Saturday, 26 April 2025
TheStatesTimes

สหรัฐฯ ได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จาก 4 ประเทศในอาเซียน

(22 เม.ย. 68) บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า สหรัฐฯ ได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จาก 4 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และไทย ในอัตราใหม่ เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 21 เม.ย. 68 โดยกัมพูชาสูงถึง 3,521%  

‘ชาวเมียนมา’ กับการเสพสื่อโซเชียลเชื่อแบบฝังหัว สุดท้ายอาจกลายเป็นเหยื่อถูกปั่นหัวด้วยข้อมูลเท็จ

ผ่านมากว่า 24 ชั่วโมงแล้วที่คำทำนายลวงโลกของหมอดูชาวเมียนมารายหนึ่งที่โพสต์ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อีกครั้งในวันที่ 21 เมษายนนี้

คำทำนายของเขาบนแอปพลิเคชัน Tiktok ได้รับการแชร์อย่างแพร่หลายสร้างความตระหนกให้แก่ชาวเมียนมาทั่วประเทศ 

มีรายงานว่าในวันนี้ชาวเมียนมาจำนวนมากทิ้งบ้านไปอยู่ตามสนามหรือสวนสาธารณะเพราะหวั่นสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามคำทำนายของหมอดูดังกล่าว

แต่แล้วจนถึงเวลาที่เอย่าเขียนบทความนี้ก็ผ่านมากว่า 24 ชั่วโมงแล้วก็ไม่ได้มีแผ่นดินไหวรุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างไร จนสร้างความโกรธแค้นในสังคมโซเชียลของคนพม่าไปตามๆ กัน
และนี่เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า คนเมียนมาอ่อนไหวต่อโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าเลือกที่จะเชื่อข่าวสารจากภาครัฐ

ถ้ามาดูเรื่องที่คนเมียนมาเลือกจะเชื่อโฆษณาชวนเชื่อจนเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเมียนมา เรื่องแรกคือ

เรื่องที่มีการปล่อยข่าวว่ากองทัพเกณฑ์ทหาร เพราะขาดทหารไปรบจนทำให้คนจำนวนมากโดยเฉพาะคนรวยและคนชั้นกลางส่งลูกหลานไปต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่ความจริงคือกองทัพเมียนมาต้องการจัดตั้งกองเสริม และอีกนัยหนึ่งคือการที่กองทัพเมียนมาต้องการผลักดันกลุ่มผู้สนับสนุนกลุ่มต่อต้านให้ออกจากประเทศ ซึ่งสุดท้ายวิธีนี้ก็ได้ผลเสียด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่มีการปล่อยข่าวที่แม้เอย่าได้ฟังมายังขำกลิ้งแถมแพร่หลายทั้งในหมู่คนพม่าทั้งในเมียนมาและในไทย ที่สำคัญคือในคนไทยบางคนก็เชื่อคือ เรื่องที่กลุ่มต่อต้านกองทัพออกมาปล่อยข่าวว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้ทำลายเมืองเนปิดอว์ไปแล้ว ทำให้ทหารและมินอ่องหล่ายไม่มีที่อยู่ สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะเทวดาลงโทษกองทัพเมียนมา

สิ้นเสียงหัวเราะ เอย่าถามกลับว่า งั้นที่กะเหรี่ยงทำสงครามมา 75 ปี ไม่ชนะเสียทีก็เพราะเทวดาไม่ช่วยเหมือนกันละสิ และการที่ประเทศไทยเกิดแผ่นดินไหวก็เพราะประเทศไทยมีผู้นำไม่ดีนะสิ สงสัยเพราะคนพม่าหนีมาอยู่ในไทยเยอะเทวดาเลยพิโรธมาลงโทษคนพม่าในไทยด้วยใช่ไหม....

สุดท้ายไม่มีสุรเสียงใดตอบกลับ...เอย่าจึงกล่าวกับคนที่คุยด้วยว่า อุบัติภัยไม่มีใครอยากให้เกิดหรอก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่ดีก็ควรมีจิตใจที่สูงในการที่จะมีไมตรีต่อเพื่อนมนุษย์เพราะสุดท้ายไม่มีใครทำร้ายเราได้หากเราคิดดี คิดอย่างมีเหตุผล เชื่ออย่างมีเหตุผล และไม่ฟังความด้านเดียว

เอย่าพูดทั้งหมดนี้ไม่ใช่หมายถึงแค่คนเมียนมานะคะ คนไทยก็เช่นกัน ไม่มีข่าวสารหรือโฆษณาชวนเชื่อใด ๆ ทำร้ายเราได้ถ้าเราไม่เลือกข้างที่จะฟังและหาข้อมูลรอบด้าน แล้วจึงตัดสินใจ เพราะอย่าลืมว่าสุดท้าย คนที่ได้รับผลกระทบก็ไม่ใช่ใครแต่เป็นตัวเราเอง

'สงกรานต์มาเลย์' ปะทะเดือดกลางห้างฯ ดัง เก้าอี้ลอยว่อน นักท่องเที่ยวเมียนมาทะเลาะวิวาทกับเจ้าถิ่น

(22 เม.ย. 68) หลังเหตุทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นในลานจอดรถกลางแจ้งของศูนย์การค้า 1 อุตามา (1 Utama) ระหว่างการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์มาเลเซีย ในวันสุดท้าย เมื่อคืนวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังมีคลิปวิดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่และแชร์ต่อกันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์มาเลเซีย

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองสงกรานต์ ประจำปี 2568 จนกลายเป็นกระแสในโซเชียลมีเดียของมาเลเซีย หลังมีผู้บันทึกภาพวิดีโอการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้ร่วมงานจำนวนหนึ่งในพื้นที่ลานจอดรถของศูนย์การค้าอุตามา 

อย่างไรก็ตาม เมื่อติดต่อสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ นายชาห์รุลนิซาม จาฟาร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจเมืองเปอตาลิงจายา เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า “จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการยื่นรายงานจากตำรวจเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” โดยยืนยันว่าตำรวจยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์และพิจารณาข้อเท็จจริงจากคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่

ทั้งนี้ สื่อท้องถิ่นมาเลเซียรายงานว่า ต้นเหตุมาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนและเมียนมา ทะเลาะวิวาทกันเนื่องจากมีปัญหาเรื่องเติมน้ำและการใช้ปืนฉีดน้ำ จนนำมาสู่เหตุการณ์บานปลายในท้ายที่สุด

สำหรับเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นประเพณีสำคัญของชาวไทยและได้รับความนิยมในหมู่ประชาคมไทยในมาเลเซีย ที่มักจัดกิจกรรมอย่างสนุกสนานและมีน้ำใจ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความกังวลต่อความปลอดภัย และภาพลักษณ์ของงานที่ควรจะเป็นการเฉลิมฉลองอย่างสันติ

ละครสั้นจีนบนโลกออนไลน์ฮอตฮิตในไทย พล็อตเข้มข้น-ความยาวกระชับ ผสานกลยุทธ์การตลาดสุดแยบยล ตอบโจทย์คนดูยุคใหม่ ‘ดูไว จ่ายคล่อง’

(23 เม.ย. 68) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระแสละครสั้นจีนได้รับความนิยมในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเติบโตของแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง TikTok ด้วยจุดเด่นด้านการเล่าเรื่องกระชับ ความยาวเพียง 3-5 นาที บวกกับเนื้อหาดราม่าเข้มข้น เช่น ความขัดแย้งในครอบครัว หรือการแย่งชิงอำนาจ

ระบบอัลกอริทึมช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมดูต่อเนื่อง ทำให้หลายคนยอมจ่ายเงินเพื่อรับชมจนจบ ส่งผลให้โมเดล “ดูเป็นตอน+จ่ายต่อเนื่อง” กลายเป็นเทรนด์ใหม่ เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคคอนเทนต์ในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แพลตฟอร์มอย่าง iQIYI และ Tencent Video รุกตลาดด้วยกลยุทธ์ “ละครสั้น+ละครยาว” ดึงดูดผู้ชมทั้งสายดูไวและดูยาว พร้อมเสริมด้วยต้นทุนผลิตต่ำ เรื่องราวหลากหลาย และระยะเวลาทำงานที่รวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยังเผชิญความท้าทายจากเนื้อหาที่ซ้ำซาก ผู้ชมเรียกร้องแนวใหม่ๆ เช่น สืบสวน วิทยาศาสตร์ หรือชีวิตจริง ขณะที่ AI เริ่มเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ผลิต คัดเลือกเนื้อหา ไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ชม

ทั้งนี้ จีนเผย ปี 2024 มีผู้ชมละครสั้นออนไลน์ถึง 662 ล้านราย คาดมูลค่าตลาดอาจแตะ 1 แสนล้านหยวนในปี 2027 โดยไทยยังคงเป็นตลาดหลักของภูมิภาคนี้ ด้วยวัฒนธรรมที่เปิดรับและความนิยมในคอนเทนต์หลากหลายจากจีน

'โตโยต้า' ทุ่ม 6.6 หมื่นล้าน ผุดโรงงาน EV ในเซี่ยงไฮ้

เซี่ยงไฮ้, 22 เม.ย. (ซินหัว) — วันอังคาร (22 เม.ย.) โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป (Toyota Motor Corp.) ผู้ผลิตยานยนต์ของญี่ปุ่น ได้ลงนามข้อตกลงก่อตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่โตโยต้าเป็นเจ้าของทั้งหมดในเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน

ข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับรัฐบาลเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ระบุว่าโตโยต้าจะลงทุนโครงการยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ในเขตจินซาน มูลค่ารวม 1.46 หมื่นล้านหยวน (ราว 6.64 หมื่นล้านบาท) ซึ่งมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา การผลิต และการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าเลกซัส (Lexus) และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ นี่เป็นโครงการยานยนต์พลังงานใหม่ที่มีอิทธิพลระดับโลกอีกหนึ่งโครงการในนครเซี่ยงไฮ้ ต่อจากโรงงานเซี่ยงไฮ้ กิกะแฟคทอรี ของเทสลา ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นของเซี่ยงไฮ้ในการขยายการเปิดกว้างระดับสูงและเร่งสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ระดับโลก

เชียงใหม่-คณะพยาบาลศาสตร์ มช. เปิดตัวคณบดีและแถลงแผนมุ่งสู่ 50 อันดับแรกของโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภารัตน์ วังศรีคูณ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานกล่าวเปิดและเป็นวิทยากรในกิจกรรมการถ่ายทอดและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแผนพัฒนาการศึกษาของคณะฯ ระยะที่ 13 (2566-2570) ฉบับปรับปรุง ประจำปีงบประมาณ 2568 'Together We Rise: Building on Our Pride, Shaping Our Future' โดยมี คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรเข้าร่วมรับฟัง 

ภายในงานคณบดีแถลงวิสัยทัศน์ใหม่ ได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลชั้นนำระดับสากล เพื่อสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืน รวมทั้งชี้แจงเกี่ยวกับกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนองค์กร เป้าหมายที่สำคัญ ประกอบด้วย เข้าสู่ 50 อันดับแรกของโลกในการจัดอันดับของ QS Ranking by subject , Socio-economic impact 300 ล้านบาท 

และ การได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ในระดับ Thailand Quality Class Plus : TQC Plus จากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมทั้งบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จและน่ายินดีที่เกิดขึ้นภายในคณะฯ ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ตลอดจนร่วมพูดคุยแบบเป็นกันเองในการรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อการนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ร่วมกัน 

ช่วงท้ายแนะนำเพลงใหม่ประจำคณะฯ ใช้สำหรับการสร้างความรักความผูกพันและเป็นตัวแทนสื่อถึงวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง บ้านสีแสด ร่วมแรงร่วมใจ ก่อนถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกันเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ ณ ห้องเอ็มเพรสแกรนด์ฮอลล์ ชั้น 3 โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันอังคารที่ 22 เมษายน 2568

สหรัฐฯ เตรียมเสนอรับรอง ‘ไครเมีย’ เป็นของ ‘รัสเซีย’ หวังปูทางสันติภาพยูเครน-รัสเซีย แต่ ‘EU’ คัดค้านเสียงแข็ง

(23 เม.ย. 68) วอชิงตันโพสต์รายงานว่า สหรัฐฯ เตรียมเสนอรับรองไครเมียเป็นของรัสเซียอย่างเป็นทางการ ในการหารือที่กรุงลอนดอนวันพุธนี้ โดยข้อเสนอนี้ถูกส่งต่อไปยังพันธมิตรตะวันตก เพื่อใช้เป็นฐานในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กรุงปารีสในวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568

ข้อเสนอมีเป้าหมายเพื่อยุติการสู้รบ ด้วยการแลกเปลี่ยนระหว่างการหยุดยิงถาวรกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวระบุว่า แผนดังกล่าวจะทำให้การสู้รบตามแนวหน้าหยุดชะงักลง โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของยูเครนที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย จะยังคงอยู่ในการควบคุมของรัสเซียต่อไป

นอกจากนี้ ความต้องการของยูเครนที่จะเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ก็ไม่รวมอยู่ในแผนนี้ ซึ่งอาจกลายเป็นจุดขัดแย้งสำคัญในเวทีการเจรจา

ขณะเดียวกัน คายา คัลลาส หัวหน้าฝ่ายการทูตของสหภาพยุโรป (EU) ยืนยันหนักแน่นว่ายุโรปจะไม่ยอมรับสถานะของไครเมียในฐานะดินแดนของรัสเซีย พร้อมวิจารณ์ว่าสหรัฐฯ ยังไม่ได้ใช้มาตรการกดดันรัสเซียอย่างเต็มที่ และระบุว่ารัฐบาลรัสเซียกำลัง “เล่นเกมกับการสงบศึกในช่วงอีสเตอร์” โดยไร้ความจริงใจในการแสวงหาสันติภาพ

คัลลาสยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ยูเครนและชาติพันธมิตรในยุโรปต่างคาดหวังให้วอชิงตันแสดงจุดยืนที่เด็ดขาดและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นในการเผชิญหน้ากับรัสเซีย

จันทบุรี หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินจันทบุรี จัดพิธีรำลึกโอกาสครบรอบ 40 ปีการสถาปนา

เมื่อวานนี้ (22 เม.ย.68) ที่หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินจันทบุรี ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี พลเรือตรี ชรัมม์ภากร พรหมภากร รองผู้บัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด เป็นประธานในงานวันครบรอบจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินปีที่ 40 โดยมีพิธีสงฆ์ ทำบุญและอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ พร้อมรำลึกถึงวีรกรรมของทหารกล้า ในโอกาสครบรอบ 40 ปีแห่งการสถาปนา โดยมีนายธวัชชัย นามสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พลตำรวจตรีผดุงศักดิ์ รักษาสุข ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี นาวาเอก นพโรจน์ สิริปริยพงศ์ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินจันทบุรี รวมทั้งอดีตผู้บังคับบัญชา,ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา(จันทบุรี) พร้อมผู้แทนสมาคมสื่อมวลชนและเครือข่ายจันทบุรี,หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และแขกผู้มีเกียรติร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง

การจัดพิธีในครั้งนี้นอกจากเป็นการรำลึกถึงความเสียสละของกำลังพลในอดีตแล้ว ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่กำลังพลในปัจจุบัน รวมถึงเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่หน่วยและครอบครัวของผู้ปฏิบัติหน้าที่

ทั้งนี้หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินจันทบุรี เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองกำลังป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด เริ่มมีบทบาทมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2483–2484 ระหว่างเหตุการณ์พิพาทอินโดจีน โดยกองทัพเรือได้สนธิกำลังในนาม “กองพลจันทบุรี” เข้าปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 และ พ.ศ. 2519 ได้รับมอบหมายให้ดูแลแนวชายแดนไทย-กัมพูชาในช่วงสถานการณ์ความตึงเครียด

กระทั่งวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2528 หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินจันทบุรีได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อแบ่งเบาภารกิจด้านการควบคุมและป้องกันชายแดนที่มีความยาวและซับซ้อน โดยเน้นรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ขณะที่หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราดรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดตราด ตลอดระยะเวลา 40 ปี หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินจันทบุรีได้ปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง พร้อมยึดมั่นในอุดมการณ์ ปกป้องผืนแผ่นดินไทย และจะยังคงเดินหน้าอย่างมั่นคงสู่อนาคตต่อไป

ความจริงก็คือความจริง!! พล.ต.อ.สมยศ เปิดใจหลังศาลยกฟ้อง ‘ไม่เคยโกรธแม้ถูกมองในแง่ลบ’ ขอบคุณกำลังใจทุกฝ่าย พร้อมทำตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ (22 เม.ย. 68) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลอ่านคำพิพากษาคดีร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบในคดีที่มีการเปลี่ยนแปลงพยานหลักฐานเพื่อช่วยเหลือนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ผู้ต้องหาคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 โดยมี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. และนายเนตร นาคสุข อดีตอัยการสูงสุด รวมทั้งพวกอีก 6 คนเป็นจำเลย

ศาลพิพากษาจำคุกนายเนตร นายเนตร นาคสุข (อดีตรองอัยการสูงสุด) 2 ปี และนายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม (อดีตอัยการอาวุโส) 3 ปี ส่วนจำเลยคนอื่นยกฟ้อง โดยหลังจากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท จำเลยทั้งหมดยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

พล.ต.อ.สมยศ กล่าวกับสื่อหลังการพิจารณาคดีว่า รู้สึกโล่งใจที่ตนพ้นมลทิน และขอบคุณศาลที่ให้ความยุติธรรม ยืนยันว่าเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทยและจะปฏิบัติตามคำสั่งศาล

ทั้งนี้ ศาลได้กำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศระหว่างการอุทธรณ์ ซึ่งจำเลยทั้งหมดยังคงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

สนพ. แจงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว 5,200 MW ไม่ทำให้ค่าไฟแพง ชี้ชัด กลับช่วยลดค่าไฟ - หนุนอนาคตพลังงานสะอาดของประเทศ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ชี้แจงถึงข้อเท็จจริงในประเด็นที่มีกระแสข่าวและความกังวลเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Big Lot) จำนวน 5,200 เมกะวัตต์ (MW) ว่าอาจทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นและสร้างภาระงบประมาณแผ่นดินเป็นหลักแสนล้านบาท ดังนี้

1. การยกเลิกการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,200 MW
นายวัฒนพงษ์ฯ ระบุว่า การรับซื้อไฟฟ้าปริมาณ 5,203 เมกะวัตต์ RE Big Lot เป็นการดำเนินการจากมติ กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 และได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ครบถ้วนไปก่อนแล้ว ปัจจุบันมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วเป็นส่วนใหญ่และบางโครงการได้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว การยกเลิกสัญญาของ RE Big Lot ที่ลงนามไปแล้วจึงไม่อาจจะทำได้ และหากจะมีการยกเลิกโครงการที่ไม่ลงนามในสัญญาส่วนที่เหลือกว่าสิบสัญญา จะทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับสัญญาที่ลงนามไปแล้ว และเป็นการดำเนินการแบบ 2 มาตรฐานระหว่างกลุ่มโครงการที่ได้มีการลงนามในสัญญาแล้ว และโครงการที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา

2. การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,200 MW จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงหรือไม่?
นายวัฒนพงษ์ฯ กล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot มีต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 2.7 บาทต่อหน่วย (พลังงานแสงอาทิตย์มีอัตรา 2.16 บาทต่อหน่วย พลังงานลมมีอัตรา 3.10 บาทต่อหน่วย พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับ BESS (ระบบเดินไฟในแบตเตอรี่) มีอัตรา 2.83 บาทต่อหน่วย) ซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย(Grid Parity) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) โดย ณ เดือน มีนาคม 2568 มีค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยประมาณ 3.18 บาทต่อหน่วย ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot จะไม่ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามการรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot จะทำให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลง เนื่องจากมีราคารับซื้อไฟฟ้าต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย โดยการรับซื้อไฟฟ้าจาก RE Big Lot จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลงประมาณ 4,574 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจาก RE Big Lot จะช่วยให้ประเทศไม่เสียโอกาสในการลงทุนในพัฒนาพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่มีอัตรารับซื้อในระดับที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในภาพรวม และช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาค่าไฟฟ้าของประเทศได้ในระยะยาว

3. สนับสนุนเป้าหมายลดคาร์บอน และตอบโจทย์อนาคตพลังงานสะอาดของประเทศ
นายวัฒนพงษ์ฯ เน้นว่าการรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้า และจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ร้อยละ 30 – 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) 

อีกทั้งการเพิ่มการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศด้วยการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top