Tuesday, 29 April 2025
TheStatesTimes

‘ปตท.’ ยืนยัน!! แผ่นดินไหวเมียนมา ไม่กระทบพลังงานไทย ตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการทั้งระบบแล้ว ยังเดินเครื่องได้ตามปกติ

(29 มี.ค. 68) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ยืนยันเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ กลุ่ม ปตท. มั่นใจสามารถรองรับความต้องการใช้พลังงานของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ

กลุ่ม ปตท. ได้ตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการทั้งหมด ตั้งแต่แท่นผลิตก๊าซธรรมชาติ ระบบรับส่งก๊าซธรรมชาติในทุกพื้นที่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า คลังน้ำมันและคลังปิโตรเลียมทั่วประเทศ ตลอดจนสถานีบริการน้ำมันและสถานีบริการ NGV โดยได้รับยืนยันว่าสามารถเดินเครื่องดำเนินงานและให้บริการได้ตามปกติ และไม่ได้รับความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและส่งจ่ายพลังงาน

ทั้งนี้ ปตท. ให้ความสำคัญในการดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยง มีแผนบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรักษาความเสถียรของระบบพลังงานของประเทศ ปตท. จะติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคงต่อไป

‘เอเชีย’ จ่อขึ้นแท่น ‘ผู้นำโลก’ ด้านเทคโนโลยีสีเขียวเกิดใหม่ หลายประเทศมุ่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

(29 มี.ค. 68) สำนักข่าวซินหัวรายงานจากการประชุมเอเชียโป๋อ๋าว ปี 2025 ในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน ระบุว่าเอเชียกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีใหม่อันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีศักยภาพเป็นผู้นำด้านวัสดุแบตเตอรี่ขั้นสูง พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และอื่น ๆ ด้วยกำลังการผลิตทางอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและการสนับสนุนทางนโยบาย

รายงาน ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน : รายงานเอเชียและโลกประจำปี 2025-การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : เอเชียก้าวสู่เส้นทางสีเขียว’ (Sustainable Development: Asia and the World Annual Report 2025 -Addressing Climate Change: Asia Going Green) ของการประชุมฯ ได้เน้นย้ำความก้าวหน้าด้านพลังงานหมุนเวียนของภูมิภาคเอเชีย

ปัจจุบันจีนมีกำลังการผลิตพลังงานใหม่จากพลังงานหมุนเวียนสูงถึงร้อยละ 85 ส่วนอินโดนีเซียและสิงคโปร์กำลังพยายามพัฒนาการดักจับและกักเก็บคาร์บอน ขณะเดียวกันจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เป็นผู้นำในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการใช้พลังงานไฟฟ้าในการขนส่ง

จีนยังเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไฮโดรเจนอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่กำลังเติบโตของเอเชีย โดยเอเชียครองส่วนแบ่งเกือบร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตพลังงานไฮโดรเจนทั่วโลก ส่วนกลุ่มปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และซาอุดีอาระเบีย ต่างกำหนดเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

ขณะประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนได้พัฒนายุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศระดับชาติที่มีความครอบคลุมรอบด้าน เพื่อดำเนินการตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) และแผนการปรับตัวระดับประเทศ (NAP)

อย่างไรก็ดี แม้มีความก้าวหน้าอย่างมากและบางประเทศแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจสร้างความยั่งยืน แต่อีกหลายประเทศยังคงต้องดำเนินงานอีกมากเพื่อบรรลุเป้าหมาย

บทบาทของเอเชียในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเอเชียเป็นบ้านหลังใหญ่ของประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ราวครึ่งหนึ่งของโลก และครองส่วนแบ่งการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก

‘ในหลวง ร.10’ โปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ รับผู้บาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหวไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์

(29 มี.ค.68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกร โปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ทันที พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ทรงแสดงความเสียพระราชหฤทัยต่อผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

การทรงรับผู้บาดเจ็บไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์นี้แสดงถึงพระเมตตาและความห่วงใยที่ทรงมีต่อพสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นการให้ความช่วยเหลือในด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ สร้างความปลาบปลื้มปิติแก่ประชาชน ในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดหน่วยสงเคราะห์เคลื่อนที่เข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในบริเวณเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการพังถล่มของอาคาร สตง. 

ในเบื้องต้น มูลนิธิฯ ได้ให้การสนับสนุนแก่ผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยการจัดอาหารกล่องและน้ำดื่ม จำนวน 500 ชุด นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งเต็นท์อำนวยการ จำนวน 3 หลัง เพื่อใช้ในการรองรับผู้บาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหว และสนับสนุนการปฏิบัติงานต่าง ๆ ในพื้นที่ การพระราชทานความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วนี้เป็นการแสดงถึงความห่วงใยและพระเมตตาที่ทรงมีต่อประชาชนในยามทุกข์ยาก

อีกหนึ่งอุปกรณ์ส่งข่าวสารที่ ‘ลุงตู่’ เคยเอ่ยถึง แถมทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แม้ไม่ใช่เทคโนโลยีล้ำสมัย แต่มีประโยชน์อย่างยิ่งยามเกิดภัยพิบัติ

เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อวานนี้ (28 มี.ค. 68) เกิดแรงสั่นสะเทือนจนกระทบมาถึงฝั่งไทย ทำให้หลายพื้นที่ได้รับความเสียหาย เช่น บ้านเรือน ตึก อาคาร คอนโด มีรอยแตกร้าว หน้าต่างแตกเสียหาย สร้างความกังวลใจอย่างมาก และหวั่นเกิดเหตุซ้ำอีกระลอก

นอกจากนี้ เหตุการณ์อาคารกำลังก่อสร้างของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มลงมา ก็สร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้พบเห็นและได้รับฟังข่าวไม่น้อย

คำถามที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเริ่มคลี่คลายคือ เหตุใดจึงไม่มีการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมา เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมตัวอพยพได้ทัน

พอมานึก ๆ ดู นี่ก็ไม่ใช่คำถามที่แปลกใหม่อะไร เพราะเคยมีคนถามคำถามคล้าย ๆ แบบนี้มาแล้ว ในช่วงเกิดภัยพิบัติอื่น ๆ เช่น น้ำท่วม เมื่อปี 65

ย้อนกลับไปตอนที่เกิดน้ำท่วมปี 65 หากใครยังจำกันได้ ตอนนั้นประเด็นเรื่อง ‘ทรานซิสเตอร์’ กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนพูดถึงอย่างมาก โดยจุดเริ่มต้นก็มาจาก ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หรือ ‘ลุงตู่’ นั่นเอง

โดยเรื่องมีอยู่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในขณะนั้น ได้กล่าวช่วงหนึ่งในการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์เมื่อ 3 ต.ค. 65

โดยกล่าวถึงการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเศรษฐกิจ พื้นที่สุขภาพที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลด้านสาธารณสุข ก็ต้องดูแลให้สามารถเข้าบริการได้ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการให้บริการไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ก็ต้องให้ใช้ได้นานที่สุด ถ้าระบบมันล่มไปทั้งหมด การสื่อสารแจ้งข้อมูลจะทำได้ลำบาก อาจจะต้องไปใช้ ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชนได้อีกทาง ซึ่งเคยใช้กันเมื่อปี 2554 เพราะตอนนั้นไฟฟ้าดับหมด ดังนั้นเราต้องเตรียมแผนตรงนี้ไว้ด้วยในกรณีที่อาจจะเกิดปัญหา

พลันที่มีคำว่า ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ หลุดออกมา ก็มีคนไทยกลุ่มหนึ่งจับตาและกล่าวว่านี่คือ ‘ความล้าหลัง’ และขำขันกันอย่างสนุก 

แต่กลับกันภายใต้ความขบขันนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในปัญหาแบบผู้มีองค์ความรู้รอบด้านของผู้นำกับสถานการณ์ที่เป็นจริงได้อย่างสอดคล้องมากกว่า

แน่นอนว่าในบ้านเราตอนนี้ คนอาจจะติดภาพทรานซิสเตอร์ว่าโบราณ บ้านนอก แต่จริง ๆ แล้ว วิทยุพกพาที่รับสัญญาณจากอากาศที่ไม่ได้ใช้สัญญาณดาวเทียมหรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งมีขายในท้องตลาด ก็ล้วนแล้วแต่ใช้เทคโนโลยีทรานซิสเตอร์ทั้งหมดในการรับสัญญาณ AM/FM

โดยวิทยุทรานซิสเตอร์นั้นใช้ระบบคลื่นสั้น AM ลักษณะเดียวกับที่ใช้ในวิทยุสื่อสารทหาร การรับส่งสัญญาณทำได้มีประสิทธิภาพมากกว่าคลื่น FM ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน ลึกเข้าไปในป่าเขาก็รับสัญญาณได้หมด จึงเหมาะแก่การแจ้งเตือนภัยพิบัติ เพราะด้วยความที่สามารถใช้พลังงานถ่านไฟฉาย ซึ่งเป็นกระแสตรง (DC) โวลท์เตจต่ำ ไม่ต้องพะวงเรื่องการช็อตเมื่อเปียกน้ำ และเปลี่ยนถ่านทีหนึ่งก็อยู่ได้เป็นครึ่ง ๆ เดือน จึงเหมาะแก่การมีติดบ้าน ไว้รับข่าวสารยามน้ำท่วมหรือเกิดเหตุภัยพิบัติที่สุด

โชคดีของคนไทย ที่ระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวครั้งนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับมือได้ และคลี่คลายไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ใช่ว่า ผ่านแล้วก็ผ่านไป แต่ควรต้องนำกลับมาทบทวนและหารับมือดียิ่งขึ้น เพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

และแน่นอนว่าประเด็น ‘ทรานซิสเตอร์’ ที่เกิดขึ้นในสมัยของลุงตู่ ก็ไม่ควรเป็นเพียงแค่ความขบขัน เอามาหัวเราะกันสนุกปาก เพราะนี่คือหนึ่งในช่องทางกระจายข่าว เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัวรับมือภัยพิบัติ ในกรณีที่เกิดเหตุร้ายแรง อินเทอร์เน็ตล่ม หรือสัญญาณโทรศัพท์ไม่มีนั่นเอง

ตึกสร้างไม่เสร็จ ‘สาทร ยูนีค ทาวเวอร์’ อายุกว่า 35 ปี ตั้งตระหง่านกลางกรุง ไม่ถล่มแม้เกิดแผ่นดินไหว

(29 มี.ค. 67) จากกรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา ส่งผลกระทบถึงไทยหนักสุดในรอบ 100 ปี ทำอาคารหลายแห่งพังและได้รับความเสียหายนั้น

หลังเหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย ชาวเน็ตก็ได้แชร์ภาพตึก ‘สาทร ยูนีค ทาวเวอร์’ ตึกร้างกลางกรุงที่สร้างไม่เสร็จตั้งแต่ปี 2533 แต่พบว่าหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว โครงสร้างยังแข็งแรง 

สำหรับ ‘สาทร ยูนีค ทาวเวอร์’ เริ่มต้นโครงการในปี พ.ศ. 2533 ออกแบบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกชื่อดังผู้สร้าง State Tower ตึกฝาแฝดอีกแห่งที่สำเร็จลุล่วง

โครงการวางแผนให้เป็นคอนโดมิเนียมหรูสูง 49 ชั้น (ไม่รวมชั้นใต้ดิน 2 ชั้น) บนที่ดินขนาด 2 ไร่ ติดแม่น้ำเจ้าพระยาและถนนเจริญกรุง รวม 600 ยูนิต แต่ละห้องสามารถชมวิวแม่น้ำได้อย่างเต็มที่ สไตล์สถาปัตยกรรมคลาสสิกผสมโพสต์โมเดิร์น เสาโค้ง ระเบียงกรีก โดมด้านบนสุด เป็นที่ตั้งของเพนต์เฮาส์ราคาสูงสุดในโครงการ

แต่ด้วยภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ทำให้โครงการขาดแคลนเงินทุน ต้องหยุดก่อสร้างไปขณะที่ตัวอาคารสร้างเสร็จแล้วถึง 80-90% โดยเหลือเพียงการตกแต่งภายในและงานระบบพื้นฐาน

นับแต่นั้น ตึกแห่งนี้ก็กลายเป็น ‘Ghost Tower’ หรือ ‘ตึกร้างผีสิง’ ในสายตานักผจญภัยทั่วโลก ด้วยความสูง 185 เมตร และทำเลใจกลางเมือง จึงกลายเป็นจุดหมายของนักถ่ายภาพมุมสูง นักล่าท้าผี และนักสำรวจเมือง แม้ปัจจุบันจะมีมาตรการเข้มงวดไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไป แต่ในอดีตก็มีผู้ลักลอบเข้าถึงตัวตึกเพื่อเก็บภาพวิวกรุงเทพฯ แบบ 360 องศา

ในปี 2560 ‘มิวเซียมสยาม’ ได้รับอนุญาตจัดนิทรรศการ ‘20 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ณ อาคารแห่งนี้ และยังมีภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง ‘เพื่อน..ที่ระลึก’ โดย GDH เข้ามาถ่ายทำด้วย

แม้จะถูกปล่อยทิ้งไว้ตั้งแต่ปี 2540 แต่ตึก ‘สาทร ยูนีค’ ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความทรุดโทรมของโครงสร้างแม้แต่น้อย โครงสร้างยังคงแข็งแรง ทนทาน แม้ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวระดับ 8.2 ริกเตอร์จากประเทศเพื่อนบ้าน อาคารแห่งนี้ก็ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

ต่างจากตึกยุคใหม่หลายแห่งที่ประสบปัญหา ทั้งร้าว ถล่ม หรือโครงสร้างไม่มั่นคงขณะก่อสร้าง สะท้อนถึงคุณภาพการก่อสร้างยุคก่อนต้มยำกุ้งที่แม้จะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเท่าปัจจุบัน แต่กลับทนทานอย่างน่าทึ่ง

และล่าสุดผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ภาพ ‘ตึกสาทร ยูนีค ทาวเวอร์’ พร้อมระบุข้อความว่า…

“ขายตึกสูง 49 ชั้น #ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา #ตึกสาธร ยูนิท

ที่ดิน 3.19 ไร่ ตึกยังสร้างไม่เสร็จ เจอ I.M.F. เสียก่อน อยู่ถนนเจริญกรุง ไม่โดนมรดกโลกปิดบังทัศนียภาพ ผู้ออกแบบสถาปนิก อ.รังสรร ถ้าสร้างเสร็จจะสวยดั่งรูปภาพแบบคอนโดที่หรูที่สุดในใจกลางเมือง มีสระว่ายน้ำรวมอยู่ด้วย ใกล้สถานี BTS ใกล้ห้างโรบินสัน ร.ร.แซงการิล่า หรือโอเร็นเต้ลริมแม่น้ำ สวยสุดแปลงที่เหลือ ขาย 4,000 ล้านบาท (สี่พันล้านบาท) ราคามาคุยกันได้คับ

ออกแบบรองรับแผ่นดินไหว โดยผู้เชี่ยวชาญ สถาปนิกมือหนึ่งของไทย และจากต่างประเทศ ขาย 4 พันล้านถ้วน

ตำรวจภูธรภาค 2 ส่งกำลัง 200 นาย ช่วยภารกิจค้นหาผู้ประสบภัยตึกถล่มจากแผ่นดินไหว ผบช.ภ.2 กำชับ แผน 6 ข้อ ตำรวจพร้อมช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เปิดที่ทำการ โรงพักให้หลบภัย ส่งกำลังใจผู้ประสบภัย และแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสีย

(29 มี.ค.68) พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 (ผบช.ภ.2) เปิดเผยว่า ได้จัดกำลังตำรวจ จากตำรวจภูธรภาค 2 จำนวน 200 นาย สนับสนุนภารกิจค้นหาผู้ประสบภัยที่ติดใต้ซากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ในเขตจตุจักร กทม. พังถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมาตามข้อสั่งการของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ผบช.ภ.2 กล่าวว่า ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อก ส่งผลกระทบหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยพื้นที่ภาคตะวันออกในความรับผิดชอบของตำรวจภูธรภาค 2 ก็ได้รับผลกระทบด้วย โดยวานนี้ (28 มีนาคม 2568) ตำรวจในสังกัด ตำรวจภูธรภาค 2 ได้ลงพื้นที่ช่วยอพยพประชาชนจากอาคารสูง โดยเฉพาะอพยพผู้ป่วยจากโรงพยาบาล รวมถึงอำนวยการจราจร โดยสถานการณ์โดยรวมเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้ตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค 2 ทุกหน่วย สำรวจพื้นที่รับผิดชอบว่า มีความเสียหายอันเกิดจากแผ่นดินไหวที่ส่งผลต่อประชาชน โดยทั่วไปและสถานที่ราชการหรือไม่  อย่างไร  เช่น อาคารที่ทำการ ยานพาหนะ บุคคล  และให้ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวและข่าวสาร การประกาศแจ้งเตือน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  

“กรณีในพื้นที่รับผิดชอบ ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ให้ดำเนินการ 6 ข้อ ดังนี้ 
1. ให้ออกตรวจตรา และให้ความช่วยเหลือ อพยพประชาชนออกนอกอาคารหรือตึกสูงไปยังพื้นที่ปลอดภัย 
2. กรณีที่พื้นที่ใดมีผลกระทบหรือมีเหตุตึกอาคารทรุดหรือไม่ปลอดภัย ให้เร่งเข้าช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยและนำไปยังพื้นที่พยาบาลหรือพื้นที่ปลอดภัย 
3. จัดเตรียมบริหารจัดการเหตุการณ์ในพื้นที่ อำนวยความสะดวกด้านการจราจร เพื่อนำส่งการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เน้นการติดต่อสื่อสารสั่งการในพื้นที่  
4. กำหนดแผนปฏิบัติ มอบหมายผู้รับผิดชอบในการบริหารการจัดการในทุกมิติ และกำกับ ดูแลเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติ ให้เป็นไปตามแผน ขั้นตอนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งวางแผนบริหารจัดการและอำนวยการจราจร ในที่เกิดเหตุและบริเวณใกล้เคียง  
5. ประชาสัมพันธ์เส้นทางการจราจรทางช่องทางต่าง ๆ ทุกช่องทางเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ 
6. ประสานงานและอำนวยความสะดวกนำส่งผู้ได้รับบาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด” ผบช.ภ.2 กล่าว 

พล.ต.ท.ยิ่งยศ กล่าวย้ำว่า ตำรวจภูธรภาค 2 พร้อมดูแลเคียงข้างช่วยเหลือประชาชนในทุกสถานการณ์ พร้อมเปิดพื้นที่ที่ทำการของตำรวจ ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้พักพิงหลบภัย หากมีเหตุด่วนต้องการความช่วยเหลือ โทร. 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขอส่งกำลังใจให้แก่ผู้ประสบภัยครั้งนี้ทุกท่าน และขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่สูญเสียจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งนี้ด้วย

ชาวเน็ตแห่แชร์คำทำนาย 2 หมอดูชื่อดัง เคยคำนาย ปี 68 จะเกิด ‘แผ่นดินไหว’

(29 มี.ค. 68) นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หลังเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า…

“Fact
47 สึนามิ = ไอ้แม้ว
54 น้ำท่วมใหญ่ = อิปู
68 แผ่นดินไหว = อุ้งอึ้ง”

แน่นอนว่าทำให้หลายคนตีความไปว่าทุกสมัยที่มีคนจากตระกูล ‘ชินวัตร’ ขึ้นมานั่งตำแหน่งผู้นำประเทศ ก็จะเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติน่าสลดใจ

โดยในปี 2547 นายทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เกิดเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ คร่าชีวิตและมีผู้สูญหายจำนวนมาก

ต่อมาปี 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ หรือที่คนไทยจดจำในชื่อ ‘น้ำท่วม 54’ ซึ่งก็สร้างความเสียหายไม่น้อย

มาจนถึงปี 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรือก็คือลูกสาวคนเล็กของนายทักษิณ ก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนั่งเก้าอี้ได้ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและมีตึกถล่ม

ชาวเน็ตได้นำประเด็นนี้ไปเชื่อมโยงกับคำทำนายของหมอดูหลาย ๆ คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘หมอปลาย พรายกระซิบ’ ที่เคยกล่าวคำทำนายดวงเมืองประเทศไทย ปี 68 ไว้เมื่อปลายปี 67 ซึ่งขณะนี้กลายเป็นคลิปที่ถูกแชร์ต่อในโซเชียลอย่างมาก

โดย ‘หมอปลาย พรายกระซิบ’ ได้เปิดเผยคำทำนายไว้ในรายการ คุยเล่นเน้นจริง EP.7 เผยแพร่เมื่อ 27 ธ.ค.67 ทางช่องยูทูบ Golfbenjaphon TV โดยหมอปลาย ระบุว่า…

“อีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ประมาณช่วงครึ่งปีแรกเหมือนกันก็คือ เรื่องของแผ่นดินไหว ประเทศเมียนมา เพราะฉะนั้นจังหวัดที่ใกล้ก็เตรียมตัว กรุงเทพฯ รู้สึกถึงการสั่นสะเทือน เพราะว่าท่านก็ให้เห็นมานานแล้ว เพียงแต่ว่าเราไม่กล้าพูดตรงอื่น เห็นอันนี้มาตั้งแต่ 2-3 เดือนที่ผ่านมา” 

ซึ่งหมอปลาย และกอล์ฟ เบญจพล ก็ย้ำว่าที่พูดเพราะหวังดี อยากให้มองที่เจตนา อยากมีการป้องกัน เฝ้าระวัง หมอปลายเผยอีกว่า “อยากให้เก็บเงินเข้าที่สูง เก็บเงินเข้าธนาคาร ไม่อยากให้มันถูกน้ำพัดไป ไม่อยากให้อาคารมันพัง แล้วก็ทับบ้านทับ”

โดยเหตุจะเกิดช่วงประมาณกลางของกลางปี ประมาณเดือนที่ 3 หรือเดือนที่ 4

นอกจากนี้ยังมีคำทำนายของนอสตราดามุสเมืองไทย หรือ ‘อ.โสรัจจะ นวลอยู่’ ที่เคยเอ่ยถึงดวงเมืองประเทศไทยปี 68 ไว้ในรายการ THAIRATH TALK ช่วงปลายเดือน พ.ย. ปี 67 โดยระบุว่า…

“จะมีแผ่นดินไหวใจกลางกรุงเทพ จริง ๆ ปีนี้มันหนักกว่าปีที่แล้ว ถ้าถามว่า ความร้ายแรงหนักกว่าปี 2567 แค่ไหน หนักกว่า 10 เท่า เนื่องจากมันมีโรคระบาด มีภัยพิบัติ แค่ 2 เรื่องนี้ คนก็ตายไปเยอะ อาจจะมีโรคร้ายที่ไม่เคยเกิดขึ้นด้วย ปี 68-69-70 ก็ยังหนักอยู่ กับดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ 3 ปีนี้”

ต่อมาพิธีกรรายการได้ถามถึงเหตุแผ่นดินไหว ที่จะไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่จะเกิดรอบ ๆ แรงสั่นสะเทือนที่กรุงเทพมากขึ้นเรื่อย ๆ กรุงเทพเสี่ยงต่อรอยเลื่อนที่มีพลัง และตึกของเราไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อป้องกันแผ่นดินไหว

ด้าน ‘โหรโสรัจจะ’ ตอบชัดว่า “ใช่ มันจะเกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตาม เรื่องการดูดวงหรือการทำนายล่วงหน้า เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล ควรใช้วิจารณญาณ

‘ดร.ธรณ์’ เปิดภาพพฤติกรรม ‘ปลา’ ขณะเกิดแผ่นดินไหว นอนราบนิ่งกับพื้น เพราะรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ก่อนคน

(29 มี.ค. 68) ดร.ธรณ์ ธำรงนาาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า

ปลารู้ไหมว่าแผ่นดินไหว ถ้ารู้แล้วทำไง? 

เพื่อนธรณ์ไปดำน้ำที่สิมิลันช่วงนั้นพอดี จึงเจอปรากฏการณ์สุดแปลกที่แทบไม่มีรายงานมาก่อน ในช่วงแผ่นดินไหว ปลาในแนวปะการังต่างพากันลงไปนอนนิ่งกับพื้น!!

ลองดูภาพนะครับ ถ้าเป็นปลาตัวเดียวทำอาจไม่แปลกอะไร แต่ที่เจอคือปลาหลายตัวล้วนทำเช่นนั้น ลงไปนอนแนบกับพื้นทันที ที่เห็นชัดคือฝูงปลา ปรกติตอนกลางวันจะว่ายอยู่ในมวลน้ำ จะไม่ลงไปนอนติดพื้นพร้อมกันทั้งฝูง ต่อให้เป็นกลางคืนปลานอน ปลาก็แยกกันนอน ไม่รวมฝูงนอนแบบนี้

ปลารู้ว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น เพราะปลารับแรงสั่นสะเทือนใต้น้ำได้ดีมาก จากนั้นคงเป็นสัญชาตญาณ ทำให้ปลาลงไปนอนแนบพื้น เพราะอาจเกิดกระแสน้ำปั่นป่วนหรือแม้กระทั่งสึนามิตามมา

การนอนแนบพื้นของปลาก็เหมือนเวลาเราหลบภัยต้องหมอบราบกับพื้น หากลอยอยู่กลางน้ำมีความเสี่ยงที่จะโดนกระแสน้ำหรือคลื่นพัดพาไป

เพื่อนธรณ์ที่เป็นอาสาสมัครบินโดรนเฝ้าพะยูนก็รายงานว่า ช่วงแผ่นดินไหว พะยูนก็ตื่นตกใจเผ่นพรวดหนีไปจากที่ตื้น เพื่อว่ายหนีไปที่ลึกตามหลักการหลบสึนามิ

พะยูนไวมากครับ ตอนที่เกิดสึนามิ จึงไม่มีข่าวพะยูนโดนคลื่นพัดมาเกยฝั่ง (เท่าที่ทราบ) ทั้งที่บางแห่งเป็นบริเวณที่พะยูนอาศัย เช่น กระบี่

จะมีก็แค่โลมาที่เขาหลัก ลอยตามคลื่นมาติดค้างในอ่างเก็บน้ำแถวนั้น แต่คลื่นที่เขาหลักแรงมาก จนโลมาอาจไม่คาดคิด

แม้แผ่นดินไหวเมื่อวานไม่ได้เกิดในทะเล ไม่เกิดสึนามิ แต่แรงสั่นสะเทือนก็เกิดในทะเลเช่นกัน เพราะพื้นท้องทะเลก็ไหวเหมือนแผ่นดินครับ

ปลาหรือพะยูนคงบอกไม่ได้ว่า แผ่นดินไหวในทะเลหรือบนบก เมื่อรับรู้ว่ามีแผ่นดินไหว ปลาหลบไว้ก่อน

แล้วปลารู้ล่วงหน้าได้ไหม? พยากรณ์แผ่นดินไหวได้ไหม?

เมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้น จะเกิดคลื่นแรงสั่นสะเทือนหลายแบบ บางคลื่นเบาแต่เร็วกว่า ปลาอาจรับรู้คลื่นพวกนี้ขณะที่มนุษย์ไม่รู้สึก จากนั้นคลื่นแรงสั่นสะเทือนแบบแรง ๆ จะตามมา คราวนี้เรารู้สึกแล้วครับ

ทว่า ต่อให้รู้คลื่นล่วงหน้า ปลาก็ไม่มีทางบอกก่อนได้เป็นชั่วโมง ๆ เพราะปลารู้ก่อนแป๊บเดียวเท่านั้น

ที่บอกกันว่าสัตว์เตือนภัยได้ ก็คือสัตว์รู้ก่อนคน แต่ไม่ใช่นาน ๆ

ขอบคุณเพื่อนธรณ์ที่ส่งภาพมาให้ ถือเป็นหนแรกของไทยที่มีหลักฐานให้ดูกันชัด ๆ ว่าปลาทำยังไงเมื่อแผ่นดินไหว อันที่จริง ในต่างประเทศก็แทบไม่มีภาพชัดเจนแบบนี้ครับ

รัสเซีย-จีน-อินเดีย-มาเลเซีย ส่งทีมช่วยเหลือเมียนมา กองทัพว้า มอบเงินช่วยเหลือ 200 ล้านจั๊ต ขณะยอดเสียชีวิตยังเพิ่มขึ้น

(30 มี.ค. 68) นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ทางการเมียนมาได้รายงานยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 1,644 คน ผู้บาดเจ็บ 3,408 คน และสูญหาย 139 คน ขณะที่ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางซากปรักหักพังและอาคารที่ยังคงถล่มในบางพื้นที่

ผลกระทบจากแผ่นดินไหวในพื้นที่สำคัญ ในพื้นที่เขตเนปยีดอ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของแผ่นดินไหว มีผู้เสียชีวิตจำนวน 96 คน และได้รับบาดเจ็บ 432 คน ส่วนในภาคสะกายมีผู้เสียชีวิต 18 คน และบาดเจ็บ 300 คน ขณะที่ภาคมัณฑะเลย์ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน โดยมีผู้เสียชีวิต 30 คน อย่างไรก็ตาม คาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอาจเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากปฏิบัติการช่วยเหลือยังไม่สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ได้

การช่วยเหลือจากนานาชาติ จากสถานการณ์ที่รุนแรง รัฐบาลเมียนมาได้เปิดรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยขณะนี้ รัสเซีย จีน อินเดีย และมาเลเซียได้ส่งทีมกู้ภัยเข้าช่วยเหลือแล้ว ขณะที่ศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านมนุษยธรรม (AHA Centre) ก็ได้เสนอความช่วยเหลือเพิ่มเติมเช่นกัน นอกจากนี้ กองทัพสหรัฐพันธรัฐว้า (UWSA) ได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 200 ล้านจั๊ต หรือประมาณ 15.3 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภูมิภาค เมื่อวันที่ 9 มีนาคม มีรายงานว่า ทีมบรรเทาสาธารณภัยจากมณฑลยูนาน ประเทศจีน จำนวน 16 คน จะเดินทางเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่เมืองหมูแจ่ รัฐฉานตอนเหนือ ในขณะที่ทีมกู้ภัยจากประเทศสิงคโปร์ก็กำลังมุ่งหน้าไปยังภาคมัณฑะเลย์เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว

บทบาทของไทยและอเมริกา ประเทศไทยได้เตรียมส่งทีมกู้ภัยและค้นหาพร้อมทีมแพทย์และเวชภัณฑ์จากกองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 49 นาย เดินทางด้วยเครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศ เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น และสำรวจความต้องการของรัฐบาลเมียนมาเพื่อส่งความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามความจำเป็น

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาได้พยายามติดต่อเมียนมาเพื่อให้ความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอุปสรรคบางประการ เนื่องจากในอดีต เมียนมาเคยมีสำนักงานของ USAID แต่ได้ถูกปิดไป ส่งผลให้การเข้าถึงความช่วยเหลือยังไม่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำว่าภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นเป็นปัญหาสากลที่ควรได้รับการช่วยเหลือโดยไม่คำนึงถึงความขัดแย้งทางการเมือง

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้ไม่เพียงแต่สร้างความสูญเสียให้กับชาวเมียนมา แต่ยังเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง บางประเทศได้แสดงออกถึงความเป็นมิตรอย่างชัดเจน ขณะที่บางประเทศอาจยังมีท่าทีที่ไม่แน่ชัด ท่ามกลางความขัดแย้งที่มีอยู่ ภัยพิบัติในครั้งนี้อาจเป็นบททดสอบที่แสดงให้เห็นว่าใครคือพันธมิตรที่แท้จริงของเมียนมา

‘ภูมิธรรม’ นำทีม ส่งกำลังพลจากกองทัพไทย ออกปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเมียนมา

(30 มี.ค.68) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีส่งกำลังพลจากกองทัพไทย เพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในประเทศเมียนมา ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ผ่านมา พิธีดังกล่าวจัดขึ้นที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 เขตดอนเมือง ท่ามกลางการร่วมเป็นสักขีพยานของเจ้าหน้าที่ระดับสูงและครอบครัวของกำลังพลที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจ

โดยมีพันเอกขจรศักดิ์ พูลลโพธิ์ทอง​ รองผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการกรมยุทธการทหารกองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ​ พร้อมกำลังพลรวม 55 นาย แบ่งออกเป็น 8 ชุด ได้แก่ ชุดควบคุม, ชุดงานต่างประเทศทหาร, ชุดค้นหาและกูภัยเขตเมือง, ชุดแพทย์ฉุกเฉิน, ชุดประเมินความเสียหาย, ชุดสื่อสาร, ชุดประชาสัมพันธ์ และชุดรักษาความปลอดภัย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลเมียนมา และดูแลช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่

สำหรับภารกิจในครั้งนี้ กองทัพไทยได้จัดส่งกำลังพลและทีมกู้ภัย พร้อมเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ช่วยเหลือที่จำเป็น เพื่อเข้าไปสนับสนุนการบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยจะประสานงานกับหน่วยงานด้านบรรเทาสาธารณภัยของเมียนมา รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือในพื้นที่

ภายหลังจากนี้ รัฐบาลไทยและกองทัพไทยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมส่งกำลังสนับสนุนเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น ขณะที่ทีมช่วยเหลือของไทยจะปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นของเมียนมา เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ทั้งนี้ การเดินทางของกำลังพลไทยในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่สะท้อนถึงน้ำใจและความร่วมมือระหว่างประเทศในยามที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติครั้งใหญ่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top