Thursday, 15 May 2025
World

'อินสตาแกรม' ออกฟีเจอร์ 'บัญชีวัยรุ่น' พร้อมระบบควบคุมโดยผู้ปกครอง อีกหนทางแก้ปัญหาเสพติดโซเชียล-กลั่นแกล้ง-บูลลี่ภาพลักษณ์ร่างกาย

(19 ก.ย. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อินสตาแกรมจะเปลี่ยนบัญชีผู้ใช้ทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ให้เป็น ‘บัญชีวัยรุ่น’ (Teen Accounts) โดยอัตโนมัติ และจะถูกตั้งค่าเริ่มต้นเป็นบัญชีส่วนตัวโดยปริยาย

ผู้ใช้บัญชีวัยรุ่นจะสามารถรับข้อความและแท็กได้เฉพาะจากบัญชีที่พวกเขาติดตามหรือเป็นเพื่อนอยู่แล้วเท่านั้น ขณะที่การตั้งค่าเนื้อหาละเอียดอ่อนจะถูกปรับให้เป็นระดับสูงสุด

ขณะเดียวกัน ผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองก่อนจึงจะสามารถเปลี่ยนการตั้งค่าเริ่มต้นได้ ผู้ปกครองจะมีเครื่องมือพิเศษที่จะช่วยให้เห็นว่าบุตรหลานของตนกำลังพูดคุยกับใครอยู่ และสามารถจำกัดการใช้แอปได้ด้วย

นอกจากนี้ การอัปเดตยังมีฟีเจอร์ที่จะเตือนผู้ใช้งานที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ให้ปิดแอปหลังจากใช้งานไปแล้ว 60 นาทีในแต่ละวัน และบัญชีวัยรุ่นจะมีโหมดพักผ่อน (sleep mode) ที่เปิดใช้งานเป็นค่าเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยปิดการแจ้งเตือนต่าง ๆ ในตอนกลางคืน

เมตาระบุว่าจะเปลี่ยนบัญชีผู้ใช้งานที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีทั้งหมดให้เป็นบัญชีวัยรุ่นภายใน 60 วันในสหรัฐฯ, อังกฤษ, แคนาดา และออสเตรเลีย ส่วนผู้ใช้งานในยุโรปจะได้รับการเปลี่ยนแปลงภายในปีนี้ และผู้ใช้งานทั่วโลกที่เหลือจะเริ่มได้รับการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เดือนม.ค. 2568 เป็นต้นไป

ความเคลื่อนไหวของเมตามีขึ้นหลังจากที่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เมตาได้ยุติการพัฒนาอินสตาแกรมเวอร์ชันพิเศษสำหรับวัยรุ่นโดยเฉพาะ หลังจากที่นักการเมืองและกลุ่มสนับสนุนต่าง ๆ ได้เรียกร้องให้เมตายกเลิกโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็ก ๆ

เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา วุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายใหม่ 2 ฉบับเกี่ยวกับความปลอดภัยทางออนไลน์ที่มีชื่อว่า ‘รัฐบัญญัติความปลอดภัยทางออนไลน์สำหรับเด็ก’ (Kids Online Safety Act) และ ‘รัฐบัญญัติคุ้มครองความเป็นส่วนตัวทางออนไลน์สำหรับเด็กและวัยรุ่น’ (Children and Teens’ Online Privacy Protection Act) ซึ่งจะทำให้บริษัทโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่แพลตฟอร์มของตนมีต่อเยาวชน

อนึ่ง ผลการศึกษาหลายฉบับบ่งชี้ว่าการใช้โซเชียลมีเดียมากอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และความบกพร่องในการเรียนรู้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้อายุน้อย

ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก (Facebook), อินสตาแกรม และติ๊กต็อก (TikTok) อนุญาตให้ผู้ใช้ที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไปสร้างบัญชีได้

ชม ARMY-2024 งานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ EP#5 ระบบอาวุธยุทโธปกรณ์แม่นยำสูง เพื่อการรบทางยุทธวิธี

ยังคงเป็นวันแรกของงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ ARMY-2024 (12 สิงหาคม) ทีมงานของบริษัท ROSOBORONEXPORT ก็พาเดินไปยังอาคารแสดงสินค้าของบริษัท High-Precision Weapons holding ซึ่งมี Motto สำหรับปีนี้ว่า '15 ปีแห่งความแม่นยำและความน่าเชื่อถือ' โดยเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่กลุ่มบริษัท High-Precision Weapons holding ผลิตพอสังเขป เนื่องจากในวันรุ่งขึ้น (13 สิงหาคม) บริษัท High-Precision Weapons holding จะได้พาคณะฯ ไปทดสอบอาวุธยุทโธปกรณ์บางส่วนที่กลุ่มบริษัทฯ ได้ทำการผลิต

ระบบขีปนาวุธต่อต้านรถถัง Kornet

บริษัท High-Precision Weapons holding เป็นบริษัทในเครือของ Rostec State Corporation บริษัทโฮลดิ้งของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเป็นผู้ออกแบบและผลิตระบบอาวุธความแม่นยำสูง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้วในปี 2009 โดยมีบริษัทในเครือมากกว่า 15 บริษัท อาทิ สำนักงานออกแบบอาวุธยุทโธปกรณ์ Shipunov, สำนักงานออกแบบ-ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ Machine-Building, โรงงานผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ Kurgan, สถาบันวิจัยกลางเพื่อ Automation และ Hydraulics, สำนักงานออกแบบอาวุธยุทโธปกรณ์กลาง ฯลฯ ซึ่งมีขีดความสามารถในการออกแบบ ผลิต และซ่อมบำรุง ทำให้กลุ่มบริษัทมีพนักงานประจำกว่า 25,000 คน

ระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานแบบ Pantsyr S-1

ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มุ่งเน้นไปที่ระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีความแม่นยำสูงและอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับการรบทางยุทธวิธี อาทิ ระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน Pantsyr S-1, ระบบขีปนาวุธต่อต้านรถถัง Kornet, ปืนใหญ่นำวิถี Krasnopol-M2, ระบบขีปนาวุธยุทธวิธีของกองทัพ Iskander-M, ระบบต่อต้านรถถังอัตตาจร Khtizantema-S, ระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานประทับไหล่ Verba, ยานรบทหารราบแบบ BMP-3, BMD-4M และ BMP-2M Berezhok ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ที่พัฒนาและผลิตโดยบริษัทต่าง ๆ ในเครือ

ปฏิบัติการพิเศษทางทหารของสหพันธรัฐรัสเซียในยูเครน ทำให้การปฏิบัติตามแผนจัดซื้อจัดจ้างของรัฐสำหรับกระทรวงกลาโหมของสหพันธรัฐรัสเซียยังคงเป็นภารกิจที่มีความสำคัญสูงสุดของบริษัทฯ โดยในปี 2024 นับตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้ง บริษัทฯ ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รวมถึงกระทรวงกลาโหมแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ตลอดจนหน่วยงานของรัฐบาลกลางอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง แข็งขัน และเข้มข้นขึ้นเป็นอย่างมาก 

บริษัทฯ มีการจัดทำข้อเสนอแนะด้านปฏิบัติการโดยกองทัพ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่บริษัทฯ ออกแบบและผลิตทุกๆ 3-4 เดือนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามแผนจัดซื้อจัดจ้างของรัฐและการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ในเงื่อนไขการปฏิบัติการพิเศษทางทหาร 

นอกจากบริษัทต่าง ๆ ภายใต้บริษัท High-Precision Weapons holding จะได้ดำเนินการออกแบบ และพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารขั้นสูงแล้ว บริษัทต่าง ๆ เหล่านั้นก็กำลังพัฒนาสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีสูงอย่างมากมายสำหรับตลาดภาคพลเรือนอีกด้วย อาทิ เครื่องจักรสำหรับถนนและงานก่อสร้าง, อุปกรณ์การเก็บขยะและรถทำความสะอาดถนน, เครื่องจักรสำหรับป่าไม้และการเกษตร วิศวกรรมเครื่องจักรเช่น, การหล่อและการขึ้นรูป และผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจด้านการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นขีดความสามารถอีกอย่างหนึ่งของบริษัทฯ ในขอบข่ายของสินค้าสำหรับตลาดภาคพลเรือน โดยมีโครงการธุรกิจมากกว่า 20,000 รายการในปี 2023-2024 บนพื้นฐานการออกแบบและผลิตด้วยการ ‘พึ่งพาตนเอง’ (Self-reliance) 

‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่า ความนิยมในวงการแพทย์ ใช้แจ้งเหตุฉุกเฉินพร้อมกัน ในขณะที่มือถือทำไม่ได้

‘เพจเจอร์’ เครื่องเล็ก ๆ ที่เคยถูกมองว่าล้าสมัยกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ทั้งในแง่ของการใช้งานในภาคการแพทย์และเหตุการณ์ระเบิดเพจเจอร์ที่สั่นสะเทือนเลบานอน ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงหน่วยสืบราชการลับของอิสราเอล

(20 ก.ย. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ 'โทรศัพท์มือถือ' จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโลก ได้ทำให้วิทยุติดตามตัว หรือ 'เพจเจอร์' กลายเป็นสิ่งล้าสมัยไปอย่างมาก โดยความต้องการลดลงจากช่วงรุ่งเรืองในทศวรรษ 1990

อย่างไรก็ตาม เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กเหล่านี้ยังคงเป็นวิธีการสื่อสารที่สำคัญในบางพื้นที่ เช่น การดูแลสุขภาพและบริการฉุกเฉิน เนื่องจากความทนทานและมีอายุการใช้งานแบตเตอรี่ที่ยาวนาน

แพทย์ศัลยกรรมอาวุโสที่โรงพยาบาลชั้นนำแห่งหนึ่งของสหราชอาณาจักรกล่าวว่า “นี่เป็นวิธีที่ถูกที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดในการสื่อสารกับผู้คนจำนวนมากเกี่ยวกับข้อความที่ไม่ต้องการคำตอบ” โดยเสริมว่า เพจเจอร์นั้นมีการใช้กันทั่วไปโดยแพทย์และพยาบาลทั่วทั้งระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของประเทศ

ล่าสุด ประเด็นวิทยุสื่อสารได้ครองหน้าข่าวเกือบทุกสำนัก เมื่อมีการระเบิดเพจเจอร์หลายพันเครื่องที่ใช้โดยสมาชิกกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์พร้อมกันทั่วเลบานอน จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 คน และบาดเจ็บเกือบ 3,000 คน

ตามแหล่งข่าวความมั่นคงระดับสูงของเลบานอนและแหล่งข่าวอีกแห่งหนึ่งระบุว่า อุปกรณ์ระเบิดภายในเพจเจอร์นั้นถูกฝังโดย 'มอสซาด' หน่วยสืบราชการลับของอิสราเอล

สำหรับเพจเจอร์นั้น NHS ของสหราชอาณาจักรใช้งานประมาณ 130,000 เครื่องในปี 2019 ซึ่งคิดเป็นมากกว่าหนึ่งในสิบของเพจเจอร์ทั่วโลก

แพทย์ที่ทำงานในแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลพกเพจเจอร์เมื่อพวกเขาอยู่ในเวร แพทย์อาวุโสใน NHS กล่าวว่า เพจเจอร์หลายเครื่องยังสามารถส่งเสียงไซเรนและข้อความเสียงไปยังกลุ่ม เพื่อให้ทีมแพทย์ทั้งหมดได้รับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินพร้อมกัน ซึ่งไม่สามารถทำได้ด้วยโทรศัพท์มือถือ

นอกจากนี้ สถาบันเรือช่วยชีวิตแห่งชาติของสหราชอาณาจักร ยังใช้เพจเจอร์นี้เพื่อแจ้งเตือนลูกเรือของตน

ตัวเพจเจอร์นั้น สามารถติดตามได้ยากกว่าสมาร์ตโฟน เนื่องจากขาดเทคโนโลยีการนำทางที่ทันสมัยกว่า เช่น ระบบตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ หรือ GPS สิ่งนี้ทำให้เพจเจอร์เป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมในหมู่อาชญากร โดยเฉพาะผู้ค้ายาเสพติดในสหรัฐฯ ในอดีต

อย่างไรก็ตาม แก๊งอาชญากรรมกำลังใช้โทรศัพท์มือถือมากขึ้นในปัจจุบัน เคน เกรย์ อดีตตัวแทน FBI กล่าวกับรอยเตอร์สว่า “ตอนนี้พวกอาชญากรหันไปใช้โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์แบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งสามารถทิ้งได้ง่ายและแทนที่ด้วยโทรศัพท์เครื่องอื่นที่มีหมายเลขต่างกัน ทำให้ติดตามได้ยาก”

ทั้งนี้ ตลาดเพจเจอร์ทั่วโลก ซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับบริษัทอย่าง Motorola มีมูลค่าอยู่ที่ 1,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 ตามรายงานเดือนเมษายนของ Cognitive Market Research จำนวนนี้คิดเป็นเพียงเศษเล็กเศษน้อยของตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่าประมาณครึ่งล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2023

แต่ความต้องการเพจเจอร์กำลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความต้องการการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในภาคการดูแลสุขภาพ รายงานคาดการณ์อัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นที่ 5.9% จากปี 2023 ถึง 2030 โดยอเมริกาเหนือและยุโรปเป็นตลาดเพจเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดสองแห่ง โดยสร้างรายได้ 528 ล้านดอลลาร์ และ 496 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ

เกม ‘Black Myth: Wukong’ ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว ‘มณฑลซานซี’ ปลุกกระแส!! ให้คนอยากสัมผัส สถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมในจีน

(21 ก.ย.67) ‘เซียวซีเทียน’ หรือ ‘อุทยานสวรรค์ตะวันตกน้อย’ สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอันวิจิตรงดงามในมณฑลซานซี ทางตอนเหนือของจีน เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ปรากฏอยู่ในวิดีโอเกม ‘แบล็กมิธ: อู้คง’ (Black Myth: Wukong) วิดีโอเกมยอดนิยมของจีน ที่นำเรื่องราวของ ‘เห้งเจีย’ หรือ ‘ซุนหงอคง’ หนึ่งในตัวละครยอดนิยมจากวรรณกรรมสุดคลาสสิกอย่าง ‘ตำนานไซอิ๋ว’ มาตีความใหม่

สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้คลาคล่ำไปด้วยประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่ต้องการมาสัมผัสกับสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมในเกมอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้จำนวนผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นถึง 326% ในวันแรกของวันหยุดเทศกาลไหว้พระจันทร์เมื่อวันที่ 15 ก.ย.

สถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างใช้ประโยชน์จากความนิยมของวิดีโอเกม ด้วยการติดตั้งป้ายแนะนำข้อมูล จุดเช็กอินตามธีมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ของผู้เยี่ยมชม รวมถึง ที่วัดฉงฝู (Chongfu Temple) ซึ่งบรรดานักท่องเที่ยวต้องเริ่มเข้าแถวตั้งแต่เวลา 05.00 นาฬิกา เพื่อรับบัตรผ่านรุ่นลิมิเต็ด

ทั้งนี้ วิดีโอเกม แบล็กมิธ อู้คง เป็นผลงานของผู้ผลิต เกม ไซแอนซ์ (Game Science) สตูดิโอของจีนที่ใช้เวลาหลายปีในการบันทึกภาพแหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทั่วประเทศ เพื่อผลิตวิดีโอเกมที่มีความสมจริงระดับโลก ผ่านเทคโนโลยีมากมาย เช่น การสแกนสถานที่จริง ก่อนอัปโหลดโมเดลสิ่งปลูกสร้าง รูปปั้นและประติมากรรมโบราณ เข้าสู่เครื่องมือสร้างภาพสามมิติ

142 ชาติสมาชิก UN โหวตออกคำสั่ง ‘อิสราเอล’ ยุติ!! การครอบครอง ‘เวสต์แบงก์-เยรูซาเล็มตะวันออก’

(21 ก.ย.67)ในที่ประชุมสหประชาชาติที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ พบว่าชาติสมาชิก 142 ชาติทั่วโลกในวันพุธ (18) ลงมติการสั่ง ‘อิสราเอล’ ต้องยุติการครอบครองดินแดนปาเลสไตน์ โดยขีดเส้นตายให้ต้องเสร็จสิ้นภายใน 12 เดือน

เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำ UN ไรยาด มานซัวร์ (Riyad Mansour) เรียกการโหวตวันพุธ (18) เป็นจุดเปลี่ยนในความพยายามของพวกเราต่อเสรีภาพและความยุติธรรม มติที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติจะถูกเดินหน้าโดยปาเลสไตน์ที่นั่งอยู่ในห้องประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวมไปถึงสิทธิต่อการยื่นข้อเสนอในที่ประชุมใหญ่ในพฤษภาคม

อย่างไรก็ตาม พบว่าการลงคะแนนวันพุธ (18) มี 14 ชาติรวมสหรัฐฯ อิสราเอล ฮังการี อาร์เจนตินา สาธารณรัฐเซก หรือรู้จักในชื่อ เชกเกีย (Czechia) ฟิจิ มาลาวี ไมโครนีเซีย ตองกา และตูวาลู

และอีก 43 ประเทศงดออกเสียง

มติถูกรับหลังชาติสมาชิกจำนวน 142 ชาติออกเสียงรับรองเห็นชอบ

สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า การลงมติวันพุธ (18) เกิดขึ้นหลังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ICJ ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ได้กล่าวในเดือนกรกฎาคมว่า การปรากฏตัวของอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์ และเยรูซาเลมตะวันออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเรียกร้องให้อิสราเอลต้องยุติการเข้ายึดครองดินแดนนานหลายสิบปีโดยปาเลสไตน์ซึ่ง ประชาชนปาเลสไตน์ตั้งความหวังจะรวบรวมดินแดนเหล่านี้เพื่อตั้งประเทศใหม่ในอนาคต

โดยในความเห็นแนะนำพบว่า ศาล ICJ กล่าวว่า อิสราเอลสมควรต้องยุติการยึดครองโดยเร็วที่สุด ในขณะที่มติในที่ประชุมสหประชาชาติได้ให้เวลาอิสราเอลเป็นเวลา 12 เดือน

เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ แดนนี ดานอน (Danny Danon) ได้ออกมาโจมตีต่อผลมติที่ออกมาว่า

เป็นการตัดสินที่น่าละอายในการสนับสนุนการก่อการร้ายเชิงการทูตของรัฐบาลปาเลสไตน์

ไทม์สออฟอิสราเอลรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่กระทรวงต่างประเทศอิสราเอลได้แสดงความเห็นว่า การตัดสินใจนี้เป็นการเมืองระหว่างประเทศที่น่าเย้ยหยัน คิดแต่ผลประโยชน์ตัวเองที่จะกระตุ้นการก่อการร้ายและทำร้ายโอกาสสำหรับสันติภาพ

สื่อยิวอธิบายว่านอกเหนือจากจะให้เวลา 12 เดือนเพื่อยุติการครอบครองในเขตเวสต์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออกแล้ว ยังรวมไปถึงทหาร IDF และพลเรือนทั้งหมดให้ต้องออกไป

CNN รายงานว่า อย่างไรก็ตามทั้งคำแนะนำจาก ICJ หรือมติที่ประชุมสหประชาชาติมีผลบังคับผูกพัน แต่ทว่าคำตัดสินจาก ICJ และมติที่ประชุมสหประชาชาติสามารถถูกใช้เพื่อโดดเดี่ยว ‘อิสราเอล’ เพิ่มมากขึ้น และในสัปดาห์หน้าที่เมืองนิวยอร์กบรรดาผู้นำชาติสมาชิก UN ทั้งหมดจะเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติประจำปี

‘ศรีลังกา’ จัดเลือกตั้ง หลังมีการประท้วงครั้งใหญ่ จากวิกฤติเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์ ชี้!! ขับเคี่ยวสูสี ปชช. คาดหวังให้มีการปฏิรูป ฟื้นฟูประเทศ

(21 ก.ย.67) การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปของศรีลังกา ถือเป็นการลงประชามติที่สำคัญต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ มุ่งหวังผลักดันการเดินหน้าการฟื้นฟูประเทศ

ประชาชนศรีลังกายังคงดิ้นรน เพื่อหารายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากการขึ้นภาษี รวมถึงการตัดเงินสนับสนุนและสวัสดิการรัฐ

นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่า ความกังวลทางเศรษฐกิจศรีลังกาได้เป็นประเด็นสำคัญอันดับแรกของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในการแข่งขันชิงประธานาธิบดีที่ขับเคี่ยวกันอย่างสูสี

นักวิจัยสถาบัน Observer Research Foundation ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศอินเดียกล่าวกับบีบีซีว่า “เงินเฟ้อของศรีลังกาที่พุ่งสูงขึ้น ค่าของชีพที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว ประกอบกับสถานการณ์ความยากจน ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสิ้นหวังจะหาทางออก เพื่อรักษาระดับคุณภาพชีวิตให้คงที่”

หนึ่งในผู้ชิงชัยคือ รานิล วิกรมสิงเห วัย 75 ปี ประธานาธิบดีศรีลังกา กำลังหาเสียงหวังอยู่ในตำแหน่งต่ออีกสมัย ซึ่งเมื่อสองปีก่อน วิกรมสิงเหได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐสภา หนึ่งสัปดาห์ภายหลังจากอดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ถูกขับพ้นตำแหน่ง

บีบีซีรายงานว่า หลังวิกรมสิงเหเข้ารับตำแหน่งไม่นาน ก็ได้ปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงที่ยังคงเคลื่อนไหว ทั้งนี้เขาถูกกล่าวหาว่าปกป้องครอบครัวราชปักษาจากการถูกดำเนินคดี ซึ่งวิกรมสิงเหได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาตลอด

ขณะที่ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกาที่น่าจับตามองอีกคนคือ นักการเมืองฝ่ายซ้าย อนุรา กุมารา ดิสซานายาเก ได้ชูนโยบายต่อต้านการทุจริต ซึ่งทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามการชิงชัยครั้งนี้ มีผู้สมัครจำนวนมากกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ของศรีลังกา หรือประมาณ 30 คน แต่จะมีเพียง 4 คนเท่านั้นที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ

นอกจากวิกรมสิงเหและดิสซานายาเกแล้ว ยังมีผู้นำฝ่ายค้านอย่างซาจิด เปรมทาสา และหลานชายของอดีตประธานาธิบดีนามาล ราชปักษา วัย 38 ปี

การนับคะแนนผลการเลือกตั้งจะเริ่มขึ้นหลังปิดหีบลงคะแนนแล้วในเวลา 16.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ของวันนี้ ซึ่งคาดว่าจะยังไม่ทราบผลเลือกตั้งที่ชัดเจนไปจนกว่าจะถึงเช้าวันอาทิตย์

'ฮิซบอลเลาะห์' ถล่มคืน 'อิสราเอล' กองกำลังติดอาวุธในอิรัก ร่วมผสมโรงด้วย หลายฝ่ายกังวล!! ความขัดแข้งใน ‘กาซา-เลบานอน’ อาจลุกลามไปใหญ่โต

(22 ก.ย. 67) การปะทะกันระหว่างอิสราเอลและฮิซบอลเลาะห์ กองกำลังติดอาวุธในเลบานอนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสรุปได้ดังนี้ 

•    วันอังคาร (17 ก.ค.) เพจเจอร์ที่ฮิซบอลเลาะห์ใช้สื่อสารเกิดระเบิดทั่วเลบานอนพร้อมกัน 3,000 เครื่อง 
•    วันพุธ (18 ก.ย.) วิทยุสื่อสารของฮิซบอลเลาะห์ระเบิดในเลบานอน 

รวมสองวันดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 37 คน บาดเจ็บกว่า 3,000 คน

•    วันศุกร์ (20 ก.ย.) อิสราเอลปฏิบัติการทางอากาศถล่มกรุงเบรุต ปลิดชีพ “อิบราฮิม อาคิล” ผู้บัญชาการทหารระดับสูงของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และเป็นหนึ่งในผู้ที่วางแผนการโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. รวมถึงสมาชิกระดับปฏิบัติการณ์อีก 10 คน ด้านกระทรวงสาธารณสุขเลบานอนรายงานวันนี้ (22 ก.ย.) ว่า การโจมตีดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 45 รายแล้ว
•    วันเสาร์ (21 ก.ย.) กองทัพอิสราเอลเผยว่า ได้ปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายราว 290 แห่ง รวมถึงโจมตีเครื่องยิงจรวดฮิซบอลเลาะห์หลายพันเครื่อง และว่าจะโจมตีเป้าหมายเพิ่มต่อเนื่อง

ล่าสุด สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อิสราเอลและฮิซบอลเลาะห์ปะทะกันอย่างหนักมาตั้งแต่คืนวันเสาร์จนถึงเช้าวันนี้ โดยฮิซบอลเลาะห์ยิงจรวดเข้าไปในพื้นที่ทางตอนเหนือของอิสราเอล และเผยว่า กลุ่มได้โจมตีฐานทัพอากาศรามัต เดวิด ของอิสราเอลด้วยขีปนาวุธหลายลูก ซึ่งถือเป็นการโจมตีที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดการสู่รบระหว่างกัน 

ขณะที่เจ้าหน้าที่จากขบวนการ Islamic Resistance ในอิรัก ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน เผยว่า กลุ่มได้ยิงขีปนาวุธและโดรนโจมตีอิสราเอลช่วงรุ่งสางวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนแนวหน้าเลบานอนครั้งใหม่ของกลุ่ม

ด้านกองทัพอิสราเอลเผยว่า ทั่วประเทศมีเสียงไซเรนดังตลอดทั้งคืน เนื่องจากมีจรวดและขีปนาวุธยิงมากจากฝั่งเลบานอนและอิรัก แต่ระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลสามารถสกัดขีปนาวุธส่วนใหญ่ไว้ได้

อิสราเอลยังได้สั่งปิดโรงเรียนและห้ามผู้คนรวมตัวกันในหลายพื้นที่ทางตอนเหนือ ทั้งยังสั่งให้โรงพยาบาลในพื้นที่ดังกล่าวย้ายไปดำเนินการในสถานที่ที่มีการป้องกันหนาแน่นเป็นพิเศษ เพื่อให้ปลอดภัยจากการยิงจรวดและขีปนาวุธ

ขณะที่ฝั่งเลบานอน ไม่มีการสั่งการใด ๆ ในเช้าวันอาทิตย์

ทั้งนี้ การโจมตีของฮิซบอลเลาะห์และกลุ่มติดอาวุธในอิรัก ทำให้อาคารจำนวนมากในอิสราเอลเสียหาย และมีบ้านหลังหนึ่งใกล้กับเมืองไฮฟาเสียหายอย่างหนัก เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เข้ารักษาผู้บาดเจ็บแล้ว แต่ยังไม่มีรายงานเสียชีวิต และประชาชนได้รับคำสั่งให้อยู่ใกล้หลุมหลบภัยและที่ปลอดภัย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลกันหลายฝ่ายว่า ความขัดแย้งในกาซาและเลบานอน อาจลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของภูมิภาค

'อาเซียน-เอเชียใต้' แข่งดูดมนุษย์สายพันธุ์ 'ดิจิทัล นอแมดส์' หลังกลุ่มนี้สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจกว่า 26 ล้านล้านบาท

(23 ก.ย. 67) บราเธอร์ อะบรอด เปิดเผยรายงานการสำรวจ 'ดิจิทัล นอแมดส์' (Digital Nomads) ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่มีอาชีพการทำงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หรือเป็นนายจ้างของตัวเอง (Self Employed) และทำงานในสถานที่ต่าง ๆ ที่อยู่ต่างประเทศในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง พบว่าในปี 2022 ที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนมากถึง 35 ล้านคนทั่วโลก ที่สำคัญเป็นกลุ่มคนที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 787,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 26 ล้านล้านบาท และเป็นที่คาดการณ์ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะเพิ่มจำนวนเป็น 60 ล้านคนภายในปี 2030 หรือเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.5 เท่าอีก 6 ปีข้างหน้า

กลุ่มมนุษย์ดิจิทัล นอแมดส์ จึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้และอาเซียน ซึ่งต้องการดึงดูดกลุ่มคนเหล่านี้ให้เดินทางเข้ามาทำงานและพักผ่อนท่องเที่ยวในเวลาเดียวกัน เนื่องจากสถิติการใช้จ่ายของกลุ่มคนดิจิทัล นอแมดส์ เฉลี่ยอยู่ที่ 22,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือกว่า 765,000 บาทต่อปี มูลค่าการใช้จ่ายดังกล่าวยังพบว่า มีจำนวนมากกว่ารายได้ประชาชาติในภาพรวม (Gross National Income) ของหลายประเทศที่อยู่ในแถบอาเซียน และเอเชียใต้ นอกจากนี้ การใช้ชีวิตและการทำงานสามารถใช้จ่ายเงินสูง ซึ่งเกี่ยวข้องกับรูปแบบการทำงานและการท่องเที่ยวแบบหรูหรา

สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลให้กลุ่มมนุษย์ดิจิทัล นอแมดส์ สนใจและอยากจะเดินทางมาในภูมิภาคอาเซียน และเอเชียใต้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากสภาวะของภูมิอากาศในแถบนี้อยู่ในเขตร้อน ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับในยุโรปหรืออเมริกาเหนือ ที่ต้องเผชิญกับความหนาวเย็นจัดในช่วงฤดูหนาว นอกจากนี้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ ซึ่งมีความแตกต่างโดยเฉพาะตัวด้านวัฒนธรรมมากมายหลายแห่งในทั้งสองภูมิภาค และปัจจัยสุดท้ายคือ ค่าใช้จ่ายถูกมากเมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานในประเทศต้นทางของกลุ่มมนุษย์ดิจิทัล นอแมดส์

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศชั้นนำในแถบอาเซียนและเอเชียใต้ที่เปิดตลาดรองรับกลุ่มมนุษย์ดิจิทัล นอแมดส์ โดยในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ประกาศใช้มาตรการ ผ่อนคลายข้อจำกัดวีซ่าของชาวต่างประเทศย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมารัฐบาลไทยประกาศใช้ วีซ่าฟรีเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 90 จากเดิม 60 ประเทศทั่วโลก สำหรับการเข้ามาอยู่ในแต่ละครั้งของชาวต่างชาติกับวีซ่าฟรีนั้น จะสามารถอยู่ได้นานถึง 180 วันและสามารถขอต่อได้อีก 180 วัน และมีระยะเวลานานถึง 5 ปี

รัฐบาลประเทศอินโดนีเซีย ประกาศใช้มาตรการวีซ่าฟรีกับ 20 ประเทศซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะมีระยะเวลาของมาตรการดังกล่าวนานถึง 1 ปี ด้านรัฐบาลประเทศมาเลเซียซึ่งใช้มาตรการวีซ่าฟรีให้กับชาวต่างชาติมาตั้งแต่ปี 2022 นั้นพบว่าเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียได้ขยายประเภทวีซ่าฟรีให้ครอบคลุมอีก 2 อาชีพของชาวต่างชาติ ได้แก่ บัญชี และทนายความที่ปรึกษาการลงทุน

รัฐบาลประเทศศรีลังกากำลังพิจารณา การออกวีซ่าใหม่ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมนุษย์ดิจิทัล นอแมดส์ ด้วยความหวังว่าจะมีเม็ดเงินจากกลุ่มคนเหล่านี้ซึ่งเป็นคนต่างประเทศเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศศรีลังกาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอย่างรุนแรงในปี 2022 เป็นต้นมา ในปี 2023 ที่ผ่านมาศรีลังกาได้ออกวีซ่าที่ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย ในการขอวีซ่า เพื่อดึงดูดชาวต่างประเทศจากจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย นอกจากนี้รัฐบาลศรีลังกายังเตรียมที่จะขยายมาตรการดังกล่าวให้ครอบคลุมไปเป็น 30 ประเทศภายในเดือนตุลาคมนี้ 

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจและสังคมในประเทศต่างๆเหล่านี้ ล้วนมีความกังวลอย่างยิ่งกับมาตรการดังกล่าวที่จะส่งผลให้เกิดผลทางลบ ซึ่งได้แก่การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอาชญากรรมโลกไซเบอร์

'บีบีซี' ชี้!! เหตุข่มขืนเกิดขึ้นทุกๆ ชั่วโมงในลอนดอน เฉลี่ยแล้ว 24 คดีต่อวัน อาจมีต้นตอจากวัฒนธรรมเป็นพิษทางออนไลน์-ภาพลามกอนาจารรุนแรง

(23 ก.ย. 67) BBC รายงานว่า ในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ มีเหตุข่มขืนเกิดขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก ๆ ชั่วโมง จากรายงานของตำรวจที่เผยแพร่เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลพบว่าพวกเจ้าหน้าที่ต้องจัดการกับเหตุข่มขืนเกือบ 8,800 คดีในปี 2023 ซึ่งเฉลี่ยแล้วคิดเป็น 24 คดีต่อวัน

ตัวเลขดังกล่าวเป็นข้อมูลที่สำนักข่าวบีบีซีได้มาผ่านคำร้องเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล หรือ Freedom of Information ซึ่งเผยให้เห็นว่านอกจากคดีข่มขืนแล้ว ยังมีเหตุล่วงละเมิดทางเพศอื่นอีกกว่า 11,000 คดี รวมแล้วมีเหตุข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศอื่น ๆ เกือบ 20,000 คดีในปี 2023 เพิ่มขึ้นจากช่วง 5 ปีหลังสุดราว 14% นั่นหมายความว่าเฉลี่ยแล้ว ตำรวจได้รับแจ้งความเหตุความรุนแรงทางเพศและเหตุข่มขืนในทุก 26 นาที 30 วินาที

มูลิธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิทักษ์เด็กและสตรีจากความรุนแรงทางเพศ เปิดเผยว่าขอบเขตที่แท้จริงของเหตุการณ์ลักษณะนี้สูงกว่านี้มาก

ศูนย์วิกฤตคดีข่มขืน ซึ่งมีสำนักงานในลอนดอน ให้คำจำกัดความตัวเลขดังกล่าวว่า "น่าสยดสยอง" และเรียกร้องผ่านบีบีซีว่า "จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน"

องค์กรการกุศลแห่งนี้อ้างว่าในบรรดาผู้หญิงที่ถูกข่มขืนนั้น มีเพียงแค่ 1 ใน 6 เท่านั้น ที่กล้าหาญพอเข้าแจ้งความตำรวจ และว่ากันว่าในบรรดาเหยื่อนั้น มีผู้ชายรวมอยู่ด้วยคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 และมีเพียง 1 ใน 4 ที่เข้าแจ้งความเกี่ยวกับเหตุประทุษร้ายทางเพศในรูปแบบอื่นๆ

ที่น่าช็อกที่สุดคือ ข้อมูลของตำรวจยังเผยด้วยว่ามีเด็กกว่า 4,300 คนที่ตกเป็นหยื่อของเหตุข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศในปี 2023

เอียน คริต์ลีย์ หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์เด็ก แห่งสภาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เคยอธิบายถึงเหตุล่วงละเมิดเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยเขาบอกในตอนนั้นว่า การเพิ่มขึ้นของเหตุเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศจากเด็กคนอื่น อาจมีต้นตอจากวัฒนธรรมเป็นพิษทางออนไลน์ อย่างเช่นภาพลามกอนาจารรุนแรง

'Nikkei Asia' อวย 'มาเลเซีย-กัมพูชา' เจ้าแห่งการสแกนจ่าย QR code พอเจอท้วง ตัดไทยออกดื้อๆ แถมที่ผ่านมาก่อวีรกรรมไว้อีกเพียบ

เมื่อวานนี้ (22 ก.ย. 67) รายงานข่าวแจ้งว่า เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชีย ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวและบทวิเคราะห์จากประเทศญี่ปุ่น รายงานข่าวหัวข้อ ‘Malaysia and Cambodia lead QR payment expansion in ASEAN’ (มาเลเซียและกัมพูชาเป็นผู้นำการขยายตัวของระบบการชำระเงิน QR Payment ในอาเซียน) ลงวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา และโปรยว่า ‘Cross-border links and tourist services add to region's growing digital money usage’ (การเชื่อมโยงบริการข้ามพรมแดน และบริการด้านการท่องเที่ยว ทำให้การใช้เงินดิจิทัลในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น)

โดยได้นำเสนอแผนภูมิหัวข้อ QR code payments in Southeast Asia หรือปริมาณการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ในปี 2023 มาเลเซียมียอดธุรกรรมผ่านระบบ QR Code ราว 2,000 กว่าล้านครั้ง อินโดนีเซียประมาณ 1,600 ล้านครั้ง กัมพูชาประมาณ 700 ล้านครั้ง สิงคโปร์ประมาณ 400 ล้านครั้ง และเวียดนามประมาณ 200 ล้านครั้ง แต่ไม่มีประเทศไทยอยู่ในการจัดอันดับดังกล่าว ทั้งที่ประเทศไทยมีระบบชำระเงิน QR Payment ผ่านระบบพร้อมเพย์ ส่งผลให้มีชาวเน็ตไทยเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ข่าวชิ้นดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กเพจ Nikkei Asia จำนวนมาก

โดยชาวเน็ตไทยบางคนนำสถิติของประเทศไทยมาอ้างอิง ระบุว่า เฉพาะเดือน ส.ค. 2024 เดือนเดียวก็มียอดการทำธุรกรรมผ่านระบบ QR สูงถึง 2,109 ล้านครั้ง มูลค่ากว่า 4,200 ล้านบาท มากกว่ามาเลเซียทั้งปีเสียอีก บ้างก็มีคนเข้าไปทำกราฟประชดว่า สงสัยที่สำนักข่าวนี้ไม่ใส่ไทยไว้ในอันดับด้วย เพราะถ้าใส่ไปไทยจะมีตัวเลขสูงกว่า 20,000 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งจะทำให้ประเทศอื่นดูไม่ดีใช่หรือไม่ บ้างก็ตั้งคำถามว่า Nikkei Asia คงกลัวที่จะรวมไทยที่มียอดการทำธุรกรรมออนไลน์อยู่อันดับ 1 ใน 5 ของโลกเข้าไปด้วยใช่หรือไม่

ขณะที่เฟซบุ๊กเพจ ‘ลงทุนแมน’ ระบุว่า "Nikkei Asia จัดอันดับ QR payment ในกลุ่มอาเซียน โดยให้ประเทศไทยรั้งท้าย ตามหลังแม้กระทั่ง กัมพูชา และเวียดนาม และได้มีคนไทยจำนวนมากไปร้องเรียนว่าข้อมูลผิด มาวันนี้โพสต์ใหม่ไฉไลกว่าเดิม จัดอันดับ QR payment ในอาเซียน โดยไม่มีประเทศไทยอยู่ในการจัดอันดับไปเลย…

“สรุป วิธีการแก้ปัญหาด้านข้อมูลของเขาคือ ฉันอยากจะจัดอันดับอาเซียนอยู่นะ แต่การจัดอันดับอาเซียนไม่ต้องมีประเทศไทยเป็นตัวแทนแล้วละกัน ในฐานะลงทุนแมนเป็นผู้ทำคอนเทนต์ด้านการเงินของไทย อยากปกป้องว่าด้านการเงินของไทยก็มีดี อย่างน้อยคือการจ่ายเงินด้วย QR มากที่สุดในภูมิภาคนี้ และการนำประเทศไทยออกไป อาจทำให้ภาพการวิเคราะห์ของคนเห็นข้อมูล เข้าใจผิดไปได้ว่าประเทศไทยที่อยู่ในอาเซียนยังไม่พัฒนาในเรื่องนี้ พอเห็นแบบนี้แล้วก็ได้แต่ทำใจ"

อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข่าวดังกล่าว เป็นจังหวะเดียวกับธนาคารกลางมาเลเซีย และธนาคารแห่งชาติกัมพูชาเปิดตัวระบบชำระเงิน QR ข้ามพรมแดน สำนักข่าวรอยเตอร์และซินหัวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมาทั้งสองประเทศเปิดตัวระบบดังกล่าวในแถลงการณ์ร่วมของทั้งสองธนาคารกลางระบุว่า โครงการดังกล่าวจะทำให้ผู้ค้ามากกว่า 5 ล้านรายในกัมพูชาและมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก สามารถเข้าถึงลูกค้าที่กว้างขึ้นจากทั้งสองประเทศ

โดยนักท่องเที่ยวชาวกัมพูชาสามารถใช้แอปฯ Bakong และ M2U KH สแกนจ่ายตามร้านค้าที่มี Duit Now QR ของมาเลเซียกว่า 2 ล้านแห่ง และระยะต่อไป นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียสามารถสแกนจ่ายผ่าน KHQR ที่ร้านค้าในกัมพูชา จากแอปพลิเคชันธนาคารที่เข้าร่วม ซึ่งที่ผ่านมาประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ต่างทำงานร่วมกันเพื่อเชื่อมต่อระบบการชำระเงินของตน และใช้ระบบ QR Code ในการทำธุรกรรมการค้าปลีกด้วย

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชีย มีความไม่ชอบมาพากลในการรายงานข่าว ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเว็บไซต์และเพจบางเพจ เช่น สำนักข่าว เดอะ สแตนดาร์ด หรือ บัญชา ชุมชัยเวทย์ ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 นำเสนอข่าวทำนองว่ากำลังเกิดวงจรอุบาทว์ขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย โดยอ้างอิงข่าวจากเว็บไซต์นิกเกอิ เอเชีย ทำให้เพจเฟซบุ๊ก Bangkok Media Academy โพสต์ข้อความหัวข้อ "นิกเกอิ กับข่าววงจรอุบาทว์ ! จริงหรือ ??" เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา

สาระสำคัญระบุว่า มีสื่อมวลชนหลายค่ายนำบทความจากนิกเกอิ เอเชีย มาลง ในฐานะที่เป็นนักข่าว และจบด้านบริหารธุรกิจ อ่านอย่างละเอียดแล้วจึงมีทัศนะว่า เนื้อหาในข่าวนั้นเป็นการชี้นำไปในทิศทางที่ว่ารถยนต์ไฟฟ้าค่ายจากจีน เป็นตัวที่ทำให้ตลาดปั่นป่วน ซึ่งตนค้านมุมมองของนิกเกอิ เอเชีย ว่ามันไม่ใช่วงจรอุบาทว์ แต่เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของตลาด ที่มีสินค้าใหม่ (รถยนต์อีวี) เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการแข่งขันในตลาดเดิม (รถยนต์สันดาป) ทำให้ตลาดเดิมต้องหาทางรอด หลังจากที่โกยกำไรจำนวนมากมาเป็นเวลานาน

"รถยนต์ของยุโรปก็เจอปัญหานี้อย่างหนัก เมื่อรถไฟฟ้าอย่างเทสล่าเกิดขึ้นในตลาด ขณะที่รถญี่ปุ่นในบ้านเราก็ไปไม่ถูก เมื่อเจอรถไฟฟ้าจากจีนเข้ามาแย่งส่วนแบ่ง ผมใช้ความรู้เรื่องบริหารธุรกิจไปหารายละเอียดเพิ่ม ก่อนมองแบบวิเคราะห์เรื่องตลาดรถยนต์ แล้วขอย้อนมาที่เรื่องสื่อ ซึ่งเจ้าของ Nikkei นั้นแยกกันไม่ออกเลยกับ กลุ่มทุนแห่งแดนอาทิตย์อุทัย"

สำหรับเว็บไซต์นิกเกอิ เอเชีย เป็นเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและบทวิเคราะห์ทางธุรกิจ สถานการณ์ทางการเมือง การเติบโตทางเทคโนโลยี ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มทางการตลาดทั้งในภูมิภาคและตลาดโลกจากมุมมองเอเชีย และยังนำเสนอดัชนี Asia300 เสนอข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวทางการเงินและการลงทุนที่สำคัญของบริษัทที่ทรงอิทธิพลในเอเชีย 300 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์, ปตท., ธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top