Thursday, 15 May 2025
World

สำรวจข้อมูล 'Qualcomm' และ 'Intel' 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกก่อนจะควบรวมกัน

(23 ก.ย. 67) ข่าวที่หลายคนจับตามองมากที่สุดในช่วงนี้ และจะส่งผลกระทบมหาศาลต่อโลกของเซมิคอนดักเตอร์ นั่นคือ ข่าวที่บริษัท Qualcomm ต้องการจะเข้าซื้อกิจการของบริษัทอย่าง Intel ซึ่งถ้าดีลนี้เกิดขึ้นจริงจะทำให้บริษัทผลิตชิปยักษ์ใหญ่อย่าง Nvidia เจอคู่ต่อสู้ที่สามารถแข่งขันได้อย่างน่ากลัว แถมดีลนี้จะยิ่งทำให้ตลาดผลิตชิปของสหรัฐฯ แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิมและจะสร้างการเปลี่ยนแปลงของทิศทางของเทคโนโลยีทั่วโลกได้ 

Qualcomm เองเป็นบริษัทผลิตชิปสำหรับอุปกรณ์พกพาและการสื่อสาร ในขณะที่ Intel เป็นผู้นำด้านชิปสำหรับพีซีและเซิร์ฟเวอร์ แถมยังมีโรงานผลิตชิปเป็นของตัวเอง ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมชิปเลยก็ว่าได้ และการรวมตัวนี้จะทำให้ Qualcomm เข้าไปสู่ตลาดที่กว้างมากขึ้น และได้ใช้ประโยชน์จากความสามารถของ Intel ในการพัฒนาชิปสำหรับ AI และ Data Center 

แม้ในช่วงปี 2007 Qualcomm จะเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับ Intel แต่ในปี 2024 นี้เอง  Qualcomm กลายมาเป็นบริษัทที่ใหญ่กว่า Intel จากการขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G และตลาดมือถือ ขณะที่ Intel ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักในตลาดพีซีและ Data Center จากคู่แข่งอย่าง AMD และ Nvidia 

และประเด็นที่น่าจับตามองต่อไปคือ ความท้าทายเรื่องการผูกขาด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปเองให้ความสำคัญอย่างมาก และถ้าดีลนี้เกิดขึ้นได้จริงจะเป็นดีลที่ใหญ่มากของปีนี้ โดยมีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 122 พันล้านเหรียญ และ Qualcomm เองอาจจะต้องใช้วิธีการแลกหุ้นหรือระดมทุนเพื่อใช้ในการเข้าซื้อกิจการ Intel ครั้งนี้

>> บริษัท / ปีที่ก่อตั้ง 
Qualcomm = 1985
Intel = 1968

>> ประเภทอุตสาหกรรม
Qualcomm = โทรคมนาคม, เซมิคอนดักเตอร์ 
Intel = เซมิคอนดักเตอร์, เทคโนโลยี

>> ผลิตภัณฑ์หลัก 
Qualcomm = ชิปประมวลผลมือถือ, 5G, เซมิคอนดักเตอร์ 
Intel = โปรเซสเซอร์พีซี, Data Center, AI, การขับขี่อัตโนมัติ 

>> จุดแข็ง
Qualcomm = Snapdragon, โปรเซสเซอร์, ผู้นำด้าน 5G
Intel = โปรเซสเซอร์ x86 สำหรับพีซีและ Data Center 

>> ตลาดสำคัญ 
Qualcomm = อุปกรณ์มือถือ, ยานยนต์, IoT เครือข่าย
Intel = คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล, Data Center, Cloud, การขับขี่อัตโนมัติ 

>> มูลค่าตลาด 
Qualcomm = 188.17 พันล้านเหรียญ 
Intel = 93.288 พันล้านเหรียญ 

>> รายได้ Q2/2024 
9.4 พันล้านเหรียญ 
12.8 พันล้านเหรียญ 

‘Xiaomi’ ทำยอดขายแซง iPhone รั้งเบอร์ 2 ของโลกในเดือนสิงหาคม ฟาก 'นักวิเคราะห์' ชี้!! คงเป็นช่วงสั้นๆ แต่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญพลิกตลาด

(23 ก.ย. 67) ไม่นานมานี้ Counterpoint Research บริษัทวิจัยตลาดชั้นนำ ได้เปิดเผยว่า Xiaomi สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสมาร์ตโฟนอันดับ 2 ของโลกในเดือนสิงหาคม 2567 โดยมียอดจัดส่งสมาร์ตโฟนแซงหน้า Apple เป็นครั้งแรก ความสำเร็จครั้งนี้เป็นผลมาจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Xiaomi ที่มียอดจัดส่งสมาร์ตโฟนเพิ่มขึ้นถึง 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม การครองอันดับ 2 ของ Xiaomi อาจเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ เนื่องจากในเดือนต่อมา คือเดือนกันยายน Apple มีกำหนดเปิดตัว iPhone 16 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ยอดขายของ Apple พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และน่าจะกลับมาครองตำแหน่งอันดับ 2 อีกครั้ง

ในขณะเดียวกัน ทางด้านของ Samsung ยังคงครองตำแหน่งผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลกไว้ได้ แม้ว่าในช่วงก่อนหน้านี้จะเคยสูญเสียตำแหน่งให้กับ Apple ไปเป็นเวลาหลายเดือนก็ตาม ปัจจุบัน Samsung สามารถกลับมาครองบัลลังก์อีกครั้งด้วยส่วนแบ่งตลาดที่เหนือกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน

สำหรับการก้าวกระโดดของ Xiaomi ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของกลยุทธ์การตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยเฉพาะในตลาดเอเชียและยุโรป ที่ Xiaomi สามารถนำเสนอสมาร์ตโฟนที่มีคุณภาพสูงในราคาที่แข่งขันได้ ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการสมาร์ตโฟนประสิทธิภาพสูงแต่ราคาไม่แพงจนเกินไป

นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมมองว่า แม้การขึ้นแท่นอันดับ 2 ของ Xiaomi จะเป็นเพียงชั่วคราว แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของบริษัท และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดสมาร์ทโฟนโลก

'สวีเดน' ยอมจ่ายเงินกว่า 1 ล้านต่อหัว จูงใจกลุ่มผู้อพยพกลับไปยังบ้านเกิด

ไม่นานมานี้ นิวยอร์กไทม์ส ได้รายงานว่า สวีเดนเสนอเงิน 34,000 ดอลลาร์ (ราว 1 ล้านบาท) ผ่านโครงการส่งกลับผู้อพยพโดยสมัครใจแบบจ่ายครั้งเดียว แก่ครอบครัวผู้อพยพในประเทศ เพื่อให้กลับไปยังประเทศบ้านเกิด ตามแผนการปฏิรูปนโยบายผู้ลี้ภัยของสวีเดน ซึ่งถือเป็นวิธีการที่บางชาติในตะวันตกใช้ เพื่อลดจำนวนผู้ลี้ภัยด้วยนั้น

ทั้งนี้ นโยบายใหม่ดังกล่าว ทางรัฐบาลสวีเดนจะจ่ายเงินสูงถึง 350,000 โครนาสวีเดน หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 1,135,631 บาท ให้กับผู้อพยพที่เลือกเดินทางกลับบ้านเกิดโดยสมัครใจ ตั้งแต่ปี 2026 (พ.ศ. 2569) ซึ่งจากเดิมเม็ดเงินในการชดเชยเมื่อปีก่อนหน้าอยู่ที่ ผู้ใหญ่ราว 970 ดอลลาร์ (3.2 หมื่น) และเด็กราว 485 ดอลลาร์ (1.6 หมื่น) จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไรนัก

ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 กันยายน Johan Forssell รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอพผู้ลี้ภัยในสวีเดน กล่าวในแถลงว่า นโยบายใหม่นี้เป็น ‘การก้าวสู่กระบวนทัศน์ใหม่’ หรือการเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์ ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก โดยในปี 2015 ได้เปิดพรมแดนรับผู้อพยพจำนวน 162,877 คน ส่วนมากประกอบด้วย ชาวซีเรีย, อัฟกานิสถาน และอิรัก

Johan กล่าวต่อว่า ระบบเงินช่วยเหลือนี้ เริ่มใช้ในปี 1984 ซึ่งการให้เงินช่วยเหลือ ถือเป็นแรงจูงใจให้ผู้อพยพยินยอมกลับบ้านเกิดด้วยความสมัครใจ

ขณะที่ Ludvig Aspling จากพรรคสวีเดนเดโมแครต กล่าวว่า หากมีคนทราบนโนบายดังกล่าว และเงินช่วยเหลือ ก็น่าจะทำให้ผู้อพยพยอมรับข้อเสนอมากขึ้น

นอกจากนี้ นายอุล์ฟ คริสเตอช็อน ที่ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2565 เคยให้คำมั่นไว้ว่า จะดำเนินอย่างเข้มงวดในเรื่องการย้ายถิ่นฐานและอาชญากรรมด้วย

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างตั้งข้อสงสัยว่าจำนวนเงินที่มากขึ้นจะสามารถดึงดูดใจพวกผู้ลี้ภัยให้เดินทางออกไปได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากมีเพียงส่วนน้อย (1 ราย) ที่ยอมรับประโยชน์จากข้อเสนอนี้เมื่อปีที่แล้วเท่านั้น

'มาครง' ผ่าทางตัน!! เขี่ยพรรคอันดับ 1 เป็นฝ่ายค้าน แต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่ด้วยนักการเมืองฝ่ายขวา

(23 ก.ย. 67) เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 67 ว่า ในที่สุดฝรั่งเศสก็ได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว หลังจากยืดเยื้อมานานตั้งแต่การเลือกตั้งที่ไม่มีผู้ชนะเด็ดขาดในเดือนกรกฎาคม

คณะรัฐมนตรีที่ประกาศโดยประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ได้มีแชล บาร์นีเย อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศวัย 73 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีและหัวเรือใหญ่ในการนำรัฐบาลเสนอแผนงบประมาณปี 2568 เพื่อแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินของฝรั่งเศสซึ่งเข้าขั้นเลวร้าย

บาร์นีเย ผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาและอดีตผู้เจรจาของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับเบร็กซิต ต้องทำหน้าที่อันยากลำบากในการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มาครงอนุมัติ ขณะที่พันธมิตรฝ่ายซ้ายซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเสียงมากที่สุดในรัฐสภาพร้อมบดขยี้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ด้วยญัตติไม่ไว้วางใจ หลังจากผิดหวังที่กลุ่มของตนไม่ได้เป็นแกนหลักในรัฐบาลชุดใหม่

กลุ่มแนวร่วมฝ่ายซ้ายกลายเป็นพลังทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสหลังการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้รับที่นั่งมากเพียงพอต่อการตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้ พันธมิตรฝ่ายซ้ายเป็นกลุ่มที่มีเสียงมากที่สุดในรัฐสภา โดยมีฝ่ายกลางของมาครง และฝ่ายขวาจัดได้คะแนนไล่เรียงกันลงมา แต่ไม่มีฝ่ายใดได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ และทั้งสามฝ่ายไม่มีใครยอมจับมือร่วมกันตั้งรัฐบาลผสม ตลอดจนการนำเสนอนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะมาทำงานร่วมกับมาครง เป็นเหตุให้ฝรั่งเศสต้องรอรัฐบาลใหม่นานกว่า 11 สัปดาห์

มาครงชั่งน้ำหนักทางการเมืองอย่างรอบคอบก่อนเลือกฝ่ายขวามากกว่าฝ่ายซ้าย เขายอมเลือกนายกรัฐมนตรีจากฝั่งขวาเพื่อหวังให้รัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากทั้งสายกลางของเขาและฝ่ายอนุรักษนิยม

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดใหม่ได้รับเสียงตอบรับไม่ค่อยดีนักจากฝ่ายขวาจัดที่เรียกคณะรัฐมนตรีชุดนี้ว่าเป็นสัญญาณของการกลับคืนสู่ลัทธิมาโครนิสต์และดูไม่มีอนาคตเลย

ขณะที่ฝ่ายซ้ายจัดเรียกคณะรัฐมนตรีชุดนี้ว่า "รัฐบาลของผู้แพ้การเลือกตั้ง และรัฐบาลหัวรุนแรงที่ไม่สนใจประชาธิปไตย"

ก่อนการประกาศคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ ผู้คนหลายพันคนออกมาเดินขบวนบนท้องถนนในกรุงปารีสและเมืองอื่น ๆ ของฝรั่งเศสเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย

พวกเขาคัดค้านคณะรัฐมนตรีซึ่งพวกเขาบอกว่าไม่สะท้อนผลที่แท้จริงของการเลือกตั้ง และรัฐบาลชุดใหม่ไม่มีบุคลากรจากฝ่ายซ้ายเลย ทั้งๆที่ได้ที่นั่งเป็นอันดับหนึ่งในรัฐสภา

มีแชล บาร์นีเยจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 1 ตุลาคม จากนั้นเขามีหน้าที่เร่งด่วนในการส่งแผนงบประมาณไปยังสมัชชาแห่งชาติโดยมุ่งเป้าไปที่การควบคุมการขาดดุลงบประมาณและหนี้สินของฝรั่งเศสที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นด่านทดสอบสำคัญครั้งแรกของรัฐบาลชุดใหม่

ก่อนที่บาร์นีเยจะได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้ารัฐบาล ฝรั่งเศสกำลังเข้าใกล้สถานะละเมิดกฎงบประมาณของสหภาพยุโรป โดยคาดการณ์ไว้ว่าการขาดดุลภาคสาธารณะของฝรั่งเศสจะสูงถึง 5.6% ของจีดีพีในปีนี้ และสูงเกิน 6% ในปี 2568 ขณะที่กฎของสหภาพยุโรปกำหนดเพดานการขาดดุลไว้ที่ 3% เท่านั้น

บาร์นีเยกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันพุธว่า "ผมค้นพบว่าสถานการณ์งบประมาณของประเทศนั้นเลวร้ายมาก และสถานการณ์นี้ต้องการมากกว่าแค่คำแถลงที่สวยหรู"

ทั้งนี้ กำหนดการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ครั้งแรกจะเริ่มในช่วงบ่ายวันที่ 23 กันยายน

‘ผลวิจัย’ ชี้!! ‘เมือง-บริษัท’ กว่า 40% ทั่วโลก ยังนิ่งเฉย ไร้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

(23 ก.ย. 67) เน็ต ซีโร่ แทร็กเกอร์ (Net Zero Tracker) กลุ่มความร่วมมือด้านการติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก เปิดเผยว่า เมืองและบริษัทมากกว่า 40% ยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

จากรายงานเผยอีกว่า แม้รัฐบาลและบริษัทจำนวนมากขึ้นให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) แต่ความตั้งใจดังกล่าวถูกเบี่ยงเบนจากสงคราม การเลือกตั้ง และความท้าทายทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่างความมุ่งมั่นกับความเป็นจริง

กลุ่มวิจัยระบุว่า ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ เตรียมนำเสนอเป้าหมายสภาพภูมิอากาศปี 2578 แก่สหประชาชาติ (UN) นั้น ผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาลและบอร์ดบริหารของบริษัทต่าง ๆ กำลังพยายามเปลี่ยนเป้าหมายระยะยาวให้เป็นการดำเนินงานอย่างมีรูปธรรม แต่แผนการเปลี่ยนผ่านยังขาดความชัดเจนและรายละเอียด

รายงานดังกล่าวได้จากการสำรวจความมุ่งมั่นและแผนการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ จากประเทศต่าง ๆ 198 ประเทศ ส่วนภูมิภาค 706 แห่ง เมือง 1,186 เมือง และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เกือบ 2,000 บริษัท โดยรายงานระบุว่า แม้จะมีบริษัท 1,750 แห่งจากทั้งหมดกว่า 4,000 แห่งให้คำมั่นอย่างเป็นทางการที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ แต่ในขณะเดียวกัน พบว่า บริษัทเกือบ 1,700 แห่งยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายใด ๆ ไว้เลย ขณะที่มีบริษัทจดทะเบียนไม่ถึง 60% ที่กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์เอาไว้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับรายงานของปีที่แล้ว โดยเฉพาะบริษัทจากเอเชียที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เน็ต ซีโร่ แทร็กเกอร์ ระบุว่า จำนวนบริษัททั้งหมดที่ไม่ได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดลงมาอยู่ที่ 495 แห่ง จาก 734 แห่งในปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเทสลา (Tesla) และบีวายดี (BYD) บริษัทเกมอย่างนินเทนโด (Nintendo) และบริษัทลงทุนอย่างบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ (Berkshire Hathaway)

นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าญี่ปุ่น 8 เดือนแรกปี 67 ทะลุ 24 ล้าน เติบโต 58% คนไทยติดท็อป 10 ไปเยือนกว่า 7 แสนคน แต่ยอดยังไม่แซงก่อนช่วงโควิด

(23 ก.ย. 67) รายงานองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ระบุว่า สถิตินักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น ช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 2567 พบว่ามีจำนวนกว่า 706,500 คน เพิ่มขึ้น 21.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 แต่ยังติดลบ 12.4% หรือคิดเป็นการฟื้นตัวแล้ว 87.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

เฉพาะเดือน ส.ค. ซึ่งตรงกับโลว์ซีซันฤดูร้อนของญี่ปุ่น มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้า 34,700 คน เพิ่มขึ้น 4.6% เทียบกับจำนวน 33,166 คนของเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามยังติดลบ 30% หรือคิดเป็นการฟื้นตัว 70% เมื่อเทียบกับจำนวน 49,589 คนของเดือน ส.ค. 2562

ภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่น 8 เดือนแรกยังคงเติบโตแรงต่อเนื่อง ด้วยจำนวนกว่า 24,007,900 คน เพิ่มขึ้น 58% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเติบโต 8.4% แซงช่วงเดียวกันของปีก่อนโควิดระบาดอีกด้วย

สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 อันดับแรกที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นสูงสุด ได้แก่...

1. เกาหลี 5,811,900 คน

2. จีน 4,595,200 คน

3. ไต้หวัน 4,115,200 คน

4. ฮ่องกง 1,801,800 คน

5. สหรัฐ 1,768,100 คน

6. ไทย 706,500 คน

7. ออสเตรเลีย 551,600 คน

8. ฟิลิปปินส์ 496,300 คน

9. เวียดนาม 434,000 คน

10. แคนาดา 367,400 คน

'ญี่ปุ่น' อ่วม!! 'น้ำท่วม-ดินถล่ม' ใน'อิชิกาวะ' 100 ชุมชนถูกตัดขาด ดับแล้ว 7 ราย

(24 ก.ย. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ฝนถล่มหนักในจังหวัดอิชิกาวะ ของประเทศญี่ปุ่น เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มหลังฝนตก โดยทางการจังหวัดอิชิกาวะ รายงานว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากฝนตกหนักในคาบสมุทรโนโตะ ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม เพิ่มขึ้นเป็น 7 ราย และยังมีผู้สูญหาย 2 คน รวมถึงคนที่ยังติดต่อไม่ได้อีก 5 คน นอกจากนี้แม่น้ำ 16 สายเอ่อล้น ถนนหลายสายได้รับความเสียหาย และชุมชนกว่า 100 แห่ง ถูกตัดขาดจากภายนอก

โดยเมืองวาจิมะมีฝนตกหนักวัดได้เกือบ 500 มิลลิเมตร และเมืองซูซุ มีปริมาณฝนเกือบ 400 มิลลิเมตร ซึ่งปริมาณดังกล่าวสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยของปริมาณฝนทั้งเดือนกันยายนถึง 2 เท่า แต่ฝนเบาบางลงแล้ว

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาลดระดับคำเตือนฉุกเฉินฝนตกหนัก ที่เป็นระดับสูงสุดในหลายเมืองของคาบสมุทรโนโตะ แต่ยังมีคำเตือนให้ประชาชนในจังหวัดอิชิกาวะ และนีงาตะ ที่อาจมีฝนตกวัดได้กว่า 300 มิลลิเมตรใน 48 ชม. ให้เฝ้าระวังภัยพิบัติที่อาจเกิดจากฝนตกหนัก

โดยบางพื้นที่ของสองจังหวัดนี้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว 7.6 แมกนิจูดในบริเวณคาบสมุทรโนโตะเมื่อวันที่ 1 มกราคม และประกอบกับมีฝนตก อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดดินถล่มได้

มีรายงานว่าบ้านพักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวส่วนใหญ่จากเกือบ 140 หลังในเมืองวาจิมะ ถูกน้ำท่วม หลังแม่น้ำใกล้เคียงเอ่อล้นเข้าท่วม รัฐบาลเตรียมนำข้าวและสุขภัณฑ์เคลื่อนที่เข้าไปมอบในพื้นที่ประสบภัยในวาจิมะ

'ไบเดน' เล่นแรง!! อาจไม่ได้แค่ขึ้นภาษีรถ EV จีนเท่านั้น แต่จะสั่ง 'แบนรถ EV จีน' ทั้งหมดไม่ให้เข้าอเมริกาเลยซักคัน

เมื่อวานนี้ (23 ก.ย. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เสนอแผนห้ามใช้ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของจีนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในอเมริกาด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งจะมีผลให้รถยนต์ไฟฟ้าจากแทบทุกบริษัทในประเทศจีนไม่สามารถเข้ามาแข่งขันในสหรัฐฯ ได้

ข้อเสนอกฎเกณฑ์ใหม่นี้ยังรวมถึงการบังคับให้บริษัทรถยนต์อเมริกันและต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในสหรัฐฯ ต้องถอดซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของจีนออกจากรถยนต์ที่ขายในตลาดอเมริกาด้วย

ข้อห้ามใหม่นี้รวมถึงการไม่อนุญาตให้ผู้ผลิตรถยนต์จีนทดสอบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติบนถนนในสหรัฐฯ และยังครอบคลุมถึงการใช้ระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของต่างชาติที่รัฐบาลสหรัฐฯ มองว่าเป็นศัตรู เช่น รัสเซีย ด้วย

รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ จีนา ไรมอนโด กล่าวว่า "เมื่อประเทศฝ่ายตรงข้ามผลิตซอฟต์แวร์สำหรับยานพาหนะ นั่นหมายความว่าจะสามารถใช้ในการสอดส่อง และการควบคุมระยะไกล ซึ่งเป็นภัยคุกคามความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์ชาวอเมริกัน"

และว่า "ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ศัตรูต่างชาติอาจปิดการทำงานหรือเข้าควบคุมยานพาหนะทั้งหมดของพวกเขาที่อยู่ในสหรัฐฯ ในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่อุบัติเหตุ หรือปัญหาจราจรครั้งใหญ่ได้"

ที่ผ่านมา รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงความกังวลต่อการเก็บข้อมูลผู้ใช้รถยนต์และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ผ่านรถยนต์ที่เชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์ของบริษัทจีน รวมทั้งความเป็นไปได้ที่ต่างชาติอาจแทรกแซงการทำงานของยานพาหนะที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและระบบการนำทางของรถยนต์ในสหรัฐฯ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทำเนียบขาวได้สั่งการให้ดำเนินการสืบสวนความเสี่ยงที่ว่านี้ และเมื่อต้นเดือนกันยายน รัฐบาลไบเดนยังประกาศใช้อัตราภาษีระดับสูงต่อสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งรวมถึงภาษี 100% สำหรับรถไฟฟ้า แบตเตอรีไฟฟ้า และแร่ธาตุสำคัญจากจีน

ปัจจุบัน มีรถยนต์หรือรถกระบะของจีนเพียงไม่กี่รุ่นที่ขายในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งทาง รมต.ไรมอนโด ระบุว่า กฎเกณฑ์ใหม่นี้จะนำมาใช้ก่อนที่รถยนต์หรือชิ้นส่วนรถยนต์จากจีนและรัสเซียจะถูกใช้แพร่หลายในอเมริกามากขึ้น ซึ่งจะสร้างความเสี่ยงอย่างมากเมื่อถึงเวลานั้น

ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงทำเนียบขาว เจค ซัลลิแวน แถลงเช่นกันว่า "เนื่องจากความเป็นไปได้ที่จะมียานพาหนะนับล้านคันบนถนน (ในอเมริกา) และแต่ละคันมีอายุการใช้งาน 10-15 ปี ทำให้ความเสี่ยงของการก่อปัญหาหรือก่อวินาศกรรมเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย"

สำหรับข้อเสนอใหม่นี้ ในส่วนของซอฟต์แวร์จะเริ่มมีผลบังคับใช้กับรถยนต์รุ่นปี 2027 ส่วนฮาร์ดแวร์จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2029 หรือรถยนต์รุ่นปี 2030

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ยืนยันว่า กฎเกณฑ์ใหม่จะครอบคลุมถึงการห้ามขายรถกระบะและรถบรรทุกจากจีนทั้งหมดในอเมริกา ยกเว้น "ได้รับการอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ" เท่านั้น นอกจากนี้จะไม่รวมถึงยานพาหนะที่ใช้ในภาคการเกษตรหรือการทำเหมือง

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ให้เวลา 30 วันสำหรับการรับฟังความเห็นของสาธารณชนในเรื่องนี้ และตั้งเป้าว่าจะสรุปขั้นสุดท้ายภายในวันที่ 20 ม.ค. ปีหน้า

เมื่อเดือนที่แล้ว สถานทูตจีนในกรุงวอชิงตัน วิจารณ์แผนดังกล่าวของสหรัฐฯ ว่า "จีนขอให้สหรัฐฯ ปฏิบัติตามหลักการตลาดและกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งสร้างการแข่งขันอย่างเท่าเทียมสำหรับทุกบริษัทจากทุกประเทศ ขณะที่จีนจะปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ตามกฎหมายเช่นกัน"

ด้านสมาคมเพื่อนวัตกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ผลิตรถยนต์หลายบริษัทในอเมริกา รวมทั้ง เจเนรัลมอเตอร์ส โตโยต้า ฮุนได และโฟล์คสวาเกน เตือนว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องใช้เวลา พร้อมกล่าวว่า ปัจจุบันทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ต่างพัฒนาในหลายประเทศ รวมถึงจีนด้วย

‘หนุ่มมาเลฯ’ โพสต์ระบายโรงแรมบ้านเกิด ‘เช็กอินช้า-เร่งเช็กเอาต์’ ฟากชาวเน็ตเชียร์ให้บอยคอตต์ บ้างก็บอก ‘มาเที่ยวเมืองไทยดีกว่า’

เมื่อไม่นานมานี้ ‘ชายชาวมาเลเซีย’ รายหนึ่ง ได้ระบายความผิดหวังที่มีต่อข้อกำหนดต่าง ๆ ของโรงแรมท้องถิ่น (มาเลเซีย) พร้อมส่งเสียงเรียกร้องให้กระทรวงท่องเที่ยว ศิลปะและวัฒนธรรมแดนเสือเหลือง เข้ามาจัดการคลี่คลายการกำหนดเวลาเช็กอินและเช็กเอาต์ตามอำเภอใจ โดยเขามองว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป 

ความคิดเห็นของชายรายนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากคนอื่น ๆ อย่างกว้างขวางบนสื่อสังคมออนไลน์ และบางส่วนถึงขั้นยุให้คนอื่น ๆ หันไปเที่ยวประเทศไทยแทน

รายงานข่าวระบุว่า ชายรายดังกล่าวนามว่า ‘ฮาคิม เอช’ ใช้บัญชีบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ เขียนคร่ำครวญเกี่ยวกับกำหนดเวลาของโรงแรมต่าง ๆ ในมาเลเซีย ซึ่งดำเนินการแบบตามอำเภอใจ ค่อนข้างล่าช้าในการเช็กอิน แต่มาเร่งรัดในตอนเช็กเอาต์

ฮาคิม เอช โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ ระบุว่า "หากพวกผู้ที่เกี่ยวข้องต้องการเห็นชาวมาเลเซียสนับสนุนการท่องเที่ยวท้องถิ่นของเรา กระทรวงท่องเที่ยว ศิลปะและวัฒนธรรม ต้องเข้ามาแทรกแซง คลี่คลายประเด็นเกี่ยวกับเวลาการเช็กอินและเช็กเอาต์ตามอำเภอใจ"

เขาอ้างต่อว่า "การเช็กอินตอน 16.00 น. และเช็กเอาต์ 11.00 น. มันไร้สาระ พวกคุณอยากบอยคอตต์โรงแรมต่าง ๆ ที่ใช้นโยบายนี้กันหรือเปล่า?"

จนถึงวันจันทร์ (23 ก.ย.) มีคนเข้ามาอ่านข้อความดังกล่าวบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์แล้วกว่า 396,000 คน และมีคนกดไลก์มากกว่า 2,300 ครั้ง โดยชาวมาเลเซียจำนวนมากเห็นด้วยกับเขา และสะท้อนความรู้สึกแบบเดียวกัน ขณะที่บางส่วนเรียกร้องให้บอยคอตต์โรงแรมเหล่านั้น และบางคนถึงขั้นยุให้หันไปเที่ยวไทยแทน

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์รายหนึ่งแสดงความคิดเห็นตอบกลับ เล่าว่า เคยได้รับคำอธิบายจากโรงแรมเหล่านั้นเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัตินี้ แต่เขารู้สึกว่ามันไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไร ในนั้นรวมถึงอ้างว่าแผนกทำความสะอาดไม่มีเวลามากพอที่จะทำความสะอาดห้อง

ส่วนอีกคนโพสต์เห็นด้วยว่าควรบอยคอตต์โรงแรมเหล่านั้น โดยมองว่าเวลาเช็กอินล่าช้า แต่เช็กเอาต์เร็วนั้น เป็นเรื่องที่ไร้สาระ และไม่คู่ควรกับการเข้าพักแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หลายคนยังเรียกร้องให้กำหนดเวลาเช็กอินและเช็กเอาต์ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับโรงแรมทั่วประเทศ ซึ่งคือเช็กอิน 14.00 น. และเช็กเอาต์ 12.00 น.

ขณะเดียวกัน มีชาวมาเลเซียบางส่วนถึงขั้นขอให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อโรงแรมต่าง ๆ ที่เช็กอินช้าและมาเร่งรัดตอนเช็กเอาต์ เพื่อให้ง่ายต่อการที่ชาวมาเลเซียจะบอยคอตต์

'ออสเตรเลีย' ฟ้อง 2 ซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ หลังทำโปรโมชัน 'หลอก' ลดราคาสินค้า

(24 ก.ย. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมาธิการการแข่งขันและผู้บริโภคของออสเตรเลีย (ACCC) ยื่นฟ้องซูเปอร์มาร์เก็ตวูลเวิร์ธ (Wollworths) และ โคลส์ (Coles) ฐานเอาเปรียบผู้บริโภค โดยการขึ้นราคาสินค้าจากปกติ แล้วเสนอขายในราคาลดลง ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคทางอ้อม โดยมีพฤติกรรมหลอกลวงเกี่ยวกับการลดราคาสินค้า ระบุว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 2 แห่งนี้ได้คงราคาสินค้าบางอย่างเป็นเวลานานถึง 2 ปี จากนั้นได้ขึ้นราคา เพียงเพื่อจะนำมาโฆษณาหลังจากนั้นว่ากำลังอยู่ในช่วงลดราคา

จีน่า คาสส์ กอตต์ลิบ ประธานสำนักงานคุ้มครองดูแลผู้บริโภคของออสเตรเลีย กล่าวว่า หลังจากที่มีการโฆษณาทางการตลาดมาหลายปี บรรดาลูกค้าต่างเข้าใจว่าโปรโมชัน Prices Dropped ของ Woolworths และ ‘Down Down’ ของ Coles หมายถึงการลดราคาปกติของผลิตภัณฑ์ในซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างต่อเนื่องแต่กลับพบว่าในหลายกรณีส่วนลดนั้นเป็นเพียงภาพลวงตา 

จากการตรวจสอบข้อร้องเรียนพบว่า Woolworths ได้ให้ข้อมูลเท็จแก่ลูกค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประมาณ 266 รายการในช่วง 20 เดือน ที่ผ่านมา และทางด้าน Coles ได้ให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ 245 รายการในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา โดยผลิตภัณฑ์มีตั้งแต่อาหารสัตว์ พลาสเตอร์ และน้ำยาบ้วนปาก ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ยอดนิยมจากออสเตรเลีย เช่น Tim Tam หรือจะเป็นซีเรียลของ Kellogg's

โดยทั้งสองบริษัทได้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ลดราคาปลอมไปหลายสิบล้านชิ้น และได้รับรายได้จำนวนมากจากการขายเหล่านั้น ในขณะที่ผู้บริโภคจำนวนมากต้องพึ่งพาส่วนลดเพื่อช่วยให้มีงบประมาณในการซื้อของชำใช้ได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ค่าครองชีพพุ่งสูงเช่นนี้ 

ต่อมาแอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า รัฐบาลของเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะผู้บริโภคไม่สมควรถูกซูเปอร์มาร์เก็ตกระทำราวกับเป็นคนโง่เขลา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top