Thursday, 15 May 2025
Region

ชลบุรี – ปิดเกาะล้าน !! ล็อกดาวน์ 14 วัน ป้องกันโควิดรอบ 3

ชาวบ้านเกาะบ้านลงมติล็อกดาวน์ปิดเกาะ 14 วัน ระหว่างวันที่ 5-20 พ.ค.นี้ พร้อมยกระดับมาตรการควบคุมและป้องกันโรคตามแนวทางเมืองพัทยา และ คก.โรคติดต่อชลบุรี

เมื่อวันที่ 2 พ.ค.64 มีรายงานว่า ที่วัดใหม่สำราญ เกาะล้าน เมืองพัทยา จ.ชลบุรี คณะกรรมการชุมชนเกาะล้าน โดย นายบุญเชิด บุญยิ่ง ประธานชุมชนเกาะล้าน ได้จัดลงมติลงคะแนนเสียงมาตรการล็อกดาวน์ป้องกันโควิด-19 เพื่อเสนอปิดเกาะล้าน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนบนเกาะ และเป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคระบาดของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี

ทั้งนี้ ได้ทำการเปิดรับลงคะแนนเสียงเพื่อแสดงมติของประชาชนบนเกาะล้าน ว่าต้องการให้เป็นไปในรูปใด โดยรูปแบบที่ 1.ปิดเกาะแบบห้ามทุกคนเข้า-ออก อย่างน้อย 15 วัน, รูปแบบที่ 2 ปิดเกาะแบบงดนักท่องเที่ยวอย่างน้อย 15 วัน และรูปแบบที่ 3 เปิดเกาะต่อไปภายใต้มาตรการของจังหวัดชลบุรี ทั้งนี้พบว่ามีประชาชนชาวเกาะล้านมาลงคะแนนเสียงแสดงมติดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 845 คน

แบ่งเป็นบัตรดี 826 ใบ และบัตรเสีย 19 ใบ ผลการลงคะแนนปรากฏว่าชาวบ้านเลือกรูปแบบที่ 1 ปิดเกาะแบบห้ามทุกคนเข้า-ออกอย่างน้อย 15 วัน รวมทั้งสิ้น 306 เสียง, รูปแบบที่ 2 ปิดเกาะแบบงดนักท่องเที่ยวอย่างน้อย 15 วัน รวมทั้งสิ้น 420 เสียง, รูปแบบที่ 3 เปิดเกาะต่อไปภายใต้มาตรการของจังหวัดชลบุรีรวมทั้งสิ้น 96 เสียง และ 4.ไม่แสดงความคิดเห็นรวมทั้งสิ้น 4 เสียง

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุมชนเกาะล้าน จะได้นำมติผลการออกคะเสียงของประชานชาวบ้านเกาะล้าน ที่เลือกให้มีการดำเนินการในรูปแบบที่ 2 คือ ให้มีการปิดเกาะแบบงดนักท่องเที่ยว โดยกำหนดเริ่มล็อกดาวน์ปิดเกาะล้าน ตั้งแต่วันที่ 5-20 พ.ค.64 นี้ โดยประมาณ โดยทางคณะกรรมการชุมชนเกาะล้าน พร้อมที่จะรอฟังคำสั่งและนโยบายจากทางเมืองพัทยา และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี โดยตลอด


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

กาฬสินธุ์ – สภาพอากาศวิปริต น้ำเสียจากสารเคมีที่ไหลลงเขื่อน ทำปลาตาย ประชาชนหากินลำบาก

ชาวประมงรอบเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่หาจับปลาเพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายในชุมชน กำลังประสบปัญหาจับปลาได้ยากมากขึ้น ระบุเป็นผลพวงมาจากสภาพอากาศวิปริต และน้ำเสียจากสารเคมีที่ไหลลงเขื่อน เป็นสาเหตุของปลาตาย จึงหาจับปลาได้น้อยลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ที่สั่งจองไปประกอบอาหารรับประทานในครัวเรือนช่วงสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวันที่  3 พฤษภาคม 2564 จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงรอยต่อฤดูแล้งกับฤดูฝน โดยเฉพาะชุมชนรอบเขื่อนลำปาว ซึ่งมีการใช้อุปกรณ์ลงเรือ เพื่อหาจับสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ทั้งนี้ หากมองในภาพรวม เหมือนไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มากนัก เนื่องจากอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่โล่งแจ้ง ปลอดโปร่ง ไม่แออัด โดยเฉพาะถือว่าอยู่ในทำเลที่ได้เปรียบกว่าชุมชนเมือง หรือชุมชนที่อยู่นอกเขตชลทาน เพราะมีแหล่งน้ำให้หาจับสัตว์น้ำ เพื่อบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเป็นรายได้เสริมในครัวเรือนอีกทางหนึ่ง

นายถวัลย์ ชารี อายุ 55 ปี บ้านเลขที่ 30 บ้านหนองม่วง หมู่ 7 ต.ลำคลอง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนกับเพื่อนบ้านที่มีความชำนาญในการหาปลา บริเวณรอบเขื่อนลำปาว บางคนใช้แห ลอบ เบ็ด และตาข่ายดักปลา เคยจับปลาได้วันละหลายสิบ ก.ก. มีรายได้จากการขายปลาวันละ 500-1,000บาท ซึ่งปลาที่จับได้ เช่น ปลาสร้อย ปลากราย ปลาสวาย ปลานิล โดยจะนำไปประกอบอาหารทานในครัวเรือนและเพื่อการจำหน่าย ทั้งในรูปแบบปลาสด หรือแปรรูปเป็นปลาส้ม ปลาแดดเดียว ปลาร้า ซึ่งหากรวมยอดในแต่ละสัปดาห์ จะได้คนละ 500-800 ก.ก.หรือถึง 1 ตันเลยทีเดียว อาชีพจับปลาจึงเป็นอาชีพหลักของชาวประมงหลายราย ขณะที่ตนมาหาปลาเป็นอาชีพเสริมจากการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามและทำนา

นายถวัลย์ กล่าวอีกว่า  ในระยะหลังมานี้การหาจับปลาบริเวณรอบเขื่อนลำปาวจะหายากมากขึ้น ทั้งนี้ปัญหามาจากน้ำเสียที่เกิดจากเกษตรกรพื้นที่เหนือเขื่อนลำปาวปลูกมัน ปลูกอ้อย เมื่อมีฝนตกลงมาได้ชะล้างสารเคมีที่ตกค้างในแปลงเกษตรลงสู่เขื่อนลำปาว ส่งผลกระทบต่อน้ำและทำให้ปลาตาย นอกจากนี้ในฤดูแล้ง และเริ่มต้นฤดูฝนที่สภาพอากาศวิปริต บางวันร้อน บางวันฝนตก ประกอบกับน้ำในเขื่อนเหลือน้อย จึงทำให้ปลาบางชนิดปรับตัวไม่ทัน จึงเกิดการน็อคตาย ส่วนที่เหลือก็อพยพลงไปอาศัยอยู่ในบริเวณร่องน้ำลึก ซึ่งเป็นเขตอันตราย รวมทั้งห้ามล่าและห้ามเข้าไปจับปลา จึงทำให้ช่วงนี้หาจับปลาได้น้อยลง

นายถวัลย์กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อช่วงนี้หาจับปลาได้น้อยลง หรือได้วันละ 10-20 ก.ก.เท่านั้น บางวันได้เพียงบริโภคในครัวเรือน ไม่เพียงพอที่จะนำไปขายให้ลูกค้า โดยเฉพาะพ่อค้าคนกลางที่สั่งซื้อจอง เพื่อนำไปขายต่อตามตลาดชุมชนและเพื่อแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม  จึงเป็นการเสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย ในการสร้างรายได้จากการจำหน่ายปลา ให้กับลูกค้าและประชาชนในชุมชน ที่หลายคนกักกันตัวเองอยู่บ้าน ต้องการปลาไปประกอบอาหาร และกำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

สงขลา – เจ้าอาวาสวัดเลียบ ขึ้นป้ายรณรงค์ให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นภาษาใต้ ขู่ทีเล่นทีจริง ใครไม่ปฏิบัติจะส่งผีไปหลอกที่บ้าน

ที่ จ.สงขลา ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ซึ่ง จ.สงขลารอบนี้มีผู้ติดเชื้อติดอันดับท๊อปเท็นของประเทศตัวเลขผู้ป่วยล่าสุดอยู่ที่ 691 คนแล้วแต่ท่ามกลางโควิดและความเครียดความกลัวของประชาชนก็ยังพอมีสีสันให้ยิ้มได้บ้าง

โดยเฉพาะที่วัดเลียบ ใน อ.เมืองสงขลา พระครูนพกิจโกศล เจ้าอาวาสวัดเลียบ อ.เมือง จ.สงขลา เจ้าตำรับภาษาใต้ทองแดงวัดเดียวของ จ.สงขลา ที่มักจะเขียนป้ายประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ของวัดเป็นภาษาใต้แท้ ๆ

ล่าสุดก็ได้ขึ้นป้ายบนกำแพงหน้าวัดรณรงค์ป้องกันโควิดให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นภาษาใต้ว่า”ใสหน้ากาก นั่งหาง ล้างมือ กันทุกคนน๊ะโยม ใครไม่ปฏิบัติตาม ส่งผีไปหลอกที่เรือน” ซึ่งคำว่าใสหน้ากาก ก็คือใส่หน้ากาก นั่งหางคือนั่งห่าง  ส่วนส่งผีไปหลอกที่เรือนก็หมายถึงส่งผีไปหลอกที่บ้าน

ทำให้ญาติโยมที่มาทำบุญที่วัดรวมทั้งผู้คนที่ขับรถผ่านไปมาเมื่ออ่านแล้วก็เข้าใจได้ทันทีและต่างก็อมยิ้ม โดยเฉพาะหากใครไม่ปฏิบัติตามจะส่งผีไปหลอกที่เรือนนั้นก็เป็นกุสโลบายทีเล่นทีจริงที่หยอกให้ญาติโยมได้กลัวและต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยกันทุกคน


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์

สุโขทัย – ไม้กวาดทางมะพร้าว ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และรักษาสิ่งแวดล้อม

ไม้กวาดถือว่าเป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดที่ทุกครัวเรือนจะต้องมีไว้ใช้ จะขาดไม่ได้ สำหรับไม้กวาดยังแบ่งออกเป็นหลายชนิดแตกต่างการใช้งานกันไป ที่สวรรคโลกคนรุ่นเก่าที่ยังรักอาชีพทำไม้กวาดขายจากภูมิปัญญา ไม้กวาดที่ทำจากทางมะพร้าว ไม้ไผ่ เพื่อใช้สำหรับกวาดพื้นทำความสะอาด ที่ยังมีให้พบเห็นกันอยู่บ้าง

นายจำลอง คัมภีรพจน์ อายุ 71 ปี หรือลุงแจ้ ผู้ประกอบอาชีพรายได้เสริมจากการทำไม้กวาดทางมะพร้าวชายส่งตามร้านต่าง ๆ และขายให้ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงในราคากันเอง โดยโรงงานที่ผลิตงานที่เขารักนั้นไม่ได้ลงทุนสร้างโรงงานใหญ่โตอะไร ใช้บ้านที่พักอาศัยที่ตั้งอยู่เลขที่ 25 ถนนพิชัยตัดใหม่ ชาวชุมชนเด่นพิชัย ต.เมืองสวรรคโลก อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ตั้งเป็นโรงงานขนาดนิมิอยากทำตรงไหนนั่งตรงนั้น นอกจากจะทำไม้กวาดทางมะพร้าวจำหน่ายภายในชุมชนและร้านต่างๆแล้ว ยังเป็นผู้ที่ถ่ายทอดการทำไม้ทางมะพร้าวให้กับชาวบ้านในชุมชนหรือคนว่างงาน อยากมรอาชีพเสริม ก็ยินดีสอนให้กับคนที่สนใจ  ขั้นตอนในการทำนั้นไม้กวาดทางมะพร้าว1อัน จะประกอบด้วยตัวด้ามที่ทำจากไม้ไผ่ ก้านมะพร้าวที่เหลาเอาใบออก และเชือกสำหรับถักก้านมะพร้าวก่อนที่จะนำมาเข้ากับตัวด้าม 

ลุงแจ้เล้าให้ฟังว่าสมัยเด็กเวลาเดินไปโรงเรียนจะเห็นชาวบ้านนั่งทำไม้กวาดทางมะพร้าวไว้ใช้กวาดใบไม้หน้าบ้าน ด้วยความสนใจจึงได้ไปฝึกหัดทำจนได้สืบทอกการทำไม้กวาดทางมะพร้าวมาจนถึงทุกวันนี้ และยังมีโอกาสได้ถ่ายทอดการทำไม้กวาดทางมะพร้าวให้กับคนในชุมชนอีกด้วยเพื่อส่งขายเป็นรายได้เสริมให้กับกลุ่มชุมชน สำหรับราคาขายจะอยู่ที่ด้ามละ 35 บาท  3 ด้าน 100 บาทเท่านั้น

ประโยชน์ของไม้กวาดทางมะพร้าวนี้ ใช้ในการกวาดพื้น  ปัดหยากไย่  หรือใช้ในการทำความสะอาดครัวเรือน กวาดนำขังพื้น ข้อดีคือคนในชุมชนสามารถผลิตใช้กันเองได้ และจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว  มีความทนทาน ใช้งานได้ดี ขนาดเหมาะสมกับการใช้งาน คุณภาพคงทน ใช้ได้นานไม่หลุดขณะกวาด ทำให้ไม่สิ้นเปลื้องเวลาและพลังงานในการใช้งาน การมีเอกลักษณ์ ลวดลายจากการมัด ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นชุมชนนั้น ๆ ก็มี เพราะจะขึ้นลายมัดเชือกเข้ากับตัวไม้กวาดจะเป็นไปในแบบเดียวกัน  สื่อถึงการเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม และคนในชุมชนนั้นได้ดี 

วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม้ไผ่  เอาไว้สำหรับทำด้ามไม้กวาด  ส่วนใบจากมะพร้าว หรือทางมะพร้าวก็หาได้ตามแหล่งต่าง ๆ จากธรรมชาติ จากแหล่งปลูก จัดหาก้านใบย่อยของทางมะพร้าว โดยตัดก้านใบย่อยตรงโคนก้านออกจากทางมะพร้าว นาใบมะพร้าวมากรีดแยกแผ่นใบทั้งสองข้างออก ก่อนนาไปตากแดดให้แห้ง จากนั้น ตัดโคนก้านให้เสมอกัน ก่อนนามามัดติดเป็นแผงกับด้ามไม้ไผ่ 

หากรู้วิธีการใช้ให้ถูกต้อง ก็จะใช้งานไม้กวาดทางมะพร้าวได้ยาวนาน ลุงแจ้บอกวิธีการใช้ว่า ไม้กวาดทางมะพร้าวสาหรับกวาดบนปูนซีเมนต์ จะต้องใช้ก้านใบมะพร้าวที่มีลักษณะอ่อน โค้งตัวได้ดี ได้จากทางมะพร้าวที่ไม่แก่มาก แผ่นใบ และก้านใบยังมีสีเขียวสด ไม้กวาดทางมะพร้าวสำหรับกวาดบนพื้นดิน จะต้องใช้ก้านใบมะพร้าวที่มีลักษณะแข็ง ได้จากทางมะพร้าวที่แก่เต็มที่แล้ว แผ่นใบมีสีเขียวเข้มหรือสีเหลือง และก้านใบมีสีน้าตาล มีลักษณะแข็ง การเลือกใช้ด้ามไม้กวาด ด้ามไม้กวาดทางมะพร้าว ทำได้จากไม้หลายชนิด ได้แก่ ไม่ไผ่ ไม้ข่อย ไม้กระถิน เป็นต้น แต่ที่นิยมมาก คือ ด้ามไม้กวาดจากไม้ไผ่ตันนั้นเอง เพราะขนาดลาไม้เหมาะแก่การจับ มีน้าหนักเบา มีความแข็งแรง ทนทาน ซึ่งจะได้ด้ามไม้ไผ่ พร้อมมัดหรือตอกติดกับก้านใบมะพร้าวได้อย่างดีทำให้ไม่กวาดแข็งแรง ใช้งานได้นานนั้นเอง

นครพนม - เปิดปฏิบัติการคัดกรองเชิงรุกฯ ตั้งจุดตรวจโควิดฯ แบบ Rapid test ที่สนามบินฯ

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 นายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์ สสจ.นครพนม มอบหมายนายแพทย์ขวัญชัย ประเสริญยิ่ง นายแพทย์ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) สสจ.นครพนม พร้อมนางกรองแก้ว จันทร์ตระกูล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้างานเวชปฏิบัติครอบครัว โรงพยาบาลนครพนม นางทัศนาภรณ์ บำรุงโชค พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลนครพนม และทีมตรวจคัดกรอง เฝ้าระวัง และสอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ปฏิบัติภารกิจคัดกรองตรวจโควิดแบบ Rapid Antigen test ฟรี (การนำตัวอย่างเลือดไปตรวจหาเชื้อไวรัส (Antigen) หรือภูมิคุ้มกัน (Antibody) ตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม แก่ผู้โดยสายขาเข้าสายการบินแอร์เอเซียไฟลท์ FD3396 เวลา 16.25 น. จำนวน 87 คน ณ ท่าอากาศยาน จ.นครพนม


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส

สระบุรี – ชาวบ้านตำบลไผ่ขวาง แห่เก็บแมงเม่าทำอาหารรสเด็ด 1 ปีจะมีแค่ครั้งเดียว

วันที่ 3 พ.ค. 64 ชาวบ้าน หมู่ 4 ตำบลไผ่ขวาง อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี  แห่ออกหาแมลงเม่า บริเวณศาลาพักผู้โดยสาร และข้างถนนโพธิ์พระยา- ท่าเรือ ซึ่งมีแมลงเม่าเป็นจำนวนมากเกาะอยู่ตามพื้นศาลาพักผู้โดยสาร และเกาะอยู่ริมถนน แมลงเม่าลักษณะจะมีปีกและจะออกมาเล่นแสงไฟตามบ้านเรือนประชาชน ตลอดจนไฟส่องสว่างตามถนน ซึ่งส่วนใหญ่แมลงเม่าจะมีออกมาให้เห็นช่วงฤดูฝนเท่านั้น ปีนึ่งจะมีให้เห็นเพียงครั้งเดียว เป็นที่ต้องการของนักเปิบอาหารแปลกรสชาติอร่อย นำไปแช่น้ำเพื่อให้ปีกของแมลงเม่าหลุดออก แล้วนำตัวไปใส่กระทะคั่ว ใส่น้ำปลาเล็กน้อย อร่อยอย่าบอกใคร

ด้านนายพงศักดิ์  โพธิ์ทอง อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 82 หมู่4 ต.ไผ่ขวาง อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี วันนี้ตนได้มากับแม่เพื่อออกหาเก็บแมลงเม่า ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในวันนี้ได้พบแมลงเม่าเป็นจำนวนมากที่บริเวณศาลาพักผู้โดยสารริมทาง เล่าว่าปีนึ่งจะมีแมลงเม่าสักครั้ง มีเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น  แมลงเม่าที่ได้ไปจะนำไปคั่วใส่น้ำปลานิดหน่อย รสชาติจะออกมันๆ กินเล่นก็ได้หรือกินกับข้าวสวยร้อนก็อร่อย วันนี้ตนได้แมลงเม่าจำนวนมากหนักประมาณ 3 กิโลกรัมได้  ซึ่งแมลงเม่าจะหาได้ยากมากและเป็นที่ต้องการของชาวบ้านตำบลไผ่ขวาง อ.บ้านหมอ 

(สัมภาษณ์ นายพงศักดิ์  โพธิ์ทอง)


ภาพ/ข่าว  ชาญวิทย์ คำนวนวุฒิ

แม่ฮ่องสอน - องค์กรภาคประชาสังคมบรรเทาทุกข์กะเหรี่ยง เร่งให้ความช่วยเหลือผู้อพยพหนีภัยสงครามการสู้รบตามแนวชายแดนริมฝั่งลำน้ำสาละวิน

คณะทำงานองค์กรภาคประชาสังคมบรรเทาทุกข์กะเหรี่ยง ได้แจ้งจำนวนผู้หนีภัยจากการสู้รบล่าสุด ว่ามีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่กองพล 5 มือตรอ รัฐกะเหรี่ยง อย่างน้อย 1,193  ครัวเรือน 7,389  คน ในจำนวนนี้มีที่หนีภัยมายังฝั่งไทย 3,112 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้หญิง ในขณะที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงส่วนใหญ่พยายามซ่อนตัวอยู่ตามป่าและลำห้วยในรัฐกะเหรี่ยง และทนให้ได้มากที่สุดเพื่อไม่ให้ต้องหนีมายังฝั่งไทย แต่หากทหารพม่าโจมตีหนักขึ้นก็อาจจำเป็นต้องข้ามเข้ามาอยู่ทางฝั่งไทย

คณะทำงานเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-เมียนมา ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปยังพี่น้องร่วมโลกกลุ่มนี้ เนื่องจากเส้นทางขนส่งทุรกันดารมาก เพราะไม่สามารถส่งทางเรือได้ สำหรับความต้องการเร่งด่วนคือข้าวสาร อาหารแห้ง เวชภัณฑ์ เต้นท์ ผ้าใบที่ไม่มีสีสดที่เห็นชัดเจน (สำหรับกางกันแดดและฝน) เป้สะพายสำหรับเด็ก (ใช้สำหรับใส่สิ่งของให้เด็กสะพายหากต้องหนีภัย) ป้ายชื่อ (สำหรับเขียนชื่อเด็ก พ่อแม่ และชื่อหมู่บ้าน ในกรณีพลัดหลง) ท่านใดต้องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถสนับสนุนทุนได้ที่ บัญชี ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน ธ.กรุงไทย สาขาแม่สะเรียง 509-0-07563-8  โดยที่เงินทุนจะนำไปซื้อสิ่งของบรรเทาทุกข์และค่าใช้จ่ายในการขนส่งหรือส่งข้าวสาร อาหารแห้ง เวชภัณฑ์ ฯลฯ ตามรายการข้างบน (งดรับเสื้อผ้า) โดยส่งไปที่  ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน 7 หมู่ 2 ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 58110


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ขอนแก่น - เปิด รพ.สนาม แห่งที่ 2 รับมือผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ว่าฯ ย้ำชัดสถานการณ์ยังเอาอยู่ แต่เพื่อความไม่ประมาทต้องเตรียมการไว้ในทุกรูปแบบ ขณะที่ล่าสุดผู้ป่วยโควิดรักษาหายแล้ว 182 ราย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21 ราย

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 3 พ.ค.2564 ที่โรงพยาบาลสนามขอนแก่นแห่งที่ 2 (พุทธมณฑลอีสาน) ริม ถ.เลี่ยงเมือง สายขอนแก่น-กาฬสินธุ์ บ.เต่านอ  ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นายพงษ์ศักดิ์  ตั้งวานิชกพงษ์ นายก อบจ.ขอนแก่น , นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น และ นพ.วีระศักดิ์  อนุตรอังกูร ผอ.รพ.สิรินธร ในฐานะ ผอ.รพ.สนามขอนแก่นแห่งที่ 2 ร่วมกันเปิด รพ.สนามขอนแก่น แห่งที่ 2 สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ตามแผนการดำเนินงานตามมติที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.ขอนแก่น ในการป้องกัน เฝ้าระวังและควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่จากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า วันนี้ขอนแก่นมียอดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มขึ้นอีก 21 รายทำให้จำนวนผู้ป่วยสะสมของการระบาดระลอกใหม่ มีจำนวนทั้งสิ้น 412 ราย ในจำนวนนี้รักษาหายขาดจากอาการแล้ว 182 ราย โดยยังคงมีจำนวนผู้ป่วยที่ยังคงเข้ารับการรักษาอยู่ที่ รพ.ต่าง ๆ จำนวน 230 ราย ขณะที่ รพ.สนามขอนแก่น แห่งที่ 1 (หอพัก 26 มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ซึ่งมีทั้งสิ้น 258 เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยซึ่งเข้ารับการรักษาเพียง 38 ราย ซึ่งยังคงสามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยได้อีกตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

“การเปิด รพ.สนามขอนแก่น แห่งที่ 2 วันนี้เป็นการเริ่มต้นของแผนการดำเนินงานที่เราจะต้องมองภาพรวมในทุกมิติ ซึ่งหากจำนวนผู้ป่วยที่ รพ.สนามแห่งที่ 1 มีจำนวนมากถึงร้อยละ 70 ของปริมาณเตียง การบริหารจัดการผู้ป่วย ในกลุ่มไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อยจะถูกส่งมาที่ รพ.สนามแห่งที่ 2 แห่งนี้ทันที ซึ่งขณะนี้ทีมแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทาการแพทย์ที่รับผิดชอบ คือ รพ.สิรินธร ได้เข้ามาประจำการในพื้นที่แล้ว รวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่ถูกลำเลียงมาจาก รพ.เครือข่ายและ รพ.ขอนแก่น เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการปฎิบัติงานทันทีหากพบผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มใหญ่ หรือตามแนวทางการบริหารจัดการผู้ป่วยที่ สสจ.ขอนแก่น กำหนด”

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า สำหรับ รพ.สนามแห่งที่ 2 (พุทธมณฑลอีสาน) มีจำนวนทั้งสิ้น 240 เตียง ซึ่งการจัดตั้ง รพ.นั้นคณะทำงานได้ลงพื้นที่ประชาคมและทำความเข้าใจกับคนในชุมชนถึงแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวของหน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำเสียและขยะติดเชื้อ รวมทั้งการปฎิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ และหน่วยงานสนับสนุน ซึ่งทุกขั้นตอนได้ดำเนินงานตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขในภาพรวมทั้งหมดอย่างเข้มงวด

ชลบุรี - ในหลวง พระราชินี พระราชทานเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอล ให้แก่ รพ.ชลบุรี เพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19

ในหลวง พระราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอล ให้แก่ รพ.ชลบุรี เพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นวงกว้างในขณะนี้ ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น และพบภาวะปอดอักเสบเป็นจำนวนมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอล พร้อมชุดประมวลผลภาพเอกซเรย์ Chest ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้กับโรงพยาบาลชลบุรี เพื่อนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ณ ห้องประชุมอาคารเฉลิมราชสมบัติ ชั้น 9 โรงพยาบาลชลบุรี ได้จัดพิธีรับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทาน เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอล พร้อมชุดประมวลผลภาพเอกซเรย์ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ มีนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขชลบุรี ผู้อํานวยการโรงพยาบาลชลบุรี และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลฯ เข้าร่วมพิธี

โดยทางจังหวัดชลบุรี ได้เผชิญกับการระบาดเชื้อไวรัส โควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม จากผู้ที่ไปเที่ยวสถาบันเทิงย่านทองหล่อ กรุงเทพมหานคร และได้แพร่กระจายเป็นวงกว้างจนถึงปัจจุบัน ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ได้เข้าดำเนินการควบคุมโรคไว้และนำผู้ที่ติดเชื้อมาทำการรักษาในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามในจังหวัดชลบุรี และได้ดำเนินการสืบสวนโรคกับผู้ติดเชื้อ เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดน้อยลง 

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ของการระบาดยังพบผู้ป่วยจำนวนมากที่มีภาวะปอดอักเสบ จำเป็นต้องมีการวินิจฉัยที่แม่นยำ เฝ้าระวังอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การรักษาได้ทันเวลา ลดอัตราความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย การได้รับพระราชทานเครื่องมือแพทย์ดังกล่าว ยังประโยชน์ต่อการบำบัดรักษาผู้ป่วยอย่างเหลือคณานับ จังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขชลบุรี ผู้อํานวยการโรงพยาบาลชลบุรี และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลชลบุรี รู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี  

จันทบุรี – คนรักสัตว์ นำสุนัขสวมแมสป้องกันโควิด-19 ขณะสถิติในจันทบุรียั้งไม่พบโควิดในสัตว์เลี้ยง

ที่ อ.ขลุง จ.จันทบุรี พบสุนัขที่เจ้าของพาซ้อนรถจักรยานยนต์ ออกมาซื้อกับข้าวด้วย แต่ว่าเจ้าสุนัขตัวนี้ สวมแมสป้องกันโควิดด้วย ดูแปลกและสะดุดตาผู้ที่พบเห็น

เมื่อได้เข้าไปพูดคุยก็ทราบว่าสุนัขตัวนี้มีชื่อว่าเจ้าโกโก้ เป็นสุนัข เพศเมีย อายุ 9 ขวบ ทางเจ้าของบอกว่าเมื่อจะออกมาเที่ยวก็สวมแมสให้โดยที่เจ้าโกโก้ไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด เมื่อนำออกไปเที่ยวซ้อนรถจักรยานยนต์ก็จะสวมแมสให้แบบนี้ทุกครั้ง จนทำให้ผู้พบเห็นต่างต้องยิ้มและทักเจ้าโกโก้กันทุกคน ถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้ประชาชนได้ดูเป็นแบบอย่างว่าขนาดสุนัขยังต้องสวมแมสเมื่อออกจากบ้านเราเป็นคนก็อย่าทำให้อายสุนัขนะครับ

ขณะเดียวกันข้อมูลการแพทย์ยังไม่พบสัตว์เลี้ยงในจันทบุรีติดเชื้อโควิด เพราะยังไม่มีการคัดกรอบในสัตว์เลี้ยง


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา ผู้สื่อข่าวจ.จันทบุรี

นายพรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top