Saturday, 26 April 2025
TheStatesTimes

ประชากรรัสเซียในภาวะวิกฤต หลังอัตราการเกิดลดลงต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายในบริบทเศรษฐกิจ สงคราม และภูมิรัฐศาสตร์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัสเซียกำลังเผชิญกับวิกฤตประชากรที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ซึ่งเป็นวิกฤติประชากรที่ลึกซึ้งและต่อเนื่อง หลายฝ่ายมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติในระยะยาว อัตราการเกิดที่ลดลง สัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และอัตราการอพยพของแรงงานฝีมือสูงล้วนบ่งชี้ถึงปัญหาที่ฝังรากลึกและยังหาทางแก้ไม่ได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ค.ศ. 2023 ที่อัตราการเกิดลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 200 ปี ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงสะท้อนถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามในยูเครน และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมรัสเซีย 

โดยในปี ค.ศ. 2023 มีเด็กเกิดใหม่ในรัสเซียเพียงประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีเด็กเกิดเพียง 616,200 คน เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ค.ศ. 2022 ที่มีมากกว่า 635,000 คน หรือมากกว่านั้นในช่วงก่อนโควิด สื่ออิสระและนักวิชาการบางส่วนได้ชี้ว่า จำนวนการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนี้เป็นผลมาจาก 1) สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน 2) ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต 3) ความไม่มั่นคงทางสังคมและการเมืองจากสงครามในยูเครน 4) ค่านิยมใหม่ที่ไม่เน้นการสร้างครอบครัวในคนรุ่นใหม่  

ถึงแม้จะผ่านพ้นช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไปแล้ว แต่จำนวนผู้เสียชีวิตในรัสเซียยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้สงครามในยูเครนยังได้คร่าชีวิตประชาชนและทหารรัสเซียจำนวนมาก (ตัวเลขไม่เป็นทางการระบุหลักแสนราย) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างประชากรโดยเฉพาะในกลุ่มชายหนุ่มวัยแรงงาน นอกจากนี้หลังการประกาศระดมพลบางส่วนในเดือนกันยายน ค.ศ. 2022 (partial mobilization) มีชายชาวรัสเซียหลายแสนคนอพยพออกนอกประเทศ โดยเฉพาะผู้มีการศึกษาและทักษะสูง เช่น โปรแกรมเมอร์ วิศวกร นักวิจัย ฯลฯ ทำให้รัสเซียสูญเสียทรัพยากรมนุษย์สำคัญ ซึ่งอาจกระทบต่ออัตราการเกิดในระยะยาว นักประชากรศาสตร์ชี้ว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง รัสเซียอาจเห็นจำนวนประชากรลดลงจากราว 143 ล้านคนในปัจจุบัน เหลือเพียง 130 ล้านคนในปี ค.ศ. 2050 หรืออาจต่ำกว่านั้นในสถานการณ์เลวร้าย สถาบันเพื่อการวิเคราะห์และคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ «ИСАП» ของรัสเซียรายงานว่า รัสเซียกำลังเข้าสู่ “ยุคประชากรหดตัว” «эпоха демографического сжатия» ซึ่งเป็นผลจากทั้งการเกิดที่น้อยเกินไป การเสียชีวิตที่มาก และการย้ายถิ่นออก 

แม้รัฐบาลรัสเซียจะพยายามส่งเสริมการเกิดอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการสวัสดิการต่าง ๆ เช่น เงินอุดหนุน “ทุนมารดา” «материнский капитал» แต่แนวโน้มอัตราการเกิดกลับยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในมิติ เศรษฐกิจ และ สังคม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 

1) ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น เงินเฟ้อ ค่าอาหารและที่อยู่อาศัยพุ่งสูง โดยเฉพาะหลังจากรัสเซียเผชิญกับการคว่ำบาตรระหว่างประเทศจากกรณีสงครามในยูเครนรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไม่เพียงพอในการดูแลลูกมากกว่าหนึ่งคนโดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่อย่างมอสโกหรือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจครอบครัวต้องเผชิญกับภาระที่หนักกว่าภูมิภาคอื่น ๆ หลายเท่า ค่าเช่าหรือค่าผ่อนชำระอพาร์ตเมนต์มีราคาเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 2–3 เท่า ค่าเลี้ยงดูเด็กในศูนย์รับเลี้ยงหรือโรงเรียนอนุบาลเอกชนสูงจนครอบครัวรายได้ปานกลางเข้าไม่ถึง ค่าจ้างพี่เลี้ยงเด็กในมอสโกเฉลี่ยอยู่ที่ 60,000–80,000 รูเบิล/เดือน (ราว 700–900 ดอลลาร์) ซึ่งเทียบเท่าหรือสูงกว่าค่าแรงเฉลี่ยในหลายภูมิภาคของประเทศ รายงานจาก Институт демографии НИУ ВШЭ ระบุว่า “ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนในมอสโกตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 18 ปีสูงกว่า 11 ล้านรูเบิล (ประมาณ 125,000 ดอลลาร์)” ซึ่งเป็นอัตราที่ “ไม่สอดคล้องกับรายได้ของชนชั้นกลางทั่วไป”นักประชากรศาสตร์อย่างเอเลนา ซาคาโรวา «Елена Захарова»  จาก Russian Academy of Sciences ชี้ว่า“ในระบบเศรษฐกิจที่เสี่ยงและมีต้นทุนการดำรงชีวิตสูงเช่นนี้ ครอบครัวจำนวนมากไม่สามารถ ‘แบกรับ’ ค่าใช้จ่ายของเด็กแม้แต่หนึ่งคนได้” จากข้อมูลของธนาคารกลางรัสเซีย «Банк России» ปี ค.ศ. 2023 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 7.4% แต่ในหมวดสินค้าเด็กเพิ่มขึ้นมากกว่า 10–15% ในบางเขตเมืองราคานม ผ้าอ้อม ของใช้เด็ก และบริการทางการแพทย์พุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและสาธารณสุขที่เพิ่มสูงส่งผลให้ครอบครัวรุ่นใหม่ลังเลในการมีลูกหรือมีลูกเพิ่ม รายงานของ РАНХиГС (Russian Presidential Academy of National Economy and Public Administration) ชี้ว่า “ระดับรายได้ต่ำและความรู้สึกถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่เลื่อนการแต่งงานและการมีบุตร” ปัจจัยข้างต้นนำไปสู่การเลื่อนหรือยกเลิกแผนการมีบุตร โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง การลดขนาดครอบครัวลงเหลือลูกคนเดียว หรือไม่แต่งงานเลย และภาวะ “urban childfree” ที่กำลังขยายตัวในหมู่คนหนุ่มสาวในเขตเมืองที่เลือกเส้นทางการงาน ความมั่นคง และเสรีภาพ มากกว่าการมีบุตร 

2) การเปลี่ยนแปลงของค่านิยมและโครงสร้างครอบครัว การแต่งงานล่าช้าและการเลือกที่จะอยู่คนเดียว (Singlehood) กลายเป็นเรื่องปกติในหมู่คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในเขตเมือง การให้ความสำคัญกับอาชีพและความมั่นคงส่วนบุคคลมากกว่าการมีครอบครัวและลูกหลาน รวมถึงอัตราการหย่าร้างสูงโดยรัสเซียมีอัตราการหย่าร้างสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก ส่งผลต่อทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่มองว่าครอบครัวไม่มั่นคง อเล็กซานเดอร์ ซินเนลนิโคฟ «Александр Синельников» นักสังคมวิทยาชาวรัสเซียชี้ว่า“ความคิดเรื่องครอบครัวในรัสเซียเปลี่ยนจาก ‘การมีลูกเพื่ออนาคตชาติ’ เป็น ‘จะมีลูกเมื่อรู้สึกว่าตัวเองมั่นคงเพียงพอ’ ซึ่งในเงื่อนไขปัจจุบัน แทบไม่มีใครรู้สึกเช่นนั้น” 

3) การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับครอบครัว พบว่าในรัสเซียสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาลไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในเขตเมืองชั้นนอกและในภูมิภาคห่างไกล ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นมีน้อยทำให้พ่อแม่โดยเฉพาะผู้หญิงทำงานลำบากเมื่อมีลูก การสนับสนุนทางรัฐจำกัด แม้จะมีนโยบายให้ “ทุนมารดา” «Материнский капитал» ที่ให้เงินสนับสนุนแก่ครอบครัวที่มีลูกคนที่สองหรือสาม และถูกขยายเพิ่มเติมในยุคของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แต่ผลลัพธ์ยังไม่ยั่งยืนแต่ระบบสนับสนุนอื่น ๆ เช่น ค่าดูแลเด็กหรือการลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรยังไม่เพียงพอในทางปฏิบัติ รวมถึงมีการเสนอสิทธิพิเศษด้านที่อยู่อาศัย เงินสนับสนุนการศึกษา และลดภาษีสำหรับครอบครัวที่มีลูกหลายคนซึ่งถึงแม้จะมีนโยบายเหล่านี้ แต่ปัญหาในระดับโครงสร้างยังไม่สามารถแก้ได้ เช่น ความไม่มั่นคง การอพยพแรงงาน และการขาดความเชื่อมั่นในอนาคต 

สงครามในยูเครนกับวิกฤติประชากรของรัสเซีย สงครามในยูเครนมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อประชากรทั้งในยูเครนและรัสเซียรวมถึงในระดับภูมิภาคและโลก มันส่งผลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงประชากรและอัตราการเกิดในรัสเซียและยูเครนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในแง่ของการย้ายถิ่นฐาน การสูญเสียชีวิต และการแยกครอบครัว โดยมีผลดังนี้ 

1) ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สงครามทำให้ประเทศสูญเสียการผลิตในระยะยาวส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ในรัสเซีย เช่น มอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สงครามทำให้ราคาสินค้าพื้นฐานเพิ่มขึ้น และรัสเซียต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกส่งผลให้มีปัญหาภายในเรื่องห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและบริการ ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนสินค้าและบริการบางประการ 

2) ผลกระทบต่อประชากรในด้านการย้ายถิ่นฐาน หลังจากการประกาศสงครามและมาตรการคว่ำบาตรหลายครั้ง ทำให้จำนวนประชากรรัสเซียเริ่มลดลง เนื่องจากการย้ายถิ่นฐานของผู้เชี่ยวชาญทางการงานและเยาวชนที่มองหาความมั่นคงทางการเงินและอาชีพในประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่า 

3) ผลกระทบทางสังคม สงครามในยูเครนทำให้มีการสูญเสียชีวิตของพลเรือนและทหารจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้มีการสูญเสียครอบครัวและมีผลกระทบทางอารมณ์ต่อผู้ที่รอดชีวิต หลายครอบครัวต้องแยกจากกันเนื่องจากสงคราม ทำให้เกิดการสูญเสียในหลายมิติ ทั้งด้านอารมณ์และการทำงาน การขาดแคลนทรัพยากรสำหรับครอบครัวที่ยังคงอยู่ในเขตสงคราม เด็กจำนวนมากต้องเผชิญกับความทรงจำที่รุนแรงจากสงคราม รวมถึงการสูญเสียทั้งครอบครัวและทรัพย์สิน ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาทางจิตใจในระยะยาว 

4) การลดลงของอัตราการเกิดในยูเครนและรัสเซีย การที่ประชากรจำนวนมากในทั้งสองประเทศต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การสูญเสียชีวิต และการย้ายถิ่นฐานส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะมีบุตรในอนาคต อัตราการเกิดลดลงในทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ของรัสเซีย ในแง่สังคมและเศรษฐกิจการมีบุตรในประเทศที่ประสบปัญหาทางการเงินและสงครามกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น การมีบุตรไม่ได้ถูกมองว่าเป็นทางเลือกหลักสำหรับเยาวชนในประเทศเหล่านี้ 

5) ผลกระทบทางการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ สงครามนี้ได้ผลักดันให้ประชาชนในทั้งสองประเทศมีอัตลักษณ์และความภักดีทางการเมืองที่แตกต่างกัน โดยมีบางกลุ่มที่สนับสนุนการบูรณภาพของอาณาเขตในขณะที่บางกลุ่มเรียกร้องให้เกิดความเป็นอิสระ ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองในรัสเซียและยูเครนและการแทรกแซงจากต่างประเทศและการปฏิรูปโครงสร้าง โดยประเทศตะวันตกได้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนยูเครนทั้งทางการเงินและทางการทหาร ซึ่งมีผลกระทบต่ออำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซีย 

6) ความขัดแย้งในเชิงอารยธรรม สงครามทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างอารยธรรมตะวันตกและอารยธรรมรัสเซีย-ยูเครน การสนับสนุนจากโลกตะวันตกให้แก่ยูเครนทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่าง "อารยธรรมตะวันตก" และ "อารยธรรมรัสเซีย" ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตีความอัตลักษณ์ของทั้งสองชาติ 

แนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลรัสเซีย 
รัฐบาลรัสเซียพยายามรับมือกับวิกฤตประชากร โดยเฉพาะอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ได้นำไปสู่การกำหนดนโยบายส่งเสริมครอบครัวในหลากหลายมิติ โดยหนึ่งในนโยบายหลักที่มีบทบาทชัดเจนที่สุดคือ นโยบาย "Mother Capital" «Материнский капитал» "Mother Capital"ถูกนำมาใช้ในปี ค.ศ. 2007 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อัตราการเกิดของรัสเซียตกต่ำหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ภายใต้การนำของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ครอบครัวมีลูกคนที่สองและสาม  หลักการคือ ครอบครัวที่มีลูกคนที่สองขึ้นไปจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐซึ่งสามารถนำไปใช้ในวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น ซื้อที่อยู่อาศัย ชำระค่าเล่าเรียนของบุตร นำไปสะสมในกองทุนบำนาญของมารดา ในปี ค.ศ. 2020 ได้มีการขยายสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เริ่มให้สิทธิตั้งแต่ลูกคนแรก เพิ่มจำนวนเงินสนับสนุน และเพิ่มทางเลือกในการใช้เงินทุน เช่น การสร้างบ้านในเขตชนบท อย่างไรก็ตามนโยบายนี้มีข้อจำกัด แม้ช่วงแรกมีผลกระตุ้นอัตราการเกิดในระดับหนึ่ง (ช่วงปี 2007–2015) แต่ไม่สามารถรักษาผลลัพธ์ระยะยาวได้ การมีบุตรยังคงถูกมองว่าเป็นภาระทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ค่าครองชีพสูง นักวิชาการบางรายชี้ว่า นโยบายนี้มีลักษณะ "เงินจูงใจชั่วคราว" ที่ไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างทางสังคมที่ลึกซึ้งได้ เช่น ความไม่มั่นคงในการจ้างงาน หรือปัญหาที่อยู่อาศัยในระยะยาว นอกจากนี้รัฐบาลยังมีมาตรการจูงใจเพิ่มเติมด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา และภาษี เช่นโครงการจำนองพิเศษสำหรับครอบครัวที่มีลูก «семейная ипотека» อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเพียง 5% การสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถกู้เงินเพื่อซื้อหรือสร้างบ้านโดยมีรัฐช่วยประกัน บางส่วนของ Mother Capital สามารถนำไปใช้เพื่อชำระค่าเล่าเรียนในระดับก่อนและหลังมหาวิทยาลัย สนับสนุนการศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยมีทุนการศึกษาสำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลายคนลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาสำหรับครอบครัวที่มีลูกหลายคน บางภูมิภาคมีการมอบ สถานะ “ครอบครัวใหญ่” «многодетная семья» ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษในเรื่อง ค่าขนส่ง อาหารกลางวันในโรงเรียน รวมถึงการเข้าสถานพยาบาลหรือศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน  

สรุป วิกฤตประชากรของรัสเซียเป็น “สัญญาณอันตราย” ต่อเสถียรภาพของรัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ในระยะยาว การลดลงของประชากรกำลังท้าทายอุดมการณ์ “รัสเซียที่เข้มแข็ง” ที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินพยายามสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดสองทศวรรษ  

ซึ่งวิกฤตประชากรในรัสเซียไม่สามารถอธิบายได้เพียงจากปัจจัยเชิงประชากรศาสตร์เท่านั้น หากแต่เป็นผลพวงจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจ โครงสร้างสังคม และค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างลึกซึ้ง ความไม่มั่นคงในชีวิตประจำวัน ค่าครองชีพที่พุ่งสูง และการขาดระบบสนับสนุนจากรัฐล้วนหล่อหลอมให้คนรุ่นใหม่ลังเลที่จะสร้างครอบครัว หลายฝ่ายมองว่าการแก้ไขวิกฤตประชากรของรัสเซียไม่สามารถพึ่งนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบสวัสดิการและโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย

‘วิชัย ทองแตง’ เชื่อมั่นคนไทยรับมือสงครามการค้าได้ ยก ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ ของในหลวง ร.9 คือหนทางพ้นวิกฤต

เมื่อวันที่ (16 เม.ย. 68) นายวิชัย ทองแตง นักธุรกิจและนักลงทุนชื่อดัง ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการขึ้นภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมการเตรียมรับมือ TRUMP WAR ว่า…  
ผมติดตามข่าวสารการเมืองในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ที่ Donald Trump สามารถช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี มาครองได้เป็นครั้งที่ 2 คนทั่วไปเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า เป็น Trump 2.0 

ทว่า ปรากฎการณ์ครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วโลก เมื่อ Trump ได้ประกาศ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ให้ขึ้นภาษีศุลกากร (Tariff) จนช็อคไปทั้งโลก ครอบคลุม 185 ประเทศทั่วโลกจาก 193 ประเทศ กล่าวขานกันว่ากลายเป็น TRADE WAR ที่เข้มข้นรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ทำให้ตลาดหุ้น รวมทั้งตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกร่วงอย่างหนัก ทุกประเทศต้องปรับตัวและปรับกลยุทธเพื่อความอยู่รอด ที่กระทบุรุนแรงที่สุดน่าจะเป็น ประเทศจีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ แม้ Trump จะมีประกาศเลื่อนเวลาออกไป 90 วัน นับแต่วันที่ 8 เมษายน 2568 สะท้อนให้เกิดการปรับตัวขึ้นของตลาดฯ แต่ก็ยังไม่สามารถคลายกังวลได้ว่า สถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คำถามที่ดังที่สุดที่ทั่วโลกกังวลคือ จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หรือไม่ และสภาวะเช่นนี้จะดำรงอยู่ยาวนานขนาดไหน "บางคนคิดเลยเถิดไปถึงว่า สงครามการค้านี้จะก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่ 

ในฐานะที่เคยเป็นนักธุรกิจ ที่คร่ำหวอดในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้มายาวนานปัจจุบันแม้จะล้างมือไปแล้วเมื่อตอนอายุครบ 70 ก็อดไม่ได้ที่จะเป็นห่วงประเทศชาติอันเป็นที่รักของพวกเราทุกคน ผมจึงได้สั่งให้ทีมงานติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และต้องยอมรับว่าวิกฤติครั้งนี้มันน่าห่วงจริง ๆไม่น่าเชื่อว่าคนชื่อ Trump เพียงคนเดียว จะสามารถสร้างความปั่นป่วนโกลาหลให้เกิดขึ้นกับโลกทั้งใบได้เพียงคำกล่าวไม่กี่ประโยค 

คนไทยพร้อมรับมือมั้ยครับ ? ส่วนตัวผมยังเชื่อว่า คนไทยยังขาดความพร้อมหลายด้านโลกการเงินมันซับซ้อนครับ ยิ่งเราเป็นประเทศเล็ก อำนาจต่อรองมีไม่มาก ความสามามารถในการแข่งขัน(Competitiveness) ของเรายังไม่แกร่งพอ ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกอยู่ไม่ใช่น้อย ในท่ามกลางโลกแห่งเทคโนโลยี ที่ AI กำลังมา Disrupt เกือบทุกสิ่งอย่างบนโลกใบนี้ เมื่อมาประจวบเหมาะกับ TRUMP WAR จะยิ่งทำให้เราป้องกันตัวได้ยากขึ้นในการวางแผนเผชิญวิกฤติ 

ทุกท่านอย่าเพิ่งสิ้นหวังนะครับ ประเทศไทยยังมีจุดแข็งบางอย่างที่ทำให้เราหลุดพ้นวังวนที่เชี่ยวกรากเหล่านั้นได้ ขอเพียงมี "สติ" 

ยังพอจำกันได้มั๊ยครับ ในช่วงวิกฤติการเงินในเอเชีย เมื่อปี พ.ศ.2540 ประเทศไทยได้น้อมนำเอา "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการแก้ปัญหา ทำให้เราผ่านวิกฤตินั้นมาได้ อันที่จริงพระองค์ท่านตรัสไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 แล้วครับ ปรัชญานี้ยังคงดำรงอยู่ เป็นแก่นแกนอยู่กลางใจพสกนิกรชาวไทยทุกคน ลองไปหาอ่านกันดูอีกครั้งนะครับ เป็นหลักปรัชญาที่ทำให้พวกเราเข้าใจการดำเนินชีวิตแบบทางสายกลางโดยตั้งอยู่บนหลักสำคัญสามประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้นกันกันที่ดีความสนใจของผม ทำให้ผมยอมรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์ "มูลนิธิครอบครัวพอเพียง" เพื่อสนับสนุนส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจปรัชญานี้ และประพฤติปฏิบัติตนตามครรลองอย่างเหมาะสม จนท่านดร.จงรักษ์ วัชรินทร์รักษ์ อดีตอธิการบดี แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ผู้ล่วงลับ) ได้ให้เกียรติเรียนเชิญเป็นผู้บรรยายวิชา "ศาสตร์แห่งแผ่นดิน" ในช่วงปฐมนิทศนักศึกษา 

ผมและครอบครัวยึดถือ และนำเอาหลักปฏิบัติของปรัชญานี้ มาใช้อย่างต่อเนื่องและยาวนานแล้วครับ อยากให้รัฐบาลน้อมนำมาสื่อสาร ถ่ายทอดอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง จะเป็นการดีมากอย่างน้อยฉุดรั้งและตักเตือนให้คนไทยมีสติ มีความหวัง ไม่ตื่นตระหนก หวาดกลัวต่อสงครามอารยะแบบไร้อารยะ ที่มนุษย์บางประเภทกำลังเบ่งพองซึ่งอำนาจของตน

พี่น้องครับ ลูกหลานครับ การประกาศ TRUMP WAR ครั้งนี้ ได้ให้บทเรียนสำคัญแก่เราอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสนามรบ หรือ สนามการค้า ทุกอย่างล้วนมาจากเป้าหมายเรื่อง เงินและผลประโยชน์ ถามว่า ประเทศไทย และปวงชนชาวไทย ปรารถนาเช่นเดียวกันนี้หรือเปล่า อย่าลืมว่าเรามี"ภูมิคุ้มกัน" ที่พ่อหลวงทรงสังสอนเป็นแนวปฏิบัติที่ส่งผลต่อความผาสุกและยังยืน เชื่อหรือไม่ครับ ลูกชายคนเล็กของผมเรียนจบด้านธุรกิจากมหาวิทยาลัย ABAC แต่เขาเลือกทางเดินชีวิตของเขาเอง ด้วยการมาขออนุญาตคุณพ่อ คุณแม่ว่า เขาขอเป็นเกษตรกร... เน้นด้วยว่า บนแนวทาง "ศาสตร์พระราชา" คุณแม่เขาบอกว่า เราต้องยอมเขาเลยนะพ่อ เชื่อได้ว่าเขาจะเป็นคนที่มีความสุขที่สุด เพราะเขาจะอยู่กับธรรมชาติและความพอเพียง โดยเหตุนี้ "สวนสมดุล" จึงก่อกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.พ.ศ. 2562 เขาทุ่มเทใส่ใจต่อแปลงวนเกษตร ที่ปลอดจากสารเคมีทั้งปวง พร้อมเปิดร้านกาแฟ ออแกนิก เล็ก ๆ อยู่อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ริมแม่น้ำแม่กลอง โดยขอย้ายสำมะโนครัวจากการเป็นคนคนกรุงเทพ ไปเป็นคนแม่กลอง และเปิดวิสาหกิจชุมชนเล็ก ๆ ร่วมกับชาวบ้านที่นั่น 

วันนี้เขาค้นพบว่า "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" คือ ปรัชญาที่ดีที่สุดที่จะช่วยจรรโลง และผดุงสังคมไทยให้ปลอดภัย และเป็นสุข ไม่ว่าวิกฤตจะเกิดขึ้นสักกี่ครั้งก็ตาม 

ฝากทุกท่านให้ศึกษาและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้นะครับ

สมรภูมิเขต 1 นครศรีฯ คึกคักเตรียมพร้อมรับเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคการเมืองเข้าสู่โหมดสร้างฐาน หลายตัวเต็งเริ่มขยับสับเปลี่ยน

จับตาเขต 1 นครศรีฯ ‘ดร.รงค์’ ย้ายไปรวมไทยสร้างชาติ ‘สส.หนึ่ง’ โยกมาลงชน ขณะที่ ‘ราชิต’ ขอพัก ส่วน ‘หมอผึ้ง’ ผันมาเขต 2 

เขต 1 นครศรีธรรมราช เป็นเขตเลือกตั้งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการเลือกตั้งปี 70 เพราะเป็นเขตเมือง ประชากรมีความรู้ ตื่นตัวทางการเมืองสูง 
 
น่าสนใจมากยิ่งขึ้นถ้า ‘ราชิต สุดพุ่ม’ สส.พรรคประชาธิปัตย์เขตนี้ไม่ไปต่อตามที่เป็นข่าว เพราะมีปัญหาด้านสุขภาพในห้วงเวลาที่อายุมากขึ้นตามลำดับ เขตเลือกตั้งที่ 1 ของนครศรีฯก็จะเหลือตัวเต็ง ‘ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ’ อดีต สส.พลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 64 ตามด้วย ‘จรัญ ขุนอินทร์ จากพรรคภูมิใจไทย ที่คราวที่แล้วแพ้ให้กับผู้ว่าฯราชิต แต่ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าทำงานการเมืองในเขตนี้อยู่ 

ยังมี ‘แมน-ปกรณ์ อารีกุล’ จากพรรคประชาชน ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นทำงานการเมือง เลือกตั้งคราวที่แล้วแมนมีคะแนนมาอันดับสอง ถีบ ดร.รงค์ลงไปอยู่อันดับสาม และสำหรับเขตนี้ยังมี ‘มนตรี เฉียบแหลม’ จากพรรคเพื่อไทย ที่ยังประสงค์จะลงเขตนี้ เมื่อ ‘บุณฑริกา ยอดสุรางค์’ อาจจะถอยไปเล่นการเมืองท้องถิ่น เพื่อเริ่มบันไดขั้นแรกของเวทีการเมือง 

กล่าวสำหรับ ดร.รงค์ แม้จะดูเป็นตัวเด่น แต่ก็ไม่ได้ปลอดโปร่งเสียทีเดียว เมื่อ ดร.รงค์ได้ตัดสินใจเดินออกจากพลังประชารัฐแล้ว เมื่อพรรคตัดสินใจเลือก ‘ฮูวัยดีย๊ะ อูเซ็ง พิศสุวรรณ’ น้องสาวของ ดร.สุรินทร์ ลงสมัครแทน ดร.รงค์แม้จะยังมุ่งมั่นทำงานด้านนิติบัญญัติ แต่ก็ต้องหาพรรคใหม่สังกัด 

ดร.รงค์ มีทางเลือกอยู่ 3 พรรค คือภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ และพรรคกล้าธรรม สำหรับพรรคภูมิใจไทย ดร.รงค์ไม่น่าจะเลือก เพราะต้องไปเบียด จรัญ ขุนอินทร์ คนรู้จักกันอีก พรรคกล้าธรรม เข้าใจว่าสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าจะรุกภาคใต้หนัก ทำลายฐานภูมิใจไทย ยิ่ง ‘วันนอร์-วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ประกาศวางมือทางการเมือง โอกาสของพรรคกล้าธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีอยู่สูง อย่าลืมว่า รอ.ธรรมนัส แม้จะเป็นคนพะเยา แต่ไปโตอยู่นราธิวาส ดร.รงค์ก็รู้จักมักคุ้นกับ รอ.ธรรมนัสดี ตั้งแต่สมัยอยู่พรรคพลังประชารัฐมาด้วยกันแล้ว น่าจะคุยกันเข้าใจง่ายกว่า 

พรรครวมไทยสร้างชาติ น่าจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของ ดร.รงค์ เพราะระดับผู้นำส่วนใหญ่ก็เคยร่วมงานกันมาในพรรคพลังประชารัฐ จึงรู้จักกันดี ตั้งแต่ชุมพร สุราษฎร์ นครศรีฯ และพัทลุง ซึ่งอาจจะคุ้นเคยกันมากกว่าสายกล้าธรรมอีก 

ผม #นายหัวไทร ค่อนข้างมั่นใจว่า ดร.รงค์จะเลือกร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่เขต 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ เคยส่ง พูม แก้วภราดัย ลูกชายของวิทยา แก้วภราดัย มาก่อน ก็ไม่ยาก พรรคจะส่งใคร เมื่อมีคนเสนอตัวมากกว่าหนึ่งคน ก็ใช้วิธีการทำโพลล์ ซึ่งถ้าทำโพลล์ ดร.รงค์ก็น่าจะผ่าน 

แต่ให้จับตา ‘สส.หนึ่ง-ทรงศักดิ์ มุสิกอง’ สส.ประชาธิปัตย์ เขต 2 อาจจะย้ายเขตมาลงเขต 1 แทนผู้ว่าฯราชิตที่อาจจะขอพัก ซึ่งเขต 1 ดร.รงค์ก็จะชนตรงกับ สส.ทรงศักดิ์ 

เขต 2 ก็จะว่างจาก สส.เก่า ประชาธิปัตย์เจ้าของพื้นที่เดิมจะส่งใครมาลงแทน ก็มีข่าวแว่วๆให้ได้ยินว่า อาจจะโยก 'โกเท่-พิทักษ์เดช เดชเดโช' จากเขต 3 มาลงเขต 2 ก็ต้องหาคนใหม่ไปลงเขต 3 อีก 

กล่าวสำหรับเขต 2 ข่าวที่ยืนยันได้ ‘หมอผึ้ง-นันทวัน วิเชียร’ จากพรรคภูมิใจไทย จะโยกจากเขต 9 มาลงเขต 2 เปิดทางให้ ‘สายัณห์ ยุติธรรม’ ย้ายเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย และลงสมัคร เขต 9 แทน เพราะสายัณห์เป็น สส.เขต 9 มาก่อน 

การเมืองเริ่มเข้าสู่โหมดสร้างฐาน มีการสับเปลี่ยน โยกตัวกันอย่างมีนัยยะสำคัญ 

ศึกเงาของ ‘ทรัมป์’ ปะทะ ‘โซรอส’ เกมอำนาจเบื้องหลังเลือกตั้งแอลเบเนีย นักวิเคราะห์ชี้เป็นสนามประลองอุดมการณ์ระดับโลก กลางสมรภูมิการเมืองยุโรป

(17 เม.ย. 68) แอลเบเนียกำลังเผชิญการเลือกตั้งที่ร้อนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ เมื่อการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองว่าไม่ใช่แค่การแย่งชิงเก้าอี้รัฐสภา แต่คือสงครามตัวแทนของสองขั้วอุดมการณ์ระดับโลก ระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” กับ “จอร์จ โซรอส”

อดีตเอกอัครราชทูตแอลเบเนียประจำสหรัฐฯ นายอากิม เนโช เผยว่า การเลือกตั้งในวันที่ 11 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ เป็นมากกว่าการแข่งขันทางการเมืองภายในประเทศ หากแต่สะท้อนการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมที่ต่อต้านการแทรกแซงจากภายนอก กับฝ่ายเสรีนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีเอดี รามา ผู้นำพรรคสังคมนิยม ที่ครองอำนาจต่อเนื่องมากว่า 12 ปี ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนหัวก้าวหน้า อาทิ อเล็กซ์ ซอรอส บุตรชายของจอร์จ ซอรอส ตลอดจนโครงการของ USAID และมูลนิธิ Open Society Foundations (OSF) ซึ่งฝ่ายค้านกล่าวหาว่าเป็นกลไกแทรกแซงการเมืองแอลเบเนีย

ด้านฝ่ายค้านนำโดยนายซาลี เบริชา อดีตผู้นำประเทศและหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยฝ่ายขวา ได้รับการหนุนหลังจากนายคริส ลาซีวิตา อดีตผู้จัดการหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมออกแถลงการณ์โจมตีว่า รัฐบาลรามาคือ “หุ่นเชิดของโซรอส” และให้คำมั่นจะนำแอลเบเนียกลับสู่ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ ในแบบที่เคยมีในยุคทรัมป์

สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อเบริชาถูกตัดสิทธิทางกฎหมายในประเทศ และเผชิญคดีทุจริตตั้งแต่ปี 2023 ซึ่งเขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยระบุว่าเป็นการกลั่นแกล้งจากฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มอิทธิพลต่างชาติ

ไม่เพียงเท่านั้น นายอิลีร์ เมตา อดีตประธานาธิบดีและผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตยสายกลาง ก็ถูกจับกุมในข้อหาทุจริตเช่นกัน ยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อระบบตุลาการของประเทศที่ฝ่ายค้านกล่าวหาว่า “ถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมือง”

รายงานจาก European Center for Law & Justice ชี้ว่า Open Society Foundations ได้ลงทุนในแอลเบเนียมากกว่า 131 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1992 โดยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปตุลาการ ซึ่งถูกมองว่าเป็นช่องทางการควบคุมอำนาจจากภายนอก

เนโช สรุปว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นอีกครั้งที่ประชาชนแอลเบเนียต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรม พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเร่งผลักดันการเลือกตั้งที่โปร่งใส หรือพิจารณาเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป จนกว่าจะมีหลักประกันในกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริง

จีนแต่งตั้ง ‘หลี่ เฉิงกัง’ อดีตทูตฯ WTO ตัวแทนเจรจาการค้าคนใหม่ แทนที่ ‘หวัง โซ่วเหวิน’ รับมือศึกภาษีเดือดกับสหรัฐฯ

(17 เม.ย. 68) รัฐบาลจีนประกาศแต่งตั้ง นายหลี่ เฉิงกัง (Li Chenggang) วัย 58 ปี ขึ้นดำรงตำแหน่ง รองรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และ ตัวแทนเจรจาการค้าระหว่างประเทศคนใหม่แทนที่ นายหวัง โซ่วเหวิน (Wang Shouwen) ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

การเปลี่ยนตัวผู้เจรจาเกิดขึ้นในช่วงที่ทั้งสองชาติมหาอำนาจกำลังเผชิญภาวะ “สงครามภาษี” ครั้งใหม่ โดยรัฐบาลวอชิงตันภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทยอยขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจนรวมสูงถึง 145% ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ สูงสุดถึง 125%

หลี่ ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านการค้าระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน และเคยดำรงตำแหน่งทูตประจำ องค์การการค้าโลก (WTO) ได้รับการมองว่าเป็นบุคคลที่มีศักยภาพในการคลี่คลายความตึงเครียด และอาจนำพาการเจรจาให้เดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถูกมองว่ามาอย่างกะทันหัน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการค้ารายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ว่า “การเปลี่ยนแปลงนี้กะทันหันมาก และอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทิศทางการเจรจา โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ตึงเครียดในปัจจุบัน” 

ผู้เชี่ยวชาญรายดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า นายหวัง โซ่วเหวิน มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ยุคทรัมป์ชุดแรก และการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ของจีน

อัลเฟรโด มอนตูฟาร์-เฮลู ที่ปรึกษาอาวุโสจากศูนย์จีนของ Conference Board วิเคราะห์ว่า “อาจเป็นไปได้ว่าในมุมมองของผู้นำระดับสูงของจีน เนื่องจากความตึงเครียดที่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาต้องการคนอื่นมาคลี่คลายความขัดแย้ง... และเริ่มการเจรจาในที่สุด”

ขณะที่นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนี้อาจไม่ได้มีนัยทางการเมืองมากนัก โดยมองว่า “อาจเป็นเพียงการเลื่อนตำแหน่งแบบปกติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตึงเครียดเป็นพิเศษ”

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีเหอ หลี่เฟิง ยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะเจรจาการค้าระดับสูงของจีน และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

ด้าน ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าสหรัฐฯ “พร้อมเจรจาข้อตกลงการค้า” กับจีน แต่ต้องการให้ 'ปักกิ่งเป็นฝ่ายเริ่มก่อน' ท่ามกลางแรงกดดันจากภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่ต้องรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รัฐ 'ทุ่มงบ 220 ล้าน' ส่งเสริมภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชันไทย ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ - ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย 

เมื่อวันที่ (10 เม.ย.68) นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า THACCA ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ สนับสนุนงบฯ 220 ล้านบาท ส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชันไทย ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและส่งเสริมการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ไทย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเปิดรับการยื่นเอกสารโครงการเพื่อขอรับเงินอุดหนุน ระหว่างวันที่ 6 ม.ค. - 7 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา 

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวต่อว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการพิจารณาจัดสรรงบฯ ดังกล่าว จำนวน 3 ชุด ดังนี้  1.คณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การขอรับเงินอุดหนุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 2.คณะกรรมการกลั่นกรองและคัดเลือกโครงการที่ขอรับการจัดสรรเงินอุดหนุนประระจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และ 3.คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 

รมว.วัฒนธรรม  กล่าวว่า ได้รับรายงานว่า ขณะนี้มีโครงการได้ผ่านกระบวนการที่คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรงบฯ เรียบร้อยแล้ว 88 โครงการ ครอบคลุมโครงการ 3 หมวดใหญ่ ได้แก่ 1.การสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชันไทย จำนวน 200 ล้านบาท 2.การสนับสนุน Development Funding ภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ (สร้างIP) จำนวน 10 ล้านบาท และ 3.สนับสนุนทุนหนังสันเจาะตลาดโลก จำนวน 10 ล้านบาท โดยได้มีการสนับสนุนงบประมาณในการผลิตให้กับผู้ประกอบการที่สร้างสรรคผลงานที่มีคุณภาพและมีเนื้อหาที่หลากหลาย รายละเอียดการพิจารณาผลฯ ตามประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม https://www.culture.go.th/culture_th/download/Newfile/image3530.pdf

“กระทรวงวัฒนธรรมเชื่อมั่นว่าการสนับสนุนครั้งนี้จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เสริมศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ไทย และยกระดับประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิชันในภูมิภาค พร้อมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์ไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับโลก” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว

กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมเปิดงาน 'ICONSIAM THAICONIC SONGKRAN CELEBRATION 2025' สาดสนุกมหาสงกรานต์ สายธารแห่งเสน่ห์ไทย ณ ริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม

เมื่อวันที่ (10 เม.ย.68) เวลา 16.30 น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ICONSIAM THAICONIC SONGKRAN CELEBRATION 2025” The legendary Festival of Waters สาดสนุกมหาสงกรานต์ สายธารแห่งเสน่ห์ไทย ณ ริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม พร้อมด้วยนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เข้าร่วมฯ โดยมีนายสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ผู้บริหาร เครือข่ายพันธมิตร ศิลปิน แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วมด้วย 

พิธีเปิดงาน 'ICONSIAM THAICONIC SONGKRAN CELEBRATION 2025' จัดอย่างยิ่งใหญ่ โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูง ตัวแทนจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมากสร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยการเปิดตัวนางสงกรานต์ที่มาพร้อมทัพสวรรค์ นางรำ กินรีกินรา และตัวละครจากวรรณคดีไทย ร่วมขบวนแห่กว่า ๔๐ ชีวิต ถ่ายทอดมนต์เสน่ห์ของประเพณีดั้งเดิม ผสานการนำเสนอและถ่ายทอดแบบร่วมสมัยบนแลนด์มาร์กสำคัญของไทยริมแม่น้ำเจ้าพระยา นำโดย "โบว์-เมลดา สุศรี"แปลงโฉมเป็น นางสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๖๘ ทรงนามว่า "ทุงสะเทวี"สวมผ้านุ่งไหมยกทอง ผ้ายกเมืองนคร หายากทรงคุณค่านุ่งจีบหน้านางชายสะบัดแบบโบราณ ห่มผ้าสไบสีทองปักประดับดิ้นทอง เลื่อม ลูกปัดคริสตัลสีแดง ออกแบบโดยคุณบิ๊ก-พีรมณฑ์ ชมธวัชนักออกแบบเครื่องแต่งกายชั้นนำของไทยและสวมเครื่องประดับที่รังสรรค์จากทองคำแท้ ทับทิมและเพชรโบราณ ซึ่งเป็นของนักสะสมเครื่องประดับโบราณ คุณโจ๊ก พุทธพงษ์ เพียรเจริญในขบวนแห่ยังมีตัวแทนคนรุ่นใหม่ "วิน-เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร" ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ไทย งามสง่าด้วยชุดสูทผ้าไหมทอแขนยาวโจงกระเบนสีแดง ในลุคทันสมัยสากล

💦 การจัดงานมหาสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในครั้งนี้ ไอคอนสยาม ผนึกความร่วมมือ กระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร กรมประชาสัมพันธ์ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พร้อมพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ธีซิซ อินเตอร์เนชั่นเเนล จำกัด แบรนด์ Beverly Hills Polo Club, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), JisuLife, บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด มหาชน แบรนด์ เคที่ดอลล์, บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท อังกฤษตรางู (แอล.พี.) จำกัด, บริษัท นิสชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมกันจัดงาน “ICONSIAM THAICONIC SONGKRAN CELEBRATION 2025” ในระหว่างวันที่ 10 - 16 เมษายน 2568 ณ ริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม เพื่อส่งเสริมและสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรมประเพณีของไทยอย่างยั่งยืน พร้อมเผยแพร่ให้คนทั่วโลกได้ชื่นชม

การจัดงานสงกรานต์ ณ ไอคอนสยาม ตอกย้ำการเป็นจุดหมายปลายทางที่ส่งมอบประสบการณ์ระดับโลกที่ดีที่สุด (Global Experiential Destination) ชูเสน่ห์วัฒนธรรมไทยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก พร้อมส่งมอบประสบการณ์ 5 MUST EXPERIENCES เสน่ห์แห่งสงกรานต์ไทย เพื่อสร้างแม็กเน็ตการท่องเที่ยวส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาคตามนโยบายภาครัฐ เน้นสาดสนุกให้สุดอย่างปลอดภัยด้วยวอเตอร์ทาวเวอร์สูงกว่า 9 เมตร โซนเล่นน้ำสำหรับเด็กเล็ก ประเพณีก่อกองทราย ขบวนแห่สงกรานต์ ประเพณีสรงน้ำพระ และการแสดงวัฒนธรรมไทยอีกมากมายตลอด 7 วัน

'อดีตรัฐมนตรีอลงกรณ์' วิเคราะห์โอกาสในวิกฤติของไทยภายใต้สถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ไทยแลนด์เขียนบทวิเคราะห์โพสต์ในเฟสบุ้คเรื่องโอกาสและภัยคุกคามจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนโดยแบ่งเป็นยุคทรัมป์1.0และ2.0ด้วยมุมมองของผู้มีประสบการณ์เจรจากับสหรัฐและจีนรวมทั้งเข้าร่วมการประชุมAPECและอาเซียน+3+6โดยเคยดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ปฏิบัติราชการรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและยังติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจ-การเมืองระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องจึงนำมาเสนอเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนต่อไปโดยมีเนื้อหาตอนที่ 1 ดังนี้

สงครามการค้าสหรัฐกับจีนยุคทรัมป์ 1.0-2.0 :โอกาสในวิกฤตของไทย (1)
โดย นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ไทยแลนด์
13 เมษายน 2025

ก่อนจะวิเคราะห์ถึงปัญหาและโอกาสในวิกฤตของไทยในสงครามภาษีการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและประเทศต่างๆในปี 2025 ควรจะต้องทราบถึงสงครามครั้งแรกในยุคทรัมป์ 1.0 เมื่อ 7 ปีที่แล้วเป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจก่อนที่จะวิเคราะห์โอกาสในวิกฤติที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายทรัมป์ 2.0

เปิดศึกเทรดวอร์(Trade War)

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ.และจีนที่เริ่มขึ้นในปี 2018 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 1.0 สร้างความตึงเครียดทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างสองมหาอำนาจ โดยมีเหตุการณ์และผลกระทบสำคัญดังนี้
1.การเริ่มต้นมาตรการภาษี (มีนาคม 2018) สหรัฐฯ ใช้ มาตรา 301ของกฎหมายการค้า เพื่อลงโทษจีนในประเด็นการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี  

ทั้งยังประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องจักร ในขณะที่จีนตอบโต้ด้วยภาษีสินค้าสหรัฐฯ เช่น ถั่วเหลือง เนื้อสุกร และรถยนต์

2. การขยายวงภาษี (2018-2019) ทั้งสองฝ่ายทยอยเพิ่มภาษีสินค้ากว่า 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของจีนถึง 25% ในปี 2019 ส่วนจีนตอบโต้ด้วยการลดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ

3.เปิดศึกเทควอร์(Tech War) สหรัฐฯเปิดสงครามเทคโนโลยี(Tech War)กับจีน(2019-2020) สหรัฐฯ ประกาศแบน Huawei และ ZTE จากตลาดสหรัฐฯ รวมถึงจำกัดการเข้าถึงชิปเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้จีนเร่งพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ เช่น ชิป 5G

เจรจาหย่าศึกดีลแรก

ข้อตกลงระยะที่หนึ่ง (Phase One Deal มกราคม 2020) จีนตกลงซื้อสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 2 ปี สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีบางส่วน แต่ยังคงภาษีส่วนใหญ่ไว้

ผลกระทบของคลื่นสงคราม

1. ผลกระทบต่อสหรัฐฯ ผู้บริโภคและธุรกิจ ต้นทุนสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า เกษตรกร สูญเสียตลาดส่งออกถั่วเหลืองและเนื้อสุกรหลักในจีน อุตสาหกรรมบางส่วน ได้รับการปกป้อง เช่น เหล็ก แต่บริษัทที่พึ่งห่วงโซ่อุปทานจีนเสียหาย  

2. ผลกระทบต่อจีน เศรษฐกิจชะลอตัว การส่งออกลดลง เร่งการพึ่งพาตลาดในประเทศ  
การย้ายฐานการผลิต บริษัทต่างชาติกระจายความเสี่ยงไปยังเวียดนาม อินเดีย เม็กซิโก  
เร่งพัฒนานวัตกรรม ลงทุนสูงในเทคโนโลยีหลัก (Semiconductor, AI) เพื่อลดพึ่งพาต่างชาติ  

3. ผลกระทบระดับโลก

องค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์การค้าโลกลดลง 0.5% ในปี 2019 ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก หลายบริษัทปรับโครงสร้างการผลิตใหม่  

4. ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าสะท้อนการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและอำนาจระหว่างสหรัฐฯ-จีน  ได้ส่งผลต่อประเด็นอื่น เช่น ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ สถานะของไต้หวัน  

ไทยกับผลกระทบ ประโยชน์ 2 ทาง

จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนครั้งแรก (2018–2020) ทำให้ไทยได้รับประโยชน์หลายด้านจากการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานโลกและการแสวงหาทางเลือกใหม่ของนักลงทุน 
1. การขยายตัวของการลงทุนตรงจากต่างชาติ (FDI) บริษัทที่ย้ายฐานการผลิตจากจีน  หลายบริษัทข้ามชาติเลือกไทยเป็นฐานผลิตแทนจีนเพื่อเลี่ยงภาษีสหรัฐฯ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น ฮาร์ดดิสก์ ชิปเซมิคอนดักเตอร์) และยานยนต์ ข้อมูลจาก BOIระบุว่าในปี 2019 การลงทุนต่างชาติในไทยเพิ่มขึ้น 68%จากปีก่อนโดยจีนและญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนหลัก  

ตัวอย่างเช่นบริษัทจีนเช่น BYD (รถยนต์ไฟฟ้า) และ Haier (เครื่องใช้ไฟฟ้า) ขยายการผลิตในไทย  
2. การเติบโตของการส่งออก 2 เด้ง สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าไทยแทนจีน
สินค้าไทยที่ได้ประโยชน์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ (ครองส่วนแบ่งตลาดโลก 40%) ยางพารา ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป จีนเพิ่มนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยหลังจีนลดซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ไทยส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ยางพารา น้ำตาลและผลไม้ เช่น ทุเรียนเพิ่มขึ้น  

การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เติบโต 4.5%ในปี 2019 ส่วนการส่งออกไปจีนเพิ่ม7%

3. การเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานใหม่ฐานผลิตในภูมิภาคอาเซียน 
ไทยถูกมองเป็น "China +1" ของนักลงต่างประเทศ ช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการผลิตในประเทศเดียว การลงทุนใน EEC (ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก)เช่นโครงการรถไฟความเร็วสูง และนิคมอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น EECdดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีและโลจิสติกส์  

4. ประโยชน์ต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเป้าหมาย
1.เกษตรกรรม
จีนเพิ่มการซื้อยางพารา มันสำปะหลัง และน้ำตาลจากไทยเพื่อทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐฯ  
2.อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
การลงทุนจากจีนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ไทยเป็นฐานส่งออกไปอาเซียนและตลาดอื่น  

5. การเสริมบทบาททางการค้าในภูมิภาค
1.ความเป็นกลางทางการเมือง
ไทยได้ประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรทั้งสหรัฐฯ และจีน ส่งเสริมการเป็น "ฮับการค้า" ในอาเซียน  
2.ข้อตกลงการค้า
ไทยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) เพื่อส่งออกสินค้าไปจีนโดยได้ภาษีพิเศษ  

6. ผลกระทบทางอ้อม
1.ค่าเงินบาทที่อ่อนตัว
ช่วงสงครามการค้า ค่าเงินบาทอ่อนค่าสัมพัทธ์กับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งเสริมการส่งออก  
2.การจ้างงาน
อุตสาหกรรมที่ขยายตัวช่วยดูดซับแรงงาน โดยเฉพาะในเขต EEC  

สรุป
สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ไม่เพียงส่งผลทางเศรษฐกิจโดยตรง แต่ยังเปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์การค้าโลก กระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ปรับกลยุทธ์การค้าและลดการพึ่งพาซัพพลายเชนจากแหล่งเดียว ขณะเดียวกัน ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและอิทธิพลระหว่างสองมหาอำนาจที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนยังส่งผลให้ไทยได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต การขยายการส่งออก และการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แม้จะเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ไทยสามารถใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเสริมตำแหน่งทางการค้าในภูมิภาคได้อย่างมีนัยสำคัญ.

:เกี่ยวกับผู้เขียน
นายอลงกรณ์ พลบุตร
ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ไทยแลนด์
ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์
ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมต
อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ปฏิบัติราชการรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน
อดีต ส.ส.6สมัย

ผอ.ศรชล.ภาค 1 ตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางน้ำร่วม เทศกาลสงกรานต์ 

พลเรือโท อาภา ชพานนท์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 (ผอ.ศรชล.ภาค 1) พร้อมคณะฯ ตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางน้ำร่วมเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2568 ณ ท่าเทียบเรือเทศบาลเพ ต.บ้านเพ อ.เมือง จว.ระยอง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อ 12 เม.ย.68

ในการนี้ ศรชล./ศคท.จว.รย. โดย น.อ.ธรรมนูญ จันทร์หอม  รอง ผอ.ศรชล.จว.รย. น.ท.ภณ ทิพย์ทอง จนท.ประสานงานความมั่นคง ศคท.จว.รย. นายชวภัทร ทัดมาลี หัวหน้าตรวจการขนส่งทางน้ำ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยอง และ จนท. ศรชล./ศคท.จว.รย. จนท.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยอง ให้การต้อนรับ ในการเดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางน้ำเทศกาลสงกรานต์ และตรวจความพร้อมของท่าเรือโดยสารเส้นทาง บ้านเพ - เกาะเสม็ด ณ ท่าเทียบเรือเทศบาลเพ พร้อมทั้ง ตรวจเยี่ยมเรือ ต.235 ที่ไปปฏิบัติราชการเตรียมความพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำพื้นที่ จว.ระยอง - เกาะเสม็ด

“ศรชล.เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน”

เหตุด่วน เหตุร้าย ภัยทางทะเล แจ้งสายด่วน 1465 หรือ 02 888 1465 ตลอด 24 ชั่วโมง

"ท่องเที่ยว ปลอดภัย มั่นใจ ศรชล"

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตรวจเยี่ยมการดูแลประชาชนวันสงกรานต์ ถ.ข้าวสาร และ สนามหลวง กำชับดูแลความปลอดภัยเต็มที่

เมื่อวันที่ (13 เม.ย.68) เวลา 17.30 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วย , พล.ต ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล , พล.ต.ท.ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว , พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล/โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) , พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1/รองโฆษก ตร. , พล.ต.ต.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้บังคับการกองสารนิเทศ/รองโฆษก ตร. , พล.ต.ต.นรเศรษฐ์ สุวรรณนิกขะ ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 และผู้เกี่ยวข้อง เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดูแลความปลอดภัยเทศกาลสงกรานต์ ถ.ข้าวสาร ที่ สน.ชนะสงคราม โดยร่วมประชุมและฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ ณ ศูนย์ปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจร เทศกาลสงกรานต์ 2568 สน.ชนะสงคราม 

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้มาดูการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งขอชื่นชมผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกนาย ที่มีจิตบริการ มีทัศนคติที่ดี ในการดูแลความปลอดภัยอย่างเต็มที่ ซึ่งส่วนนี้เป็นผลสะท้อน ให้พี่น้องประชาชนและชาวต่างชาติเชื่อมั่นในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

นอกจากนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในวาระดิถีปีใหม่ไทย วันสงกรานต์ 13 เมษายน 2568 นี้ ทราบว่าตำรวจทุกนายต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเหน็ดเหนื่อย เสียสละเวลาเพื่อดูแลพี่น้องประชาชน ขอสวัสดีปีใหม่ และขอให้ทุกท่านพร้อมด้วยครอบครัว มีความสุข โชคดี สุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง และพบแต่สิ่งอันเป็นมงคลแห่งชีวิต 

จากนั้นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตรวจจุดคัดกรองทางเข้า ถ.ข้าวสาร และเดินตรวจบรรยากาศ การเล่นน้ำสงกรานต์ตลอด ถ.ข้าวสาร และบริเวณจัดงานสงกรานต์ที่ท้องสนามหลวง  ซึ่งทั้ง 2 แห่ง มีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวงานจำนวนมาก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top