หน่วยบัญชาการทหารไซเบอร์ หน่วยรบที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับสงครามสมัยใหม่

แม้ว่าการรบที่เกิดในปัจจุบันที่เราท่านได้เห็นกันตามสื่อต่าง ๆ ยังคงเป็นการรบด้วยกำลังทหารพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สมรภูมิที่มองไม่เห็นและมีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดไม่แพ้กันเลยก็คือ 'สมรภูมิไซเบอร์' ซึ่งสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นยังที่การสู้รบที่เป็น 'สงครามไซเบอร์' อีกด้วย 

สงครามไซเบอร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครนตั้งแต่ “การปฏิวัติแห่งศักดิ์ศรี หรือการปฏิวัติไมดาน หรือการปฏิวัติยูเครน” ซึ่งเกิดขึ้นในยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2014 โดย Uroburos อาวุธไซเบอร์ของรัสเซียซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2005 อย่างไรก็ตาม การโจมตีระบบสารสนเทศเป็นครั้งแรกต่อหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของยูเครนถูกบันทึกไว้ว่าเกิดขึ้นระหว่างการประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2013 

ปฏิบัติการ Armagedon (เป็นการสะกดคำว่า Armageddon ผิดโดยตั้งใจ) ซึ่งเป็นปฏิบัติการจารกรรมทางไซเบอร์อย่างเป็นระบบของรัสเซียต่อระบบสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐ หน่วยบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานป้องกันประเทศของยูเครน ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2013 โดยรัสเซียเชื่อว่าจะเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนปฏิบัติการในสนามรบได้ ระหว่างปี 2013 และ 2014 ระบบสารสนเทศบางส่วนของหน่วยงานของรัฐบาลยูเครนได้รับผลกระทบจากไวรัสคอมพิวเตอร์ที่รู้จักกันในชื่อว่า Snake หรือ Uroborus หรือ Turla 

ในเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2014 ขณะที่กองทหารรัสเซียเข้าสู่ไครเมียศูนย์สื่อสารและสายเคเบิลไฟเบอร์ออปติกของยูเครนถูกโจมตีและถูกแทรกแซงรบกววนสัญญาณทำให้การเชื่อมต่อระหว่างคาบสมุทรและแผ่นดินใหญ่ยูเครนถูกตัดขาด นอกจากนี้ เว็บไซต์ของรัฐบาลยูเครน ข่าว และโซเชียลมีเดียก็ถูกปิดหรือตกเป็นเป้าหมายในการโจมตี ขณะที่โทรศัพท์มือถือของสมาชิกรัฐสภาของยูเครนหลายคนถูกแฮ็ก หรือรบกวนสัญญาณ ผู้เชี่ยวชาญของยูเครนจึงได้ระบุถึงจุดเริ่มต้นของสงครามไซเบอร์กับรัสเซีย บริษัทด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เริ่มบันทึกจำนวนการโจมตีทางไซเบอร์ในระบบสารสนเทศของยูเครนที่เพิ่มขึ้น 

เหยื่อของการโจมตีทางไซเบอร์ของรัสเซีย ได้แก่ หน่วยงานของรัฐบาลยูเครน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา หน่วยงานด้านการป้องกันประเทศ องค์กรด้านการป้องกันประเทศ และองค์กรทางการเมืองระดับนานาชาติและระดับภูมิภาค สถาบันวิจัย สื่อมวลชน และนักต่อต้านรัฐบาล ในปี 2015 นักวิจัยได้ระบุกลุ่มแฮกเกอร์ชาวรัสเซียสองกลุ่มที่เคลื่อนไหวในสงครามไซเบอร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ได้แก่ กลุ่มที่เรียกว่า APT29 (Cozy Bear, Cozy Duke) และ APT28 (Sofacy Group, Tsar Team, Pawn Storm, Fancy Bear) และตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารต่อยูเครน รัสเซียได้ทำการโจมตีทางไซเบอร์ต่อบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ที่ยูเครนใช้งานเรื่อยมาจนทุกวันนี้

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา พรรคประชาชนได้แฉเอกสารลับที่เกี่ยวข้องกับ “ปฏิบัติการ IO หรือ ปฏิบัติการการข้อมูลข่าวสาร” โดยพยายามตีความให้สังคมไทยเห็นว่า “กองทัพกำลังคุกคามประชาชน ล้ำเส้นประชาธิปไตย และควรถูกจำกัดบทบาทให้เหลือแค่ ‘ยามเฝ้าประตู’ เท่านั้น” แต่เรื่องพรรคประชาชนที่เปิดเผยนั้นกลับไม่ได้ทำให้กองทัพดูน่ากลัวแต่อย่างใด และทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้เห็นว่า “กองทัพไทยมีศักยภาพเชิงลึกในการเฝ้าระวังภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทั้งในมิติของข้อมูล ข่าวสาร” และมีขีดความสามารถในการควบคุมทิศทาง “การรับรู้” ซึ่งนั่นก็คือ “การทำสงครามอย่างมีพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) อย่างเต็มรูปแบบ (พุทธิพิสัยเป็นเรื่องของการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับ สติปัญญา ความรู้ ความคิด หรือพฤติกรรมทางด้านสมองที่ทำให้มีความเฉลียวฉลาด มีความสามารถในการคิดเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแสดงถึงความสามารถทางด้านสติปัญญา) 

เอกสารดังกล่าวทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยได้เห็นในอีกแง่มุมว่า “กองทัพไทยไม่ได้ล้าหลัง แต่กลับมีความเข้าใจในบริบทของโลกสมัยใหม่มากกว่าที่สังคมไทยคิด!” โดยเอกสารนั้นได้ระบุว่า “กลุ่มเป้าหมายของการเฝ้าระวังส่วนหนึ่งคือ กลุ่มนักการเมือง นักเคลื่อนไหว และเครือข่ายที่รับทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างชาติ เช่น USAID และ NED (องค์กรที่มีบทบาทแทรกแซงนโยบายภายในของประเทศต่าง ๆ มาแล้วทั่วโลก และเคยถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าใช้ประชาธิปไตยเป็นข้ออ้างในการบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐในประเทศที่เห็นต่างหรือขั้วตรงข้ามมาแล้ว) และกองทัพไทยไม่ได้แค่ใช้ปฏิบัติการ “IO” เพื่อทำงานแบบเก่าและโบราณ เช่น การส่งข้อความปลุกใจ แต่ปรากฏว่าเป็นการทำงานอย่างเป็นระบบ มีกลไกที่ทำงานเป็นโครงข่าย มี Node มีความเชื่อมโยง มีระบบติดตามพฤติกรรม และมีการวิเคราะห์ปฏิกิริยาในเชิงจิตวิทยา

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการตอกย้ำว่า “ทหารไทยในยุคปัจจุบันเข้าใจดีว่า โลกไม่ได้รบกันแค่ในสนามรบ แต่รบกันในหัวสมองประชาชน และรบด้วยการมี “พุทธิพิสัย (Cognitive Domain)” การอภิปรายของพรรคประชาชนในกรณีนี้จึงทำให้สังคมไทยได้ตระหนักว่า เมื่อสงครามสมัยใหม่สู้รบด้วยข้อมูล และใช้ความคิดลวง เพื่อทำให้คนไทยสับสนและหมดศรัทธาในสถาบันหลักของชาติ ดังนั้นจึงสมควรอย่างยิ่งที่กองทัพไทยจะต้องมี “หน่วยรบไซเบอร์” อย่างเป็นทางการ เป็นหน่วยปฏิบัติการหลักที่มีโครงสร้างชัดเจนและสามารถปฏิบัติการร่วมกับเหล่าทัพต่าง ๆ ทั้ง กองทัพบก-กองทัพเรือ-กองทัพอากาศ-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้ 

หลายฝ่ายได้มีการเสนอให้ตั้ง 'กองทัพไซเบอร์' เป็นเหล่าทัพใหม่ แต่อันที่จริงแล้ว 'หน่วยรบไซเบอร์' ของกองทัพไทยควรจะเป็นหน่วยปฏิบัติการภายใต้กองบัญชาการกองทัพไทย ในลักษณะและโครงสร้างที่มีความคล้ายคลึงกับหน่วยงานที่มีอยู่ เช่น “หน่วยบัญชาหารทหารพัฒนา” เนื่องจากการตั้งเหล่าทัพใหม่นั้นต้องใช้เวลาทั้งการศึกษา เตรียมการ และจัดตั้ง ค่อนข้างยาวนาน และต้องใช้งบประมาณอีกมหาศาล ดังนั้นการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ภายใต้กองบัญชาการกองทัพไทย น่าจะเป็นทางเลือกที่มีความเหมาะสมและรวดเร็วกว่า จึงขอใช้โอกาสนี้ให้กองทัพไทยได้จัดตั้ง 'หน่วยบัญชาการทหารไซเบอร์' โดยเร็วที่สุด เพื่อให้กองทัพไทยมีความพร้อมและสามารถรับมือกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ทุกรูปแบบและทุกมิติ เพราะ “ความมั่นคงของชาติบ้านเมือง” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการธำรงและรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติบ้านเมือง

“แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ ศัตรูกล้ามาประจัน จะอาจสู้ริปูสลาย” 
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖