Sunday, 18 May 2025
Region

ชลบุรี - กระทบหนัก ร้านเสริมความงาม ร้านสัก ร้านอินเทอร์เน็ต กว่า 50 คน พบ ผวจ.ชลบุรี ขอผ่อนผันเปิดกิจการ หลังหนี้สินล้น จากพิษโควิด

เจ้าของกิจการสถานเสริมความงาม ร้านอินเตอร์เน็ต ร้านสักผิวหนัง ประมาณ 50 คน ทนไม่ไหว หลังโดนปิดมานานกว่า 7 เดือน ในการระบาดแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 รวม 3 ครั้ง โดนทวงหนี้ค่าเช่าและหนี้สินล้น เดินทางเข้าขอพบผู้ว่าราชการ จ.ชลบุรี ขอผ่อนผันให้เปิดกิจการ โดยยอมทำตามมาตรการของ ศคบ.ทุกอย่าง

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 14 มิ.ย. 64 ที่หน้าศาลากลาง จ.ชลบุรี น.ส.ณัฐวรันทร์ ศรีประไหม อายุ 34 ปี เจ้าของสถานเสริมความงามแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี พร้อมเจ้าของร้านอื่น มีทั้งเจ้าของร้านอินเทอร์เน็ตและร้านรับสักผิวหนัง ในภาคตะวันออก ประมาณ 50 คน ได้นัดรวมตัวกันเดินทางเข้าพบนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผวจ.ชลบุรี เพื่อยื่นหนังสือขอผ่อนผันให้เปิดบริการ หลังโดนสั่งปิดกิจการ 3 ครั้ง รวมกว่า 7 เดือน

ต่อมานายนริศ นิรามัยวงค์ รอง ผวจ.ชลบุรี ได้เดินทางลงมารับมอบหนังสือจากตัวแทน และให้ตัวแทนรวม 6 คน เข้าพูดคุยในห้องประชุมศาลากลาง จ.ชลบุรี โดยในหนังสือมีข้อความว่า “เรียน ท่านผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จังหวัดชลบุรี สิ่งที่แนบมาด้วยมาตรการแนวทางในการ ปฏิบัติตามเงื่อนไข การป้องกันโรคระบาด เนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบกับปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสไคโรน่า 2019 จึงส่งผลให้กิจการต่าง ๆ ภายในประเทศ ต้องหยุดกิจการลง เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส รวมไปถึงกิจการคลินิกเสริมความงาม ที่หยุดกิจการตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 2 เดือนแล้ว ซึ่งรวม 3 ครั้ง ปิดไปประมาณ 7 เดือน ทำให้ผู้ประกอบการคลินิกได้รับผลกระทบ จากรายจ่ายของกิจการที่ยังคงดำเนินอยู่ อาทิ ค่าเช่าสถานที่เปิดร้าน ด่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าจ้างพนักงานเฝ้าร้านที่ให้ช่วยสอดส่องคูแลทรัพย์สินภายในร้าน ในช่วงที่ปิดกิจการ ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการเล็งเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศดีขึ้น

โดยพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในโรงงานและแคมป์แรงงานต่างด้าว ไม่มีการระบาดเป็นวงกว้างในชุมชนปกติทั่วไป รวมถึงห้างสรรพสินค้า ดังนั้น ข้าพเจ้ากลุ่มผู้ประกอบการผู้ให้บริการคลินิกเสริมความงาม (คลินิกเวชกรรม) จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่าน เพื่อพิจารณาอนุญาตให้ร้านเปิดคำเนินกิจการ โดยกลุ่มผู้ประกอบการได้จัดทำมาตรการ ในการให้บริการภายในร้านดังนี้

ผู้ให้บริการคลินิกเสริมความงาม (คลินิกเวชกรรม)

1.พนักงานประจำร้านสวมหน้ากากอนามัย และ Face Shicd ตลอดเวลาที่ทำงานภายในร้าน และมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้เข้าใช้บริการทุกท่าน

2.จัดทำ QR Code ของไทยชนะ เพื่อให้ลูกค้าลงทะเบียนเข้าใช้บริการ

3.มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือตามจุดต่าง ๆ ภายในร้าน

4.จำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ เพื่อให้มีระยะห่างอย่างเหมาะสม (Social distancing) อย่างน้อย 3 ตารางเมตรเมตรต่อ 1 คนและผู้ใช้บริการ 1 คนต่อ 1 เครื่องเท่านั้น

5.จัดเก็บข้อมูลถูกค้าที่เข้าใช้บริการ ชื่อ-นามสุกล / วัน-เวลาเข้าใช้บริการ และเบอร์โทรศัพท์

6.ทำความสะอาดเครื่องมือทันที และทุกครั้งหลังถูกค้าใช้บริการเสร็จสิ้น หรือทุก 2 ชั่วโมง โดยทำความสะอาดตามจุดสัมผัสต่าง ๆ ภายในร้าน เช่น อุปกรณ์ต่าง ๆ เดียง โต๊ะ เก้าอี้ ที่มีการสัมผัส มือจับประตู ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและดวบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ในสถานประกอบการ ร้านเกม/อินเทอร์เน็ต

1.การเว้นระยะห่างเปิดให้บริการแบบเครื่องเว้นเครื่องและทำฉากกั้นที่มั่นคงแข็งแรงโดยมีความสูงไม่น้อยกว่า 50 ซม.และให้บริการลูกไม่เกิน 50% ของจำนวนเครื่องที่ให้บริการ (ร้านขนาดเล็กให้บริการได้ไม่เกิน 10 คน ,ขนาดกลางและขนาดใหญ่ให้บริการได้ไม่เกิน 25 คน)

2.พนักงานและผู้เข้าใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม ตลอดเวลาที่ใช้บริการ งดการมีปฏิสัมพันธ์ งดผู้ชม ใช้บริการได้เฉพาะผู้เข้าใช้คอมพิวเตอร์เท่านั้น

3.มีการตรวจวัดอุณหภูมิตัดกรอง สแกนไทยชนะ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าใช้บริการ งดให้บริการผู้ที่มีอาการไข้ไอจาม หอบเหนื่อย หรือเป็นหวัด และในระหว่างให้บริการ พนักงานต้องคอยหมั่นสังเกตและสอดส่องอย่างเคร่งครัด หากพบลูกค้ามีอาการไองามสามารถแจ้งให้หยุดใช้บริการได้ทันที

4.ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่เพียงพอ

5.มีแบบฟอร์มบันทึกการเข้าใช้บริการและแบบสอบถามการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง (โดยทางร้านมีการติดตามข้อมูลรายละเอียดพื้นที่เสี่ยงจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีทุกวัน)

6.ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อประตูทางเข้าออก ประตูห้องน้ำ ทำความสะอาดทุก 1 ชั่วโมง อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั้งหมดรวมไปถึงโต๊ะเก้าอี้เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุก 2 ชั่วโมง และทุกครั้งหลังลูกค้าเลิกใช้บริการ ถูพื้นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อวันละ 2-3 ครั้งทำความสะอาดห้องน้ำด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำทุก 1 ชั่วโมง

7.เปิดประตูเพื่อระบายอากาศทุก 2 ชั่วโมง (เป็นเวลา 10-15 นาที) และทำความสะอาด เครื่องปรับอากาศ แผ่นกรองอากาศให้ได้อย่างสม่ำเสมอ

8.หลีกลี่ยงการสัมผัสเงินโดยตรงโดยใช้ภาชนะเพื่อรับเงินหรือการใช้ e-payment

9.หากผู้ประกอบการ หรือพนักงานให้บริการ หรือผู้เกี่ยวข้องมีอาการไข้หรือเป็นหวัด ให้หยุดงานและ ไปพบแพทย์โดยทันที และ

10.กำชับบุคคลที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการค้านสาธารณสุข D-M-H-T-T

นายวุฒิพงษ์ หมื่นจำนงค์ อายุ 44 ปี กิจการร้านอินเตอร์เน็ต เผยว่า วอนท่านผู้ว่าได้ทบทวนคำสั่งเพื่อช่วยเหลือพวกเราด้วย เราพร้อมที่จะทำตามคำสั่งขอให้เปิดบริการได้ เพราะเราไม่ไหวแล้วจริง ๆ

น.ส.ศุภนิจ ก๊กรัมย์ อายุ 40 ปี เจ้าของสถานเสริมความงาม เผยว่า อยากให้ท่านผู้ว่าทบทวนคำสั่งใหม่ ขนาดท่านนายกฯยังยอมผ่อนผันในบางแห่งเลย ธุรกิจต้องดำเนินต่อไป เรามาครั้งนี้เพราะทนไม่ไหวแล้ว ปิดนานแต่เรามีรายจ่าย ทุกวันทุกเดือน เพราะต้องจ้างคนดูแลร้าน ส่วนลูกน้องนั้นก็จะโดนยึดหมดแล้วทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เขาปิดเราแต่ไม่มีการเยียวยาใด ๆ เลย เจ้าของธุรกิจเขาก็ต้องดูแลน้อง ๆ เขา แต่ว่ามาถึงจุดตอแนนี้ก็ดูแลไม่ไหวแล้วเหมือนกันจึงมาของอนุเคราะห์ผ่อนผันให้เปิดได้ด้วยนายนริศ นิรามัยวงค์ รอง ผวจ.ชลบุรี เปิดเผยว่า ก็จะนำหนังสือไปมอบให้ท่านผู้ว่าฯ เพื่อนำเข้าที่ประชุม ศคบ.ชลบุรี ในวันพฤหัสนี้ เพื่อขอผ่อนผันให้เปิดต่อไป ซึ่งก็เห็นใจทุกฝ่าย คาดว่าทางคณะที่ประชุม ศคบ.ชลบุรี ก็คงพิจารณาอีกครั้ง    


ภาพ/ข่าว  นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

สงขลา - แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดกิจกรรม "น้ำคือชีวิต (วันคลองภูมี)" ตามโครงการ สร้างจิตสำนึก เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ คืนความอุดมสมบูรณ์ อีกครั้ง

ที่ หาดปากบางภูมี ตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4  บินสำรวจตรวจคลองภูมี พร้อมเป็นประธานเปิดกิจกรรม “น้ำคือชีวิต (วันคลองภูมี)” ตามโครงการ สร้างจิตสำนึก เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกของประชาชนให้ตระหนักถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพของคลองภูมี ภายหลังถูกขบวนการดูดทรายเถื่อนลักลอบทำลายอย่างหนักในห้วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้ร่วมปล่อยกุ้ง ปล่อยปลาลงสู่คลองภูมี พร้อมกับ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และพี่น้องประชาชน

โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวชื่นชมกิจกรรมในวันนี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และอื่น ๆ ซึ่งความเสื่อมโทรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยคลองภูมีเปรียบเสมือนเส้นเลือดหลักในการดำรงชีพของประชาชนในพื้นที่ เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค แหล่งอาศัย และที่ทำกิน แต่ในปัจจุบันปัญหาการรุกล้ำพื้นที่คลองภูมี ส่งผลให้ทรัพยากรน้ำเกิดปัญหามากมาย  ขอขอบคุณภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ที่ได้ร่วมรณรงค์ ให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันอนุรักษ์คลองภูมี สร้างเสริมองค์ความรู้ และจิตสำนึกของประชาชนให้ตระหนักถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพของแม่น้ำลำคลอง ให้เกิดความรัก และหวงแหนมากยิ่งขึ้น และขอเป็นกำลังใจให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง เอาชนะปัญหาต่าง ๆ ไปได้ ซึ่งหากเราร่วมมือสมัครสมาน สามัคคีกันก็จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้คลองภูมีแห่งนี้ที่เป็นเส้นเลือดหลักในการดำรงชีวิตของประชาชนพื้นที่ต่อไป ทางกองทัพบกพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแล และช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังความสามารถ กองทัพบกเป็นของพี่น้องประชาชน เป็นกำลังใจให้กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นกำลังใจให้ประชาชนจังหวัดสงขลา เพื่อให้คลองภูมีกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มีภารกิจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางการพัฒนา เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งด้าน ทรัพยากรป่าไม้ ด้านทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรทางทะเล พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ตลอดจนเฝ้าระวังการทำลาย สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้มีการกำหนดให้ปล่อยพันธุ์ สัตว์น้ำ กุ้งก้ามกราม จำนวน 3 ล้านตัว ลงสู่คลองภูมี เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนและเป็นการ เพิ่มขยายพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่คลองภูมี และทะเลสาบสงขลาต่อไป


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์  

ปทุมธานี – บิ๊กแจ๊ส เข้าคิวลงทะเบียนจองวัคซีนซีโนฟาร์ม เพื่อคนปทุมธานี

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เวลา 07:00 น. พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ได้เดินทางมาจองวัคซีนตัวเลือกซีโนฟาร์มที่สถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร หลังจากที่สถาบันเปิดให้หน่วยงานต่างได้เปิดจองในวันนี้เป็นวันแรก โดยมีพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี หลังจากที่ได้ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ของสถานับราชวิทยาลัยฯเรียบร้อยแล้ว แต่ที่เดินทางมาด้วยตนเองเพื่อปรึกษา ท่านพลอากาศตรี นายแพทย์ สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อนำข้อมูลกลับไปเตรียมความพร้อมในการจัดสถานที่ฉีดวัคซีนให้ชาวปทุมธานี ส่วนบรรยากาศที่สถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีประชาชนมารอเข้าคิวรับการฉีดวัคซีนแอสตราฯเข็มที่สอง

โดยมีคุณบรู๊ค ดนุพร และคุณกบ สุวนันท์ สองดารานักแสดงชื่อดัง ได้มารอคิวรับการฉีดวัคซีนเข็มที่สองจากสถาบันฯด้วย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า เนื่องจากวันนี้ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้เปิดให้หน่วยงานต่างได้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอรับจัดสรรวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ผ่านระบบออนไลน์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผมจึงได้เดินทางมาพร้อมกับท่านรองปลัดของ อบจ.ปทุมธานี และท่านชาตรี ศรีสันต์ หัวหน้าสำนักงานสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย โดยสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยมีท่านสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ซึ่งวันนี้เราได้เดินทางมาจองในภาพรวมของจังหวัดปทุมธานี โดยอบจ.ปทุมธานีได้จองวัคซีนจำนวน 500,000 โดส พร้อมกับ อบต. เทศบาลต่าง ๆ ที่รวมจองเข้ามาด้วย ในส่วนจอง อบจ.ในจังหวัดอื่น จะมีประธานนายก อบจ. เผยแพร่ข้อมมูลทางไลน์ให้จองพร้อมกัน

เบื้องต้นทราบว่ามีจำนวน 20 จังหวัดแล้ว ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ให้รีบเข้าไลน์จองได้เลยตอนนี้ โดยมีท่านชาตรี ศรีสันต์ หัวหน้าสำนักงานสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย เป็นผู้ประสานงานทั้งหมด ในวันนี้ได้รับความสะดวกจาก พลอากาศตรี นายแพทย์ สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ในส่วนของอบจ.ปทุมธานีจะต้องกลับไปเตรียมสถานที่ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ซึ่งโรงพยาบาลที่จะรับการฉีดวัคซีนต้องเป็นโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานียังไม่ปลอดภัย เป็นพื้นที่สีแดงอยู่ และมีผู้ติดเชื้ออยู่ 1 ใน 7 ของประเทศ รวมถึงมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อง ส่วนยอดผู้ติดเชื้อทั้งประเทศมีจำนวนมากถึง 2,000-3,000 คน รวมถึงก็ยังมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 อยู่ แต่ไม่อยากให้พี่น้องประชาชนประมาท ได้ฉีดวัคซีนทั้งจากภาครัฐและวัคซีนทางเลือก คาดว่าจะประชาชนจะได้ฉีดอย่างทั่วถึงที่สุด และเราจะผ่านวิกฤติโควิด-19 นี้ไปด้วยกัน ในส่วนของการจัดสรรในการฉีดวัคซีนนั้น ผมคงจะเรียนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ว่าในเน้นไปที่บุคคลากรทางการศึกษาก่อน จากนั้นเป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ผู้ที่ขับรถโดยสารส่งนักเรียน คนขับรถรับส่งสาธารณะ รวมถึงพี่น้อง อสม. ที่เป็นด่านหน้าต้องได้รับการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงและเร็ว


ภาพ/ข่าว  ประภาพรรณ ขาวขำ

เชียงราย – นักรบบนหลังม้า หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 นำม้าลาดตระเวนสกัดกั้นผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองพร้อมสิ่งผิดกฎหมายตามแนวชายแดน

เมื่อวันที่14 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ตามที่ พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ได้มีนโยบายให้กำลังพล ที่ปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเฝ้าตรวจ ตามแนวชายแดน ได้มีการผ่อนคลายจากการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว

ดังนั้น พลตรี นฤทธิ์ ถาวรวงษ์ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง จึงได้สั่งการให้ พันเอก สัมฤทธิ์ ฉัตรวัฒนาสกุล ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 นำม้า เพื่อใช้เป็นพาหนะเพิ่มระยะทางและระยะเวลา ในการปฏิบัติภารกิจการลาดตระเวน ตามแนวชายแดน แทนการเดินเท้า เพื่อให้กำลังพลลดความเหนื่อยล้า และได้ผ่อนคลาย จากการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมงและ ให้มีการผลัดเปลี่ยนกำลังพล ในการสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฏหมายตามแนวชายแดนพร้อม การสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ ในพื้นที่ตามแนวชายแดน ของ จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ยังได้สร้างความสัมพันธ์กับประชาชน ในพื้นที่ ด้วยการแจกหน้ากากอนามัย ให้กับประชาชน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด – 19)

ทั้งนี้ ในห้วงเดือน พฤษภาคม ถึงเดือน มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่3กองกำลังผาเมืองสามารถสกัดกั้นผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จำนวน 4 ครั้ง ผู้ต้องหา จำนวน 14 คน การผลักดัน จำนวน 7 ครั้ง ผู้ต้องหา จำนวน 16 คน และจะยังคงเพิ่มความเข้มข้น ในการปฏิบัติการสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวดต่อไป


ภาพ/ข่าว  สันติ วงศ์สุนันท์ / ผู้สื่อข่าวเชียงราย

พังงา – เกิน 100 แล้ว !! คลัสเตอร์แพปลาคุระบุรียังน่าห่วง เตรียมย้ายผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลสนาม และจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มยอดผู้ป่วยรวม 102 ราย

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 14 มิถุนายน 2564 นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พร้อมด้วย น.อ.อภิชาติ วรรณอมร รอง ผอ.กอ.รมน.พังงา นายชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงา นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่โรงเรียนอนุบาลบ้านเด็ก ซึ่งได้จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในคลัสเตอร์แพปลาคุระบุรี ที่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยจะย้ายผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการเล็กน้อย เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งจะทำการย้ายผู้ป่วยชุดแรกเป็นแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงรวม 18 ราย ในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ ขณะที่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก แบบ Rapid Antigen Test ให้กับประชาชนทุกคนในเขตพื้นที่บ้านหินลาด หมู่ 3 ตำบลคุระ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พร้อมกันนี้ได้เข้าดูสถานที่เตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมที่โรงเรียนโชคอำนวยและโรงเรียนบ้านกลางประชาสรรค์ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ถุกยุบแล้วไม่มีการใช้ประโยชน์

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา กล่าวว่า จากสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ในคลัสเตอร์แพปลาคุระบุรี ได้ส่งสัญญานที่ไม่ดี ในการแพร่ระบาดที่มีเป็นจำนวนมากทั้งกลุ่มลูกเรือและกลุ่มแรงงานบนแพปลา ซึ่งจากการตรวจเชิงรุกยังพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ทางจังหวัดพังงาจึงต้องจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม เพื่อรองรับกับจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่พบทุกวัน ทำให้ทางโรงพยาบาลปกติไม่สามารถรองรับได้ เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้โรงพยาบาลสนามก็ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะมีระบบการรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดีโดยเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พร้อมกันนี้ทางสาธารณสุขจังหวัดพังงาก็ได้วางระบบการจัดการป้องกันเชื้อโควิด-19 ไว้เป็นอย่างดี

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 วันนี้พบผู้ป่วยใหม่ 5 ราย เป็นแรงงานต่างด้าว 4 ราย ชายไทย 1 ราย อยู่ในคลัสเตอร์แพปลาคุระบุรี ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมในคลัสเตอร์นี้รวม 33 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวในกิจการประมง ส่วนยอดผู้ป่วยสะสมในระลอกใหม่ของจังหวัดพังงารวม 102 ราย  


ภาพ/ข่าว  อโนทัย งานดี

สตูล - มอบถุงยังชีพเครื่องอุปโภค - บริโภค ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลตำมะลัง กว่า 600 ครัวเรือน

นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วยนายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายก อบจ.สตูล นายยาลา ใบกาเด็ม นายอำเภอเมืองสตูล พันจ่าเอกสาคร สิทธิศักดิ์ ท้องถิ่นจังหวัดสตูล นายชัยนันท์ หลงสาม๊ะ นายก อบต.ตำมะลัง ร่วมมอบถุงยังชีพเครื่องอุปโภค - บริโภค เพื่อการดำรงชีพต่อครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อน หรือได้รับผลกระทบจากมาตรการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มัสยิดบ้านตำมะลังใต้ และบ้านตำมะลังเหนือ ต.ตำมะลัง อ.เมืองสตูล รวม 673 ครัวเรือน โดยบรรยากาศมีประชาชนมารอรับถุงยังชีพจำนวนมาก ซึ่งด้านหน้ามีการตรวจวัดไข้ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ มีการจัดให้ประชาชนมารอรับถุงยังชีพนั่งกันอย่างเป็นระเบียบตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 อย่างเคร่งครัด

นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวพบปะประชาชนที่เข้ารับมอบถุงยังชีพในครั้งนี้ ว่า การมอบถุงยังชีพฯในครั้งนี้เป็นความห่วงใยประชาชนในสถานการณ์โควิด -19 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศและจังหวัดสตูล พบจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมและผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จังหวัดสตูลโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ได้มีคำสั่งให้ปิดสถานที่และห้ามดำเนินกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคติดต่อ ส่งผลให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยได้รับความเดือดร้อน และประสบภาวะยากลำบากในการดำรงชีพ

โดยมติของ ศบค.จังหวัดสตูล ได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ดังนั้น ทางองค์การบริหารส่วนตำบลตำมะลัง ได้ประสานคณะกรรมการชุมชน จัดเก็บข้อมูลและรับรองรายชื่อผู้ประสบปัญหาที่ได้รับผลกระทบรวม 673 ครอบครัว ซึ่งแบ่งเป็นถุงยังชีพที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล จำนวน 336 ชุด และองค์การบริหารส่วนตำบลตำมะลังสนันสนุนอีกจำนวน 337 ชุด ภายในถุงยังชีพประกอบด้วย ข้าวสาร ขนาด 5 กก. จำนวน 1 ถุง , ปลากระป๋อง จำนวน 6 กระป๋อง , น้ำปลา ขนาด 700 ซีซี จำนวน 2 ขวด , น้ำมัน ขนาด 1,000 ซีซี จำนวน 2 ขวด , น้ำตาลทราย ขนาด 1 กก. จำนวน 1 ถุง , และมาม่าอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนในเบื้องต้น


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล / ปชส.สตูล

กระบี่ - เกษตรกระบี่ ลุยตรวจสวนทุเรียน ห้ามตัดทุเรียนอ่อนขาย คาดโทษหนัก จำ-ปรับ

วันที่ 15 มิ.ย.64 นายชูศักดิ์ วณิชวัฒนกุล หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบการตัดทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ของเกษตรกรในพื้นที่ ต.เขาเขน และปลายพระยา จ.กระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง มากที่สุดของจังหวัด เพื่อแนะนำและให้ความรู้แก่ชาวสวนทุเรียน ในการตัดทุเรียนคุณภาพออกขาย หลังพบว่าชาวสวนทุเรียนเริ่มทะยอยตัดผลทุเรียนออกจำหน่าย เบื้องต้นยังไม่พบผู้กระทำผิด

นายชูศักดิ์ วณิชวัฒนกุล หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ในช่วงนี้จนถึงเดือน ก.ย.จะเป็นช่วงที่ทุเรียนของ จ.กระบี่ ออกสู่ตลาด ประกอบกับกรมส่งเสริการเกษตร ได้สั่งคุมเข้มเรื่องคุณภาพมาตรฐานของทุเรียน ห้ามมีการนำทุเรียนอ่อนมาจำหน่ายโดยเด็ดขาด เนื่องจากชาวสวนบางคน เร่งตัดทุเรียนอ่อนออกขาย เพื่อหวังทำกำไร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนทั้งในและต่างประเทศ เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อทุเรียนไทยในสายตาผู้บริโภค และอาจส่งผลทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเมื่อถูกกดราคาจากผู้รับซื้อ

สำหรับในพื้นที่ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกทุเรียนมากที่สุดอยู่ในพื้นที่ ต.เขาเขน และต.ปลายพระยา มีเนื้อที่ปลูกกว่า 1,600 กว่าไร่ ให้ผลผลิต แล้ว 816 ไร่ จำนวน 398 ตัน มูลค่า กว่า 50 ล้านบาทในส่วนผลผลิตทุเรียนทั้งจังหวัดในพื้นที่จังหวัดกระบี่ มีไม่ต่ำกว่า 1,457 ตัน ให้ผลผลิตแล้ว 3,269ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งหมด 4,978 ไร่ สำหรับราคาจำหน่ายคาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2563 โดยราคาขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 – 140 บาท ซึ่งประเทศจีนยังเป็นตลาดส่งออกหลัก มีปริมาณความต้องการมาก คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนราว 204 ล้านบาทเศษ

ขอฝากไปยังผู้บริโภคหากพบเห็นการซื้อขายทุเรียนอ่อนด้อยคุณภาพ สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือศูนย์ดำรงธรรมแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีบทลงโทษผู้กระทำผิด จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่นายสมสมเกียรติ โกฎิกุล อ.58 ปี ประธานแปลงทุเรียน อ.ปลายพระยา กล่าวว่า การตัดทุเรียนอ่อนไปขายเหมือนกับตัดไปทิ้ง เชื่อว่าชาวสวนไม่ทำอย่างแน่นอน แต่ปัญหาที่พบทุเรียนอ่อนขายอยู่ตามท้องตลาด เกิดจากพ่อค้าคนกลางมารับซื้อแล้วฝืนตัดทุเรียนไป เพื่อให้ได้ตามใบสั่ง โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ เมื่อมีการเข้มงวดทำให้ทุเรียนอ่อนไม่สามารถส่งออกได้ ถูกคัดแยกออกมาจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาด และเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ แต่เชื่อว่าจากมาตรการที่เข้มงวดของรัฐก็จะทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป


ภาพ/ข่าว  ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง

กาฬสินธุ์ – ผู้ปกครองและกลุ่มประชาชนทั่วไปในจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวค และแอสตราเซเนกาเข็มแรก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และสร้างความมั่นใจปลอดภัยจากโรคโควิด-19

เมื่อเวลา 10.30 น.ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา หน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า) นายแพทย์ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เข้าให้กำลังใจผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ทั้งในส่วนข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พ่อค้า ประชาชน ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซเนกา โดยมีบุคลากร แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข คอยอำนวยความสะดวก ทั้งนี้ ทุกคนต่างสวมหน้ากาก 100%  มีการตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิร่างกาย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นายแพทย์ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในส่วนของการให้บริการฉีดวัคซีนในวันนี้ เป็นในรอบของกลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งรวมไปถึงข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พ่อค้า ประชาชน โดยเฉพาะผู้ปกครองนักเรียน ที่เริ่มเปิดภาคเรียน ที่ได้ลงทะเบียนขอจองฉีดวัคซีน ตามช่องทางแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม และลงทะเบียนกับโรงพยาบาล สำหรับการฉีดวัคซีนในรอบวันนี้ ได้ให้บริการฉีดวัคซีนทั้งซิโนแวคสำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไป  และแอสตราเซเนกา ในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว 7 โรค จำนวน 500 ราย ซึ่งเป็นเข็มแรกของรอบนี้ อย่างไรก็ตาม นอกจากวันนี้ให้บริการฉีดในภาคเช้าและภาคบ่ายแล้ว ในวันพรุ่งนี้ยังจะจัดให้มีการฉีดวัคซีนอีกกลุ่มเป้าหมายจำนวน 600 คน

นายแพทย์ประมวลกล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนไว้ และยังรอการรับการฉีดวัคซีน ขอให้ใจเย็น ๆ รอไปสักระยะ หากได้รับการจัดสรรวัคซีนมาอีก ก็จะแจ้งให้มารับบริการฉีดวัคซีนทันที เพราะวัคซีนยังจะมีมาเรื่อยๆ และผู้ที่ลงทะเบียนไว้ก็จะได้รับการฉีดวัคซีนครบทุกคน ดังนั้น หากได้รับการแจ้งกำหนดนัดหมาย ขอความร่วมมือมาฉีดโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ป้องกันโควิด-19 ทั้งนี้ ขอให้ความมั่นใจว่าหลังจากการฉีดวัคซีนแล้ว ไม่มีผลข้างเคียงหรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ปกครองที่บุตรหลานเพิ่งเปิดเทอมใหม่ ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีความกังวลอยู่มาก เนื่องจากประชาชนทั่วไป รวมทั้งบุคลากรครู นักเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกันเลย  ทำให้รู้สึกว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงตลอด แม้ว่าจะปฏิบัติตนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด แต่การดำเนินชีวิตก็เต็มไปด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากมีผู้ป่วยได้รับเชื้อเป็นรายวัน ซึ่งหลังจากเข้ารับการฉีดวัคซีน จึงรู้สึกอบอุ่นและมั่นใจมากขึ้น

สำหรับ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมวัคซีนทั้งหมด 45,160 โดส ฉีดให้บุคลากรการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และผู้ประกอบอาชีพเสี่ยงไปแล้ว 32,785 โด๊ส คิดเป็นร้อยละ 72.59 ของวัคซีนที่ได้รับจัดสรร ส่วนวัคซีนที่เหลืออยู่ระหว่างการนัดหมายและจัดฉีดเพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตามประชาชนชาวกาฬสินธุ์ ผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถลงทะเบียนขอรับสิทธิ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในวาระแห่งชาติ "ฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" ผ่านอสม./รพ.สต./โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือผ่าน Platform “กาฬสินธุ์พร้อม” และตรวจสอบคิวนัดหมายและประวัติการได้รับวัคซีนผ่าน Application “หมอพร้อม”

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุดวันนี้ยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่ม โดยมีผู้ติดเชื้อสะสม 136 ราย  รักษาหายป่วยแล้วสะสม 109 ราย ยังคงรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 23 ราย และเสียชีวิตสะสม 4 ราย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

ยะลา - ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แก่บุคลากรด่านหน้า ทั้ง AstraZeneca และ Sinovac ไร้อาการข้างเคียง

ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ บุคลากรทางการแพทย์ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า อสม. ผู้นำชุมชน ที่มีความเสี่ยงมีทั้ง AstraZeneca และ Sinovac ไร้อาการข้างเคียง

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ที่ ห้องประชุมภู่พัฒน์ โรงพยาบาลเบตง  จังหวัดยะลา นายแพทย์สวรรค์ กาญจนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบตง มาคอยให้บริการแก่บุคลากรด่านหน้า ทั้ง บุคลากรทางการแพทย์  ข้าราชการตำรวจ ทหาร  เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า อสม. ผู้นำชุมชน ที่มีความเสี่ยงในการให้บริการแก่ประชาชนมารับวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 2

บรรยากาศเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีป้ายบอกจุดให้บริการอย่างชัดเจน มีเก้าอี้เว้นระยะห่าง มีน้ำดื่มให้บริการ และมีเจ้าหน้าที่มาคอยให้คำแนะนำทุกจุด ทำให้การฉีดวัคซีนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมี นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง มาเยี่ยมให้กำลังใจบุลากรและผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 2 ด้วย

นพ.สวรรค์ กาญจนะ ผอ.รพ.เบตง เปิดเผยว่า วันนี้ตั้งแต่เช้าประชาชนทยอยมาฉีดกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนมาภายในอาทิตย์นี้ คาดว่าจะฉีดวัคซีนได้ 1,997 คน เป็น AstraZeneca  1,523 คน  Sinovac 475 คน สำหรับวันนี้ เป้าหมายตั้งไว้ 413 คน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่ม และกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 นอนักรักษาตัวอยู่ใน รพ.อยู่ 36 คน ซึ่งทั้งหมด มีอาหารดีขึ้นตามลำดับ และปลอดภัยดี ขณะเดียวกันได้ลงพื้นที่หาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงใน หมู่บ้านอัยเยอร์เวงไปแล้วทั้งหมด 751 คน ทั้งผู้ป่วยเสี่ยงสูงและความเสี่ยงต่ำ พบทั้งสิ้น 34 รายและได้นำมารักษาพยาบาลที่ รพ เบตงทุกราย เพื่อชาวเบตงปลอดภัยมีภูมิคุ้มกันหมู่ นพ.สวรรค์ กาญจนะ ผอ.รพ.เบตง กล่าว

สำหรับวันนี้ฉีดวัคซีน AstraZeneca และ Sinovac แก่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ อสม. ผู้นำชุมชน ที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในพื้นที่ อำเภอเบตง เข็มที่ 2 จำนวน 413 คน และกลุ่มบุคคล อายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง สำหรับผู้ที่จองลงทะเบียนผ่าน Line และ App หมอพร้อม และมีการลงนัดเรียบร้อยแล้วจะได้รับการฉีดวัคซีนเป็นชุดแรกตามนโยบายของรัฐบาล และตามคิวการจอง เพื่อให้ได้รับการฉีดวัคซีนเร็วขึ้น

ส่วนผู้ที่จองลงทะเบียนผ่านช่องทางอื่น ๆ จะได้รับนัดกำหนดฉีดวัคซีนเป็นลำดับถัดไป ซึ่งทางทีมสาธารณสุขฯ จะติดต่อแจ้งให้ทราบเป็นลำดับต่อไป หากผู้ที่จองลงทะเบียนผ่าน Line และ App หมอพร้อม แล้วระบบแจ้งยกเลิกนั้น ไม่ต้องไปจองลงทะเบียนใหม่ เพราะข้อมูลของท่านอยู่ที่ทีมสาธารณสุขฯ แล้ว ขอให้รอการรับแจ้งนัดจากทีมสาธารณสุขฯ เพื่อเข้ารับการฉีดวัดซีนในรอบต่อไป


ภาพ/ข่าว  ธานินทร์  โพธิทัพพะ / ปื๊ด เบตง

แม่ฮ่องสอน - นพค.36 ส่งมอบโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบนำหลักทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์สู่ “ โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนในชุมชน

นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ,นายปฐมพงษ์ จันทร์สว่าง พัฒนาการจังหวัดแม่ฮ่องสอน รับมอบบ่อกักเก็บน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" ของนายประเสริฐ จันทร์โอภาส บ้านกลาง หมู่ 7 ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการปรับพื้นที่และขุดบ่อกักเก็บน้ำ สำหรับแปลงพื้นที่ของนายประเสริฐ จันทร์โอภาส เป็นแปลง CLM พื้นที่ขนาด 15 ไร่ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ กับกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการปรับพื้นที่โดยหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 และขุดบ่อกักเก็บน้ำจำนวน 5 บ่อ และขุดคลองไส้ไก่เพื่อนำน้ำไปใช้ในพื้นที่ ซึ่งเมื่อได้ดำเนินการปรับพื้นที่แล้วจะได้มีการเอามื้อสามัคคีในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป

นายปฐมพงษ์ จันทร์สว่าง พัฒนาการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า โครงการโคก หนอง นา โมเดล โดยพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เข้าดำเนินการในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้ง 7 อำเภอ  25 ตำบล 103 หมู่บ้าน แบ่งเป็นขนาดพื้นที่ 1 ไร่ 3 ไร่ จำนวน 99 แปลง และพื้นที่ 10 ไร่ขึ้นไป จำนวน 4 แปลง ซึ่งพื้นที่ของหมู่บ้านกลาง ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ที่รับมอบจาก นพค.36 ดังกล่าว เป็นของนายประเสริฐฯ มีพื้นที่จำนวน 15 ไร่ และขุดบ่อเก็บน้ำ 5 บ่อ สำหรับแปลงนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 2 คือการปรับพื้นที่ หลังจากปรับพื้นที่เสร็จก็จะจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ 9 ฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดใกล้เคียงในการศึกษาเรียนรู้โครงการ “ โคก หนองนา โมเดล”

หลังจากจัดทำศูนย์เรียนรู้เสร็จ จะนำหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นำศาสตร์พระราชา มาประยุกต์สู่ “โคก หนองนา โมเดล” ในการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนบ่อกักเก็บน้ำที่ขุด จำนวน 5 บ่อ นอกจากจะเลี้ยงปลาแล้ว น้ำในบ่อก็จะใช้ในการทำการเกษตรของโครงการและเกิดความชุ่มชื้นในพื้นที่ มีแปลงนา มีการปลูกป่า 5 ระดับ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ไปจนถึงการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ เป็น สุกร อย่างเป็นรูปธรรมและสร้างรายได้ให้ประชาชนในชุมชนอย่างยั้งยืน


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top