Saturday, 26 April 2025
TheStatesTimes

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#9 'ฟิลิปปินส์' อีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญฝั่งสหรัฐฯ - เวียตนามใต้

ฟิลิปปินส์ อดีตรัฐอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา จึงเป็นพันธมิตรที่สนิทชิดเชื้ออย่างแนบแน่นกับสหรัฐฯ ตั้งแต่สงครามเกาหลี ฟิลิปปินส์ส่งกองกำลังประมาณ 7,500 นายเข้าร่วมสงครามเกาหลี เมื่อสิงหาคม 1950 เป็นกองกำลังที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 สำหรับสงครามเวียตนาม ฟิลิปปินส์ให้การสนับสนุนกำลังพลในส่วนของปฏิบัติการด้านกิจการพลเรือน การพัฒนาชุมชน การแพทย์และสาธารณสุข โดยเริ่มส่งกำลังเข้าไปในเวียตนามใต้ครั้งแรกในปี 1964 ด้วยกำลังทหาร 28 นาย รวมทั้งพยาบาลและพลเรือน 6 นาย จำนวนทหารของกองทัพฟิลิปปินส์ที่ประจำการในเวียตนามใต้เพิ่มขึ้นเป็น 182 นาย และกำลังพล 1,882 นายในช่วงปี 1966–1968 ทหารฟิลิปปินส์ประมาณ 10,450 นายถูกส่งไปเวียตนามใต้ และสนับสนุนโครงการทางการแพทย์และกิจการพลเรือนในด้านอื่น ๆ เป็นหลัก กองกำลังเหล่านี้ปฏิบัติการภายใต้ชื่อ A หรือ กลุ่มปฏิบัติการกิจการพลเรือนฟิลิปปินส์-เวียดนาม Philippine Civic Action Group - Vietnam (PHILCAG-V)

ในปี 1954 หลังจากที่เวียตนามถูกแบ่งออกเป็นเวียตนามเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์และเวียตนามใต้ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ชาวเวียดนามเหนือหลายพันคนได้อพยพลงใต้ ออสการ์ อาเรลลาโน ประธานสมาคมหอการค้าเยาวชนฟิลิปปินส์ (Jaycees) สาขามะนิลา เห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรม จึงได้ขอความช่วยเหลือจาก รามอน แม็กไซไซ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในขณะนั้น ซึ่งตอบว่า “พวกเราได้รับความช่วยเหลือในยามที่เราต้องการความช่วยเหลือจากมิตรสหายผู้ใจดี แล้วเราจะปฏิเสธความช่วยเหลือเพื่อนบ้านเมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือได้อย่างไร ความทุกข์ยากของมนุษย์ไม่มีพรมแดนของชาติ ดังนั้นโปรดช่วยเหลือพวกเขาด้วยทุกวิถีทาง และหากข้าพเจ้าและรัฐบาลนี้สามารถช่วยอะไรได้ โปรดอย่าลังเลที่จะติดต่อข้าพเจ้า” ในช่วง 2 ปีต่อมา ในปฏิบัติการที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า Operation Brotherhood สมาคม Jaycees ได้ร่วมกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ส่งแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ ทันตแพทย์ และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ จำนวน 235 คน เพื่อรักษาผู้ป่วยราว 730,000 คนในสถานพยาบาลทั่วเวียตนามใต้

ในปี 1964 เพื่อตอบสนองต่อการรณรงค์ 'More Flags' ของ ลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดิออสดาโด มาคาปากัล ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้ของบประมาณสนับสนุนจากรัฐสภาฟิลิปปินส์เพื่อส่งกำลังรบไปยังเวียตนามใต้ แต่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาฟิลิปปินส์กลับอนุมัติงบประมาณสำหรับความช่วยเหลือด้านพลเรือนแทน ในเดือนสิงหาคม 1964 ฟิลิปปินส์ได้ส่ง แพทย์ พยาบาล ช่างเทคนิค และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านกิจการพลเรือน 16 นายจากกองทัพฟิลิปปินส์เข้าไปช่วยเหลือ "ในความพยายามให้คำแนะนำที่มุ่งเน้นไปที่สงครามจิตวิทยาและกิจการพลเรือนในกองพลที่ 3" ตามประวัติของกองบัญชาการความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ เวียดนาม (MACV) ซึ่งเรียกหน่วยนี้ว่า PHILCON (กองกำลังฟิลิปปินส์)

ในปี 1966 รัฐบาลเวียตนามใต้ได้ร้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากฟิลิปปินส์ รวมถึงกองกำลังติดอาวุธ ฟิลิปปินส์จึงส่งกองกำลังใหม่ไปยังเวียตนามใต้เพื่อแทนที่ PHILCON คือ กลุ่มปฏิบัติการกิจการพลเรือนฟิลิปปินส์-เวียดนาม (PHILCAG-V) ประกอบด้วย กองพันวิศวกรก่อสร้าง ทีมปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข กองพันรักษาความปลอดภัย หน่วยสนับสนุนและกองบังคับการ พวกเขาได้ตั้งฐานทัพที่เมืองเตยนิญห์ 45 ไมล์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของไซง่อน ในช่วงฤดูร้อนของปี 1966 ในช่วง 40 เดือนถัดมา PHILCAG-V ได้ปฏิบัติภารกิจเพื่อพลเรือนที่มีความหลากหลาย โดยส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างสาธารณูปโภค การพัฒนาชนบท และการบรรเทาทุกข์ด้านอาหารและการแพทย์ แม้ว่า PHILCAG-V จะมีทหารฟิลิปปินส์ 2,068 นายในช่วงที่มีบทบาทสูงสุด แต่ PHILCAG-V เน้นภารกิจด้านมนุษยธรรม ไม่ใช่การรบ ด้วยคติประจำของ PHILCAG-V ว่า “สร้าง ไม่ใช่ทำลาย นำความสุข ไม่ใช่ความเศร้าโศก สร้างความปรารถนาดี ไม่ใช่ความเกลียดชัง”

PHILCAG-V เป็นหน่วยปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการดำเนินการเพื่อสังคม จนเป็นที่ชื่นชมของชาวเวียตนามใต้ สมาชิกหลายคนของ PHILCAG-V รุ่นแรกจำได้ว่า ชาวเวียตนามใต้มีชื่อเล่นพิเศษสำหรับทหารฟิลิปปินส์ว่า “ทุกที่ที่พวกเขาไป พวกเขาถูกเรียกว่า ‘Philuatan’ ซึ่งหมายความว่า ‘ชาวฟิลิปปินส์คือหมายเลขหนึ่ง’” เห็นได้ชัดว่าชาวเวียตนามใต้มากมายจดจำทหารฟิลิปปินส์ด้วยมิตรภาพ นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลฟิลิปปินส์ยังให้การสนับสนุนต่อความพยายามในการทำสงครามเวียตนามของสหรัฐฯ ด้วยการให้กองกำลังสหรัฐฯ ปฏิบัติการจากฐานทัพเรือที่อ่าวซูบิกในซัมบาเลส สำหรับกองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ และจากฐานทัพอากาศคลาร์กในแองเจลิสซิตี้ในลูซอนของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 1965 จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามในปี 1975 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังรองรับคนงานในท้องถิ่นประมาณ 80,000 คนในธุรกิจระดับตติยภูมิที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีตั้งแต่ธุรกิจทำรองเท้าไปจนถึงการค้าประเวณี มีทหารฟิลิปปินส์ 9 นายเสียชีวิตในเวียตนามใต้ กองกำลังฟิลิปปินส์ถอนตัวออกจากเวียตนามใต้ในวันที่ 12 ธันวาคม 1969 โดยมีการส่งกำลังทหารฟิลิปปินส์ไปยังหมู่เกาะสแปรตลีย์ในเวลาเดียวกัน

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#10 พันธมิตรฝั่งสหรัฐฯ และเวียตนามใต้ : 'ไทย' (1)

ไทยมีบทบาทในภูมิภาคอินโดจีนมายาวนาน เริ่มจาก “เวียตนาม” ตั้งแต่สมัย “องเชียงสือ (เจ้าอนัมก๊ก ตามพงศาวดารไทย)” มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ที่กรุงเทพฯ ต่อมาสามารถกู้คืนอำนาจ รวมแผ่นดินเวียดนามได้สำเร็จ เฉลิมพระนาม “จักรพรรดิซาล็อง” ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เหงวียน ราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม และสามารถโค่นล้มราชวงศ์เต็ยเซินอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2345 ด้วยความช่วยเหลือจากสยามหลายครั้ง เป็นที่มาของการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายรัชกาลที่ 1 ถึง 6 ครั้งตลอดรัชกาล โดยไทย (“ราชอาณาจักรสยาม” ในสมัยนั้น) ต้องเสียดินแดน “สิบสองจุไทย (สิบสองเจ้าไท)” ให้กับฝรั่งเศสซึ่งส่งกำลังเข้ามายึดเอาดื้อ ๆ ในปี 1888

“ลาว” เป็นดินแดนในปกครองของไทยมายาวนานเช่นกันก่อนที่จะถูกฝรั่งเศสใช้อำนาจและสารพัดเล่ห์กลสร้างเหตุเพื่อยึดเอาดินแดนเหล่านี้ไป ได้แก่ ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในปี 1893 ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในปี 1904 เช่นเดียวกันกับ “กัมพูชา” ซึ่งได้แก่ ดินแดนกัมพูชาตะวันออกเฉียงใต้ในปี 1867 เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณในปี 1907 กระทั่งเกิด “กรณีพิพาทอินโดจีน” หรือ “สงครามฝรั่งเศส-ไทย”  เหนือดินแดนบางส่วนของอินโดจีนฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสต้องยกดินแดนจากกัมพูชาและลาวคืนให้ไทย ได้แก่ จังหวัดพระตะบองและจังหวัดไพลิน (จัดตั้งใหม่เป็นจังหวัดพระตะบอง) จังหวัดเสียมราฐ จังหวัดบันทายมีชัย และจังหวัดอุดรมีชัย (จัดตั้งใหม่เป็นจังหวัดพิบูลสงคราม) จังหวัดพระวิหาร ผนวกเข้ากับแขวงจำปาศักดิ์ของลาวที่อยู่ตรงข้ามปากเซ เพื่อสร้างจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ แขวงไชยบุรี รวมแขวงหลวงพระบางบางส่วน ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดลานช้าง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจและฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม โดยต้องทำความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส “ความตกลงวอชิงตัน” ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1946 มีผลให้ไทยต้องคืนดินแดน อินโดจีน ที่ได้มาทั้งหมดให้กับฝรั่งเศส ดังนั้นไทยจึงเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในภูมิภาคนี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ไทยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสหรัฐอเมริกาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ขบวนการเสรีไทย และได้กลายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง โดยเป็นหนึ่งประเทศซึ่งเป็นแนวร่วมสำคัญของสหรัฐฯ ในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนสต์ การส่งกองกำลังไปร่วมรบกับสหประชาชาติภายใต้การนำของสหรัฐฯ ในสงครามเกาหลี

สำหรับสงครามอินโดจีนที่สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทนั้น สืบเนื่องจากภัยคุกคามของไทยในขณะนั้นประสบกับการรุกรานของลัทธิคอมมิวนิสต์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ในช่วงต้นเดือนกันยายน 1958 กองทัพบกไทยได้เริ่มทำการฝึกให้กับกองทัพลาวที่ค่ายเอราวัณ ต่อมาเดือนเมษายน 1959 ค่ายฝึกทหารลาวแห่งแรกในประเทศไทยได้เปิดตัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีชื่อรหัสว่า "โครงการเอกราช (Unity)" กองทัพบกไทยยังได้จัดตั้งกองบัญชาการ 333 (HQ 333) เพื่อควบคุมการปฏิบัติการลับที่เกี่ยวข้องกับลาว โดยสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) ได้จัดตั้งหน่วยประสานงานร่วมเพื่อประสานงานกิจกรรมกับ HQ 333 มีการจัดส่งนักบินไทยและเจ้าหน้าที่เทคนิคไปทำการบินให้กับกองทัพอากาศลาว เดือนธันวาคมปี 1960 มีการส่งตำรวจพลร่ม (Police Aerial Reinforcement Unit : PARU) ชุดแรกเข้าไปในลาวเพื่อร่วมในปฏิบัติการด้านสงครามพิเศษ การทำสงครามแบบกองโจร และการฝึกทหารลาวม้ง การปฏิบัติการจิตวิทยา จัดตั้งกองกำลัง และการร่วมปฏิบัติการรบ

หลังจากลงนามสงบศึกที่เจนีวา แต่สงครามในลาวไม่ได้หยุดลง และกลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น CIA และ HQ 333 จึงจำเป็นต้องขยายขอบเขตการรบในลาว จึงมีการจัดระบบเตรียมการและจัดส่งกำลังพลทหารรับจ้างไทย (ทหารเสือพราน) เข้าไปในลาว เริ่มจากทหารปืนใหญ่ของกองทัพไทยเข้าร่วมการรบในแนวใกล้ทุ่งไหหินในปี 1964 เพื่อต่อสู้กับกองกำลังของประเทดลาว (ลาวแดง) ในโปรแกรมการฝึกพิเศษของสหรัฐฯ ต่อมาในปี 1969 หน่วยปืนใหญ่อีกหน่วยหนึ่งได้ทารรบป้องกันเมืองสุยเพื่อต่อต้านกองกำลังคอมมิวนิสต์ (ลาวแดงและเวียตนามเหนือ) และกลายเป็นหน่วยรบแรกของไทยที่สู้รบในลาว จากนั้นก็มีหน่วยอื่น ๆ ตามมา ในปี 1970 ฝ่ายอเมริกันได้โน้มน้าวฝ่ายไทยให้ใช้กำลังอาสาสมัครติดอาวุธในลาว (ทหารรับจ้างไทย (ทหารเสือพราน)) และต่อมาอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกและใช้งานเหล่านี้ก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายอเมริกัน กองกำลังที่ได้รับการฝึกใหม่ได้รับการจัดเป็นกองพัน กองพันละ 495 นาย ภายใต้สัญญาจ้าง 1 ปี จากนั้นก็สามารถขยายต่อไปได้ กองพันเริ่มต้นด้วยเลข "6" ซึ่งเป็นความแตกต่างในการกำหนดหน่วยของไทยจากหน่วยลาว กองพันแรกเริ่มจาก 601, 602 การเตรียมการของสองกองพันดังกล่าวสิ้นสุดลงในต้นเดือนธันวาคม 1970 และในกลางเดือนธันวาคม กองพันเหล่านี้ก็ถูกส่งเข้าสู่สนามรบแล้ว CIA ซึ่งเคยชินกับความไร้ประสิทธิภาพของทหารลาวรู้สึกประหลาดใจอย่างยินดีกับผลลัพธ์ของการโจมตีของไทย

บทบาทและจำนวนทหารรับจ้างไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง CIA ต้องการทหารให้ได้มากที่สุด จึงเริ่มรับสมัครชายไทยที่ไม่มีประสบการณ์ทางการทหารเข้าค่ายฝึก เป็นผลให้ในเดือนมิถุนายน 1971จำนวนหน่วยทหารรับจ้างไทยที่ไปทำสงครามในลาวเท่ากับ 14,028 นาย และสิ้นเดือนกันยายน 1971 มากถึง 21,413 นาย เมื่อทหารลาวและทหารลาวม้งลดจำนวนลง สัดส่วนของทหารไทยก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อสิ้นสุดปี 1972 ทหารไทยได้กลายมาเป็นกำลังรบหลักของลาวภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลวางเปา ทหารรับจ้างไทยถือเป็นกองกำลังที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการต่อสู้กับลาวแดงและเวียตนามเหนือในลาว ทหารม้งซึ่งบางครั้งสามารถทำลายกองกำลังคอมมิวนิสต์บางส่วนด้วยการสนับสนุนทางอากาศจากอเมริกันด้อยกว่าทหารรับจ้างไทยอย่างเห็นได้ชัดในทุกๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม การรบในปี 1971 กองกำลังคอมมิวนิสต์ได้สร้างความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ให้กับกองกำลังทหารรับจ้างไทย เป็นครั้งแรกที่เครื่องบิน MiG ของเวียดนามได้เปิดฉากโจมตีในลาวเพื่อสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดินของเวียตนามเหนือและลาวแดง  เนื่องจากคุ้นเคยกับการสนับสนุนทางอากาศจากสหรัฐฯ ทั้งกองกำลังของลาวและไทยจึงไม่สามารถรักษาที่มั่นเอาไว้ได้ เมื่อฝ่ายศัตรูสามารถครองอากาศ และกองกำลังทหารรับจ้างไทยถูกบังคับให้หลบหนีจากสนามรบ ก่อนที่จะมีการสงบศึกในเดือนกุมภาพันธ์ 1973 ทหารรับจ้างไทยเกือบครึ่งหนึ่งหลบหนีกลับไทย ทหารรับจ้างไทยที่เหลือประมาณ 10,000 นายก็ถูกส่งตัวกลับไทยและแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา ไม่มีข้อมูลยืนยันถึงตัวเลขของทหารรับจ้างไทยที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ ซึ่งน่าจะถึงหลักพัน สงครามในลาวถือว่าเป็น “สงครามลับ” สำหรับสหรัฐฯ ซึ่งในวันที่ 15 พฤษภาคม 1997 สหรัฐฯ พึ่งจะยอมรับอย่างเป็นทางการว่าตนมีส่วนร่วมในสงครามลับดังกล่าว

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

‘อันวาร์’ โพสต์ภาพคุย ‘ทักษิณ’ ที่กรุงเทพฯ ถกแนวทางสร้างสันติภาพเมียนมา ย้ำอาเซียนต้องเดินหน้าต่อ

ดาโต๊ะ เสรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานหมุนเวียนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เผยผ่านเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา เขาได้เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการกับกลุ่มที่ปรึกษาของประธานอาเซียน ซึ่งรวมถึงการพบปะกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย

ในโพสต์ดังกล่าว อันวาร์ได้เผยแพร่ภาพขณะหารือกับ ดร.ทักษิณ พร้อมระบุว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะวิกฤตในประเทศเมียนมา ซึ่งยังคงเป็นประเด็นเร่งด่วนด้านมนุษยธรรมและสันติภาพ

“การอภิปรายเหล่านี้เปิดโอกาสให้เราหารือถึงหนทางสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในเมียนมา รวมถึงการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมีประสิทธิภาพแก่พลเมืองของตน” นายกรัฐมนตรีมาเลเซียระบุ

นอกจากนี้ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 18 เมษายน อันวาร์ยังได้ประชุมทางไกลเป็นเวลา 40 นาที กับอูมาน วิน ไข ตาน ตัวแทนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา (NUG) เพื่อหารือถึงความต้องการด้านมนุษยธรรมที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองและการทหารอย่างต่อเนื่อง

นายอันวาร์กล่าวว่า การเจรจากับทั้ง NUG และสภาบริหารแห่งชาติเมียนมา (SAC) ได้รับการตอบรับโดยไม่มีการคัดค้าน ถือเป็นพัฒนาการเชิงบวกในความพยายามสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างทุกฝ่าย

“ความพยายามในการสร้างความเชื่อมั่นยังคงเป็นหัวใจสำคัญ กระบวนการนี้ต้องดำเนินต่อไปภายใต้กรอบของอาเซียน เราจะเจรจาต่อรองกับทุกฝ่ายเพื่อสันติภาพ ความปรองดอง และความเป็นอยู่ที่ดีของชาวเมียนมา” อันวาร์ระบุ

ทั้งนี้ การพบปะกับ ดร.ทักษิณ ถือเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญของผู้นำมาเลเซีย ในการใช้บทบาทผู้นำอาเซียนเพื่อผลักดันทางออกจากวิกฤตเมียนมา โดยมีแนวโน้มว่าการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ในลักษณะนี้จะเดินหน้าต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของวาระประธานอาเซียนปี 2568

SOS FLAGSHIP STORE ลดจัดเต็ม!! 70% ลดหนักจัดเต็มทั้งร้าน ตั้งแต่วันที่ 14-30 เม.ย. 68

เซลล์ส่งท้ายร้าน SOS FLAGSHIP STORE ก่อนประกาศปิดให้บริการ ลดจัดเต็มทั้ง 4 ชั้น สูงสุด 70% สาขา Flagship store วันที่ 30 เม.ย. จะเปิดให้บริการวันสุดท้าย โปรปังแบบนี้มีเฉพาะสาขาสยามสแควร์เท่านั้นนะ

‘ณิชา’ สวยสะกดทุกสายตา!! ควงกระเป๋า Tote Bag จาก Fundaoera ลุคหรูดูแพงสุดปัง

กระเป๋า Tote Bag  ที่รังสรรค์จากวัสดุหนังเเท้ โดดเด่นด้วยโลโก้สีทอง 𝘛𝘩𝘦 𝘐𝘯𝘧𝘪𝘯𝘪𝘵𝘺 𝘋𝘰𝘶𝘣𝘭𝘦 𝘊𝘳𝘰𝘴𝘴 อันเป็นเอกลักษณ์ ช้อปได้ที่ FUNDAO Store ทุกสาขา

‘ทีดีอาร์ไอ’ หนุนแนวคิด ‘พีระพันธุ์’ ปฏิรูปกองทุนน้ำมันฯ สู่ระบบ SPR ยกเลิกอุดหนุน แก้ปัญหาน้ำมันแพงอย่างยั่งยืน

(18 เม.ย. 68) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกโรงสนับสนุนนโยบายของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ผลักดันแนวคิดเปลี่ยนระบบสำรองน้ำมันจากรูปแบบการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาเป็นการจัดเก็บน้ำมันจริงในรูปแบบ "คลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์" หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve)

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงาน ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ระบบ SPR มีข้อได้เปรียบเหนือกว่ากองทุนน้ำมันฯ แบบเดิมที่ใช้กลไกการอุดหนุนราคาน้ำมัน เพราะช่วยให้รัฐบาลบริหารจัดการราคาขายปลีกน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอิงต้นทุนจริง ไม่ต้องแทรกแซงหรือใช้งบประมาณจำนวนมากเหมือนในอดีต ทั้งยังสามารถรับมือกับวิกฤตพลังงานจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น สงครามหรือภัยธรรมชาติ

“วัตถุประสงค์หลัก คือ รองรับวิกฤตด้านพลังงานจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น สงคราม การปิดเส้นทางขนส่ง หรือภัยธรรมชาติ เพื่อให้ประเทศมีน้ำมันเพียงพอในภาวะฉุกเฉิน”

จากข้อมูลปี 2567 พบว่าคลังน้ำมันของไทยมีความจุรวม 16,545 ล้านลิตร แบ่งเป็นน้ำมันดิบ 7,500 ล้านลิตร และน้ำมันสำเร็จรูป 9,000 ล้านลิตร ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการสำรองในระดับ 90 วันตามมาตรฐานของระบบ SPR ที่ต้องการสำรอง 14,000 ล้านลิตร (น้ำมันดิบ 12,000 ล้านลิตร และน้ำมันสำเร็จรูป 2,000 ล้านลิตร)

ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอแนะให้รัฐเริ่มต้นจากการสำรองน้ำมันขั้นต่ำ 30 วัน และค่อย ๆ ขยับเพิ่มเป็น 60-90 วัน เพื่อไม่ให้เกิดภาระต้นทุนสูงเกินไปกับภาคเอกชน และสามารถทยอยปรับโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างเหมาะสม

“ภาครัฐควรจัดทำแผนเป็นลำดับขั้น เริ่มจากการตั้งเป้าสำรองขั้นต่ำที่ 30 วันของปริมาณการใช้น้ำมันต่อวันในประเทศ และขยายเป็น 60-90 วัน ในระยะกลางและระยะยาว”

แนวทางสำคัญในการสร้าง SPR คือการเปลี่ยนการเก็บค่าภาคหลวงจากเงินสดเป็นน้ำมันจริง โดยอาศัยกฎหมายปิโตรเลียมที่เปิดช่องให้ผู้รับสัมปทานสามารถชำระค่าภาคหลวงเป็นน้ำมันได้ ซึ่งหากจัดเก็บในอัตรา 12.5% จากปริมาณส่งออกปิโตรเลียมเฉลี่ย 19 ล้านลิตรต่อวัน จะได้น้ำมันสำรองราว 2.4 ล้านลิตรต่อวัน

อีกทางเลือกคือการนำส่วนอุดหนุนที่เคยเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ และภาษีบางส่วน มาใช้จัดซื้อและบริหารน้ำมันสำรอง โดยให้เอกชนเป็นผู้รับภาระแทนรัฐ ซึ่งต้องมีการชดเชยที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันขยับขึ้นมากในระยะยาว

นายพีระพันธุ์ ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้จัดทำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบ SPR เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าหากดำเนินการได้สำเร็จ จะเป็นการวางรากฐานสำคัญในการบริหารจัดการน้ำมันของประเทศอย่างมีเสถียรภาพ และลดความผันผวนของราคาน้ำมันในอนาคต

‘เอกนัฏ’ ดันมาตรฐานใหม่บันไดเลื่อน-ทางเลื่อนอัตโนมัติ คุมเข้มความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล รองรับแผ่นดินไหว

(18 เม.ย. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมประเภท 'บันไดเลื่อน' และ 'ทางเลื่อนอัตโนมัติ' ต้องเป็นไปตามมาตรฐานใหม่ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของประชาชน โดยจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน คาดมีผลจริงภายในเดือนตุลาคม 2568

“ผมได้สั่งการให้ สมอ. เร่งผลักดันให้บันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามบิน รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน และอาคารสำนักงานต่าง ๆ โดยเฉพาะในยุคที่ภัยแผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป มาตรฐานใหม่จึงต้องครอบคลุมถึงการรองรับเหตุแผ่นดินไหวด้วย” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า มาตรฐานฉบับใหม่นี้เป็นไปตามมาตรฐานสากล (ISO) ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ โดยเฉพาะในด้าน ความปลอดภัยและระบบไฟฟ้า พร้อมเทคโนโลยีระบบตรวจจับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว เมื่อเกิดเหตุระบบจะหยุดทำงานโดยอัตโนมัติทันที

จุดเด่นของมาตรฐานใหม่ ได้แก่

1.ระบบตรวจจับแผ่นดินไหวเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้า หยุดทำงานทันทีเมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือน

2.มีโครงสร้างยึดติดแนวดิ่งป้องกันการเคลื่อนหลุดออกจากฐาน

3.ความยาว-ระยะเคลื่อนตัวสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของอาคาร

4.หยุดทำงานอัตโนมัติหากระบบเบรกขัดข้อง ความเร็วผิดปกติ หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปติด

5.ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่สาธารณะ

โดย ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย จะต้องขอรับใบอนุญาต มอก.3778 เล่ม 1–2567 ให้แล้วเสร็จก่อนจำหน่าย โดยหากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา สมอ. ได้จัดสัมมนาเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมถึง 92 ราย

ทั้งนี้ มาตรการใหม่นี้ไม่เพียงแต่ยกระดับความปลอดภัยของประชาชนในชีวิตประจำวัน แต่ยังเป็นการปรับมาตรฐานของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์ภัยธรรมชาติ และเพิ่มความมั่นใจในการใช้โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะของประชาชนทั่วประเทศ

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่สตรี แม่เลี้ยงเดี่ยวหรือด้อยโอกาส ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี พร้อมมอบรถเข็นวีลแชร์แก่ผู้พิการด้อยโอกาส มอบจักรยานให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ชนบท และนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการประชาชนฟรี

(18 เม.ย.68) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ พร้อมด้วย นายจารุรัตน์ คุณัตถานนท์ กรรมการและเหรัญญิก นางชุติมา ตันติศิริวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการ นางสาวดวงชุตา ติยะพจนพรกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ นางสาวศุภรัตน์ สมบัติเจริญไทย หัวหน้าแผนกส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ และ นางสาวเนาวรัตน์ วรรณศิริ หัวหน้าแผนกหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน นำทีมลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี มอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้แก่สตรีที่มีรายได้น้อยมีภาระหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือด้อยโอกาสทางสังคม มีความรู้ความสามารถ แต่ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพ จำนวน 6 ราย พร้อมมอบรถเข็นวีลแชร์แก่ผู้พิการด้อยโอกาส จำนวน 10 ราย และมอบจักรยาน แก่โรงเรียนชนบทที่ขาดแคลน จำนวน 2 โรงเรียน รวมจำนวน 20 คัน พร้อมกระบอกน้ำขนาด 1 ลิตร รวมมูลค่าการดำเนินการช่วยเหลือชาวชลบุรีในครั้งนี้ทั้งสิ้น 184,072 บาท (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นแปดพันห้าร้อยยี่สิบบาทถ้วน) พร้อมกันนี้ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้นำทีมหน่วยแพทย์ฯ ลงพื้นที่ให้บริการประชาชนฟรี ประกอบด้วย บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป จ่ายยา ตรวจวัดสายตาพร้อมแจกแว่น ฯลฯ โดยมี นายพงศ์ธสิษฐ์ ปิจนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วย นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นายนัธทวัฒน์ ธนโชติชัยพัชร์ ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ 36 พรรษา จังหวัดชลบุรี และนางสาวอัญชลี จงคดีกิจ (ปุ๊-อัญชลี) อาสาสมัครศิลปินมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมในพิธี ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ 36 พรรษา จังหวัดชลบุรี

นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรีและครอบครัว มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพ แก่ สตรี บุรุษ พ่อเลี้ยงเดี่ยว หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีความรู้และความสามารถ ฐานะยากจน ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ โดยเราได้รับความร่วมมือจากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ชลบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ ขอนแก่น ลำพูน ลำปาง เชียงราย และพิษณุโลก

ตลอดระยะเวลากว่า 115 ปี ที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ  ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลายทาง เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ต่อไป ดังปณิธาน “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต”

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมการช่วยเหลือของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ที่เว็บไซต์ www.pohtecktung.org และ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung

กฟผ. ยืนยันเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศปลอดภัยจากแผ่นดินไหว มีเทคโนโลยี ICOLD ตรวจสอบล้ำสมัย เฝ้าระวังพฤติกรรมเขื่อนแบบเรียลไทม์

(18 เม.ย. 68) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืนยันเขื่อนขนาดใหญ่ภายใต้การดูแลมีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยสูงสุด โดยได้รับการออกแบบให้รองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว พร้อมดำเนินการเฝ้าระวังและตรวจสอบพฤติกรรมเขื่อนตามมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนได้ผ่านแอปพลิเคชัน 'EGAT ONE'

นายชวลิต กันคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กฟผ. เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา และส่งผลกระทบต่ออาคารบ้านเรือนในหลายจังหวัดของไทย ทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความกังวลต่อความมั่นคงของเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศ ซึ่ง กฟผ. ขอยืนยันว่าเขื่อนทุกแห่งได้รับการออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวไว้ล่วงหน้าแล้ว อีกทั้งมีระบบเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และติดตามพฤติกรรมเขื่อนด้วยเครื่องมือวัดเฉพาะทางตามมาตรฐานสากลขององค์การเขื่อนใหญ่ระหว่างประเทศ (ICOLD)

จากการตรวจวัดของเครื่องมือวัดอัตราเร่งพบว่า เขื่อนขนาดใหญ่ของ กฟผ. ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ โดยมีค่าที่ตรวจวัดได้อยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าที่ออกแบบไว้ ตัวอย่างเช่น

เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ (ห่างศูนย์กลางแผ่นดินไหว 546.36 กม.) ตรวจวัดได้ 0.00074g 

เขื่อนภูมิพล จ.ตาก (ห่าง 482.82 กม.) ตรวจวัดได้ 0.00457g 

เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี (ห่าง 820 กม.) ตรวจวัดได้ 0.00473g 

เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี (ห่าง 809.8 กม.) ตรวจวัดได้ 0.02590g

ในขณะที่เขื่อนทุกแห่งของ กฟผ. ได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับแผ่นดินไหวที่มีอัตราเร่งถึง 0.1–0.2g ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าที่เกิดขึ้นจริงหลายเท่า

ด้านมาตรการดูแลความปลอดภัย เขื่อนและอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. ได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวดใน 3 ระดับ ได้แก่

ตรวจสอบแบบประจำ – ดำเนินการทุกสัปดาห์ โดยเจ้าหน้าที่เฉพาะทางติดตามข้อมูลจากเครื่องมือ

ตรวจวัด ตรวจสอบแบบเป็นทางการ – ทุก 2 ปี โดยคณะกรรมการประเมินความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน 

ตรวจสอบกรณีพิเศษ – เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ เช่น แผ่นดินไหวรุนแรง น้ำหลาก หรือฝนตกหนัก

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านความปลอดภัยได้อย่างรวดเร็ว กฟผ. ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน EGAT ONE รองรับทั้งระบบ iOS และ Android สำหรับติดตามสถานการณ์น้ำ ข้อมูลเขื่อน และการแจ้งเตือนต่าง ๆ โดยตรงจาก กฟผ. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

21 เมษายน พ.ศ. 2325 ครบรอบ 243 ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ รำลึกพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ 1 ผู้ทรงวางรากฐานพระนครใหม่ สู่มหานครแห่งความรุ่งเรืองของแผ่นดินไทย

วันที่ 21 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธียกเสาหลักเมือง ณ พื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนา 'กรุงรัตนโกสินทร์' หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ 'กรุงเทพมหานคร' อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2325

การย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมายังฝั่งพระนครมีเหตุผลสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ ความมั่นคง และการบริหารราชการ โดยพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีความเหมาะสมต่อการพัฒนากรุงใหม่ให้มั่นคงและรุ่งเรือง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การปกครอง และวัฒนธรรม

พิธียกเสาหลักเมือง หรือ 'พิธีฝังหลักเมือง' เป็นพิธีกรรมสำคัญในวัฒนธรรมไทยและอินโดจีน ซึ่งสื่อถึงการกำหนดศูนย์กลางของเมืองใหม่ โดยมีความเชื่อว่าหลักเมืองเป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะปกปักรักษาบ้านเมือง

เสาหลักเมืองกรุงเทพฯ ที่ฝังเมื่อปี พ.ศ. 2325 ถูกบรรจุไว้ในศาลหลักเมืองซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยและนักท่องเที่ยวให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่ง

นับตั้งแต่การสถาปนา กรุงรัตนโกสินทร์ได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ วัฒนธรรม ศิลปะ และศาสนาของประเทศ โดยผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กรุงรัตนโกสินทร์ไม่เพียงเป็นเมืองหลวงทางกายภาพ แต่ยังเป็นหัวใจของความเป็นไทยในหลากหลายมิติ ทั้งประวัติศาสตร์ ราชประเพณี และความรุ่งเรืองของราชอาณาจักรไทย

ทั้งนี้ ในทุกปี วันที่ 21 เมษายน จะมีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 1 และราชวงศ์จักรี รวมถึงการสืบสานวัฒนธรรมไทย เช่น พิธีบวงสรวงที่ศาลหลักเมือง ขบวนแห่ เครื่องสักการะ และกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ร่วมเฉลิมฉลองและเรียนรู้รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของชาติ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top