Wednesday, 14 May 2025
World

‘เกาหลีใต้’ วุ่น!! คนในชาติคลั่งการเมืองหนัก สะเทือนลามเรื่องความรัก หลังผลโพล ชี้!! 58.2% ไม่อยากอินเลิฟกับคนเห็นต่างทางการเมือง

เมื่อวานนี้ (6 ส.ค. 67) นสพ.The Korea Herald ของเกาหลีใต้ รายงานข่าว 6 in 10 S. Koreans won't date across political lines: survey ระบุว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2567 สถาบันสุขภาพและกิจการสังคมแห่งเกาหลี เผยแพร่ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวเกาหลีใต้จำนวน 3,950 คน อายุระหว่าง 19 - 75 ปี ซึ่งดำเนินการเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58.2 ไม่ต้องการสร้างความสัมพันธ์โรแมนติกกับบุคคลที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน

กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 70 ยังคัดค้านการทำงานร่วมกับบุคคลที่มีความเชื่อทางการเมืองตรงข้ามกัน และร้อยละ 33 ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมงานสังสรรค์ทางสังคม กับคนที่มีมุมมองทางการเมืองตรงข้ามกัน และผลการสำรวจอื่น ๆ ยังแสดงให้เห็นว่า เกาหลีใต้กำลังประสบกับปัญหาประชาชนมีความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองอย่างมาก ซึ่งชี้ให้เห็นถึงรอยร้าวที่ลึกซึ้งขึ้นระหว่างกลุ่มเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมในประเทศ

รายงานข่าว กล่าวต่อไปว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 92.3 มองว่าความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวามีนัยสำคัญ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 87 ในปี 2561 โดยมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 21 เท่านั้นที่ระบุว่าไว้วางใจรัฐสภา ส่วนความขัดแย้งอื่น ๆ ในสังคมเกาหลีใต้ที่ผู้ตอบแบบสอบถามระบุ ได้แก่ ระหว่างพนักงานประจำกับพนักงานชั่วคราว ร้อยละ 82.2 ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ร้อยละ 79.1 ระหว่างคนรวยกับคนจน ร้อยละ 78 และระหว่างบริษัทขนาดใหญ่กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ร้อยละ 71.8

โดยรวมแล้ว กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนความสามัคคีในสังคมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.2 จากระดับ 10 ซึ่งลดลงจาก 4.31 ในปี 2565 และ 4.59 ในปี 2564 ในขณะเดียวกัน ระดับความขัดแย้งทางสังคมโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 2.93 จาก 4 เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 2.88 ในปี 2561 อย่างไรก็ตาม นอกจากความแตกต่างทางสังคมและการเมืองแล้ว ระดับความพึงพอใจในชีวิตของแต่ละบุคคลกลับเพิ่มขึ้น โดยระดับความสุขโดยเฉลี่ยในระดับ 10 อยู่ที่ 6.76 เมื่อปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.43 จุดจาก 6.33 ในปี 2564 ในทางกลับกัน ระดับภาวะซึมเศร้าลดลงเหลือ 2.57 เมื่อปี 2566 จาก 2.92 ในปี 2564

'มินอ่องหล่าย' ประกาศเอง 'ไทย' เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กองทัพเมียนมาพ่าย กลายสภาพเป็นหนึ่งในโจทก์ ใต้จังหวะ 'การเมือง-กองทัพ' ที่ยังเพิกเฉย

เป็นเรื่องจนได้ หลังจากเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 67 ที่ผ่านมา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ประกาศแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ โดยระบุว่า ความพ่ายแพ้ของกองทัพเมียนมาในรัฐฉานเหนือเป็นผลมาจากอาวุธ และ เสบียง ที่ถูกส่งมาจากพรมแดนไทยและจีน ให้แก่กองทัพชนกลุ่มน้อย  

พร้อมกันนี้ ยังระบุอีกว่า โดรนและจรวดที่ใช้โดยกองกำลังโกก้าง หรือ MNDAA ซึ่งยึดครองพื้นที่โกก้างและเมืองล่าเสี้ยวในรัฐฉานเหนือขณะนี้ เป็นอาวุธที่ได้รับการอัปเกรดด้วยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ซึ่งต้องใช้ทั้งทรัพยากรมนุษย์และเงินทุนมหาศาลในการพัฒนาอาวุธเหล่านี้  

นอกจากนี้ ยังมีการอ้างถึงองค์กร Free Burma Ranger ที่ตั้งสำนักงานอยู่ในประเทศไทยด้วยว่า ไม่ใช่องค์กรช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ หรือองค์กรทางศาสนา แต่เป็น 'ทหารรับจ้างต่างชาติ' ที่เข้ามาฝึกกองกำลัง จัดหาอาวุธและเสบียงให้กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยตามชายแดนไทยเพื่อให้ต่อสู้กับกองทัพเมียนมา 

เอย่า รู้สึกแปลกใจเหมือนกันนะว่า ที่ผ่านมาทางการไทย โดยเฉพาะกองทัพบก ผู้มีหน้าที่รักษาอธิปไตยของไทย 'ไม่ทราบ' หรือ 'ไม่สนใจ' กับคำกล่าวของทางฝั่งเมียนมา ทั้ง ๆ ที่แหล่งข่าวระดับสูงในเมียนมาอ้างว่า มีการประชุมนอกรอบกับฝั่งไทยหลายครั้งถึงการให้ฝั่งไทยจัดการกับ 'นายเดวิด อูแบงก์' ผู้นำกลุ่ม Free Burma Ranger แต่ทางการไทย รวมถึงกองทัพไทย ก็ไม่เคยสนใจกับคำขอร้องนี้ของทางฝั่งกองทัพเมียนมา เพียงเพราะว่า นายเดวิด อูแบงก์ คนนี้เดินเข้าออกสถานทูตประเทศหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่เป็นว่าเล่น

อย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ทางเมียนมาออกมาระบุชัดเจนว่า มีการสนับสนุนอาวุธและเงินทุนมาจากทางชายแดนไทยและจีน จนเป็นผลให้การต่อสู้เพลี่ยงพล้ำ ไม่นับคลิปที่ว่อนตามโซเชียลมีเดียที่แสดงให้เห็นว่า มีนักรบรับจ้างชาติตะวันตกที่หลายสื่อที่เป็นของชนกลุ่มน้อยออกมาระบุว่า นักรบรับจ้างเหล่านั้นเข้ามารบให้แบบไม่รับค่าจ้าง แต่เพราะว่าทนเห็นสภาพบ้านเมืองแบบที่เป็นอยู่ไม่ไหว ซึ่งจริง ๆ แล้วเขาไม่ได้จ่ายเป็นเงิน แต่จ่ายเป็นทองที่ขุดมาจากเหมืองของชนกลุ่มน้อยต่างหาก

ตอนนี้ ประเทศไทย เลยกลายเป็น 1 ในโจทก์ของเมียนมาไปโดยปริยาย ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง แต่เพราะความเพิกเฉยของทั้งฝ่ายการเมืองก็ดี ฝ่ายกองทัพไทยก็ดี ทำให้เรากลายเป็นแหล่งซ่องสุมและกระจายยุทโธปกรณ์และเงินทุนของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลของเขา

สุดท้ายคนที่ต้องรับแรงกระเพื่อมจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็นคนไทย ไม่ว่าจะต้องเจอกับปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ที่นำมาสู่การเรียกร้องสิทธิเท่าเทียม โดยนำคำว่ามนุษยธรรมมาอ้าง, การมาแย่งอาชีพคนไทยทำโดยสมบูรณ์ รวมถึงเรื่องของอาชญากรรม ทั้งลักขโมย จนไปถึงการปล้น ทะเลาะ วิวาท ระหว่างคนไทยกับคนเหล่านี้ อีกทั้งยังเรื่องยาเสพติดที่มีมากขึ้น หลังจากการรัฐประหาร เพราะชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ใช้ยาเสพติดในการระดมเงินทุนจัดหาอาวุธและเสบียงอีกทางหนึ่ง

ปัญหาล้นขนาดนี้แล้ว ก็คงต้องขึ้นกับทางกองทัพไทยแล้วว่า คำว่า 'วางตัวเป็นกลาง' คือ ทำตัวไม่รับรู้ถึงไฟไหม้บ้านข้างๆ แล้วให้คนที่มาใช้บ้านเราเติมเชื้อไฟเข้าไป สุดท้ายพอบ้านเขามอดไหม้หมด ก็คงไม่พ้นบ้านเราที่จะต้องไหม้เองต่อจากนั้น หรือจะเลือกช่วยบ้านข้างๆ ดับไฟเพราะอย่าลืมว่าบ้านข้าง ๆ มีพรมแดนติดกับบ้านเราถึงกว่า 2,400 กิโลเมตร  

"สุดท้ายแล้วกองทัพไทย พวกท่านได้ทำอย่างที่ได้เคยให้สัจจะไหมว่า จักรักษามรดกของบูรพกษัตริย์หรือในที่สุด แค่รักษาประโยชน์ส่วนตัว"

'ซัมซุง' โชว์แบตฯ EV ตัวใหม่ ชาร์จ 9 นาที วิ่งได้ระยะ 'กรุงเทพฯ-ภูเก็ต' คาด!! นำมาตอบโจทย์ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าระดับซูเปอร์พรีเมียม

บริษัทซัมซุง เอสดีไอ (Samsung SDI) ซึ่งเป็นบริษัทสำหรับการผลิตระบบกักเก็บพลังงานโดยเฉพาะ ในเครือของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้อย่างซัมซุง (Samsung) แสดงความก้าวหน้าล่าสุดของเทคโนโลยีแบตเตอรี่โซลิดสเตต ซึ่งอ้างว่าสามารถชาร์จ 9 นาทีและวิ่งได้ระยะทาง 600 ไมล์ หรือประมาณ 965 กิโลเมตร เทียบเท่าวิ่งจากกรุงเทพฯ ไปภูเก็ตได้โดยยังเหลือแบตเตอรี่อีกจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญคือมีอายุการใช้งานแบตยืนยาวประมาณ 20 ปี

เทคโนโลยีแบตเตอรี่โซลิดสเตตออกไซด์ของซัมซุง มีความหนาแน่นของพลังงาน 500 วัตต์ชั่วโมงต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่ามากกว่าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปประมาณ 2 เท่า ซึ่งมีความหนาแน่นประมาณ 270 วัตต์ชั่วโมงต่อกิโลกรัม ความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้น อาจจะช่วยเพิ่มระยะทางในการเดินทางของรถยนต์ไฟฟ้าได้มากกว่ารถยนต์ปัจจุบันได้เป็น 2 เท่า ทั้งนี้ข้อมูลการชาร์จ 9 นาทีนั้น เว็บไซต์ Interesting Engineering ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นการชาร์จจากร้อยละ 10 หรือ 20 ไปเป็นร้อยละ 80 มากกว่าที่จะเป็นจาก 0 ถึงเต็ม 100 เนื่องมาจากถือว่าเป็นแนวทางของอุตสาหกรรม ที่การชาร์จแบตเกินร้อยละ 80 จะช้าลงอย่างมาก เพื่อปกป้องสุขภาพและอายุการใช้งานของแบตเตอรี่

แบตเตอรี่โซลิดสเตตเหล่านี้คาดว่าจะมีขนาดเล็ก เบา และปลอดภัยกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใช้ในยานพาหนะไฟฟ้าส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น แปลว่ามันจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ EV ซึ่งบริษัทเปิดเผยว่าหากนำไปใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า มันก็จะทำให้ใช้พื้นที่ในการจัดเก็บแบตเตอรี่น้อยกว่า ส่งผลให้น้ำหนักรถโดยรวมเบาลงไปด้วย ซึ่งยังมีต้นทุนในการผลิตที่สูง ดังนั้นจึงคาดว่ามันจะถูกนำไปใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าระดับซูเปอร์พรีเมียมเท่านั้น ซึ่งซูเปอร์พรีเมียมในที่นี้หมายถึง รถยนต์ไฟฟ้าที่มีระยะทางการขับขี่ประมาณ 965 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง 

Samsung SDI ได้จัดแสดงเทคโนโลยีนี้ในงานแสดงสินค้าที่เน้นเทคโนโลยีแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน SNE Battery Day 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 23 - 24 กรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา บริษัทเปิดเผยว่าตอนนี้ได้นำร่องเปิดสายการผลิตแบตเตอรี่โซลิดสเตตอย่างเต็มรูปแบบ ยิ่งไปกว่านั้น แบตเตอรี่ชุดแรกได้ถูกส่งไปยังผู้ผลิต EV เพื่อทำการทดสอบแล้ว พร้อมกับกล่าวเพิ่มเติมว่า “เราจัดส่งตัวอย่างให้กับลูกค้าตั้งแต่ปลายปีที่แล้วถึงต้นปีนี้ และได้รับการตอบรับเชิงบวก” และภายในปี 2026 จะมีการผลิตออกมาจำนวนมาก

นอกเหนือจากการพัฒนาแบตเตอรี่โซลิดสเตตแล้ว Samsung SDI ยังพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟต (LFP) และแบตเตอรี่ลิเทียมโคบอลต์ที่ราคาถูกลง รวมถึงวิธีการผลิตอิเล็กโทรดแห้ง หรือก็คือแบตเตอรี่อิเล็กโทรดที่ไม่ต้องใช้ตัวทำละลายของเหลว เพื่อลดต้นทุนด้วย

อย่างไรก็ตาม Interesting Engineering รายงานว่าเรื่องการชาร์จเร็วเป็นหนึ่งในสิ่งที่หลาย ๆ บริษัทกำลังพัฒนา แต่แนวทางที่ผู้ผลิตแบตเตอรี่เกือบทุกรายให้ความสำคัญและกำลังพัฒนาควบคู่ไปด้วยก็คือการเพิ่มอายุการใช้งานแบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้น อย่างเช่นบริษัทผู้ผลิตระบบกักเก็บพลังงานสัญชาติจีน ซีเอทีแอล (CATL) และผู้ผลิตแบตเตอรี่รายอื่น ๆ ได้ประกาศเปิดตัวแบตเตอรี่ที่มีอายุการใช้งาน 20 ปี ซึ่งมักเรียกกันว่าแบตเตอรี่ล้านไมล์ (Million-Mile Batteries) ดังนั้นวิสัยทัศน์ของซัมซุงที่จะ "ยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่เป็น 20 ปี" จึงสอดคล้องกับแนวโน้มตลาดโดยรวม

‘ดร.อักษรศรี’ มอง ‘วิคเตอร์ อเซลเซ่น’ อยู่เป็น เลือกคบคนจีน มีโอกาสมหาศาล

(7 ส.ค. 67) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง วิคเตอร์ อเซลเซ่น นักแบดมินตันชาวเดนมาร์ก แชมป์เหรียญทองโอลิมปิก ว่า...

#อยู่เป็น 🇨🇳 #แปลงจีนให้เป็นโอกาส วิคเตอร์ ฝรั่งแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกแบดมินตันชาวเดนมาร์ก 🇩🇰 เพิ่งให้สัมภาษณ์ด้วยภาษาจีน พูดภาษาจีนคล่องมาก เขาเลือกเรียนภาษาจีน #เลือกคบจีน เพราะรู้สึกว่า คู่แข่งนักแบดมินตันชาวจีนฝีมือเก่งมาก เลยอยากรู้ว่า จีนฝึกนักกีฬาของตัวเองกันอย่างไร และถ้าเขาเองพูดภาษาจีนได้ ก็จะได้โอกาสจากงานที่จะเข้ามา จะได้สปอนเซอร์เข้ามา คนจีนชอบแบดมินตันมากกก โอกาสมหาศาลเลยค่า

ฝรั่งคนนี้อยู่เป็น !! เลือกคบจีน ไม่อคติกับจีน และพูดจีนเก่งแค่ไหน คลิกฟังคลิปได้เลยจ้า #olympics2024

‘รัฐบาลจีน’ เดินหน้าโครงการดาวเทียม ‘Thousand Sails’ ตั้งเป้ายิงดาวเทียมอีก 15,000 ลูก ชิงตลาดแข่ง ‘Starlink’

เมื่อวันอังคารที่ 6 ส.ค. 67 ที่ผ่านมา จีนได้ส่งดาวเทียมชุดแรก จำนวน 18 ลูก ขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ ถือเป็นก้าวสำคัญของ ‘Thousand Sails Constellation’ โครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมระดับเมกะโปรเจกต์ ของรัฐบาลจีน ที่ตั้งเป้าส่งดาวเทียมให้ได้ถึง 15,000 ลูก ครอบคลุมการให้บริการอินเทอร์เนตทั่วทุกมุมโลก

เชียนฟาน ซิงจั้ว (千帆星座) หรือโครงการดาวเทียมเรือใบพันดวง แต่เริ่มเดิมทีใช้ชื่อว่า ‘G60 Starlink’ ดูแลโดย Shanghai Spacecom Satellite Technology (SSST) บริษัท Start-up ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ ถึง 6.7 พันล้านหยวน เพื่อพัฒนาดาวเทียมอินเทอร์เนตที่ใช้ได้ทั้งในเชิงพาณิชย์ และ การทหาร 

หลังจากที่เพิ่งประกาศเริ่มโครงการเมื่อปี 2566 ผ่านไปเพียง 1 ปี ก็สามารถส่งดาวเทียมชุดแรก 18 ดวง โดยจรวด Long March 6A ที่ฐานปล่อยยาน Taiyuan Satellite Launch Center ที่ตั้งอยู่ในมณฑลซานซี ทางตอนเหนือของจีนได้สำเร็จแล้วในวันนี้

สื่อ CCTV ของจีนรายงานว่า ภายในปี 2568 จีนมีเป้าหมายที่จะส่งดาวเทียมอีก 648 ดวง แล้วจะเริ่มเข้าสู่เฟสแรกของการสร้างโครงข่ายดาวเทียมสัญชาติจีน ซึ่งจะถือเป็นก้าวสำคัญในเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของจีนในการมุ่งสู่ธุรกิจบรอดแบนด์เชิงพาณิชย์ที่กำลังเติบโตในระดับโลก 

จากข้อมูลล่าสุด ปี 2567 มีดาวเทียมที่ใช้งานกันอยู่ในโลกประมาณ 10,000 ดวงบนชั้นบรรยากาศ โดยผู้บริโภคทั่วไป องค์กรเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และ การทหาร ซึ่งบริษัทที่เป็นเจ้าตลาดผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เนตดาวเทียมก็คือ Starlink ของ อีลอน มัสก์ ที่ครอบครองดาวเทียมมากที่สุดถึง 6,646 ดวง และมีแผนที่จะเพิ่มเป็น 12,000 ดวงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า 

ซึ่งโครงการ ‘Thousand Sails’ ของจีน มีการตั้งเป้าส่งดาวเทียมวงโคจรต่ำให้ได้ถึง 15,000 ลูกเช่นกัน  ที่ไม่ใช่เพียงแค่แข่งขันกับโครงข่าย Starlink ของอีลอน มัสก์ เท่านั้น แต่เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และความทะเยอทะยานในเทคโนโลยีด้านอวกาศของจีน ที่จะแข่งขันกับชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาให้ได้ในอนาคตอันใกล้

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศของจีนทะยานอย่างก้าวกระโดดในช่วงเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2563 จีนสามารถพัฒนาดาวเทียม BeiDou ที่ใช้สนับสนุนระบบนำทางและระบุตำแหน่งพิกัดระดับโลก ที่เทียบได้กับระบบ GPS ของรัฐบาลสหรัฐฯ

อีกทั้งความสำเร็จของโครงการฉางเอ๋อ 6 ที่สามารถลงจอดบนพื้นผิวด้านมืดของดวงจันทร์ที่ยังไม่เคยมีชาติใดสำรวจมาก่อน และยังสามารถพายานกลับถึงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ พร้อมตัวอย่างหินด้านมืดของดวงจันทร์ที่เป็นประโยชน์ในงานวิจัยอีกจำนวนหนึ่ง

และโครงการสร้างเครือข่ายดาวเทียมขนาดใหญ่ ‘Thousand Sails’ เป็นการตอกย้ำให้ถึงความพร้อมของจีน ในการท้าชิงตำแหน่งมหาอำนาจด้านอวกาศ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ความฝันที่ไกลตัวอีกต่อไป แต่จีนจะไปได้ไกลแค่ไหนกับโครงการเทคโนโลยีอวกาศ เป็นเรื่องที่น่าติดตามไม่น้อยทีเดียว

'อ.ไชยันต์' ชี้!! แม้แต่คำพิพากษาศาลสหรัฐฯ ก็ยังมีคนที่ 'พอใจ-ไม่พอใจ' มิหนำซ้ำ!! หาก 'ไม่พอใจ' จะประท้วงคำตัดสินศาลฯ ลูกเดียว

(8 ส.ค.67) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'ประท้วงใหญ่คำตัดสินศาลฯ !' ระบุว่า...

ต่อให้ประเทศที่ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะยึดโยงกับประชาชนอย่างสหรัฐอเมริกา

หากประชาชนไม่พอใจคำตัดสิน ก็ออกมาประท้วงใหญ่อยู่ดี

เมื่อสองปีที่แล้ว

คนนับหมื่นออกมาประท้วงอย่างรุนแรงต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอเมริกา (US Supreme Court)

หลังจากที่ศาลสูงสุดฯ ได้ตัดสินให้การทำแท้งเสรีขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทันทีของชาวอเมริกันต่อคำตัดสินของศาลฯ มีทั้งชื่นชมดีใจ และ เกรี้ยวโกรธ

ในพื้นที่รอบ ๆ ศาลฯ ฝูงชนที่แตกแยกซึ่งเริ่มรวมตัวกันตั้งแต่เช้าตรู่ของวันตัดสิน  

ฝ่ายสนับสนุนการทำแท้งเสรีมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อถึงช่วงเย็น

ผู้ประท้วงสิทธิการทำแท้งที่โกรธแค้นส่วนใหญ่หลายพันคนปะทะกับนักเคลื่อนไหวต่อต้านการทำแท้งกลุ่มเล็ก ๆ ที่สนุกสนานกับการเป่าฟองสบู่และเฉลิมฉลองการสิ้นสุดการทำแท้งเสรี และการเข้าถึงวิธีการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย

ฝูงชนที่ไม่พอใจพากันรวมตัวกันในเมืองต่าง ๆ เช่น วอชิงตัน, นิวยอร์ก, แอตแลนต้า และลอสแอนเจลิส 

ในขณะที่หลายรัฐออกคำสั่งห้ามทำแท้งและคลินิกต่าง ๆ ต้องหยุดให้บริการการทำแท้ง

ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ฝูงชนตะโกนประณามศาล และเดินขบวนท่ามกลางคลื่นความร้อนที่บอสตัน และได้รับเสียงปรบมือจากผู้ที่รับประทานอาหารกลางแจ้งที่ร้านอาหารบนถนน Boylston Street 

ในรัฐเทนเนสซี คู่รักที่มีเด็กทารก นักศึกษาวิทยาลัย มารดาและลูกสาวมุ่งหน้าไปยังจัตุรัสสาธารณะของแนชวิลล์

ในฟลอริดา 17.00 น. การชุมนุมนอกศาลาว่าการเพิ่มสูงขึ้นภายในครึ่งชั่วโมง ผู้คนหลายร้อยคนแสดงความโกรธเคืองต่อการพิจารณาคดี 

ในฟิลาเดลเฟีย ฝูงชนด้านนอกศาลาว่าการหลั่งไหลเข้าไปในจัตุรัสใกล้เคียงของอาคารเทศบาล จากนั้นก็ขยายเป็นแม่น้ำหลายพันสายไหลเข้าสู่ถนนจอห์น เอฟ. เคนเนดี

ในรัฐวอชิงตัน ผู้ประท้วงสิทธิการทำแท้งประมาณ 500 คนได้ยึดครองช่วงตึกในเมืองในซีแอตเทิล ส่งผลให้การจราจรติดขัด และในรัฐโอเรกอน มีผู้ประท้วงอีก 1,500 คนมารวมตัวกันที่ใจกลางเมืองพอร์ตแลนด์ ในนิวยอร์กซิตี้ ฝูงชนหลั่งไหลท่วม Union Square และ Washington Square Park

ในลอสแอนเจลิส ฝูงชนด้านนอกศาลรัฐบาลกลางในตัวเมืองรวมตัวกันตอนเที่ยงและเพิ่มขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วนจนกลายเป็นทะเลที่มีผู้คนนับพัน ทำให้การจราจรเป็นอัมพาต

คติคิดที่ได้จาก อเมริกา คือ คำพิพากษาของศาลย่อมมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ

ต่อให้ที่มาของศาลยึดโยงกับประชาชนก็ตาม ก็ยังมีที่ไม่พอใจและออกมาประท้วงใหญ่โต

จับตา!! โซเชียลพม่าในไทย 'ปลุกระดม-เชียร์ให้ยึดมัณฑะเลย์' แลกกับพระมัยมุนี ส่วนเมืองไทย พม่าหัวใจก้าวไกล พร้อมใจเคียงแนวรบส้ม เมื่อสัญญาณจุด

เสียงอึกทึกครึกโครมของการยุบพรรคก้าวไกล ไม่ได้มีเพียงแค่คนไทยเจ้าของ 14 ล้านเสียงที่ออกมาโหยหวนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเหล่าแรงงาน และ NGO พม่า (ที่ฝ่ายนั้นเคยให้การสนับสนุน) ก็ต่างออกมาก่นด่าศาลไทยด้วยเช่นกัน  

บางรายเริ่มมีการปลุกระดม หากมีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อส้ม โดยพวกเขาเหล่านี้ ก็เริ่มจะหาฐานกำลังไปร่วมชุมนุมด้วยกันเลยทีเดียว

เอย่า ก็หวังว่าฝ่ายไทยคงจะจับตากันให้ดี เพราะจากที่ผ่านมาก็ดูจะปล่อยปละละเลย จนคนเหล่านี้ย่ามใจถึงขั้นไม่เห็นหัวคนไทย ยิ่งเคยมีภาพหลุดของตัวแทนพรรคไปทำกิจกรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์ก็ดี กลุ่มแรงงานก็ดี ย่อมทำให้เห็นว่า เครือข่ายคนกลุ่มนี้ พยายามเกาะคนต่างด้าวทั้งหลายมาเป็นฐานเสียงอย่างชัดเจน 

ทำไมต้องเกาะ? เพราะคนกลุ่มพวกนี้ หากสักวันได้สัญชาติไทย ก็คือ รากหญ้ารุ่นใหม่ที่หลอกง่าย แค่ได้ผลตอบแทนเพียงเล็กน้อย เหมือนที่คนไทยเคยได้รับมากับพรรคการเมืองบางพรรคในอดีตมาแล้ว

ในอีกทางหนึ่ง เสียงเชียร์กลุ่มกองกำลังที่ชนะทหารเมียนมาได้อย่างหมดจด ก็มุ่งหวังให้กองกำลังเหล่านั้นเข้ามายึดมัณฑะเลย์ จนถึงขั้นบอกว่า ถ้ากองกำลังอย่างกองทัพอาระกันยึดมัณฑะเลย์ได้ ให้เอาพระมหามัยมุนีกลับไปที่ยะไข่ได้เลย ซึ่งนั่นทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนแตกเป็น 2 ฝ่าย 

โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกล่าวว่า พระมหามัยมุนีเป็นสมบัติคู่บ้านคู่เมืองมัณฑะเลย์ และศูนย์รวมใจชาวพุทธในเมียนมา 

ในขณะอีกฝ่ายผู้สนับสนุนโต้แย้งว่า อดีตกษัตริย์เอาองค์พระท่านมาจากยะไข่ในอดีตหลังชนะศึก ก็ไม่แปลกที่หากกลุ่มกองทัพอาระกันชนะศึกจะเชิญกลับไปที่ยะไข่

หากความคิดคนพม่ารุ่นใหม่เป็นเช่นนี้ อีกไม่นานคงได้เห็นสงครามชาติพันธุ์เต็มรูปแบบแน่นอน และรอยร้าวคงยากจะประสานให้กลับเป็นดังเดิม

ต้องถามว่ากองทัพชาติพันธุ์ที่คนพม่าผู้เกลียดทหารเมียนมาเขาต้องการอะไร?

ประชาธิปไตยหรือ? หรือก็แค่เปลี่ยนหัวเผด็จการจากอีกฝ่ายเป็นอีกฝ่าย?

'หลี่ฟาปิน' รักษาแชมป์ยกน้ำหนัก คว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2024 พร้อมสร้างสถิติครั้งใหม่ หลังยกท่าสแนทช์ด้วยน้ำหนัก 143 กก.

(8 ส.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวประมวลภาพการแข่งขันและชัยชนะของ ‘หลี่ฟาปิน’ นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติจีน วัย 31 ปี ซึ่งสามารถป้องกันแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกในการแข่งขันยกน้ำหนัก รุ่น 61 กิโลกรัม (ชาย) ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 เมื่อวันพุธ (7 ส.ค.) ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ‘หลี่ฟาปิน’ สามารถยกท่าสแนทช์ครบ 3 ครั้ง ซึ่งการยกครั้งที่ 3 เขาทำน้ำหนัก 143 กิโลกรัม สร้างสถิติโอลิมปิกครั้งใหม่ และการยกทั้งสามครั้งทำน้ำหนักรวม 310 กิโลกรัม

'คนจีน' ต่างชื่นชม 'กัว ชิง' คว้าเหรียญเงินเทควันโดหญิงโอลิมปิก 2024 ยก!! เป็นสิ่งที่ยากที่สุด หลังต้องดวลเพลงเตะกับคู่แข่งที่แกร่งที่สุดในโลก

(8 ส.ค.67) เพจ 'อ้ายจง' ได้โพสต์ข้อความถึงกรณี 'กัว ชิง' ที่คว้าเหรียญเงินเทควันโดหญิงโอลิมปิก 2024 โดยทำสิ่งที่ยากที่สุดจากการต้องประมือคู่แข่งที่แกร่งที่สุดในโลก อย่าง 'เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ' โดยสื่อจนและโซเชียลจีนไม่มีการจั่วหัวว่า 'ชวดเหรียญทองอย่างน่าผิดหวัง' หรือ 'ชาวจีนต่างผิดหวัง' แต่มองว่านี่เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของนักเทควันโดหญิงวัย 24 ปี และเป็นอีกสัญลักษณ์แห่งความหวังใหม่ในวงการเทควันโดของจีน ว่า...

การคว้าเหรียญเงินในการแข่งขันเทควันโดหญิงรุ่น 49 กิโลกรัม โอลิมปิกปารีส 2024 ของ กัว ชิง นักเทควันโดหญิงวัย 24 ปี ของจีน ได้รับความสนใจอย่างมากจากชาวจีนและกลายเป็นกระแสฮิตในโซเชียลมีเดีย ไม่เพียงแต่เป็นเกียรติสำคัญสำหรับตัวนักกีฬา แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังใหม่ในวงการเทควันโดของจีน

จากสรุปความคิดเห็นและคำที่เกี่ยวข้องของประเด็นนี้ในโซเชียลจีน ทั้ง Weibo และ Douyin ทำให้ได้เห็นมุมมองของชาวจีน ที่มองว่า กัว ชิง ไม่เพียงแต่เป็นนักกีฬาหน้าใหม่ในเวทีโอลิมปิก แต่ยังต้องต่อสู้กับคู่แข่งที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกอย่าง เทนนิส พาณิภัค เจ้าของแชมป์โอลิมปิกและนักเทควันโดมือหนึ่งของโลกจากไทย ดังนั้น ความสามารถและความกล้าหาญของกัว ชิง ในการเผชิญหน้ากับคู่แข่งระดับโลกเช่นนี้ ทำให้เธอได้รับการชื่นชมอย่างกว้างขวาง

อย่างที่กล่าวไปแล้วในพารากราฟแรกว่า การคว้าเหรียญเงินของ กัว ชิง ในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ ได้รับการยอมรับว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ไม่เพียงแต่เป็นเกียรติส่วนบุคคล แต่ยังเป็นเกียรติของชาติ ซึ่งไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริง เพราะสะท้อนมาจากความคิดเห็นทั่วโซเชียลจีน ที่ต่างชื่นชมและสื่อจีนเองก็นำเสนอในแนวนี้เช่นกัน 

ไม่มีพาดหัวว่า ‘ชวดเหรียญทองอย่างน่าผิดหวัง’ หรือ ‘ชาวจีนต่างผิดหวัง’ แม้จะมีความคิดเห็นไม่น้อยเหมือนกันว่า ‘น่าเสียดาย’ หรือ ‘เสียดายที่ไม่ได้เหรียญทอง’ แต่ก็จะมีต่อด้วยการให้กำลังใจ และบอกว่า เหรียญเงินก็ถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จที่เธอทำเต็มที่แล้ว ส่วนใหญ่ในจีนมองว่า การที่เธอสามารถแสดงผลงานได้อย่างโดดเด่นในการแข่งขันที่มีความกดดันสูงเช่นนี้ และปูทางไปสู่อนาคตที่สดใสได้

สื่อจีนยังนำเสนอในมุมที่ กัว ชิง ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความแข็งแกร่งที่ยอดเยี่ยม แม้ว่าเธอจะเป็นนักกีฬาหน้าใหม่ในเวทีโอลิมปิก แต่เธอก็สามารถต่อสู้กับคู่แข่งที่มีประสบการณ์มากกว่าได้อย่างไม่ย่อท้อ ความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากการฝึกซ้อมที่หนักหน่วงและความทุ่มเทในการเตรียมตัวของเธอ

อีกหนึ่งโทนความคิดเห็นและโทนการสื่อสารออกมาในโลกโซเชียลจีน คือ มองว่า ความสำเร็จของกัว ชิง แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของนักกีฬาจีนรุ่นใหม่ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักกีฬาใหม่ ๆ ได้ในอนาคต

กัว ชิง เกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ห่างไกลในอำเภอหยางชุน เมืองหยางเจียง มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ถือเป็นพื้นที่ที่ยากจน มีสภาพที่ยากลำบากและการเดินทางไม่สะดวกนัก ความยากลำบากที่กัว ชิง เจอ หล่อหลอมให้เธอมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักกีฬาและประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้ เพื่อหวังให้ครอบครัวมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ที่สุขภาพไม่ดีนักและน้อง ๆ อีก 5 คนในครอบครัว กัว ชิง เริ่มฝึกซ้อมเทควันโดครั้งแรกเมื่อปี 2012 ในวัยเพียง 12 ปี ซึ่งถูกเลือกโดยโค้ชของโรงเรียนกีฬาหยางชุน

โค้ชคนแรกของเธอ กวน หลินชาน ได้กล่าวว่า กัว ชิง เป็นนักกีฬาที่มีความพยายามอย่างมาก ในการฝึกซ้อมที่โรงเรียนกีฬาหยางชุน เธอมักจะฝึกซ้อมนานกว่าที่กำหนด และในบางครั้งหลังเลิกเรียน เธอยังคงฝึกซ้อมคนเดียวอย่างเงียบ ๆ ด้วยความทุ่มเทนี้ เธอจึงกลายเป็นนักกีฬาที่มีความสามารถมากที่สุดคนหนึ่งในทีม

ในปี 2018 กัว ชิง ได้เข้าร่วมทีมชาติ และมีความฝันที่จะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก เธอได้เข้าร่วมการแข่งขันหลายรายการ และในปี 2022 กัว ชิง ได้รับคะแนนสะสมโอลิมปิกมากขึ้นจากการคว้าเหรียญรางวัลในรายการต่าง ๆ และได้รับโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันในระดับสูง ทำให้คะแนนสะสมของเธอพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภายในเวลาเพียงครึ่งปี กัว ชิง ได้รับเหรียญทองในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย และเหรียญเงินในรายการชิงแชมป์โลก คะแนนสะสมของเธอในโอลิมปิกจึงพุ่งขึ้นสู่อันดับที่สิบ ในปี 2023 กัว ชิง ได้เหรียญเงินในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ (เหรียญทองเป็นของเทนนิส พาณิภัค คู่แข่งของเธอในโอลิมปิก 2024 เช่นกัน) และเหรียญเงินในรายการใหญ่หลายรายการ ทำให้คะแนนสะสมในโอลิมปิกของเธอเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในเดือนมกราคม 2024 การจัดอันดับคะแนนสะสมโอลิมปิกในโอลิมปิกปารีสถูกประกาศออกมา และ กัว ชิง อยู่ในอันดับที่หกในรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม ทำให้เธอได้รับสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิก รวมแล้วใช้เวลา 12 ปีในการเดินสู่เวทีโอลิมปิก กัว ชิง เคยกล่าวไว้ว่า "ความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฉันคือการได้สวมชุดที่ติดธงชาติจีน และวิ่งรอบสนามโอลิมปิก นั่นจะเป็นความสุขและความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต"

ขอแสดงความยินดีกับทั้งเทนนิส-พาณิภัค เจ้าของเหรียญทองสองสมัย กัว ชิง ที่คว้าเหรียญเงินในการเข้าแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกได้สำเร็จ และขอส่งความยินดี และกำลังใจสู่โค้ช เจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องในการฝึกซ้อม และครอบครัวของนักกีฬา และตัวนักกีฬาทุกคนครับ 

'โคลิน หวง' ผู้ก่อตั้ง Temu ขึ้นแท่นรวยสุดในจีน ด้วยวัย 44 ปี ท่ามกลางแรงประท้วงจากผู้ผลิตที่ถูกกดดันเรื่องมาตรฐานอย่างหนัก

(9 ส.ค.67) Business Tomorrow เผยว่า 'โคลิน หวง' (Colin Huang) ผู้ก่อตั้ง Temu วัย 44 ปี กลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในจีน โดยมีทรัพย์สิน 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์ แซงหน้า 'จง ซานซาน' เจ้าของธุรกิจน้ำดื่ม ไปเป็นที่เรียบร้อย

สำหรับ โคลิน หวง เคยประสบความสำเร็จในธุรกิจเกมและอีคอมเมิร์ซหลายแห่งมาก่อน โดยในปี 2015 เขาได้ก่อตั้ง Pinduoduo แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เน้นการขายสินค้าราคาถูกพร้อมโปรโมชันจำนวนมาก

ความสำเร็จของเขาได้รับแรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการช้อปปิ้งของชาวจีนหลังจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์

หวงยังเป็นนักธุรกิจเทคโนโลยีคนแรกที่ติดอันดับบุคคลที่รวยที่สุดในรอบกว่าสามปี แม้จะถูกกดดันจากรัฐบาลจีนเหมือนกับคู่แข่งอย่าง Jack Ma ของ Alibaba

อย่างไรก็ตาม หวงต้องเผชิญกับการประท้วงจากซัพพลายเออร์เรื่องการกดราคาสินค้า และการกำหนดตารางการทำงานที่หนักหน่วงสำหรับพนักงานของเขา

สำหรับร้านค้าส่วนใหญ่บน Temu มีที่เป็นทั้งโรงงานผลิต และซัพพลายเออร์ที่ขายสินค้าอยู่บนแพลตฟอร์ม ทำให้สินค้ามีราคาถูก เพราะส่งตรงมาจากผู้ผลิต ซึ่งกว่า 100,000 ร้าน ดำเนินการอยู่ในประเทศจีน แต่ล่าสุดผู้ผลิตกลับพบกับความอยุติธรรมที่ทางแพลตฟอร์มมีการลงโทษร้านค้าที่เกิดความผิดพลาด ทั้ง สินค้าไม่ตรงปก เกิดปัญหาหลังการขาย หรือลูกค้าเข้ามาร้องทุกข์จากปัญหาของสินค้า ด้วยการเรียกเก็บค่าปรับ และระงับบัญชีร้านค้า

นอกจากนี้ Temu จะคืนเงินให้ลูกค้าเต็มจำนวน ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดกับสินค้า แต่สินค้าดังกล่าวกลับไม่ได้ส่งคืนซัพพลายเออร์ และจะมีการปรับเงินกับร้านค้า จากรายงานของ CNN พบว่า ร้านค้าจะต้องจ่ายค่าปรับที่ 1-5 เท่าของราคาสินค้า บางรายถูกระงับบัญชีร้านค้าในระบบจนไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ 

ทว่า จากการเรียกเก็บค่าปรับดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ผลิตบางรายต้องแบกรับต้นทุนจำนวนมหาศาล และบางรายถึงขั้นล้มละลาย

อย่างไรก็ตาม ทางโฆษกของ Temu เคยออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยว่า "ร้านค้าแค่ไม่พอใจที่ Temu ให้มีกฎเกณฑ์กับเรื่องของสินค้าและบริการหลังการขายที่ต้องมีประสิทธิภาพ เราดำเนินการอย่างโปร่งใสในการกำหนดกฎเกณฑ์และค่าปรับแล้ว และหลังจากนี้เราจะหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับร้านค้าต่อไป"

Temu ให้นิยามตัวเองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ลูกค้า ‘Shop Like a Billionaire’ ด้วยสินค้าที่มีราคาถูกมาก และใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ Temu เปิดตัวมาเมื่อปี 2022 และปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดแอปฯ ไปแล้วกว่า 600 ล้านครั้ง 

นอกจากนี้ ข้อมูลของ Goldman Sachs ได้ชี้ว่า Temu จะสามารถสร้างรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ได้กว่า 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 เพิ่มขึ้นจาก 18,000 ล้านดอลลาร์ในปีก่อน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top