ย้อนเรื่องราว ‘หน่วย 731’ ของ ‘กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น’ หลังจับ ‘มนุษย์’ เป็น ‘หนูทดลอง’ อย่างโหดสุดๆ ในยุค WW2

หน่วย 731 มาจากชื่อเต็มว่า Manchu Detachment 731 (หน่วยแมนจู 731) และยังเป็นที่รู้จักในชื่อ หน่วย Kamo หรือ หน่วย Ishii เป็นหน่วยงานลับทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาสงครามชีวภาพและเคมีของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น หน่วยงานนี้เดิมก่อตั้งโดยกองกำลังสารวัตรทหารแห่งกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในปี 1936 มีกองบัญชาการใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองฮาร์บินซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในแมนจูกัว (ปัจจุบันคือจีนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ) ซึ่งขณะนั้นเป็นพื้นที่ภายใต้การยึดครองของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น หน่วย 731 มีหน่วยงานย่อยอยู่ทั่วจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หน่วยนี้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพลโท Shiro Ishii นายแพทย์ทหาร ตัวอาคารของหน่วย 731 สร้างขึ้นในปี 1935 เพื่อใช้แทนป้อมจงหม่า เป็นทั้งเรือนจำและห้องทดลองของหน่วย 731 หน่วยนี้ปฏิบัติการจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามในปี 1945

(พลโท Shiro Ishii หัวหน้าหน่วย 731)

หน่วย 731 รับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามที่ฉาวโฉ่ที่สุดที่ก่อโดยกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น มีการทดลองกับผู้คนที่ถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเรียก ‘ผู้ถูกทดลอง’ (เป็นการภายใน) ว่า ‘ท่อนไม้’ การทดลองประจำวันมีตั้งแต่การฉีดโรคเข้าไปในร่างกายของผู้ถูกทดลอง การควบคุมภาวะขาดน้ำ (การบังคับให้อดน้ำ) การทดสอบอาวุธชีวภาพ การทดสอบห้องความดันบรรยากาศต่ำ การผ่าตัดชำแหละอวัยวะ การเก็บอวัยวะ การตัดแขนขา และการทดสอบอาวุธมาตรฐาน ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่เพียงแต่รวมถึง ชาย หญิง (รวมถึงสตรีมีครรภ์) และเด็กที่ถูกลักพาตัว แต่ยังรวมไปถึงทารกที่เกิดจากการข่มขืนหญิงที่ถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยอีกด้วย เหยื่อการทดลองมีหลากหลายเชื้อชาติ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวจีน และส่วนน้อยที่สำคัญคือชาวรัสเซีย นอกจากนี้ หน่วย 731 ยังผลิตอาวุธชีวภาพที่ใช้ในพื้นที่ของจีนซึ่งไม่ได้ถูกยึดครองโดยกองกำลังญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงเมืองต่าง ๆ แหล่งน้ำ และทุ่งนาของจีน การประมาณการผู้เสียชีวิตจากฝีมือของหน่วย 731 ตลอดจนโครงการที่เกี่ยวข้องมีมากถึง 500,000 คน และไม่มีนักโทษเหยื่อทดลองคนใดรอดชีวิตออกไปได้ ในช่วงสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 นักโทษเหยื่อทดลองทั้งหมดถูกสังหารเพื่อปกปิดหลักฐาน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักวิจัยของหน่วย 731 ถูกกองกำลังโซเวียตจับกุมและถูกพิจารณาคดีในการพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามที่เมือง Khabarovsk ในเดือนธันวาคม 1949 โดยนายทหารผู้บังครับบัญชาของทั้งจากกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นและหน่วย 731 ถูกตัดสินจำคุกระหว่าง 2-25 ปี ส่วนนักวิจัยที่ถูกจับโดยสหรัฐฯ จะได้รับความคุ้มครองอย่างลับ ๆ เพื่อแลกกับข้อมูลที่รวบรวมระหว่างการทดลองในมนุษย์ โดยสหรัฐอเมริกาช่วยปกปิดการทดลองของมนุษย์และมอบค่าตอบแทนให้กับผู้กระทำผิด กองทัพอเมริกันได้ร่วมเลือกข้อมูลอาวุธชีวภาพและประสบการณ์ของนักวิจัยเพื่อใช้ในโครงการสงครามชีวภาพของสหรัฐฯ เหมือนกับที่ทำกับนักวิจัยของนาซีเยอรมันในปฏิบัติการ Paperclip ดังเช่นกรณีของพลโท Shiro Ishii ผู้เป็นหัวหน้าหน่วย 731

(อาคารหลักของหน่วย 731 ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์หน่วย 731)

พลโท Shiro Ishii หัวหน้าหน่วย 731 ถูกเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ จับกุมระหว่างการยึดครองญี่ปุ่นเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และพร้อมกับผู้นำหน่วย 731 คนอื่น ๆ ซึ่งควรจะถูกสอบปากคำโดยทางการโซเวียตโดยละเอียด แต่เขาและทีมงานได้รับความคุ้มครองจากกองทัพสหรัฐฯ ในปี 1946 จากการฟ้องร้องคดีอาชญกรรมสงครามของญี่ปุ่นต่อหน้าศาลโตเกียวเพื่อแลกกับการเปิดเผยข้อมูลโดยสมบูรณ์ แม้ว่ารัฐบาลโซเวียตอยากให้มีการดำเนินคดี แต่กองทัพสหรัฐฯ ก็คัดค้านหลังจากรายงานของทีมจุลชีววิทยาทางทหารที่นำโดยพันโท Murray Sanders ระบุว่า ข้อมูลต่าง ๆ ของหน่วย 731 มีความสำคัญมากจนไม่สามารถที่จะ ‘ประเมินค่าได้อย่างแน่นอน’ โดยข้อมูลดังกล่าว ‘ไม่เคยถูกพบในสหรัฐฯ เลย’ อันเนื่องมาจาก ‘ความเข้มงวดในการทดลองกับมนุษย์’ ของมลรัฐต่าง ๆ และ ‘ข้อมูลเหล่านั้นค่อนข้างจะถูกต้อง’ 

วันที่ 6 พฤษภาคม 1949 พลเอก Douglas MacArthur ได้แจ้งกับวอชิงตันว่า “ข้อมูลจาก Ishii และทหารญี่ปุ่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะถูกเก็บไว้ในส่วนของข่าวกรองลับ และจะไม่ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานพิจารณาคดี ‘อาชญากรรมสงคราม’…” ในที่สุดข้อตกลงคุ้มครองของ Ishii ก็ได้ข้อสรุป และเขาไม่เคยต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามหรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติเลย หลังจากได้รับการยกเว้นโทษ Ishii ได้รับการว่าจ้างจากกองทัพสหรัฐฯ ให้บรรยายเจ้าหน้าที่อเมริกันที่ Fort Detrick มลรัฐแมรี่แลนด์ (อันเป็นที่ตั้งของหน่วยงานทางการแพทย์ของกองทัพบกสหรัฐฯ) เกี่ยวกับการใช้อาวุธชีวภาพและการค้นพบของหน่วย 731 ในช่วงสงครามเกาหลี Ishii ได้เดินทางไปเกาหลีเพื่อร่วมในกิจกรรมสงครามชีวภาพของกองทัพสหรัฐฯ หลังจากกลับมา เขาได้เปิดคลินิกตรวจและรักษาฟรี เขาได้จดบันทึกประจำวัน แต่ไม่ได้อ้างอิงถึงกิจกรรมในช่วงสงครามของเขากับหน่วย 731 เลย และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกล่องเสียงในปี 1959

(ฉากจำลองในพิพิธภัณฑ์หน่วย 731)

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สำนักงานสืบสวนพิเศษ (The Office of Special Investigations : OSI) ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้สร้างรายชื่อเฝ้าติดตามของผู้ต้องสงสัยที่ร่วมมือกับฝ่ายอักษะซึ่งถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าพวกเขาจะเพิ่มชื่อเข้าในรายการเฝ้าดูมากกว่า 60,000 รายชื่อ แต่พวกเขาสามารถระบุชาวญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องได้ไม่ถึง 100 คนเท่านั้น ในจดหมายโต้ตอบระหว่างกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และ Rabbi Abraham Cooper ในปี 1998 Eli Rosenbaum ผู้อำนวยการ OSI ระบุว่า เป็นเพราะปัจจัยสองประการ :

(1) แม้ว่าเอกสารส่วนใหญ่ที่สหรัฐฯ ยึดได้ในยุโรปจะถูกถ่ายด้วยไมโครฟิล์มก่อนที่จะส่งกลับไปยังรัฐบาลของตน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ตัดสินใจที่จะไม่ถ่ายไมโครฟิล์มรวบรวมเอกสารจำนวนมากก่อนที่จะส่งคืนให้กับรัฐบาลญี่ปุ่น

(2) รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ให้ความร่วมมือกับ OSI ในการเข้าถึงบันทึกเหล่านี้และบันทึกที่เกี่ยวข้องหลังสงคราม ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปส่วนใหญ่ต่างให้ความร่วมมือกับ OSI เป็นอย่างดี เป็นผลทำให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการระบุตัวตนของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ได้

(‘บังเกอร์สยอง’ (Horror bunker) ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่เมืองอันต๋า)

ต่อมาพฤษภาคม 2023 หนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ (SCMP) รายงานว่า ทีมนักโบราณคดีจากสถาบันมรดกวัฒนธรรมและโบราณคดีแห่งมณฑลเฮยหลงเจียง ได้เปิดเผยถึงการค้นพบซาก ‘บังเกอร์สยอง’ (Horror bunker) ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่เมืองอันต๋าทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ของทหารหน่วย 731 แห่งกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งได้เข้ายึดครองบางส่วนของดินแดนจีนในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนจะก่อตั้งหน่วย 731 เพื่อวิจัยอาวุธชีวภาพและทำการทดสอบทางการแพทย์อื่น ๆ อย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรมต่อชาวจีนและชาวเกาหลี รวมทั้งเชลยศึกชาวอเมริกันและรัสเซียด้วย 

(‘บังเกอร์สยอง’ (Horror bunker) ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่เมืองอันต๋า)

รายงานระบุว่า กองทัพญี่ปุ่นเคยใช้งานบังเกอร์สยองที่ค้นพบล่าสุด ระหว่างช่วงปี 1935-1945 สถานที่แห่งนี้ประกอบไปด้วยเครือข่ายของอุโมงค์และห้องใต้ดินกลุ่มต่างๆ ซึ่งในแต่ละห้องมีการใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป เครือข่ายห้องลับดังกล่าวอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 1.5 เมตร มีศูนย์กลางเป็นกลุ่มห้องรูปตัวยู (U) ความยาว 33 เมตร กว้าง 20.6 เมตร ซึ่งในจำนวนนี้มีห้องทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เมตร ที่คาดว่าใช้สังเกตการณ์มนุษย์ผู้เข้ารับการทดลองหลังได้รับเชื้อโรคร้ายหรือสารเคมีที่เป็นพิษเข้าไป ทางการจีนค้นพบบังเกอร์สยองแห่งนี้ครั้งแรกในปี 2019 โดยในตอนนั้นมีเพียงซากอาคารและลานบินที่ถูกทำลายหลงเหลืออยู่บนผิวดิน แต่ยังไม่สามารถเข้าไปสำรวจภายในบังเกอร์ใต้ดินได้ จนกระทั่งในเวลาต่อมาทีมนักโบราณคดีได้เข้าทำการขุดค้นโดยใช้เทคนิคทางธรณีฟิสิกส์และการขุดเจาะสมัยใหม่เข้าช่วยจนประสบผลสำเร็จ
 


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล