Tuesday, 6 May 2025
WeeklyColumnist

‘Lauren Singer’ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ใช้ชีวิตแบบ ’ไม่ผลิตขยะ‘ มาแล้วกว่าสิบปี

ปัญหาขยะเป็นปัญหาโลกแตก ซึ่งแก้ได้ยากมาก ๆ แต่มีหญิงสาวชาว New York ผู้หนึ่งซึ่งใช้ชีวิตปลอดขยะ (Zero waste) มาแล้วกว่าสิบปี ทั้ง ๆ ที่เธออาศัยอยู่ในมหานครใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก

ทั้งนี้ ‘Zero Waste’ หรือ ‘แนวคิดขยะเป็นศูนย์’ เป็นแนวทางในการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะช่วยทำให้ขยะที่ต้องถูกนำไปกำจัดลดเหลือน้อยที่สุด หรือเป็นศูนย์ ด้วยส่วนหนึ่งของปัญหาขยะเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่บริโภคสินค้าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก โฟม ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม เมื่อขยะคือภาระของทุกคน จึงเป็นที่มาของการใช้ชีวิตแบบ ‘Zero Waste’ ซึ่งคือการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะไม่สร้างขยะใหม่ ๆ โดยพยายามไม่ให้มีอะไรหลงเหลือจนเป็นขยะได้ โดยยึดหลักง่าย ๆ อย่าง 1A3R ซึ่งประกอบด้วย

1A : Avoid การหลีกเลี่ยงใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดขยะเพิ่ม เช่น พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
R1 : Reduce การใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะให้น้อยลง เช่น การใช้ถุงผ้าไปช็อปปิ้งแทนการรับถุงพลาสติกจากร้านค้า
R2 : Reuse การนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น กล่องพัสดุที่ได้รับมา นำไปใส่ของส่งของต่อให้ผู้อื่น
R3 : Recycle การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น การ Recycle พลาสติก ให้ออกมาเป็นวัสดุตั้งต้นในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

(Lauren Singer ในร้าน Package Free ของเธอ)

อย่างไรก็ตาม Lauren Nicole Singer เกิดที่นคร New York มลรัฐ New York เมื่อ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1991 ปัจจุบันอายุ 33 ปี เรียนจบปริญญาตรี ด้านสิ่งแวดล้อมและรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย New York เมื่อปี ค.ศ. 2013 และจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Columbia จากนั้นได้ทำงานเป็นนักวิเคราะห์ด้านความยั่งยืนของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของนคร New York ก่อนที่จะออกมาก่อตั้งธุรกิจสีเขียว The Simply Co. และ Package Free เธอเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการอิสระ และบล็อกเกอร์ในการเคลื่อนไหวเพื่อไร้ขยะ โดยเธอเริ่มใช้ชีวิตแบบไร้ขยะมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ซึ่งเธอเป็นที่รู้จักจากการรวบรวมขยะทั้งหมดจากเว็บบล็อกที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 โดยเธอบดขยะในโถบดขนาด 16 ออนซ์ และบล็อกของเธอก็คือ ‘Trash is for Tossers’ (ขยะเป็นของไร้ค่า) ซึ่งให้คำแนะนำแก่ผู้อ่านในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนโดยปลอดขยะ พร้อมกับบันทึกวิถีชีวิตที่ปราศจากขยะ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อเลิกการฝังกลบขยะ และลดละเลิกผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

(น้ำยาซักผ้าออร์แกนิกและปลอดสารพิษ The Simply Co.)

Lauren Nicole Singer ได้ออกจากงานประจำในปี ค.ศ. 2014 และเปิดตัว The Simply Co. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล เช่น น้ำยาซักผ้าปลอดสารพิษออกสู่ตลาด น้ำยาซักผ้าออร์แกนิกของเธอได้รับการสนับสนุนจาก Kickstarter และจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ของ Kickstarter และที่ร้านค้าส่งทั่วสหรัฐอเมริกา เริ่มผลิตผลิตภัณฑ์พร้อม ๆ กัน The Simply Co. ในปี ค.ศ. 2017 เธอเปิด Package Free เป็นร้านแบบป๊อปอัพในเมือง Williamsburg และนับตั้งแต่เปิดตัว Package Free สามารถลดขยะจากการฝังกลบได้หลายร้อยล้านชิ้น ในปี ค.ศ. 2023 นอกจากนี้ เธอยังได้ร่วมก่อตั้ง Overall Capital โดยเธอบอกว่า Rachel Carson และ Bea Johnson ในฐานะนักเขียนและนักเคลื่อนไหวเป็น 2 แรงบันดาลใจให้สนใจเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และเธอยังได้รับการเสนอชื่อให้เป็น ‘สตรีที่น่าจับตามอง’ ของ Business Insider และ ‘หนึ่งในห้าสิบสตรีเปลี่ยนโลก’ ของ InStyle และ ‘ผู้เปลี่ยนแปลง ปี 2020’ ของ  Well + Good 

อย่างไรก็ตาม เรา ๆ ท่าน ๆ อาจจะคิดเองว่า แค่เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองง่าย ๆ อย่างการเริ่มต้นจากการใช้กล่องข้าว ขวดน้ำ ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ หรือแม้แต่ร้านค้าทางเลือกอย่าง Refill Station ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของการไม่ง้อบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยทุกคนนำภาชนะไม่ว่าจะเป็นขวดแก้วหรือขวดโหล มาเติมผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเองนำกลับไปใช้ที่บ้าน และการคัดแยกขยะจะช่วยอะไรได้มากมาย แต่ความจริงแล้วการแยกขยะก่อนทิ้งมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศ ขยะอันตรายจะได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีเพื่อลดปัญหาหรือมลพิษต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา ฉะนั้นหากทุกครอบครัวเริ่มต้นที่การคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัดให้มีปริมาณน้อยลง และเป็นการลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย

‘Operation Alpha’ ปฏิบัติการลับที่ดำเนินการโดย ‘อินโดนีเซีย’ เพียงหวังซื้อเครื่องบินรบ A-4 Skyhawk ของอิสราเอล


ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1980 ช่วงยุคสงครามเย็นที่มีความขัดแย้งระหว่างสองค่ายขั้ว นั่นก็คือ ค่ายประชาธิปไตย+เผด็จการ ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ผู้นำค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ อินโดนีเซียแม้จะเป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในขณะนั้นต้องเผชิญภัยคุกคามทั้งภายในโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ในติมอร์ตะวันออกและภายนอกประเทศที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความขาดแคลนเครื่องบินรบสมัยใหม่ตอนนั้นกองทัพอากาศอินโดนีเซียมีเพียงแต่เครื่องบินรบที่ล้าสมัยของสหรัฐฯ เช่น F-86 Saber และ T-33 T-Bird ที่เก่ามากแล้วและมีค่าใช้จ่ายมหาศาลในการปรนนิบัติบำรุงอันเนื่องจากอายุใช้งานที่ยาวนานและอะไหล่ซึ่งขาดแคลนเพราะสหรัฐฯ เลิกผลิตแล้ว รวมทั้งเครื่องบินรบไอพ่นที่จัดหามาจากสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1960 เช่น เครื่องบินรบแบบ MiG, Il-28 และ Tu-16 ซึ่งต้องจอดอยู่กับพื้นเนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านเทคนิคหลังจากประสบปัญหาความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ G30S* ตอนนั้นเองสหรัฐฯ ยินดีที่จะขายเครื่องบินไอพ่น F-5 E/F Tiger2 จำนวน 16 ลำให้กับกองทัพอากาศอินโดนีเซีย แต่เครื่องบินจำนวนนี้อินโดนีเซียเห็นว่ายังคงมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการรับมือกับภัยคุกคามของประเทศได้

*G30S : เหตุการณ์ความพยายามในการทำรัฐประหารโดยสมาชิกของกองทัพอินโดนีเซียและพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย และมีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา


(เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawk ของอิสราเอล)

หน่วยข่าวกรองของอินโดนีเซียได้รับข้อมูลว่า อิสราเอลยินดีที่จะขายเครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawk ที่ผ่านการใช้งานแล้วจำนวน 32 ลำให้กับอินโดนีเซีย แต่ข้อตกลงนี้มีปัญหาหลายประการ เริ่มตั้งแต่อินโดนีเซียและอิสราเอลไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารจากอิสราเอลยังเสี่ยงต่อการถูกประท้วงอย่างรุนแรงจากประชาชนชาวอินโดนีเซียซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นมุสลิม อย่างไรก็ตามกองทัพแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ABRI) ได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการต่อไปด้วยแผนการ ‘Operation Alpha’ โดยมี 2 ระยะคือ Operation Alpha I ในปี 1980 และ Operation Alpha II ในปี 1982 ทำให้อินโดนีเซียได้รับเครื่องบินโจมตี Douglas A-4 Skyhawk จำนวน 30 ลำ (14 ลำจากปฏิบัติการ Alpha I และ 16 ลำระหว่างปฏิบัติการ Alpha II) จากกองทัพอากาศอิสราเอล

(พล.อ.อ. Djoko Poerwoko หนึ่งนักบิน A-4 ที่ได้รับการฝึกจากอิสราเอล)

สำหรับปฏิบัติการ Alpha ดังกล่าวนอกจากเครื่องบิน 30 ลำแล้ว ยังรวมไปถึงการฝึกนักบินชาวอินโดนีเซีย โดยครูการบินชาวอิสราเอล และมีการแปลงโฉมเครื่องบินระหว่างการขนส่งจากอิสราเอลไปยังอินโดนีเซีย โดย พล.อ.อ. Djoko Poerwoko อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศอินโดนีเซียหนึ่งในนักบิน A-4 ที่ได้รับการฝึกจากอิสราเอลเล่าว่า ปฏิบัติการ Alpha เป็นปฏิบัติการลับที่ใหญ่ที่สุดที่ดำเนินการโดยกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย (Angkatan Bersenjata Republik Indonesia : ABRI) ก่อนที่จะส่งนักบินไปฝึกที่อิสราเอล รัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งช่างเทคนิคของกองทัพอากาศจำนวนหนึ่งซึ่งแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มไปฝึกในอิสราเอลเป็นเวลา 20 เดือน ในปี 1979 หลังจากช่างเทคนิคกลุ่มสุดท้ายเสร็จสิ้นภารกิจในการฝึกอบรมแล้ว นักบินอินโดนีเซีย 10 นายได้รับแจ้งว่าจะถูกส่งไปฝึกอบรมที่สหรัฐอเมริกา แต่กลับถูกส่งให้เดินทางไปยังอิสราเอลในเดือนกันยายน 1980 โดยพวกเขาออกเดินทางด้วยเที่ยวบิน Garuda ไปยังสิงคโปร์ หลังจากเครื่องลงจอดในสิงคโปร์ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของ ABRI หลายนายก็ได้มาพบกับพวกเขาระหว่างรับประทานอาหารเย็น เจ้าหน้าที่ได้ขอเก็บหนังสือเดินทางและแทนที่ด้วยหนังสือเดินทางพิเศษ ‘Travel Document in Lieu of a Passport (SPLP)’


(พลตรี Leonardus Benyamin Moerdani) 

ตอนนั้นเองพลตรี Leonardus Benyamin Moerdani ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองของ ABRI (ต่อมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซียและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินโดนีเซีย) ก็มาพบนักบินทั้งสิบและได้บรรยายสรุปว่า “ภารกิจนี้เป็นภารกิจลับ หากพวกคุณรู้สึกไม่มั่นใจก็อนุญาตให้ถอนตัวกลับบ้านไปได้ เพราะหากภารกิจนี้ล้มเหลว ประเทศจะไม่ยอมรับว่าพวกคุณเป็นพลเมืองอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม เราจะพยายามดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อนำพวกคุณกลับบ้าน ภารกิจนี้จะถือว่าสำเร็จหาก A-4 Skyhawk (ชื่อรหัส 'Merpati') ไปถึงอินโดนีเซียแล้ว” ซึ่งนักบินทั้ง 10 นายจึงทราบว่า ภารกิจของพวกเขาจะเกิดขึ้นในอิสราเอล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการซื้อเครื่องบินรบจากอิสราเอล และในคืนเดียวกันนั้นนักบินทั้ง 10 คนได้ใช้ตัวตนใหม่ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นพลเมืองของอินโดนีเซีย จากนั้นพวกเขาก็บินไปที่แฟรงก์เฟิร์ต และเดินทางต่อไปสนามบินเบนกูเรียนในกรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล และเมื่อมาถึงอิสราเอล พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสนามบินพาตัวออกไปที่ชั้นใต้ดินอย่างรวดเร็ว ซึ่งพวกเขาได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของ ABRI


(นักบินอินโดนีเซียทั้งสิบนาย)

ทั้งนี้ นักบินทั้ง 10 ได้รับการบรรยายสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับเรื่องทั่วไปที่ต้องพิจารณาขณะอยู่ในอิสราเอล พวกเขาได้รับการสอนให้จำประโยคภาษาฮีบรูที่จำเป็นสองสามประโยค หลังจากการบรรยายสรุปพวกเขาก็เดินทางต่อทางบกไปทางใต้เลียบทะเลเดดซีไปยังฐานทัพอากาศ Etzion ซึ่งพวกเขาเรียกว่า ‘Arizona’ เนื่องจากการฝึกอย่างเป็นทางการนั้นนักบินเหล่านี้จะต้องถูกส่งไปฝึกในมลรัฐ Arizona ณ ฐานทัพอากาศ Etzion พวกเขาได้ฝึกบินกับเครื่องบิน A-4 Skyhawks ด้วยเทคนิคและยุทธวิธีมากมาย หรือแม้แต่การฝึกบินเจาะทะลุผ่านชายแดนซีเรีย ซึ่งการฝึกบินสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 4 เดือน ในวันที่ 20 พฤษภาคม 1980 นักบินทั้ง 10 คนสำเร็จการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรนักบินรบ A-4 ของอิสราเอล อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของ ABRI ที่ตามมาด้วยได้รวบรวมและเผาทำลายประกาศนียบัตรเหล่านั้นต่อหน้านักบิน เพื่อให้ไม่มีหลักฐานของความร่วมมือทางทหารระหว่างอินโดนีเซียและอิสราเอลปรากฎ


(ฐานบินนาวิกโยธินยูมาในมลรัฐแอริโซนา)

เพื่อให้เรื่องราวบังหน้าครบถ้วนอย่างสมบูรณ์ นักบินทั้ง 10 นายจึงถูกพาตัวไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างหลักฐาน เช่น รูปถ่าย ฯลฯ พวกเขามาถึงนิวยอร์กและเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น น้ำตกไนแอการา พวกเขาได้รับคำสั่งให้ถ่ายรูปหน้าสถานที่สำคัญของสหรัฐฯ ให้มากที่สุด จากนิวยอร์กพวกเขาถูกนำตัวไปที่ฐานบินนาวิกโยธิน Yuma ในมลรัฐแอริโซนา พวกเขาใช้เวลา 3 วันในฐานบินนาวิกโยธิน Yuma และได้รับการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องบินโจมตีแบบ A-4 ของหน่วยบัญชการนาวิกโยธินสหรัฐฯ (USMC) และถ่ายรูปเพิ่มเติม นอกจากนี้พวกเขายังได้รับประกาศนียบัตรนักบินรบ A-4 ของ USMC และได้ถ่ายภาพการรับประกาศนียบัตรอีกด้วย ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองของ ABRI ได้ย้ำเตือนนักบินว่า แท้จริงแล้วพวกเขาได้รับการฝึกฝนในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่อิสราเอล หลังจากนั้นพวกเขาก็บินไปสิงคโปร์แล้วกลับอินโดนีเซีย


(A-4 Skyhawk ถูกห่อด้วยพลาสติกและติดป้ายกำกับว่า 'F-5')

ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 1980 เครื่องบินลำเลียงแบบ C-5 Galaxy ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ลงจอดในฐานทัพอากาศ Iswahjudi พร้อมด้วยเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E/F Tiger II และในวันรุ่งขึ้น A-4 Skyhawks ชุดแรกของอิสราเอล ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินที่นั่งเดี่ยว 2 ลำ (หมายเลข TT-0401 และ TT-0414) และเครื่องบิน 2 ที่นั่ง 2 ลำ (หมายเลข TL-0415 และ TL-0416) ก็เดินทางมาถึงท่าเรือ Tanjung Priok ซึ่งเครื่องบินไอพ่นดังกล่าวถูกห่อหุ้มที่ฐานทัพอากาศ Etzion และขนส่งทางเรือโดยตรงจากอิสราเอล A-4 ถูกห่อด้วยพลาสติกและติดป้ายกำกับว่า 'F-5' เพื่อให้ดูเหมือนเป็นการจัดส่งจากสหรัฐฯ อีกรายการหนึ่ง หลังจากแกะออกจากห่อแล้วเครื่องบินทั้งหมดก็ได้รับการตรวจสอบและประกอบด้วยความช่วยเหลือจากช่างเทคนิคชาวอิสราเอล จากนั้นจึงบินไปยังฐานทัพอากาศฮาซานุดดินในมากัสซาร์ เพื่อเข้าประจำการในฝูงบินที่ 11 


(A-4 Skyhawk ฝูงบินที่ 11 ฐานทัพอากาศฮาซานุดดิน)

อย่างไรก็ตาม A-4 Skyhawks ยังคงมาถึงอินโดนีเซียเป็นระยะ ๆ โดยรวมแล้ว อินโดนีเซียได้รับเครื่องบิน A-4 Skyhawks 14 ลำ (+1 ลำเพื่อทดแทนที่ตก) จากอิสราเอลในปี 1980 และ A-4 จำนวน 16 ลำในปี 1982 รวมทั้งหมด 30 ลำ โดยส่วนใหญ่เป็นแบบ A-4E และส่วนที่เหลือเป็นรุ่นฝึก TA-4H และ TA-4J ซึ่งในปี 1997-1998 อินโดนีเซียได้ซื้อ TA-4J (2 ที่นั่ง) 2 เครื่องจากสหรัฐอเมริกา และได้รับการปรับปรุงในนิวซีแลนด์ ในปี 1981 อิสราเอลได้ส่ง A-4E 2 ลำ (ลำหนึ่งคือ TT-0417) เพื่อทดแทน A-4 ที่ตกในระหว่างการรับประกัน เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawks ของอินโดนีเซียได้ร่วมปฏิบัติการทางทหารหลายครั้งได้แก่ ปฏิบัติการโลตัส (1980-1999) ในติมอร์ตะวันออก ปฏิบัติการออสการ์ (1991-1992) ในสุลาเวสี และปฏิบัติการเรนคอง เตร์บัง (1991-1995) ในอาเจะห์ เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawks ของกองทัพอากาศอินโดนีเซียทั้งหมดถูกปลดระวางในปี 2005 และถูกนำไปตั้งแสดงอยู่ในฐานทัพอากาศและสถานที่ต่าง ๆ ทั่วอินโดนีเซีย

ย้อนอดีต!! ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ โรคระบาดที่ร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์ หลังมีผู้ติดเชื้อ 500 ล้านคนทั่วโลก และคร่าชีวิตไปกว่าหลายสิบล้านคน

จากการระบาดของไวรัส COVID-19 ไปทั่วโลก รวมถึงบ้านเราด้วย ซึ่งเป็นโรคระบาดที่ถือว่าหนักหนาสาหัสชนิดที่คนในยุคสมัยนี้ไม่เคยเจอะเคยเจอมาก่อน แต่ในอดีตเมื่อกว่าร้อยปีก่อนก็ได้มีการระบาดอย่างหนักของไข้หวัดใหญ่สเปน (The Spanish flu) ซึ่งเป็นหนึ่งในการระบาดของโรคที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ โดยไข้หวัดใหญ่สเปนถูกพบครั้งแรกในยุโรป สหรัฐอเมริกา และบางส่วนของทวีปเอเชีย ก่อนที่จะแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว อีกทั้งในขณะนั้นยังไม่มียาหรือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้ ประชาชนจึงได้รับคำสั่งให้สวมหน้ากาก รวมทั้งโรงเรียน โรงละคร และธุรกิจต่าง ๆ ก็ถูกปิดตาย และศพผู้เสียชีวิตถูกกองไว้ในห้องเก็บศพชั่วคราว ก่อนที่ไวรัสจะยุติระบาดไปทั่วโลก

สำหรับ ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ เป็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปี 1918 ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์เอ H1N1 เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 1918 ถึงเดือนเมษายน 1920 ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 500 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลกในขณะนั้น ซึ่งเกิดขึ้นถึง 4 ระลอกต่อเนื่องกัน โดยตัวเลขของผู้เสียชีวิตคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 20-50 ล้านคน (แต่การประมาณการจะเริ่มตั้งแต่ 17 ล้านคน ไปจนถึงสูงถึง 100 ล้านคน) ซึ่งมากกว่าทหารและพลเรือนทั้งหมดที่เสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมกันเสียอีก

การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนเกิดขึ้นในเกือบทุกพื้นที่ของโลก โดยอันดับแรกจะเกิดตามท่าเรือ จากนั้นก็จะแพร่กระจายจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองตามเส้นทางคมนาคมหลัก อย่างในอินเดีย คาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12.5 ล้านคน ในระหว่างการแพร่ระบาด และโรคนี้ก็ได้แพร่กระจายไปถึงหมู่เกาะห่างไกลในแปซิฟิกใต้ รวมถึงนิวซีแลนด์และซามัว ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตประมาณ 550,000 - 675,000 คน ซึ่งการเสียชีวิตส่วนใหญ่ในทั่วโลกเกิดขึ้นในช่วงระลอกที่ 2 และ 3 มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนเกิดขึ้นอีกในปี 1920 แต่ความรุนแรงลดลง

อย่างไรก็ตาม…แล้วไข้หวัดใหญ่สเปนเกิดจากอะไร? ซึ่งการระบาดเริ่มขึ้นในปี 1918 ในช่วงเดือนสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งปัจจุบันนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ความขัดแย้งอาจมีส่วนทำให้ไวรัส H1N1 แพร่กระจาย ในแนวรบด้านตะวันตกทหารที่ทำการรบนั้นอยู่ในสภาพคับแคบสกปรกและอับชื้นจนทหารเริ่มป่วย อันเป็นผลโดยตรงจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากการขาดสารอาหาร ความเจ็บป่วยของพวกเขา ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘la grippe’ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อ และแพร่กระจายไปตามลำดับภายในเวลาประมาณ 3 วัน หลังจากที่ป่วยทหารหลายคนจะเริ่มรู้สึกดีขึ้น แต่ก็่ใช่ว่าจะเป็นในทหารทั้งหมด ในช่วงฤดูร้อนปี 1918 เมื่อทหารเริ่มลากลับบ้าน พวกเขาได้นำไวรัสที่ตรวจไม่พบซึ่งทำให้พวกเขาป่วยไปด้วย ไวรัสจึงแพร่กระจายไปทั่วเมืองและหมู่บ้านในประเทศบ้านเกิดของทหาร ผู้ติดเชื้อจำนวนมากทั้งทหารและพลเรือนไม่สามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว 

ต่อมาในปี 2014 มีทฤษฎีใหม่ (ยังเป็นข้อสันนิษฐาน) เกี่ยวกับ ‘ต้นกำเนิด’ ของไวรัส ชี้ให้เห็นว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน โดย National Geographic รายงานว่า บันทึกที่ยังไม่ได้ค้นพบก่อนหน้านี้ได้เชื่อมโยงไข้หวัดกับการขนส่งแรงงานกรรมกรจีน ผ่านแคนาดาในปี 1917 และ 1918 คนงานส่วนใหญ่เป็นคนงานในฟาร์มจากพื้นที่ห่างไกลในเขตชนบทของจีนตามหนังสือ ‘The Last Plague’ ของ Mark Humphries (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยโตรอนโต 2013) พวกเขาต้องอยู่กันอย่างแออัดในตู้คอนเทนเนอร์รถไฟที่ปิดสนิทเพื่อขนส่งข้ามประเทศเป็นเวลา 6 วัน ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังฝรั่งเศส ซึ่งที่นั่นพวกเขาต้องขุดสนามเพลาะ วางรางรถไฟ สร้างถนน และซ่อมแซมรถถังที่เสียหาย โดยรวมแล้วมีการระดมคนงานมากกว่า 90,000 คน ไปยังแนวรบด้านตะวันตก โดย Mark Humphries อธิบายว่าส่วนหนึ่งในจำนวนคนงานชาวจีน 25,000 คน ในปี 1918 ประมาณ 3,000 คนต้องยุติการเดินทางในเขตกักกันทางการแพทย์ของแคนาดา ในขณะนั้นเนื่องจากการเหยียดผิว ความเจ็บป่วยของพวกเขาถูกระบุโดยตำหนิว่าเป็น ‘โรคขี้เกียจของจีน’ และแพทย์ชาวแคนาดาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาการของคนงาน เมื่อถึงเวลาที่คนงานมาถึงทางตอนเหนือของฝรั่งเศสในช่วงต้นปี 1918 หลายคนเริ่มป่วยและอีกหลายร้อยคนกำลังจะตายในไม่ช้า 

ทั้งนี้ สำหรับที่มาของชื่อ ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ ซึ่งถูกเรียกชื่อผิด ๆ โดยสเปนเป็นประเทศเป็นกลางในสงครามโลกครั้งที่ 1 และไม่เหมือนกับเพื่อนบ้านในยุโรป แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้มีการเซ็นเซอร์ตรวจสอบสื่อในช่วงสงคราม โดยในฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา หนังสือพิมพ์ไม่ได้รับอนุญาตให้รายงานสิ่งใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อการทำสงคราม รวมถึงข่าวว่า ไวรัสที่ทำให้คนป่วยหนักกำลังระบาดไปทั่วกองทหาร เนื่องจากนักข่าวชาวสเปนเป็นเพียงคนเดียวที่รายงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1918 การระบาดจึงกลายเป็นที่รู้จักในชื่อของ ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ (The Spanish flu)

>> สำหรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนในยุคนั้น มี 4 ระลอก ดังนี้… 

- การระบาดระลอกที่ 1 ของการระบาดใหญ่เกิดขึ้นในปี 1918 ในฤดูใบไม้ผลิและโดยทั่วไปยังระบาดไม่รุนแรง ผู้ป่วยที่มีอาการเช่น ไข้หวัดทั่วไป คือ หนาวสั่น มีไข้ และอ่อนเพลีย มักจะหายเป็นปกติหลังจากผ่านไปไม่กี่วัน และจำนวนผู้เสียชีวิตที่รายงานอยู่ในระดับต่ำ และค่อนข้างไม่รุนแรง กินเวลาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 1918 โดยอัตราการเสียชีวิตไม่ได้สูงกว่าปกติ ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีรายงานการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัดใหญ่ถึง 75,000 ราย ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 1918 เทียบกับการเสียชีวิตประมาณ 63,000 ราย ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 1915 และในกรุงมาดริด ประเทศสเปน มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่น้อยกว่า 1,000 คน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 1918 ไม่มีรายงานการกักกันในช่วงไตรมาสแรกของปี 1918 อย่างไรก็ตาม คลื่นลูกแรกทำให้การปฏิบัติการทางทหารของสงครามโลกครั้งที่ 1 หยุดชะงักอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีทหารฝรั่งเศส 3 ใน 4 กองกำลังอังกฤษครึ่งหนึ่งและทหารเยอรมันกว่า 900,000 คนป่วย 

- การระบาดระลอกที่ 2 ของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนได้ปรากฏขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงของปีเดียวกันนั้น เหยื่อเสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันหลังจากเกิดอาการ ผิวหนังของผู้ติดเชื้อเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน และปอดเต็มไปด้วยของเหลวที่ทำให้หายใจไม่ออก เริ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนสิงหาคม 1918 อาจแพร่กระจายไปยังเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา และเมืองฟรีทาวน์ ประเทศเซียร์ราลีโอนโดยทางเรือ ซึ่งน่าจะมาถึงพร้อมกับกองทหารอเมริกันจากท่าของกองทัพเรือที่เมืองบอสตัน และค่ายเดเวนส์ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นป้อมเดเวนส์) ห่างจากเมืองบอสตันไปทางตะวันตกประมาณ 30 ไมล์ สถานที่ทางทหารอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ต่างได้รับผลกระทบในไม่ช้า ขณะที่กองกำลังทหารสหรัฐฯ ถูกส่งไปยุโรป ทำให้เกิดการแพร่กระจายไปทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือในอีก 2 เดือนต่อมา จากนั้นไปยังอเมริกากลาง และอเมริกาใต้รวมถึงบราซิลและแคริบเบียน ในเดือนกรกฎาคม 1918 จักรวรรดิออตโตมันพบผู้ป่วยรายแรกในทหารบางนายจากเมืองฟรีทาวน์ การระบาดของโรคยังคงแพร่กระจายไปทั่วแอฟริกาตะวันตกตามชายฝั่งแม่น้ำและทางรถไฟในอาณานิคม และโดยรถไฟไปยังชุมชนห่างไกลมากขึ้น ในขณะที่แอฟริกาใต้ได้พบการระบาดในเดือนกันยายนจากเรือที่แรงงานพื้นเมืองของแอฟริกาใต้กลับมาจากฝรั่งเศส จากนั้นแพร่กระจายไปทั่วแอฟริกาตอนใต้และเลยจาก Zambezi ไปถึงเอธิโอเปียในเดือนพฤศจิกายน เมื่อวันที่ 15 กันยายน นครนิวยอร์กพบผู้เสียชีวิตครั้งแรกจากโรคไข้หวัดใหญ่สเปน ขบวน Philadelphia Liberty Loans Parade ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฟิลาเดลเฟีย มลรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 28 กันยายน 1918 เพื่อส่งเสริมพันธบัตรรัฐบาลสนับสนุนการทำสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 12,000 คน หลังจากการระบาดครั้งใหญ่ของโรคที่แพร่กระจายไปในหมู่ผู้คนที่เข้าร่วมขบวนพาเหรด เพียงปีเดียวคือปี 1918 ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของชาวอเมริกันถึงกับลดลงไปหลายสิบปี

- การระบาดระลอกที่ 3 เกิดขึ้นในฤดูหนาว (เดือนมกราคม พ.ศ. 2462) ถัดมาและเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิไวรัสก็เริ่มระบาด ไข้หวัดใหญ่สเปนก็ระบาดถึงออสเตรเลีย ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปราว 12,000 คน หลังจากการยกเลิกการกักกันทางทะเล จากนั้นก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอยู่ตลอดฤดูใบไม้ผลิและจนถึงเดือนมิถุนายน 1919 ส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อสเปน เซอร์เบีย เม็กซิโก และสหราชอาณาจักร ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน แม้จะรุนแรงน้อยกว่าระลอกที่ 2 แต่ก็ยังร้ายแรงกว่าระลอกแรก และในสหรัฐอเมริกามีการระบาดในบางเมือง อย่างเช่น ลอสแองเจลิส นิวยอร์กซิตี้ เมมฟิส แนชวิลล์ ซานฟรานซิสโก และเซนต์หลุยส์ ซึ่งอัตราการเสียชีวิตโดยรวมของชาวอเมริกันอยู่ในระดับหมื่นคนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 1919 ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตอยู่ในกลุ่มคนอายุ 20 - 40 ปี ซึ่งเป็นรูปแบบอายุการตายที่ผิดปกติของไข้หวัดใหญ่

- การระบาดระลอกที่ 4 เกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี 1920 นิวยอร์กซิตี้ สวิตเซอร์แลนด์ สแกนดิเนเวีย และหมู่เกาะในอเมริกาใต้ เมืองนิวยอร์กเพียงแห่งเดียวมีรายงานผู้เสียชีวิต 6,374 คน ระหว่างเดือนธันวาคม 1919 ถึงเดือนเมษายน 1920 ซึ่งเป็นจำนวนเกือบสองเท่าของระลอกแรกในฤดูใบไม้ผลิปี 1918 เมืองอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้ง ดีทรอยต์ มิลวอกี แคนซัสซิตี มินนีแอโพลิส และเซนต์หลุยส์ มีการระบาดอย่างหนัก โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าทั้งหมดของปี 1918 เปรูประสบพบเจอในช่วงต้นปี 1920 และญี่ปุ่นในช่วงปลายปี 1919 ถึง 1920 โดยกรณีสุดท้ายในเดือนมีนาคม ในยุโรปห้าประเทศ (สเปน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์) มีการบันทึกจุดสูงสุดอยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคม - เมษายน 1920

ด้วยในยุคนั้นเมื่อกว่าร้อยปีก่อน วิทยาการทางการแพทย์ยังไม่เจริญเท่าปัจจุบัน จำนวนผู้เสียชีวิตจึงถึงสูงมาก ด้วยจำนวนประชากรในโลกขณะนั้นไม่ถึงสองพันล้านคน แต่หลักการป้องกันยังคงแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนเช่น การสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง การรักษาความสะอาด ฯลฯ จากบทเรียนหลักในอดีต ‘มาตรการใด ๆ’ ก่อนที่จะเกิดการระบาดซึ่งถูกอธิบายว่า "เกินจริง แต่ในภายหลังมักจะกลายเป็นว่า ไม่เพียงพอ" ศาสตราจารย์ Jaume Claret Miranda ภาควิชา Arts and Humanities มหาวิทยาลัย Oberta de Catalunya กล่าว

ในขณะนี้วัคซีน mRNA ที่ใช้ฉีดป้องกันไวรัส COVID-19  กำลังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมากในวงกว้างว่า การรับวัคซีน mRNA นั้นมีความคุ้มหรือไม่? ด้วยเพราะปรากฏว่า มีผู้ที่รับวัคซีน mRNA จำนวนหนึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพ มีความผิดปกติในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ หลังจากที่รับวัคซีน mRNA แล้ว โดยอาการจากผลข้างเคียงที่พบจากผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA ได้แก่ การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) หรือ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) ซึ่งพบเจอบ่อยมาก มีการค้นพบครั้งแรกในประเทศอิสราเอล เพราะเป็นประเทศที่ประชาชนได้รับวัคซีน mRNA ค่อนข้างมาก ดังนั้นหากพบว่า มีอาการผิดปกติในร่างกายหลังจากรับวัคซีน mRNA ควรไปพบแพทย์ หรือดื่มน้ำรางจืด (จากการต้มใบรางจืด) ด้วยน้ำรางจืดมีฤทธิ์ในการขับพิษและของเสียออกจาร่างกาย ควรดื่มตอนเช้าก่อนรับประทานอาหารและยาต่อเนื่องกันสัก 2 - 4 สัปดาห์ จะสามารถช่วยขับพิษที่ทำให้ร่างกายมีความผิดปกติและช่วยลดอาการผิดปกติในร่างกายได้ในระดับหนึ่ง

เปิดเรื่องราว ‘Vlora’ เรือมนุษย์ที่บรรทุกผู้อพยพมากสุดในโลก หลังชาวแอลเบเนียทำการบุกจี้ยึดเรือ เพื่ออพยพหลบหนีออกประเทศ

เมื่อถึงวันที่ 30 เมษายน ผู้เขียนมักจะนึกย้อนไปถึงปี 1975 ด้วยวันนี้เป็นวันจบสิ้นลงของประเทศสาธารณรัฐเวียตนาม หรือ เวียตนามใต้ (The Republic of Vietnam) คำว่า “เวียตนาม” ในยุคสมัยที่ยังมีเวียตนามใต้ คนไทยใช้ ‘ต’ สะกด แต่ปัจจุบัน ใช้ ‘ด’ สะกด (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน) การสิ้นสุดของสาธารณรัฐเวียตนามทำให้ชาวอดีตเวียตนามใต้พากันอพยพหลบหนีออกนอกประเทศ และวิธีการที่ใช้ในการหลบหนีมากที่สุดคือทางเรือ อันเป็นที่มาของ ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’  (Vietnamese Boat People) ทั้งนี้ สามารถตามอ่านได้ที่ https://thestatestimes.com/post/2021050108

(การรื้อทำลายอนุสาวรีย์ Lenin ที่แอลเบเนียในปี 1991)

การสิ้นสุดลงของประเทศสหภาพโซเวียต ผู้นำค่ายคอมมิวนิสต์ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ส่งผลให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในแอลเบเนียล่มสลาย และลุกลามไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศกลายเป็นความถดถอยจนครั้งใหญ่ เกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ท่ามกลางความไม่สงบทางการเมืองและสังคมที่กระจายไปทั่วประเทศกระตุ้นให้ชาวแอลเบเนียจำนวนมากพยายามออกจากประเทศ โดยก่อนหน้านี้ชาวแอลเบเนียจำนวนมากหนีไปทางตอนใต้เพื่อไปกรีซ ในขณะที่ชาวสลาฟชาติพันธุ์บางกลุ่มพยายามข้ามไปยังเพื่อนบ้านทางตอนเหนือของยูโกสลาเวีย ในกรุงติรานา สถานทูตต่างประเทศถูกชาวแอลเบเนียจำนวนมากพยายามบุกเข้าไป ภายหลังจากมีข่าวลือแพร่สะพัดเกี่ยวกับการให้วีซ่าชาวแอลเบเนียกว่า 3,000 คน สามารถเข้าไปในบริเวณสถานทูตเยอรมันได้ ในขณะที่บางคนเข้าไปในบริเวณสถานทูตเชโกสโลวาเกียได้สำเร็จ ในที่สุดชาวแอลเบเนียในสถานทูตเยอรมันก็ได้รับอนุญาตให้อพยพไปยังเยอรมนีผ่านทางอิตาลีได้

เส้นทางเรือที่ผู้อพยพชาวแอลเบเนียใช้ข้ามช่องแคบโอตรันโตไปยังอิตาลี

ในขณะที่ผู้อพยพชาวแอลเบเนียจำนวนมากตัดสินใจเลือกอิตาลีเป็นจุดหมายปลายทาง ด้วยความอิตาลีอยู่ห่างออกไปไม่ถึงร้อยไมล์ โดยข้ามช่องแคบโอตรันโต จากโฆษณาทางโทรทัศน์ที่การแสดงความมั่งคั่งเกินจริงในอิตาลีที่ชาวแอลเบเนียได้ชมเป็นแรงบันดาลใจอันหนึ่งให้กับตัวเลือกนี้ในช่วงต้นปี 1991 มีความพยายามในการข้ามช่องแคบโอตรันโตหลายครั้ง โดยผู้ลี้ภัยชาวแอลเบเนียหลายร้อยหรือหลายพันคนได้จี้บังคับเรือต่าง ๆ ตั้งแต่เรือบรรทุกสินค้าของโรมาเนียไปจนถึงเรือลากจูงของกองทัพเรือแอลเบเนีย หน่วยรักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือเมือง Durrës ที่ถูกบุกรุกทำได้แค่ยืนดูเฉย ๆ ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ครั้งหนึ่งมีการข้ามช่องแคบของผู้อพยพชาวแอลเบเนียประมาณ 20,000 คนเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 1991 โดยขึ้นฝั่งที่เมืองบรินดิซีด้วยเรือขนาดเล็กหลายลำ เมืองนี้มีประชากรเพียง 80,000 คน จึงประสบปัญหาในการรับมือกับการไหลบ่าเข้ามาของผู้อพยพดังกล่าว แต่ผู้อพยพก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีโดยชาวเมืองต่างก็เอื้อเฟื้อให้อาหารและที่พัก 

(ผู้อพยพชาวแอลเบเนีย 15,000-20,000 คนบนเรือสินค้า Vlora)

เหตุการณ์จี้ยึดเรือสินค้า Vlora เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 1991 โดย Vlora เป็นเรือบรรทุกสินค้าที่ต่อขึ้นในปี 1960 ที่เมือง Ancona อิตาลี ซึ่งได้แล่นในทะเลภายใต้ธงแอลเบเนียจนถึงปี 1996 โดยบริษัทร่วมขนส่งซิโน-แอลเบเนียของรัฐบาล เรือสินค้า Vlora เดินทางกลับมาจากคิวบาพร้อมกับน้ำตาลจำนวนมาก และได้จอดเทียบท่าที่เมือง Durrës เพื่อขนถ่ายสินค้าและเข้ารับการซ่อมแซมเพราะเครื่องยนต์หลักชำรุดใช้งานไม่ได้ ขณะเดียวกัน มีผู้อพยพชาวแอลเบเนียจากทั่วประเทศจำนวนมากมารวมตัวกันที่ท่าเรือด้วยความหวังว่าจะได้ขึ้นเรือลำใดก็ได้และแล่นไปยังอิตาลี โดยไม่มีใครหยุดยั้งพวกเขาได้ โดยมีผู้อพยพจำนวนระหว่าง 15,000 - 20,000 คนได้บุกขึ้นเรือสินค้า Vlora ในวันที่ 7 สิงหาคม 1991 พวกเขากระโดดลงทะเลแล้วปีนขึ้นไปตามเชือก และอยู่กันจนเต็มพื้นที่แทบทุกตารางนิ้วของเรือ (บางส่วนต้องห้อยตัวกับบันไดและราวกั้นตลอดการเดินทาง) Halim Milaqi กัปตันของเรือสินค้า Vlora ถูกจี้บังคับจากกลุ่มคนติดอาวุธจึงต้องตัดสินใจนำเรือที่มีผู้อพยพนับหมื่นคนข้ามช่องแคบโอตรันโตไปยังอิตาลี ด้วยเกรงว่าจะเหตุการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้หากปล่อยให้มือสมัครเล่นมาทำหน้าที่ควบคุมเรือ

ผู้อพยพชาวแอลเบเนีย 15,000-20,000 คนบนเรือสินค้า Vlora

เรือสินค้า Vlora แล่นโดยใช้เพียงเครื่องยนต์สำรองและไม่มีเรดาร์ เนื่องจากมีผู้อพยพอยู่เต็มไปหมดจนเรดาร์ไม่สามารถทำงานได้ และสูญเสียระบบทำความเย็นไปหลังจากที่ผู้อพยพตัดเปิดท่อทำความเย็นออกเพื่อเอาน้ำมาดื่ม จากนั้นกัปตันจึงต้องใช้น้ำทะเลเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เครื่องยนต์ร้อนจัด โชคดีที่พวกเขาได้ประโยชน์จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยจนสามารถเดินทางมาถึงชายฝั่งอิตาลีในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 8 สิงหาคม เมื่อเข้าใกล้ท่าเรือของเมืองบรินดิซีในเวลาประมาณ 04.00 น. กัปตันได้รับคำแนะนำไม่ให้เทียบท่าในเมืองโดยรองหัวหน้าตำรวจของเมือง เพราะเมืองนี้ยังคงมีผู้อพยพชาวแอลเบเนียหลายพันคนที่เดินทางมาถึงในเดือนมีนาคมหรือระหว่างนั้นติดค้างอยู่ และไม่มีความสามารถที่จะรองรับผู้อพยพได้มากกว่านี้แล้ว

กัปตัน Milaqi จึงเปลี่ยนเส้นทางไปที่เมืองบารีซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 55 ไมล์ แต่เรือสินค้า Vlora ที่แทบจะหมดสภาพแล้วต้องใช้เวลาเดินทางถึงเจ็ดชั่วโมง ในช่วงเวลานั้นทางการอิตาลีแทบไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสำหรับการมาถึงของผู้อพยพจำนวนมหาศาลครั้งนี้ ทั้งนายกเทศมนตรีและหัวหน้าตำรวจต่างเดินทางไปเที่ยวพักผ่อน ส่วนสำนักงานนายกเทศมนตรีจะได้รับแจ้งข่าวเมื่อเรือเข้าเทียบท่าแล้วเท่านั้น มีความพยายามที่จะปิดล้อมทางเข้าท่าเรือโดยใช้เรือเล็กและเรือรบของกองทัพเรืออิตาลีเพื่อพยายามบังคับกัปตัน Milaqi ให้หันหัวเรือกลับไปยังแอลเบเนีย แต่ด้วยสภาพที่ย่ำแย่ลงบนเรือหลังจากที่ผู้อพยพใช้เวลา 36 ชั่วโมงโดยไม่มีอาหารหรือน้ำท่ามกลางความร้อนอบอ้าว กัปตัน Milaqi จึงปฏิเสธที่จะหันเรือกลับ เขานำเรือสินค้า Vlora เข้าไปในท่าเรือโดยแจ้งว่า เรือสินค้า Vlora เสียหายและไม่สามารถหันเรือกลับด้วยกลไกได้ ท่าเรือเมืองบารีเป็นท่าเรือที่อยู่ห่างจากใจกลางเมืองมากที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้วจะสงวนไว้สำหรับการขนถ่ายถ่านหิน พอถึงท่าเรือมีผู้อพยพจำนวนมากกระโดดลงน้ำว่ายเข้าฝั่งหรือปีนเชือกขณะจอดเรือ โดยมีหลายคนหายตัวไปในตัวเมือง

นโยบายที่เข้มงวดของรัฐบาลอิตาลี โดย Vincenzo Scotti รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือการหยุดยั้งเรือผู้ลี้ภัยไม่ให้ขึ้นฝั่งอิตาลี มิฉะนั้นก็ส่งผู้อพยพออกไปทันที ด้วยเหตุนี้ผู้อพยพจากเรือ Vlora จึงไม่ได้ลงจากเรือ ด้วยคำสั่งจากรัฐบาลอิตาลีคือกักผู้อพยพไว้ที่ท่าเรือ โดยไม่ต้องช่วยอะไรเลย และส่งกลับไปยังแอลเบเนียโดยเร็วที่สุด เมื่อแผนดังกล่าวไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็มีมาตรการอื่น ๆ เกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ ผู้อพยพที่เจ็บป่วยบางส่วนถูกนำตัวโดยรถพยาบาลไปโรงพยาบาล เช่นเดียวกับสตรีตั้งครรภ์หนักจำนวนหนึ่ง ผู้อพยพถูกส่งตัวไปยัง Stadio della Vittoria ซึ่งเป็นสนามกีฬาที่ไม่ใช้งาน ซึ่งพวกเขาจะกักตัวไว้จนกว่าจะถูกเนรเทศ เมื่อบรรดาผู้อพยพชาวแอลเบเนียเข้าใจว่าในที่สุดพวกเขาก็ถูกส่งกลับ ผู้อพยพบางกลุ่มจึงพยายามบังคับพวกเขาผ่านวงล้อมของตำรวจที่อยู่รอบสนามกีฬา เนื่องจากมีหลายคนพยายามหลบหนี เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจหยุดนำผู้อพยพมาที่สนามกีฬาและปิดประตูและขังพวกเขาไว้ข้างใน สถานการณ์ลุกลามจนควบคุมไม่ได้ เจ้าหน้าที่สนามก็ถูกจับเป็นตัวประกัน บุคลากรที่ดูแลการจัดการการปันส่วนอาหารถูกทำร้าย จากนั้นตำรวจจึงอพยพออกจากสนาม กลายเป็นพื้นที่ไร้กฎหมายที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มที่มีความรุนแรงที่สุด (บางคนมีอาวุธปืน) เจ้าหน้าที่โยนอาหารและน้ำข้ามกำแพงโดยใช้รถดับเพลิง ซึ่งหมายความว่ากลุ่มอันธพาลได้เก็บอาหารและน้ำส่วนใหญ่ไว้แล้ว

ความตึงเครียดยิ่งปะทุขึ้นเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจและชาวแอลเบเนียที่พยายามฝ่าวงล้อม ตำรวจได้เปิดฉากยิงทำให้ผู้อพยพชาวแอลเบเนียบางคนได้รับการรักษาจากบาดแผลกระสุนปืน ตามที่ตำรวจระบุ หลังจากการผ่อนปรนช่วงสั้น ๆ เกมแมวจับหนูระหว่าผู้อพยพชาวแอลเบเนียที่พยายามหลบหนีกับตำรวจก็เริ่มต้นอีกครั้งในวันต่อมา ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 200 ราย รวมถึงตำรวจประมาณ 20 นาย ขณะที่ผู้อพยพหลายร้อยคนสามารถหลบหนีออกมาได้ โดยบางส่วนซ่อนตัวอยู่ในศาลานิทรรศการฟิเอรา เดล เลบานเต มีผู้ลี้ภัยราว 2,000 คนถูกตำรวจล้อมอยู่ด้านนอกสนามกีฬา พวกเขาค่อย ๆ ขนย้ายผู้หลบหนีไปยังท่าเรือ แม้ว่าบางครั้งพวกเขาจะต่อต้านอย่างรุนแรงก็ตาม ในที่สุดทางการอิตาลีก็สามารถจัดการตอบสนองต่อวิกฤติผู้อพยพได้ในที่สุด พวกเขาใช้เรือเฟอร์รี่เอกชนส่งผู้อพยพกลับไปยังแอลเบเนีย ซึ่งเรือรบอิตาลีสองลำได้ช่วยสนับสนุนด้วย บรรดาผู้อพยพที่ใช้ความรุนแรงบางส่วนถูกนำตัวไปยังสนามบินและถูกส่งกลับไปยังแอลเบเนียด้วยเครื่องบินลำเลียง C-130 ของกองทัพอากาศอิตาลี (ประมาณ 60 คน โดยมีตำรวจจำนวนหนึ่งควบคุม) ในช่วงบ่ายของวันที่ 9 มีผู้ถูกส่งตัวกลับประเทศประมาณ 3,000 คน บางส่วนจากไปด้วยความสมัครใจเนื่องจากการต้อนรับที่ไม่เป็นมิตรและสภาพที่ย่ำแย่ทำให้พวกเขาเลิกสนใจกับการที่จะใช้ชีวิตในอิตาลี เพื่อไม่ให้มีการต่อต้านขัดขืนผู้อพยพส่วนใหญ่จึงถูกหลอกว่าเรือและเครื่องบินจะพาพวกเขาไปยังเมืองอื่นๆ ของอิตาลี 

(‘Sono persone’ ประติมากรรมอนุสรณ์ของเหตุการณ์ดังกล่าว)

จากนั้นผู้อพยพถูกส่งกลับแอลเบเนียอย่างรวดเร็วด้วยเรือเฟอร์รี่อีกสองลำ Espresso Grecia และ Malta สองวันต่อมาในวันที่ 11 ยังคงเหลือชาวแอลเบเนียประมาณ 3,000 คนอยู่ในสนามกีฬาของเมืองบารี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่ปฏิเสธที่จะเชื่อเจ้าหน้าที่อิตาลี Vincenzo Parisi หัวหน้าตำรวจจึงโน้มน้าวให้กลับไปพร้อมกับเสนอเสื้อผ้าชุดใหม่และเงินคนละ 50,000 ลีร์ (ในขณะนั้นถือว่าเป็นเงินจำนวนมากในแอลเบเนีย) หลังจากผ่านไปสามวันผู้อพยพที่เหลือก็ได้รับแจ้งว่า พวกเขาได้รับสิทธิ์ให้อยู่ในอิตาลีได้ อย่างไรก็ตาม ทันทีที่พวกเขาออกจากสนามกีฬาก็ถูกนำขึ้นรถบัสและพาไปยังสนามบิน จากนั้นจึงถูกส่งขึ้นเครื่องบินบินตรงไปยังกรุงติรานา เรื่องนี้ทำให้สื่อมวลชนพาดหัวข่าวว่า ‘การบุกรุกของผู้อพยพชาวแอลเบเนีย’ ได้ยุติลงแล้วในวันที่ 16 สิงหาคม ท่ามกลางความสนใจของสื่อที่เน้นย้ำถึงสถานการณ์เลวร้ายในแอลเบเนีย ทางการแอลเบเนียซึ่งได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลอิตาลีให้จัดการควบคุมท่าเรือของตนให้อยู่ภายใต้กองทัพ และระงับการเดินทางของรถไฟโดยสารทั้งหมดเพื่อสกัดกั้นการหลั่งไหลของผู้อพยพ ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลอิตาลีเสนอที่จะช่วยเหลือแอลเบเนียทางการเงินเป็นเงิน 9 ล้านเหรียญสหรัฐในด้านอาหาร หากแอลเบเนียช่วยควบคุมและรับผู้อพยพที่ออกจากอิตาลีกลับ แม้ว่าการอพยพโดยไม่มีเอกสารจากแอลเบเนียจะดำเนินต่อไปหลังจากนั้น แต่ก็ลดขนาดลงและส่วนใหญ่จัดตั้งโดยแก๊งอาชญากร พวกเขาใช้เรือยนต์เร็วเพื่อข้ามช่องแคบในเวลากลางคืนและปล่อยให้ผู้โดยสารที่จ่ายเงินแล้วว่ายน้ำเข้าฝั่ง

(เรือสินค้า Vlora)

ตามบันทึกของกัปตัน Milaqi เรือสินค้า Vlora จอดอยู่ในท่าเรือของเมืองบารีเป็นเวลา 45 วัน ก่อนที่ลูกเรือและตัวเขาเองจะสามารถนำเรือกลับไปยังแอลเบเนียได้ (เป็นไปได้ว่าอาจถูกลากจูงเนื่องจากเรือได้รับความเสียหายอย่างหนัก) เรือสินค้า Vlora ยังคงถูกใช้งานเป็นเรือบรรทุกสินค้าต่อจนถึงเดือนธันวาคม 1994 และเลิกใช้งานในปี 1995 ถูกยกเลิกการจดทะเบียนในปี 1996 และถูกทิ้งเพื่อแยกชิ้นส่วนในวันที่ 17 สิงหาคมของปีเดียวกันที่ท่าเรือ Aliağa ของตุรกี เรือสินค้า Vlora ถือเป็นเรือมนุษย์ที่บรรทุกผู้อพยพมากที่สุดในโลก (ซึ่งตัวเลขผู้อพยพอยู่ระหว่าง 15,000-20,000 คน) 

‘Pepsi’ VS ‘Coca-Cola’ มิตรภาพที่อยู่เหนือผลประโยชน์


ปัจจุบันมูลค่าตลาดของธุรกิจน้ำอัดลมทั้งโลกอยู่ที่ประมาณ 600 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 3.5-4% โดยส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจน้ำอัดลมทั่วโลกเป็นของ Coca-Cola ราว 44% และ PepsiCo ราว 19% ที่เหลือเป็นของน้ำอัดลมยี่ห้ออื่น ๆ


‘Coke’ หรือ The Coca-Cola Company ปกติทั่วไปแล้วมักเรียกว่า ‘Coca-Cola’ เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา สำนักงานใหญ่อยู่ในนครแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ก่อตั้งขึ้นในปี 1886 สำหรับ ‘Pepsi’ หรือ PepsiCo, Inc. คู่แข่งของ Coke เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองแฮร์ริสัน มลรัฐนิวยอร์ก ก่อตั้งขึ้นในปี 1965 จากการควบรวมกิจการของ เป๊ปซี่-โคล่า กับ ฟริโต-เลย์ นอกจากนี้ยังมีสินค้ายี่ห้ออื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ Gatorade, Tropicana, Quaker Oats, และ Lay's เป็นต้น


สำหรับ Coke และ Pepsi ต่างใช้งบประมาณมหาศาลในการโฆษณาและส่งเสริมการขายสินค้าของแต่ละฝ่าย ทั้งการใช้ดาราและบุคคลที่มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ รวมไปจนถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย ซึ่งคู่แข่งทั้ง 2 ต่างก็ได้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่และนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภค และต่างก็ได้ทำการขยายตลาดของตนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น


การแข่งขันระหว่าง Coke และ Pepsi มิได้เป็นเพียงแค่เป็นการแข่งขันในทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการแข่งขันทางความคิดและวัฒนธรรมอีกด้วย โดยทั้งสองฝ่ายต่างพยายามสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์ของตนเองให้มีความโดดเด่นและเป็นที่จดจำของผู้บริโภคน้ำอัดลมทั่วโลก แม้การแข่งขันทางการค้าระหว่าง Coke และ Pepsi จะดำเนินไปอย่างดุเดือด แต่ใช่ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะต่อสู้ฟาดฟันกันโดยไม่รู้จักยั้งคิด ขาดสติ ไร้ความรู้สึก ผิด ชอบ ชั่ว ดี แต่อย่างใด ดังเช่นกรณี Joya Williams และ Ibrahim Dimson


ในปี 2006 ‘Joya Williams’ วัย 41 ปี เลขานุการผู้บริหารของ Coca Cola และ Ibrahim Dimson พนักงานของ Coke ที่สามารถเข้าถึงเอกสารลับสุดยอดทั้งหมดที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีเตรียมเครื่องดื่ม Coca-Cola ใหม่ และยังมีขวดที่บรรจุสารเคมีทั้งหมดที่โดยทั้งสองจะใช้ตั้งใจที่จะขายความลับเหล่านี้ให้กับ Pepsi คู่แข่งหลักของ Coke เป็นเงิน 1.5 ล้านดอลลาร์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลของ Coke ที่ไม่มีใครรู้ ยกเว้น 5 ผู้บริหารระดับสูงของ Coke โดยพวกเขาได้ติดต่อกับ Antonio J. Lucio รองประธานฝ่ายข้อมูลเชิงลึกและนวัตกรรมของ Pepsi


อย่างไรก็ตาม Pepsi ได้แจ้งเรื่องนี้ให้กับ Coke และ Coke จึงแจ้งความให้ FBI ดำเนินการ หลังจากเริ่มการสืบสวน Gerald Reichard เจ้าหน้าที่พิเศษของ FBI ได้ปลอมตัวเป็นผู้แทนของ Pepsi หลังจาก Reichard ได้เจรจาพูดคุยกับ Dimson หลายครั้ง Reichard จึงได้ตกลงและทำการ ‘ล่อซื้อ’ ข้อมูลความลับของ Coke จาก Joya Williams และ Ibrahim Dimson เพื่อรวบรวมหลักฐานในการดำเนินคดี และนำไปสู่การจับกุมตัวทั้ง 2 คน ผลการพิจารณาคดี Williams ปฏิเสธ และ Dimson สารภาพ Williams ถูกคณะลูกขุนตัดสินว่ามีความผิดรับโทษจำคุก 96 เดือน ส่วน Dimson รับโทษจำคุก 60 เดือน โดย Dave DeCecco โฆษกของ Pepsi กล่าวว่า "การแข่งขันอาจดุเดือดได้ แต่ต้องยุติธรรมและถูกกฎหมายเสมอ"


สิ่งที่ Joya Williams และ Ibrahim Dimson ไม่เข้าใจก็คือ แม้ว่า Coke และ Pepsi จะเป็นคู่แข่งขันกันก็ตาม แต่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีความสัมพันธ์ในลักษณะพิเศษต่อกัน ด้วยทั้ง 2 ฝ่ายมีความต้องการซึ่งกันและกันในอันที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งระหว่างกัน แม้ทั้ง 2 บริษัทเกือบจะเป็น Duopoly โดยมีส่วนแบ่งการตลาดร่วมกว่า 60% แต่ต่างก็ไม่ต้องการให้อีกฝ่ายถึงกับต้องเลิกกิจการไปเลย เพียงต้องการต่างฝ่ายต่างประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งคู่ เช่นที่ผู้บริหาร Coke คนหนึ่งได้พูดไว้ว่า “ถ้าไม่มี Pepsi เราก็ต้องสร้างมันขึ้นมา” ทั้งสองจำเป็นต้องรักษาความเฉียบคมต่อกันเพื่อผลักดันคู่แข่งรายเล็กอื่น ๆ ให้ออกจากตลาด ซึ่งที่สุดแล้วทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้แข่งขันกัน แต่กลับกลายเป็นความร่วมมือกันในลักษณะพิเศษต่างหาก 

ย้อนเรื่องราว ‘หน่วย 731’ ของ ‘กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น’ หลังจับ ‘มนุษย์’ เป็น ‘หนูทดลอง’ อย่างโหดสุดๆ ในยุค WW2

หน่วย 731 มาจากชื่อเต็มว่า Manchu Detachment 731 (หน่วยแมนจู 731) และยังเป็นที่รู้จักในชื่อ หน่วย Kamo หรือ หน่วย Ishii เป็นหน่วยงานลับทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาสงครามชีวภาพและเคมีของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น หน่วยงานนี้เดิมก่อตั้งโดยกองกำลังสารวัตรทหารแห่งกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในปี 1936 มีกองบัญชาการใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองฮาร์บินซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในแมนจูกัว (ปัจจุบันคือจีนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ) ซึ่งขณะนั้นเป็นพื้นที่ภายใต้การยึดครองของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น หน่วย 731 มีหน่วยงานย่อยอยู่ทั่วจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หน่วยนี้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพลโท Shiro Ishii นายแพทย์ทหาร ตัวอาคารของหน่วย 731 สร้างขึ้นในปี 1935 เพื่อใช้แทนป้อมจงหม่า เป็นทั้งเรือนจำและห้องทดลองของหน่วย 731 หน่วยนี้ปฏิบัติการจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามในปี 1945

(พลโท Shiro Ishii หัวหน้าหน่วย 731)

หน่วย 731 รับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามที่ฉาวโฉ่ที่สุดที่ก่อโดยกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น มีการทดลองกับผู้คนที่ถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเรียก ‘ผู้ถูกทดลอง’ (เป็นการภายใน) ว่า ‘ท่อนไม้’ การทดลองประจำวันมีตั้งแต่การฉีดโรคเข้าไปในร่างกายของผู้ถูกทดลอง การควบคุมภาวะขาดน้ำ (การบังคับให้อดน้ำ) การทดสอบอาวุธชีวภาพ การทดสอบห้องความดันบรรยากาศต่ำ การผ่าตัดชำแหละอวัยวะ การเก็บอวัยวะ การตัดแขนขา และการทดสอบอาวุธมาตรฐาน ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่เพียงแต่รวมถึง ชาย หญิง (รวมถึงสตรีมีครรภ์) และเด็กที่ถูกลักพาตัว แต่ยังรวมไปถึงทารกที่เกิดจากการข่มขืนหญิงที่ถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยอีกด้วย เหยื่อการทดลองมีหลากหลายเชื้อชาติ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวจีน และส่วนน้อยที่สำคัญคือชาวรัสเซีย นอกจากนี้ หน่วย 731 ยังผลิตอาวุธชีวภาพที่ใช้ในพื้นที่ของจีนซึ่งไม่ได้ถูกยึดครองโดยกองกำลังญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงเมืองต่าง ๆ แหล่งน้ำ และทุ่งนาของจีน การประมาณการผู้เสียชีวิตจากฝีมือของหน่วย 731 ตลอดจนโครงการที่เกี่ยวข้องมีมากถึง 500,000 คน และไม่มีนักโทษเหยื่อทดลองคนใดรอดชีวิตออกไปได้ ในช่วงสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 นักโทษเหยื่อทดลองทั้งหมดถูกสังหารเพื่อปกปิดหลักฐาน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักวิจัยของหน่วย 731 ถูกกองกำลังโซเวียตจับกุมและถูกพิจารณาคดีในการพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามที่เมือง Khabarovsk ในเดือนธันวาคม 1949 โดยนายทหารผู้บังครับบัญชาของทั้งจากกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นและหน่วย 731 ถูกตัดสินจำคุกระหว่าง 2-25 ปี ส่วนนักวิจัยที่ถูกจับโดยสหรัฐฯ จะได้รับความคุ้มครองอย่างลับ ๆ เพื่อแลกกับข้อมูลที่รวบรวมระหว่างการทดลองในมนุษย์ โดยสหรัฐอเมริกาช่วยปกปิดการทดลองของมนุษย์และมอบค่าตอบแทนให้กับผู้กระทำผิด กองทัพอเมริกันได้ร่วมเลือกข้อมูลอาวุธชีวภาพและประสบการณ์ของนักวิจัยเพื่อใช้ในโครงการสงครามชีวภาพของสหรัฐฯ เหมือนกับที่ทำกับนักวิจัยของนาซีเยอรมันในปฏิบัติการ Paperclip ดังเช่นกรณีของพลโท Shiro Ishii ผู้เป็นหัวหน้าหน่วย 731

(อาคารหลักของหน่วย 731 ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์หน่วย 731)

พลโท Shiro Ishii หัวหน้าหน่วย 731 ถูกเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ จับกุมระหว่างการยึดครองญี่ปุ่นเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และพร้อมกับผู้นำหน่วย 731 คนอื่น ๆ ซึ่งควรจะถูกสอบปากคำโดยทางการโซเวียตโดยละเอียด แต่เขาและทีมงานได้รับความคุ้มครองจากกองทัพสหรัฐฯ ในปี 1946 จากการฟ้องร้องคดีอาชญกรรมสงครามของญี่ปุ่นต่อหน้าศาลโตเกียวเพื่อแลกกับการเปิดเผยข้อมูลโดยสมบูรณ์ แม้ว่ารัฐบาลโซเวียตอยากให้มีการดำเนินคดี แต่กองทัพสหรัฐฯ ก็คัดค้านหลังจากรายงานของทีมจุลชีววิทยาทางทหารที่นำโดยพันโท Murray Sanders ระบุว่า ข้อมูลต่าง ๆ ของหน่วย 731 มีความสำคัญมากจนไม่สามารถที่จะ ‘ประเมินค่าได้อย่างแน่นอน’ โดยข้อมูลดังกล่าว ‘ไม่เคยถูกพบในสหรัฐฯ เลย’ อันเนื่องมาจาก ‘ความเข้มงวดในการทดลองกับมนุษย์’ ของมลรัฐต่าง ๆ และ ‘ข้อมูลเหล่านั้นค่อนข้างจะถูกต้อง’ 

วันที่ 6 พฤษภาคม 1949 พลเอก Douglas MacArthur ได้แจ้งกับวอชิงตันว่า “ข้อมูลจาก Ishii และทหารญี่ปุ่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะถูกเก็บไว้ในส่วนของข่าวกรองลับ และจะไม่ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานพิจารณาคดี ‘อาชญากรรมสงคราม’…” ในที่สุดข้อตกลงคุ้มครองของ Ishii ก็ได้ข้อสรุป และเขาไม่เคยต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามหรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติเลย หลังจากได้รับการยกเว้นโทษ Ishii ได้รับการว่าจ้างจากกองทัพสหรัฐฯ ให้บรรยายเจ้าหน้าที่อเมริกันที่ Fort Detrick มลรัฐแมรี่แลนด์ (อันเป็นที่ตั้งของหน่วยงานทางการแพทย์ของกองทัพบกสหรัฐฯ) เกี่ยวกับการใช้อาวุธชีวภาพและการค้นพบของหน่วย 731 ในช่วงสงครามเกาหลี Ishii ได้เดินทางไปเกาหลีเพื่อร่วมในกิจกรรมสงครามชีวภาพของกองทัพสหรัฐฯ หลังจากกลับมา เขาได้เปิดคลินิกตรวจและรักษาฟรี เขาได้จดบันทึกประจำวัน แต่ไม่ได้อ้างอิงถึงกิจกรรมในช่วงสงครามของเขากับหน่วย 731 เลย และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกล่องเสียงในปี 1959

(ฉากจำลองในพิพิธภัณฑ์หน่วย 731)

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สำนักงานสืบสวนพิเศษ (The Office of Special Investigations : OSI) ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้สร้างรายชื่อเฝ้าติดตามของผู้ต้องสงสัยที่ร่วมมือกับฝ่ายอักษะซึ่งถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าพวกเขาจะเพิ่มชื่อเข้าในรายการเฝ้าดูมากกว่า 60,000 รายชื่อ แต่พวกเขาสามารถระบุชาวญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องได้ไม่ถึง 100 คนเท่านั้น ในจดหมายโต้ตอบระหว่างกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และ Rabbi Abraham Cooper ในปี 1998 Eli Rosenbaum ผู้อำนวยการ OSI ระบุว่า เป็นเพราะปัจจัยสองประการ :

(1) แม้ว่าเอกสารส่วนใหญ่ที่สหรัฐฯ ยึดได้ในยุโรปจะถูกถ่ายด้วยไมโครฟิล์มก่อนที่จะส่งกลับไปยังรัฐบาลของตน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ตัดสินใจที่จะไม่ถ่ายไมโครฟิล์มรวบรวมเอกสารจำนวนมากก่อนที่จะส่งคืนให้กับรัฐบาลญี่ปุ่น

(2) รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ให้ความร่วมมือกับ OSI ในการเข้าถึงบันทึกเหล่านี้และบันทึกที่เกี่ยวข้องหลังสงคราม ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปส่วนใหญ่ต่างให้ความร่วมมือกับ OSI เป็นอย่างดี เป็นผลทำให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการระบุตัวตนของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ได้

(‘บังเกอร์สยอง’ (Horror bunker) ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่เมืองอันต๋า)

ต่อมาพฤษภาคม 2023 หนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ (SCMP) รายงานว่า ทีมนักโบราณคดีจากสถาบันมรดกวัฒนธรรมและโบราณคดีแห่งมณฑลเฮยหลงเจียง ได้เปิดเผยถึงการค้นพบซาก ‘บังเกอร์สยอง’ (Horror bunker) ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่เมืองอันต๋าทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ของทหารหน่วย 731 แห่งกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งได้เข้ายึดครองบางส่วนของดินแดนจีนในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนจะก่อตั้งหน่วย 731 เพื่อวิจัยอาวุธชีวภาพและทำการทดสอบทางการแพทย์อื่น ๆ อย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรมต่อชาวจีนและชาวเกาหลี รวมทั้งเชลยศึกชาวอเมริกันและรัสเซียด้วย 

(‘บังเกอร์สยอง’ (Horror bunker) ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่เมืองอันต๋า)

รายงานระบุว่า กองทัพญี่ปุ่นเคยใช้งานบังเกอร์สยองที่ค้นพบล่าสุด ระหว่างช่วงปี 1935-1945 สถานที่แห่งนี้ประกอบไปด้วยเครือข่ายของอุโมงค์และห้องใต้ดินกลุ่มต่างๆ ซึ่งในแต่ละห้องมีการใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป เครือข่ายห้องลับดังกล่าวอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 1.5 เมตร มีศูนย์กลางเป็นกลุ่มห้องรูปตัวยู (U) ความยาว 33 เมตร กว้าง 20.6 เมตร ซึ่งในจำนวนนี้มีห้องทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เมตร ที่คาดว่าใช้สังเกตการณ์มนุษย์ผู้เข้ารับการทดลองหลังได้รับเชื้อโรคร้ายหรือสารเคมีที่เป็นพิษเข้าไป ทางการจีนค้นพบบังเกอร์สยองแห่งนี้ครั้งแรกในปี 2019 โดยในตอนนั้นมีเพียงซากอาคารและลานบินที่ถูกทำลายหลงเหลืออยู่บนผิวดิน แต่ยังไม่สามารถเข้าไปสำรวจภายในบังเกอร์ใต้ดินได้ จนกระทั่งในเวลาต่อมาทีมนักโบราณคดีได้เข้าทำการขุดค้นโดยใช้เทคนิคทางธรณีฟิสิกส์และการขุดเจาะสมัยใหม่เข้าช่วยจนประสบผลสำเร็จ
 

ย้อนรอยสงครามกลางเมืองศรีลังกา ‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ ก่อนแพ้พ่าย ต้นตำรับปฏิบัติการ ‘ระเบิดพลีชีพ’ ที่ก่อการร้ายนำมาเลียนแบบทั่วโลก

เรื่องราวของกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม หรือ ‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ และในอีกหลาย ๆ ชื่อได้แก่ สมาคมทมิฬระดับโลก สหพันธ์ของสมาคมทมิฬแคนาดา กองทัพเอลอัลลานี ซึ่งเป็นองค์กรติดอาวุธที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาในประเทศศรีลังกา ระหว่างชาวทมิฬ (Tamil) ที่มีจำนวนราว 3 ล้านคน คิดเป็น 18% ของพลเมืองศรีลังกาและนับถือศาสนาฮินดูในเขตจาฟนา บริเวณภาคเหนือสุดของเกาะซีลอน กับชาวสิงหล (Sinhalese) พลเมืองส่วนใหญ่กว่า 16 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 จากประชากรทั้งหมดในศรีลังกา ซึ่งนับถือพุทธศาสนา โดยความขัดแย้งดังกล่าวไปสู่การต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนที่รุนแรงที่สุดในโลก และเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลศรีลังกาจะสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างหมดสิ้นไปในปี 2009

‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ ก่อตั้งเมื่อปี 1976 มีเป้าหมายคือการแยกตัวจากศรีลังกาเพื่อตั้งรัฐทมิฬ เริ่มการต่อสู้ด้วยการก่อการร้ายตั้งแต่ปี 1983 หัวหน้ากลุ่มคือ เวลูปิลลัย ประภากาเรา ชาวทมิฬผู้มีความใฝ่ฝันที่จะสร้างรัฐที่ชาวทมิฬมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง และหลังจากศรีลังกาได้รับอิสรภาพจากอังกฤษแล้ว ชาวทมิฬที่นับถือฮินดูซึ่งมีสัดส่วนราว 10 % ของประชากรชาวศรีลังกาทั้งประเทศกลายเป็นพลเมืองชั้นสองไป เพราะโอกาสในทางการศึกษาและอาชีพการงานด้อยกว่าชาวสิงหลที่นับถือศาสนาพุทธซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ 

ธงจักรวรรดิอังกฤษซีลอน

สาเหตุความขัดแย้งเกิดจากช่วงที่อังกฤษเข้ามาแทนที่ฮอลแลนด์ในการยึดครองศรีลังกา อังกฤษได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณเขตจาฟนา ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวทมิฬมากมายทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ทำให้ชาวสิงหลซึ่งอยู่พื้นที่ส่วนอื่นของเกาะไม่พอใจ อันเป็นรูปแบบของกระบวนการ ‘แบ่งแยกแล้วปกครอง’ (Divide and Rule) ของอังกฤษผู้เป็นอดีตเจ้าอาณานิคม (วิธีปกครองโดยเอาใจคนกลุ่มหนึ่ง แต่กลับ กีดกัน กดดัน คนอีกกลุ่มหนึ่ง) ซึ่งมักจะใช้กับอาณานิคมต่าง ๆ เช่น อินเดีย พม่า มลายู แม้อังกฤษจะช่วยวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งระบบการศึกษา ระบบขนส่ง และการทำการเกษตร แต่ภาคการเกษตรโดยเฉพาะไร่ชาขนาดใหญ่นั้นต้องการแรงงานจำนวนมาก ชาวสิงหล และชาวทมิฬเดิม ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของซีลอน ต่างก็ไม่สนใจทำงานในไร่ชาของอังกฤษ อังกฤษจึงได้นำแรงงานชาวทมิฬอินเดีย ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองทางตอนใต้ของอินเดียเข้ามาทำงานในไร่ชาที่เกาะซีลอนและสิ่งนี้เองที่สร้างรอยร้าวให้กับผู้คนบนเกาะแห่งนี้

ชาวทมิฬอินเดียที่ถูกนำเข้ามาทำงานในไร่ของอังกฤษมักได้รับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีกว่าชาวพื้นเมืองเดิม โรงเรียนแบบตะวันตกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ ซึ่งมีชาวทมิฬอาศัยอยู่หนาแน่น ชาวทมิฬจึงได้รับการศึกษาที่ดีกว่า นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของคนทั้ง 2 กลุ่ม หลังจากซีลอนได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 แม้เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาตามลําดับ แต่ความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬยังมีคงอยู่ ชาวทมิฬซึ่งมีการศึกษาดีกว่า ฐานะดีกว่า ผูกขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวสิงหล ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อรัฐบาลศรีลังกาที่ได้รับเลือกตั้งเป็นชาวสิงหล จึงมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘ซีลอน’ มาเป็น ‘ศรีลังกา’ ในปี 1972 พร้อมกับการกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และเริ่มดำเนินนโยบายกีดกันชาวทมิฬ ทั้งการบังคับไม่ให้มีการเรียนการสอนภาษาทมิฬ การบรรจุเข้ารับราชการต้องใช้ภาษาสิงหลเท่านั้น ทำให้เกิดการต่อต้านรุนแรงจากชาวทมิฬ ชาวทมิฬจึงมารวมกันอยู่ทางตอนเหนือของประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 1956 มีการประกาศนโยบายชาตินิยมสิงหล (Sinhalese only) โดยเปลี่ยนภาษาราชการเป็นภาษาสิงหลแทนที่ภาษาอังกฤษ ร่างกฎหมายนี้ชื่อ Sinhala Only Act ต่อมาในปี 1970 รัฐบาลศรีลังกาเปลี่ยนชื่อประเทศจาก Ceylon มาเป็น Sri Lanka อันเป็นชื่อดั้งเดิมในภาษาสิงหล มาตรการเหล่านี้ล้วนสร้างความไม่พอใจแก่ชาวทมิฬ และมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ของสองชนชาตินี้เสื่อมลงเรื่อย ๆ 

ชาวทมิฬแม้จะมีความไม่พอใจต่อรัฐบาลศรีลังกาและมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลมาตลอด แต่ก็ไม่มีองค์กรนำและเป้าหมายการต่อสู้ที่ชัดเจน จนกระทั่งถึงปี 1972 เมื่อพรรคการเมืองของชาวทมิฬสามพรรคได้รวมตัวกันเป็น ‘แนวร่วมทมิฬ’ (Tamil United Front) การต่อสู้ของชาวทมิฬจึงได้เข้าสู่ยุคใหม่ที่อยู่ภายใต้การนำของพรรคการเมืองที่เข้มแข็งและมีจุดมุ่งหมายในการต่อสู้ที่ชัดเจน พรรคแนวร่วมทมิฬได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘แนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ’ (Tamil United Liberation Front) และผ่านมติต่อสู้เพื่อก่อตั้งประเทศทมิฬอีแลมเมื่อปี 1976 ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นในปีถัดมา พรรคนี้สามารถกวาดที่นั่งส่วนใหญ่ในเขตชาวทมิฬ จนกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดในรัฐสภาศรีลังกา ทำให้มองเห็นความหวังในการต่อสู้เพื่อให้ชาวทมิฬแยกตัวเป็นอิสระตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ แต่แล้วไม่มีใครคาดคิดว่าชาวสิงหลหัวรุนแรงที่ไม่พอใจผลการเลือกตั้งได้ก่อเหตุจลาจลจนนำไปสู่การปะทะนองเลือดระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน การปะทะครั้งนี้ทำให้ชาวทมิฬส่วนใหญ่สิ้นหวังกับการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ พวกเขาจึงเลิกให้การสนับสนุนพรรคแนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ แล้วหันไปให้การสนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ปลดปล่อยแห่งทมิฬอีแลม หรือพยัคฆ์ทมิฬ ที่ใช้วิธีต่อสู้ด้วยความรุนแรงแทน

กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นโดยวัยรุ่นชาวทมิฬที่มีการศึกษาสูง โดยงานแรกของกลุ่มคือ การสังหารนายกเทศมนตรีเมืองจาฟนา เพราะนายกเทศมนตรีคนนี้แม้จะเป็นชาวทมิฬแต่กลับเห็นดีเห็นงามกับชาวสิงหล กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีการจัดบุคลากรเป็นระบบมากที่สุด มีการแยกส่วนสมาชิกเป็นแผนก ๆ เฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการวางแผน ด้านการเมือง ด้านกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ซึ่งใช้คนที่มีความรู้ความสามารถด้านนั้นจริง ๆ เข้ามาเป็นผู้นำ โดยมีแนวทางการต่อสู้ใน 3 แนว คือ การใช้กำลัง การประชาสัมพันธ์ และการระดมทุน เงินทุนในการดำเนินงานของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้มาจากการประชาสัมพันธ์และการระดมทุน โดยระดมทุนจากชาวทมิฬที่อยู่ต่างประเทศ (ยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย) และชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่สนับสนุนเป็นเงินมหาศาล ทั้งพยัคฆ์ทมิฬอีแลมยังมีรายได้จากการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ สินค้าผิดกฎหมาย และรับจ้างฝึกกองกำลังทหารรับจ้างตลอดจนกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ จากทั่วโลก จนทำให้ฐานะทางการเงินของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมนั้นจัดว่ามั่งคั่งแข็งแกร่งเลยทีเดียว ประมาณการว่ารายได้ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมน่าจะอยู่ที่ราว 200–300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ซากเครื่องบินของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ซึ่งถูกเครื่องบินรบของกองทัพอากาศศรีลังกายิงตก

ปฏิบัติการหลัก ๆ ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมคือ การสังหารบุคคลสำคัญ การก่อวินาศกรรม วางระเบิดสถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของศรีลังกา และจัดกำลังรบตามแบบกับรัฐบาลโดยใช้กำลังทางบก เรือ และอากาศ (พยัคฆ์ทมิฬอีแลมมีกองเรือและฝูงบินจำนวนหนึ่งซึ่งได้ออกปฏิบัติการรบด้วย) และด้วยวิธีการลอบสังหารที่ขึ้นชื่อที่สุดของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมคือการใช้เข็มขัดติดระเบิดพันรอบตัว แล้วจัดการกดชนวนระเบิดเป้าหมายไปพร้อมกับมือระเบิด หรือที่เรียกว่า ระเบิดพลีชีพ (Suicide bomb) นั่นเอง ซึ่งถือเป็นต้นแบบของกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ ทั่วโลกนำไปเลียนแบบจนทุกวันนี้ พื้นที่หลักของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมอยู่ตามแนวชายฝั่งตอนเหนือและตะวันออกของศรีลังกา แต่จะทำการก่อการร้ายทั่วประเทศศรีลังกา สมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในศรีลังกา และเป็นนักรบราว 3,000 - 6,000 คน (สูงสุดถึงที่เคยมีคือ 7,000 ถึง 15,000 คน) โดยอินเดียก็มีส่วนในความขัดแย้ง ด้วยรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐทมิฬนาฑู ทางภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นรัฐของชาวทมิฬ ได้ให้ความสนับสนุนการต่อสู้ของชาวทมิฬในศรีลังกา ขณะที่รัฐบาลกลางอินเดียซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลสิงหลของศรีลังกาก็ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก ด้วยเกรงจะกระทบคะแนนเสียงในการเลือกตั้งและอาจจะเป็นการสร้างความแตกแยกขึ้นภายในประเทศอินเดียเอง

ภาพสุดท้ายของ ราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย ก่อนถูกสังหารด้วยระเบิดพลีชีพ

ต่อมา ราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย ผู้ซึ่งกล้าแสดงจุดยืนว่าจะขัดขวางการสนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมของรัฐบาลทมิฬนาฑู จึงต้องพบกับจุดจบโดยถูกลอบสังหารด้วยระเบิดพลีชีพระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งที่รัฐทมิฬนาฑูจนเสียชีวิตจากฝีมือของหญิงชาวทมิฬ-ศรีลังกา ซึ่งเป็นสมาชิกของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมเมื่อ 21 พฤษภาคม 1991 ต่อมากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมก็ใช้ปฏิบัติการระเบิดพลีชีพสังการประธานาธิบดีศรีลังกา รณสิงห เปรมดาสา จนเสียชีวิตเมื่อ 1 พฤษภาคม 1993 ขณะที่มีการสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างรัฐบาลสิงหลและกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ได้มีความพยายามในการเจรจาและทำสนธิสัญญาหยุดยิงหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งในปี 2009 มหินทา ราชาปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกาได้ตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาด ส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามกองกำลังทมิฬจนได้รับชัยชนะ และบีบบังคับให้กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลมยอมวางอาวุธอย่างไม่มีเงื่อนไข ถือเป็นการยุติสงครามกลางเมืองอันนองเลือดในศรีลังกาที่ดำเนินมากว่า 25 ปีอย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2009 ประธานาธิบดีมหินทรา ราชปักษา ได้ประกาศชัยชนะของรัฐบาลศรีลังกาต่อกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม โดยกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้สูญเสียดินแดนทางตอนเหนือและตะวันออกของศรีลังกาทั้งหมด หมดสิ้นอำนาจทางการเมืองการปกครองในดินแดนของตน และสิ้นสภาพในการต่อสู้ ไม่สามารถสู้รบกับกองทัพของรัฐบาลศรีลังกาได้อีก

ทหารรัฐบาลศรีลังกากับอาวุธที่ยึดจากกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม

สมาชิกของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจำนวน 11,664 คน รวมทั้งทหารเด็กอีก 595 คนยอมวางอาวุธและมอบตัวกับกองทัพศรีลังกา (ส่วนหนึ่งหลบหนีไปอินเดีย) ซึ่งต่อมามีทั้งข่าวและคลิปการสังหารคนเหล่านี้อย่างเหี้ยมโหด และหญิงชาวทมิฬถูกข่มขืนแล้วฆ่าอีกจำนวนมาก สิ่งที่กองทัพศรีลังกาทำกับชาวทมิฬก็ไม่แตกต่างจากพฤติกรรมขององค์การก่อการร้ายเลย แม้ปฏิบัติการของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจะเหี้ยมโหดก็ตาม แต่เมื่อควบคุมตัวชาวทมิฬเหล่านี้แล้ว ควรนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีและบังคับใช้อยู่ให้ถูกต้อง โดยสหประชาชาติ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนได้รายงานตรงกันว่า ปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลศรีลังกานั้นเป็นการสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ตลอดระยะเวลาการสู้รบที่ยาวนานนับตั้งแต่ปี 1983 - 2009 ผลจากสงครามทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 70,000 คน และผู้คนนับล้านต้องลี้ภัยและสูญเสียทรัพย์สิน เศรษฐกิจของศรีลังกาได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิต แม้ว่า พยัคฆ์ทมิฬอีแลมจะสิ้นสภาพในศรีลังกาตั้งแต่ปี 2009 แล้วก็ตาม แต่สมาชิกพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในยุโรปและอเมริกาเหนือก็ยังคงมีความพยายามในการเคลื่อนไหวปรากฏตามสื่อต่าง ๆ อยู่จนทุกวันนี้

ย้อนประวัติศาสตร์การล่มสลายของ ‘ราชอาณาจักรฮาวาย’ ถูกโค่นโดยนายทุน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘สหรัฐอเมริกา’


มลรัฐฮาวาย (Hawaii) เป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ที่หมู่เกาะฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิก ฮาวายได้รวมเข้ากับสหรัฐอเมริกาเป็นมลรัฐลำดับสุดท้ายคือลำดับที่ 50 ในวันที่ 21 สิงหาคม 1953 โดยฮาวายอยู่ห่างจากชายฝั่งแผ่นดินใหญ่สหรัฐอเมริกาประมาณ 3,700 กม. (2,300 ไมล์) แต่เดิมฮาวายถูกเรียกว่า ‘หมู่เกาะแซนด์วิช’ (Sandwich Islands) ชื่อนี้ถูกตั้งโดย ‘เจมส์ คุก’ เมื่อเขาแล่นเรือมาพบเกาะในปี 1778) มีจำนวนประชากรราว 1,455,271 คน (ข้อมูลปี 2015) โดยมีนครโฮโนลูลูเป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ ภาษาทางการของรัฐคือ ภาษาอังกฤษ และ ภาษาฮาวาย ฮาวายได้มีชื่อเล่นของรัฐว่า ‘รัฐอโลฮา’ (Aloha State) ซึ่งคำว่า ‘อโลฮา’ เป็นคำทักทายในภาษาฮาวาย มีความหมายถึง ‘สวัสดี’ หรือ ‘ลาก่อน’ (ใช้ตามแต่โอกาส)


อย่างไรก็ตาม มลรัฐฮาวายประกอบไปด้วยเกาะสำคัญๆ 8 เกาะ ซึ่งก็คือ (1) Ni’ihau, (2) Kauai, (3) Oahu เป็นที่ตั้งเมืองหลวงคือ นครฮอนโนลูลู เป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของสหรัฐฯ, (4) Maui, (5) Molokai เนื้อที่ 260 ตารางไมล์ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองฮาวาย, (6) Lanai, (7) Kaho’olawe และ (8) Hawaii หรือ Big Island เป็นเกาะที่มีเนื้อที่มากที่สุดคือ 4,000 ตารางไมล์


(ธงชาติของราชอาณาจักรฮาวาย)

โดย มลรัฐฮาวาย แต่เดิมคือราชอาณาจักรฮาวาย (Kingdom of Hawaii) เป็นราชอาณาจักรที่ตั้งอยู่บนหมู่เกาะฮาวาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี 1795 และล่มสลายไปประมาณปี 1893 - 1894 ราชอาณาจักรฮาวายก่อตั้งขึ้นโดย พระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช หลังจากที่พระองค์ทรงชนะสงครามที่ยาวนานถึง 15 ปี พระองค์ได้ปราบดาภิเษกตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ราชอาณาจักรฮาวายมีระบอบการปกครองแบบมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่ปี 1795 จนกระทั่งปี 1840 และ ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 1840 จนกระทั่งปี 1893 ราชวงศ์คาเมฮาเมฮาปกครองฮาวายในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1810 ถึงปี 1893 ราชอาณาจักรฮาวายปกครองโดยอีกสองราชวงศ์คือ ราชวงศ์คาเมฮาเมฮา และ ราชวงศ์คาลาคาอัว หลังจากพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 1 สวรรคต พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 ซึ่งเป็นพระราชโอรสก็ทรงปกครองฮาวายต่อมาตามลำดับ ช่วงเวลานี้สมเด็จพระราชินีลิโฮลิโฮ พระอัครมเหสีในพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 1 ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการ และมีคูฮินา นูอิทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล (คล้ายกับนายกรัฐมนตรี)


(พระเจ้าคาลาคาอัวที่ 1 แห่งราชอาณาจักรฮาวาย)

ทั้งนี้ พระเจ้าลูนาลิโลแห่งฮาวาย (ราชวงศ์คาลาคาอัว) ทรงไม่มีรัชทายาท รัฐสภาแห่งราชอาณาจักรฮาวายจึงต้องเลือกระหว่างสมเด็จพระราชินีเอ็มมา นาเอ รูก พระราชินีในพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 4 กับเดวิด คาลาคาอัว ในระหว่างการตัดสินนั้นเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นมากมาย จนในที่สุด ‘เดวิด คาลาคาอัว’ ก็ได้ครองราชย์บัลลังก์ฮาวาย ทรงพระนามว่า ‘พระเจ้าคาลาคาอัวที่ 1 แห่งฮาวายง เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคง พระองค์จึงต้องประกาศแต่งตั้งรัชทายาท พระองค์จึงทรงแต่งตั้งให้เจ้าหญิงลีลีโอกาลานี พระขนิษฐาของพระองค์ให้เป็นรัชทายาทสืบบัลลังก์


(สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวาย)

การล่มสลายของราชอาณาจักรฮาวาย เกิดขึ้นภายหลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวายครองราชย์ ด้วยเพราะ นักธุรกิจชาวยุโรปและชาวอเมริกันส่วนใหญ่ต่างไม่พอใจการปกครองของพระองค์ เนื่องจากพวกเขาต้องการผนวกฮาวายให้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเพื่อที่จะสามารถกอบโกยผลประโยชน์จากการค้าน้ำตาลในฮาวายให้ได้มาก ๆ  (สหรัฐฯ นำเข้าน้ำตาลจากฮาวายมากที่สุด โดยนายทุนใหญ่ ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นชาวอเมริกัน) จึงเริ่มกระบวนการการผนวกฮาวาย โดยเริ่มจากการจัดตั้ง ‘คณะกรรมาธิการความปลอดภัย’ ขึ้นเพื่อต่อต้านและต่อสู้กับสมเด็จพระราชินีฯ จนในที่สุดรัฐบาลสหรัฐได้ส่งเรือรบพร้อมนาวิกโยธินเข้ามายึดฮาวาย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเรือปืนหรือ Gunboat policy* ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีและพระราชวงศ์ฮาวายไม่อาจต้านทานได้ การปฏิวัติฮาวาย เกิดขึ้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 1893 โดย ‘แซนฟอร์ด บี ดอล’ และพรรคพวกได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลฮาวายขึ้น เพื่อปกครองฮาวายจนกว่าจะถูกผนวกเข้ากับสหรัฐอเมริกา พวกเขาจับกุมพระราชินีและพระราชวงศ์และสั่งจำคุก จากนั้นก็ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐฮาวาย ราชอาณาจักรฮาวายถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 7 กรกฎาคม 1898 โดยฮาวายได้รับการอนุมัติให้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในสมัยประธานาธิบดีวิลเลียม แมกคินลีย์ จึงถือเป็นการสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการของราชอาณาจักรฮาวาย
*อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘นโยบายเรือปืนหรือ Gunboat policy’ https://thestatestimes.com/post/2024042211


(พิธีเชิญธงชาติสหรัฐฯ ขึ้นสู่ยอดเสาหน้าพระราชวังโอลานิ หลังจากสหรัฐฯ ยึดครองฮาวายได้สำเร็จ)

สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานี ทรงถูกจับกุมเมื่อ 16 มกราคม 1895 พระองค์ถูกตัดสินให้จำคุก 5 ปี ทำงานหนัก และปรับ 5,000 ดอลลาร์ โดยพระองค์ถูกขังในพระราชวังโอลานิ ผู้สนับสนุนพระองค์ถูกตัดสินจำคุกทั้งหมด รวมทั้งรัฐมนตรีโจเซฟ นาวาฮี เจ้าชายคาวานานาโคอา โรเบิร์ต วิลค็อก และเจ้าชายโจนาห์ คูฮิโอ พระองค์ทรงถูกกักบริเวณในที่พักเป็นเวลาหนึ่งปี และในปี 1896 สาธารณรัฐฮาวายก็คืนสิทธิการเป็นพลเมืองแก่พระองค์ หลังจากพ้นโทษ พระองค์ก็ทรงอาศัยอยู่ที่พระราชวังวอชิงตันจนกระทั่งเสด็จสวรรคตในเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1917 เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมอง พระบรมศพของพระองค์ได้รับการจัดพิธีฝังอย่างสมพระเกียรติในฐานะอดีตประมุขแห่งรัฐ โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ถูกบริจาคให้ "กองทุนสมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีเพื่อเด็กกำพร้าและยากจน" ซึ่งกองทุนสมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานียังคงมีอยู่ในปัจจุบัน สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวายจึงเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายที่ปกครองราชอาณาจักรฮาวาย โดยครองราชย์เพียง 2 ปี


(Owana Kaʻōhelelani Mahealani-Rose Salazar หนึ่งในสองของผู้อ้างสิทธิสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายในปัจจุบัน)


(Dennis ‘Bumpy’ Pu'uhonua Kanahele หนึ่งในสองของผู้อ้างสิทธิสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายในปัจจุบัน)

อย่างไรก็ตาม ต่อมา (1) Owana Kaʻōhelelani Mahealani-Rose Salazar บุตรีของเจ้าหญิง Helena Kalokuokamaile Wilcox แห่งราชวงศ์ Kalokuokamaile และ (2) Dennis ‘Bumpy’ Pu'uhonua Kanahele ผู้นำชาตินิยมฮาวาย และมีตำแหน่งเป็นประมุขแห่งรัฐของกลุ่ม Nation of Hawai'i เป็นหัวหอกในการก่อตั้ง Pu'uhonua o Waimānalo หมู่บ้านวัฒนธรรมฮาวาย และโครงการฟื้นฟูการเกษตรแบบดั้งเดิมของ Lo'i kalo (taro paddy) ใน Waimānalo, Hawai'i Pu'uhonua ซึ่งภาษาฮาวายมีความหมายว่า ‘สถานที่ศักดิ์สิทธิ์’ หรือ ‘สถานที่หลบภัย’ โดยกลุ่ม Nation of Hawai'i ซึ่งทำหน้าที่บริหารหมู่บ้านถือว่าตัวเองเป็นรัฐบาลที่มีอธิปไตยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศโดยทำหน้าที่เป็นรัฐสืบต่อจากราชอาณาจักรฮาวายที่เป็นเอกราช ดังนั้นจึงไม่อยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา โดย Kanahele ได้อ้างตัวเป็นผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 และต้นทศวรรษที่ 1990 Kanahele กลายเป็นที่รู้จักกันในเรื่องของการเคลื่อนไหวเพื่ออำนาจอธิปไตยของฮาวาย ซึ่งต่อต้านกฎหมายของรัฐบาลกลางและความเป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างเปิดเผย ทั้งสองต่างก็เป็นผู้อ้างสิทธิในการสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายจนปัจจุบัน 

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล 
 

เปิด ‘10 สถานที่’ ที่มีผู้คนไปเยือนน้อยที่สุด สอดแทรกความงาม - ควรค่าแก่การท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวถือเป็นปัจจัยสำคัญของการใช้ชีวิตยุคใหม่ และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ มากมายหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สเปน อินเดีย กรีซ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนหลายล้านคนต่อปี ในขณะที่จุดหมายปลายทางอื่น ๆ มีนักท่องเที่ยวน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ในทุกปี ‘กรุงเทพมหานคร’ ประเทศไทย เป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมมากที่สุดในโลก ประมาณ 22 ล้านคน และ ‘กรุงปารีส’ ประเทศฝรั่งเศส ตามมาเป็นอันดับสอง ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 17.4 ล้านคนต่อปี

อย่างไรก็ตาม มีจุดหมายปลายทางที่มีความถี่ไม่มากนัก และมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้จุดหมายปลายทางเหล่านี้ได้รับความนิยมอย่างจำกัด ตัวอย่างเช่น เกาะต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอาจเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของระยะทางไกล ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงและใช้เวลานานกว่าจะเดินทางไปถึง หรือประเทศอื่น ๆ ที่แม้จะอยู่ใกล้ แต่ก็อาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าถึงได้เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปหรือขาดสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ รวมทั้งปัญหาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังด้อยพัฒนาอาจเป็นอุปสรรคในด้านการคมนาคมขนส่งและขนาดที่เล็ก ทำให้มีการจำกัดจำนวนของนักท่องเที่ยว 

นอกจากนี้ บางประเทศ เช่น เกาหลีเหนือ ถูกมองว่าการไปเยือนมีความเสี่ยง ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่แท้จริงที่เกิดจากความไม่มั่นคงทางการเมืองหรือความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ เช่น โซมาเลีย

สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศที่ดึงดูดนั้นไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับความสมบูรณ์ของประสบการณ์การเดินทางเสมอไป นอกเหนือจากประเทศที่ก่อให้เกิดข้อกังวลด้านความปลอดภัยแล้ว ประเทศที่ไม่ค่อยมีคนไปเยือนนั้นมักจะสามารถรักษาความงาม ความเงียบสงบ ได้อย่างแท้จริง 

Tuvalu เป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวน้อยที่สุดในโลก เพียง 3,700 คนในปี 2023 โดย Tuvalu เป็นประเทศหมู่เกาะอันเงียบสงบในมหาสมุทรแปซิฟิก ตามรายงานของนิตยสาร CEOWORLD ประเทศนี้มีประชากรเพียง 12,000 คน การท่องเที่ยวของประเทศมุ่งเน้นไปยังเรื่องราวของน้ำทะเลสีฟ้าสวยงาม ชายหาดที่มีต้นปาล์มพลิ้วไหว การดำน้ำตื้น และการดำน้ำลึก แนวปะการัง ทะเลสาบ และแหล่งที่อยู่อาศัยทางทะเลในพื้นที่อนุรักษ์ขนาด 33 กม.² (12.74 ไมล์²) ซึ่งเป็นที่ที่เต่าทะเลเจริญเติบโต ทำให้ที่นี่มีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น ชายหาดเหล่านี้เหมาะสำหรับการปิกนิก เดินเล่นสบาย ๆ ล่องเรือยอร์ช ทัวร์มอเตอร์ไซค์ เยี่ยมชมร้านเบเกอรี่ในท้องถิ่น เยี่ยมชมหอสมุดแห่งชาติ และสถานที่ประวัติศาสตร์จากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

หมู่เกาะ Marshall (Marshall Islands) มีนักท่องเที่ยวเพียง 6,100 คนในปี 2023 หมู่เกาะภูเขาไฟแห่งนี้ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างฟิลิปปินส์และฮาวาย มีชื่อเสียงจากหาดทรายสีขาวบริสุทธิ์ น้ำทะเลใสดุจคริสตัล และสิ่งมีชีวิตทางทะเลและพืชพรรณที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงปะการังมากกว่า 160 สายพันธุ์ หมู่เกาะ Marshall มีประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองที่สำคัญเนื่องจากเคยเป็นฐานทัพของญี่ปุ่นก่อนที่จะกลายเป็นสถานที่สำหรับทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับ Tuvalu หมู่เกาะ Marshall กำลังตกอยู่ในสภาวะอันตรายอันเนื่องมาจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เกาะ Niue ตั้งอยู่ในแปซิฟิกใต้และเป็นหนึ่งในประเทศที่เล็กที่สุดในโลก ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะปะการังยกสูงที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว 10,200 คนในปี 2023 สิ่งที่ทำให้ Niue มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือการไม่มี “ผู้คนที่พลุกพล่าน คิวที่ยาวเหยียด สัญญาณไฟจราจร หรือชีวิตที่วุ่นวาย” นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินกับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ว่ายน้ำ ดำน้ำตื้น ดำน้ำลึก พายเรือคายัค ทัวร์ ATV ขับเคลื่อน 4 ล้อ และเดินป่าแบบสบาย ๆ ผ่านภูมิประเทศต่าง ๆ เช่น ชายหาด ป่าฝน สวน และฟาร์มวานิลลา มีเที่ยวบินเข้าและออกจากเกาะ Niue เพียงสัปดาห์ละเที่ยวบินเดียว ดังนั้นจึงต้องวางแผนการเดินทางให้เหมาะสม

Kiribati เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นประเทศเดียวที่ตัดผ่านซีกโลกทั้งสี่ มีนักท่องเที่ยวเพียง 12,000 คนในปี 2023 เป็นจุดหมายปลายทางที่ยอดเยี่ยมสำหรับการตกปลา เล่นกระดานโต้คลื่น สำรวจสถานที่สำคัญในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และดูนก เกาะเล็กเกาะน้อย และเกาะปะการังทั้ง 33 เกาะของประเทศ เปิดโอกาสให้ดำน้ำลึกและดำน้ำตื้นในพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเกาะฟีนิกซ์ ซึ่งเป็นเกาะพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก Kiribati เป็นจุดหมายปลายทางที่ยังคงความเป็นธรรมชาติแต่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งเหมาะสำหรับนักเดินทางผู้หลงใหลในการสำรวจและการผจญภัยนอกเส้นทางที่ไม่มีใครเคยรู้จัก สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติ Kiribati ยืนยันว่า Kiribati เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการทำความเข้าใจกับประเทศ Kiribati ไม่ใช่เพียงเพื่อแวะผ่านเท่านั้น

Micronesia ตั้งอยู่ระหว่างหมู่เกาะ Marshall และ Palau มีนักท่องเที่ยว 18,000 คนในปี 2023 เป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกอีกแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยเศษซากของสงครามโลกครั้งที่สอง ชายหาดที่มีแสงแดดส่องถึง เหมาะสำหรับการตกปลาและเล่นกระดานโต้คลื่น และสัมผัสความมหัศจรรย์ทางทะเลที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านแนวปะการังระดับโลกและซากเรืออับปางในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เส้นทางเดินป่าตัดผ่านภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยความงามอันเขียวชอุ่ม ในขณะที่ใจกลางเมืองใน Micronesia เต็มไปด้วยสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่มีชีวิตชีวา

หมู่เกาะ Montserrat จะต่างจากหมู่เกาะแปซิฟิก โดยเป็นประเทศแรกที่มีผู้เยี่ยมชมน้อยภายนอกภูมิภาคนี้ ตั้งหมู่เกาะนิ้งอยู่ในแคริบเบียนทางตะวันออกของอเมริกากลาง มีนักท่องเที่ยว 19,300 คนในปี 2023 ซึ่งครั้งหนึ่ง Montserrat เคยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม แต่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงด้วยการระเบิดของภูเขาไฟในปี 1995 ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่ โดยเฉพาะต่อเมืองหลวงอย่างกรุง Plymouth หายนะครั้งนี้ทำให้ประชากรประมาณสองในสามของเกาะ Montserrat ต้องย้ายไปอยู่ประเทศอื่น โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร ในขณะที่ภูเขาไฟของเกาะยังคงคุกรุ่นอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วสงบนิ่งมาตั้งแต่ปี 2010 tพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ของ Montserrat ยังคงเป็นเขตหวงห้าม    

หมู่เกาะ Solomon อดีตอาณานิคมของอังกฤษ อยู่ทางตะวันออกของปาปัวนิวกินี ในปี 2023 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 29,000 คน หมู่เกาะประกอบด้วยเกาะมากกว่า 900 เกาะ แม้ว่าเสน่ห์ของการดำน้ำ การดำน้ำตื้น และการพายเรือคายัคจะมีอยู่ค่อนข้างมาก แต่ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลือจากสงครามโลกครั้งที่สองก็ยังเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ

Sao Tome and Principe ตั้งอยู่ในอ่าวกินีนอกชายฝั่งตะวันตกของแอฟริกากลาง ในปี 2023 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 34,900 คน เป็นประเทศเกาะที่มีความสวยงามที่ไม่มีใครเทียบได้ ประกอบด้วยหมู่เกาะสองแห่งที่ล้อมรอบเกาะหลัก ประเทศนี้ถือเป็นกลุ่มแอฟริกาที่เล็กเป็นอันดับสอง โดยมีความหนาแน่นของประชากร 187 คนต่อตารางกิโลเมตร (4858o/ตารางไมล์) กรุง Sao Tome เมืองหลวงมีประชากรประมาณ 58,000 คน

Comoros หมู่เกาะภูเขาไฟที่อยู่นอกชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเพียง 45,000 คนในปี 2023 ตั้งคั่นกลางระหว่างมาดากัสการ์และชายฝั่งโมซัมบิก มีความแตกแยกทางการเมืองระหว่างสหภาพ Comoros และ Mayotte ซึ่งเป็นหน่วยงานโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ความวุ่นวายทางการเมืองได้ขัดขวางการเติบโตของการท่องเที่ยว เพราะทำให้หมู่เกาะนี้มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ค่อนข้างจำกัด

Guinea Bissau ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ตั้งอยู่ระหว่างเซเนกัลและกินี เป็นที่ซ่อนขุมทรัพย์แห่งประวัติศาสตร์ ชายหาดอันบริสุทธิ์ ป่าอันเขียวชอุ่ม และสัตว์ป่า ในปี 2023 มีนักท่องเที่ยวมาเยือน 52,000 คน อย่างไรก็ตาม ความไม่มั่นคงทางการเมืองและความท้าทายทางเศรษฐกิจกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการท่องเที่ยว คำแนะนำอย่างเป็นทางการสะท้อนถึงข้อควรระวัง โดยอ้างอิงถึงการเก็บกวาดทุ่นระเบิดและข้อกังวลด้านความปลอดภัยเป็นระยะ ๆ แม้จะมีอุปสรรคเหล่านี้ แต่ในปัจจุบันความสงบสุขได้แผ่ขยายไปทั่วประเทศ ทำให้เกิดความหวังสำหรับการท่องเที่ยวในอนาคตที่น่าจะสดใสยิ่งขึ้น

สำหรับบ้านเรา แม้ว่าปัจจุบัน ‘กรุงเทพมหานคร’ จะเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมมากที่สุดในโลก มากถึง 22 ล้านคน แม้การเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมมากที่สุดในโลกจะยากมากแล้ว แต่การรักษาตำแหน่งเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมมากที่สุดในโลกนั้นยากยิ่งกว่า ดังนั้นพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนต้องร่วมมือและร่วมใจกันเพื่อเสริมสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ‘ความปลอดภัย’ ‘การบริการ’ ‘สิ่งอำนวยความสะดวก’ และสำคัญที่สุดคือ ‘อัธยาศัยที่ดีที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพและน้ำใจไมตรี’

‘Peace Corps’ หน่วยงานสันติภาพของ ‘สหรัฐอเมริกา’ ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ผ่านอาสาสมัครหนุ่มสาวชาวอเมริกัน

กว่า 60 ปีมาแล้ว ในยุคที่สงครามเย็นยังคงคุกรุ่นและรุนแรง นอกจากการเสริมสร้างและพัฒนากำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรแล้ว โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้จัดตั้งหน่วยงานภาคพลเรือนเพื่อการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่นำโดยสหภาพโซเวียตขนานกันไปด้วย หน่วยงานพลเรือนหนึ่งซึ่งมีบทบาทในภารกิจนี้ และยังดำรงคงอยู่จนทุกวันนี้ก็คือ ‘Peace Corps’ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ‘หน่วยงานสันติภาพ’ แต่โดยทั่วไปแล้วมักนิยมเรียกชื่อหน่วยงานด้วยชื่อภาษาอังกฤษทับศัพท์

(ประธานาธิบดี John F. Kennedy กับเหล่าอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ เมื่อ 28 สิงหาคม 1961) 

ทั้งนี้ ‘Peace Corps’ เป็นหน่วยงานและโครงการอิสระของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่จัดหา ฝึกอบรม และจัดส่งอาสาสมัครเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 1961 ตามคำสั่งผู้บริหาร 10924 (Executive order (10924)) ของประธานาธิบดี John F. Kennedy และได้รับฉันทานุมัติจากสภาคองเกรสในเดือนกันยายน 1962 โดยรัฐบัญญัติ ‘Peace Corps’ 

(‘Sargent Shriver’ ผู้อำนวยการคนแรกของ ‘Peace Corps’ กับประธานาธิบดี Kennedy)

โดยผู้อำนวยการคนแรกของ ‘Peace Corps’ คือ ‘Sargent Shriver’ ผู้เป็นน้องเขยของประธานาธิบดี John F. Kennedy เอง โดย ‘Shriver’ เขาเป็นสามีของ ‘Eunice Kennedy Shriver’ จึงเป็นบิดาของ ‘Maria Shriver’ อดีตภรรยาของ ‘Arnold Schwarzenegger’ พระเอกคนเหล็ก อดีตผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

(‘Walter Reuther’ ประธานสหภาพ Auto Workers ผู้เสนอแนวคิด ‘Peace Corps’)

แนวคิดของ ‘Peace Corps’ เกิดจากในปี 1950 ‘Walter Reuther’ ประธานสหภาพ Auto Workers ได้นำเสนอในบทความเรื่อง ‘ข้อเสนอสำหรับการปฏิบัติการเชิงรุกด้วยสันติภาพโดยรวม’ ว่า สหรัฐฯ ควรจัดตั้งหน่วยงานอาสาสมัครเพื่อส่งเยาวชนอเมริกันไปทั่วโลกเพื่อภารกิจด้านมนุษยธรรม และโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนา โดยสุนทรพจน์ของ ‘Reuther’ เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ระบุว่า...

“ผมพูดมานานแล้วว่าผมเชื่อว่าคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันที่ได้รับการฝึกฝนให้ร่วมกับคนหนุ่มสาวอื่น ๆ ในโลกจะถูกส่งไปต่างประเทศมากขึ้นด้วย ตำราเรียน อุปกรณ์สำหรับการพัฒนาต่าง ๆ และชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้คนช่วยเหลือให้สามารถพึ่งตนเองด้วยเครื่องมือแห่งสันติภาพ แทนที่คนอเมริกันหนุ่มสาวอีกจำนวนหนึ่งที่จะต้องถูกส่งไปพร้อมกับอาวุธสงคราม”

ในเดือนสิงหาคม 1960 หลังการประชุมแห่งชาติของพรรคเดโมแครตประจำปี ‘Walter Reuther’ ได้ไปพบกับ John F. Kennedy ที่เพื่อหารือเกี่ยวกับการเลือกตั้งของเคนเนดีและการจัดบุคลากรของฝ่ายบริหารในอนาคต ซึ่ง Kennedy ได้ให้คำมั่นที่จะสร้างหน่วยงานของฝ่ายบริหารที่จะกลายเป็นหน่วยสันติภาพ โดย Kennedy ได้ประกาศแนวคิดสำหรับองค์กรดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 1960 ในการกล่าวสุนทรพจน์ในการรณรงค์ในช่วงดึกที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนในเมืองแอนอาร์เบอร์บนบันไดของอาคาร Michigan Union ต่อมาเขาได้ขนานนามองค์กรนี้ว่า ‘Peace Corps’ 

วันที่ 1 มีนาคม 1961 ประธานาธิบดี Kennedy ลงนามคำสั่งบริหารที่ 10924 เพื่อเริ่มการก่อตั้งองค์กร ‘Peace Corps’ อย่างเป็นทางการ ด้วยความกังวลเกี่ยวกับกระแสความรู้สึกแห่งการต่อต้านสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้นในโลกที่สาม ประธานาธิบดี Kennedy มองว่า ‘Peace Corps’ เป็นวิธีการตอบโต้มุมมองแบบเหมารวมต่อกรณี ‘Ugly American’ (อเมริกันที่น่าชัง) และ ‘Yankee imperialism’ (ลัทธิจักรวรรดินิยมแยงกี้ ‘แยงกื้’ เป็นคำแสลงที่ใช้เรียกชาวอเมริกัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียหลังจากได้รับเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคม

จนกระทั่งประมาณปี 1967 ผู้สมัครเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะต้องผ่านการทดสอบวัดระดับ ‘ความถนัดทั่วไป’ (ความรู้ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับอาสาสมัคร ‘Peace Corps’) และความถนัดทางภาษา โดยวันที่ 28 สิงหาคม 1961 อาสาสมัครกลุ่มแรกได้ออกเดินทางไปยังกานาและแทนกันยิกา (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแทนซาเนีย) โครงการนี้ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 22 กันยายน 1961 และภายในระยะเวลา 2 ปี มีอาสาสมัครมากกว่า 7,300 คน ทำงานใน 44 ประเทศ และเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 คนในเดือนมิถุนายน 1966 ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ขององค์กรแห่งนี้

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่มีอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ เข้ามาปฏิบัติงานอาสาสมัคร ตั้งแต่ปี 1962 มีอาสาสมัครมากกว่า 5,600 คนปฏิบัติงานในประเทศไทย อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ มากมาย ตั้งแต่การศึกษา การพัฒนาชนบท สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันนี้ อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ยังทำงาน 2 โครงการหลักคือ การศึกษา และการพัฒนาเยาวชน การดำเนินการตามภารกิจของ Peace Corps สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างชาวไทยและชาวอเมริกันที่ทำงานร่วมกันในด้านมิตรภาพและการพัฒนา

โครงการการศึกษาในประเทศไทย อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา โดยจะร่วมสอนกับครูชาวไทยในห้องเรียน ช่วยแนะนำแนวทางและกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่มีความหลากหลาย และช่วยเหลือนักเรียนฝึกหัดการใช้ภาษาอังกฤษกับอาสาสมัครเจ้าของภาษา พื้นที่ปฏิบัติงานของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบทตามจังหวัดต่าง ๆ ยกเว้นกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล ในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลหรือมีทรัพยากรน้อยกว่าโรงเรียนอื่น ๆ โครงการนี้สนับสนุนความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ และมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ครูในโรงเรียนประถมศึกษาของไทยได้ปรับปรุงและประยุกต์ใช้แนวทางการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในห้องเรียนภาษาอังกฤษและวิชาอื่น ๆ และเพื่อออกแบบบทเรียนและสื่อที่สร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนหลักสูตรบูรณาการ นอกจากนี้แล้ว อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันมากมายในด้านการศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ในโครงการเชิงสร้างสรรค์ของโรงเรียนขนาดเล็ก

โครงการเยาวชนเพื่อการพัฒนา (The Youth in Development : YinD) อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดึงดูดเยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกลให้เตรียมพร้อมสำหรับบทบาทผู้ใหญ่ของพวกเขา โครงการ YinD นี้สอดคล้องกับมุมมองของรัฐบาลไทยที่เห็นว่าเยาวชนเป็นทรัพยากรที่ต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีสุขภาพแข็งแรง และมีส่วนร่วม นอกจากนี้ โครงการนี้ยังช่วยให้เยาวชนได้รับรู้และพัฒนาทรัพยากรของตนอย่างเต็มที่ทั้งภายในและภายนอก นำไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและบรรลุผลสำเร็จ เยาวชนหมายถึงผู้ที่มีอายุ 9-15 ปีสำหรับโครงการนี้ และได้รับความเห็นชอบจากพันธมิตรภาครัฐ อาสาสมัครทำงานในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ซึ่งเยาวชนเข้าถึงทรัพยากรของเมืองใหญ่ได้น้อย ดังนั้น งานส่วนใหญ่ของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ในโครงการ YinD คือการช่วยให้เยาวชนเปิดใจและพัฒนาทักษะที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางอาชีพและชีวิตสำหรับเยาวชนเหล่านั้น โดยปัจจุบันมีอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จำนวน 43 คนยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศไทย

สำหรับเป้าหมายอย่างเป็นทางการของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ คือการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา โดยการจัดหาชาวอเมริกันหนุ่มสาว ที่มีทักษะในสาขาต่าง ๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ การเป็นผู้ประกอบการ การเสริมสร้างศักยภาพของสตรี และการพัฒนาชุมชน อาสาสมัครคือพลเมืองชาวอเมริกันซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งได้รับการมอบหมายให้ทำโครงการเฉพาะในบางประเทศตามคุณสมบัติและประสบการณ์ของอาสาสมัครเหล่านั้น หลังจากการฝึกอบรมทางเทคนิคเป็นเวลา 3 เดือน สมาชิกอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะรับความคาดหวังให้ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 2 ปี หลังจากนั้นพวกเขาอาจขอขยายเวลาอาสาสมัครได้ อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ได้รับคำแนะนำให้เคารพประเพณีท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง เรียนรู้ภาษาในพื้นที่ปฏิบัติงาน และปรับตัวใช้ชีวิตในสภาพที่ของประเทศที่ปฏิบัติงานได้

ในปีแรก ‘Peace Corps’ มีอาสาสมัคร 900 คนใน 16 ประเทศ และขึ้นถึงจุดมากที่สุดในปี 1966 ด้วยจำนวนอาสาสมัคร 15,556 คนใน 52 ประเทศ หลังจากการลดงบประมาณในปี 1989 จำนวนอาสาสมัครลดลงเหลือ 5,100 คน แม้ว่าเงินงบประมาณจะเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมาและนำไปสู่การเติบโตอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 ภายในวันครบรอบ 50 ปี ในปี 2001 มีอาสาสมัครมากกว่า 8,500 คนทำงานใน 77 ประเทศ นับตั้งแต่ก่อตั้งอาสาสมัครหนุ่มสาวชาวอเมริกันมากกว่า 240,000 คนได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ และทำงานใน 142 ประเทศ

(Carol Spahn ผู้อำนวยการ ‘Peace Corps’ คนปัจจุบัน)

Carol Spahn ผู้เคยเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ปฏิบัติงานในประเทศโรมาเนียระหว่างปี 1994 ถึง 1996 เป็นผู้อำนวยการ ‘Peace Corps’ คนปัจจุบัน และ ‘Peace Corps’ ได้รับงบประมาณปีละ 410.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 15,114.61 ล้านบาท) น่าเสียดายที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ‘Peace Corps’ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างสูงและให้ประสิทธิผลอย่างมากในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ด้วยยังคงยึดติดกับ ‘นโยบายเรือปืน’ (Gunboat Policy) อยู่จนทุกวันนี้ หากสหรัฐฯ ใช้งบประมาณสำหรับกิจการ ‘Peace Corps’ เพียง 10% ของงบประมาณทางทหาร มั่นใจว่า  แน่นอนที่สุด จะมีประเทศต่าง ๆ และประชาชนพลโลกเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ด้วยความเต็มใจและด้วยความจริงใจมากขึ้นอย่างมากมาย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top