Saturday, 26 April 2025
TheStatesTimes

สหรัฐฯ ขีดเส้นตาย ‘ม.ฮาร์วาร์ด’ 30 เม.ย. นี้ หากไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลวีซ่า เสี่ยงถูกตัดสิทธิ์รับนักศึกษาต่างชาติ และระงับเงินหนุน 2.7 ล้านดอลลาร์

(17 เม.ย. 68) คริสตี โนเอม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอาจถูกตัดสิทธิ์ในการรับนักศึกษาต่างชาติ หากไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลผู้ถือวีซ่าบางราย ซึ่งทางการอ้างว่าเกี่ยวข้องกับ “กิจกรรมที่ผิดกฎหมายและรุนแรง”

โนเอมเปิดเผยว่าเธอได้ส่งจดหมายถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยกำหนดให้ตอบกลับและยืนยันการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ มิเช่นนั้น ฮาร์วาร์ดจะเสี่ยงต่อการสูญเสีย “สิทธิพิเศษในการรับนักศึกษาต่างชาติ” ซึ่งถือเป็นมาตรการกดดันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังได้ระงับเงินอุดหนุน 2 รายการที่จัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 99.9 ล้านบาท)

“บางทีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดควรสูญเสียสถานะยกเว้นภาษีและถูกเรียกเก็บภาษีในฐานะหน่วยงานทางการเมือง หากยังคงสนับสนุนหรือส่งเสริมความผิดปกติทางการเมือง อุดมการณ์ และการก่อการร้าย จำไว้ว่าสถานะยกเว้นภาษีขึ้นอยู่กับการกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ!” ทรัมป์โพสต์บน Truth Social เมื่อวันอังคาร

ทางด้านโฆษกของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยได้รับจดหมายจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิแล้ว และยืนยันจุดยืนว่า ฮาร์วาร์ดจะไม่ยอมลดทอนความเป็นอิสระ หรือสละสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แม้จะเผชิญแรงกดดันทางการเมืองก็ตาม โดยจะยังคงปฏิบัติตามกฎหมายของสหรัฐฯ อย่างเคร่งครัด

ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ออกแถลงการณ์ว่ามหาวิทยาลัยกำลังพยายามรับมือกับกระแสต่อต้านชาวยิว รวมถึงแนวคิดอคติในรูปแบบอื่น ๆ ภายในรั้วมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ

ทั้งนี้ รัฐบาลทรัมป์เคยประกาศแนวทางเข้มงวดต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดพื้นที่ให้กับการชุมนุมประท้วง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่แสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอิสราเอล โดยมองว่าการประท้วงบางส่วนมีลักษณะต่อต้านชาวยิวและสนับสนุนกลุ่มฮามาส ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย

ขณะที่นักเคลื่อนไหวและกลุ่มผู้ชุมนุมแย้งว่า รัฐบาลกำลังพยายามผูกโยงการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์เข้ากับความรุนแรงหรือแนวคิดสุดโต่ง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการควบคุมการแสดงออกทางการเมืองในสถาบันการศึกษา

สถานการณ์ดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของนโยบายภายใต้การนำของทรัมป์ ที่กำลังเดินหน้ากดดันมหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยเฉพาะผู้ที่มีจุดยืนและท่าทีไม่สอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ในบริบทของตะวันออกกลาง

19 เมษายน พ.ศ. 2318 เสียงปืน 1 นัด ปลุกเปลวเพลิงแห่งเสรีภาพ จุดเริ่มต้น ‘สงครามปฏิวัติอเมริกา’ ณ เมืองเล็กซิงตันและคองคอร์ด

สงครามปฏิวัติอเมริกา (American Revolutionary War) ถือเป็นเหตุการณ์พลิกประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่การถือกำเนิดของประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐเอกราชจากอาณานิคมอังกฤษ การปะทะกันระหว่างกองกำลังอาณานิคมและกองทหารอังกฤษที่เมืองเล็กซิงตันและคองคอร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2318 (ค.ศ. 1775) เป็นเหตุการณ์จุดไฟแห่งความไม่พอใจที่สะสมมายาวนาน จนกลายเป็นเปลวไฟแห่งการปฏิวัติ

ในช่วงศตวรรษที่ 18 ดินแดนอาณานิคมอเมริกาอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ อาณานิคมเหล่านี้มีความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาลอังกฤษ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดเก็บภาษีและการจำกัดการค้าขาย อาทิ กฎหมายแสตมป์ (Stamp Act) และ กฎหมายชาน้ำชา (Tea Act) ซึ่งทำให้ชาวอาณานิคมรู้สึกว่าพวกเขาถูกเอาเปรียบโดยไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการออกกฎหมาย จนเกิดคำกล่าวว่า “No taxation without representation” หรือ “ไม่ยอมเสียภาษีหากไม่มีสิทธิ์ออกเสียง”

การเผชิญหน้า ณ เล็กซิงตัน (Lexington) เกิดขึ้นช่วงเช้ามืดของวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1775 กองทหารอังกฤษประมาณ 700 นายได้รับคำสั่งให้เดินทางจากเมืองบอสตันไปยังคองคอร์ด เพื่อยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ที่กองกำลังอาณานิคม (เรียกว่า Minutemen) ซุกซ่อนไว้ อย่างไรก็ตาม ข่าวการเคลื่อนไหวของทหารอังกฤษรั่วไหล ทำให้ผู้นำฝ่ายอาณานิคมเช่น พอล รีเวียร์ (Paul Revere) และ วิลเลียม ดาวส์ (William Dawes) ออกเดินทางกลางดึกเพื่อเตือนชาวเมืองว่า ทหารอังกฤษกำลังมา! "The British are coming!"

เมื่อกองกำลังอังกฤษมาถึงเล็กซิงตัน พบว่ามี กองกำลังติดอาวุธอาสาสมัคร ของอาณานิคมอเมริกา ประมาณ 70 นาย ตั้งแนวรออยู่ในลานกว้างกลางเมือง แม้จะไม่ได้ตั้งใจเปิดฉากยิง แต่กระสุนปืนลึกลับหนึ่งนัด ได้จุดชนวนให้เกิดการยิงกันขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน และถือเป็นการนองเลือดครั้งแรกของสงคราม

หลังจากนั้น ทหารอังกฤษได้เคลื่อนไปยังคองคอร์ดและเริ่มค้นหาอาวุธ และเมื่อกองทหารพยายามเผาสิ่งปลูกสร้าง ก็จุดความไม่พอใจในหมู่ชาวอาณานิคม ฝ่ายอาณานิคมซึ่งมีกำลังเสริมจากเมืองใกล้เคียงเริ่มตั้งแนวรบตอบโต้ การรบแบบกองโจร (Guerrilla Warfare) ถูกนำมาใช้ ขณะที่ทหารอังกฤษต้องล่าถอยกลับบอสตันภายใต้การลอบโจมตีอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 250 คน

จากนั้นสงครามปะทุอย่างเต็มรูปแบบ ฝ่ายอาณานิคมเริ่มจัดตั้งกองทัพทวีป (Continental Army) โดยมี จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) เป็นผู้บัญชาการ และการประกาศเจตจำนงแยกตัวจากอังกฤษก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ 

วอชิงตันมีความสามารถในการนำทัพอย่างยอดเยี่ยมในการวางแผนการรบ แม้ว่าเขาจะต้องเผชิญกับการขาดแคลนทรัพยากรและอุปกรณ์การรบมากมาย แต่เขาก็สามารถรักษากำลังใจและสร้างความมุ่งมั่นให้กับทหารของเขาได้ พร้อมทั้งไดรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ จนนำไปสู่การประกาศอิสรภาพในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 

เหตุการณ์สู้รบกันในครั้งนั้นกินระยะเวลาสงครามปฏิวัติที่ยาวนานถึง 8 ปี จากปี 1775 และสิ้นสุดในปี 1783 เมื่ออังกฤษยอมรับความเป็นอิสระของสหรัฐอเมริกาภายใต้ สนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris 1783) ส่งผลให้เกิดการตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐประชาธิปไตยแห่งแรกๆ ของโลก และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดขบวนการปฏิวัติในฝรั่งเศส (French Revolution), ละตินอเมริกา และภูมิภาคอื่นๆ ที่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย

‘สหรัฐฯ’ ประกาศคว่ำบาตรน้ำมัน ‘อิหร่าน’ มุ่งเป้าสกัดโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีน

(17 เม.ย. 68) รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ โดยมุ่งเป้าไปที่การส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ซึ่งคราวนี้รวมถึงการคว่ำบาตรโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีน หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Teapot Refinery" เป็นครั้งแรก

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กแห่งหนึ่งของจีนได้ซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตร และนับเป็นโรงกลั่นน้ำมันจีนแห่งที่สองที่ถูกดำเนินมาตรการลงโทษจากฝั่งสหรัฐฯ

ที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีนมักไม่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อเป้าหมายของการคว่ำบาตร เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับระบบการเงินของสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย ต่างจากบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีนที่ได้หยุดซื้อน้ำมันจากอิหร่านไปก่อนหน้านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ

ที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีนมักไม่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อเป้าหมายของการคว่ำบาตร เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับระบบการเงินของสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย ต่างจากบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีนที่ได้หยุดซื้อน้ำมันจากอิหร่านไปก่อนหน้านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้คว่ำบาตร บริษัทและเรือบรรทุกน้ำมันหลายแห่ง ที่มีบทบาทในการขนส่งน้ำมันของอิหร่านไปยังจีน ผ่านเครือข่ายลับที่เรียกว่า “กองเรือเงา (Shadow Fleet)” ซึ่งถูกใช้ในการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและเลี่ยงมาตรการจากนานาชาติ

จีนในฐานะ ผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน ยังคงมีบทบาทสำคัญในตลาดพลังงานโลก โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กที่ยังคงเป็นลูกค้าหลักของอิหร่านผ่านระบบการค้าทางเลือกที่ใช้ เงินหยวน แทนดอลลาร์สหรัฐ และอาศัยเครือข่ายตัวกลางเพื่อลดการตรวจสอบจากสหรัฐฯ

สำหรับมาตรการล่าสุดนี้สะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลวอชิงตันในการปิดช่องโหว่ทางเศรษฐกิจของอิหร่าน และกดดันจีนให้ร่วมมือในประเด็นการบังคับใช้คว่ำบาตรระดับโลก

‘วินท์ สุธีรชัย‘ ชี้ สัญญารับซื้อไฟสีเขียวบางส่วนทำก่อน ’พีระพันธุ์‘ คุมพลังงาน เชื่อมั่น ปัญหาพลังงานจะถูกแก้ไขอย่างเต็มที่ตามกฎหมายให้อำนาจ

(18 เม.ย. 68) จากกรณีที่นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน จึงตั้งกระทู้ถามสดถึงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 5,200 เมกะวัตต์ ที่กำลังจะเซ็นสัญญาเร็วๆ นี้ ว่าเหตุใดจึงไม่ยกเลิกโครงการเหมือนกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบสองจำนวน 3,600 เมกะวัตต์ที่ถูกเบรกโครงการไว้ เนื่องจากมองว่ามีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและไม่คุ้มค่าเหมือน ๆ กัน  

ล่าสุดนายวินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ สตีล จำกัด (มหาชน) และกรรมการปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว ว่า นั่งฟังที่ พี่ตุ๋ย (ท่าน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) ตอบกระทู้สดในสภาเรื่องเกี่ยวกับสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด เข้าใจได้ว่า: 

กฎหมายที่เกี่ยวกับประชาชน (เช่น กฎหมายอาญา) และ กฎหมายที่เกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐ (เช่น กฎหมายมหาชน) จะมีความแตกต่างกัน โดยกฎหมายที่เกี่ยวกับประชาชนจะระบุสิ่งที่ห้ามทำ เช่น ทิ้งขยะผิดกฎหมาย ดังนั้นอะไรที่ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับประชาชน ประชาชนสามารถทำได้ แต่กฎหมายที่เกี่ยวกับหน่วยงานรัฐ หากไม่ได้ให้อำนาจไว้ หน่วยงานรัฐไม่สามารถใช้อำนาจเกินที่กฎหมายระบุไว้ได้เพราะถือว่ามีความผิด 

ดังนั้นการที่กฎหมายให้อำนาจองค์กรอิสระในการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด แต่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการกำกับพลังงานไฟฟ้าไว้เพียงน้อยนิด จึงทำให้การแก้ปัญหาพลังงานไฟฟ้าเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก (อาจจะเป็นเพราะในอดีตเคยมีแผนจะทำให้ กฟผ. กฟภ. และ กฟน. กลายเป็นเอกชนและเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงมีการลดอำนาจการกำกับพลังงานไฟฟ้าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลง) 

อย่างไรก็ดี พี่ตุ๋ย รู้ถึงความน่าสงสัยในการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นโดยการเซ็นสัญญาจากองค์กรอิสระซึ่งเกิดก่อนท่านจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และได้พยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่เท่าที่ทำได้ตามที่กฎหมายมอบอำนาจไว้ให้: 

1. แก้ปัญหาระยะสั้น ได้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด 2,100 เมกะวัตต์ ที่ัยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญา ผ่านการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)  

2. แก้ปัญหาระยะกลาง ทางกฤษฎีกามีความเห็นไม่ให้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด 5,203 เมกะวัตต์ เนื่องจากในส่วนที่ไม่ใช่ชีวมวลเซ็นต์สัญญาเสร็จสิ้นไปแล้ว 83 สัญญา เหลือเพียง 19 สัญญา ที่ยังไม่ได้เซ็น ดังนั้น รมว.พลังงาน จึงต้องหาทางระงับสัญญาด้วยวิธีอื่นโดยใช้วิธีตรวจสอบหาข้อผิดกฎหมายในสัญญาซึ่งจะทำให้สัญญาทั้งหมด ทั้งที่เซ็นไปแล้วและยังไม่ได้เซ็นเป็นโมฆะไปตามกฎหมาย 

3. แก้ปัญหาระยะยาว ปัญหาหลักๆ อยู่ที่กฎหมายซึ่งเขียนในช่วงที่มีแผนจะนำ สามการไฟฟ้า(กฟผ. กฟภ. และ กฟน.) เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์กลายเป็นเอกชน ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องมีการแก้กฎหมายใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันที่ หน่วยงานต่างๆยังเป็นของรัฐไทย เพื่อให้รัฐบาลสามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากธุรกิจของเอกชนกลายมาเป็นความมั่นคงของรัฐไทยและให้ประชาชนมีพลังงานในราคาต่ำที่สุดใช้ ไม่ใช่เพื่อให้เอกชนไม่กี่รายสร้างกำไรให้กับตนเอง 

ขอเป็นกำลังใจให้พี่ตุ๋ยในการทลายทุนผูกขาดพลังงานไฟฟ้า(ซึ่งทำให้ท่านถูกโจมตีจากทุกทิศทาง) และเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากธุรกิจเอกชนให้กลับมาเป็นความมั่นคงของรัฐไทยและประชาชนให้ได้นะครับ 

‘อินโดนีเซีย’ ขยับหมากใหม่จับมือ ‘รัสเซีย’ เป็นพันธมิตรการค้า หวังเปิดทางลงทุนเพิ่มแรงขับเศรษฐกิจ-ลดผลกระทบมาตรการภาษีสหรัฐฯ

(18 เม.ย. 68) จากรายงานของสำนักข่าวซินหัว เมื่อวันพุธที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา อนินทยา บักรี ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย (KADIN) เปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นว่า อินโดนีเซียกำลังเบนเป้าหมายทางเศรษฐกิจไปยังรัสเซีย ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นตลาดใหม่ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ท่ามกลางความท้าทายจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ

บักรีระบุว่า การสร้างความร่วมมือทางการค้ากับรัสเซียจะเปิดประตูสู่โอกาสการลงทุนที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากรัสเซียเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษในอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันกำลังเปิดรับการลงทุนจากนานาประเทศ

“อินโดนีเซียจะยังคงเดินหน้าค้นหาแนวทางและตลาดใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนซึ่งกันและกันกับพันธมิตรทั่วโลก” บักรีกล่าว

ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีการนำเข้าสินค้าจากรัสเซียในหลายหมวดหมู่ อาทิ น้ำมันปาล์ม เครื่องจักร ยางพารา รองเท้า กาแฟ และชา ในขณะที่รัสเซียนำเข้าปุ๋ยและอาหารทะเลหลากหลายชนิดจากอินโดนีเซีย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 เมษายน อินโดนีเซียและรัสเซียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์รัฐบาลอินโดนีเซียในการขยายตลาดการค้า และยกระดับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับประเทศคู่ค้า รวมถึงรัสเซียด้วย

การเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนถึงทิศทางใหม่ของอินโดนีเซียในการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ และลดการพึ่งพาตลาดเดิม ท่ามกลางความผันผวนของภูมิรัฐศาสตร์โลก

สมุทรปราการ-คุณแม่ณัฐรดา ทองเหม เศรษฐีใจบุญถวายเงินสร้างศาลา 'โชติธนบดี' ณ วัดบางพลีใหญ่กลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บริหารบริษัท โชติธนบดีทรานสปอร์ต จำกัด โดยคุณแม่ณัฐรดา ทองเหม ได้ถวายปัจจัยในการสร้างศาลาโชติธนบดี เพื่อให้ทางวัดได้ใช้ประโยชน์ทางพระพุทธศาสนา

เมื่อวันที่ (17 เม.ย.68) ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) ดร. เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง ประธานฝ่ายสงฆ์ นำคณะสงฆ์วัดบางพลีใหญ่กลาง จำนวน 16 รูป ร่วมประกอบพิธี เจริญชัยมงคลคาถาในพิธีฉลองศาลาการเปรียญหลังใหม่ โชติธนบดี 

สืบเนื่องจาก คุณแม่ณัฐรดา ทองเหม พร้อมด้วย พ.ต.อ.วัชระ เทพเสน ผกก.สภ.บางปู สมุทรปราการ และครอบครัว ในนามบริษัท โชติธนบดีทรานสปอร์ต จำกัด มีความเลื่อมใสศรัทธาจึงได้เป็นเจ้าภาพถวายปัจจัยแด่ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง เพื่อนำไปสร้างศาลาการเปรียญและเพื่อให้ทางวัดได้ใช้ประโยชน์ทางพุทธศาสนา มูลค่าในการก่อสร้างศาลาหลังนี้ กว่า 6 ล้านบาท

ซึ่งในวันนี้ทางคุณแม่ณัฐรดา ทองเหม พร้อมด้วย พ.ต.อ.วัชระ เทพเสน ผกก.สภ.บางปู สมุทรปราการ และครอบครัว โชติธนบดี ได้เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีฉลองศาลาการเปรียญหลังใหม่ พระสงฆ์ จำนวน 16 รูป เจริญชัยมงคลคาถาและเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คณะเจ้าภาพ

โดยมี ดร.วีร์สุดา รุ่งเรือง นายก อบต.บางพลีใหญ่ พร้อมด้วย พ.ต.อ.กรวัฒน์ หันประดิษฐ์ อดีตรอง ผบก.ภ.จว.ชลบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางพลี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางปู เจ้าหน้าที่สำนักพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ ร่วมถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระภิกษุสงฆ์ ทั้ง 16 รูป

จากนั้น พระสงฆ์ให้ศีล กรวดน้ำ รับพร เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง โดยท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เข้าร่วมในพิธี

‘พีระพันธ์’ เริ่มภารกิจดับไฟน้ำมันกลางพายุการเมือง เรือหลวงหลงทิศเจอคลื่นคาสิโนถาโถม สูตร ‘อุ้งอิ้ง’ x ‘เนวิน’ อาจไม่รอดฝั่ง

(18 เม.ย. 68) จากโพสต์ล่าสุดของเพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี ได้ตีแผ่ภาพสถานการณ์การเมืองไทยผ่านลีลาภาษาสะท้อนอารมณ์ชวนติดตาม โดยพุ่งเป้าไปที่บทบาทของ พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งได้รับมอบหมายภารกิจ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองร้อนฉ่า

พีระพันธ์ร้อยลีลาเริ่มภารกิจดับไฟราคาน้ำมัน แต่ติดอยู่กลางรัฐบาลผสมสูตร 
'อุ้งอิ้ง x เนวิน' ที่หัวเรือใหญ่ดูจะพากันล่องทะเลการเมืองแบบไม่มี GPS — แถมมีหินโสโครกชื่อว่า 'คาสิโน' โผล่มาเป็นอุปสรรคใหญ่เบ้อเร่อ!

ลูกแรกหักหลบทันอย่างเท่ ลูกสองลูกสามนี่สิ...อุ่ย ส่วนใหญ่จม!

กรกฎาคมนี้รู้กันว่าเรือรอดหรือร่วง พีระพันธ์ที่เคยนั่งเป็น ผู้ช่วยรปภ.ใหญ่มาก่อน น่าจะเข้าใจเกมทำใจดีสู้เสือ ใส่ชูชีพแต่เนิ่น ๆ แอบประคองพวงมาลัยให้....แต่กับกัปตันคนนี้ที่พาเลี้ยวซ้ายเฉี่ยวขวาแถมมีเรือลำอื่นแอบหนีตัดหน้า ก็ไม่รู้ว่าควรจะเกาะให้แน่น หรือต้องผูกสลิงเตรียมโดด!

ที่แน่ ๆ ก๊วนเสี่ยหนู-เนวิน ทิ้งเรือไปนั่งเรือยางแล้ว แต่จะถึงฝั่งไหมไม่มีใครกล้าฟันธง โดยเฉพาะตอนนี้ที่นายเรือดูจะหรี่ตาเขียวใส่ พร้อมตั้งข้อหา 'ทรยศกลางทะเล'

หรือท้ายที่สุด...พีระพันธ์จะกลายเป็นนักว่ายน้ำดีเด่นในพายุการเมือง? หรือ ประคองเรือหลบ คาสิโนได้ .. อันนี้ก็ต้องลองลุ้นกัน

“ฉาวรักคนดัง vs ปัญหาชาติ?” ดร.อานนท์สะกิดสังคม เลิกสนใจเรื่องใต้สะดือคนอื่น หันมาสนอนาคตประเทศ

(18 เม.ย. 68) จากกรณีเรื่องฉาวสะเทือนวงการบันเทิง เมื่ออดีตแฟนของสาวรายหนึ่ง ออกมาแฉ ‘โตโน่’ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ นอกใจดาราสาว ‘ณิชา’ ณัฏฐณิชา ไปซุ่มคบหากับแฟนของตัวเองทั้งที่มีแฟนอยู่แล้วทั้งคู่ และมีการเปิดคลิปเสียงหน้ารถ และข้อความสุดสยิวย้ำถึงความสัมพันธ์ จนกลายเป็นเรื่องราวสุดฮอตในโลกโซเชียลมีเดีย ณ ขณะนี้ 

ทำให้ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Arnond Sakworawich แสดงความเห็นต่อกระแสข่าวดังกล่าวว่า

“สังคมไทยถ้าสนใจข่าวใครมีเพศสัมพันธ์กับใคร ใครนอกใจใครลดลงไปบ้างก็คงจะดี
ไม่มีประโยชน์อะไรเท่าไหร่ ล้วนเป็นเรื่องของอวัยวะเพศของพวกเขา สนใจปัญหาชาติบ้านเมือง เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก สงครามการค้า อะไรแบบนี้บ้างก็ดีนะครับ” 

โดยข้อความดังกล่าวได้รับการแชร์ต่อและมีการแสดงความเห็นอย่างหลากหลาย บางส่วนเห็นด้วยกับแนวคิดที่ชี้ให้สังคมหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่อีกฝ่ายยังคงให้ความสนใจต่อประเด็นดราม่าในวงการบันเทิง

20 เมษายน พ.ศ. 2535 50,000 เสียงตะโกนต้านอำนาจนอกระบบ ประชาชนรวมพลังค้านผู้นำเผด็จการ จุดไฟปะทุสู่การเปลี่ยนแปลง ปฐมบทชุมนุมใหญ่ก่อน ‘พฤษภาทมิฬ’ ที่ไทยไม่มีวันลืม

หลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนำโดยกลุ่มนายทหารระดับสูง ได้มีการแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อบริหารประเทศ และในเวลาต่อมา มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535

อย่างไรก็ตาม แม้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งจะได้เสียงข้างมาก แต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลับตกเป็นของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและเคยให้สัญญากับประชาชนก่อนหน้านี้ว่าจะไม่รับตำแหน่ง

การแต่งตั้งเช่นนี้จุดกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา และภาคประชาสังคม โดยมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และขัดต่อหลักการประชาธิปไตย

ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2535 มีประชาชนประมาณ 50,000 คน รวมตัวกันที่ ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการแต่งตั้ง พล.อ. สุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรี การชุมนุมครั้งนี้นำโดยหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน นักศึกษา และกลุ่มการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

แม้การชุมนุมจะเป็นไปอย่างสงบ แต่ก็เป็นการแสดงพลังครั้งใหญ่ที่สะท้อนถึงความไม่พอใจอย่างรุนแรงของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลในขณะนั้น และถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ ที่ลุกลามกลายเป็น เหตุการณ์ 'พฤษภาทมิฬ' ในเดือนถัดมา ซึ่งรัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การลาออกของ พล.อ. สุจินดา ในที่สุด และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

แม้เวลาจะผ่านมาหลายทศวรรษ แต่บทเรียนจากเหตุการณ์นี้ยังคงเป็นที่กล่าวถึงในฐานะจุดเปลี่ยนที่ฝากร่องรอยไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นเครื่องเตือนใจว่าพลังของประชาชนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เมื่อเสียงแห่งความหวังถูกเปล่งออกอย่างพร้อมเพรียง

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#8 'ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์' พันธมิตรสำคัญฝั่งสหรัฐฯ - เวียตนามใต้

กองกำลังผสมของกองทัพออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANZAC) เป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกาในการป้องกันการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าทั้งสองประเทศจะเผชิญกับกระแสต่อต้านสงครามที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศ แต่ทั้งสองประเทศยังคงให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาและเวียตนามใต้ตลอดช่วงสงคราม ในปี 1951 ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคง (ANZUS) ซึ่งเป็นข้อตกลงไตรภาคีที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก แม้ว่าจะไม่ได้มีการเรียกร้องสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการสำหรับสงครามเวียตนาม แต่ถึงกระนั้น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็ยังส่งกองกำลัง (ด้วยงบประมาณของตนเอง) เพื่อสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการปกป้องเวียตนามใต้

ในปี 1961 รัฐบาลออสเตรเลียเชื่อว่าการเอาชนะลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียตนามใต้เป็นเรื่องของหลักการและการป้องกันตนเอง เนื่องจากสันนิษฐานว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หากถูกคอมมิวนิสต์เข้าครอบงำแล้วจะเป็นภัยคุกคามต่อดินแดนทางเหนือของออสเตรเลีย ดังนั้น ในปลายฤดูร้อนของปี 1962 รัฐบาลออสเตรเลียได้ส่งทีมที่ปรึกษาทางทหาร 30 นาย ไปช่วยฝึกอบรมทหารของกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) สองปีต่อมา ทีมดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็นที่ปรึกษาทางทหาร 80 นายซึ่งฝังตัวอยู่กับกองกำลังภาคสนามของ ARVN และส่งเครื่องบินขนส่ง DHC-4 Caribou (พร้อมนักบิน) ของกองทัพอากาศออสเตรเลียอีก 6 ลำ เมื่อสหรัฐอเมริกาเพิ่มการสนับสนุนเวียดนามใต้ด้วยการส่งกองกำลังรบในปี 1965 ออสเตรเลียก็ดำเนินการตามทันที ด้วยการได้ส่งกองพันที่ 1 กรมทหารออสเตรเลีย (1RAR) และกองกำลังสนับสนุนไปประจำการภายใต้การควบคุมการปฏิบัติการของกองพลทหารอากาศที่ 173 ของกองทัพบกสหรัฐที่เบียนฮัว เมื่อสิ้นสุดปี 1965 หน่วย 1RAR ได้เพิ่ม หน่วยปืนใหญ่ หน่วยวิศวกร หน่วยลาดตระเวนทางอากาศ และหน่วยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์

แม้ว่าทหารอเมริกันและออสเตรเลียจะมีความร่วมมือและสู้รบร่วมกันได้ดี แต่โครงสร้างการบังคับบัญชาของออสเตรเลียไม่ได้สนับสนุนยุทธวิธีของกองทัพสหรัฐฯ หรือกฎการรบของกองทัพสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ ซึ่งบางครั้งพวกเขามองว่าเป็นข้อจำกัดที่ไร้ประโยชน์โดยไม่จำเป็น พวกเขาต้องการต่อสู้ในแบบของตนเอง ดังนั้นเมื่อในปี 1966 รัฐบาลออสเตรเลียได้เพิ่มกำลังพลให้เป็นหน่วยเฉพาะกิจสองกองพันที่มีการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงในการรบ เรียกว่า หน่วยเฉพาะกิจออสเตรเลียที่ 1 (1ATF) พวกเขาจึงใช้โอกาสนี้แยกตัวออกจากกองพลทหารอากาศที่ 173 และกลายมาเป็นหน่วยบังคับบัญชาอิสระที่มีพื้นที่ปฏิบัติการของตนเองในจังหวัดฟุกตุย โดยมีฐานที่นุยดัต หน่วยสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงออสเตรเลียที่ 1 (1ALSG) ตั้งขึ้นในบริเวณใกล้เคียงที่ท่าเรือและสนามบินในเมืองวุงเต่า

วันที่ 18 สิงหาคม 1966 กองร้อยเดลต้า กองพันที่ 6 กรมทหารออสเตรเลีย ซึ่งมีกำลังพลรวมประมาณ 108 นาย ได้ออกเดินทางเพื่อค้นหาและเคลียร์กองกำลังของศัตรูออกจากบิญบา ซึ่งเป็นสวนยางพาราเก่าของฝรั่งเศสที่อยู่ไม่ไกลจากไซง่อน กองกำลังออสเตรเลียถูกกองกำลังคอมมิวนิสต์ผสมกว่า 1,500 นายจากเวียตนามเหนือและเวียตกงเข้าโจมตี ในการยิงตอบโต้กันเป็นครั้งแรกกับศัตรู กองกำลังออสเตรเลียสูญเสียทหารไปเกือบหมด ซึ่งถือเป็นการสูญเสียชีวิตมากที่สุดที่พวกเขาต้องเผชิญในเวียตนามใต้ หลังจากการปะทะครั้งแรก เมื่อกองร้อยเดลต้าตั้งแนวป้องกันได้แล้ว กองกำลังออสเตรเลียก็ต่อสู้อย่างหนักกับการโจมตีหลายครั้งในช่วงสี่ชั่วโมงถัดมาท่ามกลางพายุฝนที่ตกหนัก กองทัพออสเตรเลียได้รับการสนับสนุนด้วยปืนใหญ่ และได้รับเสบียงจากลูกเรือเฮลิคอปเตอร์ UH-1 “Huey” Iroquois ของกองทัพอากาศออสเตรเลียสองลำ และได้รับการเสริมกำลังจากกองร้อยออสเตรเลียอีกกองหนึ่งที่มาถึงในตอนค่ำด้วยรถลำเลียงพลหุ้มเกราะพร้อมปืนกลขนาด .50 ในท้ายที่สุด กองทัพเวียตนามเหนือและเวียคกงก็ยุติการปะทะ ออสเตรเลียสูญเสียทหารไป 18 นาย และบาดเจ็บ 24 นาย ระหว่างปี 1962 ถึง 1973 ทหารจาก กองทัพบก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือของออสเตรเลียเกือบ 60,000 นายประจำการในเวียดนามใต้ ในช่วงที่มีกำลังพลสูงสุด มีทหารออสเตรเลียประจำการอยู่ในเวียตนามใต้มากกว่า 8,300 นาย ทหารออสเตรเลียบาดเจ็บมากกว่า 3,000 นาย และเสียชีวิต 521 นายในสงครามครั้งนี้

นิวซีแลนด์ เช่นเดียวกับออสเตรเลีย รัฐบาลนิวซีแลนด์เป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงต้นปี 1963 รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ให้การสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมแก่ชาวเวียดนามใต้ด้วยการส่งทีมศัลยแพทย์พลเรือนไปให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในเมืองกวีเญิน ฤดูร้อนปี 1964 รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ส่งวิศวกรของกองทัพบก 25 นายไปช่วยเหลือในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และในช่วงฤดูร้อนปี 1965 รัฐบาลนิวซีแลนด์จึงได้ส่งกำลังรบเข้าไปในเวียตนามใต้ อันได้แก่ กองร้อยปืนใหญ่ที่ 161 ของกองทหารปืนใหญ่นิวซีแลนด์เดินทางมาถึงเมืองเบียนฮัวในเดือนกรกฎาคม 1965 โดยเริ่มแรกเพื่อประจำการกับกองทัพออสเตรเลียภายใต้การบังคับบัญชาของกองพลทหารอากาศที่ 173 ของกองทัพบกสหรัฐฯ ต่อมาพวกเขาได้ย้ายไปอยู่กับกองกำลังพิเศษของออสเตรเลียที่เมืองนุยดัต ซึ่งพวกเขาประจำการอยู่ในกรมทหารปืนใหญ่ของออสเตรเลียจนถึงเดือนพฤษภาคม 1971

ในปี 1967 นิวซีแลนด์ได้ส่งกองร้อยปืนเล็กยาวจากกองพันที่ 1 ของกรมทหารราบของนิวซีแลนด์ไปประจำการ ซึ่งพวกเขาได้สู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองกำลังออสเตรเลียในหน่วยรบปืนใหญ่ที่ 1 นอกจากนั้นแล้ว นิวซีแลนด์ยังส่งเฮลิคอปเตอร์ UH-1 Iroquois (พร้อมนักบิน) ของกองทัพอากาศนิวซีแลนด์ไปประจำการอีกหลายลำ และในปี 1969 ก็ได้ส่งกองกำลังขนาดเล็กของหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางอากาศพิเศษนิวซีแลนด์ไปประจำการกับกองกำลังของออสเตรเลีย ระหว่างปี 1964 ถึง 1972 บุคลากรทางทหารของนิวซีแลนด์ประมาณ 3,500 นายประจำการในเวียตนามใต้ แม้ว่าจะมีไม่เกิน 550 นายที่อยู่ในประเทศในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก็ตาม พวกเขาได้รับบาดเจ็บ 187 รายและเสียชีวิต 37 รายในช่วงเวลาดังกล่าว

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top