Friday, 16 May 2025
TheStatesTimes

นราธิวาส-ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาลงพื้นทีอำเภอสุไหงปาดี มอบถุงยังชีพประชาชนผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม

พล.อ.จีรัชญ์ บุญชญา ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาและคณะ เดินทางลงพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากเหตุอุทกภัย ในพื้นที่ ม.7 บ.โคกสะตอ ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส พร้อมขึ้นรถบรรทุก 6 ล้อของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 41 ลุยน้ำไปมอบถุงยังชีพและน้ำดื่มให้แก่พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วมถึงหน้าบ้านของแต่ละบุคคลเพื่อเป็นการส่งความห่วงใย ให้กำลังใจ และได้พูดคุยสอบถามความต้องการของประชาชน ในการเตรียมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเต็มกำลังโดย หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 41 สำนักงานพัฒนาภาค 4 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาได้จัดกำลังพลชุดบรรเทาสาธารณภัย พร้อมยุทโธปกรณ์ในการติดตามสถานการณ์สาธารณภัยอย่างใกล้ชิด  เพื่อออกให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้พี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที

กาฬสินธุ์-ตรวจเข้มสถานบริการป้องกันการค้ามนุษย์-ยึดหลักมาตรการป้องกันโควิด

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดของคนต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจเข้มสถานบริการ ร้านคาราโอเกะ เพื่อป้องกันการกระทำความผิดของคนต่างด้าว  พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการยึดหลักมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด หลังยังพบการแพร่ระบาดในพื้นที่มีผู้ป่วยรายวันเฉลี่ย 300-400 ราย 

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงกลางคืนที่ผ่านมา นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ มอบหมายให้นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ พ.อ.สุรศักดิ์  สำราญบำรุง รอง ผอ.รมน.กาฬสินธุ์ นายดาระใน ยี่ภู ปลัด จ.กาฬสินธุ์  นายเริงวิทย์  ถนอมแสง นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ นายประสงค์ จันทร์กระจ่าง ป้องกัน จ.กาฬสินธุ์ นำชุดปฏิบัติการฝ่ายปกครอง บูรณาการร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.กาฬสินธุ์ ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ทหาร เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.กาฬสินธุ์ จัดหางาน จ.กาฬสินธุ์ แรงงาน จ.กาฬสินธุ์ ออกตรวจสถานประกอบการคล้ายสถานบริการ ร้านคาราโอเกะ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดของคนต่างด้าว และการฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด หลังยังพบการแพร่ระบาดในพื้นที่ มีผู้ป่วยรายวันเฉลี่ย 300-400 ราย

นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีการเปิดด่านพรมแดนทางบก ในจังหวัดพื้นที่ชายแดน อาจจะทำให้เกิดการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการลักลอบการค้ามนุษย์

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำผิด การค้าประเวณี การค้ามนุษย์ การจ้างแรงงานของคนต่างด้าวในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์โดยผิดกฎหมาย นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเข้มสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ ร้านคาราโอเกะ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดของคนต่างด้าว และป้องกันการฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการเว้นระยะห่าง จุดคัดกรอง การห้ามนั่งดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน เนื่องจากมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ  

นราธิวาส-เทศบาลเมืองนราธิวาส  เปิดห้องเรียนอัจฉริยะ มิติใหม่ด้านการศึกษาของท้องถิ่นเทศบาลเมืองนราธิวาส  เดินหน้ายกระดับการจัดการศึกษาในระดับท้องถิ่น  

โดยการเปิดห้องเรียนพิเศษ (SME)  ระดับชั้นมัธยมศึกษา  ปีที่  1  ในปีการศึกษา  2565  ตามนโยบายด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการศึกษา นายไพซอล  อาแว  นายกเทศมนตรีเมืองนราธิวาส  กล่าวว่า  ในปีการศึกษา  2565  นี้  เทศบาลเมืองนราธิวาส  ได้กำหนดโครงการเปิดสอนห้องเรียนพิเศษ  (SME)  ระดับชั้นมัธยมศึกษา  ปีที่  1  โดยจะนำร่องเปิดห้องเรียนพิเศษ  โรงเรียนเทศบาล  1  (ถนนภูผาภักดี)  เป็นแห่งแรก  จำนวน  1  ห้อง  รับนักเรียน  จำนวน  20  คน  ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามนโยบายส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานของโรงเรียนสังกัดเทศบาลให้มีความโดดเด่นในทุก  ๆ  ด้าน   เช่น  ด้านคณิตศาสตร์  ด้านวิทยาศาสตร์  ด้านภาษา  ด้านกีฬา  ด้านดนตรี  ด้านศาสนาและวัฒนธรรม   

โดยเทศบาลได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อร่วมพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษากับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์  สำหรับห้องเรียนพิเศษ  (SME) นี้ จะดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดในแปดกลุ่มสาระ  โดยจะมีการเสริมทักษะเพิ่มเติมให้แก่นักเรียนในด้านวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ  ซึ่งจะมีการเรียนการสอนในห้องปฏิบัติการและจัดการเรียนภาษาอังกฤษจากเจ้าของภาษาโดยตรง  

นอกจากนั้นยังจัดให้มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพิ่มเติมนอกเหนือจากนักเรียนทั่วไป  ได้แก่การเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น  อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส  มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์  ศูนย์วิทยาศาสตร์  จัดกิจกรรมค่ายภาษาอังกฤษ   สัปดาห์คณิตศาสตร์   สัปดาห์วิทยาศาสตร์  และกิจกรรมว่ายน้ำ เป็นต้น  ส่วนสวัสดิการที่จะจัดให้แก่นักเรียนห้องเรียนพิเศษ  ได้แก่  ค่าเล่าเรียนฟรี  อาหารกลางวันฟรี   อุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัย  เช่น  โน๊ตบุ๊ก (ยืมเรียน)  จัดห้องเรียนพิเศษปรับอากาศ (โรงเรียนเทศบาล  1  และอุทยานการเรียนรู้นราธิวาส) 

'เสธทร.' ย้ำ จำเป็นต้องมีเรือดำน้ำตามยุทธศาสตร์ ยืนยันกับจีนแล้วว่าขอสเปกเดิม เครื่องยนต์ MTU 396 ไม่น้อยใจถูกฝ่ายค้านโจมตี ต้องสู้ต่อไป

เมื่อเวลา 11.50 น.วันที่ 3 มี.ค.ที่ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการจัดหาเรือดำน้ำ กล่าวถึงปัญหาเรื่องเรือดำน้ำ ว่า อย่างที่ทุกคนพอทราบข่าว ขอเรียนว่าจะทำให้ดีที่สุด และได้เเจ้งทางฝ่ายจีนไปว่าขอยืนยันตามสัญญาทุกประการ เพื่อคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและกองทัพเรือเป็นสำคัญ ยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุด

เมื่อถามว่าถ้ากองทัพเรือยืนยันในเครื่องยนต์ MTU แต่ทางเยอรมันไม่ขายให้จีน ได้เตรียมทางออกไว้อย่างไร เสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า เราได้ยืนยันกับทางจีนไปว่าเราปฏิบัติตามสัญญา ก็คงต้องไปเข้าสู่ฝั่งจีน

เมื่อถามต่อว่าถ้าเครื่องยนต์เป็นการผลิตของจีน แต่สเปกใกล้เคียงกัน จะยอมรับได้หรือไม่ เสนาธิการทหารเรือ กล่าวย้ำว่า ได้ยืนยันไปแล้วว่าต้องเป็น MTU 396

เมื่อถามถึงกรณีฝ่ายค้าน ระบุบริษัท csoc จากจีนส่งผู้จัดการโครงการและผู้บริหาร 4 คนมาคุมงานก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ แต่พบข้อมูลว่าเป็นครูสอนภาษาจีนนั้น ขอย้ำว่าเป็นไปตามที่โฆษกกองทัพเรือชี้แจงไปแล้ว ขอไม่ให้ข่าวซ้ำ โดยมี นาย Lang Qingxu เป็นผู้บริหารโครงการ และมีนายจักรพงษ์ วงศ์ธนปกรณ์ เป็นวิศวกรโครงการ ส่วนบุคคลอื่นๆ ไม่เกี่ยวข้อง

ส่วนหากฝ่ายจีนดำเนินการไม่ได้ สามารถเรียกค่าปรับได้หรือไม่ เสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า อยู่ในสัญญาเรียบร้อย แต่ยังไม่ไปถึงขั้นนั้นขอให้ใจเย็นๆ พร้อมยอมรับปัจจุบันสัญญาการส่งมอบได้เลื่อนออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม ปี 2567 เนื่องจากปัญหาโควิดที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งขอเลื่อนมา 6 เดือนแล้ว

เมื่อถามอีกว่า ถ้ามันไม่ได้ แล้วขอเลื่อนไปเรื่อยๆ จะมีแผนรองรับอย่างไร เพราะเป็นเรือดำน้ำลำแรกที่จัดซื้อ เสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า เราพยายามแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด เราอยากได้เรือดำน้ำมาใช้เพราะเป็น ยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ ซึ่งยุทธศาสตร์ของชาติต้องมีเรือดำน้ำ

เมื่อถามว่า ถ้าจีนเสนอเรือดำน้ำมือ 2 มาให้ จะพิจารณาอย่างไร เสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า ยังไม่ทราบตรงนี้ เพราะยังเป็นแค่ข่าว ยังไม่ได้รับทราบอย่างเป็นทางการจากฝ่ายจีน

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรที่ฝ่ายค้านโจมตีเรื่องเรือดำน้ำบ่อยครั้ง เสนาธิการทหารเรือ มองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ

เมื่อถามต่อว่า น้อยใจหรือไม่จะซื้อเรือดำน้ำทีก็มีอุปสรรค เสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมชาติ เราคงน้อยใจไม่ได้ เราคงต้องสู้ต่อไป เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของชาติและยุทธศาสตร์กองทัพเรือ

'นายกฯ' สั่งการออกมาตรการดูแล ลดภาระ แก้หนี้ ประชาชน 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งรัดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน ต้องการให้แบ่งเบาภาระประชาชนทุกคนเห็นผลโดยเร็วที่สุด โดยให้เดินหน้าการดำเนินการตาม 3 แนวทางหลัก ดังนี้ 

1.หาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่าย ดูแลประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ร่วมพิจารณามาตรการที่เหมาะสม แบ่งเบาภาระของประชาชน อาทิ การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า เป็นต้น

2.การบรรเทาภาระหนี้สิน เป็นประเด็นที่รัฐบาลดูแลมาโดยตลอด รัฐบาลได้กำหนดให้ในปี 2565 นี้เป็น “ปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน” และได้กำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไว้ครอบคลุมทุกมิติ อย่างไรก็ดีในการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีต้องการให้มีหน่วยงานขับเคลื่อนเพื่อให้ดูแลประชาชนทุกคน เพื่อบรรเทาภาระหนี้ให้กับประชาชนไม่ให้มีคนต้องถูก ยึดบ้าน ยึดรถ

“บิ๊กตู่” ติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือชาวไทยในยูเครน ห่วง 31 คน ที่ยังประสงค์อยู่ในพื้นที่ กำชับทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมเพื่อช่วยเหลือชาวไทยอย่างทันท่วงทีต่อทุกสถานการณ์

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 3 มี.ค.นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือคนไทยในยูเครนอย่างใกล้ชิด แม้ได้ให้ความช่วยเหลือคณะชาวไทย 2 กลุ่มแรกจำนวน 96 คน ที่เดินทางกลับถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมาแล้ว แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครนที่เพิ่มสูงขึ้น นายกรัฐมนตรี ยังคงแสดงความห่วงใยต่อความปลอดภัยของประชาชนชาวไทยในยูเครนที่เหลืออยู่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ชาวไทยที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ยูเครน อีกทั้งได้กำชับให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยในยูเครนอย่างทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้รายงานความคืบหน้าแผนการให้ช่วยเหลือคนไทยในยูเครน จากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ว่าเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 คณะคนไทยที่อพยพออกจากยูเครนชุดที่ 3 จำนวน 40 คน ได้เดินทางออกจากประเทศโปแลนด์กลับมายังประเทศไทยและมีกำหนดถึงประเทศไทยในวันนี้ (3 มีนาคม 2565) โดยสายการบินเอมิเรตส์ เที่ยวบินที่ EK384 เวลา 12.05 น. ทั้งนี้ ยังคงการช่วยเหลือคนไทยอพยพออกจากยูเครนเพิ่มเติม ได้แก่ คนไทยจำนวน 43 คนได้เดินทางจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยในยูเครน เมืองลวิฟ เข้าสู่ประเทศโปแลนด์และเข้าพักในโรงแรมที่กรุงวอร์ซอเพื่อเตรียมเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 4 มีนาคม 2565 พร้อมกันนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย ได้ช่วยเหลือให้คนไทยที่อพยพออกจากประเทศยูเครน จำนวน 16 คน เพื่อเตรียมเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 4 มีนาคม 2565 ต่อไป

สงขลา - ศอ.บต.ยัน สภาพัฒน์อยู่ระหว่างดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย

ในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหาร และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้  ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) ซึ่งมีนายประมุข ลมุน เป็นประธาน และมีนายอำนวย ศรีระแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นตัวแทนของ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เข้าร่วมประชุม  ครั้งล่าสุด  ซึ่งคณะกรรมการที่ปรึกษาได้สอบถามความคืบหน้าในการ “ขับเคลื่อน” เมืองต้นแบบที่ 4 หรือ “ เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เนื่องจากเป็น โครงการที่ มีประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีประชาชนสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ซึ่งเจ้าหน้าที่ ผู้รับผิดชอบ โครงการเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา ได้เป็นผู้ให้รายละเอียดว่า โครงการเมืองต้นแบบที่ 4 อยู่ระหว่างการดำเนินการ รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นไปแล้วหลายกลุ่ม และจะสิ้นสุดในเดือน มีนาคม นี้ หลังจากนั้นจะมีการดำเนินการ ศึกษาเรื่องของ สิ่งแวดล้อม ที่เป็นขบวนการทางวิชาการ เรื่องของ เมืองต้นแบบที่ 4 ยังไม่ได้หยุดชะงัก แต่ยังเดินหน้าต่อไปด้วยความรอบคอบในทุกด้าน ซึ่งอาจจะมีความล้าช้าไปบ้าง เพราะนอกจากเรื่องของการคัดค้านจากคนบางกลุ่มแล้ว เรื่องการระบาดของ”โควิด 19” ก็ทำให้มีความล่าช้าในขบวนการ

ในขณะที่ คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เสนอแนะว่า  นิคมอุตสาหกรรมจะนะ หรือ เมืองต้นแบบที่ 4 หรือ “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” เป็นโครงการพัฒนาที่ มีความเหมาะสมกับการแก้ปัญหา การว่างงาน การสร้างรายได้ และการขยายไปสู่อาชีพอื่นๆ โครงการอื่นๆ ในอนาคต  แต่ในการดำเนินการ ต้องตั้งอยู่บนพื้นที่ของการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน และ เอกชน เจ้าของ โครงการต้องมีความโปร่งใส ให้ความจริงกับคนในพื้นที่ และ สาธารณะ ในการรับรู้ข้อมูล รวมทั้งเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง โครงการอาจจะช้าไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร แต่รัฐบาลต้อง จริงใจ ในการ ผลักดัน ให้เมืองต้นแบบที่ 4 เกิดขึ้น เพราะจะเป็นการ กระจายรายได้ กระจายการจ้างงาน รวมทั้ง สร้างความเจริญ ในพื้นที่ใกล้เคียง

พิจิตร -ส.ส.ภูดิท ลงพื้นที่อ.วังทรายพูนช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกแตงโม

ส.ส.ภูดิท   อินสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร เขต 2 พร้อมทีมงานได้ลงพื้นที่ต.วังทรายพูน อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยมีกำนันสมหมาย สนามทอง กำนันตำบลวังทรายพูน กำนันพเยาว์ จำลอง กำนันตำบลหนองปล้อง พร้อมผู้นำท้องที่ร่วมกันนำลงพื้นที่แปลงปลูกแตงโมของนายสุทรี น้อมระวี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 12 บ้านหนองยางใต้ ต.วังทรายพูน ซึ่งประสบปัญหาราคาแตงโมตกต่ำ เหลือเพียงกิโลกรัมละ3-5บาท แต่ต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆทั้งราคาปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง รวมถึงค่าน้ำมัน ทำให้ประสบภาวะขาดทุน  

นราธิวาส-ตำรวจ สภ.เมืองนราธิวาส  เร่งประชาสัมพันธ์โครงการ Smart safety 4.0 เชิงรุก ในเขตเซฟตี้โซน ตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พ.ต.อ.เจฟฟรีย์ ไศลมานกุล  ผกก.สภ.เมืองนราธิวาส นำ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนราธิวาส  ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการ ร้านอาหาร  ร้านค้า และห้างสรรพสินค้าในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ตั้งแต่ หอนาฬิกา-แยกออมสิน-แยกท่าพระยาสาย-แยกซูซูกิ  ซึ่งอยู่ในเขตเซฟตี้โซน ของโครงการ smart safety 4.0 สภ.เมืองนราธิวาส  พร้อมถือป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ Smart safety 4.0 เชิงรุก เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบถึงการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวอย่างทั่วถึง ในการป้องกันอาชญากรรมของโครงการดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชงรัฐเร่งแก้วิกฤตโรงเรียนเอกชน ก่อนปิดสังเวยโควิด100%

ผู้ตรวจการแผ่นดินระดมสรรพกำลังหามาตรการเยียวยาบรรเทาทุกข์โรงเรียนเอกชนระยะสั้น - ยาว ผลพวงวิกฤตโควิดหนัก หวั่นไม่นานอาจปิดฉากยุบตัวจ่อกระทบครูและบุคลากรทางการศึกษาแสนกว่าชีวิต นักเรียนร่วมสองล้านคน หวังมาตรการระยะสั้นวอนรัฐช่วยพยุงปรับลดค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าไฟค่าน้ำ และเงินทุนกู้หมุนเวียน ส่วนระยะยาวขอรับเงินอุดหนุนค่าธรรมเนียมการศึกษารายบุคคล ลดหย่อนภาษีให้กับผู้บริจาคจำนวนสองเท่า อุดหนุนค่าอาหารกลางวันเด็ก 100 เปอร์เซ็นต์ ตลอดจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเร่งชงทางออกเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี

ที่สำนักผู้ตรวจราชการแผ่นดิน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะกรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อสภาพคล่องของโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 3,563 แห่ง ทำให้โรงเรียนเอกชนบางแห่งทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพจำเป็นต้องปิดกิจการเพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปได้เนื่องจากนักเรียนสมัครเรียนน้อยลง ผู้ปกครองค้างชำระค่าธรรมเนียมจำนวนมาก สร้างผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนอย่างมหาศาล ช่วงเดือนเมษายน 2564 ถึงปัจจุบัน โรงเรียนเอกชนไม่สามารถเปิดเรียนแบบ ONSITE ได้ การเปิดการเรียนการสอนแบบ ONLINE ทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากเรียกร้องขอเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาคืน อีกทั้งผู้ปกครองบางส่วนค้างจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาให้กับโรงเรียนเอกชนกว่า 2,500 แห่ง ทำให้โรงเรียนขาดสภาพคล่องไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนครูถึงแม้ว่าจะพยายามยื่นกู้จากสถาบันการเงินแต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันสถาบันการเงินจึงไม่อนุมัติเงินกู้ให้กับโรงเรียนเอกชนบางแห่ง ส่วนบางแห่งได้รับเงินกู้แต่ถูกคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินไป ปัญหาดังกล่าวได้มีการเลิกจ้างครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้ว จำนวน 12,253 คน หากปัญหานี้ปล่อยวางจะกระทบถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยและผู้ปกครองจำนวนมากที่พึ่งโรงเรียนเอกชนเป็นสถานศึกษาทางเลือก โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาบางส่วนที่กล่าวไปยังมีเรื่องอื่น ๆ ตามมาจำนวนมาก ในการนี้จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของโรงเรียนเอกชนให้สามารถบริหารจัดการเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืนภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ 

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องได้เสนอแนะการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้ การแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ดำเนินการประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ การขอลดค่าน้ำ-ค่าไฟร้อยละ 50 ให้กับโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นชั่วคราว การขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินในการกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการกู้จากสถาบันการเงินให้โรงเรียนเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและดอกเบี้ยต่ำ เพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ และขอให้รัฐเร่งรัดจัดสรรงบประมาณชดเชยรายได้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชน 5,000 บาท ต่อคนต่อเดือน ในระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563)

การแก้ไขปัญหาระยะยาว มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ เงินอุดหนุนค่าธรรมเนียมการศึกษารายบุคคลของนักเรียนโรงเรียนเอกชน ให้ภาครัฐอุดหนุน 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 2 ปี เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โรงเรียนสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติแล้วจึงปรับลดเงินช่วยเหลือเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ตามเดิม ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ประสานกรมสรรพากร จัดประชุมเพื่อศึกษาหารือรายละเอียด เงื่อนไข และแนวทางปฏิบัติ กรณี การลดหย่อนภาษีจำนวนสองเท่าสำหรับผู้บริจาคเงินเพื่อการศึกษาให้กับโรงเรียนเอกชน รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้หน่วยรับสิทธิได้รับทราบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ตลอดจนแจ้งผู้บริจาคให้ทราบถึงสิทธิ และการลดหย่อนภาษีสองเท่าของจำนวนการบริจาคตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 713) พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาความสำคัญและขยายโครงการต่อไปในปี พ.ศ. 2565

การส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการครูโรงเรียนเอกชน ให้รัฐพิจารณาหาแนวทางเพื่อให้ครูโรงเรียนเอกชนที่ใช้สิทธิสวัสดิการกองทุนสงเคราะห์สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่เกินสิทธิได้ โดยสามารถใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มเติม เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงควรมีการศึกษาและปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ครูโรงเรียนเอกชนสามารถพิจารณาทางเลือกว่าจะใช้สิทธิบัตรทอง หรือประกันสังคม และให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเร่งรัดการศึกษาวิจัยร่วมกับสภาการศึกษาและวางแผนเกี่ยวกับการเพิ่มเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชนในอัตราที่เหมาะสม เพื่อที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะได้นำเสนอหลักการต่อรัฐบาลให้พิจารณาเมื่อสถานการณ์ปกติและฐานะทางการเงินการคลังของรัฐบาลดีขึ้นแล้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top