Tuesday, 29 April 2025
TheStatesTimes

กรมศิลปากรเตรียมแผนบูรณะ พระพุทธรูป 696 ปี วัดพระบรมธาตุฯ ชัยนาท หลังได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวในเขตประเทศเมียนมา

(30 มี.ค. 68) หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดในเขตประเทศเมียนมา ได้มีการตรวจสอบความเสียหายของโบราณสถานสำคัญในหลายพื้นที่ ล่าสุดพบว่าพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ประดิษฐานภายในวัดพระบรมธาตุวรวิหาร จังหวัดชัยนาท ได้รับความเสียหาย โดยมีรอยร้าวปรากฏเป็นทางยาวบริเวณด้านหลังและแขนขวาขององค์พระ

พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง มีอายุยาวนานกว่า 696 ปี ที่สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอู่ทอง และถือเป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรม 

จากการตรวจสอบเบื้องต้นโดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร พบมีรอยแตกร้าวเป็นแนวยาวที่บริเวณด้านหลัง ตั้งแต่ต้นคอถึงกลางหลัง ยาวกว่า 2 เมตร และที่ใต้ศอกขวา และแขนขวาแตกร้าวยาวกว่า 1 เมตร
โดยรอยร้าวที่เกิดขึ้นมีความลึกและอาจส่งผลต่อโครงสร้างขององค์พระในระยะยาว

ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานศิลปากรที่ 4 สุพรรณบุรี ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย เพื่อประเมินแนวทางการบูรณะซ่อมแซมโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมีการประสานงานกับพระภิกษุและชุมชนในพื้นที่เพื่อร่วมกันดูแลและป้องกันไม่ให้ความเสียหายลุกลามมากขึ้น

หลังมีข่าวความเสียหายของพระพุทธรูปแพร่ออกไป มีประชาชนและผู้ศรัทธาจำนวนมากเดินทางมายังวัดพระบรมธาตุวรวิหาร เพื่อกราบไหว้สักการะและขอพร พร้อมร่วมกันถวายปัจจัยเพื่อสนับสนุนการบูรณะซ่อมแซมองค์พระให้กลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์อีกครั้ง

ทางกรมศิลปากรยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการซ่อมแซมพระพุทธรูปองค์นี้อย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ศิลปกรรมดั้งเดิมให้มากที่สุด และจะเฝ้าระวังโบราณสถานอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ต่อไป

ทั้งนี้ ทางวัดพระบรมธาตุวรวิหารยังคงเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะได้ตามปกติ พร้อมขอความร่วมมือให้ผู้ที่เข้าชมปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัย

‘เอกนัฏ’ สั่งตรวจสอบมาตรฐานเหล็กเส้นในตึก สตง. ถล่มหลังแผ่นดินไหว หวั่นใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน เตรียมขยายผลไปยังโรงงานผลิตที่เกี่ยวข้อง

(30 มี.ค. 68) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มเนื่องจากแผ่นดินไหวที่ผ่านมา 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ทีมงานพร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปเก็บหลักฐานที่จุดเกิดเหตุบริเวณตึก สตง. ที่ถล่ม ซึ่งหากพบว่าผู้ก่อสร้างใช้เหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐาน จะดำเนินการตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงขยายผลไปยังโรงงานผลิตเหล็กที่เกี่ยวข้องด้วย

นายพงศ์พลกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบแบบแปลนโครงสร้างตึก สตง. ที่กำลังก่อสร้างมีความสูงถึง 30 ชั้น คาดว่าต้องใช้เหล็กเส้นข้ออ้อย (เหล็กเส้นกลมมีบั้ง) ขนาด DB16, DB20, DB25 ในการเสริมแรงโครงสร้างคอนกรีต โดยเฉพาะในส่วนของเสา คานพื้น และฐานราก เพื่อรองรับน้ำหนักและแรงอัด แรงดึง และแรงเฉือน ซึ่งหากมีการใช้เหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐานไม่เป็นไปตามหลักทางวิศวกรรม จะทำให้โครงสร้างเปราะและแตกหักง่าย ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อโครงสร้างอาคารในกรณีที่มีแรงกระแทกหรือแผ่นดินไหว

การผลิตและจำหน่ายเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและไม่สามารถปล่อยผ่านได้ เพราะอาจส่งผลเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ รัฐมนตรีเอกนัฏได้ดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องนี้มาโดยตลอด

โดยก่อนหน้านี้ได้ดำเนินคดีกับผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กที่เป็นบริษัทร่วมจดทะเบียนและบริษัทต่างชาติไปแล้วถึง 7 ราย ล่าสุดได้สั่งปิดโรงงานผลิตเหล็กทุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และพบเหล็กเส้นข้ออ้อย SD 40 และ SD 50 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก. 24-2559 จากการทดสอบของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและอันตรายต่อประชาชน และเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยในทุกขั้นตอนของการก่อสร้างทั่วประเทศ

ด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในสภาวะวิกฤติ ตัวชี้วัดสภาวะผู้นำในสถานการณ์ฉุกเฉิน

(30 มี.ค. 68) ในช่วงสถานการณ์ไม่ปรกติแบบนี้ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในสภาวะวิกฤติเป็นสิ่งสำคัญอย่างอย่างยิ่งครับ โดยเฉพาะในบริบทของการบริหารจัดการในยามคับขัน หรือ Crisis Management เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดความตื่นตระหนกของประชาชน ป้องกันความเข้าใจผิด และเพิ่มโอกาสในการจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพนะครับ 

ขออนุญาตงดเว้นการยกตัวอย่างผู้นำท่านต่างๆที่ปรากฏตัวออกสื่อในช่วงเวลานี้ เพราะพวกเราก็คงจะเห็นและประเมินสภาวะผู้นำของแต่ละท่านผ่านสื่อได้ตามวิจารณญาณของแต่ละคน ในฐานะของคนที่เล่าเรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์และการสื่อสารทางการเมือง ขออนุญาตสรุปแนวทางการสื่อสารในสภาวะวิกฤติไว้ให้นะครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย 

1. ความชัดเจนและกระชับ
- ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน หลีกเลี่ยงศัพท์เฉพาะหรือคำที่อาจก่อให้เกิดความสับสนหรือคลุมเครือ
- ส่งสารอย่างตรงประเด็น ไม่เยิ่นเย้อ เนื้อๆเน้นๆ 
- สรุปโครงสร้างการจัดการปัญหาที่ชัดเจน เช่น ใครต้องทำอะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร  

2. การสื่อสารอย่างรวดเร็วและทันท่วงที
- ส่งสารโดยเร็วที่สุดเพื่อลดความสับสนและความกังวลของคนจำนวนมาก
- ให้ข้อมูลปัจจุบัน และ update เป็นระยะ 
- ใช้ช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทันที เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หรือ Social Media ต่างๆ

3. การใช้แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
- ข้อมูลที่เผยแพร่ต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น หน่วยงานรัฐ หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์
- ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ เพื่อหลีกเลี่ยงข่าวลือหรือข้อมูลเท็จ  

4. การใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย
- ผสมผสานช่องทางการสื่อสาร เช่น การแถลงข่าว อีเมล ข้อความ SMS และ Social Media
- คำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีข้อจำกัด เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้พิการ  

5. การสื่อสารแบบสองทาง (Two-Way Communication) 
- เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถสอบถามหรือให้ข้อมูลกลับมาได้  
- มีช่องทางติดต่อที่ชัดเจน เช่น ศูนย์ข้อมูล หรือสายด่วน 

6. การสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจและความมั่นใจ
- แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในความกังวลของประชาชน  
- ให้ข้อมูลที่สร้างความมั่นใจ พร้อมแนวทางแก้ปัญหา  

โดยสรุปก็คือ 
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในภาวะวิกฤติ ต้องเป็น “ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ทันเวลา เชื่อถือได้ และเปิดกว้างสำหรับการตอบกลับ” เพื่อช่วยลดความตื่นตระหนก และเพิ่มความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจากผู้เชี่ยวชาญและประชาชนครับ

ชาวเน็ตชื่นชม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างซีคอนฯ อาสาพาลูกค้ากลับบ้าน หลังแผ่นดินไหวทำจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ

(30 มี.ค. 68) จากกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้การจราจรติดขัดอย่างหนักเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับบ้านด้วยความยากลำบาก อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความวุ่นวายยังมีเรื่องราวดีๆ ที่สร้างรอยยิ้มให้กับสังคม

โดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก Chaiyaporn Chinaprayoon ได้แชร์ภาพและข้อความชื่นชมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าซีคอน บางแค ที่อาสานำมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวออกมาช่วยรับ-ส่งลูกค้าที่ติดอยู่ภายในห้างฯ และบริเวณใกล้เคียงจนถึงช่วงดึก เพื่อให้ทุกคนได้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย

“ลูกค้าไม่ท้อ รปภ. ไม่ทิ้ง” เฟซบุ๊กของ Chaiyaporn Chinaprayoon โพสต์ข้อความดังกล่าว สะท้อนถึงน้ำใจของเจ้าหน้าที่ที่อาสาขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งลูกค้าโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน นอกจากนี้ยังมีลูกค้าหลายคนที่ได้รับความช่วยเหลือเข้ามาเขียนข้อความขอบคุณทีมงานรักษาความปลอดภัยของห้างฯ ที่ทุ่มเทช่วยเหลือประชาชนในช่วงเวลาคับขัน

ทั้งนี้ โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากชาวโซเชียลอย่างมาก โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและชื่นชมเจ้าหน้าที่ รปภ. ที่แสดงออกถึงความมีน้ำใจและจิตอาสา หลายคนมองว่านี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความมีน้ำใจของคนไทยที่ช่วยเหลือกันแม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหว แต่ยังแสดงให้เห็นถึงจิตใจที่ดีงามของคนไทย ที่ไม่ทอดทิ้งกันแม้ในยามวิกฤติ

กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ประกาศหยุดสู้รบ 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้กู้ภัยช่วยเหลือเหยื่อแผ่นดินไหว

(30 มี.ค. 68) กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศหยุดยิงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยและองค์กรด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตเนปิดอว์ ภาคซะไกง์ และภาคมัณฑะเลย์

แถลงการณ์จากแนวร่วมกลุ่มติดอาวุธระบุว่า การหยุดยิงชั่วคราวครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคจากสถานการณ์สู้รบ และป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้นจากทั้งภัยพิบัติและความขัดแย้งทางทหาร

“กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) จะหยุดดำเนินการปฏิบัติการทางทหารเชิงรุกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ยกเว้นปฏิบัติการเชิงป้องกัน ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2568” รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่เป็นรัฐบาลเงาระบุในคำแถลง

ด้านองค์กรบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศและกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงอย่างจริงจัง และเปิดทางให้ความช่วยเหลือเข้าถึงทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าการเมืองไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อน

ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่มีท่าทีตอบสนองต่อแถลงการณ์หยุดยิงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าองค์กรกาชาดสากล และศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านมนุษยธรรม (AHA Centre) กำลังเร่งประสานงานกับทั้งสองฝ่ายเพื่อส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ภัยพิบัติโดยเร็วที่สุด

ญี่ปุ่นออกคำเตือน ภูเขาไฟเกาะคิวชูส่งสัญญาณปะทุ ประกาศห้ามประชาชนเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยงภูเขาไฟ

(30 มี.ค. 68) เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นได้ออกคำเตือนระดับกลางเกี่ยวกับภูเขาไฟแห่งหนึ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะคิวชู โดยแนะนำให้ประชาชนอย่าเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง เนื่องจากมีสัญญาณว่าอาจเกิดการปะทุขึ้นในเร็วๆ นี้

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น (JMA) รายงานว่ามีการตรวจพบแรงสั่นสะเทือนที่เพิ่มขึ้นบริเวณภูเขาไฟ พร้อมทั้งพบควันพวยพุ่งจากปล่องภูเขาไฟอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงการเคลื่อนตัวของแมกมาใต้พื้นดิน เจ้าหน้าที่จึงได้ประกาศเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้บริเวณที่อาจได้รับผลกระทบจากเถ้าภูเขาไฟและหินร้อน

นอกจากนี้ หน่วยงานด้านภัยพิบัติของญี่ปุ่นยังเตรียมมาตรการฉุกเฉินเพื่อรับมือหากมีการปะทุเกิดขึ้น รวมถึงการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีภูเขาไฟจำนวนมาก และมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

สงครามกลางเมืองปะทะภัยธรรมชาติ ประชาชนเผชิญความสิ้นหวัง หายนะที่ยังไร้จุดจบ

(30 มี.ค. 68) เมียนมาเผชิญกับอนาคตที่มืดมนยิ่งขึ้น หลังจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.7 เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง และส่งผลกระทบไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ตามรายงานของ เดลิเมล สื่ออังกฤษ

ขอบเขตของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ยังไม่แน่ชัด โดยเฉพาะในเมียนมา ซึ่งกำลังอยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมืองและการควบคุมข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,600 ราย ในเมียนมา และอีกอย่างน้อย 10 รายในกรุงเทพฯ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่ายอดผู้เสียชีวิตสุดท้ายอาจแตะระดับหลายพันคน

ก่อนเกิดแผ่นดินไหว สถานการณ์ในเมียนมาก็เลวร้ายอยู่แล้ว ประชาชนมากกว่า 3 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน และอีกหลายแสนคนถูกตัดขาดจากโครงการช่วยเหลือด้านอาหารและสาธารณสุข ผลจากสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมานานกว่า 4 ปี โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวหารัฐบาลทหารว่าใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีพลเรือนอย่างไม่เลือกหน้า

เมียนมาตกอยู่ในความวุ่นวายตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ อองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 จุดชนวนให้เกิดการต่อต้านทั่วประเทศ การประท้วงที่เริ่มต้นอย่างสันติถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องจับอาวุธต่อต้าน ส่งผลให้ความขัดแย้งกระจายไปทั่วประเทศ

หลังเกิดแผ่นดินไหว รัฐบาลทหารเมียนมาออกแถลงการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก ขอรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ โดยระบุว่าต้องการโลหิตเป็นจำนวนมากในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนัก

เทเลกราฟ รายงานโดยอ้างแพทย์คนหนึ่งในเมียนมาว่า ระบบสาธารณสุขในประเทศอ่อนแออยู่แล้ว และไม่มีทรัพยากรหรือบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอรับมือกับภัยพิบัติครั้งนี้ ขณะที่ ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ให้สัมภาษณ์กับ ไทม์เรดิโอ ว่า

“นี่อาจเป็นหายนะซ้อนหายนะ ประชาชน 20 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตั้งแต่ก่อนแผ่นดินไหวแล้ว มีผู้พลัดถิ่น 3 ล้านคน และมากกว่าครึ่งของประชากรเมียนมาดำดิ่งสู่ความยากจนขั้นรุนแรง”

โจ ฟรีแลนด์ นักวิจัยด้านเมียนมาของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของเมียนมา ซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติด้านมนุษยธรรมที่ร้ายแรงอยู่แล้ว”

แผ่นดินไหวครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อไทย โดยมีรายงานว่ากรุงเทพฯได้รับแรงสั่นสะเทือนและมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่ามาตรการตัดลดงบประมาณช่วยเหลือต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งประกาศระงับโครงการช่วยเหลือต่างประเทศเป็นเวลา 90 วัน อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยเฉพาะในแคมป์ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในไทยที่มีผู้พักพิงมากกว่า 100,000 คน

โครงการอาหารโลก (WFP) รายงานว่าการปันส่วนอาหารในเมียนมาจะถูกตัดขาดเกือบทั้งหมดในเดือนเมษายน แม้ว่าประเทศกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารรุนแรง

ปัจจุบัน มีประชากร 15.2 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ไม่มีอาหารเพียงพอ และราว 2.3 ล้านคน ต้องเผชิญกับภาวะหิวโหยระดับฉุกเฉิน

สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) คาดการณ์ว่า ยอดผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 10,000 - 100,000 ราย พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์เมียนมาว่า “ยอดผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่านี้”

รัฐบาลทหารประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 5 ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ มัณฑะเลย์, สะกาย, มะกเว, ฉาน และบะโก ด้านองค์การสหประชาชาติจัดสรรงบประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ สำหรับความช่วยเหลือเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายจากพื้นที่ภัยพิบัติแสดงให้เห็นถนนแตกร้าว สะพานถล่ม และเขื่อนแตก สร้างความกังวลว่าทีมกู้ภัยจะเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยได้ยาก ในประเทศที่กำลังจมดิ่งสู่ภาวะวิกฤติอยู่แล้ว

หนังสือพิมพ์ Global New Light of Myanmar รายงานว่า เมืองและหมู่บ้าน 5 แห่ง พบเห็นอาคารพังถล่ม และมีสะพานพัง 2 แห่ง หนึ่งในนั้นเป็นสะพานหลักที่เชื่อมไปยัง มัณฑะเลย์ โดย โมฮัมเหมด ริยาส ผู้อำนวยการด้านเมียนมาของ คณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศ (IRC) ระบุว่า

"อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะทราบถึงขอบเขตความเสียหายที่แท้จริง และอาจมีผลกระทบร้ายแรงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้"

จากสงครามกลางเมืองที่ยังไม่มีจุดจบ สู่ภัยธรรมชาติร้ายแรงที่ซ้ำเติม เมียนมาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากยิ่งขึ้น ความช่วยเหลือจากนานาชาติจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขณะที่ประชาชนจำนวนมากยังต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดในประเทศที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ดร.นิยม เวชกามา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งชุดเฉพาะกิจสางปัญหาที่ดินวัดทั่วประเทศ

(31 มี.ค. 68) "มหานิยม" ดร.นิยม เวชกามา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ประชุมคณะกรรมการพิจารณาศึกษาวัดและที่พักสงฆ์มีปัญหาออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทั่วประเทศ พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจสางปัญหาที่ดินวัดทั่วประเทศ จำนวน 10 คน

"ดร.นิยม เวชกามา" หรือ "ดร.มหานิยม" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการ ซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง และนายธนัฏฐา ฐาปนะสุต  ผู้อำนวยการกลุ่มศาสนสถานและควบคุมทะเบียนวัด พร้อมด้วยนักวิชาการศาสนาชำนาญการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะกรรมการพิจารณาศึกษาวัดและที่พักสงฆ์ ที่มีปัญหาในการออกเอกสารสิทธิที่ดิน (คณะที่ 1) ครั้งที่ 2/2568 เพื่อพิจารณาข้อมูล รวบรวมปัญหา และสรุปแนวทางการแก้ไข  ณ ห้องประชุม 2503 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ

ดร.นิยม เวชกามา กล่าวว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า จากข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการพบว่ามีวัดและที่พักสงฆ์ประมาณ 11,000 แห่งทั่วประเทศ ที่อยู่ในที่ดินของรัฐและประสบปัญหาเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ ตัวอย่างเช่น จากการลงพื้นที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี พบว่าในพื้นที่ อ.ศรีสวัสดิ์ มีวัดทั้งหมดจำนวน 37 วัด ในจำนวนนี้มีถึง 32 วัด ที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน ที่ตั้งวัดทับซ้อน เพื่อให้การดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุวัตถุประสงค์ จึงขอเสนอให้แต่งตั้งคณะทำงาน ที่เสมือนเป็นชุดเฉาะกิจขึ้นมา 1 ชุด จำนวน 10 คน เป็นคณะทำงานของตน

"ประกอบด้วย ดร.ณพลเดช มณีลังกา ประธานคณะทำงาน นายอุทัย มณี, น.ส.นิภาภรณ์ เวชกามา, นายธวัชชัย ผลสะอาด, นายกร ศิรินาม, ผศ.ดร.เสถียร วิพรมหา, นายนันทภพ บรรจบพุดซา, นางวราพร อรรถสุข, นายยุทธนา เกียรติดำเนินงาม และนายพรพล สุวรรณมาศ ให้เป็นคณะทำงาน  โดยให้มีผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการในการให้ข้อมูล ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคต่อไป” มหานิยมกล่าวในที่สุด

‘นักวิชาการด้านเเผ่นดินไหว’ ชี้ ‘รอยเลื่อนสะกาย’ เป็นแผ่นดินไหวแบบซูเปอร์เชีย เคลื่อนตัวแนวระนาบส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือน - การพังทลายสูง

(31 มี.ค. 68) ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักวิชาการด้านแผ่นดินไหว โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Namom Thoongpoh ว่า แผ่นดินไหวแบบซูเปอร์เชีย (supershear earthquake) คือแผ่นดินไหวที่ความเร็วของการพังทลาย (rupture propagation) เร็วกว่าความเร็วของคลื่นเอส มีการกระจายคลื่นแบบกรวย เหมือน คลื่นซูเปอร์โซนิค ทำให้เกิดการซ้อนคลื่นขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนสูงกว่าปกติ

แผ่นดินไหวแบบนี้จะเกิดในรอยเลื่อนแบบเคลื่อนตัวแนวระนาบ (strike slip fault) ซึ่งรอยเลื่อนสะกายเป็นรอยเลื่อนชนิดนี้

จากข้อมูลงานวิจัยที่ผ่านมา มีแผ่นดินไหวในลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายที่หลายที่ เช่น 

2023 Turkey–Syria earthquakes, Mw 7.8, Anatolian Fault
2020 Caribbean Sea earthquake, Mw 7.7, Oriente transform fault 
2018 Sulawesi earthquake, Mw 7.5, Palu-Koro Fault
2008 Sichuan earthquake, Mw 7.9,  Longmenshan Fault
2001 Kunlun earthquake, Mw 7.8 , Kunlun fault
เป็นต้น

ดังนั้นก่อนที่จะสรุปว่าเหตุใด กทม. จึงได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนมาก ต้องติดตามข้อมูลจากนักแผ่นดินไหววิทยากันต่อไป ไม่ใช่ดินอ่อนเพียงอย่างเดียว ดังที่เราเข้าใจ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top