บทสรุปราคาน้ำมันอาเซียน ใต้ ‘อุณหภูมิโลก-ตะวันออกกลาง’ เดือด ราคาเบนซินไทยเกาะกลุ่มกลางตาราง ส่วนดีเซลราคายังรั้งท้าย

เดือดปุดทั้งอาเซียน สมกับเป็นหน้าร้อนจริง ๆ เมื่อราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเร็วและแรงไปทั่วโลก จากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ผสานเข้ากับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่พุ่งไม่แพ้กัน จากโลกที่ร้อนเข้าขั้นเดือด เพราะดวงอาทิตย์มาอยู่แถวนี้พอดี ซึ่งโดยรวม ๆ แล้วทั้งโลก และหมายรวมถึงอาเซียนบ้านเรา ก็คงได้รับผลกระทบจากราคาที่ปรับขึ้นนี้ไปตาม ๆ กัน

ว่าแล้ว วันนี้เลยขอถือโอกาสมาเช็กราคาน้ำมันเชิงเปรียบเทียบ เอาแค่ในประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนดูกันสักเล็กน้อย ว่า ณ ตอนนี้ ที่ไหน ถูก- แพง กันบ้าง? เผื่อคนไทยเราจะสบายใจกันขึ้นเล็ก ๆ

อย่างไรก็ตาม อยากให้เข้าใจก่อนว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันถูกหรือแพงนั้น จะขึ้นอยู่กับ…

1. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประเทศไหนสามารถผลิตเองได้ ก็นับว่าโชคดีไป ที่บรรพบุรุษหามาให้เป็นทรัพย์สมบัติ
2. ค่าขนส่งน้ำมัน ถ้าประเทศที่ต้องนำเข้าคงไม่ต่างกันมากนัก แต่ประเทศที่ผลิตเองได้ ก็จะทำให้ค่าขนส่งถูกลง
3. ประเทศที่มีโรงกลั่นน้ำมันเอง ซึ่งในอาเซียน มีอยู่ 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, ไทย, มาเลเซีย และ เวียดนาม 
4. ภาษีต่าง ๆ ที่ในแต่ละประเทศเรียกเก็บ

ทั้งนี้ หากในส่วนของอาเซียน ก็มีประเทศที่สามารถขุดน้ำมันมาใช้เองได้ โดยแทบไม่ต้องนำเข้าด้วย ได้แก่... 
1. มาเลเซีย
2. บรูไน
3. อินโดนีเซีย

ส่วน ประเทศไทย และ เวียดนาม ผลิตใช้เองได้เล็กน้อย คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของปริมาณความต้องการเท่านั้น

คราวนี้ ก็ได้เวลาพามาดูราคาน้ำมันสำเร็จรูป ในกลุ่มอาเซียน ที่รายงานอยู่บนเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 พบว่า…

>> ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ในสิงคโปร์ แพงที่สุด คือ 80.29 บาทต่อลิตร ตามมาด้วย ลาว 57.57 บาทต่อลิตร, กัมพูชา 48.33 บาทต่อลิตร, เมียนมา 43.32 บาทต่อลิตร, ไทย 40.35 บาทต่อลิตร, ฟิลิปปินส์ 40.23 บาทต่อลิตร, เวียดนาม 36.61 บาทต่อลิตร, อินโดนีเซีย 33.23 บาทต่อลิตร, มาเลเซีย 15.79 บาทต่อลิตร และ บรูไน 14.33 บาทต่อลิตร

>> ส่วนราคาน้ำมันดีเซล แพงสุดก็ยังเป็น สิงคโปร์ 72.99 บาทต่อลิตร, กัมพูชา 45.59 บาทต่อลิตร, เมียนมา 43.32 บาทต่อลิตร, ลาว 36.62 บาทต่อลิตร, ฟิลิปปินส์ 36.61 บาทต่อลิตร, อินโดนีเซีย 35.85 บาทต่อลิตร, เวียดนาม 31.11 บาทต่อลิตร, ไทย 30.94 บาทต่อลิตร, มาเลเซีย 16.56 บาทต่อลิตร และ บรูไน 8.38 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ ต้องบอกให้ทราบกันก่อนว่า ราคาจากประเทศที่มีเห็นว่าน้ำมันถูกนั้น ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลแต่ละประเทศจะมีการอุดหนุนทั้งสิ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซียและบรูไน ที่แม้จะเป็นประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันใช้เองได้ก็ตาม

แต่จากภาวะสงครามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้แต่ละประเทศเริ่มอุ้มไม่ไหวแล้ว จะเริ่มลอยตัวราคาน้ำมันตามกลไกตลาดกันแล้ว เพราะการอุ้มนาน ๆ จะทำให้เศรษฐกิจส่วนอื่นไม่รู้ต้นทุนจริง สุดท้ายประเทศจะไม่มีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

อย่างเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายราฟิซี รามลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจมาเลเซีย ก็ได้ออกมาระบุว่า มาเลเซียเตรียม ‘ลดการอุดหนุน’ ราคาน้ำมันเบนซินในปีนี้ เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งสาเหตุที่รัฐบาลมาเลเซีย เตรียมลดการอุ้มราคาน้ำมันนั้น เป็นเพราะผลจากการอุ้ม ทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณประเทศที่มีตัวเลขพุ่งไปแตะ 5% ของ GDP ในปี 2566 จนกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน และไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลให้สกุลเงินริงกิตของมาเลเซียใกล้แตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปี ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินในเอเชียเมื่อปี 2541 อีกด้วย

ดังนั้น รัฐบาลมาเลเซีย จึงตั้งเป้าหมายในปีนี้ว่า จะลดภาวะขาดดุลงบประมาณจาก 5% ของ GDP ลงเหลือ 4.3% ของ GDP โดยเริ่มจากลดการอุดหนุนน้ำมันเบนซิน RON95 ซึ่งเป็นประเภทเบนซินราคาถูกที่สุด และชาวมาเลเซียใช้มากที่สุดด้วย โดยในปีที่แล้วรัฐบาลใช้งบประมาณไปกับการอุดหนุนเหล่านี้มากถึง 81,000 ล้านริงกิต หรือราว 622,000 ล้านบาท

*** ขนาดประเทศที่ผลิตน้ำมันใช้ได้เองอย่างมาเลเซียยังวิกฤต ก็เลยไม่อยากให้คิดว่าเมืองไทยไม่ทำอะไร ปล่อยแพงเอา ๆ

เพราะถ้าลองหันกลับมาดูประเทศไทยเราดี ๆ จะพบว่าราคาน้ำมันของไทย อยู่ในระดับกลาง ๆ ค่อนไปทางราคาถูกด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล เพราะมีการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้าไปอุ้มอยู่ แต่ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป หรืออุ้มน้ำมันดีเซลนาน ๆ ประเทศก็จะสูญเสียการแข่งขันเช่นกัน 

เนื่องจากตอนนี้ กองทุนน้ำมันบ้านเรา ได้เข้าอุ้มน้ำมันดีเซลอย่างเดียวก็ร่วม 60,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งถ้าจะให้พูดเชิงสำนึกกันสักหน่อย ก็น่าจะหมายถึงว่า “เวลาที่ภาคประชาชนต้องช่วยกันประหยัดน้ำมันกัน มันมาถึงแล้ว” เพราะต้องตระหนักรู้ด้วยว่า ประชาชนทุกคนที่ไม่ได้ใช้น้ำมันดีเซลก็มีเยอะ และเขาก็ต้องมาช่วยอุ้มน้ำมันดีเซลด้วยเช่นกันในตอนนี้

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกสาเหตุที่ประเทศไทย ราคาน้ำมันไม่แพงพุ่งกระฉูด เพราะเรามีโรงกลั่นน้ำมันของเราเอง อยู่ที่จังหวัดระยอง, ชลบุรี และกรุงเทพฯ ที่มีความสามารถในการกลั่นเองมาใช้เองภายในประเทศได้หมด แถมส่งออกได้อีกต่างหาก เรียกว่าประเทศไทยแทบไม่ต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป แต่ทว่าก็ยังต้องนำเข้าน้ำมันดิบอยู่

อีกเรื่องที่จะมองข้ามไม่ได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ราคาน้ำมันพุ่งหรือไม่ คือ สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง อันมีจุดเริ่มต้นจาก ‘อิสราเอล’ กับ ‘กลุ่มฮามาส’ ที่กำลังลุกลามยกระดับไปเป็น ‘อิสราเอล’ กับ ‘อิหร่าน’ แล้วนั่นเอง!!

ทำไมต้องจับตามอง? เพราะนอกจากจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบพุ่งแล้ว โดยภูมิศาสตร์ภูมิภาคแถบนั้น การขนส่งน้ำมัน 30 %ของโลกต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ของอิหร่านทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าเกิดสงครามลุกลามขึ้นมา แล้วอิหร่านคิดจะกดดันด้วยการปิดช่องแคบฮอร์มุซแบบเบ็ดเสร็จ ก็ต้องมีการขนอ้อมไปทางอื่น ซึ่งจะทำให้ค่าขนส่งพุ่งกระฉูดอีกทางหนึ่ง เมื่อถึงตอนนั้นคงไม่ต้องคิดว่าคนไทยและชาวโลกจะเดือดร้อนขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม เห็นข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กำลังเร่งจัดทำระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SPR เพื่อสำรองน้ำมัน เตรียมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งจะทำให้ราคาในประเทศไม่ผันผวนตามตลาดโลกแม้มีภาวะสงคราม ซึ่งเรื่องนี้อยากให้ได้รับความสนใจจากทุกหน้าสื่อสักหน่อย 

ส่วน THE STATES TIMES เองก็สนใจเรื่องนี้พอสมควร ไว้ขอไปศึกษาและคราวหน้าจะเอารายละเอียดมาฝาก...

เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES