน คืออิวาน มาตินุชกิน วัย 101 ปี อดีตทหารโซเวียตในสมรภูมิยูเครน เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง

ที่นั่งติดกับ ปธน.รัสเซีย คือนายเยฟเกนี่ ซนาเมนสกี้ วัย 99 ปี จากเบลารุสที่บุกเบอร์ลิน ในปี 1945

‘รัสเซีย’ อาวุธยุทโธปกรณ์หมด พ่ายศึก!! ‘ยูเครน’ คำพยากรณ์ที่ไม่อาจเป็นจริงของ ‘นายพลเสื้อส้ม’

เมื่อวานนี้ (9 พ.ค. 68) สหพันธรัฐรัสเซียได้จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี วันแห่งชัยชนะเหนือนาซีเยอรมนีอย่างยิ่งใหญ่ ในคืนวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 (เป็นเวลาหลังเที่ยงคืน จึงเป็นวันที่ 9 พฤษภาคม ตามเวลามอสโก) รัฐบาลโซเวียตได้ประกาศชัยชนะในเช้าวันที่ 9 พฤษภาคม 1945 หลังพิธีลงนามในการตกลงยอมจำนนของนาซีเยอรมนีต่อสหภาพโซเวียตในกรุงเบอร์ลินแล้ว รัฐบาลโซเวียตและรัสเซียในปัจจุบันได้จัดให้มีการจัดการสวนสนามทางทหารอย่างยิ่งใหญ่ ณ จัตุรัสแดงกลางเมืองในกรุงมอสโก เพื่อเป็นการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพแดง และรำลึกถึงเหล่าทหารผ่านศึกของกองทัพแดงในสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย ซึ่งทำให้พลเมืองของสหภาพโซเวียตทั้งทหารและพลเรือนเสียชีวิตไปราว 20ล้านคน แม้ว่าสหภาพโซเวียตจะล่มสลายไปแล้วก็ตาม แต่สหพันธรัฐรัสเซียก็ยังคงยึดถือประเพณีปฏิบัติในการเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะเหนือนาซีเยอรมนีตามเดิมเป็นประจำทุกปีจวบจนทุกวันนี้

นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารของกองทัพรัสเซียต่อยูเครน หรือ 'สงครามรัสเซีย-ยูเครน' เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 หรือ 3 ปีมากแล้ว บรรดากองเชียร์ยูเครนหรือ 'ติ่งยูเครน' ต่างก็ปรามาสว่ากองทัพรัสเซียจะพบกับความพ่ายแพ้ในเวลาอันไม่ช้าอย่างแน่นอน ทั้งนี้เป็นเพราะกองทัพยูเครนได้รับการสนับสนุนทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ งบประมาณ และกำลังพล (ทหารรับจ้าง) จากชาติสมาชิก NATO ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาลแก่กองทัพยูเครนทำให้คลังอาวุธยุทโธปกรณ์สำรองของบรรดาประเทศยุโรปแทบหมดเกลี้ยงเลยทีเดียว ในขณะที่ 'ติ่งยูเครน' ทั้งไทยและเทศจำนวนมากต่างโพสต์บนโซเชียลด้วยความมั่นใจว่า “อาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียกำลังจะหมดลงในเวลาไม่นาน แล้วในที่สุดกองทัพรัสเซียจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้” หนึ่งในนั้นได้แก่ นายพลเสื้อส้มนายหนึ่งซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้มาตลอด 3 ปี จนถึงวันนี้ที่ Volodymyr Zelenskyy ผู้นำยูเครนกำลังถูกประธานาธิบดี Trump กดดันให้เจรจาสงบศึกกับรัสเซียแล้ว

สหพันธรัฐรัสเซียเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในระดับ First Tier อันหมายถึงประเทศที่มีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่สมบูรณ์แบบและครบวงจร สามารถพัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดได้ถึงระดับสูงสุดมายาวนานนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน เช่นเดียวกับ สหรัฐอเมริกา จีน และกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสหพันธรัฐรัสเซียเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานรายใหญ่ของประเทศใน โดยมีพนักงานในอุตสาหกรรมนี้ราว 3.8 ล้านคนทั่วประเทศ และคิดเป็น 20% ของงานการผลิตทั้งหมดในสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งในปี 2023 มีค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศทั้งหมดสูงถึง 7.5% ของ GDP 

ในปี 2014–18 รัสเซียครอง 21% ของยอดขายอาวุธทั่วโลก โดยตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 11% ในปี 2019–23 (ตามสถิติของ SIPRI) ในปี 2023 รัสเซียเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่เป็นอันดับสามเป็นครั้งแรก รองจากฝรั่งเศส การส่งออกอาวุธของรัสเซียลดลง 53% ระหว่างปี 2014–18 และ 2019–23 จำนวนประเทศที่ซื้ออาวุธหลักจากรัสเซียลดลงจาก 31 ประเทศในปี 2019 ในปี 2023 ลดลงเหลือ 12 ประเทศ ในปี 2019–23 อาวุธยุทโธปกรณ์ส่งออกของรัสเซียราว 68% จากทั้งหมดถูกส่งไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและโอเชียเนีย อินเดียเป็นผู้ซื้อราว 34% และจีนเป็นผู้ซื้อราว 21% 

การคว่ำบาตรระหว่างประเทศหลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2022 ไม่ได้ส่งผลในการต่อต้านการผลิตอาวุธของรัสเซีย การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการผลิตขีปนาวุธในปัจจุบันมากกว่าระดับก่อนสงคราม ปัจจุบัน รัสเซียผลิตกระสุนมากกว่าประเทศสมาชิก NATO ทั้งหมดรวมกัน ซึ่งคาดว่ามากกว่าชาติตะวันตกถึง 7 เท่า รัสเซียเพิ่มการผลิตรถถังในแต่ละปีมากขึ้นเป็นสองเท่าและผลิตปืนใหญ่และจรวดเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าจากจำนวนก่อนสงคราม ต้นทุนการผลิตของรัสเซียต่ำกว่าของประเทศคู่แข่งอย่างมาก โดยมีต้นทุนในการผลิตกระสุนปืนใหญ่ต่ำกว่ากระสุนปืนใหญ่ของนาโต้ประมาณ 10 เท่า ในปี 2024 รัสเซียผลิตกระสุนปืนใหญ่ได้ประมาณปีละ 3 ล้านนัด ซึ่งมากเป็นเกือบสามเท่าของปริมาณที่ผลิตได้จากสหรัฐอเมริกาและยุโรป ตั้งแต่ปี 2023 อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของรัสเซียยังผลิตยานเกราะและโดรนเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก ซึ่ง Alexander Mikheev CEO ของ Rosoboronexport รัฐวิสาหกิจส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงรายเดียวของสหพันธรัฐรัสเซียได้กล่าวว่า “นอกจากรัสเซียจะจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ แล้ว ยังให้การสนับสนุนประเทศคู่ค้าให้มีขีดความสามารถในการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เองอีกด้วย”

การผลิตอาวุธที่ขยายตัวของรัสเซียมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ โดยมีการอุดหนุนจากรัฐบาลต่อผู้ผลิตอาวุธที่ไม่ทำกำไรอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตกที่เป็นทุนนิยมซึ่งมีผู้ผลิตอาวุธที่มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มผลกำไรของผู้ถือหุ้นให้สูงสุด วันที่ 23 พฤศจิกายน 2024 Boris Pistorius รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของเยอรมนี กล่าวว่าขณะนี้รัสเซียได้เปลี่ยนมาใช้ 'เศรษฐกิจสงคราม' อย่างเต็มรูปแบบแล้ว และสามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์และกระสุนได้เท่ากับที่สหภาพยุโรปผลิตได้ในหนึ่งปีภายในเวลาเพียงสามเดือน ในเดือนมกราคม 2025 Mark Rutte เลขาธิการองค์การ NATO ได้ประเมินเช่นเดียวกัน วันที่ 3 เมษายน 2025 พลเอก Christopher Cavoli ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ประจำยุโรปและผู้บัญชาการสูงสุดกองกำลังพันธมิตรในยุโรปได้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่า รัสเซียสามารถทดแทนการสูญเสียอุปกรณ์และอาวุธจำนวนมากในสนามรบด้วย 'อัตราที่ไม่เคยมีมาก่อน' อันเนื่องมาจากการขยายขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสงคราม ดังนั้น ความเป็นจริงที่ปรากฏจึงสร้างความผิดหวังให้กับ 'ติ่งยูเครน' เป็นอันมาก รวมทั้งการพยากรณ์ที่ไม่อาจเป็นจริงของนายพลเสื้อส้มที่ว่า “อาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียกำลังจะหมด แล้วกองทัพรัสเซียจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้” นั้น จึงไม่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้เลย

‘คิม จองอึน’ ลั่น!! ‘โสมแดง’ ช่วยรัสเซีย รบยูเครน ชอบธรรมแล้ว ชี้!! เป็นการใช้สิทธิอธิปไตยช่วย ‘ประเทศพี่น้อง’ ของเกาหลีเหนือ

(10 พ.ค. 68) นายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ได้กล่าวว่า การที่เกาหลีเหนือเข้ามามีส่วนร่วมกับกองทัพรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครนนั้นเป็นสิ่งที่ชอบธรรมแล้ว เพราะเป็นการใช้สิทธิอธิปไตยในการปกป้อง ‘ประเทศพี่น้อง’ ของเกาหลีเหนือ

ผู้นำคิมได้กล่าวไว้ว่า การที่เกาหลีเหนือมีส่วนร่วมในความขัดแย้งดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว และอยู่ภายใต้สิทธิอธิปไตยของเกาหลีเหนือ ทหารกล้าของเกาหลีเหนือทุกนายที่เข้าร่วมในปฏิบัติการในแคว้นคูร์สก์ของรัสเซียถือเป็นฮีโร่และเป็นตัวแทนสูงสุดของชาติเรา

ผู้นำคิมกล่าวอีกว่า ทางการเกาหลีเหนือไม่ลังเลที่จะใช้กองทัพ หากสหรัฐยังคงมีการยั่วยุทางทหารต่อรัสเซีย ทั้งนี้ เกาหลีเหนือเพิ่งออกมายอมรับในช่วงปลายเดือนเมษายน ว่าได้ส่งทหารมากกว่า 10,000 นาย และอาวุธไปยังรัสเซียเพื่อช่วยเหลือการทำสงครามกับยูเครน ท่ามกลางการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซีย ภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมที่ผู้นำคิมและประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้ลงนามไปเมื่อปี 2024


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top