Friday, 16 May 2025
TheStatesTimes

"นายกฯ" เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพ ฯ   ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  11 สายรถไฟฟ้า เพิ่มพื้นที่สีเขียว "สวนเบญจกิติ”  พัฒนา 50 คูคลอง

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญและใส่ใจในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศ รวมทั้งประชาชนในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร  เร่งนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ยกระดับชีวิตคนกรุงเทพฯ   สร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ พัฒนาคุณภาพน้ำ จัดระเบียบสายสื่อสาร นำสายไฟฟ้าลงดิน และให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงที่อยู่อาศัยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

โดยรัฐบาลทำมาอย่างต่อเนื่องและเกิดผลเป็นรูปธรรมและประโยชน์ต่อประชาชนในหลายด้านแล้ว เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาคุณภาพน้ำ 50 เขต 50 คลองใส ที่ดำเนินการในปี 2564 อาทิ ขุดลอกคลอง ปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลอง พัฒนาทางเดิน  ปลูกต้นไม้แนวริมคลอง  ยังให้เร่งแก้ปัญหาน้ำเสียในคลองแสนแสบ โดยอาศัยกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายด้านการจัดการน้ำเสียภายในชุมชน  รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงคลองให้สามารถช่วยระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร บรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ 

นายธนกร กล่าวว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังสั่งจัดระเบียบสายสื่อสารต่าง ๆ รวมทั้งสายไฟฟ้าลงดิน โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาได้นำสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้วเสร็จสะสมระยะทางรวม 55.7 กิโลเมตร เช่น โครงการสีลม โครงการจิตรลดา โครงการปทุมวัน รอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยวางเป้าหมายที่จะมีการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมดภายในปี 2568 ระยะทางสะสม 215.6 กิโลเมตร ขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดระเบียบสายการสื่อสาร แล้วเสร็จระยะทาง 100 กิโลเมตร และมีแผนดำเนินการเพิ่มอีกต่อเนื่องในปี 2565 -2567  รวม 1,400 กิโลเมตร เพื่อความเป็นระเบียบ เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

พร้อมทั้งยังติดตามความก้าวหน้าในการจัดสร้างสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” ซึ่งมีเนื้อที่รวมประมาณ 450 ไร่ เพื่อให้เป็นสวนป่ากลางกรุง เป็นแหล่งพักผ่อน รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติและระบบนิเวศสำหรับนักเรียนนักศึกษา ซึ่งจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน 2565 เพื่อจะร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 และจะได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าใช้ประโยชน์อย่างเป็นทางการต่อไป

หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้กับกำลังพลในสังกัด

กองทัพเรือโดย หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) แบบ Antigen Test Kit (ATK) ให้กับกำลังพลของหน่วย ประกอบด้วย ข้าราชการ และทหารกองประจำการ ณ อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

สืบเนื่องจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ในปัจจุบันทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ได้มีความห่วงใยกำลังพล และได้ตระหนักถึงความจำเป็น ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว

"นายกฯ" ห่วงคนไทยถูกหลอกไปทำงานในประเทศกัมพูชา เตือนให้คิดรอบด้าน อย่าหลงเชื่อค่าตอบแทนสูง กำชับเจ้าหน้าที่สอดส่องแก๊งมิจฉาชีพค้ามนุษย์

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.นายธนกร วังบุญคง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการช่วยเหลือคนไทยจำนวน 56 คน ที่ถูกหลอกให้ไปทำงานในกัมพูชากลับมาประเทศไทยได้อย่างปลอดภัยว่า เป็นความร่วมมือของรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาที่ได้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ซึ่งการช่วยเหลือคนไทยครั้งนี้ถือเป็นการช่วยเหลือรอบที่ 9 รวมคนไทยที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว จำนวน 583 คน 

ทั้งนี้  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้เจ้าหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงให้ชัดเจน คนไหนที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการขอให้ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ พร้อมกับบันทึกประวัติไว้อย่างละเอียดมอบหมายให้ส่วนราชการในพื้นที่คอยเฝ้าระวัง เพื่อความปลอดภัย และไม่ให้คนเหล่านี้ถูกหลอกเป็นเหยื่ออีก รวมทั้งให้ติดตามกลุ่ม แก๊งกระบวนการที่มีพฤติกรรม หลอกลวงคนไปค้ามนุษย์ หรือแรงงานทาสในต่างประเทศ หากมีหลักฐาน ให้ขยายผล จับกุม ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด

โฆษกรัฐฯเผย “นายกฯ “เร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กที่ผู้ปกครองแสดงความประสงค์ เพื่อลดการติดเชื้อในเด็ก สนับสนุนการเรียนการสอนที่โรงเรียน ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมเน้นย้ำการให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองหากบุตรหลานติดเชื้อ

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ต่อกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กที่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เนื่องจากมีความห่วงกังวลแนวโน้มการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นในสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งแม้จะมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมาแต่สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายและขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีการเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน (On Site) ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่เล็งเห็นถึงประสิทธิภาพและความสำคัญสูงสุดของรูปแบบการเรียนในแต่ละองค์ความรู้ผ่านประสบการณ์ การพัฒนาร่างกาย และจิตใจ

ซึ่งเมื่อเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน (On Site) นั้นทำให้อาจมีความใกล้ชิดร่วมกับบุคคลรอบข้าง คุณครู เพื่อนร่วมชั้นเรียน และบุคคลอื่นๆ ซึ่งผลการให้บริการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นเด็กช่วงอายุ 5 - 11 ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2565) ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วกว่า 754,990 ราย และฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 16,369 ราย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์ปัจจุบันว่ามีเด็กติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น พบในช่วงอายุ 3 -11 ปี ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากเด็กช่วงอายุ 5 – 11 ปี เพิ่งได้รับวัคซีนป้องกันรวมไปถึงมีการเปิดเรียนในโรงเรียนบางแห่ง

โดยอาการปกติของเด็กที่ติดเชื้อจะมีไข้ประมาณ 5 วัน ซึ่งแพทย์จะสังเกตอาการถึง 10 วัน และติดตามอาการจนครบ 14 วัน ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคในเด็กพบว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในเด็กนั้นไม่มีอาการหรือมีเล็กน้อยเหมือนเป็นไข้หวัด แต่กลุ่มที่มีอาการรุนแรงมักจะเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคสมอง หัวใจ มะเร็ง หรือกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ทั้งนี้ จากการสำรวจเตียงในเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UhosNet) กรมการแพทย์ พบว่ามีมากกว่า 500 เตียง 

นายธนกร กล่าวว่า ในส่วนของการเข้ารับการรักษาในเด็ก เบื้องต้นจะมีการคัดกรองประเมินระดับความรุนแรงตามอาการของผู้ป่วย หากเด็กมีอาการไข้ไม่สูง ไม่มีโรคประจำตัวรุนแรง ไม่มีอาการซึม สามารถรับประทานอาหารได้ มีผู้ดูแล และภายในที่พักอาศัยมีห้องน้ำแยก จะสามารถเข้ารับการดูแลในรูปแบบของ Home Isolation (HI) หรือรักษาที่บ้านได้โดยมีทีมพยาบาลติดตามอาการอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง มีการส่งเครื่องมือวัดไข้ เครื่องมือวัดออกซิเจน ยา ถุงขยะติดเชื้อ อาหาร รวมทั้งของเล่นให้เด็กด้วย โดยสำหรับเด็กที่มีอาการเปลี่ยนแปลง เช่น ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป ภายใน 24 ชั่วโมง ซึม ไม่รับประทานอาหาร หายใจเร็ว มีระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วน้อยกว่า 96% ให้รีบไปพบแพทย์โรงพยาบาลใกล้บ้าน

"นายกฯ"  ย้ำนักเรียนไทยไม่เสียโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัย เน้นมาตรการป้องกันโควิดขั้นสูงสุด   วันนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ รวม 23,618 ราย  เสียชีวิต 49 ราย 

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เน้นย้ำนักเรียนจะต้องไม่เสียโอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2565  ภายใต้มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อย่างเข้มข้น   ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ข้อสรุปยืนยันให้สิทธิ์เด็กนักเรียนติดเชื้อโควิดอาการเล็กน้อยและกลุ่มมีความเสี่ยงสูงได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกคน โดยจัดสนามสอบที่กำหนดเพิ่มขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ หรือมีความเสี่ยงสูง ซึ่งผู้ประสงค์จะเข้าสอบที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวให้ลงทะเบียนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนการสอบโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น การเดินทางมายังสนามสอบด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถยนต์ที่จัดให้เป็นการเฉพาะจากหน่วยบริการสาธารณสุข หรือจากสนามสอบจัดให้เท่านั้น

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดสอบตามหลัก VUCA  ผู้สอน ผู้จัดสอบ ต้องได้รับวัคซีนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ลดการสัมผัส และเว้นระยะห่าง สถานที่จัดสอบ ต้องดำเนินการตามมาตรการ COVID Free Setting  อีกทั้ง ผู้สอบ ผู้จัดสอบ ต้องประเมินความเสี่ยง และควรตรวจ  ATK เมื่อมีอาการและมีความเสี่ยงสูง ไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ทุกคน  พร้อมขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด ในนามคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ร่วมกับ หน่วยงานด้านการศึกษาในจังหวัด และผู้จัดสอบในพื้นที่ต่างๆ ดำเนินการจัดการสอบให้ เป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยขั้นสูงสุด และสนามสอบต่างๆ จะต้องเข้มมาตรการป้องกันโควิดขั้นสูงสุด ให้มีพื้นที่แยก สำหรับจัดการสอบเป็นสัดส่วนแยกกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกลุ่มผู้ติดเชื้อ และในส่วน กทม. แลปริมณฑล ได้ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ให้บริการรับ-ส่งผู้ติดเชื้อ ไปยังสถานที่สอบหรือศูนย์พักคอยต่างๆ อย่างไรก็ตาม  กลุ่มนักเรียนที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงมีนาคมนี้ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดอีกด้วย

“ผบ.ทร.” ตรวจฝึก ทร. เค้นศักยภาพกำลังรบ รับสภาพ "ขาดงบ อาวุธเก่า ส่งมอบช้า ยกเลิกโครงการ" ท่ามกลางสงครามกรุ่น  ยัน ทหาร คือปราการสุดท้ายป้องปธิปไตย

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรีพล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2565บนเรือหลวงอ่างทอง โดยมี พลเรือเอก ธีรกุล กาญจนะ รองผู้บัญชาการทหารเรือในฐานะผู้อำนวยการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2565 ผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองอำนวยการฝึกเข้าร่วม

โดย พล.ร.อ.สมประสงค์ ได้ชมการสาธิตการปฏิบัติการทางทหารเป็นการปฏิบัติการของกองกำลังทางเรือเฉพาะกิจปฏิบัติการระยะไกล ( หมวดเรือปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก) ท่านควบคุมทะเลก่อนการยกพล ( การยิงตอร์ปิโดMK46 จากเรือด้วยลูกตอปิโดฝึก REXTPRP) การปฏิบัติการพิเศษการแทรกซึมเข้าสู่ที่หมายการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก การปฏิบัติการของ สอ.รฝ.ในการโจมตีเรือผิวน้ำ

พร้อมให้โอวาทแก่กำลังพลตอนหนึ่งว่ากำลังรบของกองทัพเรือเป็นกำลังรบที่มีครบ 4 มิติ ทั้ง ผิวน้ำ ทางบก ทางอากาศ และใต้น้ำด้วยความหลากหลายทางกำลังรบนี้ กำลังพลทุกนายของกองทัพเรือจึงต้องมีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญมากกว่าปกติ และที่มากกว่านั้นก็คือต้องมีการประสานสอดคล้องที่จะทำให้กำลังรบทุกมิติของเราประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน เสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกัน ประกอบกำลังเป็นกำลังทางเรือที่พร้อมจะปกป้องอธิปไตยของชาติจากภัยคุกคามในทุกมิติและทุกรูปแบบ

ในการนี้กองทัพเรือ จึงจัดให้มีการฝึกประจำปีขึ้นเพื่อให้กำลังพลจากหน่วยต่างๆได้มีโอกาสร่วมกัน ในการปฏิบัติหน้าที่ตามสาขาปฏิบัติการต่างๆ และได้มีโอกาสทดสอบขีดความสามารถตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านองค์บุคคลและองค์วัตถุ รวมถึงองค์ยุทธวิธี

สำหรับการฝึกของกองทัพเรือครั้งนี้เป็นที่ทราบดีว่าอยู่ภายใต้ข้อจำกัดมากมายทั้งงบประมาณ ยุทโธปกรณ์บางอย่าง อาจมีสภาพไม่สมบูรณ์ ไม่เพียงพอ และที่สำคัญช่วงเวลานี้คือการระบาดของ โควิด-19 อย่างไรก็ตามข้อจำกัดเหล่านี้จะเห็นได้ว่าเป็นข้อจำกัดที่อาจเกิดขึ้นได้ในยามสงครามจริงๆหมายถึงกองทัพเรือจะต้องบรรลุภารกิจแม้ยามประเทศชาติจะมีข้อจำกัดใดๆก็ตามเราจำเป็นต้องฝึก เป็นหลักประกันของความมั่นคงและการรักษา ผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเพื่อแสดงถึงศักยภาพของกำลังพลที่มีความพร้อม เพื่อ ป้องปรามให้ฝ่ายที่เป็นภัยคุกคามต่อชาติเรามีความยับยั้งชั่งใจเหล่านี้คือคำตอบในภาพรวมที่ว่า เราฝึกเพื่อชาติและประชาชนที่จะต้องได้รับประโยชน์จากการฝึกในครั้งนี้

ในการฝึกครั้งนี้ยังมีการฝึกด้านช่วยเหลือประชาชนที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยรวมถึงการฝึกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัยตามแนวคิดการใช้กำลังแบบ from the sea และการค้นหาช่วยชีวิตในพื้นที่การรบทางทะเลทำ combat Sea SAR  ซึ่งการฝึกในลักษณะนี้จะทำให้กองทัพเรือมีความพร้อมที่จะเป็นหน่วยสำคัญในการสนับสนุน และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในยามที่ประเทศต้องเผชิญภัยพิบัติทางทะเลที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

ลำปาง-มทบ.32​  ดูแลห่วงใย นำสิ่งของจำเป็นมอบให้ เพื่อมีกำลังใจก้าวผ่านไปด้วยกัน 

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 เวลา​ 09.30​ น.​ พลตรีอโณทัย​ ชัยมงคล​ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32  มอบหมายให้ พันเอกกวิน ยาวิชัย รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 32 / ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์มณฑลทหารบกที่ 32 ลงพื้นที่พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน หลักสูตรพื้นฐานภาค 3 รุ่นที่ 1/65

ร่วมกับ อสม.บ้านหนอง ตำบลน้ำโจ้  นำสิ่งของอุปโภค-บริโภคจำเป็น  หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และผ้าห่ม มอบให้ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ณ ชุมชนบ้านหนอง หมู่ที่ 4 ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง จำนวน 3 ราย ดังนี้ 
1.น.ส นฤมล สายปะละ อายุ 41 ปี   บ้านเลขที่ 51 หมู่ที่ 4 ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง   ผู้พิการ - ออทิสติก
2.นาย เทียน สงสาร อายุ 80 ปี  บ้านเลขที่ 31 หมู่ที่ 4 ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง     ผู้สูงอายุ - ทุพพลภาพ 
3.นาง ทุม วงศ์เป็ง  อาย 72 ปี   บ้านเลขที่ 75 หมู่ที่ 4 ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง  เป็นผู้ป่วยทางการเคลื่อนไหว

สตูล-ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ลงพื้นที่อำเภอควนกาหลง และอำเภอมะนัง เยี่ยมช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุวาตภัย

วันนี้ 3 มี.ค. 2565 นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วยนาวาตรีหญิงโนสมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล และส่วนราชการลงพื้นที่อำเภอควนกาหลง และอำเภอมะนัง จังหวัดสตูล เยี่ยมและให้กำลังใจประชาชนที่บ้านเรือนได้รับผลกระทบจากเหตุวาตภัย 3 หลังคาเรือน หลังจังหวัดสตูลมีฝนตกลงมาอย่างหนักและมีลมพายุส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนหลายหลังคาเรือน 

โดยหลังแรกเป็นบ้านของนางสุรภา ชัยโรจน์ บ้านเลขที่ 183 ที่หมู่ที่ 3 บ้านควนล่อน ตำบลควนกาหลง ซึ่งบ้านเรือนได้รับความเสียหายหลังจากพายุฝนพัดหลังคาบ้านเรือนหลุดออกจากตัวบ้าน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 ส่งผลให้หลังคาบริเวณชั้น 2 ของตัวบ้านได้รับความเสียหาย ส่วนบ้านหลังที่ 2 ร้านอาหารตามสั่งป้าแดง บ้านเลขที่ 157 หมู่ที่ 3 บ้านควนล่อน ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านหลังแรกประมาณ 150 เมตร ได้รับความเสียหายจากพายุฝนพัดหลังคาสังกะสีหลุดออกจากบ้านเช่นกัน โดยองค์การบริหารส่วนตำบลควนกาหลง ได้มอบหลังคากระเบื้องและเงินเพื่อเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่เจ้าของบ้านทั้ง 2 หลังแล้ว ในโอกาสนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล ร่วมมอบสิ่งของอุปโภค บริโภค หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ พร้อมเงินช่วยเหลือให้แก่เจ้าของบ้านทั้ง 2 หลัง และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสตูล ร่วมมอบเงินช่วยเหลือเช่นกัน

หนองคาย-ตรวจยึดยาบ้า ยาอี ล็อตใหญ่ 2.3ล้านกว่าเม็ด มูลค่า 100 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 พันเอก มงคล หอทอง  รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี เป็นผู้แทน ผู้บัญชาการกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี ร่วมแถลงข่าวการจับกุมตรวจยึดยาเสพติด (ยาบ้า-ยาอี) 2.3 ล้านกว่าเม็ด โดยมีนายมนตร์สิทธิ์  ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในการแถลงข่าวฯ ณ หอประชุมประจักษ์ศิลปาคม ศาลากลางจังหวัดหนองคาย 

ชลบุรี-บูรณาการตามมาตรการป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ตรวจจับ ปรับจริง-ห้ามใช้รถควันดำ

หน่วยงานรัฐ จังหวัดชลบุรี บูรณาการ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) นำมาตรการเข้ม ‘ตรวจจับ ปรับจริง-ห้ามใช้รถควันดำ’ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก

สถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรี สำนักงานขนส่งจังหวัดชลบุรี  สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี)ได้ร่วมกัน ตั้งด่านตรวจวัดควันดำจากท่อไอเสียรถ ตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก และรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภทเครื่องยนต์ดีเซล ที่บริเวณถนนเทพรัตน ขาเข้ากรุงเทพมหานคร ใต้ทางด่วนบูรพาวิถี ตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี   

โดยจังหวัดชลบุรี ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) นำมาตรการเข้ม ‘ตรวจจับ ปรับจริง-ห้ามใช้รถควันดำ’ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ซึ่งได้ดำเนินการตรวจวัดควันดำรถบรรทุก จำนวน 170 คัน พบมีรถที่มีควันดำแต่ยังไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 15 คัน และพบรถมีค่าควันดำเกินเกณฑ์ จำนวน 1 คัน ซึ่งสำนักงานขนส่งจังหวัดชลบุรี ได้ออกคำสั่งผู้ตรวจการ และสั่งระงับการใช้รถฯ โดยพ่นเครื่องหมาย “ห้ามใช้รถ” และตรวจวัดควันดำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภทเครื่องยนต์ดีเซล จำนวน 20 คัน พบรถมีค่าควันดำเกินเกณฑ์ จำนวน 5 คัน ซึ่งสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) ได้ออกคำสั่งโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ห้ามใช้รถชั่วคราว จำนวน 5 คัน และ ติดป้าย “ห้ามใช้รถชั่วคราว” และให้ปรับปรุงแก้ไขก่อนนำรถเข้าตรวจสอบใหม่ ณ สำนักงานขนส่งฯ ต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top