Tuesday, 29 April 2025
TheStatesTimes

‘ดร.อธิป’ ชี้ การพัฒนา AI ไทยยังตามหลังเพื่อนบ้าน แนะ ต้องกล้าลงทุนปั้นบุคลากร - สร้าง AI ของตนเอง

(28 มี.ค. 68) ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก Atip Asvanund ว่า ประเทศไทยควรพัฒนาทักษะด้าน STEM อย่างเร่งด่วน เพื่อให้อุตสาหกรรมดิจิทัลและ Startup ของพวกเราสามารถมีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยี AI แทนที่จะเป็นการซื้อของคนอื่นมาใช้อย่างเดียว

- คนไทยเพียง 1% (1 คนใน 100 คน) มีทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ขณะที่มาเลเซียมีถึง 16%

- บัณฑิตไทยเพียง 20% จบการศึกษาในสาขา STEM ขณะที่มาเลเซียมีถึง 50% และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 60%

- ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและเวียดนามจัดสรรงบประมาณภาครัฐสนับสนุนด้านดิจิทัลและ AI เป็นสัดส่วนสำคัญของ GDP ขณะที่จากงบวิจัยของไทย 20,000 ล้านบาท มีเพียง 200 ล้านบาท (1%) ที่จัดสรรให้ด้านดิจิทัลและ AI

อินเดียเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เมื่อปีที่แล้ว Sam Altman แห่ง OpenAI เคยกล่าวว่าอินเดียไม่สามารถพัฒนา AI ได้เอง แต่เมื่อ DeepSeek ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีทุนจำกัดก็สามารถพัฒนา AI ที่แข่งขันได้ อินเดียจึงประกาศนโยบาย AI แห่งชาติเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี AI ของตนเอง

ความยั่งยืนทางธุรกิจเกิดขึ้นเมื่อลูกค้าไม่สามารถผลิตสินค้านั้นได้เอง จึงเป็นที่มาของวาทกรรมที่ทำให้เราเชื่อว่าจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี AI จากประเทศพัฒนาแล้ว แต่เรามักไม่ตระหนักว่า ยิ่งเราใช้และส่งข้อมูลไปประมวลผลบนแพลตฟอร์ม AI ของพวกเขา ระบบเหล่านั้นก็จะยิ่งฉลาดขึ้น ขณะที่โอกาสที่เราจะตามทันกลับลดน้อยลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้เราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แม้ผมจะเป็นเสียงส่วนน้อย แต่การผลักดันให้ประเทศไทยพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศ

ปรากฏตัวกลางม็อบประท้วงอิสตันบูล สร้างขวัญกําลังใจ ร่วมกับประชาชนนับพันที่เดือดจัด ต่อต้านจับกุมนายกฯ ‘เอเครม อิมาโมกลู’

(28 มี.ค. 68) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า บรรยากาศการประท้วงในเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี เต็มไปด้วยความตึงเครียด หลังประชาชนหลายพันคนออกมารวมตัวบนท้องถนนเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการจับกุม 'เอเครม อิมาโมกลู' นายกเทศมนตรีอิสตันบูล 

โดยการประท้วงซึ่งรายงานว่าเป็นการเคลื่อนไหวมวลชนครั้งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคในรอบหลายทศวรรษ เริ่มต้นขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากนายกเทศมนตรีอิสตันบูล เอเครม อิมาโมกลู ถูกจับกุมในข้อหาทุจริต 

อย่างที่ทรากันดีว่า เอเครมเป็นคู่แข่งสำคัญของประธานาธิบดีเรเจป ทายิป เออร์โดกัน ซึ่งโจมตีกลุ่ม LGBTQ+ สิทธิสตรี ประชาธิปไตย และประชาชนตุรกีส่วนหนึ่งเชื่อว่ากำลังนำประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการและเผด็จการ

การชุมนุมดังกล่าวเต็มไปด้วยอารมณ์เดือดดาล แต่กลับมีจังหวะน่าประหลาดใจ เมื่อมีชายหรือหญิงในชุดมาสคอต 'พิคาชู' จากการ์ตูนดังอย่างโปเกมอนร่วมเดินขบวนอย่างฮึกเหิม สร้างสีสันให้กับบรรยากาศตึงเครียด บางช่วงยังมีการตะโกนคำขวัญเรียกร้องความยุติธรรมพร้อมกับยกกำปั้นขึ้นฟ้า ท่ามกลางเสียงหัวเราะและความสนใจจากกลุ่มผู้ประท้วง

อย่างไรก็ตาม ความน่ารักของพิคาชูกลับแปรเปลี่ยนเป็นความโกลาหลเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมฝูงชนด้วยรถฉีดน้ำแรงดันสูง ทำให้ประชาชนแตกกระเจิง ขณะที่พิคาชูต้องวิ่งหนีไปพร้อมกับผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ท่ามกลางความชุลมุน

การจับกุมอิโมม็อกลู ซึ่งถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการเมืองในอนาคต โดยผู้สนับสนุนของเขาเชื่อว่านี่เป็นความพยายามกำจัดคู่แข่งของแอร์โดอันในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

แม้เหตุการณ์จะจบลงด้วยการสลายตัวของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ภาพของพิคาชูท่ามกลางฝูงชนยังคงกลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมแฮชแท็ก #PikachuProtest ที่ถูกแชร์ไปทั่วโลก

ภาคประชาสังคมวิกฤติ หลังสหรัฐฯ ระงับงบ USAID ส่งผลให้โครงการสำคัญในยูเครนส่อหยุดชะงัก

(28 มี.ค. 68) ภาคประชาสังคมในยูเครนกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศระงับงบประมาณของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ (USAID) ที่ให้การสนับสนุนโครงการสำคัญหลายโครงการในประเทศ

การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้โครงการด้านสิทธิมนุษยชน การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย การพัฒนาประชาธิปไตย และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยูเครนต้องหยุดชะงักทันที นักวิเคราะห์มองว่านี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และยูเครน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะสงครามและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมกว่า 73 แห่งต้องเผชิญภาวะขาดแคลนงบประมาณอย่างหนัก จากรายงานของ Open Space Works Ukraine และเครือข่าย Public Initiatives of Ukraine ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า 25% ขององค์กรที่ได้รับผลกระทบมีแผนลดจำนวนพนักงาน 19% จำเป็นต้องให้พนักงานลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน และ 14% เตรียมระงับโครงการบางส่วนอย่างไม่มีทางเลือก

ที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้น คือ 75% ขององค์กรเหล่านี้กำลังดิ้นรนหาทุนทางเลือกใหม่ บางแห่งเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ ปรับโครงสร้างการทำงาน และหันไปพึ่งพาผู้บริจาคภายในประเทศแทน

องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และหน่วยงานภาคประชาสังคมหลายแห่งออกมาแสดงความกังวลว่า การระงับงบประมาณครั้งนี้จะทำให้ประชาชนยูเครน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง 

รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่ได้ให้เหตุผลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการระงับงบประมาณของ USAID แต่แหล่งข่าววงในระบุว่า อาจเกี่ยวข้องกับความตึงเครียดทางการเมืองภายในสหรัฐฯ รวมถึงแรงกดดันจากกลุ่มที่ต้องการให้มีการทบทวนการใช้เงินภาษีเพื่อช่วยเหลือต่างประเทศ

นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การตัดสินใจครั้งนี้อาจส่งผลให้สหรัฐฯ สูญเสียอิทธิพลในยูเครน และเปิดโอกาสให้มหาอำนาจอื่น เช่น สหภาพยุโรป หรือจีน เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการช่วยเหลือประเทศที่ยังอยู่ในภาวะสงคราม

ด้าน องค์กรภาคประชาสังคมในยูเครนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สหรัฐฯ ทบทวนการตัดสินใจดังกล่าว โดยเน้นย้ำว่าความช่วยเหลือจาก USAID มีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของสังคมยูเครนในช่วงวิกฤติ

“การระงับงบประมาณครั้งนี้ไม่เพียงกระทบต่อโครงการพัฒนา แต่ยังเป็นสัญญาณเชิงลบต่อประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพในยูเครน” ตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนยูเครนกล่าว

ในขณะที่รัฐบาลยูเครนยังไม่ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการต่อกรณีนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจมีการเจรจากับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เพื่อหาทางออกต่อไป

ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของยูเครนในระยะยาว และอาจเปลี่ยนแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศในอนาคต

กรมพัฒน์ฯ ดีเดย์ปิดเคาน์เตอร์ Walk In 1 ก.ค.68 เตรียมเปิดบริการจดทะเบียนบริษัทแบบดิจิทัล 100%

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินสายแนะนำ/ให้คำปรึกษาภาคธุรกิจใช้ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลดิจิทัล : DBD Biz Regist พร้อมทำความเข้าใจ..ระบบเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน สะดวก รวดเร็ว ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ช่วยให้การจดทะเบียนนิติบุคคลรวดเร็วขึ้น ก่อนเดินตามแผนที่กำหนด...ปิดเคาน์เตอร์ Walk In รับคำขอจดทะเบียนนิติบุคคลแบบกระดาษทั่วประเทศ วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ประเดิมสอนใช้งานระบบ DBD Biz Regist ธุรกิจพลังงานใหญ่ ปตท.ที่มีนิติบุคคลในเครือกว่า 500 บริษัท พูดเสียงเดียวกัน ‘ระบบใช้งานง่ายจริง’

(28 มี.ค. 68) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตั้งเป้าปิดเคาน์เตอร์ Walk In ยื่นจดทะเบียนนิติบุคคลแบบกระดาษทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป โดยกำหนด 4 มาตรการหลักเพื่อรองรับและเตรียมความพร้อมก่อนปิดเคาน์เตอร์ Walk In จดทะเบียนธุรกิจทั่วประเทศ ได้แก่ 1) จัดเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาและช่วยสอนใช้งานระบบ ทั้งส่วนกลาง (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สนามบินน้ำ) สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าในกรุงเทพมหานครทั้ง 6 เขต และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ 2) จัดทำคลิปสั้นสอนวิธีการใช้งานทั้งการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการทางทะเบียน การจดทะเบียนเลิกและชำระบัญชี 3) เปิดอบรมและสอนวิธีการใช้งานระบบแก่สำนักงานบัญชี/สำนักงานกฎหมาย ภาคธุรกิจ และผู้สนใจเดือนละ 2 ครั้งผ่านระบบออนไลน์ หรือหากหน่วยงานใดต้องการให้กรมฯ ส่งวิทยากรไปบรรยายรายละเอียดการใช้งานระบบดังกล่าวสามารถประสานงานกรมฯ ได้ 4) เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบธุรกิจและผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องถึงการเปลี่ยนแปลงการให้บริการที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้ภาคธุรกิจเข้าใจถึงขั้นตอนการปฏิบัติและมีความพร้อมสู่การเข้าใช้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านระบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ

ล่าสุด กรมฯ ได้รับการประสานงานจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย) ขอให้จัดส่งเจ้าหน้าที่กรมฯ เข้าสอนใช้งานระบบจดทะเบียนนิติบุคคลดิจิทัล : DBD Biz Regist แก่ตัวแทนของบริษัทในเครือ จำนวน 70 ราย เพื่อพัฒนาเสริมศักยภาพในการจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านระบบ DBD Biz Regist ร่วมกันผลักดันให้บริษัทในเครือของ ปตท.กว่า 500 บริษัท สามารถจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านระบบ DBD Biz Regist ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และประหยัดค่าใช้จ่าย โดยเจ้าหน้าที่กรมฯ ได้บรรยายวิธีการใช้งาน และลงมือปฏิบัติกรอกข้อมูลในระบบ ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ระบบ DBD Biz Regist ใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยาก และได้รับความสะดวกมากกว่าการเดินทางไปจดทะเบียนที่สำนักงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่ต้องรอคิว และที่สำคัญ คือ สามารถเลือกวันที่ต้องการจดทะเบียนได้ตามฤกษ์ยามที่กำหนด ช่วยสร้างความสะดวกสบายให้แก่ภาคธุรกิจ’  

นอกจากนี้ ได้มีหน่วยงานต่างๆ ขอให้กรมฯ จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าสอนใช้งานระบบฯ เช่น สมาคมสำนักงานบัญชีคุณภาพ (ACTAP) สมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากรแห่งประเทศไทย ฯลฯ เป็นต้น ขณะเดียวกัน กรมฯ มีกำหนดการลงพื้นที่เพื่ออบรมการใช้งานระบบฯ แก่ภาคธุรกิจจังหวัดต่างๆ เช่น นนทบุรี ชลบุรี  ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ พิษณุโลก สงขลา ภูเก็ต ฯลฯ และมีการจัดอบรม ณ ศูนย์ประชุมกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สนามบิน จ.นนทบุรี ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - กันยายน 2568 ด้วย   

อธิบดีอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางดิจิทัล : DBD Biz Regist เป็นระบบจดทะเบียนนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดที่มีความเป็นมิตรและสะดวกต่อผู้ใช้บริการมากขึ้น ใช้งานได้ง่าย โดยเริ่มต้นจากการลงทะเบียนยืนยันตัวตนที่ง่ายและทำได้หลายช่องทาง การกรอกข้อมูลรายละเอียดนิติบุคคลในรูปแบบ e-Form ที่สะดวก รวดเร็ว มีข้อความสำเร็จรูปให้เลือกใช้โดยไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์เอง รวมถึงมีการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ข้อมูลบุคคลกับกรมการปกครอง ข้อมูลที่อยู่กับไปรษณีย์ไทย ฯลฯ เป็นต้น 

DBD Biz Regist มี 4 ข้อดี คือ ดีแรก : อำนวยความสะดวกและรวดเร็ว ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต หรือ หน่วยจดทะเบียน สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ดีที่สอง : ลดการใช้เอกสาร ระบบจดทะเบียนดิจิทัล ช่วยลดการใช้เอกสาร และกระบวนการที่ต้องใช้กระดาษทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดีที่สาม : การันตีความปลอดภัยสูง มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล และรักษาความโปร่งใสในกระบวนการจดทะเบียนนิติบุคคล และ ดีที่สี : ช่วยลดต้นทุน ระบบดิจิทัลช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ

นับตั้งแต่วันที่เปิดให้บริการระบบ DBD Biz Regist ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 - 16 มีนาคม 2568 มีภาคธุรกิจและประชาชนเข้าใช้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลทั้งจัดตั้งใหม่ เปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อมูลทางทะเบียนผ่านระบบ DBD Biz Regist เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดมีผู้ใช้บริการในส่วนกลางคิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนผู้ใช้บริการจดทะเบียนนิติบุคคล (ส่วนกลาง) และมีผู้ใช้งานทั่วประเทศคิดเป็นร้อยละ 36 ของจำนวนผู้ใช้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลทั้งหมด ซึ่งคำขอที่ยืนผ่านระบบฯ เจ้าหน้าที่สามารถตรวจความถูกต้องและอนุมัติคำขอจดทะเบียนได้ภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและผู้ใช้บริการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

หน่วยบัญชาการทหารไซเบอร์ หน่วยรบที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับสงครามสมัยใหม่

แม้ว่าการรบที่เกิดในปัจจุบันที่เราท่านได้เห็นกันตามสื่อต่าง ๆ ยังคงเป็นการรบด้วยกำลังทหารพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สมรภูมิที่มองไม่เห็นและมีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดไม่แพ้กันเลยก็คือ 'สมรภูมิไซเบอร์' ซึ่งสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นยังที่การสู้รบที่เป็น 'สงครามไซเบอร์' อีกด้วย 

สงครามไซเบอร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครนตั้งแต่ “การปฏิวัติแห่งศักดิ์ศรี หรือการปฏิวัติไมดาน หรือการปฏิวัติยูเครน” ซึ่งเกิดขึ้นในยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2014 โดย Uroburos อาวุธไซเบอร์ของรัสเซียซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2005 อย่างไรก็ตาม การโจมตีระบบสารสนเทศเป็นครั้งแรกต่อหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของยูเครนถูกบันทึกไว้ว่าเกิดขึ้นระหว่างการประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2013 

ปฏิบัติการ Armagedon (เป็นการสะกดคำว่า Armageddon ผิดโดยตั้งใจ) ซึ่งเป็นปฏิบัติการจารกรรมทางไซเบอร์อย่างเป็นระบบของรัสเซียต่อระบบสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐ หน่วยบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานป้องกันประเทศของยูเครน ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2013 โดยรัสเซียเชื่อว่าจะเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนปฏิบัติการในสนามรบได้ ระหว่างปี 2013 และ 2014 ระบบสารสนเทศบางส่วนของหน่วยงานของรัฐบาลยูเครนได้รับผลกระทบจากไวรัสคอมพิวเตอร์ที่รู้จักกันในชื่อว่า Snake หรือ Uroborus หรือ Turla 

ในเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2014 ขณะที่กองทหารรัสเซียเข้าสู่ไครเมียศูนย์สื่อสารและสายเคเบิลไฟเบอร์ออปติกของยูเครนถูกโจมตีและถูกแทรกแซงรบกววนสัญญาณทำให้การเชื่อมต่อระหว่างคาบสมุทรและแผ่นดินใหญ่ยูเครนถูกตัดขาด นอกจากนี้ เว็บไซต์ของรัฐบาลยูเครน ข่าว และโซเชียลมีเดียก็ถูกปิดหรือตกเป็นเป้าหมายในการโจมตี ขณะที่โทรศัพท์มือถือของสมาชิกรัฐสภาของยูเครนหลายคนถูกแฮ็ก หรือรบกวนสัญญาณ ผู้เชี่ยวชาญของยูเครนจึงได้ระบุถึงจุดเริ่มต้นของสงครามไซเบอร์กับรัสเซีย บริษัทด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เริ่มบันทึกจำนวนการโจมตีทางไซเบอร์ในระบบสารสนเทศของยูเครนที่เพิ่มขึ้น 

เหยื่อของการโจมตีทางไซเบอร์ของรัสเซีย ได้แก่ หน่วยงานของรัฐบาลยูเครน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา หน่วยงานด้านการป้องกันประเทศ องค์กรด้านการป้องกันประเทศ และองค์กรทางการเมืองระดับนานาชาติและระดับภูมิภาค สถาบันวิจัย สื่อมวลชน และนักต่อต้านรัฐบาล ในปี 2015 นักวิจัยได้ระบุกลุ่มแฮกเกอร์ชาวรัสเซียสองกลุ่มที่เคลื่อนไหวในสงครามไซเบอร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ได้แก่ กลุ่มที่เรียกว่า APT29 (Cozy Bear, Cozy Duke) และ APT28 (Sofacy Group, Tsar Team, Pawn Storm, Fancy Bear) และตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารต่อยูเครน รัสเซียได้ทำการโจมตีทางไซเบอร์ต่อบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ที่ยูเครนใช้งานเรื่อยมาจนทุกวันนี้

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา พรรคประชาชนได้แฉเอกสารลับที่เกี่ยวข้องกับ “ปฏิบัติการ IO หรือ ปฏิบัติการการข้อมูลข่าวสาร” โดยพยายามตีความให้สังคมไทยเห็นว่า “กองทัพกำลังคุกคามประชาชน ล้ำเส้นประชาธิปไตย และควรถูกจำกัดบทบาทให้เหลือแค่ ‘ยามเฝ้าประตู’ เท่านั้น” แต่เรื่องพรรคประชาชนที่เปิดเผยนั้นกลับไม่ได้ทำให้กองทัพดูน่ากลัวแต่อย่างใด และทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้เห็นว่า “กองทัพไทยมีศักยภาพเชิงลึกในการเฝ้าระวังภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทั้งในมิติของข้อมูล ข่าวสาร” และมีขีดความสามารถในการควบคุมทิศทาง “การรับรู้” ซึ่งนั่นก็คือ “การทำสงครามอย่างมีพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) อย่างเต็มรูปแบบ (พุทธิพิสัยเป็นเรื่องของการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับ สติปัญญา ความรู้ ความคิด หรือพฤติกรรมทางด้านสมองที่ทำให้มีความเฉลียวฉลาด มีความสามารถในการคิดเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแสดงถึงความสามารถทางด้านสติปัญญา) 

เอกสารดังกล่าวทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยได้เห็นในอีกแง่มุมว่า “กองทัพไทยไม่ได้ล้าหลัง แต่กลับมีความเข้าใจในบริบทของโลกสมัยใหม่มากกว่าที่สังคมไทยคิด!” โดยเอกสารนั้นได้ระบุว่า “กลุ่มเป้าหมายของการเฝ้าระวังส่วนหนึ่งคือ กลุ่มนักการเมือง นักเคลื่อนไหว และเครือข่ายที่รับทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างชาติ เช่น USAID และ NED (องค์กรที่มีบทบาทแทรกแซงนโยบายภายในของประเทศต่าง ๆ มาแล้วทั่วโลก และเคยถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าใช้ประชาธิปไตยเป็นข้ออ้างในการบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐในประเทศที่เห็นต่างหรือขั้วตรงข้ามมาแล้ว) และกองทัพไทยไม่ได้แค่ใช้ปฏิบัติการ “IO” เพื่อทำงานแบบเก่าและโบราณ เช่น การส่งข้อความปลุกใจ แต่ปรากฏว่าเป็นการทำงานอย่างเป็นระบบ มีกลไกที่ทำงานเป็นโครงข่าย มี Node มีความเชื่อมโยง มีระบบติดตามพฤติกรรม และมีการวิเคราะห์ปฏิกิริยาในเชิงจิตวิทยา

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการตอกย้ำว่า “ทหารไทยในยุคปัจจุบันเข้าใจดีว่า โลกไม่ได้รบกันแค่ในสนามรบ แต่รบกันในหัวสมองประชาชน และรบด้วยการมี “พุทธิพิสัย (Cognitive Domain)” การอภิปรายของพรรคประชาชนในกรณีนี้จึงทำให้สังคมไทยได้ตระหนักว่า เมื่อสงครามสมัยใหม่สู้รบด้วยข้อมูล และใช้ความคิดลวง เพื่อทำให้คนไทยสับสนและหมดศรัทธาในสถาบันหลักของชาติ ดังนั้นจึงสมควรอย่างยิ่งที่กองทัพไทยจะต้องมี “หน่วยรบไซเบอร์” อย่างเป็นทางการ เป็นหน่วยปฏิบัติการหลักที่มีโครงสร้างชัดเจนและสามารถปฏิบัติการร่วมกับเหล่าทัพต่าง ๆ ทั้ง กองทัพบก-กองทัพเรือ-กองทัพอากาศ-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้ 

หลายฝ่ายได้มีการเสนอให้ตั้ง 'กองทัพไซเบอร์' เป็นเหล่าทัพใหม่ แต่อันที่จริงแล้ว 'หน่วยรบไซเบอร์' ของกองทัพไทยควรจะเป็นหน่วยปฏิบัติการภายใต้กองบัญชาการกองทัพไทย ในลักษณะและโครงสร้างที่มีความคล้ายคลึงกับหน่วยงานที่มีอยู่ เช่น “หน่วยบัญชาหารทหารพัฒนา” เนื่องจากการตั้งเหล่าทัพใหม่นั้นต้องใช้เวลาทั้งการศึกษา เตรียมการ และจัดตั้ง ค่อนข้างยาวนาน และต้องใช้งบประมาณอีกมหาศาล ดังนั้นการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ภายใต้กองบัญชาการกองทัพไทย น่าจะเป็นทางเลือกที่มีความเหมาะสมและรวดเร็วกว่า จึงขอใช้โอกาสนี้ให้กองทัพไทยได้จัดตั้ง 'หน่วยบัญชาการทหารไซเบอร์' โดยเร็วที่สุด เพื่อให้กองทัพไทยมีความพร้อมและสามารถรับมือกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ทุกรูปแบบและทุกมิติ เพราะ “ความมั่นคงของชาติบ้านเมือง” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการธำรงและรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติบ้านเมือง

“แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ ศัตรูกล้ามาประจัน จะอาจสู้ริปูสลาย” 
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

อนาคตแรงงานสั่นคลอน AI แทนที่หมอ-ครูใน 10 ปี เปลี่ยนโลกของการทำงาน และมนุษย์อาจไม่ใช่ตัวเลือกหลักอีกต่อไป

(28 มี.ค. 68) บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์และมหาเศรษฐีนักลงทุนด้านเทคโนโลยี ออกมาเตือนว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจเข้ามาแทนที่อาชีพสำคัญ เช่น แพทย์และครู ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี ส่งผลให้มนุษย์อาจ “ไม่จำเป็น” สำหรับหลายอาชีพที่เคยต้องใช้แรงงานคน

เกตส์ชี้ว่า การพัฒนา AI กำลังเข้าสู่จุดที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ วินิจฉัยโรค แนะนำวิธีรักษา ได้อย่างแม่นยำโดยไม่ต้องพึ่งพาแพทย์มนุษย์ เช่น AI ช่วยอ่านผลเอกซเรย์, วิเคราะห์อาการของผู้ป่วย, และให้คำแนะนำด้านต่าง ๆ

ส่วนในวงการศึกษา AI อาจทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน ที่สามารถปรับหลักสูตรให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคนแบบเรียลไทม์ ทำให้บทบาทของครูเปลี่ยนไปจากการเป็นผู้สอน เป็นเพียงผู้ดูแลและให้คำแนะนำแทน

นอกจากนี้ เกตส์ระบุอีกว่า แม้ AI จะสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ในหลายด้าน แต่จะยังไม่สามารถแทนที่ทุกอาชีพได้ทั้งหมด โดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ การตัดสินใจเชิงศีลธรรม และการมีปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์

อย่างไรก็ตาม อาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานเอกสาร งานวิเคราะห์ข้อมูล หรืองานที่ใช้ตรรกะ มีโอกาสสูงที่จะถูก AI เข้ามาแทนที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งอาจทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดแรงงาน และต้องมีการปรับตัวอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ เกตส์ยอมรับว่า AI เป็นดาบสองคม หากใช้ในทางที่ถูกต้อง มันสามารถช่วยให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่แม่นยำขึ้น ลดภาระครู เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึง แต่ถ้าไม่เตรียมตัวรับมือ AI อาจสร้างปัญหาด้านการว่างงาน และเพิ่มช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มที่ปรับตัวได้กับกลุ่มที่ปรับตัวไม่ได้

“โลกต้องเตรียมรับมือกับยุคที่ AI จะเปลี่ยนโฉมทุกอุตสาหกรรม” เกตส์กล่าว พร้อมแนะนำให้ภาครัฐและภาคธุรกิจ ปรับปรุงระบบการศึกษา และพัฒนาทักษะแรงงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

แม้ว่า AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเชื่อว่า มนุษย์ยังคงมีจุดแข็งที่ AI ไม่สามารถแทนที่ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การตัดสินใจเชิงจริยธรรม และปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญคือโลกต้องปรับตัวให้ทันกับ AI และหาทางใช้มันเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาอุตสาหกรรม แทนที่จะมองว่าเป็นภัยคุกคาม ซึ่งคำเตือนของบิล เกตส์ ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการเทคโนโลยีและตลาดแรงงานทั่วโลก หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่า มนุษย์จะยังคงมีบทบาทสำคัญในโลกอนาคต หรือ AI จะเป็นผู้ควบคุมแทน

‘รัฐประหารในกาตาร์’ ปี 1996 ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพียงเพราะทหารรับจ้างลืมแผนที่ - หาพระราชวังไม่เจอ

กาตาร์หรือรัฐกาตาร์ เป็นประเทศในเอเชียตะวันตก ตั้งอยู่ในคาบสมุทรกาตาร์บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอาหรับ มีพรมแดนทางบกติดกับซาอุดีอาระเบียทางทิศใต้ และดินแดนส่วนที่เหลือล้อมรอบด้วยอ่าวเปอร์เซียและอ่าวบาห์เรน โดยมีอ่าวเปอร์เซียแบ่งกาตาร์ออกจากบาห์เรนที่อยู่ติดกัน เมืองหลวงคือกรุงโดฮาซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่า 80% ของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่ของกาตาร์เป็นที่ราบลุ่มทะเลทราย

กาตาร์ปกครองโดยราชวงศ์ Al Thani ในฐานะรัฐราชาธิปไตยด้วยการสืบทอดสายเลือดตั้งแต่ Mohammed bin Thani ได้ลงนามในข้อตกลงกับอังกฤษในปี 1868 หลังจากการปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน กาตาร์กลายเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ ในปี 1916 และได้รับเอกราชในปี 1971 Emir (เจ้าผู้ครองรัฐ) คนปัจจุบันคือ ชีค Tamim bin Hamad Al Thani ซึ่งดำรงตำแหน่งทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการเกือบทั้งหมด (ตั้งแต่ปี 2013) ด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของกาตาร์ โดยแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี สภาที่ปรึกษาที่ได้รับการเลือกตั้งบางส่วน และสามารถขัดขวางกฎหมายและมีอำนาจในการปลดรัฐมนตรี

ในช่วงต้นปี 2017 ประชากรของกาตาร์อยู่ที่ 2.6 ล้านคน แม้ว่าจะมีเพียง 313,000 คนเท่านั้นที่เป็นพลเมืองกาตาร์ โดย 2.3 ล้านคนเป็นชาวต่างชาติและแรงงานข้ามชาติ มีศาสนาอิสลามเป็นประจำชาติ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัวสูงเป็นอันดับสี่ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 42 ในดัชนีการพัฒนามนุษย์ซึ่งเป็น HDI ที่สูงเป็นอันดับสามของโลกอาหรับ เศรษฐกิจที่มั่งคั่งมาจากแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติและน้ำมันสำรองที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก กาตาร์เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวรายใหญ่ที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน

กาตาร์ในขณะที่ปกครองโดย ชีค Hamad bin Khalifa Al Thani ผู้ซึ่งเผชิญกับความพยายามก่อรัฐประหารที่แปลกประหลาดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่การโค่นล้มแบบทั่ว ๆ ไปที่มีทั้งการระเบิดและคำปราศรัยที่ดราม่า แต่เป็นเรื่องราวของการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลว ซึ่งหน่วยข่าวกรองกาตาร์เรียกความพยายามก่อรัฐประหารในครั้งนั้นว่า "ปฏิบัติการอาบู อาลี (Abu Ali Operation)" ไม่ใช่เพราะการทรยศหรือขาดกำลังอาวุธ แต่เพราะทหารรับจ้างที่รับงานรัฐประหารมานั้นไม่สามารถหาที่ตั้งของพระราชวังเจอ ข้อมูลเรื่องราวสุดเหลือเชื่อของความพยายามก่อรัฐประหารในกาตาร์ในปี 1995 มีดังนี้

ในปี 1995 กาตาร์ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของชีค Khalifa bin Hamad Al Thani (1972-1995) ในขณะที่ทรงพักผ่อนในสวิตเซอร์แลนด์ โดยเวลาเดียวกัน ชีค Hamad bin Khalifa Al Thani พระโอรสของพระองค์ ทรงตัดสินใจว่าถึงเวลาเปลี่ยนแปลงแล้ว ด้วยการสนับสนุนจากสมาชิกพระองค์อื่น ๆ ในราชวงศ์ Al Thani ชีค Hamad จึงทรงทำรัฐประหารโดยไม่นองเลือด และทรงยึดบัลลังก์พระบิดาของพระองค์ในขณะที่ไม่อยู่ โดยไม่มีการต่อสู้ เป็นการยึดอำนาจรัฐที่ราบรื่น แต่ ชีค Khalifa พระบิดาทรงไม่ยอมปล่อยผ่านเรื่องนี้ หนึ่งปีต่อมา ชีค Khalifa พระบิดาทรงตัดสินใจทวงบัลลังก์คืน พระองค์ทรงวางแผนไว้ว่าจะทรงจ้างทหารรับจ้างเพื่อบุกพระราชวัง และยึดอำนาจกลับคืนมาด้วยแผนการที่ฟังดูง่าย แต่ไม่ใช่เลย เมื่อทหารรับจ้างของพระองค์กลับมีฝีมือลายมือเหมือนกับผู้ร้ายสองคนใน Home Alone มากกว่าพระเอกใน Mission Impossible 

ความพยายามในการทำรัฐประหารที่ล้มเหลวอยู่ภายใต้การนำของ Hamad bin Jassim bin Hamad Al Thani อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรอาหรับดั้งเดิมของกาตาร์หลายชาติได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และอียิปต์ โดย ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ ให้การสนับสนุนด้านการข่าว และได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จาก บาห์เรน และอียิปต์ สืบเนื่องจากสมาชิกระดับสูงหลายคนของราชวงศ์ Al Thani ซึ่งยังคงเป็นพันธมิตรกับชีค Khalifa อดีต Emir ที่ถูกรัฐประหารได้ร่วมกันก่อรัฐประหารเพื่อโค่นล้มชีค Hamad กาตาร์อ้างว่ารัฐประหารครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์และบาห์เรน บทความของ New York Times ในปี 1997 ระบุว่า นักการทูตตะวันตกที่ไม่ได้เปิดเผยชื่อหลายคนเชื่อว่า “รัฐประหารครั้งนี้สามารถวางแผนได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แล้วเท่านั้น”

ความพยายามก่อรัฐประหารที่กลายเป็นเรื่องตลกที่เกิดจากความผิดพลาด เกิดขึ้นในคืนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1996 ไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากชีค Hamad ครองอำนาจ แผนการเบื้องต้นของชีค Khalifa ดูเหมือนจะไร้ข้อผิดพลาด จนกระทั่งมันกลายเป็นจริงจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด

ขั้นตอนที่ 1 : การจ้างทหารรับจ้าง ชีค Khalifa ได้ทรงจ้างทหารรับจ้างหลายสัญชาติจำนวนหนึ่ง (ตอนแรกทรงตั้งพระทัยจะจ้างทหารรับจ้างชาวแอฟริกาใต้ ต่อมาเป็นชาวฝรั่งเศส แต่รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ยินยอม) เพื่อดำเนินแผนการของพระองค์ พวกเขาไม่ใช่ทหารรับจ้างธรรมดาแต่กลับกลายเป็นนักรบที่ติดการใช้ชีวิตหรูอยู่สบาย เริ่มด้วยการพักในโรงแรมระดับห้าดาวเมื่อเดินทางมาถึงกรุงโดฮา ด้วยเพราะกลุ่มทหารรับจ้างเหล่านั้นคิดว่าทำไมถึงต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากด้วยในเมื่อพวกเขากำลังจะโค่นล้มรัฐบาลอยู่แล้ว

ขั้นตอนที่ 2 : การบุกพระราชวัง ภารกิจแรกของทหารรับจ้างคือ การบุกพระราชวัง แต่ประเด็นสำคัญคือพวกเขาหาไม่พบพระราชวัง ชาวกาต้าร์บอกว่าเห็นพวกเขาเดินเตร่ไปทั่วกรุงโดฮาแล้วเที่ยวถามว่า "พระราชวังอยู่ที่ไหน" ราวกับการบุกประเทศหนึ่งด้วยหน่วยรบชั้นยอด แต่กลับลืมนำแผนที่มาด้วย

ขั้นตอนที่ 3 : หลังจากที่ได้ข้อสรุปในที่สุดว่า “พระราชวังตั้งอยู่ที่ไหน” กลุ่มทหารรับจ้างก็ต้องเผชิญกับปัญหาอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือพวกเขาไม่มีเรือที่จะข้ามแม่น้ำไปยังพระราชวัง เมื่อต้องเผชิญกับทางเลือกระหว่างการบุกพระราชวังด้วยการเดินเท้า หรือกลับไปพักผ่อนยังโรงแรมสุดหรู พวกเขาเลือกเอาอย่างหลัง และเพียงชั่วพริบตา ความพยายามก่อรัฐประหารก็จบลงด้วยกลุ่มทหารรับจ้างเดินกลับโรงแรมเพื่อพักผ่อนแทน ทำให้ในเวลาต่อมาทางการกาต้าร์ได้เริ่มปฏิบัติการต่อต้าน กวาดล้าง และปราบปรามการรัฐประหารดังกล่าวได้สำเร็จ

ในปี 2018 หนึ่งปีหลังจากวิกฤตการทูตกาตาร์เริ่มต้นขึ้น Al Jazeera ได้รายงานรายละเอียดใหม่ที่ชัดเจนในสารคดีเกี่ยวกับปฏิบัติการซึ่งกล่าวหาว่า ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) วางแผนโค่นล้มชีค Hamad สารคดีระบุถึงประเด็นสำคัญในปฏิบัติการคือการที่กลุ่มชายติดอาวุธจะกักบริเวณชีค Hamad ไว้ในพระราชวังซึ่งอยู่ติดกับถนน Al Rayyan เดิมทีมีกำหนดจะกักบริเวณในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1996 ซึ่งเป็นวันที่ 27 ของเทศกาลถือศีลอด ทำให้มีกำลังทหารของกองทัพกาต้าร์ที่เตรียมพร้อมอยู่เพียง 20% แต่ได้เปลี่ยนเป็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์เพื่อลดโอกาสที่จะถูกค้นพบ ตามข้อมูลข่าวกรองของกาตาร์การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นคำสั่งของ Mohamed bin Zayed Al Nahyan (ประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คนปัจจุบัน) ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ เอกสารข่าวกรองของกาตาร์ยังอ้างว่า หลังจากผู้วางแผนเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังทหารของกาตาร์อย่างเต็มรูปแบบแล้ว ผู้วางแผนจะส่งคนไปขอความช่วยเหลือจากกองกำลังติดอาวุธในซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ตาม ในที่สุด การรัฐประหารก็ถูกค้นพบและขัดขวางได้ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ 

ตามรายงานของ Al Jazeera ระบุว่า Paul Barril อดีตเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของฝรั่งเศสได้รับมอบหมายให้จัดหาอาวุธให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อดำเนินการก่อรัฐประหารในกาตาร์ ซึ่ง Anwar Gargash รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตอบโต้สารคดีดังกล่าว โดยระบุว่า Paul Barril เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของชีค Khalifa ซึ่งเดินทางเยือนนครอาบูดาบี และไม่มีความสัมพันธ์กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกล่าวว่า สารคดีดังกล่าวเป็นความพยายามโกหกเพื่อพาดพิงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่าเกี่ยวข้องกับความพยายามในการก่อรัฐประหารในกาต้าร์ 1996

แม้ว่าความพยายามก่อรัฐประหารในปี 1995 จะเป็นเพียงบันทึกเล็ก ๆ ในประวัติศาสตร์ของกาตาร์ แต่ประเทศและราชวงศ์ที่ปกครองอยู่ก็มีความน่าสนใจในแบบของตัวเอง นี่คือข้อเท็จจริงที่น่าสนใจบางส่วน :
1. ราชวงศ์ Al Thani ปกครองกาตาร์มาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 พวกเขามีชื่อเสียงในเรื่องความรู้ด้านการทูตและความสามารถในการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคที่มักเต็มไปด้วยความขัดแย้ง
2. ความมั่งคั่งของกาตาร์ กาตาร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เนื่องจากมีก๊าซธรรมชาติสำรองอยู่เป็นจำนวนมาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวของประเทศเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อหัวที่สูงที่สุดในระดับโลก และยังเป็นที่ตั้งของโรงแรมที่หรูหราที่สุด ห้างสรรพสินค้า และสถาปัตยกรรมล้ำสมัยอีกด้วย

3. เกาะเพิร์ล-กาตาร์ เป็นเกาะเทียมของกาตาร์ซึ่งมีรูปร่างเหมือนสร้อยไข่มุก เกาะแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของการใช้ชีวิตที่หรูหรา มีร้านบูติกระดับไฮเอนด์ ร้านอาหาร และท่าจอดเรือ
4. ฟุตบอลโลก 2022 กาตาร์สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 กลายเป็นประเทศตะวันออกกลางประเทศแรกที่ได้เป็นเจ้าภาพ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของกาตาร์ในการจัดการแข่งขันระดับโลก แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากชุมชนนานาชาติ

5. ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ข้อดีอย่างหนึ่งของการอาศัยอยู่ในกาตาร์คือไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ถูกต้องแล้ว ประชาชนสามารถเก็บรายได้ทั้งหมดไว้ได้ ซึ่งเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศนี้ดึงดูดชาวต่างชาติได้มาก

ความพยายามก่อรัฐประหารในกาตาร์เมื่อปี 1995 เป็นการเตือนใจว่าแม้แต่แผนการที่วางไว้อย่างดีที่สุดก็อาจผิดพลาดอย่างน่าขบขันได้ ไม่ว่าจะเป็นการลืมนำแผนที่มาด้วยหรือการจองโรงแรมระดับห้าดาวให้กับทหารรับจ้าง บางครั้งความจริงก็แปลกประหลาดกว่านิยาย กลายเป็นประวัติศาสตร์ของความพยายามในการก่อรัฐประหารที่ไร้เหตุผล ประหลาด และโง่เขลา อย่างแท้จริง และบางครั้งล้มเหลวเพราะการวางแผนที่ไม่ดี ในขณะที่บางครั้งล้มเหลวเพราะผู้นำลืมรายละเอียดพื้นฐาน เช่น แผนที่ GPS ฯลฯ ดังนั้น ครั้งต่อไปที่มีการวางแผนทำการรัฐประหาร โปรดจำไว้ว่า ต้องแผนที่หรือ GPS ติดตัวไปด้วยเสมอ ตรวจสอบข้อมูลให้ดี และหลีกเลี่ยงการพักในโรงแรมระดับห้าดาวก็ได้ และถ้าทุกอย่างล้มเหลว ให้จำคำพูดของชีค Khalifa ที่ว่า "บ้าเอ๊ย น่าจะจ้างพวก Wagner มากกว่า" 

หลังจากลี้ภัยในต่างประเทศอยู่หลายปี ในที่สุด Hamad bin Jassim bin Hamad Al Thani ลูกพี่ลูกน้องของชีค Hamad อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและหัวหน้าตำรวจ ผู้วางแผนในการทำรัฐประหารก็ถูกจับกุมในเดือนกรกฎาคม 1999 และถูกนำตัวขึ้นศาลในเดือนกุมภาพันธ์ 2000 โดย Hamad bin Jassim รวมถึงผู้ร่วมก่อการอีก 32 คน ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในข้อหาวางแผนรัฐประหาร มีผู้ต้องหาอีก 85 คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร บางคนถูกพิจารณาคดีลับหลัง ซึ่งจำเลยทั้งหมดที่เข้าร่วมให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มทหารรับจ้างต่างชาติที่รับงานนี้มาหลังเหตุการณ์

ผลพวงจากความพยายามก่อรัฐประหารในกาตาร์ปี 1996 น่าสนใจไม่แพ้การก่อรัฐประหารเลยทีเดียว แม้ว่าการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวโดยกลุ่มทหารรับจ้างจะถือเป็นหายนะที่น่าขบขัน แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของกาตาร์ไปมากนัก และกลับทำให้ตำแหน่งของชีค Hamad bin Khalifa Al Thani ในฐานะ Emir แห่งกาตาร์แข็งแกร่งขึ้น และปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศให้กลายเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปนี้ :

1. การรวมอำนาจของชีค Hamad หลังจากความพยายามในการทำรัฐประหารโดยพระบิดาของพระองค์ล้มเหลว ชีค Hamad ได้ทรงกระชับอำนาจของพระองค์ให้มั่นคงขึ้น พระองค์ยังทรงปกครองกาตาร์โดยเน้นที่การปรับปรุงให้ทันสมัยและการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การครองราชย์ของพระองค์ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตของกาตาร์ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญบนเวทีโลก ด้วยแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลและนโยบายการทูตเชิงยุทธศาสตร์
2. การเปลี่ยนแปลงของกาตาร์ภายใต้การนำของชีค Hamad (1995–2013) ซึ่งมักถูกเรียกว่า “ยุคทองของกาตาร์” ต่อไปนี้คือการเปลี่ยนแปลงสำคัญบางส่วนที่พระองค์ทรงดำเนินการ :
- การกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ชีค Hamad ทรงลงทุนในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของกาตาร์อย่างมากมาย จนทำให้กาตาร์กลายเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก ความมั่งคั่งดังกล่าวทำให้กาตาร์สามารถระดมทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การปฏิรูปการศึกษา และโครงการทางสังคมได้

- สื่อและการศึกษา ชีค Hamad ทรงก่อตั้งสำนักข่าวนานาชาติ Al Jazeera ที่มีชื่อเสียง ในปี 1996 โดย Al Jazeera ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการกำหนดความคิดเห็นของสาธารณชนในโลกอาหรับและที่อื่น ๆ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงลงทุนในด้านการศึกษาด้วยการก่อตั้งมหาวิทยาลัยระดับโลก เช่น Education City ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียง
- สิทธิสตรีและการปฏิรูปสังคม ภายใต้การนำของชีค Hamad กาตาร์ได้ก้าวหน้าอย่างมากในด้านสิทธิสตรี รวมถึงให้สิทธิสตรีในการลงคะแนนเสียงและลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 1999 นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสนับสนุนให้สตรีมีส่วนร่วมมากขึ้นในกำลังแรงงานและชีวิตสาธารณะอีกด้วย
- อิทธิพลระดับโลก ชีค Hamad ทรงวางตำแหน่งให้กาตาร์เป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในภูมิภาคและเป็นศูนย์กลางการทูตระหว่างประเทศ ด้วยการเป็นเจ้าภาพการเจรจาสันติภาพ ลงทุนในกีฬาระดับโลก (เช่น ฟุตบอลโลก 2022) และกลายเป็นพันธมิตรสำคัญของมหาอำนาจตะวันตก

ชะตากรรมของชีค Khalifa bin Hamad Al Thani หลังจากความพยายามก่อรัฐประหารล้มเหลว พระองค์ยังทรงต้องลี้ภัยไปยังฝรั่งเศส นครอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อยู่หลายปี ในที่สุดก็สามารถเสด็จกลับมายังกาตาร์ในปี 2004 หลังจากทรงคืนดีกับพระโอรส โดยชีค Hamad ได้พระราชทานอภัยโทษอย่างเป็นทางการแก่พระองค์ และชีค Khalifa ทรงใช้ชีวิตในกาตาร์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี 2016 การคืนดีครั้งนี้ช่วยรักษาเสถียรภาพภายในราชวงศ์ A Thani ซึ่งยังคงครองอำนาจอย่างมั่นคงจนกระทั่งทุกวันนี้

ชีค Tamim bin Hamad Al Thani ทรงรับช่วงจากพระบิดาต่อในปี 2013 โดยชีค Hamad ทรงสละราชบัลลังก์โดยสมัครใจเพื่อให้ชีค Tamim bin Hamad Al Thani พระโอรสของพระองค์ขึ้นเป็น Emir แทน การถ่ายโอนอำนาจอย่างสันตินี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในภูมิภาคนี้แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของผู้นำกาตาร์ ชีค Tamim ยังทรงดำเนินตามนโยบายของพระบิดา โดยเน้นที่การกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การทูตระดับโลก และการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติที่สำคัญ เช่น ฟุตบอลโลก 2022

มรดกจากการรัฐประหารปี 1995 และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง มักถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ของกาตาร์ แม้ว่าความพยายามการทำรัฐประหารจะล้มเหลวอย่างน่าตลก แต่ก็ตอกย้ำถึงความอดทนของผู้นำของชีค Hamad วิสัยทัศน์และการปฏิรูปของพระองค์ทำให้กาตาร์เปลี่ยนจากรัฐอ่าวเปอร์เซียเล็ก ๆ มาเป็นประเทศที่มีอิทธิพลระดับโลก มีมาตรฐานการครองชีพสูง เศรษฐกิจแข็งแกร่ง และมีสถานะที่แข็งแกร่งในระดับนานาชาติ เรื่องราวนี้ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความสามารถในการปรับตัวและความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล แม้ว่าความพยายามก่อรัฐประหารจะเป็นความผิดพลาด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาพิสูจน์ให้เห็นว่ากาตาร์มีความสามารถในการเอาชนะความท้าทายและเจริญรุ่งเรืองได้ แม้จะกาต้าร์จะต้องเผชิญกับความยากลำบากมาแล้วก็ตาม

เส้นขอบฟ้าที่ทันสมัยของกาตาร์ สัญลักษณ์ที่เห็นได้ชัดที่สุดอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของกาตาร์คือเส้นขอบฟ้าอันล้ำยุคในกรุงโดฮา นครแห่งนี้เป็นที่ตั้งของสิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรม เช่น Torch Doha พิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลาม และ Pearl-Qatar โดยสถานที่สำคัญเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานและความมั่งคั่งของประเทศ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยของชีค Hamad bin Khalifa Al Thani

หมายเหตุ ชาวอาหรับไม่มีนามสกุล จึงใช้ชื่อของบิดาต่อท้าย เช่น Tamim bin Hamad bin Khalifa Al Thani หมายถึง Tamim บุตรชายของ Hamad ผู้ซึ่งเป็นบุตรชายของ Khalifa แห่งราชวงศ์ Al Thani

ไม่พลาด!!!
ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน ในวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงครามอินโดจีน 30 เมษายน 2568

บีโอไอ บุกแดนภารตะ ดึงลงทุนการแพทย์ – อีวี – เซมิคอนดักเตอร์ หลายบริษัทสนใจปักฐานในไทยรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

บีโอไอเผยผลการเยือนอินเดีย รุกดึงการลงทุน 3 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เปิดโต๊ะเจรจากลุ่มอุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์การแพทย์ชั้นนำแดนภารตะ เสริมแกร่ง 'เมดิคัล ฮับ' ของภูมิภาค พร้อมเจรจา TATA Motor ดึงลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ขณะที่ผู้ให้บริการออกแบบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงสนใจตั้งฐานในไทยรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงผลการนำคณะบีโอไอเยือนเมืองไฮเดอราบัด และเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 24 – 27 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อพบหารือและเจรจาแผนการลงทุนเป็นรายบริษัทกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่อินเดียในอุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์การแพทย์ รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รวม 15 บริษัท โดยบีโอไอได้นำเสนอศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในฐานะแหล่งลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 3 กลุ่มหลัก ซึ่งบริษัทอินเดียมีความเชี่ยวชาญ และเป็นผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก โดยบริษัทเหล่านี้มีความสนใจขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน และประเทศไทย

- กลุ่มอุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์การแพทย์  บีโอไอได้จัดประชุมร่วมกับผู้ประกอบการอินเดียที่อยู่ในเขต Medical Device Park เพื่อนำเสนอข้อมูลการลงทุนและมาตรการสนับสนุนด้าน Medical Hub นอกจากนี้ ยังได้หารือรายบริษัท เช่น บริษัท Sahajanand Medical Technologies (SMT) ผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์สำหรับการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดอันดับ 1 ของอินเดีย มีแผนลงทุนในไทยเพื่อผลิตลิ้นหัวใจเทียมและอุปกรณ์ขดลวดถ่าง (Stent) สำหรับการรักษาหลอดเลือดหัวใจและการทำบอลลูน และมีแผนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาในไทย  บริษัท MSN Laboratories ผู้ผลิตยารายใหญ่ของโลก ปัจจุบันมีฐานการผลิตและวิจัยในหลายภูมิภาค ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรปและเอเชีย โดยมีแผนลงทุนทำวิจัยในไทย และขยายตลาดเข้าสู่อาเซียน  บริษัท ACG Capsules ผู้ผลิตแคปซูล ยาเม็ด และเครื่องจักรบรรจุยารายใหญ่ของโลก ได้ลงทุนสร้างโรงงานที่จังหวัดระยอง มูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท เพื่อผลิตแคปซูลจากเจลาตินและพืชด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมีแผนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในไทยด้วย และบริษัท Natural Remedies ผู้ผลิตอาหารเสริมจากสมุนไพรสำหรับปศุสัตว์อันดับ 1 ของอินเดีย และอันดับ 3 ของโลก มีแผนลงทุนทำวิจัยและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยในไทย และศูนย์วิจัยของบริษัทผลิตเนื้อสัตว์ชั้นนำ เช่น ซีพี, เบทาโกร และสหฟาร์ม เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารสัตว์  

- กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ คณะบีโอไอได้หารือกับบริษัท TATA Motor ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของอินเดีย มีแผนรุกขยายธุรกิจด้านรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ (รถบรรทุก และรถบัส) ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวา โดยเพิ่งมีการดึงผู้บริหารชาวอินเดียจากค่ายรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย ให้ไปคุมทัพด้านการขยายธุรกิจรถยนต์นั่งของกลุ่ม TATA Motor ในต่างประเทศด้วย

- กลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ คณะบีโอไอได้หารือกับนายกสมาคมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ของอินเดีย (India Electronics and Semiconductor Association: IESA) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 400 บริษัท โดยได้นำเสนอนโยบายรัฐบาลไทยและการจัดตั้งบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ แผนพัฒนาบุคลากร และความพร้อมของระบบนิเวศ โดยบีโอไอจะจับมือสมาคมฯ จัดกิจกรรมดึงดูดการลงทุนร่วมกันที่เมืองบังกาลอร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังได้หารือแผนลงทุนของ บริษัท Tessolve Semiconductor ซึ่งทำตั้งแต่การออกแบบชิป (IC Design) การทดสอบชิป การออกแบบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และการให้บริการอบรมด้านวิศวกรรมแก่บริษัทผลิตชิปชั้นนำของโลก โดยภายในปีนี้ บริษัทมีแผนลงทุนจัดตั้งศูนย์ทดสอบชิปและให้บริการทางวิศวกรรมแก่บริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์ในไทยด้วย

“อินเดียเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดของโลก และเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีหลายสาขา เช่น ยาและอุปกรณ์การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และเคมีภัณฑ์ ขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาสำคัญที่นักลงทุนอินเดียกำลังขยายการลงทุนในต่างประเทศ ภายใต้นโยบาย Act East Policy ของรัฐบาลอินเดีย ที่มุ่งขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับประเทศในอาเซียน การเยือนอินเดียครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อทำให้นักลงทุนอินเดียมองเห็นศักยภาพและความพร้อมของไทยในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และพิจารณาเลือกไทยเป็นฐานการลงทุนหลักในอาเซียน ทั้งด้านการผลิต การวิจัยและพัฒนา ศูนย์โลจิสติกส์ของภูมิภาค รวมถึงสร้างความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 - 2567) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากกลุ่มนักลงทุนอินเดียจำนวน 161 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 13,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยา อุปกรณ์การแพทย์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องประดับ

สื่อดังเผยญี่ปุ่นเตรียมร่วงจาก 10 อันดับแรก GDP โลก ต่ำกว่า เกาหลีใต้ และรัสเซีย รายได้ต่อหัวลดลงเป็นประเทศรายได้กลางใน 50 ปี

(28 มี.ค. 68) สื่อเศรษฐกิจชื่อดังของญี่ปุ่น Nikkei ได้เผยรายงานจาก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ เมื่อวานนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ไม่สดใสของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในอนาคต โดยคาดการณ์ว่า ในอีก 50 ปีข้างหน้า รายได้ต่อหัวของคนญี่ปุ่นจะร่วงลงอย่างรวดเร็วจนทำให้ประเทศตกไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มี รายได้ปานกลาง

รายงานระบุอีกว่า GDP รวมของประเทศญี่ปุ่น จะลดลงอย่างรวดเร็วและ หลุดจาก 10 อันดับแรกของโลก ในอีก 50 ปีข้างหน้า คาดว่า GDP ที่แท้จริงโดยรวมของญี่ปุ่น จะลดลงจากอันดับที่ 4 ในปี 2024 (3.5 ล้านล้านดอลลาร์) ไปอยู่อันดับที่ 11 ในปี 2075 (4.4 ล้านล้านดอลลาร์) แม้ว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แต่คาดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2071–2075 จะอยู่ที่เพียง 0.3% เท่านั้น

และจะตกจาก อันดับที่ 29 ปัจจุบัน ไปยัง อันดับที่ 45 หมายความว่าญี่ปุ่นจะตกต่ำกว่า เกาหลีใต้และรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของประเทศอย่างรุนแรง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจได้ชี้ให้เห็นว่า การขาดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี AI เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถตามทันประเทศอื่นๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจขาดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

นอกจากนี้ การลดลงของประชากร โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่มีอายุสูงขึ้นและขาดแรงงานรุ่นใหม่ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นจะต้องเผชิญกับปัญหาของการขาดแคลนแรงงานและความยากลำบากในการรักษาฐานการผลิตในประเทศ

ผลการวิจัยนี้เตือนให้ญี่ปุ่นต้องเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยการไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI และการลดลงของประชากร อาจนำไปสู่การลดลงของการผลิตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเสียสมดุลในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

สิ่งที่น่ากังวลคือ ความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นในระดับโลก ที่จะลดลงตามลำดับ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างชาติ การจ้างงาน และการสร้างความมั่งคั่งในประเทศในระยะยาว

แม้จะมีการทำนายสถานการณ์เศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วง แต่รายงานยังระบุว่า ญี่ปุ่นยังคงมีโอกาสในการปรับตัว โดยการลงทุนในนวัตกรรม AI และการพัฒนานโยบายการขยายฐานแรงงาน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาด้านการผลิตและการจัดการทรัพยากรของประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากญี่ปุ่นไม่สามารถปรับตัวได้ทันเวลา อาจทำให้ประเทศเผชิญกับการถดถอยทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวที่ยากจะกลับตัวได้

‘เครือข่ายภาคสังคม 100 องค์กร’คัดค้านมติคณะรัฐมนตรีต่อร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร 

‘เครือข่ายภาคสังคม 100 องค์กร’ร่วมคัดค้านแถลงการณ์คัดค้านมติคณะรัฐมนตรีต่อร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ในฐานะ แกนนำ 100 องค์กรร่วมคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีต่อร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ออกแถลงการณ์คัดค้านมติดังกล่าว ว่า ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 มีนาคม 2568 มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ…. ทันทีหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีผ่านไปเพียงหนึ่งวัน โดยไม่สนใจใยดีต่อข้อคัดค้านของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  เสียงติติงของนักวิชาการ  รวมถึงเสียงทัดทานของประชาชนจากหลากหลายพื้นที่และหลายภาคส่วน ทั้งที่ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเคยพูดว่า “เรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ” ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 มีนาคม 2568 มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ…. ทันทีหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีผ่านไปเพียงหนึ่งวัน โดยไม่สนใจใยดีต่อข้อคัดค้านของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสียงติติงของนักวิชาการ รวมถึงเสียงทัดทานของประชาชนจากหลากหลายพื้นที่และหลายภาคส่วน ทั้งที่ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเคยพูดว่า “เรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ”  

การพูดจาหลักลอยดั่งไม้หลักปักขี้เลนของนายกรัฐมนตรี  บวกกับอาการรีบร้อนเร่งรัดอย่างผิดสังเกตของรัฐบาล ที่พยายามจะผลักดันกฎหมายนี้ให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก่อนปิดสมัยประชุมวันที่ 11 เมษายนนี้ ทั้งที่ยังมีความหละหลวมในหลายเรื่องที่สำคัญ อาทิ

1. การเปิดกว้างให้มีกาสิโนที่ซุกอยู่ภายใต้เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์แบบไม่จำกัดจำนวนว่ารัฐบาลมีแนวคิดจะให้เปิดได้กี่แห่ง ขนาดที่ชัดเจนของกิจการต่าง ๆ ในสถานบันเทิงครบวงจรจะต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่าเท่าใด  และพื้นที่ตั้งสถานบันเทิงครบวงจรควรจะมีคุณลักษณะเช่นใด  รวมถึงความไม่ชัดเจนในกลุ่มเป้าหมายว่า การเปิดกาสิโนจะมีเป้าหมายที่ลูกค้ากลุ่มใด นักท่องเที่ยวต่างชาติหรือคนไทย  
2. การมอบอำนาจแบบ “ตีเช็คเปล่า” ให้คณะกรรมการนโยบายและคณะรัฐมนตรี มีอำนาจมากมาย ทั้งการกำหนดจำนวนใบอนุญาตฯ กำหนดพื้นที่ตั้ง กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาลงทุน กำหนดสัดส่วนพื้นที่ของกาสิโน กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมการป้องกันการฟอกเงิน เสนอแนะอัตราการเก็บภาษีต่อคณะรัฐมนตรี  กำหนดอัตราค่าใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมการเข้ากาสิโนของคนในประเทศ  รวมทั้งมีอำนาจในการยกเลิกกฎหมายหรือกฎระเบียบใด ๆ ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการดำเนินการสถานบันเทิงครบวงจร รวมถึงเปิดช่องให้มีการนำรายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาลไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง   ด้วยการกำหนดกลไกที่ไร้การถ่วงดุลและตรวจสอบความรับผิดรับชอบ  อันอาจจะนำมาซึ่งการทุจริตเชิงนโยบาย  

3. การให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ลงทุน โดยการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายอื่นหลายฉบับ ทั้งพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ร.บ.บริษัทมหาชน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติ  การเปิดช่องให้สามารถเช่าที่ดินได้เป็นระยะเวลานานทีละ 30 ปีไปได้เรื่อย ๆ  การยกเว้นพ.ร.บ.การพนันเพื่ออนุญาตให้จัดเล่นพนันที่ต้องห้ามได้ รวมทั้งยกเว้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้หนี้ที่เกิดจากการพนันในกาสิโนเป็นหนี้ที่บังคับใช้ได้ตามกฎหมาย การยกเว้นคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ ๒๒/๒๕๕๘ เพื่อให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 24 ชั่วโมงการควบคุมสถานบริการ ด้วยแนวคิดการออก super license แบบอนุญาตครั้งเดียวเบิกทางให้ทำได้ทุกเรื่อง
4. การละเลยความเป็นจริงของการทุจริตคอรัปชั่นในหมู่นักการเมืองและข้าราชการไทย  และการไม่ตระหนักในความล้มเหลวขององค์กรที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลต่าง ๆ  เช่น กกต. หรือกสทช. ฯลฯ   เมื่อมาบวกกับบทบัญญัติทางกฎหมายที่คลุมเครือ จึงไม่อาจเชื่อมั่นได้มากพอต่อมาตรการป้องกันการฟอกเงิน ที่เชื่อมโยงกับขบวนการธุรกิจผิดกฎหมาย การฉ้อโกง และการทุจริตคอรัปชั่น  

5. การไม่ให้ความสำคัญต่อการรับฟังความเห็นของประชาชน การไม่ใส่ใจใยดีต่อการทำประชามติแม้ในระดับพื้นที่ที่จะมีการตั้งสถานบันเทิงครบวงจร การไม่มีส่วนร่วมและไม่ได้รับประโยชน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการไม่ให้ความสำคัญที่มากพอต่อการป้องกันแก้ไข และเยียวยาผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ความหละหลวมทั้งปวงนี้ รัฐบาลเจตนาผลักความรับผิดชอบไปให้แก่กระบวนการตัดสินใจในสภาผู้แทนราษฎร และเปิดโอกาสให้เกิดการต่อรองของตัวแทนผู้ได้เสียผลประโยชน์ในชั้นกรรมาธิการ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่นำมาสู่ความรู้สึกไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อผลได้ผลเสียที่จะเกิดตามมา และความไม่ไว้วางใจต่อความไม่โปร่งใสของกลไกการตัดสินใจ อันอาจจะนำมาซึ่งการอำนวยผลประโยชน์ต่อกลุ่มทุน และการทุจริตรับสินบนของผู้ที่เกี่ยวข้อง  
เครือข่ายภาคประชาสังคม100 องค์กร อันประกอบด้วยองค์กรศาสนา องค์กรชุมชน  องค์กรเด็กเยาวชนและครอบครัว องค์กรอาสาสมัคร องค์กรการศึกษา และอื่น ๆ ตามรายนามแนบท้ายนี้ ขอแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้

1. ขอประณามการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีต่อการผลักดันนโยบายที่เอาแต่ได้นี้  โดยการพยายามสร้างประเด็นลวงด้วยตัวเลข 10% ว่ากาสิโนจะเป็นส่วนน้อยทั้งที่เป็นเป้าหมายใหญ่  บวกกับการโกหกคำโตว่าจะมีคอนเสิร์ตฮอลล์และสเตเดียมขนาดใหญ่ ทั้งที่ในร่างกฎหมายนี้ไม่ได้กำหนดให้ต้องทำ ดึงดันที่จะเดินหน้าผลักดันสิ่งนี้ทั้งที่รู้ว่าจะเป็นเหตุจุดชนวนความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม
2. ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคแสดงความกล้าหาญ โดยการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนของพรรคต่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และกล้าประกาศรับผิดรับชอบต่อผลที่จะเกิดตามมาจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณากฎหมายนี้  ซึ่งถือเป็นการสมรู้ร่วมคิดในการกำหนดนโยบายที่ส่งผลเสียต่อสังคมในระยะยาว  ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้จดจำว่าพรรคการเมืองใดบ้างที่ได้ร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ ทั้งที่ไม่ใช่นโยบายหาเสียงไว้กับประชาชน  เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งหน้า
3. ขอเสนอให้วุฒิสภานำพาวุฒิภาวะสู่สังคม โดยการเป็นเจ้าภาพในการจัดกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน รวมถึงองค์กรท้องถิ่นต่าง ๆ อย่างเพียงพอและทั่วถึง สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง  และนำมาสู่การตัดสินใจกำหนดนโยบายอย่างรอบคอบ
เครือข่ายภาคประชาสังคม 100 องค์กรขอประกาศว่า จะดำเนินการทุกวิถีทางตามสิทธิทางกฎหมายที่จะคัดค้านการเดินหน้าของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้  และพร้อมจะร่วมแสวงหาหนทางที่สร้างสรรค์ในการสร้างความสุข ความเจริญให้เกิดขึ้นในสังคม

รายนาม 100 องค์กรร่วมคัดค้าน
1. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน
2. เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน
3. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
4. มูลนิธิสุขภาพไทย
5. มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ
6. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
7. มูลนิธิชีววิถี
8. มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว
9. สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
10. สถาบันส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม
11. ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.)
12. เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.)
13. เครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครองในสถานศึกษา
14. เครือข่ายละครเฉพาะกิจเธียเตอร์
15. เครือข่างองค์กรงดเหล้า 4 ภูมิภาค
16. เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต
17. เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง
18. เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสังคม
19. เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์
20. เครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน (สสสย.)

21. เครือข่าย Youth Club เด็กมีภูมิ
22. เครือข่ายนักสื่อสารรุ่นใหม่
23. เครือข่ายภาคประชาชนและภาคประชาสังคมตะวันออก
24. สมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน
25. เครือข่ายเยาวชน South Youth Ranger
26. สถาบันพัฒนาเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา (องค์กรสาธารณประโยชน์) จ.อุบลราชธานี
27. มูลนิธิพัฒนาอีสาน
28. กลุ่มเด็กและเยาวชนหนองเม็ก (องค์กรสาธารณประโยชน์)
29. สวนนิเวศเกษตรศิลป์ จ.สุรินทร์
30. ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนคนหนุ่มสาว จ.สกลนคร
31. เครือข่ายเยาวชนฮักบ้านเกิด
32. เครือข่ายนักศึกษาสร้างเสริมสุขภาพ
33. กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครพาน้องเล่น
34. เครือข่ายเยาวชนพัฒนาเมืองสกลนคร
35. ศูนย์เพื่อผู้บริโภคจังหวัดสุพรรณบุรี
36. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง
37. เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน
38. กลุ่มไม้ชีดไฟ จังหวัดนครราชสีมา
39. สำนักกิ่งก้านใบ จังหวัดอุตรดิตถ์
40. กลุ่มเรียนรู้บางเพลย์ จังหวัดชลบุรี

41. เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน กรุงเทพมหานคร
42. เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน จังหวัดลำปาง
43. เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน จังหวัดกาฬสินธุ์
44. เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน จังหวัดพัทลุง
45. เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน จังหวัดพะเยา
46. เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน จังหวัดน่าน
47. เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน จังหวัดสุรินทร์
48. เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน จังหวัดอุบลราชธานี
49. เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน จังหวัดสระบุรี
50. เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน จังหวัดเลย
51. สมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 15 จังหวัดภาคใต้
52. เครือข่ายคัดค้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่ขัดกับศีลธรรม
53. สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้
54. สมาคมเพื่อสันติภาพภาคประชาชน (APP)
55. เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ภาคใต้
56. เครือข่ายเพื่อนรักต่างศาสนา
57. สมาคมเครือข่ายโรงเรียนคุณภาพอัสสลาม
58. เครือข่ายชุมชนรักษ์ธรรมชาติตือโละปาตานี
59. สมาคมเยาวชนพัฒนาบ้านเกิด (PPS)
60. สมาคมผู้นำอิสลามชายแดนใต้

61. สมาคมฟ้าใสส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนชายแดนใต้
62. สมาคมสะพานปัญญาชายแดนใต้
63. สมาคมตาดีกาจังหวัดสงขลา
64. สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดปัตตานี
65. เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
66. สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานี
67. เครือข่ายเด็กและเยาวชนนครีสโตย
68. มูลนิธิคนช่วยฅน
69. สมาคมสร้างเสริมสุขภาวะภาคใต้
70. สมาคมกรีนเคร้สเซ็นประเทศไทย
71. มูลนิธิศูนย์กลางอิสลามเพื่อการพัฒนายะลา
72. สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (Lempar)
73. นายกองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (วทส) อ.จะนะ
74. สมาคมโรงเรียนเอกชนจังหวัดปัตตานี
75. ชมรมโรงเรียนเอกชนเมืองปัตตานี
76. เครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนจงรักษ์สัตย์
77. สมาพันธ์ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรฮ์โลก ประจำประเทศไทย
78. สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดยะลา
79. สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลา
80. สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดนราธิวาส

81. สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดปัตตานี
82. ชมรมโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามประเทศไทย
83. มูลนิธิดารุลนาอีม
84. โรงเรียนทรัพย์ธานีวิทยา
85. พรรคภราดรภาพ
86. โรงเรียนศรีอามาน จ.สตูล
87. โรงเรียนศาสนบำรุง
88. เครือข่ายเทใจให้เทพา
89. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น
90. เครือข่ายนักรบผ้าถุง
91. สหกรณ์ออมทรัพย์ครูตับลิค
92. มูลนิธิวิทยาทาน
93. สมาคมวาดีไนล์
94. สำนักสื่อ The Poligens News
95. ชมรมจิตอาสา อาสาด้วยใจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
96. สมาคมโรงเรียนเอกชนจังหวัดยะลา
97. สมาคมศิษย์เก่าจอร์แดน
98. สภาเครือข่ายปัญญาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (INC)
99. สมาคมศิษย์เก่าอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย
100. กลุ่ม PNYS รามคำแหง จังหวัดปัตตานี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top