Monday, 20 May 2024
World

แผ่นดินไหว 'ไต้หวัน' ต่อเนื่องกว่า 30 ครั้ง  แรงระดับ 4-6.3 ริกเตอร์ ตึกสูงเอนหวาดเสียว

(23 เม.ย.67) เครือข่ายติดตามแผ่นดินไหวแห่งจีน (China Earthquake Networks Center) รายงานเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่อำเภอ #ฮวาเหลียน #ไต้หวัน ขนาด 6.2 เมื่อเวลา 02.32 นาที ของวันที่ 23 เม.ย. ระดับความลึกแผ่นดินไหว 10 กิโลเมตร

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 02.26 นาที เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6.3 ที่บริเวณน่านน้ำทะเลในเขตอำเภอฮวาเหลียน ไต้หวัน โดยมีระดับความลึกแผ่นดินไหว 10 กิโลเมตร

สื่อจีนอ้างข้อมูลศูนย์ติดตามแผ่นดินไหวไต้หวัน ระบุอีกว่า จากเมื่อเวลา 17.08 น. ของวันที่ 22 เม.ย. ถึง เวลา 03.34 น. ของวันที่ 23 เม.ย. เกิดแผ่นดินไหวที่บริเวณชายฝั่งและในทะเลของเขตอำเภอฮวาเหลียน โดยครั้งที่มีความแรงขนาด 4 ขึ้นไป 26 ครั้ง, ขนาด 5 ขึ้นไป 7 ครั้ง และขนาด 6 ขึ้นไป 2 ครั้ง 

โดยทั้งหมดเป็นอาฟเตอร์ช็อกของเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ในฮวาเหลียนเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ซึ่งจนถึงขณะนี้มีอาฟเตอร์ช็อก ถึง 935 ครั้ง

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ที่ความแรงขนาด 6 ขึ้นไปในเช้านี้ มีรายงานความเสียหายเบื้องต้น ตึกสูงสองหลัง เอียงไปอีก 

ในวันนี้ (23 เม.ย.) ทางการฮวาเหลียน สั่งด่วน หยุดการทำงาน และหยุดชั้นเรียน 

ส่วนฝั่งแผ่นดินใหญ่ มีชาวเน็ตในมณฑลฝูเจี้ยน และเมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง ออกมาโพสต์ข้อความกันว่า พวกเขารู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว


หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวในวันที่ 23 เม.ย. ตึกโรงแรมแห่งหนึ่งในฮวาเหลียนเอียงไปด้านหนึ่ง ทั้งนี้โรงแรมที่ได้รับความเสียหายและถูกทิ้งร้างหลังเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ที่ฮวาเหลียน ไต้หวันเมื่อวันที่ 3 เม.ย. (ภาพจากวิดีโอของหน่วยดับเพลิงไต้หวัน เผยแพร่ผ่านรอยเตอร์)

ภาพกราฟฟิกแสดงแผ่นดินไหวในเขตอำเภอฮวาเหลียน ไต้หวัน จากเวลา ราว 17.08 น. ของวันที่ 22 เม.ย. ถึง เวลา 03.34 น.ของวันที่ 23 เม.ย. โดยครั้งที่มีความแรง ขนาดกว่า 5 มีจำนวน 7 ครั้ง และครั้งที่มีความแรง ขนาดกว่า 6 มีจำนวน 2 ครั้ง

‘Tesla’ ประกาศเรียกคืน ‘Cybertruck’ หลังพบปัญหาที่อาจทำให้ 'คันเร่งค้าง'

Tesla ประกาศเรียกคืน Cybertruck ที่ผลิตออกมาทั้งหมด 3,878 คัน หลังพบปัญหาคันเร่งค้าง

(23 เม.ย.67) BusinessTomorrow รายงานว่า Tesla ได้ประกาศเรียกคืนรถผ่าน National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางถนนในสหรัฐ ระบุปัญหาแป้นเหยียบคันเร่ง (pad on the accelerator pedal) อาจไปติดกับตัวรถด้านในที่อยู่เหนือคันเร่ง และอาจทำให้คันเร่งค้างได้

ทั้งนี้ Tesla ระบุว่า ได้รับแจ้งปัญหาจากลูกค้าครั้งแรกในวันที่ 31 มีนาคม และครั้งที่สองในวันที่ 3 เมษายน หลังการสอบสวนของวิศวกรก็พบว่ามีปัญหาจริง ๆ จึงตัดสินใจประกาศให้เจ้าของรถนำรถเข้าไปแก้ไขโดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ซึ่งเจ้าของรถมีสิทธิจะไปหรือไม่ก็ได้ เป็นไปตามความสมัครใจ)

นักสู้ MMA ชาวอิหร่าน เตะก้นสาวริงเกิร์ลบนเวที อ้างไม่เหมาะ โดนตะลุมบอนยับ-แบนตลอดชีวิต-ยึดค่าจ้างให้สาวที่ถูกเตะ

(23 เม.ย.67) กลายเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมมากพอสมควร หลังจาก 'อาลี เฮบาติ' นักสู้ MMA ชาวอิหร่าน เตะไปที่ก้นของสาวที่ขึ้นมาถือป้ายระหว่างยก โดยอ้างว่าเธอแต่งตัวไม่เหมาะสม (ก็แต่งแบบนี้กันมานานแล้วไหม)

สำหรับไฟต์นี้จัดแข่งกันที่รัสเซีย โดยสู้ไปได้แค่ 30 วินาที ก็แพ้น็อกเอาท์คู่แข่งจากอาร์เมเนีย แถมยังไม่พอใจไปเล่นนอกเกมใส่อีก นอกจากนี้เห็นบอกไปเล่นงานนักพากย์ด้วย ซึ่งคาดว่าคงไม่พอใจที่ไปวิจารณ์ตนเอง

ภายหลังงานนี้ มีการตะลุมบอน อาลี เฮบาติ จนไปอ่วมเลย และจากพฤติกรรมทั้งหมดนี้ ก็ทำให้เจ้าตัวถูกแบนตลอดชีวิต และยึดค่าจ้างทั้งหมดมามอบให้กับสาวที่โดนเตะด้วย

‘จีน’ เดินหน้าแผนริเริ่ม ‘ภูเขา-แม่น้ำ’ ลุย ‘ฟื้นฟูที่ดิน’ ราว 42 ล้านไร่

(23 เม.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของจีนเปิดเผยว่า จีนได้ฟื้นฟูที่ดินมากกว่า 100 ล้านหมู่ (ราว 42 ล้านไร่) ระหว่างดำเนินการฟื้นฟูทางนิเวศวิทยาขนานใหญ่หรือที่เรียกว่าแผนริเริ่มซาน-สุ่ย (Shan-Shui Initiative) เมื่อวันจันทร์ (22 เม.ย.) ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลก (World Earth Day)

ทั้งนี้จากรายงานระบุว่า แผนริเริ่มซาน-สุ่ย หรือแผนริเริ่มภูเขา-แม่น้ำ ถือเป็นความมุมานะพยายามของจีนในการฟื้นฟูพื้นที่ธรรมชาติอันครอบคลุมภูเขา ป่าไม้ ทุ่งหญ้า และทางน้ำใน 29 ภูมิภาคระดับมณฑลของประเทศ คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 10 ล้านเฮกตาร์ (ราว 62 ล้านไร่) ภายในปี 2030

ซึ่งแผนริเริ่มซาน-สุ่ย ประกอบด้วยโครงการเกี่ยวกับการคุ้มครองแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำเหลือง 31 โครงการ โครงการเกี่ยวกับการคุ้มครองที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต 7 โครงการ และโครงการผืนป่าแนวกันลมสามเหนือ 21 โครงการ

ขณะเดียวกันโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาภาคตะวันตกของจีน 22 โครงการ การฟื้นฟูภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน 4 โครงการ การพัฒนาเชิงบูรณาการของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี 4 โครงการ และการพัฒนาเชิงประสานของภูมิภาคปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย 4 โครงการ

ชาร์ลส์ การรังวา หัวหน้าฝ่ายการแก้ไขปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (NbS) ระดับโลกขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมวันคุ้มครองโลกในเมืองหลินอี๋ มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน กล่าวชื่นชมความพยายามและความสำเร็จของจีนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ

‘ฮ.กองทัพเรือมาเลเซีย’ 2 ลำ ชนกันกลางอากาศ สลด!! ทหาร 10 นายเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ

(23 เม.ย.67) กองทัพเรือมาเลเซีย รายงานว่า เกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ปฏิบัติการทางทะเลเอชโอเอ็ม (HOM) และเฮลิคอปเตอร์เฟนเน็กชนกันกลางอากาศเหนือฐานทัพในเมืองลูมุต รัฐเประ ประเทศมาเลเซีย เมื่อเวลา 9.32 น. ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้ทหารบนเฮลิคอปเตอร์เอชโอเอ็ม 7 นาย และบนเฟนเน็กอีก 3 นายเสียชีวิต

รายงานที่สำนักข่าวแชนแนลนิวส์เอเชีย ระบุว่า เฮลิคอปเตอร์ทั้งสองลำบินขึ้นเมื่อเวลา 9.03 น. หลังจากนั้นเฮลิคอปเตอร์ทั้งสองชนกัน เอชโอเอ็มตกไปที่บันไดของสนาม ขณะที่เฟนเน็กตกไปในสระน้ำ ส่งผลให้ทหารทั้ง 10 นายเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ ส่วนร่างของเหยื่อถูกนำส่งโรงพยาบาลกองทัพเรือลูมุต เพื่อระบุอัตลักษณ์ต่อไป

ทั้งนี้ การฝึกบินดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการซ้อมเดินขบวนสวนสนามเนื่องในวันครบรอบกองทัพเรือ 90 ปี

ด้านกองทัพเรือมาเลเซียเตรียมสอบสวนเพื่อหาสาเหตุของอุบัติเหตุดังกล่าวต่อไป และขอให้สาธารณชนหยุดแชร์วิดีโออุบัติเหตุดังกล่าว เพื่อรักษาความรู้สึกอ่อนไหวของครอบครัวผู้สูญเสีย และเพื่อกระบวนการสอบสวน

ภาพอุบัติเหตุที่แชร์ในโซเชียลมีเดีย เผยให้เห็นเฮลิคอปเตอร์ 7 ลำ บินขึ้นเหนือฐานทัพแบบสะเปะสะปะ จากนั้นกล้องก็จับภาพไปยังเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำทางขวามือ แล้วทั้งสองลำก็ชนกันจนเกิดเพลิงไหม้ และควันโขมง ก่อนตกลงสู่พื้น

‘Tesla’ กำไรไตรมาสแรกดิ่งฮวบ 55% ท่ามกลางสงครามรถยนต์อีวีที่เข้มข้น

(24 เม.ย.67) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เทสลา บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าผลกำไรในไตรมาสแรกของปี 2024 ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้มข้น แต่หุ้นของเทสลากลับเพิ่มขึ้น หลังนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลาได้ประกาศว่าจะเร่งแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกลง

เทสลาได้เปิดเผยว่า เทสลามีผลกำไรในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 40,570 ล้านบาท จากรายได้ของเทสลา 21,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 785,362 ล้านบาท ถือว่ามีผลกำไรลดลง 55% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หุ้นของเทสลากลับเพิ่มขึ้นมากกว่า 11% ในการซื้อขายหลังตลาดปิด หลังเทสลาให้คำมั่นว่าจะเร่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มีราคาถูกลง โดยการประกาศดังกล่าวมีขึ้นขณะที่บรรดานักลงทุนต้องการให้มัสก์ออกมาแสดงความชัดเจนเกี่ยวกับกลยุทธ์ของบริษัทมากขึ้น ขณะที่ยอดขายรถยนต์เทสลากำลังลดลง และข่าวการปลดพนักงานเทสลาทั่วโลกราว 14,000 คนเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายของเทสลากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี รวมถึงการเรียกคืนรถยนต์ Cybertruck รุ่นใหม่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเร่งเครื่องยนต์

ถึงแม้ว่าเทสลาจะกำลังใช้มาตรการรัดเข็มขัด แต่เทสลายังให้รายละเอียดว่าพวกเขาเตรียมที่จะเร่งการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งรวมถึงรถยนต์ที่มีราคาถูกลง โดยมัสก์เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์รุ่นใหม่จะเริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2024 หรือต้นปี 2025 เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 ซึ่งรายงานดังกล่าวได้สร้างความพอใจให้แก่นักลงทุนบางส่วนอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม มัสก์ไม่ได้ชี้แจงถึงแผนการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่เพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่บอกว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

บทสรุปราคาน้ำมันอาเซียน ใต้ ‘อุณหภูมิโลก-ตะวันออกกลาง’ เดือด ราคาเบนซินไทยเกาะกลุ่มกลางตาราง ส่วนดีเซลราคายังรั้งท้าย

เดือดปุดทั้งอาเซียน สมกับเป็นหน้าร้อนจริง ๆ เมื่อราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเร็วและแรงไปทั่วโลก จากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ผสานเข้ากับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่พุ่งไม่แพ้กัน จากโลกที่ร้อนเข้าขั้นเดือด เพราะดวงอาทิตย์มาอยู่แถวนี้พอดี ซึ่งโดยรวม ๆ แล้วทั้งโลก และหมายรวมถึงอาเซียนบ้านเรา ก็คงได้รับผลกระทบจากราคาที่ปรับขึ้นนี้ไปตาม ๆ กัน

ว่าแล้ว วันนี้เลยขอถือโอกาสมาเช็กราคาน้ำมันเชิงเปรียบเทียบ เอาแค่ในประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนดูกันสักเล็กน้อย ว่า ณ ตอนนี้ ที่ไหน ถูก- แพง กันบ้าง? เผื่อคนไทยเราจะสบายใจกันขึ้นเล็ก ๆ

อย่างไรก็ตาม อยากให้เข้าใจก่อนว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันถูกหรือแพงนั้น จะขึ้นอยู่กับ…

1. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประเทศไหนสามารถผลิตเองได้ ก็นับว่าโชคดีไป ที่บรรพบุรุษหามาให้เป็นทรัพย์สมบัติ
2. ค่าขนส่งน้ำมัน ถ้าประเทศที่ต้องนำเข้าคงไม่ต่างกันมากนัก แต่ประเทศที่ผลิตเองได้ ก็จะทำให้ค่าขนส่งถูกลง
3. ประเทศที่มีโรงกลั่นน้ำมันเอง ซึ่งในอาเซียน มีอยู่ 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, ไทย, มาเลเซีย และ เวียดนาม 
4. ภาษีต่าง ๆ ที่ในแต่ละประเทศเรียกเก็บ

ทั้งนี้ หากในส่วนของอาเซียน ก็มีประเทศที่สามารถขุดน้ำมันมาใช้เองได้ โดยแทบไม่ต้องนำเข้าด้วย ได้แก่... 
1. มาเลเซีย
2. บรูไน
3. อินโดนีเซีย

ส่วน ประเทศไทย และ เวียดนาม ผลิตใช้เองได้เล็กน้อย คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของปริมาณความต้องการเท่านั้น

คราวนี้ ก็ได้เวลาพามาดูราคาน้ำมันสำเร็จรูป ในกลุ่มอาเซียน ที่รายงานอยู่บนเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 พบว่า…

>> ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ในสิงคโปร์ แพงที่สุด คือ 80.29 บาทต่อลิตร ตามมาด้วย ลาว 57.57 บาทต่อลิตร, กัมพูชา 48.33 บาทต่อลิตร, เมียนมา 43.32 บาทต่อลิตร, ไทย 40.35 บาทต่อลิตร, ฟิลิปปินส์ 40.23 บาทต่อลิตร, เวียดนาม 36.61 บาทต่อลิตร, อินโดนีเซีย 33.23 บาทต่อลิตร, มาเลเซีย 15.79 บาทต่อลิตร และ บรูไน 14.33 บาทต่อลิตร

>> ส่วนราคาน้ำมันดีเซล แพงสุดก็ยังเป็น สิงคโปร์ 72.99 บาทต่อลิตร, กัมพูชา 45.59 บาทต่อลิตร, เมียนมา 43.32 บาทต่อลิตร, ลาว 36.62 บาทต่อลิตร, ฟิลิปปินส์ 36.61 บาทต่อลิตร, อินโดนีเซีย 35.85 บาทต่อลิตร, เวียดนาม 31.11 บาทต่อลิตร, ไทย 30.94 บาทต่อลิตร, มาเลเซีย 16.56 บาทต่อลิตร และ บรูไน 8.38 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ ต้องบอกให้ทราบกันก่อนว่า ราคาจากประเทศที่มีเห็นว่าน้ำมันถูกนั้น ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลแต่ละประเทศจะมีการอุดหนุนทั้งสิ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซียและบรูไน ที่แม้จะเป็นประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันใช้เองได้ก็ตาม

แต่จากภาวะสงครามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้แต่ละประเทศเริ่มอุ้มไม่ไหวแล้ว จะเริ่มลอยตัวราคาน้ำมันตามกลไกตลาดกันแล้ว เพราะการอุ้มนาน ๆ จะทำให้เศรษฐกิจส่วนอื่นไม่รู้ต้นทุนจริง สุดท้ายประเทศจะไม่มีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

อย่างเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายราฟิซี รามลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจมาเลเซีย ก็ได้ออกมาระบุว่า มาเลเซียเตรียม ‘ลดการอุดหนุน’ ราคาน้ำมันเบนซินในปีนี้ เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งสาเหตุที่รัฐบาลมาเลเซีย เตรียมลดการอุ้มราคาน้ำมันนั้น เป็นเพราะผลจากการอุ้ม ทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณประเทศที่มีตัวเลขพุ่งไปแตะ 5% ของ GDP ในปี 2566 จนกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน และไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลให้สกุลเงินริงกิตของมาเลเซียใกล้แตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปี ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินในเอเชียเมื่อปี 2541 อีกด้วย

ดังนั้น รัฐบาลมาเลเซีย จึงตั้งเป้าหมายในปีนี้ว่า จะลดภาวะขาดดุลงบประมาณจาก 5% ของ GDP ลงเหลือ 4.3% ของ GDP โดยเริ่มจากลดการอุดหนุนน้ำมันเบนซิน RON95 ซึ่งเป็นประเภทเบนซินราคาถูกที่สุด และชาวมาเลเซียใช้มากที่สุดด้วย โดยในปีที่แล้วรัฐบาลใช้งบประมาณไปกับการอุดหนุนเหล่านี้มากถึง 81,000 ล้านริงกิต หรือราว 622,000 ล้านบาท

*** ขนาดประเทศที่ผลิตน้ำมันใช้ได้เองอย่างมาเลเซียยังวิกฤต ก็เลยไม่อยากให้คิดว่าเมืองไทยไม่ทำอะไร ปล่อยแพงเอา ๆ

เพราะถ้าลองหันกลับมาดูประเทศไทยเราดี ๆ จะพบว่าราคาน้ำมันของไทย อยู่ในระดับกลาง ๆ ค่อนไปทางราคาถูกด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล เพราะมีการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้าไปอุ้มอยู่ แต่ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป หรืออุ้มน้ำมันดีเซลนาน ๆ ประเทศก็จะสูญเสียการแข่งขันเช่นกัน 

เนื่องจากตอนนี้ กองทุนน้ำมันบ้านเรา ได้เข้าอุ้มน้ำมันดีเซลอย่างเดียวก็ร่วม 60,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งถ้าจะให้พูดเชิงสำนึกกันสักหน่อย ก็น่าจะหมายถึงว่า “เวลาที่ภาคประชาชนต้องช่วยกันประหยัดน้ำมันกัน มันมาถึงแล้ว” เพราะต้องตระหนักรู้ด้วยว่า ประชาชนทุกคนที่ไม่ได้ใช้น้ำมันดีเซลก็มีเยอะ และเขาก็ต้องมาช่วยอุ้มน้ำมันดีเซลด้วยเช่นกันในตอนนี้

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกสาเหตุที่ประเทศไทย ราคาน้ำมันไม่แพงพุ่งกระฉูด เพราะเรามีโรงกลั่นน้ำมันของเราเอง อยู่ที่จังหวัดระยอง, ชลบุรี และกรุงเทพฯ ที่มีความสามารถในการกลั่นเองมาใช้เองภายในประเทศได้หมด แถมส่งออกได้อีกต่างหาก เรียกว่าประเทศไทยแทบไม่ต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป แต่ทว่าก็ยังต้องนำเข้าน้ำมันดิบอยู่

อีกเรื่องที่จะมองข้ามไม่ได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ราคาน้ำมันพุ่งหรือไม่ คือ สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง อันมีจุดเริ่มต้นจาก ‘อิสราเอล’ กับ ‘กลุ่มฮามาส’ ที่กำลังลุกลามยกระดับไปเป็น ‘อิสราเอล’ กับ ‘อิหร่าน’ แล้วนั่นเอง!!

ทำไมต้องจับตามอง? เพราะนอกจากจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบพุ่งแล้ว โดยภูมิศาสตร์ภูมิภาคแถบนั้น การขนส่งน้ำมัน 30 %ของโลกต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ของอิหร่านทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าเกิดสงครามลุกลามขึ้นมา แล้วอิหร่านคิดจะกดดันด้วยการปิดช่องแคบฮอร์มุซแบบเบ็ดเสร็จ ก็ต้องมีการขนอ้อมไปทางอื่น ซึ่งจะทำให้ค่าขนส่งพุ่งกระฉูดอีกทางหนึ่ง เมื่อถึงตอนนั้นคงไม่ต้องคิดว่าคนไทยและชาวโลกจะเดือดร้อนขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม เห็นข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กำลังเร่งจัดทำระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SPR เพื่อสำรองน้ำมัน เตรียมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งจะทำให้ราคาในประเทศไม่ผันผวนตามตลาดโลกแม้มีภาวะสงคราม ซึ่งเรื่องนี้อยากให้ได้รับความสนใจจากทุกหน้าสื่อสักหน่อย 

ส่วน THE STATES TIMES เองก็สนใจเรื่องนี้พอสมควร ไว้ขอไปศึกษาและคราวหน้าจะเอารายละเอียดมาฝาก...

เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES

ทัพ ‘ทุเรียนไทย’ เร่งบุก ‘ตลาดจีน’ ผ่านร้านค้า-ซูเปอร์มาร์เก็ต คาด!! ยอดจำหน่ายแตะระดับสูงสุดภายในเดือนพฤษภาคม

(24 เม.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คำบอกเล่าจาก หวงหรงเซิง ชาวเมืองชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ผู้สั่งซื้อทุเรียนทางออนไลน์เป็นครั้งที่ 3 ในฤดูทุเรียนปีนี้ ได้ระบุว่า “กดเปิดแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนแล้วเลือกทุเรียนพันธุ์ที่ถูกใจ รออยู่ที่บ้านไม่เกินหนึ่งชั่วโมงก็ได้ทุเรียนอร่อย ๆ มาแล้ว…ทุเรียนไทยพูสวยและรสชาติหวานมันกลมกล่อม”

พร้อมกล่าวเสริมว่า คนขายบางส่วนให้บริการสั่งทางออนไลน์และจัดส่งถึงที่หรือไปรับที่หน้าร้าน ทั้งยังมีการรับประกันการชดเชยหรือเปลี่ยนสินค้าที่เสียหายเพื่อควบคุมคุณภาพ ทำให้เลือกซื้อได้อย่างสบายอกสบายใจ

ซึ่งบ้านของหวงนั้น อยู่ไม่ไกลจากซูเปอร์มาร์เก็ตโลตัส มาร์เก็ต (Lotus Market) ที่ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ได้เปิดบูธวางจำหน่ายทุเรียนหลายพันธุ์นำเข้าจากไทยภายใต้แบรนด์ซีพี เฟรช (CP Fresh) ทั้งพันธุ์หมอนทอง พันธุ์พวงมณี และพันธุ์มูซังคิง โดยกลิ่นหอมเตะจมูกและรูปลักษณ์เตะตาดึงดูดผู้คนเดินเข้าดูและเลือกซื้อ

โดยพนักงานประจำแผนกผลไม้ของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้เผยว่า ตอนนี้ทุเรียนสดจากไทยทยอยเข้ามาตลาดจีนแล้ว แม้มีปริมาณจำกัดและราคาสูง แต่ยังคงเป็นที่นิยมชมชอบของเหล่าผู้บริโภคเหมือนเดิม โดยทุเรียนหมอนทองได้รับความนิยมมากที่สุด และมักจำหน่ายทางออนไลน์จนหมดตั้งแต่ช่วงเย็น

ทั้งนี้ ทุเรียนในภาคตะวันออกของไทยจะเริ่มถูกเก็บเกี่ยวขนานใหญ่ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ก่อนทยอยขนส่งสู่ตลาดจีนทางถนน รถไฟ เรือ และเครื่องบินแบบแบ่งล็อตตั้งแต่กลางเดือนเมษายน โดยได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ไทยถือเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดสู่จีนเจ้าแรกและเจ้าใหญ่ที่สุด โดยความนิยมมาเนิ่นนานและความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดจีนช่วยอัดฉีดแรงกระตุ้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศ นำพาโอกาสทางธุรกิจมาสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง

ด้าน โม่เจียหมิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทเทคโนโลยีการเกษตรแห่งหนึ่งของกว่างซี กล่าวว่าตั้งแต่เข้าเดือนเมษายน บริษัทของเขานำเข้าทุเรียน 50 ตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ตอนแรกมีแค่พันธุ์กระดุมทองก่อนจะเพิ่มพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก และมองว่าทุเรียนไทยจะยังคงเป็นที่นิยมของตลาดจีนต่อไปในปีนี้

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โม่เพิ่งเดินทางเยือนจังหวัดจันทบุรีเพื่อสั่งซื้อทุเรียน โดยบริษัทของเขาทำธุรกิจนำเข้าผลไม้ปริมาณมากจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนจนก่อเกิดห่วงโซ่อุปทานทุเรียน มะพร้าว และผลไม้อื่น ๆ ในช่วงหลายปีมานี้ ขณะเดียวกันยังจัดจำหน่ายทุเรียนไทยผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและซูเปอร์มาร์เก็ต นอกเหนือจากการขายส่ง

ยอดจำหน่ายทุเรียนที่เฟื่องฟูช่วยเพิ่มความมั่นใจของผู้ประกอบการในการวางแผนจัดจำหน่ายในปี 2024 ดังเช่นไล่ผิงเซิง ประธานบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรในกว่างซี สังกัดซีพี กรุ๊ป (CP Group) เผยแผนการนำเข้าทุเรียนไทย 3,000 ตู้ โดยส่วนหนึ่งจะถูกจัดจำหน่ายในกว่างซีราว 324 ตัน ผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าเป้าหมาย 600 แห่ง

โม่เสริมว่า ตอนนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้นไม่หยุดเช่นเดียวกับความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวจีนที่ขยับขยายต่อเนื่อง ส่วนทุเรียนไทยจะยังคงเป็นดาวเด่นในตลาดจีนต่อไป และคาดว่ายอดจำหน่ายทุเรียนไทยในตลาดจีนจะแตะระดับสูงสุดภายในเดือนพฤษภาคมนี้

'ไต้หวัน' เตรียมรื้อถอน อนุสาวรีย์ 'เจียง ไคเชก' ทั่วประเทศ หวังล้างภาพลักษณ์เผด็จการ ยุคแห่งความน่าสะพรึงสีขาว

รัฐบาลไต้หวันประกาศที่จะรื้อถอนอนุสาวรีย์ เจียง ไคเชก ประธานาธิบดีคนแรกของไต้หวัน ที่มีอยู่ถึง 760 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงอนุสรณ์สถานใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงไทเปด้วย ท่ามกลางการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานถึงภาพลักษณ์ 2 ขั้วอันย้อนแย้งว่า เจียง ไคเชก เคยเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำที่ต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น และ ลัทธิคอมมิวนิสต์จีน-โซเวียต จนนำไปสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในเวลาต่อมา 

แต่ในอีกแง่หนึ่งเขาก็เป็นผู้นำเผด็จการทหาร ที่ปกครองไต้หวันด้วยกฏอัยการศึกยาวนานถึง 38 ปี โดยที่ใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มต่อต้านอย่างโหดเหี้ยมตลอดระยะเวลาที่ครองอำนาจในไต้หวัน

แม้จะถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งไต้หวัน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ชาวไต้หวันรุ่นใหม่รู้สึกไม่สบายใจกับการมีอยู่ของอนุสาวรีย์ เจียง ไคเชก จนทำให้ไต้หวันถูกมองว่าเป็นเกาะแห่งอนุสรณ์สถานของ เจียง ไคเชก และเรียกร้องให้รื้อถอนอนุสาวรีย์ของอดีตผู้นำคนสำคัญออกไป 

จนเมื่อปี พ.ศ. 2561 รัฐบาลไต้หวันได้จัดตั้งคณะกรรมการยุติธรรมเพื่อสอบสวนเรื่องราว และหลักฐาน การปกครองในช่วงสมัยของ เจียง ไคเชก ตั้งแต่เพิ่งเข้ามามีบทบาททางการเมือง จนถึงปีที่เขาถึงแก่อสัญกรรมในปี 2518 

และหนึ่งในข้อเสนอคือ การรื้อถอนรูปปั้นนับพันของเจียง ไคเชก จากทุกพื้นที่สาธารณะของไต้หวัน และในวันที่ 22 เม.ย.67 สภาไต้หวันก็ได้ออกมายืนยันอีกครั้งว่าจะเร่งรื้อถอนอนุสาวรีย์ที่ยังเหลืออยู่อีก 760 แห่ง ออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อตอบสนองต่อเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ของประชาชนว่าดำเนินการช้าเกินไป 

ส่วนรูปปั้นที่ใหญ่ที่สุดของ เจียง ไคเชก ตั้งอยู่ที่ อนุสรณ์สถานใจกลางกรุงไทเป ที่เป็นเหมือนจุดไฮไลต์ของนักท่องเที่ยว มีแผนที่จะย้ายไปตั้งไปรวมกันในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของกรุงไทเป ที่จะเก็บรวบรวมรูปปั้น เจียง ไคเชก ที่ถูกรื้อถอนไปแล้วนับพันมาไว้รวมกัน

ทั้งนี้ การถอดถอนอนุสาวรีย์ของ เจียง ไคเชก เคยเป็นประเด็นถกเดือดในสภาไต้หวันอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งปัจจุบันเป็นฝ่ายรัฐบาลมีความเห็นว่า ไต้หวันควรถอยห่างจากประเพณีการไว้อาลัยอดีตผู้นำผู้ก่อตั้งไต้หวันได้แล้ว เพราะ เจียง ไคเชก มีภาพลักษณ์ผู้นำเผด็จการทหาร ที่ใช้อำนาจปกครองไต้หวันมานานถึง 46 ปี

แต่ฝ่ายพรรคก๊กมินตั๋งของอดีตผู้นำ เจียง ไคเชก ที่เป็นฝ่ายค้าน ตอบโต้ว่า ชาวไต้หวันก็ไม่ควรลืมเกียรติยศต่าง ๆ ที่ เจียง ไคเชก เคยทำไว้ในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น เพื่อรวมชาติจีนให้กลับมาเป็นปึกแผ่น และการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ต้องการแผ่อิทธิพลเหนือเกาะไต้หวัน การรื้อถอนอนุสาวรีย์ เจียง ไคเชก จึงไม่ต่างจากความพยายามลบประวัติศาสตร์อันเป็นรากเหง้าของชาวไต้หวัน

สำหรับ เจียง ไคเชก เป็นทั้งนักการเมืองฝ่ายชาตินิยม และผู้นำทหารที่เคยร่วมคณะปฏิวัติของ ด็อกเตอร์ ซุน ยัตเซ็น ผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติซินไฮ่ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่สู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ และยังเป็นผู้นำทัพต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลงหลังความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่น เจียง ไคเชก กลับต้องเผชิญหน้ากับสงครามกลางเมือง กับกองกำลังฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดย เหมา เจ๋อตง และสุดท้ายเขาพ่ายแพ้ เจียง ไคเชก ตัดสินใจพาคณะรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง มาสถาปนาสาธารณรัฐจีนพลัดถิ่นบนเกาะไต้หวันในปี พ.ศ. 2492 

หลังจากนั้น เจียง ไคเช็ก ใช้กฏอัยการศึกปกครองไต้หวัน ที่มีการปราบปรามศัตรูทางการเมือง และผู้ที่เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม จนถูกยกให้เป็นยุคแห่งความน่าสะพรึงสีขาวของไต้หวัน (白色恐怖) ซึ่งช่วงเวลาของการใช้กฎอัยการศึกในไต้หวันกินเวลานานถึง 38 ปี ที่มีผู้คนมากถึง 140,000 คนถูกจำคุก และเกือบ 4,000 คนถูกประหารชีวิตจากข้อหาต่อต้านรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง ของ เจียง ไคเชก

แต่ในขณะเดียวกัน ชาวไต้หวันบางส่วนก็มองว่า เจียง ไคเชก ก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเจริญรุ่งเรืองของไต้หวัน อีกทั้งยังเป็นผู้วางรากฐานระบบการเมืองที่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์ในปัจจุบัน 

ดังนั้น เกียรติยศของ เจียง ไคเชก จึงเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ในมุมมองของกลุ่มอนุรักษ์นิยม มองว่าเรื่องราวที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติ ที่ชาวไต้หวันไม่สามารถเลือกที่จะลบทิ้งด้านใด ด้านหนึ่งได้ แต่ในส่วนของฝ่ายเสรีนิยมก็มองว่า ไต้หวันก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นั้นมานานแล้ว และสัญลักษณ์ของการบูชาเผด็จการอำนาจนิยม ก็ไม่ควรเป็นมรดกที่สืบทอดให้กับคนรุ่นลูก 

แต่เมื่อวันนี้ฝ่ายรัฐบาลไม่ใช่พรรคก๊กมินตั๋ง การรื้อถอนอนุสาวรีย์ เจียง ไคเชก จึงต้องดำเนินต่อไป เพราะเชื่อว่าไต้หวันยุคใหม่ควรก้าวไปข้างหน้าบนพื้นฐานอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องทิ้ง เจียง ไคเชก อดีตผู้นำเผด็จการทหารผู้ที่เคยสร้างชาติไว้ข้างหลัง 

‘กรีซ’ อ่วม!! เมฆฝุ่นจากทะเลทรายซาฮาราพัดถล่ม ‘เอเธนส์’ ทำทั้งเมืองกลายเป็น ‘สีส้ม’ แถมทิวทัศน์มองเห็นไม่ชัดเจน

(24 เม.ย.67) กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ถูกหมอกสีส้มปกคลุมทั่วทั้งเมือง เนื่องจากเมฆฝุ่นที่ลอยมาจากทะเลทรายซาฮารา ซึ่งปรากฏการณ์นี้ถือเป็นหนึ่งในสภาพอากาศที่แย่ที่สุด ที่ส่งผลกระทบต่อกรีซ นับตั้งแต่ปี 2561

ทั้งนี้ สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า กรีซประสบกับสภาพอากาศย่ำแย่ โดยมีเมฆสีที่คล้ายกันนี้ปกคลุมเมืองตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค. จนถึงต้นเดือนเม.ย. อีกทั้งยังครอบคลุมไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของสวิตเซอร์แลนด์ และทางตอนใต้ของฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม กรีซมีคุณภาพอากาศย่ำแย่ลงในหลายพื้นที่ และในช่วงเช้าที่ผ่านมาทิวทัศน์ในกรุงเอเธนส์ก็ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนอีกต่อไป เนื่องจากมีฝุ่นหนา และชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะทางตอนใต้ของกรีซมีความอบอ้าว เนื่องจากเผชิญทั้งฝุ่น และสภาพอากาศร้อน

ด้านรัฐบาลขอให้ประชาชนใช้เวลาข้างนอกอย่างจำกัด สวมใส่หน้ากากป้องกัน และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายจนกว่าเมฆฝุ่นจะสลายไป

อย่างไรก็ดี กรมอุตุนิยมวิทยากรีซ คาดว่า ท้องฟ้าจะปลอดโปร่งในวันพุธ

ทั้งนี้ ทะเลทรายซาฮารามักปล่อยฝุ่นแร่สู่ชั้นบรรยากาศ 60-200 ล้านตันต่อปี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top