Friday, 9 May 2025
World

อย่าให้มีครั้งที่ 2!! รัฐมนตรีกลาโหมปากีสถานย้ำ ‘ไม่ต้องการทำศึกกับอินเดีย’ แต่พร้อมตอบโต้หากโดนโจมตีอีกครั้ง

(7 พ.ค. 68) อินเดียเปิดฉากโจมตีทางทหารต่อเป้าหมายกลุ่มก่อการร้ายในแคชเมียร์ที่ปากีสถานยึดครอง (PoK) และภายในปากีสถานอีก 9 จุด ภายใต้ปฏิบัติการ 'ซินดูร์' โดยการโจมตีใช้เวลาเพียง 25 นาทีในช่วงกลางดึกวันที่ 7 พฤษภาคม คร่าชีวิตประชาชนแล้ว 26 ราย

ในแถลงการณ์ภายหลังการปฏิบัติการ อินเดียระบุว่าการโจมตีเน้นเฉพาะโครงสร้างของกลุ่มก่อการร้าย โดยหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อพลเรือน ด้านพันเอกโซฟียา คูเรชิ และนาวาอากาศโท วโยมิกา ซิงห์ ยืนยันว่าพื้นที่ถูกโจมตีได้รับการคัดเลือกจากข้อมูลข่าวกรองอย่างรัดกุม

ขณะเดียวกัน คาวาจา อาซิฟ รัฐมนตรีกลาโหมปากีสถาน ระบุว่าปากีสถานพร้อม “ยุติความตึงเครียด” หากอินเดีย “ถอยกลับ” แต่จะไม่ลังเลที่จะตอบโต้หากถูกโจมตีอีก โดยยืนยันผ่านสื่อว่าอิสลามาบัดยังไม่ต้องการเผชิญหน้า แต่พร้อมปกป้องตนเอง

ทั้งนี้ หลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย แสดงความกังวลต่อความตึงเครียดที่ปะทุขึ้น โดยอุปทูตสหรัฐฯ ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของปากีสถานเพื่อหารือแนวทางลดระดับความรุนแรง พร้อมย้ำจุดยืนว่าสหรัฐฯ สนับสนุนการทูตเป็นทางออกของสถานการณ์นี้

‘แคนาดา’ เดินหน้าริบเครื่องบิน ‘Antonov An-124’ ของรัสเซีย และเตรียมส่งมอบให้ ‘ยูเครน’ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูหลังสงคราม

(8 พ.ค. 68) รัฐบาลแคนาดาได้ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อทำการยึดเครื่องบินขนส่งสินค้า Antonov An-124 ของรัสเซียซึ่งติดอยู่ที่สนามบินนานาชาติโตรอนโตเพียร์สัน (YYZ) มาครอบครอง 

เครื่องบินซึ่งให้บริการโดยสายการบิน Volga-Dnepr ติดอยู่ที่แคนาดาเพียงไม่กี่วันหลังจากรัสเซียเปิดฉากการรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 โดยขณะนั้นกำลังขนส่งชุดตรวจ COVID-19 จากจีนมายังแคนาดา

โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดากล่าวกับสำนักข่าวท้องถิ่น INsauga ว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2025 อัยการสูงสุดของแคนาดาได้เริ่มกระบวนการทางกฎหมายเพื่อริบทรัพย์สินต่อศาลสูงของออนแทรีโอ พร้อมย้ำว่า “บุคคลหรือองค์กรที่อ้างว่ามีสิทธิในทรัพย์สินที่ถูกยึด สามารถยื่นหลักฐานและเข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายได้”

เครื่องบินดังกล่าวจดทะเบียนในรหัส RA-82078 เป็น Antonov An-124-100 Ruslan หนึ่งในเครื่องบินขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ใหญ่เท่าตึก 7 ชั้น) มีขีดความสามารถในการบรรทุกได้ถึง 150 ตัน และถือเป็นทรัพย์สินเชิงยุทธศาสตร์ทั้งในด้านพาณิชย์และการทหาร มีมูลค่าประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นของ Volga-Dnepr Airlines ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Volga-Dnepr Group ที่มีฐานอยู่ในรัสเซีย

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2023 แคนาดาได้สั่งยึดเครื่องบินดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และต่อมาในปี 2025 โดยมีเป้าหมายในการป้องกันไม่ให้สินทรัพย์เหล่านี้กลับคืนสู่การควบคุมของรัสเซีย พร้อมทั้งประกาศแผนส่งมอบเครื่องบินให้กับรัฐบาลยูเครน เพื่อใช้ในการฟื้นฟูหลังสงครามและชดเชยเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม สายการบิน Volga-Dnepr Airlines ที่ตั้งอยู่ในเมืองอุลยานอฟสค์ ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องบินดังกล่าวได้ยื่นฟ้องคัดค้านในศาล โดยอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ พร้อมได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงต่างประเทศรัสเซียที่ประณามการยึดเครื่องบินว่าเป็น 'การโจรกรรม'

ชาวจีนแห่ตั้งรกรากที่โอซาก้า หวังชีวิตใหม่ในดินแดนอาทิตย์อุทัย หลังถูกบีบด้วยหนีภาษีทรัมป์–เศรษฐกิจชะลอ–ระบบการศึกษากดดัน

(8 พ.ค. 68) เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัวยืดเยื้อ โดยได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ ทำให้เกิดกระแสการอพยพของชาวจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมืองโอซาก้าในญี่ปุ่นที่กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม

คำแสลง 'จุน' ที่ใช้กันในจีนซึ่งแปลว่า 'หลบหนีออกนอกประเทศ' สะท้อนความรู้สึกของชนชั้นกลางและผู้มีฐานะที่ต้องการหลีกหนีจากความกดดันทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบการศึกษา โดยเฉพาะหลังมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดในช่วงโควิด-19

ญี่ปุ่นกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ เพราะมีความใกล้ชิดกับจีน ค่าครองชีพต่ำ ค่าเงินเยนอ่อน และระบบการศึกษาที่ผ่อนคลายกว่าจีนอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ระบบสวัสดิการของญี่ปุ่นก็น่าเชื่อถือมากกว่า ทำให้ผู้อพยพรู้สึกมั่นใจในการตั้งรกรากระยะยาว

รายงานระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับประถมในจีนอาจสูงถึง 12 ล้านเยนต่อปี (ราว 2.7 ล้านบาท) ขณะที่ในญี่ปุ่น ค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาก ส่งผลให้หลายครอบครัวจีนมองว่าการย้ายมาอยู่ญี่ปุ่นเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของลูก

ตัวอย่างเช่น ครอบครัวหนึ่งที่ย้ายมาโอซาก้า ลูกสาวคนโตสามารถปรับตัวกับชีวิตในโรงเรียนญี่ปุ่นได้ดี และรู้สึกว่ามีเวลาสำหรับกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น ผู้ปกครองกล่าวว่า “ในจีนต้องใช้ความพยายาม 100% เพื่อเข้า ม.ดัง แต่ที่ญี่ปุ่น ลูกผมอาจใช้แค่ 70% แล้วใช้ที่เหลือพัฒนาทักษะชีวิต”

‘ทรัมป์’ เตรียมประกาศ ‘ข้อตกลงการค้าใหม่’ กับประเทศพันธมิตร สัญญาณแรกของการคลี่คลาย ‘สงครามภาษี’ ที่กระทบเศรษฐกิจโลก

(8 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยผ่าน Truth Social ว่าจะมีการแถลงข่าวใหญ่ในเช้าวันพฤหัสบดี (เวลา 23.00 น. ตามเวลาในไทย) เกี่ยวกับข้อตกลงการค้าฉบับสำคัญกับ “ประเทศใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ” ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการผ่อนคลายภาษีศุลกากรระดับสูงที่เคยสร้างความตึงเครียดในเศรษฐกิจโลก

แม้ทรัมป์จะไม่ได้ระบุชื่อประเทศ แต่ฝ่ายบริหารชี้ว่าอยู่ระหว่างการเจรจากับหลายชาติ รวมถึงสหราชอาณาจักร อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยที่ปรึกษาด้านการค้า ปีเตอร์ นาวาร์โร ชี้ว่าสหราชอาณาจักรอาจเป็นชาติแรกที่ลงนามข้อตกลงกับสหรัฐฯ

แหล่งข่าวจาก Financial Times ระบุว่า ข้อตกลงกับสหราชอาณาจักรอาจครอบคลุมถึงการยกเว้นสหรัฐฯ จากภาษีบริการดิจิทัล และในทางกลับกัน สหรัฐฯ อาจลดภาษีนำเข้าเหล็ก อลูมิเนียม และรถยนต์จากอังกฤษ ซึ่งจะเป็นก้าวแรกของการคลี่คลายมาตรการกีดกันทางการค้า

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่าข้อตกลงที่ทรัมป์จะประกาศอาจยังไม่ใช่ “ข้อตกลงการค้าอย่างเป็นทางการ” แต่เป็นเพียงบันทึกความเข้าใจ ซึ่งไม่อาจให้ประโยชน์ระยะยาวเทียบเท่าข้อตกลงที่ผ่านขั้นตอนทางกฎหมายครบถ้วน

การประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนในเจนีวา โดยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ระบุว่าการพบปะครั้งนี้จะช่วยลดความตึงเครียด แม้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะมีข้อตกลงชัดเจน ขณะที่ทรัมป์ยืนยันจะไม่ลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนล่วงหน้า

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย สหรัฐฯ อาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากยังคงอัตราภาษีที่สูงซึ่งกระทบทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจทั่วโลก

‘เกาหลีเหนือ’ ยิง ‘ขีปนาวุธพิสัยใกล้’ หลายลูกลงทะเลญี่ปุ่น หลังผู้นำ ‘คิม จองอึน’ เยี่ยมโรงงานกระสุนที่เพิ่มกำลังผลิต 4 เท่า

(8 พ.ค. 68) สื่อเกาหลีใต้เปิดเผยว่า เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้หลายลูกจากเขตวอนซาน ทางตะวันออกของประเทศ ลงสู่ทะเลญี่ปุ่น โดยยังไม่ระบุพิสัยหรือจำนวนที่แน่ชัด ขณะกองทัพเกาหลีใต้และสหรัฐฯ กำลังวิเคราะห์รายละเอียดเพิ่มเติม

การยิงครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 7 พ.ค. คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เดินทางเยี่ยมชมโรงงานผลิตกระสุนขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งรายงานว่าได้เพิ่มกำลังการผลิตกระสุนปืนใหญ่ขึ้น 4 เท่าจากระดับเฉลี่ย และเกือบ 2 เท่าของระดับสูงสุดก่อนหน้า

ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายน เกาหลีเหนือได้ทดสอบระบบอาวุธบนเรือรบใหม่ พร้อมประกาศแผนส่งมอบเรือพิฆาตหนัก 5,000 ตันให้กับกองทัพเรือต้นปีหน้า โดยคิมย้ำถึงเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถนิวเคลียร์ทางทะเลของประเทศ

นอกจากนี้ สื่อทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า โรงงานกระสุนดังกล่าวอยู่ภายใต้คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจที่สอง ซึ่งดูแลอุตสาหกรรมทหารโดยตรง ซึ่งผู้นำคิมจองอึนแสดงความหวังว่าการผลิตกระสุนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยขยายกำลังรบของกองทัพ

ขณะเดียวกัน มีรายงานจากตะวันตกว่า เกาหลีเหนือได้ส่งกระสุนปืนใหญ่ให้รัสเซียระหว่างสงครามในยูเครนแล้วกว่า 4–6 ล้านลูก ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นสัญญาณของความร่วมมือทางทหารที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นระหว่างสองประเทศ

เวียดนามปฏิวัติการเดินทางและธุรกิจด้วย ‘วีซ่าทองคำ’ 10 ปี เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว-ดึงดูดนักลงทุน-ตั้งเป้าเป็นจุดหมายถาวรแห่งใหม่

รัฐบาลเวียดนามประกาศแผนเปิดตัวโครงการ 'วีซ่าทองคำ' ระยะเวลา 10 ปี เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ โดยตั้งเป้าเปลี่ยนประเทศจากจุดหมายปลายทางชั่วคราวให้กลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่เดินทางมาเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยสำคัญคือการเพิ่มเที่ยวบินตรงจากเมืองหลักของอินเดีย เช่น เดลี มุมไบ และเจนไน ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นปลายทางที่เข้าถึงง่ายและน่าสนใจยิ่งขึ้น

ด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตเร็ว ตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ และค่าครองชีพที่เหมาะสม เวียดนามกลายเป็นจุดหมายใหม่ที่ได้รับความสนใจจากสตาร์ตอัป นักลงทุนชาวอินเดีย โดยเฉพาะกลุ่มคนดิจิทัลในอุตสาหกรรมไอที พลังงานหมุนเวียน และการท่องเที่ยว

เวียดนามยกระดับกระบวนการขอวีซ่าให้เป็นระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะสำหรับนักเดินทางชาวอินเดีย พร้อมเสนอไลฟ์สไตล์ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมและความทันสมัย เมืองใหญ่อย่างโฮจิมินห์ ฮานอย และดานัง กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัย เข้าถึงได้ และน่าอยู่อย่างแท้จริง

‘สี จิ้นผิง’ ถึงมอสโกร่วมเฉลิมฉลอง ‘วันแห่งชัยชนะ’ ครบรอบ 80 ปี ย้ำสัมพันธ์ ‘จีน-รัสเซีย’ คือแบบอย่างเพื่อนบ้านในศตวรรษใหม่

(8 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงแห่งจีน เดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 พฤษภาคม เพื่อเข้าร่วมพิธีครบรอบ 80 ปี 'วันแห่งชัยชนะ' ของรัสเซีย โดยออกแถลงการณ์ย้ำว่าจีนและรัสเซียได้ค้นพบแนวทางที่ถูกต้องในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหญ่ที่เป็นเพื่อนบ้าน ผ่านมิตรภาพถาวรและความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ลึกซึ้ง

ผู้นำจีนระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซียเป็นแบบอย่างของความร่วมมือที่เติบโตอย่างมั่นคงและเป็นอิสระ ซึ่งไม่เพียงนำประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ แต่ยังส่งเสริมเสถียรภาพระดับโลกและระเบียบโลกแบบพหุขั้วที่เท่าเทียม ขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสรำลึกถึงชัยชนะสงครามต่อต้านฟาสซิสต์และการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติในปี 1945

จีนและรัสเซียยืนยันจะร่วมกันปกป้องหลักการระหว่างประเทศที่มีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลาง ต่อต้านการเมืองเชิงอำนาจ และส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลโลกที่ยุติธรรม โดยสีจิ้นผิงเตรียมหารือเชิงลึกกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เกี่ยวกับความร่วมมือในประเด็นทวิภาคีและระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจร่วมกัน

การเยือนครั้งนี้ถือเป็นการเข้าร่วมพิธีวันแห่งชัยชนะของรัสเซียในรอบทศวรรษของผู้นำจีน โดยมีพิธีต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ท่าอากาศยานวนูโคโวในกรุงมอสโก พร้อมการคุ้มกันทางอากาศโดยกองทัพรัสเซีย แสดงถึงระดับความสัมพันธ์ทางการทูตที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ

จีน เมียนมา เวียดนาม ลาว และมองโกเลีย จากฝั่งเอเชีย เตรียมเข้าร่วมขบวนพาเหรดใหญ่ ‘วันแห่งชัยชนะ’ ของรัสเซีย

รัสเซียเตรียมจัดงานเฉลิมฉลอง 'วันแห่งชัยชนะ' (Victory Day) อย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ณ กรุงมอสโก โดยมีผู้นำจากหลายทวีปตอบรับเข้าร่วมอย่างคึกคัก รวมถึงประเทศในเอเชียที่เข้าร่วมอย่างโดดเด่น ได้แก่ จีน เวียดนาม เมียนมา มองโกเลีย และลาว สะท้อนทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกและภูมิภาคเอเชียที่ใกล้ชิดขึ้นท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ผันผวน

รายชื่อผู้นำจากเอเชียที่เข้าร่วมมีทั้งระดับประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรค โดย ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีนถือเป็นหนึ่งในแขกสำคัญ เช่นเดียวกับ โต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม, มิน ออง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา, อุคนากีน คูเรลซูค ประธานาธิบดีมองโกเลีย และ ทองลุน สีสุลิด ผู้นำลาว การเข้าร่วมของผู้นำเหล่านี้มีนัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์และการทูต ท่ามกลางแรงกดดันจากตะวันตก

ไม่เพียงแค่ในเอเชีย ผู้นำจากประเทศในละตินอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก เช่น เซอร์เบีย อาร์เมเนีย และเบลารุส ต่างทยอยเข้าร่วมพาเหรดครั้งนี้ รวมถึงประเทศมหาอำนาจจากโลกใต้ เช่น บราซิล และแอฟริกาใต้ ขณะที่อินเดีย แม้ไม่ได้ส่งผู้นำสูงสุด แต่ก็มีตัวแทนระดับสูงเข้าร่วม 

ทั้งนี้ งานวันแห่งชัยชนะถือเป็นเวทีสำคัญที่รัสเซียใช้สื่อสารพลังและพันธมิตรต่อสายตาชาวโลก และปีนี้ยิ่งมีความหมายเป็นพิเศษในยุคที่สงครามยูเครนยังดำเนินอยู่ การรวมตัวของผู้นำโลกตะวันออกและใต้จึงไม่เพียงแค่ 'รำลึกอดีต' แต่ยังสะท้อน 'พันธมิตรโลกใหม่' ที่กำลังก่อตัวอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

‘อังกฤษ’ บรรลุข้อตกลงการค้ากับ ‘สหรัฐฯ’ ลดภาษีนำเข้ารถยนต์เหลือ 10% พร้อมผ่อนคลายภาษีเหล็ก–เอทานอล แต่ยังคงภาษีสินค้าสำคัญหลายรายการ

(9 พ.ค. 68) สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรบรรลุข้อตกลงการค้าทวิภาคีในขอบเขตจำกัด โดยยังคงอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของอังกฤษไว้ที่ 10% แต่เปิดทางให้ทั้งสองประเทศสามารถเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรได้มากขึ้น พร้อมลดภาษีศุลกากรสำหรับรถยนต์และสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการ

ข้อตกลงนี้ถือเป็นก้าวแรกของชุดความร่วมมือทางการค้าหลายฉบับที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วางแผนจะประกาศในเร็วๆ นี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ โดยทรัมป์ชื่นชมความร่วมมือจากอังกฤษ ขณะที่นายกรัฐมนตรีคีร์ สตาร์เมอร์ ย้ำว่านี่คือ 'วันประวัติศาสตร์' ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานของทั้งสองชาติ

สำหรับข้อตกลงนี้จะช่วยลดภาษีนำเข้ารถยนต์อังกฤษในสหรัฐฯ จาก 27.5% เหลือ 10% สำหรับโควตา 100,000 คัน และยกเลิกภาษีนำเข้าเหล็กและเอทานอลบางส่วน พร้อมเปิดตลาดเนื้อวัวแบบแลกเปลี่ยน โดยอังกฤษจะได้โควตาปลอดภาษีครั้งแรกสำหรับเนื้อวัว 13,000 เมตริกตัน แต่ยังคงห้ามนำเข้าเนื้อวัวอเมริกันที่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต

ภาคธุรกิจบางส่วนในอังกฤษแสดงความผิดหวังที่ยังคงมีอัตราภาษี 10% สำหรับสินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะรถยนต์ ขณะที่บริษัทในสหรัฐฯ เช่น เดลต้าแอร์ไลน์และผู้ผลิตเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ได้รับประโยชน์ทันทีจากการลดภาษี และรัฐบาลอังกฤษย้ำว่าการเจรจายังไม่จบ โดยมีหลายประเด็นสำคัญ เช่น ภาษีบริการด้านดิจิทัล ที่ยังต้องหารือเพิ่มเติม

แม้จะมีข้อจำกัด แต่ข้อตกลงนี้ถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือทางการค้าที่ลึกซึ้งขึ้นในอนาคต โดยรัฐบาลอังกฤษพยายามรักษาสมดุลระหว่างความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป หลังเบร็กซิต (Brexit) หรือการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ในช่วงที่เศรษฐกิจภายในประเทศกำลังเผชิญความท้าทายจากต้นทุนการส่งออกที่สูงและการเติบโตที่ชะลอตัว

วาติกันได้ผู้นำองค์ใหม่ ‘เลโอที่ 14’ อดีตบิชอปแห่งเปรู ชาวอเมริกันองค์แรกในประวัติศาสตร์ ทรงประกาศวิสัยทัศน์ ‘สันติภาพและความรัก’ สะท้อนจิตวิญญาณของฟรานซิสผู้ล่วงลับ

(9 พ.ค. 68) สมเด็จพระสันตปาปาองค์ใหม่ 'เลโอที่ 14' ปรากฏพระองค์ครั้งแรกต่อหน้าฝูงชนหลายพันคนในจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดี หลังควันขาวพวยพุ่งจากโบสถ์ซิสติน แสดงสัญญาณว่าพระคาร์ดินัลลงคะแนนเสียงเลือกผู้นำคาทอลิกคนใหม่ได้เรียบร้อย ภายในเวลาเพียง 1.5 ชั่วโมง

สมเด็จพระสันตปาปาเลโอที่ 14 หรือ โรเบิร์ต พรีโวสต์ วัย 69 ปี อดีตบิชอปแห่งเปรู และเป็นชาวอเมริกันจากเมืองชิคาโก ทรงเลือกพระนามที่สื่อถึงความต่อเนื่องของหลักคำสอนทางสังคม โดยยึดแนวทางผสมผสานระหว่างการสานต่อนโยบายของสมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิสและการยึดถือประเพณีของวาติกัน

ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรก พระองค์เน้นย้ำคำว่า 'สันติภาพ' และเรียกร้องให้คริสตชนทั่วโลกร่วมกันสร้างสะพานแห่งการสนทนา พร้อมย้ำว่าพระเจ้าทรงรักทุกคนและความชั่วร้ายจะไม่ชนะ จากนั้นเสียงโห่ร้อง “ลีโอน! ลีโอน!” ดังกึกก้องไปทั่วจัตุรัส

ผู้คนจากหลากหลายประเทศเดินทางมาร่วมเป็นสักขีพยานในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ โดยหลายคนกล่าวถึงความหวังที่มีต่อพระสันตปาปาองค์ใหม่ว่าจะนำความมั่นคงมาสู่คริสตจักรในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก ทั้งด้านสังคม เทคโนโลยี และศาสนา

แม้ทรงมาจากสหรัฐฯ แต่สมเด็จพระสันตปาปาเลโอที่ 14 หลีกเลี่ยงการอ้างถึงชาติบ้านเกิดอย่างชัดเจน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นสัญญาณของการเป็นพระสันตปาปา 'ของโลก' ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยหลายฝ่ายคาดหวังว่าพระองค์จะทรงสร้างสมดุลระหว่างการปฏิรูปกับการรักษาเอกลักษณ์ของคริสตจักรคาทอลิก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top