'สันติ' แนะรัฐบาลอย่าอ้าง "ต้องปล่อยปตท. เพราะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ กระทรวงการคลังคือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บ.พลังงาน"
นายสันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย และอดีตรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นต่อเนื่องจากการแถลงข่าวกรณีวิกฤตพลังงานที่พรรคสร้างอนาคตไทย เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า
ในช่วงที่มีวิกฤติราคาพลังงานเกิดขึ้นนั้น ปตท. ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ก็จะตกเป็นจำเลยของสังคมทุกครั้ง และทุกครั้งก็จะมีขบวนการ "ทวงคืน ปตท." เกิดขึ้น ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ผมเชื่อว่า อีกไม่ช้าไม่นาน ชนวนเหตุของราคาพลังงานแพง ซึ่งเป็นต้นทางของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่จะตามมานั้น มีโอกาสไม่น้อยที่จะนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการ "ทวงคืน ปตท." ออกมาจากตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกในไม่ช้านี้
เมื่อวานนี้ 17 มิถุนายน 2565 ผมได้แสดงทัศนะไปแล้วว่า ในโรงกลั่น 6 โรง ไล่ลำดับความใหญ่โตของขนาดสินทรัพย์ คือ PTTGC, TOP, BCP, IRPC, ESSO, และ SPRC ซึ่ง 2 โรงหลังนั้น (ESSO และ SPRC) มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ต่างชาติ คือ ExxonMobil และ Chevron ในขณะที่ PTTGC, TOP, และ IRPC มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ ปตท. ซึ่งถือหุ้นไม่น้อยกว่า 45% และ BCP นั้น มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เป็นคนไทย ได้แก่ สำนักงานประกันสังคม (14.4%) กองทุนรวมวายุภักษ์ (19.84%) กระทรวงการคลัง (4.76%) รวมแล้วคือ 39%
และสำหรับ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของโรงกลั่นหลัก ก็มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น 51.1%
จะเห็นได้ว่า ตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยนั้น ยังอยู่ในการควบคุมของรัฐ (โดยกระทรวงการคลัง) ด้วยการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แม้บริษัทเหล่านั้นจะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
มักจะมีข้ออ้างว่า เมื่อเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ผู้ถือหุ้น แม้จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ซึ่งก็เป็นข้ออ้างที่ฟังดูดี แต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว จะพบว่า เกือบจะไม่มีบริษัทจดทะเบียนใดเลย ที่ไม่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และโดยสภาพความเป็นจริงอีกเช่นกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เหล่านั้น ก็เป็นเจ้าของเดิมและเป็นผู้กำหนดนโยบายหลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนเหล่านั้น นโยบายหลักใด ๆ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างไม่เป็นธรรม ก็มีแนวปฏิบัติให้ไปขออนุมัติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้เรียบร้อยก่อนที่จะดำเนินการตามนโยบายนั้น ... นั่นก็คือกระบวนการเพื่อสร้างความโปร่งใส ความยุติธรรม และคำนึงถึงการพัฒนาในระยะยาวเพื่อความยั่งยืน (sustainable development - SD)
ข้ออ้างที่บอกว่า เมื่อเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไป จึงเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นครับ และหากเป็นเช่นนั้นจริง บริษัทจดทะเบียนทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ฯ คงจะมีผลประกอบการที่เละเทะ เพราะผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือเจ้าของเดิม ก็จะเป็นผู้ที่มีความชำนาญและรู้แจ้งในธุรกิจ มากกว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เข้าไปร่วมในการระดมทุน (ในตลาดแรก และเปลี่ยนมือได้ในตลาดรอง)
ผมพยายามอธิบายเหตุผลอย่างยืดยาวนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ใครก็ตามที่พยายามยกข้ออ้างว่า โรงกลั่น 4 โรงใหญ่ของประเทศไทย เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว รัฐจึงเข้าไปยุ่งไม่ได้ เป็นเรื่องไม่จริงครับ
อย่าลืมว่า บริษัทจดทะเบียนนั้น ต้องไม่มุ่งหวังกำไรระยะสั้นที่ทำให้อนาคตของบริษัทสั้นลงด้วย เพราะการกอบโกยโดยไม่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) อย่างรอบด้านนั้น ย่อมทำให้เกิดการรังเกียจบริษัทนั้นในที่สุด และก็คงจะเกิดกระบวนการต่าง ๆ ทางสังคม ตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับบริษัทในกลุ่มพลังงานนี้ก็คือ ขบวนการ "ทวงคืน ปตท." ซึ่งก็อาจจะนับได้ว่าเป็นหนึ่งใน social sanction ที่แสดงให้เห็นว่า stakeholder สำคัญ คือประชาชนซึ่งเป็นลูกค้า ไม่พอใจต่อการได้ "กำไรเกินควร" จากการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใส จึงเกิดข้อเรียกร้องเหล่านั้น
ผมอยากจะเรียนว่า ผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน อย่าประเมินกระบวนการทางสังคมต่ำเกินไปนะครับ เพราะพลังของกระบวนการทางสังคม มีพลังมากกว่าที่ท่านคาดคิดได้ เรามีตัวอย่างมาให้เห็นหลายครั้งแล้วนะครับ ต่อความประมาท ต่อความถือดีในอำนาจรัฐที่ตนเองถือครองอยู่ ... ในที่สุด ก็อยู่ไม่ได้ครับ
ดังนั้น ไม่เป็นการแปลกครับที่รัฐจะใช้โอกาสนี้ "ดูแลโรงกลั่นของรัฐ" ให้มี "ความรับผิดชอบต่อสังคม" ด้วยวิธีการที่โปร่งใส เป็นธรรม ยอมรับได้ และตอบสนองต่อ stakeholder อย่างรอบด้าน
หากท่านไม่มั่นใจว่า ท่านจะกำหนดนโยบาย (เช่น ค่าการกลั่น) ผิดไปจากความต้องการของผู้ถือหุ้น ท่านก็สามารถจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อขออนุมัตินโยบายก็ได้ครับ