‘รัฐบาลจีน’ เดินหน้าโครงการดาวเทียม ‘Thousand Sails’ ตั้งเป้ายิงดาวเทียมอีก 15,000 ลูก ชิงตลาดแข่ง ‘Starlink’
เมื่อวันอังคารที่ 6 ส.ค. 67 ที่ผ่านมา จีนได้ส่งดาวเทียมชุดแรก จำนวน 18 ลูก ขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ ถือเป็นก้าวสำคัญของ ‘Thousand Sails Constellation’ โครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมระดับเมกะโปรเจกต์ ของรัฐบาลจีน ที่ตั้งเป้าส่งดาวเทียมให้ได้ถึง 15,000 ลูก ครอบคลุมการให้บริการอินเทอร์เนตทั่วทุกมุมโลก
เชียนฟาน ซิงจั้ว (千帆星座) หรือโครงการดาวเทียมเรือใบพันดวง แต่เริ่มเดิมทีใช้ชื่อว่า ‘G60 Starlink’ ดูแลโดย Shanghai Spacecom Satellite Technology (SSST) บริษัท Start-up ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ ถึง 6.7 พันล้านหยวน เพื่อพัฒนาดาวเทียมอินเทอร์เนตที่ใช้ได้ทั้งในเชิงพาณิชย์ และ การทหาร
หลังจากที่เพิ่งประกาศเริ่มโครงการเมื่อปี 2566 ผ่านไปเพียง 1 ปี ก็สามารถส่งดาวเทียมชุดแรก 18 ดวง โดยจรวด Long March 6A ที่ฐานปล่อยยาน Taiyuan Satellite Launch Center ที่ตั้งอยู่ในมณฑลซานซี ทางตอนเหนือของจีนได้สำเร็จแล้วในวันนี้
สื่อ CCTV ของจีนรายงานว่า ภายในปี 2568 จีนมีเป้าหมายที่จะส่งดาวเทียมอีก 648 ดวง แล้วจะเริ่มเข้าสู่เฟสแรกของการสร้างโครงข่ายดาวเทียมสัญชาติจีน ซึ่งจะถือเป็นก้าวสำคัญในเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของจีนในการมุ่งสู่ธุรกิจบรอดแบนด์เชิงพาณิชย์ที่กำลังเติบโตในระดับโลก
จากข้อมูลล่าสุด ปี 2567 มีดาวเทียมที่ใช้งานกันอยู่ในโลกประมาณ 10,000 ดวงบนชั้นบรรยากาศ โดยผู้บริโภคทั่วไป องค์กรเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และ การทหาร ซึ่งบริษัทที่เป็นเจ้าตลาดผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เนตดาวเทียมก็คือ Starlink ของ อีลอน มัสก์ ที่ครอบครองดาวเทียมมากที่สุดถึง 6,646 ดวง และมีแผนที่จะเพิ่มเป็น 12,000 ดวงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ซึ่งโครงการ ‘Thousand Sails’ ของจีน มีการตั้งเป้าส่งดาวเทียมวงโคจรต่ำให้ได้ถึง 15,000 ลูกเช่นกัน ที่ไม่ใช่เพียงแค่แข่งขันกับโครงข่าย Starlink ของอีลอน มัสก์ เท่านั้น แต่เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และความทะเยอทะยานในเทคโนโลยีด้านอวกาศของจีน ที่จะแข่งขันกับชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาให้ได้ในอนาคตอันใกล้
การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศของจีนทะยานอย่างก้าวกระโดดในช่วงเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2563 จีนสามารถพัฒนาดาวเทียม BeiDou ที่ใช้สนับสนุนระบบนำทางและระบุตำแหน่งพิกัดระดับโลก ที่เทียบได้กับระบบ GPS ของรัฐบาลสหรัฐฯ
อีกทั้งความสำเร็จของโครงการฉางเอ๋อ 6 ที่สามารถลงจอดบนพื้นผิวด้านมืดของดวงจันทร์ที่ยังไม่เคยมีชาติใดสำรวจมาก่อน และยังสามารถพายานกลับถึงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ พร้อมตัวอย่างหินด้านมืดของดวงจันทร์ที่เป็นประโยชน์ในงานวิจัยอีกจำนวนหนึ่ง
และโครงการสร้างเครือข่ายดาวเทียมขนาดใหญ่ ‘Thousand Sails’ เป็นการตอกย้ำให้ถึงความพร้อมของจีน ในการท้าชิงตำแหน่งมหาอำนาจด้านอวกาศ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ความฝันที่ไกลตัวอีกต่อไป แต่จีนจะไปได้ไกลแค่ไหนกับโครงการเทคโนโลยีอวกาศ เป็นเรื่องที่น่าติดตามไม่น้อยทีเดียว
เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง: CNBC / Reuters / Spacewatch