Thursday, 15 May 2025
Region

นนทบุรี – กรมพลาธิการทหารบก ส่งมอบโรงพยาบาลสนามให้แก่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ 2 อาคาร 200 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว

วันนี้ ( 5 พ.ค.64)เวลา 10.00 น. ที่ กองยกกระบัตร กรมพลาธิการทหารบก อำเภอเมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี พลโท กิตติชัย วงศ์หาญ  เจ้ากรมพลาธิการทหารบก พร้อมคณะนายทหาร ส่งมอบมอบโรงพยาบาลสนามให้แก่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะจำนวน 2 อาคาร 200 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว โดยมี พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ พร้อมคณะแพทย์และพยาบาลร่วมรับมอบโรงพยาบาลสนามดังกล่าว 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมา กองทัพบกได้ตระหนักถึงความสำคัญและเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการเตรียมพื้นที่ในการช่วยเหลือประชาชนสนับสนุนหน่วยงานราชการต่าง ๆ และกระทรวงสาธารณสุข จึงมอบหมายให้กรมพลาธิการทหารบก จัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคนา 2019 (COVID -19) กรณีเกินขีดความสามารถในการรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลหลัก และได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารกองคลังยกกระบัตร กรมพลาธิการทหารบกเป็น โรงพยาบาลสนาม ประกอบด้วยอาคาร 2 อาคาร การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขนาด 200 เตียง ณ กองยกกระบัตร กรมพลาธิการทหารบก ในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและ รองรับผู้ป่วยกรณีโรงพยาบาลหลักเกินขีดความสามารถที่จะดูแลผู้ป่วยได้ทั้งหมด โดยรับผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาและสังเกตอาการจากโรงพยาบาล กรณีอาการไม่รุนแรง(กลุ่มสีเขียว) ให้มาพักรักษาและติดตามอาการต่อเนื่อง จนกว่าผลตรวจจะเป็นลบหรือไม่พบเชื้อแล้ว แต่หากพบว่ามีอาการหนักขึ้น ก็จะถูกส่งตัวกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลหลักทันที

นอกจากนี้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้สนับสนุนนำเทคโนโลยี 5G และนวัตกรรมต่าง ๆ เข้าไปสนับสนุนการทำงาน การเว้นระยะห่างของการทำงานของแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ฯ ( Social distancing ) เพื่อช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกระดับให้การทำงานของทีมแพทย์ และบุคลากรต่าง ๆ ไร้อุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ด้วย

ชลบุรี - ผบ.ทร.ประชุม นขต.ทร.ผ่านระบบ VTC รับมือ CIVID -19 ด้านโฆษกกองทัพเรือ เปิดตัวรายการ "กองทัพเรือ ร่วมใจต้านภัย COVID -19" สร้างการรับรู้แก่กำลังพล

วันนี้ (3 พฤษภาคม 2564 )  พลเรือเอก ชาติชาย  ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้จัดให้มีการประชุมหัวหน้าหน่วยขึ้นตรง กองทัพเรือ (นขต.ทร.)ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Tele Conference : VTC) ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

โดยมีหัวข้อการประชุมที่สำคัญคือ การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาด ของ COVID -19 ในส่วนของกองทัพเรือ ตลอดจนการ จัดเตรียมสถานที่เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม ในการสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข  นอกจากนั้นแล้วผู้บัญชาการทหารเรือ ยังได้เน้นย้ำให้หน่วยต่างๆของกองทัพเรือ สร้างการรับรู้ให้แก่กำลังพล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID - 19 ซึ่งก่อนการประชุมผู้บัญชาการทหารเรือได้ เยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ของโรงพยาบาล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทน เสียสละ อย่างเต็มกำลังความสามารถ ในช่วงเวลาวิกฤตของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส CIVID - 19

ในขณะที่ พลเรือเอก เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ  เปิดเผยว่า  วันนี้ เป็นวันแรกที่จะมีการนำเสนอรายการ “กองทัพเรือร่วมใจต้านภัย COVID-19” เป็นตอนแรก ในเวลา 15.00 น.ผ่าน Facebook Fanpage : กองทัพเรือร่วมใจต้านภัย COVID-19  และ Social Media ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการสร้างการรับรู้ในการรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ให้กับกำลังพลของกองทัพเรือ ภายใต้ศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน covid-19 กองทัพเรือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ด้วยความร่วมมือจากสำนักงานโฆษกกองทัพเรือ และคณะกรรมการจัดทำสารคดีและสื่อโทรทัศน์ กองทัพเรือ ซึ่งจะนำเสนอเป็นประจำทุกสัปดาห์

 ในตอนแรก แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ โฆษกพิเศษกองทัพเรือ และ หมอพลอย แพทย์จีน ปรียาดา บัวสมบุญ ผู้ช่วยโฆษกกองทัพเรือ ทำหน้าที่เป็นพิธีกร

สำหรับรายการ “กองทัพเรือร่วมใจต้านภัย COVID-19” มีรูปแบบรายการเล่าข่าว ความยาวประมาณ 10 -15 นาที โดยมีเนื้อหาที่สำคัญ ประกอบด้วย

 - ข้อมูลจากกรมแพทย์ทหารเรือ และศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน COVID-19 กองทัพเรือ/ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ในการสร้างความเข้าใจในมาตรการ ข้อกำหนดในการปฏิบัติของกำลังพลกองทัพเรือ เพื่อเป็นแนวทางเดียวกัน

 - ข่าวกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในกองทัพเรือ หรือที่เกี่ยวข้อง

 - การสร้างการตระหนักรู้ และบทสัมภาษณ์พิเศษต่าง ๆ

 - สุดท้ายคือการร่วมสร้างกำลังใจให้แก่กำลังพลบุคลากรทางการแพทย์ของกองทัพเรือ

รายการ "กองทัพเรือ ร่วมใจต้านภัย COVID - 18" อำนวยการผลิตโดย พลเรือเอก เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ และพลเรือโท ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ โดยได้มือผลิตสารคดีคุณภาพของกองทัพเรือ นาวาเอก สุวิทย์ จันทร์เพ็ญศรี รองผู้อำนวยการสำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ (Producer) หรือผู้ควบคุมการผลิต เพื่อให้รายการที่ผลิตในครั้งนี้มีคุณภาพ โดยใช้ศักยภาพของบุคลากรของกองทัพเรืออย่างเต็มที่และเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นการสร้างเสริมความรู้ความสามารถให้กับทีมงานด้านนี้ ของกองทัพเรืออีกด้วย

และนี่คืออีกหนึ่งความตั้งใจของกองทัพเรือ ที่ต้องการให้กำลังพลทุกระดับมีความรู้ความเข้าใจ มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้แนวทาง “พลังสามัคคี พลังราชนาวี” ที่ พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือได้มอบไว้ เพื่อพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามของชาติในครั้งนี้


ภาพ/ข่าว กองประชาสัมพันธ์ / สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี

ยะลา – เบตง เพิ่มความเข้มหวั่นคนไทยลักลอบเข้าเมืองก่อนเทศกาล ‘ฮารีราย’ นำไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ แอฟริกาใต้ เข้าตามแนวชายแดน

นายอำเภอเบตงสั่งวางกำลัง บูรณาการหลายฝ่าย สกัดกั้น โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ แอฟริกาใต้ หลังมาเลเซียพบยอดติดสูง  บูรณาการร่วมหน่วยกำลังตรวจเข้มช่องทางธรรมชาติ ด้านชายแดนอำเภอเบตง จังหวัดยะลา หวั่นลักลอบเข้าเมืองก่อนเทศกาลฮารีรายอในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้

วันที่ 4 พ.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา ได้ออกคำสั่งให้ทุกฝ่าย ทหารชุดเฝ้าตรวจชายแดนที่ 4  ตำรวจ สภ.เบตง  ฝ่ายปกครอง ตรวจคนเข้าเมือง  ตชด.445 ชุดเฝ้าตรวจ 4405 และ 4406  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน วางมาตรการ จัดกำลังวางแผน บูรณาการร่วมออกลาดตระเวน เฝ้าระวังหมู่บ้านติดชายแดนมาเลเซียเพื่อป้องกัน กลุ่มคนไทยที่ทำงานในประเทศมาเลเซียที่ยังหลบซ่อนตัวอยู่ตามแนวชายแดนลักลอบเข้ามาแบบผิดกฎหมาย ตามช่องทางธรรมชาติ รอยต่อประเทศมาเลเซีย ในช่วงก่อนเทศกาล‘ฮารีราย’ ในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ ทังนี้เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สายพันธุ์ใหม่คือสายพันธุ์ แอฟริกาใต้ โดยเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มความเข้มงวด ความถี่ ขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ในเขตเทศบาลเมืองเบตงเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เบตงได้ออกประกาศขอความร่วมมือประชาชนงดออกภายนอกเคหะสถานช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น. เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยได้เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ 1-18 พ.ค.2564

ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ต่างให้ความร่วมมือในการคัดกรองตามจุดต่าง ๆ ในเขตเทศบาลและที่ตลาดสดเทศบาลเมืองเบตงได้มีการตั้งจุดคัดกรองลงทะเบียนไทยชนะ เพื่อการติดตามหากมีการพบผู้มีอาการและกำหนดให้มีทางเข้า – ออก ตลาดเพียง 2 ช่องทางเพื่อป้องกันการแออัด และเป็นการเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ขณะที่บรรยากาศย่านการค้า ซึ่งถือว่าเป็นย่านการค้าที่เป็นแหล่งรวบรวมสินค้าที่จำหน่ายนักท่องเที่ยว ต่างปิดตัวลงชั่วคราว  โดยตั้งแต่มีการระบาดของโควิดระลอก 3 ซึ่งที่ผ่านมาอำเภอเบตงที่ไม่เคยมีการติดเชื้อในระลอก 1 และ 2 ปรากฏว่าในระลอกที่ 3 มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตด้วย ทำให้บรรยากาศเงียบเหงาไร้นักท่องเที่ยว ทำให้หลายร้านโดยเฉพาะผู้ค้ารายย่อยที่เป็นร้านค้าขนาดเล็กหาเช้ากินค่ำ ต้องปิดกิจการชั่วคราวทิ้งไว้แต่ร้านร้างว่างเปล่าลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ป่วยยืนยัน 13 ราย กำลังรักษา 6 ราย เสียชีวิต 1 ราย รักษาหายกลับบ้าน 5 ราย ส่งต่อ 1 ราย และการคัดกรองเชิงรุกกลุ่มเสี่ยง โดยกลุ่มเสี่ยงสูง 180 ราย กลุ่มเสี่ยงต่ำ 135 ราย รอผลเสี่ยงต่ำ 2 ราย


ภาพ/ข่าว  ธานินทร์  โพธิทัพพะ / ปื้ดเบตง

ลพบุรี – ทหารกองพันจู่โจม บริจาคโลหิตเพื่อชาติในวันฉัตรมงคล

กองพันจู่โจมรักษาพระองค์ ค่ายเอราวัณ นำกำลังพลจิตอาสา กว่า 100 นาย บริจาคโลหิต ตามโครงการ “ กองทัพบก บริจาคโลหิต จิตอาสาเพื่อชาติ ” เพื่อเป็นโลหิตสำรอง ซึ่งอยู่ใน ภาวะขาดแคลนโลหิต เนื่องในวัน “ ฉัตรมงคล ” ประจำปี 2564

พันโท มงคล ปุริสา ผู้บังคับกองพันจู่โจมรักษาพระองค์  กรมรบพิเศษที่ 3 รักษาพระองค์ นำกำลังพลจิตอาสาพระราชทาน “ เราทำความดี ด้วยหัวใจ ” และกำลังพลของหน่วย ซึ่งได้ผ่านคัดกรองจากหน่วยแล้วว่าเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างการแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เป็นผู้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ โควิด-19 จำนวน 103 นาย เข้าร่วมบริจาคโลหิต ตามโครงการ  “ กองทัพบก บริจาคโลหิต จิตอาสาเพื่อชาติ ” ณ อาคารเอนกประสงค์ประภูชะเนย์ กองพันจู่โจมรักษาพระองค์ ค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี  เพื่อส่งต่อโลหิตที่ปลอดภัย ตามมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้กับสภากาชาดไทย สำหรับใช้เป็นโลหิตสำรองให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งอยู่ใน ภาวะขาดแคลนโลหิต ตลอดจน เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความรู้รักสามัคคี และความเสียสละ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย เนื่องในวันฉัตรมงคล ประจำปี 2564

โดยมี ทีมแพทย์ พยาบาล จากสำนักงานภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 2 จังหวัดลพบุรี มาคอยอำนวยความสะดวกในการตรวจคักกรอง และให้บริการรับบริจาคโลหิตจากกำลังพล โดยมีการตรวจคัดกรองซักประวัติผู้เข้าร่วมบริจาคโลหิต มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย พร้อมกำหนดการเว้นระยะห่างระหว่างกำลังพลที่มารอบริจาคโลหิต “Social Distancing” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริจาคโลหิตทุกคน และเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ต้องรับโลหิตจากการรักษาพยาบาล       

ทั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่ง ในการร่วมแก้ปัญหาภาวะโลหิตขาดแคลน จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID -19 ระลอกใหม่ ตามนโยบายของกองทัพบก โดยมีโลหิตที่ได้ จำนวน 91 ยูนิต รวม 36,400 ซีซี โดยโลหิตที่ได้จะถูกนำไปใช้เป็นโลหิตสำรองให้กับธนาคารเลือด สำหรับใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี และจังหวัดใกล้เคียงในโอกาสต่อไป


ภาพ/ข่าว  กฤษณ์  สนใจ

ปราจีนบุรี – ชาวบ้านหลบโควิด เข้าป่าหาเห็ดยูคาขายสร้างรายได้

ชาวบ้าน ในพื้นที่ อำเภอกบินทร์บุรี พากันเข้าป่าหาเก็บเห็ดยูคาลิปตัส หรือเห็ดขมขายสร้างตายได้ช่วงโควิด – 19 ระบาด เป็นรายได้เสริมดีกว่าอยู่บ้านเฉย ๆ

ชาวบ้าน ต.นนทรี และ ต.ย่านรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ใช้เวลาว่างจากสถานการณ์ โควิด -19 ระบาด ออกหาเก็บเห็ดยูคาลิปตัส หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเห็ดขม ซึ่งจะขึ้นในพื้นที่ป่ายูคาลิปตัส เท่านั้น  ลักษณะของเห็ดยูคา หรือเห็ดขม จะเป็นเห็ดที่ขึ้นกระจายไปตามที่ชื้นในร่องป่ายูคา ลักษณะที่สังเกตุคือ เห็ดยูคาจะขึ้นกระจายไปตามพื้นที่ มีก้านขาวอมน้ำตาลนวลอวบใหญ่ มีฝาหรือ ดอกเหมือนร่มแต่ขอบมักจะเผยอขึ้นเล็กน้อยดอกใหญ่สุดจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 4 นิ้วฟุต ส่วนใหญ่จะพบกอหนึ่ง 4 ดอก มากสุด 5 ดอก รสชาติออกขม ก่อนรับประทานชาวบ้านจะลดความขมด้วยการนำเห็นมาต้มหรือนึ่งให้ขมลดลงก่อนนำไปปรุงอาหาร ซึ่งสามารถทำได้หลายเมนู ทั้งยำ ต้มยำ แกง หรือแล้วแต่ว่าใครจะนำไปปรุงอาหารชนิดใดก็ตามใจชอบ

โดยปีหนึ่งจะมีเพียงครั้งเดียว จึงเป็นที่นิยมของผู้ที่ชอบรับประทาน โดยเฉพาะในช่วงต่อฤดูร้อนกับฤดูฝนที่จะเข้ามาแทนอากาศร้อนชื้นทำให้เห็ดขม ออกเป็นจำนวนมาก และจะหมดในราวกลางเดือนพฤษภาคม สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในช่วงที่ ไวรัสโควิดระบาดได้คนละไม่น้อยกว่า 300 บาท ต่อวันซึ่งก็สามารถช่วยเสริมรายได้เป็นอย่างดี โดยจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ในราคา กก.ละ 60 บาท สำหรับเห็ดที่นึ่งบรรจุถุงเรียบร้อย และ ในราคา 50 บาท ในราคาเห็ดสดคนหนึ่งจะหาเก็บเห็ดได้มากถึงคนละ 15 – 20 กก.ทุกวันจึงเห็นชาวบ้านรวมกลุ่มทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็กออกหาเก็บเห็ดขมมาขายสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว ทั้งนำมาทำอาหารกินเองและขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อถึงที่

ยายบุญมี อุตตะบุตร ยายอุไร จันทร์คำมี ยายหลุนสี นายกอง กล่าวว่า ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส โควิด-19 ชาวบ้านทุกคนกลัวการแพร่ระบาดโรควิด-19 ทุกคนทราบว่ามีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประชาชนตามชนบทหวาดกลัวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่กล้าออกจากบ้านไปไหนจึงหาทางที่ได้เงินมาจุนเจือครอบครัวก็ต้องเอา พากันออกหาเก็บเห็ดทุกวันมาประกอบอาหารในครัวเรือนด้วยดีกว่าอยู่บ้านเฉย ๆ ออกหาเก็บเห็ดพอมีรายได้วันละ 300-500 ก็ยังดีแม้ไม่มีรายได้ที่แน่นอนแต่ก็ได้เงินทุกวันพอเป็นค่ากับข้าว


ภาพ/ข่าว  ณัฐวัฒน์ กุลเศรษฐ์สุวภา ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรี

สตูล - ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสตูล ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) การลักลอบหลบหนีเข้าเมือง และการกระทำผิดกฎหมาย

ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสตูล บูรณาการกำลังกับศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดสตูล,สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล,ตำรวจน้ำสตูล, ด่านศุลกากรสตูล และ ชุดปฏิบัติการพิเศษ ทัพเรือภาคที่ 3 จัดเรือพร้อมกำลังพลออกลาดตระเวน เฝ้าตรวจพื้นที่ทางทะเลจาก ท่าเรือตำมะลังเกาะยาวแนวน่านน้ำรอยต่อทางทะเลไทย - มาเลเซีย  โดยเฝ้าตรวจเรือทุกลำที่มีทิศทางจากมาเลเซีย เรือโดยสาร เรือประมง เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ และเรือที่มีพฤติกรรมต้องสงสัย และสำรวจพื้นที่จุดล่อแหลมในการใช้กระทำความผิด     

               

ทั้งนี้ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสตูล บูรณาการกำลังกับศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดสตูล ,ตำรวจน้ำสตูลหน่วยปฏิบัติการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 452 หน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ เกาะหลีเป๊ะ ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจังหวัดสตูล และ หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเกาะหลีเป๊ะ (สตูล) จัดเรือออกลาดตระเวนเฝ้าตรวจพื้นที่ทางทะเลจาก ท่าเรือปากบาราเกาะตะรุเตา โดยทำการตรวจ เรือประมง เรือโดยสารท่องเที่ยว เรือท่องเที่ยว เรือขนถ่ายสินค้า และเรือที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยและสถานีเรดาร์เกาะปูยู หน่วยปฏิบัติการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 452 ตรวจการณ์ด้วยเรดาร์และกล้องสองตา หน่วยปฏิบัติการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 491 ตรวจการณ์ด้วยกล้องสองตาและทางทัศนะ


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

สุราษฎร์ธานี - ลำเลียงอุปกรณ์ทางการแพทย์เต็มลำ เฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำไปส่งต่อ สนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคของทางจังหวัด

วันที่ 3 พฤษภาคม 2564  พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 สั่งการด่วน ให้เจ้าหน้าที่ทหารลำเลียงอุปกรณ์ทางการแพทย์ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำไปส่งต่อให้กับจังหวัด ที่มีความต้องการอุปกรณ์เพื่อใช้ในการป้องกันและควบคุมโรค และนำไปแจกจ่ายให้กับบุคลากรเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ยังโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมไปถึงโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ ตลอดจนพี่น้องประชาชนในพื้นที่กลุ่มเสี่ยงได้ใช้ในการป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19

ที่โถงชั้นล่างศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ส่งมอบอุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ให้กับ นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบไปด้วยหน้ากากอนามัย N 95 จำนวน 100 ชิ้น ชุด PPE จำนวน 100 ชุด แว่นตาป้องกันโรค จำนวน 100 อัน เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ และถุงมือยาง อีกจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์รวมไปถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่กลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 และโรงพยาบาลสนามที่ยังคงขาดแคลนอุปกรณ์ในการใช้ป้องกันตนเอง เนื่องจากเล็งเห็นว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีผู้ติดเชื้อแพร่กระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีผู้ป่วยสะสม 822 ราย อุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมโรคไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ

พลโทเกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า "จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในปัจจุบัน รัฐบาล โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมไปถึง พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้เล็งเห็นความสำคัญในการให้กองทัพบก เข้าไปช่วยเหลือสนับสนุน อำนวยความสะดวกให้แก่ หน่วยงานและส่วนราชการต่าง ๆ รองรับภารกิจในการควบคุมโรค รวมไปถึงการรักษา ขณะนี้กองทัพบกเองได้เข้าไปสนับสนุนทั้งบุคลากรและยุทโธปกรณ์ในการสร้างโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ทางจังหวัดร้องขอให้ดำเนินการในส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็มีมณฑลทหารบกที่ 45 ที่ได้จัดโรงพยาบาลสนามสำรองไว้ ยังพื้นที่กองพันเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ 45 รองรับผู้ป่วยหากมีการแพร่กระจายของโรค และเตียงในการรักษาไม่เพียงพอ พร้อมจะเปิดทำการในทันที ซึ่งที่ผ่านมาส่วนราชการได้ดำเนินการตามมาตรการการควบคุมโรค ตามที่ สบค. กำหนดอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ทำความเข้าใจและตระหนักรับรู้ผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐยึดปฏิบัติตามประกาศของแต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ เชื่อว่าเราก็จะก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน"

ด้าน นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้กล่าวขอบคุณ กองทัพภาคที่ 4  ที่มีความห่วงใยและสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัด และจะจัดมอบอุปกรณ์ที่ได้รับให้เกิดประโยชน์ต่อไป โดยจะจัดมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจต่าง ๆ ของจังหวัด เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์  และ อสม.ที่ยังคงปฏิบัติงานควบคุมและเฝ้าระวังโรคในพื้นที่อยู่ สำหรับสถานการณ์โรคขณะนี้ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ช่วยกันป้องกันตัวเองโดยการสวมใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างทางสังคม หากมีอาการหรือสุ่มเสี่ยง อย่าปิดบังข้อมูลกับแพทย์ เพราะจะทำให้ปัญหาต่างๆ บานปลาย ส่วนในเรื่องของการปลดล็อก คงต้องดูสถานการณ์ต่อไปอีกสักระยะ


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์  หาดใหญ่ จ.สงขลา

 

ตราด - ลาดตระเวน 3 มิติ กวาดล้างยาเสพติดทะเลตราด

ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 สั่งการ หมวดเรือลาดตระเวนชายแดน ผนึกกำลังทุกหน่วยงานมั่นคงทางทะเล ค้นหาไอซ์ทุกซอกมุมทะเลตราด

จากกรณี มีการตรวจพบยาเสพติดประเภท 1 (ยาไอซ์) จำนวนมาก ลอยในทะเลและติดตามชายฝั่งทะเลและเกาะแก่งพื้นที่จังหวัดตราด เมื่อช่วงต้นปี 63  กว่า 600 กก. และ ช่วงต้นปี 64 อีกกว่า 70 กก. ทำให้ฝ่ายข่าวประเมินว่าทะเลตราด อาจเป็นเส้นทางผ่านของยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไปสู่ประเทศที่ 3 หรืออาจเป็นแหล่งพักยาขนาดบิ๊กล็อตในทะเล

พลเรือโทโกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 (ผบ.ทรภ.1) จึงสั่งการให้ปฏิบัติการค้นหายาเสพติดในทะเล เพื่อกำจัดให้สิ้นซากไป พร้อมทั้งเป็นการป้องปรามมิให้พี่น้องชาวประมงและประชาชน ตามชายฝั่งทะเลและเกาะแก่งที่เก็บได้ หากพบเจอจะไม่ปกปิดเจ้าหน้าที่หรือเก็บไว้กับตัว นำไปจำหน่ายหรือเสพ ระหว่างวันที่ 28-29 เม.ย.ที่ผ่านมา

โดยมอบหมายให้ นาวาเอกเกียรติกูล สุวรรณ รองเสนาธิการทัพเรือภาคที่ 1/ผู้บังคับหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน (ผบ.มชด.) ผนึกกำลังทุกภาคส่วนออกลาดตระเวนทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ค้นหาแหล่งที่มาและกวาดล้างยาเสพติดในพื้นที่ทะเลตราดให้สิ้นซาก

ซึ่งกำลังที่ร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ ประกอบด้วย หมวดเรือลาดตระเวนชายแดน โดยหมวดเรือลาดตระเวนชายแดนส่วนที่ 1 (มชด./1) ประกอบด้วย ร.ล.กันตัง เรือ ต.83 เรือ ต.261 และเรือ ต.271 เฮลิคอปเตอร์ จากฝูงบินทหารเรือ 3141 (ฝูงบิน ทร.3141) จากกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด (กปช.จต.) กำลังของ ศรชล.จังหวัดตราด และ กอ.รมน.ตราด หน่วยปฏิบัติการเกาะกูด (นปก.) หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลกองทัพเรือเกาะช้าง ทัพเรือภาคที่ 1 (ศรภ.ทร.เกาะช้าง ทรภ.1) หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน 182 (ฉก.นย.182) รวมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง โดย น.อ.เกียรติกูล สุวรรณ ผบ.มชด. เป็นประธานวางแผนปฏิบัติการ ณ ห้องประชุมช้างธรรมชาติ ฐานส่งกำลังบำรุงทหารเรือตราด ทัพเรือภาคที่ 1 (ฐตร.ทรภ.1) อ.แหลมงอบ จ.ตราด

จากนั้นเริ่มปฏิบัติการ โดยกำลังทางเรือ เข้าตรวจพื้นที่ทางทะเลบริเวณหมู่เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก และเกาะรัง เรือยาง เข้าตรวจรอบเกาะในพื้นที่ชายฝั่งที่เดินเท้าเข้าไม่ถึง กำลังทางอากาศ บินลาดตระเวนค้นหาทางอากาศ และหน่วยงานทางบก ร่วมกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองค้นหาบริเวณชายฝั่งที่น่าจะมียาเสพติดซุกซ่อนอยู่หรือลอยมาติดในพื้นที่รับผิดชอบ

ผลการปฏิบัติ ตรวจพบเพียงบรรจุภัณฑ์ที่คาดว่าจะเป็นยาเสพติด ลักษณะตรงกับข้อมูลจากการข่าว แต่ได้ถูกเปิดออกแล้ว ไม่พบยาเสพติดหลงเหลืออยู่ภายในแต่อย่างใด


ภาพ/ข่าว ศรชล.ภาค 1 / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี

กรุงเทพฯ - “มาดามแป้ง” ส่ง “กล่องน้ำใจ” ถึงชาวคลองเตย กักตัวเกินร้อย

มาดามแป้ง ประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟ.ซี. ส่งกล่องน้ำใจมูลนิธิมาดามแป้ง บรรเทาความเดือดร้อนช่วงกักตัวของชาวคลองเตยเกินร้อยชีวิต ทั้ง 43 ชุมชน พร้อมตั้งครัวมาดามทุกวัน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่เขตคลองเตยทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง หลังพบผู้ป่วยเพิ่มสูงจากการเป็นชุมชนแออัด ส่งผลให้มีผู้เสี่ยงสูงต้องกักตัวเพิ่มขึ้นทุกวัน “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ เดินหน้าให้ความช่วยเหลือชาวคลองเตยต่อเนื่อง หลังตั้งครัวมาดามแจกข้าวกล่องแก่ 43 ชุมชน พร้อมจัดกล่องน้ำใจจัดส่งไปยังผู้ที่ต้องกักตัว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงขาดรายได้  โดยในกล่องน้ำใจนั้นประกอบด้วย เครื่องอุปโภค บริโภคทั้งสดและแห้ง พร้อมของใช้จำเป็นอื่นๆ และจัดทีมอาสาสมัครลงพื้นที่ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกวัน

โดย มาดามแป้ง CEO เมืองไทยประกันภัย , ประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟ.ซี. ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิมาดามแป้ง กล่าวว่า “ต้องขอบคุณกลุ่มอาสากล้าใหม่ ผู้นำชุมชน ที่ส่งต่อความช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ ไปยังพี่น้องที่ลำบาก ทั้งการตั้งครัวมาดามตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วเป็นต้นมา รวมถึงการส่งต่อกล่องน้ำใจที่เต็มไปด้วยความตั้งใจไปถึงมือผู้ที่กักตัวทั้ง 43 ชุมชน มันเป็นช่วงเวลาที่คนตัวใหญ่ต้องหันมาช่วยคนตัวเล็ก โดยเฉพาะแฟนบอลท่าเรือที่คลองเตย เราทิ้งไม่ได้ อยากให้ทุกคนอดทนสู้เพื่อให้ผ่านช่วงเวลาแบบนี้ไปด้วยกัน”

ทั้งนี้ นอกจากการช่วยเหลือพี่น้องชาวคลองเตยทั้ง 43 ชุมชนแล้ว มูลนิธิมาดามแป้ง ยังได้ส่งต่อกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฎิบัติงานในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลสนามทั่วประเทศรวม 26 แห่งนานเกือบหนึ่งเดือนแล้ว สำหรับผู้ที่สนใจบริจาคสมทบทุนช่วยเหลือพี่น้องชาวคลองเตยและคนไทยทั่วประเทศ สามารถร่วมบริจาคได้ที่ บัญชี 092-2-61340-0 ธนาคารกสิกรไทย ชื่อบัญชี มูลนิธิมาดามแป้ง เพื่อโครงการสร้างสังคมแห่งการให้

 

ชลบุรี - พบซากปลาโลมาสีชมพู ลอยตายในอ่าวสัตหีบ

วันที่ 4 พ.ค.64 นายพิชิต เกลียกกุทัณฑ์ หัวหน้าหน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างโรจนธรรมสถานสัตหีบ ได้รับแจ้งจากชาวประมงว่า พบซากปลาโลมา ไม่ทราบชนิด ลอยบริเวณใกล้ เกาะรางเกวียน ห่างจากชายฝั่ง ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ประมาณ 8-9ไมล์ทะเล จึงได้นำกำลังพร้อมรือกู้ภัยฯ ออกค้นหา

ในเวลาต่อมา พบซากปลาโลมา ไม่ทราบเพศ อายุประมาณ 2-3 ปี สภาพยุ่ยเน่าเปื่อย ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ ตายมาแล้วประมาณ 5-7 วัน น้ำหนักประมาณ 100 กว่ากิโลกรัม ความยาวประมาณ 2 เมตร คาดว่าน่าจะเป็นโลมาสีชมพู ที่ชาวประมงและนักท่องเที่ยวพบเจอบ่อยในบริเวณ อ่าวสัตหีบก่อนหน้านี้  เจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ จึงช่วยกันเก็บขึ้นเรือนำเข้าฝั่งเพื่อส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ไปพิสูจน์การตายว่าเพราะสาเหตุใด

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบไม่พบว่าถูกอวนของเรือประมงแต่อย่างใด จึงแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยภาคตะวันออก จังหวัดระยอง มานำซากปลาโลมาไปผ่าพิสูจน์ เพื่อหาสาเหตุของการตายอีกครั้ง สำหรับในพื้นที่อ่าวบางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่มีชื่อของจังหวัดชลบุรี 


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล ทิพย์ศรี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top