79 ปี สิ้น ‘เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี’ ประธานสภาฯ คนแรกของไทย และผู้วางรากฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน-อาชีวศึกษา
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2419 ที่บ้านหลังศาลหัวเม็ด ตำบลสะพานหัน กรุงเทพฯ นามเดิม สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นบุตรคนที่ 18 ในจำนวนพี่น้อง 32 คน ของพระยาไชยสุรินทร์ (เจียม เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงเกษตรและพระคลังในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เป็นบุตรคนโตของมารดา คือคุณหญิงอยู่ เมื่ออายุได้ 8 ปี บิดาถึงแก่กรรม ฐานะครอบครัวตกต่ำลง มารดาจึงหารายได้ทางเย็บปักถักร้อย
เมื่ออายุ 12 ปี ได้เรียนหนังสือด้วยวิธีต่อหนังสือที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข สอบได้ประโยคหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2431 แล้วเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบสอบไล่ได้ประโยคสอง ต่อมาสอบไล่ได้ชั้น 5 ภาษาอังกฤษตามหลักสูตรหลวง ปีพ.ศ. 2432 เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ปีพ.ศ. 2435 จนได้รับประกาศนียบัตรครูสอบไล่ได้ที่ 1 ของผู้สำเร็จวิชาครูรุ่นแรก ได้รับพระราชทานรางวัลเมื่อ พ.ศ. 2437 ทางกระทรวงธรรมการได้คัดเลือกส่งไปศึกษาเพิ่มเติมที่ประเทศอังกฤษ จนได้รับรางวัลประกาศนียบัตรวิชาครูของอังกฤษ จากโรงเรียนฝึกหัดครูเบอโรโรค ที่ตำบลไวสลเวิฟ ใกล้กับกรุงลอนดอน เมื่อพ.ศ. 2441
กระทั่งปีพ.ศ. 2435 ได้เข้ารับราชการในกระทรวงธรรมการเป็นนักเรียนสอบในโรงเรียนตัวอย่าง จนได้เป็นครูผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครู เมื่อพ.ศ. 2437 เมื่อกลับมาจากประเทศอังกฤษก็ได้รับตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการเมื่อ พ.ศ. 2459 โดยได้บรรดาศักดิ์ครั้งสุดท้ายเป็น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเมื่อ พ.ศ. 2460 วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของประเทศไทย รวมทั้งได้เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ
นอกจากนี้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้ประกอบกิจการทางการศึกษาอันเป็นคุณูปการไว้แก่ประเทศไว้มากมาย โดยเฉพาะในการวางรากฐานอย่างสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่การเป็นครู ผู้ตรวจการศึกษา เป็นเจ้ากรมราชบัณฑิต เจ้ากรมตรวจ ปลัดทูลฉลองจนถึงเสนาบดี โดยเริ่มนำเอาความรู้แผนใหม่เข้ามาในวงการครู เริ่มพัฒนาด้านพุทธิศึกษาอย่างจริงจัง เขียนตำรา เริ่มตั้งแต่ด้านสุขาภิบาลและสุขศึกษาสำหรับครอบครัว
