Friday, 25 April 2025
TheStatesTimes

จากความหลากหลายสู่ภัยความมั่นคงทางศีลธรรม กับวาทกรรมต่อต้าน LGBT ในยุทธศาสตร์อำนาจของรัสเซีย

(24 เม.ย. 68) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหพันธรัฐรัสเซียได้ผลักดันนโยบายและวาทกรรมทางการเมืองที่แสดงออกถึงการต่อต้านขบวนการ LGBT อย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่ในเชิงวัฒนธรรมและสังคม หากแต่ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีการจัดให้ "ขบวนการ LGBT" เป็นภัยคุกคามต่ออัตลักษณ์ของชาติ ศีลธรรมดั้งเดิม และความมั่นคงของรัฐ ความเคลื่อนไหวล่าสุดในการขึ้นบัญชี LGBT movement เป็น “องค์กรหัวรุนแรง” หรือแม้แต่ “องค์กรก่อการร้าย” สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของวาทกรรมอำนาจ ซึ่งมุ่งเน้นการผูกโยง “ความหลากหลาย” เข้ากับ “ความเสี่ยงทางความมั่นคง” โดยจะอธิบายผ่านบริบททางการเมืองและสังคมของรัสเซียต่อประเด็น LGBT ดังนี้

ในสมัยสหภาพโซเวียต ความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศถือเป็น “พฤติกรรมเบี่ยงเบน” และถูกทำให้เป็นอาชญากรรมภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1934 ตามนโยบายของโจเซฟ สตาลิน ซึ่งมาตรา 121 ของกฎหมายอาญาโซเวียตระบุว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน (เฉพาะในผู้ชาย) มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี แนวคิดของโซเวียตสะท้อนการมองว่า LGBT เป็นภัยต่อโครงสร้างครอบครัวแบบสังคมนิยม และถูกเชื่อมโยงกับ “ความเสื่อมทรามของทุนนิยมตะวันตก” แม้ในยุคหลังสงครามเย็นภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน แม้รัสเซียจะยกเลิกมาตราดังกล่าวในปี ค.ศ. 1993 แต่อคติทางสังคมและการตีตราก็ยังคงอยู่ในระดับสูง

กฎหมายปี ค.ศ. 2013 หรือที่รู้จักในชื่อ “กฎหมายต่อต้านการโฆษณาเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับเยาวชน” (Law on the Propaganda of Non-Traditional Sexual Relationships to Minors) มีสาระสำคัญคือการห้ามเผยแพร่เนื้อหาที่ “ส่งเสริมความสัมพันธ์รักร่วมเพศ” ต่อเด็กและเยาวชน โดยมีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญา เช่น ปรับเงิน หรือจำกัดสิทธิ์ทางสื่อสารมวลชน ต่อมาในปี ค.ศ. 2022 กฎหมายดังกล่าวได้ถูกขยายขอบเขตให้ครอบคลุม “การโฆษณา LGBT ในที่สาธารณะ” ทั้งหมดไม่จำกัดเฉพาะต่อผู้เยาว์ ซึ่งหมายความว่าการพูดถึงความหลากหลายทางเพศในเชิงบวก การจัดกิจกรรม หรือสื่อที่เกี่ยวข้องสามารถถูกปรับโทษตามกฎหมายได้อย่างกว้างขวาง นี่เป็นพัฒนาการสำคัญที่รัฐรัสเซียได้บูรณาการวาทกรรมต่อต้าน LGBT เข้าสู่กลไกของกฎหมายอย่างเป็นทางการ

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2023 ศาลฎีกาของรัสเซียได้มีคำวินิจฉัยให้ “ขบวนการ LGBT International Public Movement” เป็น “องค์กรสุดโต่ง” «экстремистская организация» ตามคำร้องจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มดังกล่าว “ทำลายคุณค่าดั้งเดิมของชาติและเป็นภัยต่อศีลธรรม” ต่อมาในปี ค.ศ. 2024 มีการประกาศโดยทางการบางระดับว่าการแสดงออกเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอาจเข้าข่าย “การก่อการร้ายทางวัฒนธรรม” (cultural terrorism) หรือ “ภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอารยธรรมของรัสเซีย” นี่ไม่ใช่แค่การกำหนดให้ LGBT movement เป็นกลุ่มผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับการต่อต้าน LGBT ไปสู่ระดับความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงจาก “วาทกรรมทางศีลธรรม” ไปสู่วาทกรรมความมั่นคงและรัฐนิยม

เมื่อเราวิเคราะห์ในมิติของวาทกรรมความมั่นคง (Security Discourse) และทฤษฎีวาทกรรม (Discourse Theory) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) โอเล่ วีเวอร์ (Ole Wæver) และสจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall) โดยเฉพาะเมื่อรัฐใช้วาทกรรมในการกำหนดว่า “อะไรคือภัยคุกคาม” และ “ใครคือศัตรูของชาติ” พบว่าในทศวรรษที่ผ่านมารัฐรัสเซียได้ใช้วาทกรรมที่ร้อยเรียง LGBT เข้ากับภาพของ “ภัยต่อความมั่นคงทางศีลธรรม” ตัวอย่างวลีสำคัญที่ปรากฏในสื่อและกฎหมายรัฐ ได้แก่

1) “ภัยต่อเด็ก”: โดยเฉพาะในกฎหมายปี ค.ศ.2013 ที่เน้นการปกป้องเยาวชนจาก “โฆษณา” ความหลากหลายทางเพศ กรอบนี้ทำให้รัฐสามารถนำเสนอการต่อต้าน LGBT ในฐานะการปกป้องเด็กแทนที่จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
2) “สงครามอารยธรรม”: รัฐบาลและสื่อกระแสหลักใช้แนวคิดว่าค่านิยมตะวันตกที่ยอมรับ LGBT คือการรุกรานทางวัฒนธรรม (Cultural Aggression) และรัสเซียต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องอัตลักษณ์ดั้งเดิม
3) “ภัยจากตะวันตก”: LGBT ถูกโยงเข้ากับภาพลักษณ์ของ “ตะวันตกที่เสื่อมทราม” ที่ต้องการแทรกแซงและทำลายโครงสร้างครอบครัวของรัสเซีย

วาทกรรมเหล่านี้ทำหน้าที่ จัดระเบียบความคิดของประชาชน และสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามภายใต้กรอบของ “การปกป้องชาติ”

การวิเคราะห์แนวนี้สามารถวางอยู่บนฐานความคิดของซามูเอล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) 
ซึ่งมองว่าโลกหลังสงครามเย็นจะเข้าสู่การขัดแย้งระหว่าง “อารยธรรม” แทนอุดมการณ์ รัสเซียได้หยิบยืมกรอบนี้มาใช้ในเชิงวาทกรรมเพื่อวาดภาพความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมรัสเซีย (ที่เน้นความเป็นครอบครัว, ศีลธรรม, ศาสนาออร์โธดอกซ์) กับอารยธรรมตะวันตกที่เสื่อมทราม (ที่ยอมรับเสรีภาพทางเพศ) ดังน้น LGBT จึงถูกนำเสนอในฐานะเครื่องมือหรือผลพวงของลัทธิฝรั่งนิยม (Westernism) ที่คุกคามคุณค่าของโลกสลาฟ เป็นส่วนหนึ่งของ “การรุกรานด้วยซอฟต์พาวเวอร์” (soft power invasion) ที่มุ่งทำลายอัตลักษณ์ของรัสเซียจากภายใน

ในเชิงทฤษฎีอัตลักษณ์ (Identity Politics) และวาทกรรมของเออร์เนสโต้ ลาคลาวและชองทัล มูฟเฟ (Ernesto Laclau & Chantal Mouffe) ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในสาย post-Marxist ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการวิเคราะห์การเมืองแบบวาทกรรม โดยเฉพาะในประเด็นอัตลักษณ์ ความขัดแย้ง และอำนาจของรัฐ 
พวกเขาปฏิเสธแนวคิดที่มองวาทกรรมเป็นเพียงการใช้ภาษาหรือการสื่อสารทั่วไป แต่เสนอว่า “วาทกรรมคือโครงสร้างของความหมาย” ที่มีผลต่อการจัดระเบียบโลกความจริง (social reality) โดยวาทกรรมคือกลไกที่ สร้างความจริง มากกว่าที่จะสะท้อนความจริง การผลิตอัตลักษณ์ของชาติรัสเซียยุคปูตินอาศัยการสร้าง “คู่ตรงข้าม” อย่างเข้มข้น โดย“เรา” คือประชาชนรัสเซียที่ยึดมั่นในคุณค่าดั้งเดิมของชาติ ศาสนา ครอบครัว ในขณะที่ “พวกเขา” คือกลุ่มเคลื่อนไหว LGBT, นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน, ตะวันตก และ NGO ต่างชาติ ซึ่งการกำหนดว่าใคร “ไม่ใช่พวกเรา” คือกลไกสำคัญในการรวมพลังชาติผ่านศัตรูร่วม ซึ่งในกรณีนี้ LGBT ถูกทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการคุกคามความมั่นคงทางวัฒนธรรมทั้งในด้านศีลธรรม ครอบครัว และอธิปไตย

เมื่อเราพิจารณา “LGBT ในฐานะศัตรูที่ผลิตได้” ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นร่วมสมัยที่สำคัญในรัฐศาสตร์เชิงวิพากษ์และทฤษฎีอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาผ่านแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) จิออจิโอ อากัมเบน (Giorgio Agamben) และฌาคส์ เดอริดา (Jacques Derrida) ที่มองว่ารัฐสามารถ “ผลิตความจริง” และ “กำหนดศัตรู” เพื่อควบคุมสังคมได้ เราพบว่า รัฐรัสเซียได้ใช้ประเด็น LGBT มาจัดระเบียบทางศีลธรรม (Moral Ordering of Society) ของสังคม รัฐชาติในยุคหลังสมัยใหม่โดยเฉพาะรัฐที่มีแนวโน้มอำนาจนิยมแบบอนุรักษนิยม มักใช้อำนาจทางวาทกรรมในการกำหนดขอบเขตของ "ศีลธรรมที่ถูกต้อง" ซึ่งเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ชาติ เช่น ศีลธรรมแห่งครอบครัว (Familial Morality) ศาสนาออร์โธดอกซ์ และเพศตามกำเนิดและบทบาททางเพศที่ชัดเจน กลุ่ม LGBT จึงถูกจัดให้อยู่นอกกรอบนี้และถูกใช้เป็น “คนอื่น” (Other) ที่รัฐสามารถจัดความหมายว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงทางวัฒนธรรมและจริยธรรม เช่นเดียวกับการที่รัฐเคยจัด “กลุ่มศัตรูของชนชั้น” หรือ “กลุ่มแปลกแยกทางอุดมการณ์” ในยุคสงครามเย็น วาทกรรมแบบนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงนโยบายทางเพศแต่เป็นการควบคุมความจริงในระดับอัตลักษณ์ของประชาชน

นอกจากนี้ LGBT ยังถูกกำหนดให้อยู่ในฐานะเป้าเบี่ยงเบนความสนใจจากวิกฤตเศรษฐกิจหรือสงครามซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่รัฐใช้อธิบายและควบคุมความไม่พอใจจากประชาชนคือ “การผลิตศัตรูภายใน” เพื่อเบี่ยงประเด็นจากความล้มเหลวของรัฐในด้านอื่น เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ความสูญเสียในสงครามหรือความไม่พอใจของสาธารณะในบริบทการเมืองระหว่างประเทศ ในกรณีรัสเซียตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2022 เป็นต้นมา กลุ่ม LGBT ถูกนำเสนอผ่านสื่อรัฐในฐานะสัญลักษณ์ของความเสื่อมทรามที่รุกรานจากตะวันตก และเป็น “เป้าหมายที่ง่าย” ต่อการโจมตีได้โดยไม่ต้องเผชิญแรงต้านจากผู้มีอำนาจหรือกลุ่มทุน แนวทางนี้คล้ายกับกลไกของ “แพะรับบาป” (scapegoating) ที่ใช้ในระบอบอำนาจนิยมหลายแห่ง เช่น การต่อต้านยิวของเยอรมนียุคนาซี 

การสร้างศัตรูภายในยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรวมศูนย์อำนาจให้กับวลาดิมีร์ ปูตินผู้นำ ลดทอนการถ่วงดุลจากฝ่ายค้านหรือภาคประชาสังคม รวมถึงกำหนดกรอบของ “ความรักชาติ” ให้หมายถึง “การปกป้องค่านิยมต่อต้าน LGBT” ผู้นำสามารถ “ผูกขาดคุณค่าทางศีลธรรม” ได้ภายใต้กรอบว่าเป็น “ผู้พิทักษ์ชาติจากภัยเสื่อมทราม” วาทกรรมนี้ยังส่งเสริมการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษนิยม ศาสนา และชนชั้นแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยให้ความรู้สึกมีส่วนร่วมกับการปกป้องชาติ โดยไม่ต้องเข้าใจนโยบายเศรษฐกิจหรือการเมืองระหว่างประเทศ

เมื่อเราพิจารณาในระดับนานาชาติ รัสเซียไม่ได้เป็นรัฐเดียวที่ใช้วาทกรรมต่อต้าน LGBT เพื่อยืนยัน “อัตลักษณ์ของรัฐ” หรือ “ปกป้องศีลธรรม” ยังมีอีกหลายประเทศที่ใช้วาทกรรมการต่อต้าน LGBT ยกตัวอย่างเช่นฮังการี ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน ฮังการีได้ผ่านกฎหมายห้ามเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ LGBT ในสื่อที่เด็กเข้าถึงได้ในปี ค.ศ. 2021 วาทกรรมเน้นว่า LGBT เป็นภัยคุกคามต่อครอบครัวแบบดั้งเดิมและค่านิยมของชาติ รัฐบาลออร์บานยังอ้างว่า ยุโรปตะวันตกพยายาม “บังคับ” ค่านิยมเสรีนิยมเข้าสู่ประเทศยุโรปตะวันออก ในขณะที่อิหร่าน การมีเพศสัมพันธ์เพศเดียวกันยังคงผิดกฎหมายและมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต กลุ่ม LGBT ต้องดำรงชีวิตใน “พื้นที่เงา” โดยไม่มีการคุ้มครองจากรัฐ และถูกกีดกันจากการศึกษา การทำงาน และบริการสาธารณะ รัฐมักใช้ศาสนาและกฎหมายชารีอะห์เป็นเครื่องมือในการควบคุมอัตลักษณ์และศีลธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับรัสเซีย รัสเซียตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างฮังการี (แนวอำนาจนิยมแบบเลือกตั้ง) และอิหร่าน (รัฐศาสนา) รัฐใช้ “ศีลธรรมรัสเซียดั้งเดิม” เป็นกรอบการจัดระเบียบทางอุดมการณ์ โดยนำเสนอ LGBT เป็นภัยต่ออารยธรรมสลาฟ-ออร์โธดอกซ์ และ “ภัยจากตะวันตก”

ดังนั้นวาทกรรมต่อต้าน LGBT ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระดับสัญลักษณ์ทางการเมือง แต่มีผลกระทบที่ชัดเจนต่อการดำรงชีวิต กฎหมาย “ต่อต้านโฆษณา LGBT” (ในปี ค.ศ. 2013 และขยายในปี ค.ศ. 2022) ทำให้กิจกรรมทางวัฒนธรรม การให้ข้อมูล และการแสดงออกทางอัตลักษณ์ถูกตีความว่า “ผิดกฎหมาย” ปี ค.ศ. 2023-2024 กลุ่ม LGBT ถูกจัดเป็น “องค์กรสุดโต่ง” ส่งผลให้องค์กรช่วยเหลือและพื้นที่ปลอดภัยต้องปิดตัว มีรายงานว่ากลุ่ม LGBT ถูกตำรวจตรวจสอบอย่างเข้มข้นในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถานที่ทำงาน กลุ่มอนุรักษนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐมักใช้ความรุนแรงกับกลุ่ม LGBT โดยไม่มีการลงโทษทางกฎหมายพื้นที่ออนไลน์ที่กลุ่ม LGBT เคยใช้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือช่วยเหลือกัน กำลังถูกตรวจสอบและแบนอย่างเป็นระบบ

องค์กรสิทธิมนุษยชน อย่างเช่น Human Rights Watch และ Amnesty International ได้ออกแถลงการณ์ประณามรัสเซียหลายครั้งว่า “ล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน” มีการรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของ LGBT ในรัสเซีย ซึ่งถูกใช้ในการนำเสนอในเวทีสหประชาชาติ ในขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศ สหภาพยุโรป (EU) ได้แสดงท่าทีประณามและกำหนดมาตรการจำกัดความร่วมมือทางวัฒนธรรมบางด้าน UN Human Rights Council ตั้งข้อสังเกตว่า รัสเซียมีแนวโน้มละเมิดหลักการ “non-discrimination” ตามพันธกรณีของกติการะหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศพันธมิตรของรัสเซียบางแห่ง เช่น เบลารุส, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย กลับสนับสนุนท่าทีดังกล่าวของรัสเซีย โดยอ้างเรื่อง “อธิปไตยทางวัฒนธรรม”

บทสรุป ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านของระเบียบโลก รัสเซียได้ใช้ LGBT ไม่เพียงในฐานะกลุ่มประชากร แต่ในฐานะ “วาทกรรมทางการเมือง” ที่สามารถจัดระเบียบอุดมการณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับโลกภายนอก ภายใต้ยุทธศาสตร์ของอำนาจแบบอนุรักษนิยม รัฐบาลรัสเซียได้ลดทอน “ความหลากหลายทางอัตลักษณ์” ให้กลายเป็น “ภัยความมั่นคงของชาติ” ผ่านการสร้างศัตรูภายใน การควบคุมทางศีลธรรม และการประกาศใช้กฎหมายที่มีลักษณะกดทับพื้นที่ของกลุ่มเพศหลากหลาย กลไกของรัฐอาศัย วาทกรรมความมั่นคง (securitization discourse) โดยผูกโยง LGBT เข้ากับแนวคิด “ภัยจากตะวันตก”, “ภัยต่อเด็ก”, และ “สงครามอารยธรรม” เพื่อทำให้ประชาชนยอมรับมาตรการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพได้ภายใต้ข้ออ้างเพื่อความมั่นคงและศีลธรรมของชาติ การสร้าง “เรา–พวกเขา” (us–them) ดังกล่าวยังทำหน้าที่ผลิต “ศัตรูที่จัดการได้” (manageable enemy) เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ การคว่ำบาตร หรือภาวะสงคราม อย่างไรก็ตามแนวโน้มในอนาคตชี้ให้เห็นว่า การเมืองอัตลักษณ์ (identity politics) กำลังกลายเป็นสนามต่อสู้สำคัญในการกำหนดทิศทางของระเบียบโลกใหม่ รัฐต่าง ๆ โดยเฉพาะอำนาจที่ต่อต้านเสรีนิยมตะวันตกอาจหันมาใช้วาทกรรมแบบเดียวกันนี้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรูปแบบอำนาจที่รวมศูนย์และต่อต้านสิทธิมนุษยชน ในบริบทนี้ LGBT ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มเปราะบางทางสังคม แต่กลายเป็นจุดตัดของอุดมการณ์ อำนาจ และภูมิรัฐศาสตร์ ที่ควรถูกทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน

ททท. ปรับกลยุทธ์รุกตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล ปักหมุด 15 ตลาดหลัก ดันรายได้ปีนี้สู่เป้าหมาย 2.23 ล้านล้าน

(24 เม.ย.68) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผย ตั้งแต่ต้นปี 2568 จนถึงปัจจุบันนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกลเติบโตโดดเด่น พร้อมเร่งเครื่องกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพเดินทางสู่ประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล เน้นเจาะกลุ่ม Health & Wellness, Yacht, Sport and Entertainment ผลักดันรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติสู่เป้าหมาย 2.23 ล้านล้านบาทในปี 2568

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า จากสถิติสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 เมษายน 2568 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว 11,350,463 คน ซึ่งพบว่าตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลมีแนวโน้มการเติบโตแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ทั้งตลาดนักท่องเที่ยวหลักและตลาดศักยภาพใหม่ อาทิ อิสราเอล 131,958 คน ( +97.43%) อิตาลี 114,808 คน (+28.6%) ฝรั่งเศส 364,262 คน (+22.65%) สหราชอาณาจักร 423,324 คน (+20.61%) เนเธอร์แลนด์ 94,074 คน (+17.88%) สเปน 52,629 คน (+17.75%) ออสเตรเลีย 255,420 คน (+16.85%) รัสเซีย 839,463 (+15.41%) ซาอุดีอาระเบีย 43,356 คน (+15.26%) เยอรมนี 407,378 คน (+13.14%) และสหรัฐอเมริกา 379,472 คน (+12.83%) 

โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนที่นั่งบนเครื่องบิน (Seat Capacity) เพิ่มขึ้นจากการดำเนินกลยุทธ์ Airline Focus ในการส่งเสริม ผลักดัน และร่วมมือกับสายการบินระหว่างประเทศให้เพิ่มความถี่เที่ยวบิน รวมถึงขยายเส้นทางบินใหม่ทั้งจากเมืองหลักและเมืองรองในต่างประเทศสู่จุดหมายปลายทางในประเทศไทย โดยหลายประเทศยุโรปเพิ่มเที่ยวบินตรงเข้าประเทศไทยในช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปีที่ผ่านมา อาทิ สายการบิน Alitalia เส้นทางอิตาลี - กรุงเทพฯ สายการบิน Condor เส้นทางแฟรงก์เฟิร์ต – กรุงเทพฯ และภูเก็ต สายการบิน Evelop Airline S.L. เส้นทางมาดริด – กรุงเทพฯ สายการบิน Air Celedonie International เส้นทางปารีส – กรุงเทพฯ และการเพิ่มความถี่เที่ยวบิน อาทิ สายการบิน Iberojet เส้นทางมาดริด-กรุงเทพฯ สายการบิน Norse Atlantic Airways เส้นทางลอนดอน (แกตวิก) – กรุงเทพฯ เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มยอด Forward Booking การจองบัตรโดยสารเครื่องบินล่วงหน้าในการเดินทางเข้าประเทศไทยช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน ของกลุ่มตลาดระยะไกลยังมีแนวโน้มสดใส โดยเฉพาะตลาดสหราชอาณาจักร  อิตาลี สเปน อิสราเอล รัสเซีย

ทั้งนี้ ททท. ปรับกลยุทธ์เร่งผลักดันนักท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง และเป็นตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ เพื่อมาชดเชยนักท่องเที่ยวตลาดจีนที่มีแนวโน้มหดตัวลงในปีนี้ โดยเน้นการเพิ่มจำนวนของตลาด Quality Leisure, Family และ Incentive ในตลาดระยะไกล 15 ตลาด  ได้แก่ ยุโรป ( อังกฤษ, เยอรมนี, อิตาลี, อิสราเอล, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์, ออสเตรีย), อเมริกา (อาร์เจนตินา, บราซิล), โอเชียเนีย (ออสเตรเลีย), ตะวันออกกลาง (ซาอุดีอาระเบีย คูเวต) และแอฟริกา (แอฟริกาใต้) และตลาดระยะใกล้ 9 ตลาด ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา โดยเร่งการขยายการเติบโตของตลาดกลุ่มเป้าหมาย High Value ซึ่งมีการใช้จ่ายสูง อาทิ กลุ่ม Health & Wellness อาทิ นวดแผนไทย สปา โยคะ อาหารสุขภาพ และ Wellness Program ประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรป ตะวันออกกลาง อาเซียน และจีน กลุ่ม Yacht/ Super Yacht สำหรับตลาดยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชียแปซิฟิก กลุ่ม Sport and Entertainment โดยมีกีฬาที่จะส่งเสริม อาทิ กอล์ฟ มาราธอน วิ่งเทรล มวยไทย ดำน้ำ จักรยาน ในตลาดรัสเซีย ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และกลุ่ม Digital Nomad และ Workation ซึ่งประเทศไทยมีหลายเมืองที่นักท่องเที่ยวให้ความนิยม อาทิ เชียงใหม่ กทม. ภูเก็ต เกาะสมุย หัวหิน และ กระบี่

นอกจากนี้ ททท.จะใช้จุดแข็งทางด้านวัฒนธรรม และซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในการจัดกิจกรรม เทศกาล และสปอร์ตอีเวนต์ต่าง ๆ ภายใต้ Grand Festivity ในการดึงดูดให้เกิดการเดินทางมายังประเทศไทยและกระจายตัวไปยังจังหวัดหลักและรองได้ตลอดทั้งปี โดยภายหลังจากเทศกาลสงกรานต์ซึ่งล่าสุดประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีแล้ว จะจัดกิจกรรมอีเวนต์อย่างต่อเนื่องภายใต้ธีม Thailand Summer Festivals อาทิ ดนตรี (EDC, Wonderfruit, Big Mountain, ปลาร้าหมอลำ) กีฬา (UTMB, Regatta, WGP#1, FIVB, SEA Games) ศิลปะ (Na Satta, International Fireworks Festival) และวัฒนธรรมและอาหาร (Amazing Thailand Grand Taste) พร้อมสื่อสาร 360 องศาผ่านช่องทางออนไลน์-ออฟไลน์ สื่อ Social และ Mainstream Media ต่อเนื่องตลอดทั้งปีให้ประเทศไทยเป็น Top of Mind ของนักท่องเที่ยว โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทย 39 ล้านคน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.23 ล้านล้านบาทในปี 2568

‘สี จิ้นผิง’ ย้ำจีนเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกทุกชนิด ภายในปี 2578 แม้เศรษฐกิจชะลอตัว-ไร้สหรัฐฯ ร่วมหารือในเวทีเจรจาสภาพภูมิอากาศ

(24 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนให้คำมั่นต่อผู้นำโลกว่า จีนจะเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทศวรรษหน้า โดยจะประกาศเป้าหมายใหม่ภายในปี 2578 ที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจและทุกชนิดของก๊าซเรือนกระจก โดยแผนดังกล่าวเปิดเผยในการประชุมออนไลน์ของผู้นำโลก ซึ่งจัดโดยองค์การสหประชาชาติร่วมกับบราซิล เมื่อวันที่ 23 เมษายน โดยไม่มีสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม

รายงานจากสื่อทางการจีน (CCTV) ระบุว่า จีนมีแผนจัดทำแผนลดการปล่อยก๊าซแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อเสนอในการประชุม COP30 เดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะรวมถึงการควบคุมก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ เช่น มีเทนและไนตรัสออกไซด์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 17% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ

แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวและได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ แต่การที่ประธานาธิบดีสีออกมายืนยันแผนลดก๊าซในการประชุมระดับโลกครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณว่าจีนยังคงยึดมั่นในพันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ข้อตกลงปารีส แม้ขาดการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ที่ถอนตัวออกจากเวทีดังกล่าว

ทั้งนี้ จีนยังคงเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก โดยในปี 2566 การปล่อยก๊าซของจีนคิดเป็นสัดส่วนถึงราว 30% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดทั่วโลก ทำให้ความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนเป็นที่จับตามองจากประชาคมโลกในการขับเคลื่อนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เครื่องบินลำเลียง DHC6-400 ตกหน้ารีสอร์ทชะอำ เสียชีวิต 5 ราย เจ็บ 1 ราย เป็นเครื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(25 เม.ย. 2568) เวลาประมาณ 08.15 น. ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 เพชรบุรี ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุเครื่องบินเล็กตกในทะเล บริเวณหน้ารีสอร์ทแห่งหนึ่งในพื้นที่ชะอำ จ.เพชรบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ชะอำ และทีมกู้ชีพได้รุดเข้าตรวจสอบทันที

จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทีมกู้ภัยรายงานว่าพบผู้เสียชีวิต 5 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ซึ่งได้นำส่งโรงพยาบาลหัวหินแล้ว ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการกู้ร่างผู้เสียชีวิตและตรวจสอบสาเหตุของอุบัติเหตุ

สำหรับเครื่องบินที่ประสบเหตุดังกล่าว เป็นแบบ DHC6-400 Twin Otter ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเริ่มเข้าประจำการตั้งแต่ปี 2563 โดยเป็นเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีที่สามารถใช้งานได้หลากหลายภารกิจ รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางอากาศ

ความสัมพันธ์สามชั่วคน!! ‘โจ ฮอร์น พัธโนทัย’ ทายาท ‘สิรินทร์ พัธโนทัย’ นักธุรกิจหนุ่มผู้ผ่านวัฒนธรรมจาก 2 ทวีป 2 ฝั่งของโลก

จากตำนานเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน ของตระกูล ‘พัธโนทัย’ ที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งแรกเริ่มสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ‘สังข์ พัธโนทัย’ ได้ส่งลูกชาย ‘วรรณไว พัธโนทัย’ วัย 12 ปี และ ลูกสาว ‘สิรินทร์ พัธโนทัย’ ในวัย 12 ปี ไปอยู่ภายใต้การดูแลของท่านโจว เอินไหล อดีตนายกรัฐมนตรีของจีน ในฐานะ 'บุตรบุญธรรม' พร้อมกับปฏิบัติหน้าที่เป็น 'ทูตพิเศษ' ระหว่างจีนกับไทยไปในตัว

ก่อนที่ในอีก 10 ปีต่อมา คือปี 1975 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้นได้ลงนามสร้างสัมพันธ์ทางการทูตกับโจวเอินไหล นับเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนอย่างเป็นทางการ

จากความสัมพันธ์ของคนรุ่นก่อนส่งต่อและสืบทอดให้กับทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลพัธโนทัย นั่นก็คือ ‘โจ ฮอร์น พัธโนทัย’ บุตรชายของสิรินทร์ นักธุรกิจหนุ่มมากความสามารถ ผู้ผ่านหลากหลายวัฒนธรรมจาก 2 ทวีปทั้งเอเชียและยุโรป โดยเกิดในลอนดอน กลับมาเติบโตในไทย ก่อนจะไปเรียนต่อที่ประเทศจีนตอนอายุ 10 ขวบ และเรียนต่อในโรงเรียนฝรั่งเศสจนจบระดับมัธยมศึกษา จากนั้นไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและโทจากออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์

ปัจจุบัน โจ ฮอร์น คือหนึ่งในนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในบทบาท กรรมการอำนวยการ บริษัท Strategy613 จำกัด ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาให้กับองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ และหน่วยงานของรัฐ ในการลงทุนทำธุรกิจระหว่างไทยกับจีน

นอกจากการเป็นนักธุรกิจระหว่างประเทศแล้ว โจ ฮอร์น ยังปฏิบัติภารกิจพิเศษที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นหน้าที่ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด นั่นก็คือ การเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างไทยและจีน สืบทอดต่อจาก คุณตาสังข์ และคุณแม่สิรินทร์ ให้ยั่งยืนต่อไปตราบนานเท่านาน

‘เอกนัฏ’ ชง ‘กระดาษสัมผัสอาหาร’ เป็นสินค้าควบคุม หวังควบคุมโลหะหนัก คาดมีผลบังคับใช้ธันวาคม 2568

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานของสินค้า ให้เข้มงวดในการตรวจควบคุมการผลิตและนำเข้าสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้ง ยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน โดยเพิ่มจำนวนสินค้าที่ส่งผลกระทบกับความปลอดภัยให้เป็นสินค้าควบคุมมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสกัดกั้นสินค้าด้อยคุณภาพที่ทะลักเข้ามา และให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันสำหรับผู้ประกอบการในประเทศ ล่าสุด เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหารเป็นสินค้าควบคุม คาดมีผลบังคับใช้ธันวาคม 2568 

“ผมได้สั่งการ สมอ. เร่งประกาศให้ กระดาษสัมผัสอาหาร และกระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน ให้เป็นสินค้าควบคุมเพิ่มอีก 2 รายการ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายและหากเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ อาจมีปริมาณโลหะหนักและสารเคมีเกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งผู้ทำ ผู้นำเข้า ในการยื่นขอรับใบอนุญาตจาก สมอ. ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้” นายเอกนัฏ กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหาร มอก. 2948-2562” เช่น จานกระดาษ ถ้วยกระดาษ และ “กระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน มอก. 3438-2565” เช่น กระดาษรองอาหารที่ใช้ในหม้ออบลมร้อน หรือกระดาษอุ่นอาหารในไมโครเวฟ เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่มีข้อกำหนดสำคัญ ในการควบคุมปริมาณโลหะหนัก ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และโครเมียม และสารเคมีในกระบวนการผลิตที่เป็นอันตราย ได้แก่ สารฟอกนวล และสารต้านจุลินทรีย์ ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด รวมทั้งสารเคมีที่ใช้ต้องเป็นชั้นคุณภาพสัมผัสอาหาร (Food contact grade) เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะมาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน จะต้องผ่านการทดสอบที่อุณหภูมิความร้อนสูงสุด 175 องศาเซลเซียส โดยคาดว่ามาตรฐานดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนธันวาคม 2568 นี้ ซึ่งจะมีผลให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องทำ และนำเข้า เฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 สมอ. ได้จัดการสัมมนาเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการขอรับใบอนุญาต ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้ทำ ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย เข้าร่วมสัมมนาดังกล่าว จำนวนกว่า 330 ราย   

‘ทรัมป์ จูเนียร์’ ขยี้ ‘เซเลนสกี’ ผ่านโซเชียล ย้ำผู้นำยูเครนไม่ต้องการสันติภาพ-ควรถอยเรื่องไครเมีย

เมื่อวันที่ (24 เม.ย.68) โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ (Donald Trump Jr.) บุตรชายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แชร์โพสต์ของเดวิด แซกส์ มหาเศรษฐีและที่ปรึกษาพิเศษด้านคริปโตของทรัมป์ ผ่านแพลตฟอร์ม X พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า “สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจสถานการณ์นะ ก็คือ เซเลนสกี้ไม่ต้องการสันติภาพ”

โพสต์ต้นฉบับของแซกส์ระบุว่า ไครเมียควรเป็นข้อยอมถอยที่ง่ายที่สุดสำหรับยูเครน เนื่องจาก 1) ไครเมียอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียมานานกว่า 10 ปี 2) ประชากรส่วนใหญ่ในไครเมียเป็นชาวเชื้อสายรัสเซีย และผลสำรวจจากชาติตะวันตกชี้ว่าต้องการเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย 3) ยูเครนไม่มีศักยภาพทางทหารเพียงพอที่จะยึดไครเมียคืนมาได้

แซกส์ยังเสริมว่า “การโจมตีตอบโต้ครั้งใหญ่ของยูเครนที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในช่วงฤดูร้อนปี 2023 ได้พิสูจน์ให้เห็นในเรื่องนี้อย่างชัดเจน หากเซเลนสกีไม่ยอมถอยแม้แต่เรื่องไครเมีย ก็หมายความว่าเขาจะไม่ยอมถอยเรื่องอื่นอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับเขา”

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาว่า เซเลนสกีเป็นตัวการที่ทำให้สงครามยืดเยื้อต่อไป โดยระบุว่า “เซเลนสกีเป็นคนที่ยากจะรับมือมากกว่ารัสเซียในการเจรจาสันติภาพ” และชี้ว่า “การที่เซเลนสกีปฏิเสธข้อเสนอของรัสเซียเกี่ยวกับไครเมีย ทำให้การเจรจาสันติภาพเป็นไปได้ยาก”

อย่างไรก็ตาม ยูเครนยังคงยืนกรานไม่ยอมรับการสูญเสียไครเมีย โดยชี้ว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยและกฎหมายระหว่างประเทศ และการยอมจำนนจะเป็นแบบอย่างที่อันตรายต่อการรุกรานในอนาคต ​

‘ดร.หิมาลัย’ ข้องใจ เหตุใดสัญญาที่ กฟผ.ทำกับเอกชนจึงลึกลับ แม้แต่รัฐมนตรี ยังขอดูไม่ได้

เมื่อวันที่ (24 เม.ย. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้แชร์ข้อความ “ประชาชนที่ได้รับข้อมูลครบถ้วนถือเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นของระบอบประชาธิปไตย” ของ โทมัส เจฟเฟอร์สัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ อเมริกา

พร้อมโพสต์ข้อความเพิ่มเติมว่า อยากรู้สัญญาที่ กฟผ.ทำกับเอกชนจัง มันลึกลับอะไรนักหนา รมต. ยังขอดูไม่ได้

‘จิราพร’ ย้ำตู้คีบตุ๊กตาเข้าข่ายผิดกฎหมาย หากไม่มีใบอนุญาต ชี้ สคบ.พร้อมรับเรื่องร้องเรียน ด้านนครนายกยึดแล้ว 77 ตู้

(25 เม.ย. 68) น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พร้อมรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ 'ตู้คีบตุ๊กตา' ที่ไม่มีใบอนุญาต ซึ่งอาจเข้าข่ายการพนัน และย้ำว่าหากพบเห็นสามารถแจ้งเข้ามาได้ทันที พร้อมระบุว่า สคบ. มีการมอนิเตอร์ประเด็นที่ส่งผลกระทบผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง แม้ยังไม่มีการร้องเรียนอย่างเป็นทางการ

กรณีที่ผู้ปกครองเสนอให้ใช้มาตรการเด็ดขาดกับตู้คีบตุ๊กตาเหมือนกับบุหรี่ไฟฟ้า เพราะหวั่นมอมเมาเยาวชน น.ส.จิราพร ย้ำว่า หากมีข้อมูลหรือหลักฐานสามารถส่งมาให้ สคบ. ดำเนินการได้ทันที และหน่วยงานมีความพร้อมที่จะดำเนินการเชิงรุกหากพบประเด็นผ่านสื่อหรือโซเชียลมีเดีย

ด้านจังหวัดนครนายก ได้มีการกวาดล้างตู้คีบตุ๊กตาที่ผิดกฎหมายไปแล้ว 77 ตู้ จากห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และปั๊มน้ำมันใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.บ้านนา และ อ.องครักษ์ หลังได้รับร้องเรียนจากผู้ปกครองว่าตู้เหล่านี้เป็นการมอมเมาเยาวชน และถือเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน

เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า การเล่นตู้คีบตุ๊กตามีลักษณะของการพนัน เนื่องจากมีการเสี่ยงดวงและไม่สามารถรับประกันผลได้ทุกครั้ง จึงเข้าข่ายเป็นกิจกรรมที่ต้องมีใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะดำเนินการตรวจสอบและกวาดล้างต่อเนื่องเพื่อป้องกันผลกระทบต่อเยาวชนและประชาชนทั่วไป

โฆษกเวียดนามโต้ไม่ทราบชัด รัฐบาล ‘ทรัมป์’ สั่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ห้ามร่วมงานวันชาติ แต่ย้ำเป็นวันแห่งมิตรภาพและการให้อภัยระหว่างสองชาติ

(25 เม.ย. 68) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม นางฟาม ถู ฮั่ง (Pham Thu Hung) เปิดเผยในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 เมษายนว่า ไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของรายงานจาก The New York Times ที่ระบุว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยสั่งห้ามเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 30 เมษายนของเวียดนาม โดยกล่าวเพียงว่า “ไม่ทราบว่าข้อมูลนี้ถูกต้องแค่ไหน”

อย่างไรก็ตาม โฆษกฯ ได้เน้นย้ำว่า วันปลดปล่อยภาคใต้และวันรวมชาติในวันที่ 30 เมษายน เป็นชัยชนะและความยุติธรรม ที่ยุติความสูญเสียอันเจ็บปวด ไม่เพียงแต่ของประชาชนเวียดนามแต่ยังรวมถึงครอบครัวชาวอเมริกันอีกเป็นจำนวนมากด้วย

ปีนี้ เวียดนามจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการปลดปล่อยภาคใต้ โดยมีผู้แทนระดับสูงจากพรรคการเมืองต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศ ขบวนการสันติภาพ และมิตรประเทศเข้าร่วมตามคำเชิญของเวียดนาม รวมถึงการยืนยันเข้าร่วมจากจีน ลาว และกัมพูชา ที่เข้าร่วมขบวนพาเหรดในพิธีเฉลิมฉลอง

ทั้งนี้ เวียดนามและสหรัฐฯ ได้พัฒนาความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 1995 จนกระทั่งยกระดับเป็นความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมในปี 2013 การเฉลิมฉลองวันที่ 30 เมษายนนี้ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการให้อภัย การปรองดอง และการมุ่งสู่อนาคตร่วมกันของทั้งสองประเทศหลังผ่านพ้นความขัดแย้งในอดีต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top