Saturday, 10 May 2025
World

คนสหรัฐฯ แห่!! ‘เช่าไก่’ แก้ปัญหา ‘ไข่แพง’ ค่าเช่า 17,000-34,000 บาท ต่อ 6 เดือน

(4 พ.ค. 68) สถาพร เกื้อสกุล ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า …

คนสหรัฐฯ แห่เช่าไก่ แก้ปัญหาไข่แพง

มีรายงานข่าวขณะนี้ชาวอเมริกัน กำลังประสบปัญหาไข่ไก่ราคาแพง ดังนั้นพวกเขาจึงได้ติดต่อขอเช่าไก่จาก กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ที่ใช้ชื่อว่า “Rent the Chicken” ซึ่งไก่จะมาพร้อมกับอุปกรณ์การเลี้ยงครบ รวมถึงบ้านและกรง มีรางใส่อาหาร-น้ำ อาหารไก่และคู่มือ สามารถตั้งเอาไว้ที่สนามหญ้าหลังบ้าน โดยไก่จะออกไข่ประมาณ 14 ฟองต่อสัปดาห์ ผู้เช่าจะได้กินไข่ไก่สดทุกวัน

สำหรับราคาค่าเช่าอยู่ระหว่าง 500-1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 17,000-34,000 บาท ต่อระยะเวลา 6 เดือน ขึ้นอยู่กับพื้นที่และจำนวนไก่ 
ทั้งนี้ไข่ไก่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาราคาพุ่งสูงต่อเนื่อง ล่าสุดสูงกว่าปีที่แล้ว 3-4 เท่าหรือราว 60% หลังจากสหรัฐเกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกและยังมีปัญหาเงินเฟ้อค่าครองชีพพุ่งสูง 

Temu ปรับตัว!! เพื่อสู้ กำแพงภาษีของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ หลังมีประกาศ!! ระงับการขายสินค้าที่ส่งมาจาก ‘จีน’

(4 พ.ค. 68) หนึ่งในเป้าหมายของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการปรับเปลี่ยนนโยบายภาษีศุลกากร ก็เพื่อต้องการกำจัด แพลทฟอร์มออนไลน์ค้าปลีกของจีน อย่าง Temu และ Shein ที่ใช้ช่องโหว่ทางภาษีสหรัฐ ที่ยกเว้นการเก็บภาษีสำหรับพัสดุชิ้นเล็ก ที่เรียกว่า "de minimis" ที่มีมูลค่าน้อยกว่า 800 ดอลลาร์

ซึ่งเข้าทางพ่อค้าจีน ที่เก่งเรื่องการบี้ราคาต้นทุน ให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาถูกเหลือเชื่อ จึงมีพัสดุสินค้าจิ๋วนำเข้ามายังสหรัฐอเมริกาได้เป็นล้านชิ้นในแต่ละเดือน โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีเลยแม้แต่เหรียญเดียว 

แต่หลังจากสิ้นสุดเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป ไม่สามารถทำได้แล้ว ด้วยคำสั่งประธานาธิบดีของทรัมพ์ ที่ตั้งกำแพงภาษีสินค้าที่ส่งจากจีนสูงถึง 130-150% และเพิ่มมาตรการตรวจสอบพัสดุสินค้าจากต่างประเทศ ลดเพดานมูลค่าสินค้าจาก 2,500 เหรียญ เหลือ 800 เหรียญ ต้องเสียภาษีแล้ว
เมื่อทรัมป์ยอมเผาทั้งโลกเพื่อฆ่าเธอคนเดียว Temu ที่เป็นเป้าหมายตรง ก็ต้องรีบปรับตัวให้ทัน และประกาศระงับการขายสินค้าที่ต้องส่งมาจากจีนบนแพลทฟอร์มทั้งหมดแล้ว

โดยสินค้าที่ขึ้นขายอยู่ในขณะนี้มีเพียงสินค้าที่ผลิต และอยู่ในโกดังที่สหรัฐเท่านั้น ส่วนสินค้าที่ต้องส่งจากจีนทุกรายการถูกเปลี่ยนสถานะเป็น "Out of stock" หรือ สินค้าหมด

การระงับการขายสินค้าที่ต้อง ship มาจากจีน เกิดขึ้นทันทีที่คำสั่งประธานาธิบดีของทรัมป์ เรื่องข้อบังคับภาษีศุลกากรในพัสดุสินค้าขนาดเล็ก มีผลบังคับใช้เมื่อวันศุกร์ (2 พฤษภาคม 2025) ที่ผ่านมาที่จะทำให้สินค้าที่จัดส่งจากจีนของ Temu และ Shein โดนภาษีเต็มๆ 120% หรืออัตราภาษีคงที่ 100 เหรียญต่อชิ้น ซึ่งจะขึ้นอีกเป็น 200 เหรียญต่อชิ้นในเดือนมิถุนายนนี้

ด้วยราคาภาษีโหดขนาดนี้ คงยากที่ Temu และ Shein จะขายสินค้าจีนในอเมริกาได้เหมือนเดิม จึงเป็นเหตุผลที่ Temu ต้องเปลี่ยนกลยุทธจากการขายสินค้าจีน เป็นขายสินค้าจากผู้ผลิตที่อยู่ในสหรัฐ

จึงเกิดคำถามว่า แล้วแพลทฟอร์มของจีนจะยังขายสินค้าในราคาถูกตาแตกได้เหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่ง Temu ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อราคาสินค้า ทุกอย่างที่เห็นในตอนนี้ยังขายในราคาเดิม

แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่กล่าวไม่หมด เพราะทั้ง Temu และ Shein ขึ้นราคาสินค้าของตนไปก่อนหน้านี้นานแล้ว สินค้าบางชิ้นมีราคาสูงขึ้นถึง 377% เลยทีเดียว และมีการระบุเงื่อนไขเพิ่มว่ามี "ค่าธรรมเนียมภาษีขาเข้า"

คำกล่าวที่ Temu ประกาศว่า "ไม่มีผลกระทบต่อนโยบายราคา ทุกอย่างยังเหมือนเดิม" จึงเป็นเพียงคำพูดปลอบใจตนเอง เพราะต่อจากนี้ไป จะไม่มีอะไรเหมือนเดิม 

แต่ธุรกิจต้องไปต่อ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ไม่มีทางเลือกที่จะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด มีเพียงคำถามเดียวในใจ คือ ต้องปรับตัวอย่างไรให้รอดเท่านั้นเอง

‘ยูเครน’ ปฏิเสธ!! ข้อเสนอหยุดยิง 3 วันของ ‘รัสเซีย’ ‘เซเลนสกี’ ชี้!! มันคือ การแสดงละคร หลอกผู้นำโลก

(4 พ.ค. 68) ยูเครนปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิง 3 วันของรัสเซีย

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เสนอหยุดยิงฝ่ายเดียว (unilateral ceasefire) ระหว่างวันที่ 8–10 พฤษภาคม เพื่อเหตุผลด้านมนุษยธรรมในช่วงวันแห่งชัยชนะ (Victory Day) ยูเครนปฏิเสธ โดยเรียกร้องให้มีการหยุดยิงอย่างไม่มีเงื่อนไขนาน 30 วันแทน

เซเลนสกีวิจารณ์ข้อเสนอของปูตินว่าเป็น “ละคร” เขากล่าวว่าแผนหยุดยิง 2–3 วัน "ไม่จริงจัง" และดูเหมือน "การแสดงละคร" มากกว่า และเตือนเรื่องความปลอดภัยของผู้นำโลกที่จะเดินทางไปมอสโก โดยกล่าวว่า ยูเครนไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของผู้นำต่างประเทศที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 9 พฤษภาคม ที่จัตุรัสเครมลิน

มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวหาว่า การปฏิเสธของยูเครนเผยให้เห็น "แก่นแท้นาซีใหม่" และเรียกเซเลนสกีว่าเป็น “ผู้ก่อการร้ายในระดับสากล” เซเลนสกีข่มขู่นักการเมือง ผู้นำ และทหารผ่านศึกที่จะเข้าร่วมงานในรัสเซีย
ผู้นำที่คาดว่าจะเข้าร่วม 

สี จิ้นผิง (ประธานาธิบดีจีน) โรเบิร์ต ฟิโก (นายกรัฐมนตรีสโลวาเกีย) อเล็กซานดาร์ วูชิช (ประธานาธิบดีเซอร์เบีย) มาห์มูด อับบาส (ประธานาธิบดีปาเลสไตน์) ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา (ประธานาธิบดีบราซิล) ผู้นำจากประเทศ กลุ่มประเทศเอเชียกลาง คาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน, ทาจิกิสถาน, คีร์กีซสถาน และเติร์กเมนิสถาน

ความจริงอันชัดเจนนี้ ทำให้ขบวนการต่อต้านจักรวรรดินิยมใน ‘จีน’ ถึงจุดสูงสุด!! ในช่วงขบวนการ 4 พฤษภาคม ซึ่งครบรอบ 106 ปี ในวันนี้

(4 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

วันนี้เป็นวันครบรอบ 106 ปีของขบวนการ 4 พฤษภาคม 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คนงานชาวจีน 140,000 คนถูกส่งไปยุโรปเพื่อทำภารกิจอันยากลำบากที่เกี่ยวข้องกับสงคราม มีผู้เสียชีวิตเกือบ 10,000 คน และสูญหายมากกว่า 20,000 คน ชาวจีนต้องเสียสละอย่างมากเพื่อแลกกับสถานะผู้ชนะในสงคราม

อย่างไรก็ตาม พวกจักรวรรดินิยมไม่มีความเมตตา มีแต่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น

ในการประชุมสันติภาพปารีส พันธมิตรตะวันตกมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินการและแทบไม่สนใจข้อเรียกร้องของจีน 

สนธิสัญญาแวร์ซายได้ให้ญี่ปุ่นยึดครองดินแดนในซานตงที่ถูกเยอรมนียึดครองในปี 1914 นับเป็นความอัปยศอดสูครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของจีน
หลักการที่ว่า “ประเทศที่อ่อนแอไม่มีการเจรจา” ยังคงเป็นจริงอยู่จนถึงทุกวันนี้ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือประเทศจีนไม่ใช่ประเทศที่อ่อนแอเหมือนเมื่อ 106 ปีที่แล้วอีกต่อไป!!

ลูกนักการเมืองท้องถิ่น ของฟินแลนด์ วัย 20 ปี อาสาไปรบที่ยูเครน ไปได้ 4 เดือนเสียชีวิต ศพก็ไม่ได้คืน 

(5 พ.ค. 68) อาสาสมัครชาวฟินแลนด์ในยูเครนอยากกลับบ้าน แต่ไม่ได้กลับ

ความโหดร้ายของสงครามได้สร้างบาดแผลให้กับครอบครัวหนึ่งในเมืองตูร์คูอย่างรุนแรง

การตัดสินใจไปอาสาร่วมรบในยูเครนเป็นเรื่องใหญ่ที่เปลี่ยนชีวิต ไม่ใช่การผจญภัยหรือภารกิจเล่น ๆ และไม่ใช่สิ่งที่สามารถถอนตัวได้ง่าย ๆ โดยสำนักข่าว Yle ของฟินแลนด์ได้พูดคุยกับครอบครัวหนึ่งที่ได้รับบทเรียนนี้ด้วยตนเองโดยตรง

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ได้เตือนอาสาสมัครที่กำลังจะไปรบที่ยูเครน โดยเน้นย้ำถึงข้อผูกพันของสัญญาการรับราชการทหารยูเครน ซึ่งชายหนุ่มคนหนึ่งจากตูร์คูอาจไม่เห็นประกาศเตือนนั้นทันเวลา

จิร์กิ โอแลนด์ (Jyrki Åland) ชาวเมืองตูร์คู ได้กอดลูกชายของเขาเป็นครั้งสุดท้ายที่สถานีรถไฟคุปปิตตา เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม

ลูกชายวัย 20 ปีชื่อ ลีโอ (Leo) ได้แรงบันดาลใจในการสมัครไปรบในยูเครนขณะที่เขารับราชการทหารในฟินแลนด์ โดยผู้เป็นพ่อเล่าว่า ลีโอรู้สึกเหมือนเป็นภารกิจ แต่ครอบครัวไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจนี้

“พวกเราพูดถึงอันตรายของสงครามและขอให้เขาไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่เขารู้สึกว่าพวกเรากำลังกดดันเขา จนสุดท้ายเขาตัดสินใจออกเดินทางเร็วกว่าที่วางแผนไว้” ผู้เป็นพ่อกล่าว

ลีโอประจำการในยูเครนประมาณสี่เดือน และพ่อผู้ซึ่งเป็นประธานเขตพรรค Finns Party ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฟินแลนด์ ก็ได้รับข่าวการเสียชีวิตของลูกชายในวันเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อวันที่ 13 เมษายน

พ่อหวังว่า การเล่าเรื่องของลูกชายจะเป็นการเตือนคนอื่นไม่ให้เดินตามรอย
สำหรับชาวฟินแลนด์ การไปรบในยูเครนทำได้ง่ายมาก แค่นั่งรถบัสสองต่อจากเฮลซิงกิก็ถึงแนวหน้าแล้ว
ในช่วงสามปีที่ผ่านมา มีชาวฟินแลนด์กว่า 100 คนเข้าร่วมรบในยูเครน และมีประมาณ 10 คนที่เสียชีวิต ตามข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ
หลังจากที่ส่งลูกชายที่สถานีรถไฟไปแล้ว จนผ่านไปสามสัปดาห์ จิร์กิถึงได้ข่าวจากลีโออีกครั้ง
“ผมยังไม่ตาย แต่การมาที่นี่มันทำให้ตาสว่างจริง ๆ มันหนักมาก ผมไม่คิดจะอยู่นาน มาที่นี่เป็นความผิดพลาด”

– ข้อความ WhatsApp, 26 มกราคม 2025

ต่อมาพ่อจึงได้รู้ว่าลีโอเซ็นสัญญาผูกพันกับกองทัพยูเครนเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน พาสปอร์ตของเขาถูกยึด และการใช้โทรศัพท์ถูกจำกัด
“มันอาจดูเหมือนเป็นการกระทำที่กล้าหาญในการไปรบกับรัสเซีย แต่ผมไม่เห็นประโยชน์ที่ชายหนุ่มต้องมารบแทนพวกคนแก่” จิร์กิกล่าว
จุสซี แทนเนอร์ (Jussi Tanner) ผู้อำนวยการด้านบริการกงสุลของกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลทราบว่ามีอาสาสมัครบางคนเปลี่ยนใจในช่วงฝึกและต้องการกลับบ้าน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้

แม้จะมีคำแนะนำจากกระทรวงเกี่ยวกับลักษณะของสัญญาการรับราชการในยูเครน ซึ่งอธิบายว่าเป็นสัญญาภาคเอกชนที่ยกเลิกได้ยากมาก แต่ลีโอไม่เคยเห็น เพราะเอกสารถูกเผยแพร่หลังจากที่เขาเดินทางออกจากประเทศแล้ว

จิร์กิเผยว่าลูกชายต้องการกลับบ้าน ตามที่ปรากฏในข้อความที่พวกเขาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่ง Yle ได้รับสำเนาไว้
“ผมรู้ว่าสิ่งที่เจอจะทำให้ผมที่เติบโตเป็นลูกผู้ชาย แต่ที่นี่มันยากจริง ๆ ผมพยายามปรับตัวอยู่ บางครั้งก็ไม่รู้ว่าตัวเองมาทำไม”

– ข้อความ WhatsApp, 2 กุมภาพันธ์ 2025

จิร์กิพยายามติดต่อกระทรวงการต่างประเทศเพื่อช่วยพาลูกชายกลับบ้าน แต่ล้มเหลว
หลังจากฝึกเสร็จกลางเดือนกุมภาพันธ์ ลีโอถูกส่งเข้าหน่วยรบ เขาดูเหมือนจะสนิทกับเพื่อนร่วมรบ และน้ำเสียงในข้อความก็เริ่มเปลี่ยนไป ไม่พูดถึงการกลับบ้านอีก

ช่วงเวลาเดียวกัน สื่อรายงานว่ารัสเซียเริ่มยึดพื้นที่คืนในภูมิภาคเคิร์สก์
“ผมเตือนเขาว่าอาจถึงเวลาที่เขากลับบ้านจริงๆ เพราะรัสเซียเริ่มเปิดฉากรุกในฤดูใบไม้ผลิ แต่ลูกเขาคิดว่าหน่วยของเขาคงไม่ถูกส่งไปแนวหน้า”
ข้อความสุดท้ายที่จิร์กิส่งถึงลูกชายคือวันที่ 9 เมษายน ลีโอไม่ได้ตอบกลับอีกเลย
สี่วันต่อมา ระหว่างที่จิร์กิกำลังเตรียมตัวไปร่วมงานเลือกตั้งของพรรค เขาได้รับข่าวการเสียชีวิตของลีโอ
“เขาเสียชีวิตในยูเครนตะวันออก จากการโจมตีจากโดรน รูปแบบที่เขากลัวที่สุด — เป็นโดรนที่ถูกควบคุมโดยมนุษย์” จิร์กิกล่าว
ข่าวการเสียชีวิตมาจากเพื่อนร่วมรบของลีโอ เพราะทางการยูเครนยังไม่ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการ

ไม่มีศพให้ฝัง

จิร์กิกล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดในฟินแลนด์ที่สามารถเตรียมลูกชายให้พร้อมกับสิ่งที่เจอในยูเครนได้ แม้ขณะที่อยู่แนวหน้า ลีโอยังพยายามกรอกใบสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เด็กวัย 20 ปีไม่ได้คิดถึงเรื่องความตาย

การตัดสินใจของลีโอได้เปลี่ยนชีวิตครอบครัวไปตลอดกาล
ปัจจุบัน จิร์กิลาป่วยจากงานขับแท็กซี่ และคอยตรวจสอบทุกวันว่าของใช้ของลูกชายจะถูกส่งถึงสถานทูตหรือยัง
เพื่อนร่วมรบของลีโอกล่าวว่า ร่างของเขาไม่มีอะไรหลงเหลือ และตอนนี้เขาถูกจัดว่า “สูญหายระหว่างปฏิบัติหน้าที่”
“ถ้าไม่มีศพที่สามารถระบุตัวตนได้ พวกเราก็ไม่สามารถฝังเขาได้ อย่างน้อยต้องรออีกปี” จิร์กิอธิบาย
หลังปลดประจำการจากกองทัพฟินแลนด์ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ลีโอเคยหวังจะถ่ายทอดประสบการณ์สงครามสมัยใหม่ในยูเครนให้กับกองทัพฟินแลนด์

จิร์กิกล่าวว่า ตอนนี้เขาจะพยายามทำให้ฝันของลูกเป็นจริงให้ได้มากที่สุด

“ฟินแลนด์ควรใช้โดรนให้มากกว่านี้ และเปลี่ยนกลยุทธ์พอสมควร โดรนพวกนี้เห็นไกลมาก แถมยังมีทั้งกล้องอินฟราเรดและฟังก์ชันอื่น ๆ อีกเยอะ”
– ข้อความ WhatsApp, 1 กุมภาพันธ์ 2025

ขณะกล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองวาซาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประธานาธิบดีฟินแลนด์ อเล็กซานเดอร์ สตุบ ได้แสดงความกังวลต่อยุทธวิธีของรัสเซียในสงครามรุกรานยูเครน

เขาชี้ว่ารัสเซียยังไม่ยอมรับหรือปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงที่เสนอโดยสหรัฐและสนับสนุนโดยยุโรป ทำให้เกิดความหวั่นใจว่าสงครามจะยืดเยื้อ
“รัสเซียกำลังถ่วงเวลาอีกครั้ง” สตุบกล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเพิ่มแรงกดดันต่อเครมลิน “การหยุดยิงคือหนทางเดียวที่จะหยุดการสังหาร”

ภาพแห่งความรักที่งดงามของ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี แห่งภูฏาน กับสมเด็จพระราชินี เจ้าชาย และพระธิดาน้อย ในทะเลทรายโกบี

(5 พ.ค. 68) แสงแห่งความรัก และอบอุ่นหัวใจของครอบครัวพระราชา

ภาพแห่งความรักที่งดงามของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี แห่งภูฏาน กับสมเด็จพระราชินี เจ้าชาย และพระธิดาน้อย

รอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยความอ่อนโยนในค่ำคืนหนึ่งของทะเลทรายโกบี เป็นภาพสะท้อนถึงพระราชหฤทัยที่ทรงรักและห่วงใยครอบครัว — เฉกเช่นเดียวกับความรักอันลึกซึ้งที่พระองค์ทรงมีต่อพสกนิกรชาวภูฏาน

และนั่นเอง...ทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดพระองค์จึงทรงร่วมรับเสด็จในหลวงของไทยอย่างอบอุ่น ใส่ใจ และเปี่ยมด้วยไมตรีจิตสมกับเป็นมิตรแท้ระหว่างราชอาณาจักรทั้งสอง

ขอขอบคุณ Gan-Ulzii Photographer ซึ่งคุณ Gan Ulzii เป็นช่างภาพประจำประธานาธิบดีแห่งมองโกเลีย ผู้บันทึกภาพนี้ไว้ได้อย่างละเมียดละไม และอนุญาตให้เผยแพร่เพื่อแบ่งปันความประทับใจให้กับชาวโลก 
(ภาพถ่าย ณ ทะเลทรายโกบี ระหว่างการเสด็จเยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการ)

‘คาซัคสถาน’ เตรียมเป็นเจ้าภาพ ‘Astana International Forum 2025’ เวทีที่รวมผู้นำโลก นักเศรษฐศาสตร์ และนักคิดระดับนานาชาติ

(5 พ.ค. 68) ในวันที่ 29 – 30 พฤษภาคม 2568 กรุงอัสตานา เมืองหลวงของคาซัคสถาน จะกลายเป็นศูนย์กลางของการถกเถียงระดับโลกอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลคาซัคสถานประกาศจัดเวที Astana International Forum 2025 (AIF2025) ภายใต้แนวคิด “Connecting Minds, Shaping the Future” (เชื่อมโยงความคิด สร้างอนาคตร่วมกัน)

ภายใต้สถานการณ์โลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และระบบการเงินที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน คาซัคสถานจึงเสนอให้ AIF เป็นพื้นที่กลาง (neutral platform) สำหรับการสร้างความเข้าใจร่วม และพัฒนาทางออกที่ใช้ได้จริงโดยไม่ยึดโยงกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

3 หัวข้อหลักที่เวทีจะเน้นในปีนี้ ได้แก่:
• 🌐 การต่างประเทศและความมั่นคง: สำรวจมิติใหม่ของความมั่นคงโลกหลังยุคสงครามเย็น
•⚡️ พลังงานและสภาพอากาศ: ถ่วงดุลระหว่างความต้องการพลังงานและเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม
• 💰 เศรษฐกิจและการเงินโลก: เสนอแนวทางใหม่ในการปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศ

รายชื่อผู้เข้าร่วมในอดีตที่สร้างความน่าสนใจให้เวทีนี้ ได้แก่:
• เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัลธานี
• ประธานาธิบดีคีร์กีซสถาน ซาดีร์ จาปารอฟ
• ผู้อำนวยการ UNESCO ออเดรย์ อาซูเลย์
• ผู้อำนวยการ IMF คริสตาลินา จอร์จีวา

ในปี 2025 คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมหลายร้อยรายจากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก โดยรวมถึงผู้นำประเทศ ผู้บริหารระดับสูงในภาคเอกชน นักคิด นักวิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ

‘มาเลเซีย’ ไม่เคยมีดินแดน หรือพรมแดนทางด้านเหนือ มากกว่าที่มีอยู่ ‘มลายา’ ไม่ได้เป็นประเทศเดียว หรือรัฐที่รวมศูนย์ แต่เป็น กลุ่มรัฐอิสระ 

(5 พ.ค. 68) อ.แพท แสงธรรม ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

SODOMIZED NARRATIVE:
คำพูดของมหาเธร์ คือ วาทกรรม กะโหลกกะลา มาเลเซียไม่เคยมีดินแดน หรือพรมแดนทางด้านเหนือมากกว่าที่มีอยู่ และก่อนปี พ.ศ. 2329 ดินแดนที่เป็น มลายา หรือคาบสมุทรมลายูในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นประเทศเดียวหรือรัฐที่รวมศูนย์ แต่เป็น กลุ่มรัฐอิสระ ที่มีระบบการปกครองของตนเอง โดยส่วนใหญ่เป็น รัฐสุลต่านมลายู ซึ่งมีความสัมพันธ์กับจักรวรรดิใหญ่โดยรอบ เช่น จักรวรรดิมลายู เมืองมะละกา, อโยธยา, และ จักรวรรดิอิสลามในชวา ดินแดนที่อ้างว่าเสียให้ไทย ตกไปเป็นของอังกฤษ และก็ได้คืนไปแล้ว จึงได้ก่อตั้งประเทศมาเลเชีย เมื่อ 62 ปีก่อน (พ.ศ. 2506) ผู้ที่เป็นเด็กในยุคก่อนนั้น จะรู้จักแต่ มาลายู หรือ มาลายา ไม่มี "มาเลเซีย" 

มหาเธร์ เป็นผู้นำของมาเลเซีย ที่ชาวมาเลเซีย ถือว่ายิ่งใหญ่ นำความเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาประเทศในหลายมิติให้กับมาเลเชีย ไม่ยอมอ่อนข้อให้ใคร ไม่เกรงกลัวอิทธิพลตะวันตก แต่ในการเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง(ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2525-2539 และครั้งที่สองในปี 2552-2562) ก็มีข้อสงสัยและการต่อต้าน ด้วยพฤติกรรมใช้อำนาจแบบเผด็จการ ปิดปากฝ่ายตรงข้ามและสื่อมวลชน มีกรณีเรื่องคอรัปชั่น และรัฐบาลของเขา เป็นผู้ดำเนินคดีกับนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของมาเลเซีย ด้วยคดีคอรัปชั่นและคดีร่วมเพศทางทวารหนัก (มีเซ็กส์กับผู้ชาย) จนนายอันวาร์ ถูกตัดสินจำคุก 6 ปีในข้อหาคอร์รัปชัน และอีก 9 ปีในข้อหาการร่วมเพศกับบุรุษ 

คำตัดสินในคดีของอันวาร์ได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งมองว่าการพิจารณาคดีเหล่านั้นมีแรงจูงใจทางการเมือง ในปี 2004 ศาลสูงสุดของมาเลเซียได้ให้คำตัดสินในคดีร่วมเพศกับบุรุษเป็นโมฆะ ส่งผลให้อันวาร์ได้รับการปล่อยตัว แต่เขาถูกตัดสินจำคุกอีกครั้งในข้อหาคล้ายกันในปี 2015 แต่ได้รับการอภัยโทษจากกษัตริย์ในปี 2018 (“ยังก์ดีเปอร์ตวนอากง" Yang di-Pertuan Agong หมุนเวียนจากรัฐต่างๆ ทุก 5 ปี)

ในขณะนั้น ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) เป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดีต่ออันวาร์ แม้ว่ามหาเธร์จะไม่ได้เป็นผู้ยื่นฟ้องโดยตรง แต่เขามีอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองในช่วงเวลานั้น.... อาการฟูมฟายโทษประเทศไทยเรื่องดินแดนที่มีขนาดเท่าที่เห็น อาจจะเกิดจากความโหยหา การร่วมเพศทางประตูหลัง ที่ขาดแคลนมานาน
**

คาบสมุทรมลายู (ซึ่งในอดีตมักเรียกว่า "มลายา") ค่อย ๆ ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 โดยสามารถสรุปเหตุการณ์สำคัญได้ดังนี้

ปี 1786 (พ.ศ. 2329 ตรงกับรัชสมัยของ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1)) – บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้รับสิทธิ์ครอบครอง เกาะปีนัง จากสุลต่านแห่งเกอดะฮ์ (ไทรบุรี) นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาของอังกฤษในภูมิภาคนี้

ปี 1819 (พ.ศ. 2362) – เซอร์สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ ก่อตั้ง สิงคโปร์ ขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่ของอังกฤษ

ปี 1824 (พ.ศ. 2367) – สนธิสัญญาอังกฤษ–ดัตช์ กำหนดให้พื้นที่คาบสมุทรมลายูอยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ ส่วนดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) ได้ครอบครองหมู่เกาะอินโดนีเซียในปัจจุบัน ถือเป็นการแบ่งเขตอิทธิพลอย่างเป็นทางการ

ปี 1826 (พ.ศ. 2369) – อังกฤษจัดตั้งอาณานิคมที่เรียกว่า นิคมช่องแคบ (Straits Settlements) ซึ่งรวมปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ไว้ด้วยกัน

ปี 1874 (2417) – สนธิสัญญาปังโกร์ ทำให้อังกฤษเริ่มเข้ามาแทรกแซงการปกครองภายในของรัฐมลายู โดยเริ่มจากรัฐ เประ ภายใต้ข้ออ้างในการยุติความขัดแย้งภายใน

ปี 1895 (พ.ศ. 2438) – อังกฤษรวมรัฐมลายูบางส่วน (เประ เซอลาโงร์ เนกรีเซมบิลัน และปะหัง) เข้าด้วยกันเป็น สหพันธรัฐมลายู (Federated Malay States) โดยมีข้าหลวงอังกฤษประจำแต่ละรัฐ ปกครองผ่านระบบ “อาณานิคมโดยอ้อม”

ปี 1909 (พ.ศ. 2452 ในรัชสมัยของ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5)) – สนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม โอนรัฐมลายูทางเหนือ ได้แก่ เคดาห์ กลันตัน ปะลิส และตรังกานู จากอิทธิพลของสยามไปอยู่ภายใต้อังกฤษ - รัฐทั้ง 4 รัฐนี้ มีสถานะเป็นรัฐบรรณาการของสยาม มีผู้ปกครองของตนเอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการและยอมรับอำนาจอธิปไตยของสยาม สยามไม่ได้ปกครองรัฐเหล่านี้โดยตรงในลักษณะของอาณานิคม แต่มีอิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมในพื้นที่เหล่านี้มาเป็นเวลาหลายศตวรรษ

ภายในปี 1910 (พ.ศ. 2453) - ดินแดนส่วนใหญ่ในคาบสมุทรมลายูก็ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ทั้งทางตรง (เช่น นิคมช่องแคบ) และทางอ้อม (รัฐมลายูต่าง ๆ)

ก่อนปี พ.ศ. 2329 ดินแดนที่เป็น มลายา หรือคาบสมุทรมลายูในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นประเทศเดียวหรือรัฐที่รวมศูนย์ แต่เป็น กลุ่มรัฐอิสระ ที่มีระบบการปกครองของตนเอง โดยส่วนใหญ่เป็น รัฐสุลต่านมลายู ซึ่งมีความสัมพันธ์กับจักรวรรดิใหญ่โดยรอบ เช่น จักรวรรดิมลายู เมืองมะละกา, อโยธยา, และ จักรวรรดิอิสลามในชวา

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ สั่งขึ้น!! ภาษีนำเข้าภาพยนตร์ที่สร้างนอกสหรัฐฯ 100% ส่งผลกระทบต่อ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

(5 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า … 

การที่ทรัมป์สั่งขึ้นภาษีนำเข้าภาพยนตร์ที่สร้างนอกสหรัฐฯ 100% สร้างความปั่นป่วนให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

นายโทนี่ เบิร์ค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย ตอบโต้กลับโดยระบุว่า พวกเขาจะปกป้องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของตนอย่าง "ชัดเจน"
ด้านนายกรัฐมนตรีคริสโตเฟอร์ ลักซอน ของนิวซีแลนด์ กล่าวว่า พวกเขากำลังรอรายละเอียดอยู่ แต่ไม่ต้องกังวล พวกเขาจะเป็น "แชมป์เปี้ยนที่ยิ่งใหญ่" สำหรับทีมงานภาพยนตร์ของพวกเขา

หมายเหตุ : ประมาณ 20-30% ของภาพยนตร์อเมริกัน โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่ใช้งบสูง จะถ่ายทำในต่างประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำกว่า แรงจูงใจทางภาษี และสถานที่ถ่ายทำที่หลากหลาย

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ สั่งเปิด ‘คุกอัลคาทราซ’ อีกครั้ง หลังปิดไป 60 ปี เตรียม!! ขังอาชญากรโหด

(5 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เผยว่า ได้สั่งการให้รัฐบาลเปิดและต่อเติมอัลคาทราซ อดีตเรือนจำชื่อกระฉ่อน ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะนอกชายฝั่งซานฟรานซิสโก ที่ปิดมานานกว่า 60 ปีอีกครั้ง

ทรัมป์ระบุผ่านโพสต์บนทรูธ โซเชียล (Truth Social) ว่า "นานเกินไปแล้วที่อเมริกาเต็มไปด้วยอาชญากรที่โหดร้าย รุนแรง และกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า พวกเดนสังคมที่ไม่เคยทำอะไรนอกจากสร้างความเจ็บปวดและทุกข์ยาก เมื่อก่อนตอนที่เราเป็นชาติที่จริงจังกว่านี้ เราไม่เคยลังเลที่จะกักขังอาชญากรอันตรายเหล่านี้และกีดกันให้พวกเขาออกจากใครก็ตามที่เขาจะทำร้ายได้ นั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็น นั่นคือเหตุผลว่าทำไม วันนี้ผมจึงได้สั่งการให้กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม เอฟบีไอ (FBI) และกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เปิดเรือนจำอัลคาทราซ ที่ได้รับการต่อขยายและบูรณะขึ้นมาใหม่เกือบทั้งหมด เพื่อใช้คุมขังผู้กระทำความผิดที่โหดเหี้ยมและรุนแรงที่สุดในอเมริกา"

โดยคำสั่งดังกล่าวของทรัมป์ถือเป็นความพยายามล่าสุดในการยกเครื่องวิธีการและสถานที่คุมขังนักโทษของรัฐบาลกลางและผู้ต้องขังในคดีตรวจคนเข้าเมือง แต่การดำเนินการดังกล่าวน่าจะมีความยากลำบากและค่าใช้จ่ายที่สูงจากโครงสร้างพื้นฐานที่ทรุดโทรมและต้นทุนในการซ่อมแซมและจัดหาสิ่งของต่างๆที่สูง เนื่องจากต้องขนทุกอย่างตั้งแต่เชื้อเพลิงไปจนถึงอาหารมาทางเรือ

ทั้งนี้ เรือนจำอัลคาทราซแห่งนี้ปิดตัวลงตั้งแต่ปี 2506 และได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top