Saturday, 17 May 2025
Region

กาฬสินธุ์ – เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่ให้กับโรงพยาบาลสหัสขันธ์ สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ สู้วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลสหัสขันธ์ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์  เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องต่อสู้กับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

ที่วัดพุทธาวาสภูสิงห์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ,ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม และประธานกรรมการอบรมประชาชนกลาง (อ.ป.ก.) มอบหมายให้พระครูสิริพัฒนนิเทศก์ รองเจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ เจ้าอาวาสวัดไตรภูมิ มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลสหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ โดยนายแพทย์คมกฤษ วิเศษ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสหัสขันธ์ เข้ารับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหมด ทั้งนี้ จะนำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่สู้กับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่

ในการนี้เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ได้มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลสหัสขันธ์ จำนวน 6 รายการ  ประกอบด้วย สเปรย์แอลกอฮอล์ 53 ขวด  แอลกอฮอล์สำหรับเติม  24 ขวด เจลแอลกอฮอล์ 18 ขวด ทิชชู่เปียกแอลกอฮอล์ 100 ห่อ ชุด PPE 120 ชุด และหน้ากากอนามัย 10,000 ชิ้น ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ให้เต็มกำลัง ซึ่งเมตตานุเคราะห์ของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ยังจะสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด

สำหรับอำเภอสหัสขันธ์ มี 8 ตำบล 85 หมู่บ้าน ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 แล้ว 6 ตำบล ประกอบด้วย ต.นิคม ต.สหัสขันธ์ ต.นามะเขือ ต.โนนน้ำเกลี้ยง ต.โนนแหลมทอง และต.โนนศิลา มีผู้ติดเชื้อสะสมที่ 21 ราย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

สุโขทัย – เทียน “ตะคันดินเผา” สืบสานความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิมของสุโขทัย

พิธีเผาเทียนนั้นถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญในงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในค่ำคืนวันเพ็ญเดือน 12 โดยใช้  “ตะคัน” หรือถ้วยเทียนบูชา ที่เป็นภาชนะดินเผาบรรจุขี้ผึ้งไขเปรียง มีไส้เชื้อเพลิง จุดแล้วมีแสงสว่าง คนโบราณจึงเรียกว่า “เผาเทียน” เมื่อนำไปวางตามฐาน หรือระเบียงโบสถ์ วิหาร เจดีย์ เกิดเป็นแสงระยิบระยับนับร้อยนับพัน ถือเป็นบุญกุศลที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมศรัทธา

“บ้านตะคัน คุณจูคุณจิต” ที่ชุมชนบ้านใหม่ตะพังทอง ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย โดยมีคุณชัยรัตน์ ภุมราเศวต หรือลุงจู อายุ 59 ปี เล่าให้ฟังว่า “ตะคัน” หรือ “ตะคันดินเผา” มีลักษณะคล้ายจานขนาดเล็กที่ทำมาจากดินโดยการนำไปปั้นให้เป็นรูปทรงแล้วนำไปเผา บางบ้านใช้สำหรับวางเทียนอบ วางกำยาน แต่บางบ้านก็นำตะคันมาใส่น้ำมันหรือเทียนขี้ผึ้งและใส่ไส้เส้นด้ายใช้เพื่อจุดไฟ นำไปตกแต่งสถานที่ก็มี อาทิ รีสอร์ท โรงแรม ร้านกาแฟ หรือนำไปประกอบการแสดงร่ายรำก็มี

ปัจจุบันที่นี่เปิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้บ้านตะคัน” โดยจะมีผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การทำตะคันดินเผากันมากมาย จึงรู้สึกภูมิใจได้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดสุโขทัยต่อการสืบสานการทำตะคันดินเผา และเพิ่มบรรยากาศความสวยงามให้กับงานลอยกระทงสุโขทัยมาทุกปี

ประจวบคีรีขันธ์ – ส่งทีมบุคลากรทางการแพทย์ 5 คน เป็นตัวแทนประจวบฯ ช่วยชาวเพชรบุรีสู้โควิด

วันที่ 11 มิ.ย. 64 นายศราวุธ จิระพิทักษ์กุล นายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ นายแพทย์พงษ์พจน์ ธีรานันตชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ นายเรวัฒน์ สุขหอม สาธารณสุขอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย ผู้บริหารและบุคลากรโรงพยาบาลประจวบฯ ร่วมกันส่งมอบกำลังใจให้กับทีมบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลประจวบฯ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นางอังศนา ทัพไชย นางนุจรี กลิ่นหอม น.ส.ธมลวรรณ ใยยินดี น.ส.อรุณโรจน์ ฤทธิ์เลิศ และ นายดาวรุ่ง อยู่หนุน พนักงานขับรถ ที่บริเวณลานกิจกรรมหน้าหอพระ โรงพยาบาลประจวบฯ เพื่อเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงพยาบาลสนาม จ.เพชรบุรี ระหว่างวันที่ 10 - 20 มิถุนายน 64 คอยดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อเสร็จภารกิจจาก จ.เพชรบุรีแล้วจะเดินทางกลับ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคโดยการกักตัวและตรวจหาเชื้อต่อไป

นายศราวุธ จิระพิทักษ์กุล นายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ได้กล่าวให้กำลังใจบุคลากรทั้ง 5 คน คือตัวแทนของชาว จ.ประจวบฯที่น่าภาคภูมิใจและสมควรได้รับความชื่นชม ขอให้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดด้วยพลังกายพลังใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น ช่วยเหลือผู้ป่วยให้หายปลอดภัยกลับสู่ครอบครัวด้วยความสุข และจะรอต้อนรับทุกคนกลับบ้านอีกครั้งเมื่อภารกิจเสร็จสิ้น

นายแพทย์พงษ์พจน์ ธีรานันตชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบฯ กล่าวว่า ในนามตัวแทนโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ขอขอบคุณทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขทุกคนที่ได้เสียสละ และเป็นตัวแทนไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่จังหวัดเพชรบุรีในครั้งนี้ อันเนื่องจากมีการระบาดในวงกว้าง มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยต่อเนื่อง จำเป็นต้องเสริมกำลังเจ้าหน้าที่จากจังหวัดใกล้เคียงเข้าไปร่วมปฏิบัติงานเพื่อช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งการส่งทีมสนับสนุนปฏิบัติการนี้เจ้าหน้าที่จะได้เรียนรู้เพิ่มพูนทักษะการดูแลผู้ป่วยโรงพยาบาลสนามและสถานการณ์จริงมากขึ้น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานต่อไป

ด้าน นายแพทย์สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงวัคซีนทางเลือก ซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าขอสนับสนุนให้ อปท.ในจังหวัดจัดซื้อวัคซีทางเลือกอย่างน้อย 1 แสนโดส เพื่อนำวัคซีนกระจายให้กับประชาชนทุกกลุ่มได้รับวัคซีนเร็วขึ้น พร้อมกับการฉีดวัคซีนตามยอดที่รัฐจัดสรรให้ในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งขณะนี้มีผู้จองคิวผ่านแอพพ์หมอประจวบพร้อมมากกว่า 4 หมื่นคน หาก อปท.จัดซื้อขั้นตอนการขนส่งหรือจัดเก็บวัคซีนจำนวนมาก ไม่มีปัญหาในการควบคุมคุณภาพ ทุกโรงพยาบาลมีความพร้อม ส่วนการกระจายวัคซีนที่ท้องถิ่นซื้อไปฉีดให้ประชาชน จะใช้บุคลากรของโรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยขอให้เจ้าหน้าที่ อปท.ทำหน้าที่จิตอาสาเพื่อช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข


ภาพ/ข่าว  นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์ / 4 เหล่าทัพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เพชรบุรี – รองผู้ว่าฯ พร้อมด้วย ม.ราชภัฏเพชรบุรี เปิดครัวปรุงอาหารกล่องแจกคนเดือดร้อนโควิด

วันที่ 11 มิถุนายน นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วย ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี หัวหน้าส่วนราชการ คณะอาจารย์ และนักศึกษา ร่วมกันประกอบอาหารพร้อมของหวานบรรจุใส่กล่องเตรียมนำไปแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่โรงครัวมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม กล่าวว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 หวังทางออกที่จะช่วยเหลือประชาชนได้เร็วและลดภาระค่าครองชีพ จึงเปิดครัวปรุงอาหารคาวหวานสดใหม่เป็นเวลา 10 วันๆละ 300 ชุด ส่งมอบให้กับชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเขาย้อยเพื่อบรรเทาความลำบากในเรื่องของการกินอยู่ ปากท้องในแต่ละวัน คนราชภัฏต้องทำเพื่อพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน นอกจากนั้นยังได้ผลิตเจลล้างมือจำนวน 10,000 หลอด มอบให้ชาวบ้านได้ใช้เพื่อป้องกันโรคด้วย

นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการ จ.เพชรบุรี เป็นผู้แทนรับมอบอาหารกล่องพร้อมกล่าวแสดงความขอบคุณทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีที่มีความห่วงใยประชาชนที่เดือดร้อน และจะนำอาหารปรุงสุกส่งต่อให้ถึงมือพี่น้องชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ใน 3 ตำบลเขตอำเภอเขาย้อย ที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป


ภาพ/ข่าว  นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์ / 4เหล่าทัพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

สมุทรปราการ - ให้ด้วยหัวใจ จากใจ “ชนม์สวัสดิ์” ตู่ นันทิดา ตัวแทนมอบเตียง 100 ชุด ให้โรงพยาบาลสมุทรปราการ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด

ที่ห้องอำนวยการ ณ โรงพยาบาลสมุทรปราการ นางสาวนันทิดา แก้วบัวสาย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย นางสาวชนม์ทิดา อัศวเหม เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ดร.พิริยะ  โตสกุลวงศ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ นายสมลักษณ์ ควรสงวน รองนายกองค์การบริการส่วนจังหวัดสมุทรปราการ และนายสมหวัง เกษมโกสินทร์ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ นำคณะผู้บริหารเป็นตัวแทน นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ ส่งมอบเตียงผู้ป่วย 2 ชั้น จำนวน 100 เตียง

มอบให้กับทางโรงพยาบาลสมุทรปราการ เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือไปยังผู้ป่วยติดเชื้อที่พักรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลสมุทรปราการ  ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งจังหวัดสมุทรปราการพบว่ามีตัวเลขสถิติสำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีตัวเลขที่สูงขึ้น และติดลำดับหนึ่งในสามของประเทศ ส่งผลทำให้ทางโรงพยาบาลสนามมีเตียงไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยที่มีเป็นจำนวนมาก 

โดยที่ผ่านมา นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ติดเชื้อ  และผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลแห่งนี้ อีกทั้งยังได้ให้การสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นไว้สำหรับใช้ในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาโดยตลอด

โดยในการส่งมอบเตียงผู้ป่วย จำนวน 100 เตียง ในวันนี้มีนายแพทย์ นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ เป็นผู้รับมอบ พร้อมด้วยนายแพทย์ ปฏิวัติ วงศ์งาม รองผู้อำนวยการ และนายแพทย์นิสิต ศรีสมบูรณ์  ร่วมกันรับมอบเตียงผู้ป่วย

ด้านนายแพทย์ นำพล แดนพิพัฒน์ เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลสนาม ของเรามีจำนวน 2 แห่ง ซึ่งเราเรียกว่าโรงพยาบาลสนาม 1 และโรงพยาบาลสนาม 2 ซึ่งโรงพยาบาลสนาม 1 ของเรานั้น เป็นห้องแอร์เล็ก ๆ และมีเตียง 2 ชั้น ที่สามารถนอนได้ 4 คน แต่ขณะเดียวกันปรากฏว่าจำนวนคนไข้นั้น  มีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งตอนนี้ทางโรงพยาบาลสนามของเรามีคนไข้ที่นอนพักรักษาตัวมากถึง 680 ราย 

เพราะฉะนั้น ทางโรงพยาบาลสนามเราจึงมีความต้องการอยากจะได้เตียง 2 ชั้น เพื่อที่จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้เยอะขึ้น  ทางโรงพยาบาลสนามเราจึงได้ขอความร่วมมือไปยังนางสาว นันทิดา แก้วบัวสาย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อขอให้ช่วยสนับสนุนจัดหาเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วย อีกทั้งเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน และในวันนี้ทางโรงพยาบาลสมุทรปราการของเราทราบว่านาย ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่พักรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ โดยใช้เงินส่วนตัวสนับสนุนจัดซื้อเตียงผู้ป่วย 2  ชั้น จำนวน 100 เตียง  มอบให้กับทางโรงพยาบาลสมุทรปราการ เพื่อนำไปใช้รองรับผู้ป่วย


ภาพ/ข่าว  คิว-ข่าวสมุทรปราการ รายงาน

ขอนแก่น - นักท่องเที่ยวแห่ชม "เจ้าทองคำ" จระเข้แสนซน สุดแสนน่ารักตะมุตะมิ ที่เลี้ยงไว้ภายในวัดดังขอนแก่น ขณะที่ทางวัดติดป้ายเตือนระวังนักท่องเที่ยว เพื่อความปลอดภัยในการเที่ยวชมอย่างเข้มงวด

เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 13 มิ.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่วัดอุดมคงคาคีรีเขต ดอนแก่นเท้า ต.นางาม อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์แบบนี้ มีพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากราบไหว้และทำบุญที่วัดแห่งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางมาตรการคุมเข้มจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด ซึ่งไฮไลท์และจุดที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจอย่างมากคือ "เจ้าทองคำ” จระเข้แสนซนสุดเชื่อที่พระในวัดเลี้ยงไว้ภายในสระของวัด โดยมีคณะกรรมการวัดและพระสงฆ์ยืนอยู่ริมสระ เพื่อให้อาหารและกำชับให้นักท่องเที่ยวชมความซนของเจ้าทองคำในจุดที่กำหนดไว้เพื่อความปลอดภัย

ขณะที่เหล่าบรรดานักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมและทำบุญที่วัดต่างพากันให้อาหารเจ้ทองคำ ด้วยการใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ 2 เมตร พร้อมทั้งตะโกนเรียกชื่อให้มากินอาหาร ซึ่งไม่นานเจ้าทองคำก็จะมุดน้ำโผล่ขึ้นกินไก่สด ที่เสียบติดกับปลายไม้ไว้  สร้างความตื่นเต้นให้นักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

พระลุน กันตะธัมโม พระลูกวัดวัดอุดมคงคาคีรีเขต กล่าวว่า เจ้าทองคำอาศัยอยู่ภายในสระของวัดมานานกว่า 10 ปี โดยมีญาติโยมนำมาถวาย ภายหลังจากจระเข้ตัวเก่าชื่อเจ้าบอดที่หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต พระชั้นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียง เลี้ยงไว้ได้ตายลง ซึ่งเจ้าทองคำนั้น สามารถสื่อสาร กับพระลูกวัดซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยง ที่สามารถสัมผัสตัวและลูบที่หัวเจ้าทองคำได้อย่างคุ้นเคย สร้างความประหลาดแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทำบุญและเข้ามาสักการะรูปเหมือนหลวงปู่ผาง อย่างมาก

"มาช่วงสถานการณ์โควิดพบว่ามีพุทธศาสนิกชนเข้ามาน้อยลงมาก แต่ยังคงมีแวะเวียนมาไม่ขาดสาย แม้ว่าเมื่อ 2 -3 ปีก่อนพระลูกวัดที่คุ้นเคยและคอยให้อาหารเจ้าทองคำจะย้ายไปจำพรรษาที่วัดอื่น แต่ทางวัดทั้งพระและญาติโดยมยังคงเลี้ยงและดูแลโดยนำอาหารโยนให้จระเข้ทุกวัน พร้อมกับคอยเตือนนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวังอย่าเข้าใกล้สระน้ำมากเพื่อความปลอดภัย"

ขอนแก่น - ส.ส.อีสาน พปชร. พร้อมรับ “ลุงป้อม” ประชุมใหญ่ พปชร.ที่ขอนแก่น “เอกราช” ระบุยังไม่มีวาระใดสอดแทรกทุกอย่างยังเป็นปกติ ปมขัดแย้งภายในไม่มี และใครที่ไม่ได้รับหนังสือเชิญประชุมไม่มีสิทธิ์นับองค์ประชุมและเข้าห้องประชุมเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยจากสถานกา

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 13 มิ.ย.2564  ที่ศูนย์ประสานงานพรรคพลังประชารัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งตั้งอยู่ ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ถ.ศรีจันทร์ เขตเทศบาลนครขอนแก่น นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พร้อมด้วย นายวัฒนา  ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ และนายเจริญ แซ่เต็ง ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมคณะทำงานพรรคพลังประชารัฐในพื้นที่ในการเตรียมการตามขั้นตอนต่าง ๆ และความพร้อมในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ซึ่งพรรคพลังประชารัฐได้กำหนดจัดการประชุมในวันที่ 18 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.ขอนแก่น หรือ ไคซ์ โดยจะมีคณะกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคเดินทางเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ขณะนี้การเตรียมการในระดับพื้นที่ทั้งสถานที่การประชุม สถานที่รองรับสมาชิกพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค ที่จะทยอยเดินทางเข้ามาในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.นั้นในภาพรวมเรียบร้อยแล้ว ตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด ซึ่งคณะทำงานได้ประสานงานร่วมกันกับคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ และ สำนักงานสาธารณสุข ในการปฎิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด โดยจำกัดผู้เข้าร่วมประชุม350 คน ดังนั้นสมาชิกพรรคท่านใด ที่ไม่ได้หนังสือเชิญประชุมจากหัวหน้าพรรคฯโดยตรง จะไม่มีสิทธิ์และสามารถเข้าห้องปรดชุมที่กำหนดไว้ได้ ตามมาตรฐานคามปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด และที่สำคัญคือจะไม่มีสิทธิ์นับองค์ประชุมหรือลงมติใดๆได้ แต่ก็ได้มีการจัดสถานที่รับรองและพักคอยไว้ในจุดที่กำหนด โดยจะมีการถ่ายทอดสดมาให้กับผู้ที่มาในสถานที่ประชุมแต่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมได้ติดตามการประชุมของพรรคตามวาระในภาพรวมทั้งหมด

“ ในการประชุมดังกล่าวนี้นั้นสมาชิกพรรค ทั้ง 350 ท่านที่ได้รับหนังสือเชิญประชุม จะลงทะเบียนตามรายชื่อที่กำหนดในการประชุมใหญ่สามัญพรรคพลังประชารัฐประจำปีครั้งที่ 1/2564 ตั้งแต่เวลา 08.00-10.00 น. โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดคอยตรวจคัดกรองและดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ขณะที่การประชุมจะดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่เวลา 10.00-15.00 น. จากนั้นทุกคนจะเดินทางกลับทันที โดยไม่มีการลงพื้นที่หรือปฎิบัติภารกิจใดๆในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งขณะนี้การประชุมนั้นยังคงเป็นไปตามระเบียบวาระที่กำหนด โดยเฉพาะกับการแถลงนโยบายในภาพรวมของพรรค และวาระต่าง ๆ ที่จะเสนอจากสมาชิกที่จะเข้าร่วมประชุม”

นายเอกราช กล่าวต่ออีกว่า สำหรับวาระที่จะนำเสนอที่ประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ภายในกรรมการบริหารพรรคนั้นขณะนี้ยังคงไม่มี โดยวาระการประชุมวันนี้ยังคงเป็นไปตามวาระเดิมที่พรรคกำหนด แต่หากจะมีสมาชิกท่านใดเสนอเรื่องเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมได้รับทราบและดำเนินการตามระเบียบและข้อบังคับนั้นสามารถที่จะกระทำได้ขึ้นอยู่กับกรมการบริหารพรรค ซึ่งโดยส่วนตัวนั้นไม่ได้เป็นกรรมกีบริหารพรรคไม่สามารถที่จะออกความเห็นหรือตัดสินใจใด ๆ ได้ ต้องขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ภายในพรรคเท่านั้น และขอยืนยันว่าพรรคไม่มีปัญหาขัดแย้งใด ๆ ทุกคนตั้งใจทำงานเพื่อประเทศและประชาชน และหากมีการเสนอเปลี่ยนเลขาธิการพรรค บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนั้นจะต้องมีคุณสมบัติที่เหนือกว่าและมากว่าเลขาธิการพรรคคนปัจจุบัน ซึ่ง กลุ่ม ส.ส.อีสานของพรรคพลังประชารัฐ พร้อมที่จะเข้าร่วมประชุมพรรคในครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียงและครบทุกคน

พิจิตร – กรมชลประทาน ทุ่มงบ 580 ล้านบาท สร้างประตูระบายน้ำ ในแม่น้ำยมพื้นที่พิจิตร

กรมชลประทานให้สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่3 นำงบ 580 ล้านบาท ลงมือสร้างประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้างในแม่น้ำยมเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร เริ่มลงมือแล้วคาดแล้วเสร็จปี67มั่นใจช่วยชาวนาลุ่มน้ำยมเกือบ 3 หมื่นไร่ ให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ โครงการนี้มีการจ้างแรงงานชาวบ้านนับร้อยคนในท้องถิ่นทำให้มีรายได้มีงานทำในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโควิดอีกด้วย

วันที่ 14 มิ.ย. 2564 นายเสกโสม เสริมศรี ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นายพิรัฐภัช พานทอง หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 พาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ดูความคืบหน้าของการก่อสร้างประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้างที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 580 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างที่อยู่ในแผนปี64-67 ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำยม พิกัด  ต.ไผ่ท่าโพ  อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ซึ่งเมื่อสร้างแล้วเสร็จประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้างแห่งนี้ จะสามารถกักเก็บน้ำไว้ในแม่น้ำยมได้ประมาณ 5.10 ล้านลูกบาสก์เมตร  (ห้าล้านหนึ่งแสนลูกบาศก์เมตร) ระยะกักเก็บน้ำ 19.20 กิโลเมตร พื้นที่รับประโยชน์ครอบคลุม 3 ตำบล 2 อำเภอ ได้แก่ ต.วังจิก  ต. ไผ่ท่าโพ อ.โพธิ์ประทับช้าง , ต.บางลาย อ. บึงนานาง ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 28,863  ไร่

สำหรับการก่อสร้างที่เห็นในภาพเป็นการก่อสร้างเขื่อนกันแนวตลิ่งบริเวณหน้าวัดประดาทอง ซึ่งอยู่ตอนท้ายของ ปตร.โพธิ์ประทับช้าง โดยการก่อสร้างครั้งนี้มีการแจ้งงานที่เป็นชาวบ้านและคนในท้องถิ่น จำนวนนับร้อยคนที่สลับสับเปลี่ยนกันมาทำงานวันละ 40-50 คน ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านให้มีงานทำในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโควิด รวมถึงช่วงนี้นาข้าวของเกษตรกรก็ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงอีกทั้งน้ำในแม่น้ำยมก็ยังแห้งขอดทำให้เกษตรกรต้องหาอาชีพเสริมด้วยการมาเป็นคนงานก่อสร้างของโครงการดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านที่มาเป็นคนงานก่อสร้างภายในโครงการก็มีมาตรการป้องกันโควิดโดยทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยรวมถึงต้องเอากระติกน้ำหรือน้ำดื่มมาดื่มกินเป็นของส่วนตัวห้ามใช้ภาชนะหรือแก้วน้ำร่วมกัน จึงทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น

การก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำยมขณะนี้กรมชลประทานก็กำลังสร้างพร้อม ๆ กันถึง 4 แห่ง คือที่ ปตร.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ถัดลงมาก็คือ ปตร.ท่าแห ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม , ปตร.วังจิก ต.โพธิ์ประทับช้าง และ ปตร.โพธิ์ประทับช้าง ต.ไผ่ท่าโพ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ซึ่งคาดว่าทั้ง 4 แห่ง จะแล้วเสร็จตามแผนในราวปี 2567 ซึ่งจะทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำยมของ จ.พิษณุโลก – จ.พิจิตร จะมีน้ำให้นาข้าวนับแสนไร่ได้มีน้ำทำนาอย่างอุดมสมบูรณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้เกษตรกรต่างขอบคุณรัฐบาลและกรมชลประทานที่ดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำทั้ง 4 แห่งดังกล่าว

 


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

 

กาฬสินธุ์ – ผู้ปกครองยังไม่กล้าส่งลูกมาเรียน !! เปิดเทอมวันแรก เข้มมาตรการโควิด-19

บรรยากาศเปิดเทอมวันแรก หลังกระทรวงศึกษาธิการประกาศดีเดย์พร้อมกัน 14 มิถุนายน ทั่วประเทศ หลายโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์  ยังคงเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยตั้งจุดคัดกรอง แบ่งเลขที่คู่-เลขคี่ สลับวันมาเรียน ขณะที่ยังมีผู้ปกครองบางส่วน ยังไม่กล้าส่งบุตรหลานมาโรงเรียน เนื่องจากยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ของโรคโควิด-19

เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งหลายโรงเรียนยังคงยึดมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทั้งการตั้งจุดคัดกรอง ให้ครูตรวจวัดอุณหภูมิเด็กนักเรียน และผู้ปกครอง บริเวณทางเข้า พร้อมทั้งให้สวมหน้ากากทุกคน ทั้งนี้หลายโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีนักเรียนจำนวนมาก ได้แบ่งนักเรียนออกเป็น 2 ชุด โดยแยกเลขที่คี่และเลขที่คู่อย่างละครึ่ง สลับวันกันมาเรียน เพื่อลดความแออัด

ทั้งนี้ ในภาพรวมยังมีผู้ปกครองบางส่วน ที่ยังไม่กล้าส่งบุตรหลานมาเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอนุบาล และเด็กประถม เนื่องจากยังห่วงเรื่องการติดโรคโควิด-19 เพราะยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ และเด็กยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ทำให้บรรยากาศเปิดเทอมวันแรกนี้ มีนักเรียนค่อนข้างบางตา ส่วนผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานมาเรียนนั้น หลายคนมีความจำเป็นที่จะต้องส่งมาเรียน แต่ก็ได้มีการป้องกันตนเองเพื่อลดความเสี่ยง โดยห่อข้าว ห่อน้ำเป็นส่วนตัวมาเป็นอาหารกลางวัน ส่วนการเดินทางทั้งรถตู้และรถโดยสารนั้น บางคันยังพบว่ามีการนั่งเบียดกันมาด้วย อย่างไรก็ตาม ในการคัดกรองหลังรถรับส่งนักเรียนและผู้ปกครองมาส่งบุตรหลานนั้น มีคณะครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาดูแลความเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกเท่านั้น

ด้านนายสมพงษ์ หมายเทียนกลาง อายุ 65 ปี บ้านเลขที่ 61 หมู่ 1 บ้านท่าอุดม ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในส่วนของการเปิดเทอมในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้น โดยส่วนตัวยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยนัก เนื่องจากในพื้นที่และจังหวัดต่าง ๆ ยังพบผู้ติดเชื้อเป็นรายวัน ทั้งรายบุคคลและกลุ่มก้อน อย่างไรก็ตาม จากการติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาของทางจังหวัดอย่างเข้มข้นตลอดมา ซึ่งค่อนข้างเป็นที่พอใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ให้คลี่คลายไปได้ ส่วนที่เป็นกังวลบ้างก็ตรงที่เปิดภาคเรียนให้เด็กมาโรงเรียน เนื่องจากจะเกิดความแออัดและมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อโควิด-19

นายสมพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวันนี้ซึ่งเป็นวันเปิดเทอมวันแรก ตนให้หลานขึ้นรถตู้ซึ่งเหมารายเดือนมาโรงเรียน ทั้งนี้ก่อนตัดสินใจให้หลานนั่งรถตู้มาโรงเรียนดังกล่าว ก็ได้ตรวจสอบประวัติรถตู้คันดังกล่าวแล้วว่าอยู่ในพื้นที่  ไม่ได้เดินทางมาจากจุดเสี่ยง มีอุปกรณ์ป้องกันโควิดอย่างครบถ้วน และเด็กนักเรียนที่นั่งมาในรถไม่แออัด เพราะมีการจำกัดจำนวนผู้โดยสาร ตามมาตรการรักษาระยะห่าง เพื่อความมั่นใจในมาตรการรักษาความปลอดภัยของทางโรงเรียน ตนจึงเดินทางมาสังเกตการณ์  และอยากสอบถามทางโรงเรียนว่าจะให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง ซึ่งหลังจากได้เห็นมีการคัดกรองเด็ก และผู้ปกครองอย่างเข้มข้นแล้วก็อุ่นใจ ว่าบุตรหลานและเด็กนักเรียนจะปลอดภัยจากโควิด-19 ในช่วงเปิดเทอมนี้


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล

อุทัยธานี – นักเรียนเฮ !! เปิดเทอมวันแรก พบไอเดียเจ๋ง ด่านประตูเครื่องวัดอุณภูมิอัตโนมัติ ได้ตัวเดียวครบขั้นตอน เสริมความรู้กับโรคโควิด-19

เมื่อเวลา 07.00 น. ของวันที่ 14 มิ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังโรงเรียนลานสักวิทยา ต.ลานสัก อ.ลานสัก ไปพบกับไอเดียเจ๋งของคุณครู ด้วยตู้เครื่องวัดอุณภูมิอัตโนมัติ ได้ตัวเดียวครบขั้นตอน ด้วยการล้างมือเจลแอลกอฮอล์ และสแกนคิวอาร์โค้ดด้วยมือถือเพื่อเสริมความรู้ด้านโรคโควิด ได้ทั้งหมดในตัวเดียวกัน และยังช่วยตรวจได้อย่างรวดเร็ด โดยไม่ต้องมีคนมายืนเฝ้าที่เครื่อง โดยโรงเรียนลานสักวิทยา ได้ประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อใช้ในการคัดกรองนักเรียนก่อนเข้าโรงเรียน เพื่อนักเรียน และคณะครู และผู้ที่ผ่านไปผ่านมาอยากจะเข้าพบปะติดต่อกับราชการทางโรงเรียน

โดยนายภาณุพงศ์ มั่นพรม ผู้อำนวยการโรงเรียนลานสักวิทยา พร้อมครูและบุคลากรจำนวน 54 คน รวมนักเรียนจำนวน 779 คน ส่วนบรรยากาศภายในโรงเรียน ได้มีการเปิดภาคเรียนเป็นวันแรก โรงเรียนลานสักวิทยา ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยให้กับนักเรียนและบุคลากรทางโรงเรียน ผู้ปกครอง ก่อนเปิดภาคเรียนทางโรงเรียนก็ได้เตรียมความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ปกครองเพื่อความมั่นใจกับทางโรงเรียน ทั้งนี้ทางโรงเรียนลานสักได้มีรูปแบบการเรียนแบบผสมผสาน 2 รูปแบบ คือการเรียนแบบออนไซต์ และออนไลน์ ในช่วงป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอีกโรงเรียนที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองและสร้างความปลอดภัยให้กับนักเรียน โดยผ่านประตูเครื่องวัดอุณภูมิแบบอัตโนมัติ รวมถึงล้างมือเจล และสแกนมือถือยิงคิวอาร์โค้ดแสดงวิธีการปฏิบัติและเพิ่มความรู้ให้กับนักเรียนเกี่ยวกับโรคโควิด-19 โดยผ่านเครื่องการ์ด ไม่ตก ชกตลอด เครื่องเดียวได้ครบขั้นตอน


ภาพ/ข่าว  ภาวิณี ศรีอนันต์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top