ศึกเงาของ ‘ทรัมป์’ ปะทะ ‘โซรอส’ เกมอำนาจเบื้องหลังเลือกตั้งแอลเบเนีย นักวิเคราะห์ชี้เป็นสนามประลองอุดมการณ์ระดับโลก กลางสมรภูมิการเมืองยุโรป
(17 เม.ย. 68) แอลเบเนียกำลังเผชิญการเลือกตั้งที่ร้อนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ เมื่อการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองว่าไม่ใช่แค่การแย่งชิงเก้าอี้รัฐสภา แต่คือสงครามตัวแทนของสองขั้วอุดมการณ์ระดับโลก ระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” กับ “จอร์จ โซรอส”
อดีตเอกอัครราชทูตแอลเบเนียประจำสหรัฐฯ นายอากิม เนโช เผยว่า การเลือกตั้งในวันที่ 11 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ เป็นมากกว่าการแข่งขันทางการเมืองภายในประเทศ หากแต่สะท้อนการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมที่ต่อต้านการแทรกแซงจากภายนอก กับฝ่ายเสรีนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ
นายกรัฐมนตรีเอดี รามา ผู้นำพรรคสังคมนิยม ที่ครองอำนาจต่อเนื่องมากว่า 12 ปี ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนหัวก้าวหน้า อาทิ อเล็กซ์ ซอรอส บุตรชายของจอร์จ ซอรอส ตลอดจนโครงการของ USAID และมูลนิธิ Open Society Foundations (OSF) ซึ่งฝ่ายค้านกล่าวหาว่าเป็นกลไกแทรกแซงการเมืองแอลเบเนีย
ด้านฝ่ายค้านนำโดยนายซาลี เบริชา อดีตผู้นำประเทศและหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยฝ่ายขวา ได้รับการหนุนหลังจากนายคริส ลาซีวิตา อดีตผู้จัดการหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมออกแถลงการณ์โจมตีว่า รัฐบาลรามาคือ “หุ่นเชิดของโซรอส” และให้คำมั่นจะนำแอลเบเนียกลับสู่ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ ในแบบที่เคยมีในยุคทรัมป์
สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อเบริชาถูกตัดสิทธิทางกฎหมายในประเทศ และเผชิญคดีทุจริตตั้งแต่ปี 2023 ซึ่งเขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยระบุว่าเป็นการกลั่นแกล้งจากฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มอิทธิพลต่างชาติ
ไม่เพียงเท่านั้น นายอิลีร์ เมตา อดีตประธานาธิบดีและผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตยสายกลาง ก็ถูกจับกุมในข้อหาทุจริตเช่นกัน ยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อระบบตุลาการของประเทศที่ฝ่ายค้านกล่าวหาว่า “ถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมือง”
รายงานจาก European Center for Law & Justice ชี้ว่า Open Society Foundations ได้ลงทุนในแอลเบเนียมากกว่า 131 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1992 โดยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปตุลาการ ซึ่งถูกมองว่าเป็นช่องทางการควบคุมอำนาจจากภายนอก
เนโช สรุปว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นอีกครั้งที่ประชาชนแอลเบเนียต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรม พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเร่งผลักดันการเลือกตั้งที่โปร่งใส หรือพิจารณาเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป จนกว่าจะมีหลักประกันในกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริง