Sunday, 11 May 2025
Region

นราธิวาส - ผู้ว่าฯนราธิวาส ประชุม ศบค. จังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ติดตามการดำเนินงาน พร้อมปรับมาตรการให้สอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลกำหนด กำชับทุกอำเภอบริหารจัดการยับยั้งการระบาดอย่างทันท่วงที

วันนี้ (18 เม.ย. 64) ที่ห้องประชุมพระนราภิบาล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดนราธิวาส (ศบค.จังหวัด) โดยมีคณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจําจังหวัดนราธิวาส ปลัดจังหวัดนราธิวาส นายอำเภอ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้ออกข้อกำหนด ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 20 จึงต้องมีการปรับให้เข้ากับพื้นที่ โดยทุกส่วนราชการต้องร่วมกันระงับยับยั้งป้องกันโรค ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ทำให้ได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อปรับมาตรการให้สอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลกำหนด

โดยคณะทำงาน ศบค. จังหวัดนราธิวาส ทั้ง 9 คณะ ได้นำเสนอการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสได้เน้นย้ำให้ทุกอำเภอต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาระงับยับยั้งได้ทันที เพื่อควบคุมสถานการณ์ตามแนวทางที่กำหนด เมื่อมีผู้ที่ติดเชื้อขอให้บริหารจัดการในพื้นที่ทุกกรณี โดยรายงานด่วนมายังจังหวัดเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงที

จากนั้นได้มีการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาส เพื่อพิจารณาออกมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติม ซึ่งในวาระแรกเป็นเรื่องมาตรการของจังหวัดนราธิวาสตามข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 20 ลงวันที่ 16 เมษายน 2564 ซึ่งมีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่บังคับใช้ในปัจจุบัน คือ การควบคุมตลาดและถนนคนเดิน , การให้ทุกคนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และคำสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกัน

สำหรับมาตรการที่จะต้องมีการปรับปรุงคำสั่ง คือ มาตรการควบคุมแต่ละพื้นที่ โดยกำหนดมาตรการพื้นที่ควบคุมให้ตรงกับข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 20 รวมทั้งจะมีการกำหนดมาตรการในเรื่องการห้ามการดำเนินการ หรือจัดกิจกรรม หรือที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งยังไม่ได้กำหนดมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้จะมีการกำหนดมาตรการในเรื่องการงดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางให้ครอบคลุมทั้ง 18 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมทั้งการกำหนดมาตรการจัดกิจกรรมทางสังคม การดำเนินรูปแบบปฏิบัติงานที่เหมาะสม และในด้านมาตรการเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ ที่จะต้องมีข้อสั่งการเพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนราธิวาสเตรียมการในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ ในด้านมาตรการตามประกาศของจุฬาราชมนตรี ฉบับที่ 4/2564 ลงวันที่ 12 เมษายน 2564 และมาตรการที่ออกตามข้อกำหนด ฉบับที่ 20 ลงวันที่ 16 เมษายน 2564 ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือและนำเสนอร่วมกัน โดยจะยึดตามประกาศจุฬาราชมนตรี และให้งดการออก “ดะวะห์” และ “โยร์” ซึ่งจะมีการออกคำสั่งจังหวัดและแจ้งมาตรการในพื้นที่ให้ถือปฏิบัติต่อไป

ในด้านการกักตัวสังเกตอาการแบบ Home Quarantine จะใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น โดยให้ทุกอำเภอควบคุมดูแลตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสยังได้เน้นย้ำให้หัวหน้าส่วนราชการดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มข้น และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด


ภาพ/ข่าว  ปทิตตา หนดดระโทก ผู้สื่อข่าวนราธิวาสรายงาน

แม่ฮ่องสอน – ผลกระทบจากพายุฝนในพื้นที่แม่ฮ่องสอน เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก

สืบเนื่องจากเมื่อคืนวันที่ 17 เมษายน 2564 เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก ท่วมสวนเกษตรในพื้นที่หมู่ 10 ต.แม่ลาน้อย ทำให้พืชผลทางการเกษตร(สวนถั่วเหลือง)เสียหายและอุปกรณ์การเกษตรเช่น ท่อน้ำ(pvc)เสียหายและมีเศษของวัสดุเช่น เศษไม้ต่างๆอุดตันท่อระบายน้ำทิ้งระหว่างทางลอดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ซึ่งเกรงว่าหากมีมวลน้ำ หลากเพิ่มอีกจะทำให้เกิดความเสียหายต่อถนนหลวงได้ ในเบื้องต้นจะเข้าไปสำรวจก่อนส่งรายงานทางอำเภอ,ท้องถิ่นและแขวงการทาง กรมทางหลวงเพื่อแก้ไขต่อไป

และในวันเดียวกันเวลาประมาณ 20.00 น. ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ตำบลแม่ลาน้อย ตำบลท่าผาปุ้ม ตำบลแม่ลาหลวงและตำบลแม่นาจาง ทำให้ดินสไลด์ทับถนนสายบ้านห้วยหมากหนุน ต.ท่าผามปุ้ม ถนนคอสะพานบ้านห้วยไม่ขีดและพืชผลทางการเกษตรเสียหาย ซึ่งอำเภอได้ประสานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว


ภาพ/ข่าว  เกียรติศักดิ์  รักสัตย์ / เกียรติยศ  รักสัตย์ ทีมข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน

                

พัทลุง - สุดทึ่ง...เด็ก 10 ขวบ ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอม ทำโรตีขาย ช่วยเหลือครอบครัว

เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมสำหรับเด็กวัย 10 ขวบ ที่ชื่นชอบในการทำโรตี ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว ลูกค้าที่พบเห็นต่างชื่นชมแห่อุดหนุน แม่ค้าวัย 10 ขวบ  มีชื่อเล่นว่าน้องไปร์  ด.ญ.รวิสรา คงเกื้อ  อายุ 10 ขวบ  เรียนอยู่ ชั้นประถมปีที่ 4  โรงเรียนเทศบาลบ้านคูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง  น้องไปร์เล่าให้ฟังว่าตนมีพี่น้องทั้งหมด 3 คน ตัวเองเป็นคนโต หลงใหลการทำโรตีมาตั้งแต่เล็ก เพราะเป็นธุรกิจของครอบครัว เริ่มหัดทำตั้งแต่อายุ 9 ขวบ

โดยมีอา นางสาวโฉมเฉลา คงเกื้อ เป็นคนถ่ายทอดวิชาให้  เริ่มตั้งแต่คอยเป็นลูกมือหัดห่อ หัดหัน  และ วิ่งเสิร์ฟ โรตี ให้กับลูกค้า จนกระทั้งหมั่นใจว่าหลานสาวชื่นชอบและตั้งใจจริง จึงได้หัดให้หลานสาวทุบแป้งโรตี จนชำนาญ และขั้นตอนสุดท้าย คือการทอดโรตี ซึ่งมีทั้งโรตีกรอบ และโรตี ใส่ไข่ ใส่นม ใส่กล้วย  1 ปี ผ่าน  ไม่น่าเชื่อว่า หลานสาววัย 10 ขวบ จะเรียนรู้จดจำ และพัฒนาสิ่งที่ชอบ จนทำโรตีขายเองได้อย่างน่าทึ่งของผู้พบเห็น  ลูกค้าแห่อุดหนุน กันล้นหลามทุกวัน

เมื่อถามว่าโตขึ้นมา น้องไปร์ อยากจะประกอบอาชีพอะไร น้องไปร์ตอบโดยไม่ต้องคิดว่า อยากเป็นแม่ค้าโรตี เพราะตัวเองเป็นคนชอบทำโรตี เลยอยากให้ลูกค้าได้กินโรตีอร่อย ๆ มือของตน  และ อีกอาชีพหนึ่งที่ชอบคือ ครูสอนภาษาไทย  เพราะอยากให้ลูกศิษย์ได้ซึมซับภาษาไทย

สำหรับลูกค้าที่ต้องความชิมความอร่อยรสชาดฝีมือของน้องไปร์ ได้ที่ร้าน โรตีดีไซน์  บายหญิงโฉม ในตลาดเรื่องเล่ากับข้าวยามเย็น  อ.เมืองพัทลุง  โทร 0936345456

กาฬสินธุ์ - “อ.ยักษ์ แม่โจ้” ผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชาระดับประเทศ เยี่ยมและแนะนำวิธีปลูกกัญชาแก่วิสาหกิจชุมชนฯ ผู้ปลูกกัญชาถูกกฎหมาย

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 ที่วิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ จ.กาฬสินธุ์ ดร.อานนท์ สุทน ผอ.ศูนย์สาธิตแม่โจ้เกษตรศิลป์ จังหวัดกำแพงเพชร, นางพรรณี ดวงจันทร์ทิพย์ เจ้าพนักงานส่งเสริมสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมอาคารปลูกกัญชาถูกกฎหมายของวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ โดย มี น.ส.สุภาพร คำยุธา ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ นายนิมิตร รอดภัย ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนฯ และนักวิชาการ ของวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่พร้อมสมาชิก ให้การต้อนรับ

ดร.อานนท์ สุทน ผอ.ศูนย์สาธิตแม่โจ้เกษตรศิลป์ จ.กำแพงเพชร ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกกัญชาระดับประเทศได้ให้คำแนะนำ และแลกเปลี่ยนแนวทางการปลูกกัญชากับ นายนิมิตร รอดภัย ที่ปรึกษา-นักวิชาการของวิสาหกิจชุมชนฯ ที่จำเป็นต้องมีการเตรียมดินพร้อมกับการดูแลต้นและบำรุงรากให้มีความแข็งแรง ก่อนที่ลำต้นจะเติบโตมากขึ้น

ดร.อานนท์ กล่าวว่า ต้นกัญชาที่ปลูกแห่งนี้เป็นพันธุ์หางกระรอก ซึ่งตามแผนงานการปลูกจะมีอายุประมาณ 3 เดือนที่ต้องพร้อมต่อการเก็บเกี่ยว ดังนั้นในการดูแลรวมไปถึงการให้ปุ๋ย จำเป็นต้องมีระบบและเป็นเวลา จนกว่าที่ลำต้นจะเติบโตในช่วง 1 เดือนแรก

“ผมไม่ต้องการให้เกษตรกรผู้รับอนุญาตถูกต้อง จะต้องมาเสียเวลาในการดูแล เพราะต้นกัญชาสามารถที่จะทำให้เจริญเติบโตได้ สิ่งสำคัญขณะนี้ผู้ได้รับใบอนุญาตถูกต้องสามารถปลูกได้เพียง 50 ต้นที่ถือว่าน้อยมาก แต่หากสามารถดูแลและทำให้มีใบกัญชาได้มากขึ้นกว่าเดิม ก็จะทำให้เกษตรกรวิสาหกิจผู้ปลูกกัญชามีรายได้ในจุดนี้ และในอนาคตกระบวนการแลกเปลี่ยนก็จะเกิดขึ้นอยู่ตลอด ขอให้วิสาหกิจฯ มีความมั่นใจและพัฒนาตามที่แนะนำ”

สำหรับวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับอนุญาตถูกต้อง เป็นหนึ่งในสามแห่งของจังหวัดกาฬสินธุ์  รับใบอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และได้ทำการปลูกลงดินเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2564 ที่คาดว่าผลผลิตจะสามารถออกสู่ตลาดได้ภายใน 3 เดือนข้างหน้า


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

ชลบุรี - เริ่มวันนี้ ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น เมืองพัทยา รับลูก ศบค. ดีเดย์ เปิดตี 4 ปิด 5 ทุ่ม

ร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ สาขาเมืองพัทยา พร้อมให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐ แบะศบค. เลื่อนเปิดให้บริการระหว่างเวลา 04.00–23.00 น. ตั้งแต่วันนี้

ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด–19) หรือ ศบค. ได้ประกาศมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ จำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย กรุงเทพมหานครฯ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม ภูเก็ต นครราชสีมา นนทบุรี สงขลา ตาก อุดรธานี สุพรรณบุรี สระแก้ว ระยอง และขอนแก่นนั้น

มีรายว่า บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ พร้อมให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐ โดยจะเปิดให้บริการระหว่างเวลา 04.00–23.00 น. ตั้งแต่วันนี้ วันที่ 18 เม.ย. 2564 จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศ พบว่า ร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาต่าง ๆ ในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เมืองท่องเที่ยวชื่อดังของภาคตะวันออก ได้เตรียมพร้อมสำหรับการให้บริการโดยปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค. อย่างเคร่งครัด คุมเข้มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอด เพื่อสุขภาพอนามัยของพนักงาน และลูกค้าที่มาใช้บริการด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังเน้นย้ำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ตามที่ได้ดำเนินการในเรื่องของการสวมหน้ากากอนามัย การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน และผู้มาใช้บริการ การเว้นระยะห่าง การล้างมือก่อนหยิบจับอาหารหรือสินค้า การทำความความสะอาดพื้นที่ อุปกรณ์ในร้าน รวมทั้งจุดสัมผัสร่วมตามระยะเวลาที่กำหนด และการจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการตามขนาดของร้าน เพื่อบรรเทา และแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - วุ่นทั้งโรงพัก ตร.พัทยาติดโควิด นำ 40 ตร.ใกล้ชิดและกลุ่มเสี่ยงเพื่อตรวจเชื้อ

วันนี้ 18 เม.ย.64 ที่ศาลาประชาคม อ.บางละมุง  จ.ชลบุรี  เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สภ.เมืองพัทยา  รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงที่ใกล้ชิด พ.ต.ท.อรุษ สภานนท์  สว.จร. สภ.เมืองพัทยา ที่ติดเชื้อโควิด-19 รวม 40 คน ไปตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19  นอกจากนั้นยังต้องกักตัวอีก 14 วัน

โดยทาง  พ.ต.ท.สมพล  นาคขำพันธุ์   รอง ผกก.( สอบสวน ) สภ.เมืองพัทยา  รรท. ผกก.สภ.เมืองพัทยา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ว่า เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมาทางสารวัตรจราจรมีอาการตัวร้อนก็เลยไปตรวจที่ รพ.กรุงเทพพัทยา พอวันที่ 16 เม.ย.  รู้ผลว่าติดเชื้อก็เดินทางเข้ารักษาที่ รพ.พญาไท ศรีราชา หลังจากนั้นทาง สารวัตรจราจรก็ได้ตรวจสอบทั้งตำรวจและบุคคลที่กลุ่มเสี่ยงรวมทั้งหมด 40 คน จึงได้ให้ไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในวันนึ้ และหลังตรวจก็ต้องกักตัว 14 วันอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

นครนายก – แปลก ! พบใบโพธิ์ใบใหญ่มีความกว้าง 22 ซ.ม. ยาว 35 ซ.ม.ที่หาดูได้ยาก

แปลกแต่จริงพบใบโพธิ์ใบใหญ่ที่มีความกว้าง 22 เซนติเมตรมีความยาว 35 เซนติเมตรที่หาดูได้ยากในประเทศไทย ที่วัดวังตูม ตำบลเขาพระ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก พระครูอรรถวาที เจ้าอาวาสวัดวังตูม ได้โพสต์คลิปการตัดใบโพธิ์ของที่วัดวังตูม ที่มีความใหญ่กว่าใบโพธิ์ทั่วไปซึ่งมีความยาว 35 เซนติเมตรและมีความกว้าง 22 เซนติเมตร ถือว่าเป็นใบโพธิ์มีใบใหญ่ที่หาดูพบได้ยาก ซึ่งมีลำต้นขนาด 5 คนโอบอยู่ภายในวัดวังตูมจังหวัดนครนายก มีอายุ 118 ปี พ.ศ.2446-พ.ศ.2564 ผู้สื่อข่าวจึงได้ติดต่อพระครูอรรถวาที เจ้าอาวาสวัดวังตูม ได้พาไปดูที่ต้นโพธิ์ที่อยู่ในบริเวณวัดและได้นำใบโพธิ์ที่ได้ตัดแล้วใส่พานมาว่างที่ต้นโพธิ์ให้ผู้สื่อข่าวชมและใช้ไม้บรรทัดวัดขนาดของใบโพธิ์ ซึ่งมีความยาวความกว้างใกล้เคียงกับใบโพธิ์เมื่อปี2563 ที่หลวงพ่อได้นำมาใส่กรอบรูปไว้

จากการสัมภาษณ์พระครูอรรถวาที่ เจ้าอาวาสวัดวังตูม ได้เล่าว่าหลวงพ่อได้พบใบโพธิ์ต้นนี้ที่มีความใหญ่เมื่อปีพ.ศ. 2563 ได้คัดตัดใบที่ใหญ่ที่สุดในต้นนี้ได้ทั้งหมด 59 ใบและในปีพ.ศ. 2564 คือปีนี้เพิ่งคัดตัดใบโพธิ์ที่ใหญ่เมื่อวานนี้ ได้ใบโพธิ์ใบใหญ่จำนวน 19 ใบนำมาเก็บไว้เพื่อใส่กรอบรูปไว้บูชาดังกล่าว


ภาพ/ข่าว  สมบัติ เนินใหม่ / รัชชานนท์ เนินใหม่ / ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครนายก

ลำพูน - โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ของจังหวัดลำพูน ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน สามารถรองรับผู้ป่วย COVID19 ได้จำนวน 100 เตียง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 เวลา 13:30 นาฬิกา กองพลทหารราบที่ 7 โดย กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 7 ค่ายกาวิละ และ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7 ค่ายพระปิ่นเกล้า จัดกำลัง หน่วยละ 1 ชุดปฏิบัติการ (ชป.ๆ ละ 10 นาย) รวม 20 นาย ร่วมกับ ชุดปฏิบัติการ ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัดลำพูน (ศปก.จ.ลพ.) , สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) สังกัด ร้อย บก.บร. บก.อส.จ.ลพ. , องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน (อบจ.ลำพูน) ,  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน , ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน และ โรงพยาบาลลำพูน ดำเนินการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม เพิ่มเติมเป็นแห่งที่ 2 ของ จังหวัดลำพูน ณ อาคารหอประชุม อบจ.ลำพูน บ้านน้ำบ่อเหลือง หมู่ที่ 15 ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน โดยได้รับเตียงสนาม (แบบกล่องกระดาษ) จำนวน 100 ชุดจากภาคเอกชน

โดยได้ดำเนินการประกอบจนแล้วเสร็จ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของ จังหวัดลำพูน โดยสถานการณ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น จำนวน 12 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมมีจำนวน จำนวน 141 ราย โรงพยาบาลสนาม แห่งที่ 1 (โรงพยาบาลลำพูนสาขาเวียงยอง) ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้หมด

ทั้งนี้ จังหวัดลำพูน ได้รับการสนับสนุนเตียงสนาม แบบกระดาษ จากบริษัท SCG Packaging จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 100 ชุด เพื่อดำเนินกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคม (CSR)


ภาพ/ข่าว  กรรณิการ์  วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน

19 จังหวัด - มูลนิธิมาดามแป้ง เริ่มเปิด “ครัวมาดาม” ส่งข้าวกล่องแทนกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ 19 แห่งทั่วประเทศ

มูลนิธิมาดามแป้ง ชวนแฟนบอลไทย ส่งกำลังใจ ร่วมเปิดครัวมาดาม ปรุงอาหารจากครัวชุมชน ส่งไปยังโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลสนาม เริ่มต้น 19 แห่ง เพื่อมอบกำลังใจและตอบแทนน้ำใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ หลังวิกฤตโควิด-19 ทวีความรุนแรงอีกครั้ง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดอย่างหนักทุกจังหวัด จนมีแนวโน้มเข้าขั้นวิกฤตระลอก 3 ของประเทศ “มูลนิธิมาดามแป้ง” โดยมาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานกรรมการมูลนิธิ และประธานสโมสรการท่าเรือ จึงออกมาชวนแฟนบอลไทย สานต่อโครงการครัวมาดาม ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักทั้งสองครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ ร่วมกับอาสากล้าใหม่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศออกตั้งโรงครัว ตั้งเป้าส่งข้าวกล่องให้ได้ 28,500 กล่องตลอดเดือนเมษายนนี้ โดยเริ่มต้นแล้วในโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลสนาม 19 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ, อยุธยา, ปทุมธานี, นครปฐม, นครราชสีมา ขอนแก่น, สระแก้ว, เชียงใหม่, ภูเก็ต, สงขลา, นราธิวาส, สุพรรณบุรี, นครสวรรค์ และชลบุรี

ด้าน มาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานกรรมการมูลนิธิมาดามแป้ง และประธานสโมสรการท่าเรือ ได้กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ผ่านครัวมาดามว่า “แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในรอบนี้จะหนักหนา นับเป็นวิกฤตที่อยู่กับเราอย่างยาวนาน และสร้างความยากลำบากให้กับทุกคน โดยเฉพาะคนในวงการกีฬาหลายคนก็ได้รับผลกระทบ ครัวมาดามกลับมาเสมอในยามเกิดภัย เพื่อช่วยเหลือเยียวยาคนในสังคมตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ซึ่งต้องขอขอบคุณอาสากล้าใหม่ในชุมชนต่าง ๆ ที่ร่วมกันตั้งครัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ครัวมาดามไปได้เร็วเท่าทันช่วงเวลาที่ยากลำบากในหน้างานทั้ง 19 แห่งทั่วประเทศ”

“สุดท้ายแล้ว ด้วยพลังความร่วมแรงร่วมใจของพวกเราคนไทย จะช่วยให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน แป้งขอเป็นหนึ่งกำลังใจเล็ก ๆ ให้กับทีมคุณหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่กำลังทำงานอย่างหนักช่วยเราคนไทยให้ผ่านความยากลำบากนี้ในเร็ววันนะคะ” นางนวลพรรณ กล่าวปิดท้าย

สำหรับครัวมาดามครั้งนี้ มูลนิธิมาดามแป้ง ยังเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อกำลังใจนี้ ด้วยการร่วมบริจาคสมทบทุนข้าวกล่อง กล่องละ 50 บาท เลขบัญชี 092-2-61340-0 ธ.กสิกรไทย ชื่อบัญชี มูลนิธิมาดามแป้ง เพื่อโครงการสร้างสังคมแห่งการให้ เพื่อเติมพลังให้บุคลากรด่านหน้าทั่วประเทศ และกระจายกำลังใจนี้ออกไปให้ไกลที่สุด

กรุงเทพฯ - "รมว.สุชาติ" นำทีมเช็คความพร้อมสถานที่ตรวจโควิด-19 เชิงรุกผู้ประกันตน ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนฯ (ไทย – ญี่ปุ่น) ดินแดง กทม.

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ ลงพื้นที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบความพร้อม ของสถานที่สำหรับเปิดใช้เป็นช่องทางหน่วยบริการตรวจโควิด-19 เชิงรุกแก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ,39 และ 40 ที่อยู่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร เพื่อลดความแออัดและอำนวยความสะดวก ในวันเสาร์ที่ 17 เมษายนนี้

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการตรวจความพร้อม ของสถานที่เพื่อสำหรับเปิดใช้เป็นช่องทางหน่วยบริการตรวจโควิด-19 ในวันเสาร์ที่ 17 เมษายนนี้ เพื่อลดความแออัดและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่อยู่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19

โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และคณะผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดยนายสุชาติ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยผู้ประกันตนจากกรณีการแพร่ระบาด ของโควิด -19 จึงกำชับกระทรวงแรงงาน บูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) และ สปสช.เป็นการเพิ่มช่องทางหรือทางเลือกหนึ่งเพื่อบริการผู้ประกันตนให้ได้รับการตรวจอย่างรวดเร็ว ลดความแออัดหรือรอคิวนาน ในวันนี้ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจึงได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจความพร้อมของสถานที่ที่จะเปิดใช้เป็นช่องทางหน่วยบริการตรวจโควิด-19 เพื่อลดความแออัดและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยจะเริ่มต้นในวันพรุ่งนี้ (17 เม.ย.64)

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับในทุกด้านหากสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้หารือกำหนดแนวทางที่จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยจะเปิดให้ผู้ประกันตนที่จะเข้ารับการตรวจสามารถลงทะเบียนจองคิวตรวจผ่านระบบแอพพลิเคชั่นออนไลน์ สำหรับผู้ประกันตนที่จะได้เข้าตรวจคือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คัดกรอง ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนรายใดตรวจพบเชื้อโควิด-19 จะต้องส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่าย ในสังกัดสำนักงานประกันสังคม โดยจะได้รับการรักษาฟรี ซึ่งมีอยู่จำนวน 81 แห่ง ที่มีความพร้อม มีเตียงรองรับกว่า 1,000 เตียง มี HQ 200 กว่าเตียง

สำหรับขั้นตอนการลงทะเบียนออนไลน์เพื่อจองคิวตรวจของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39, และ 40 สามารถเข้าเว็บไซต์ https://www.google.com แล้วพิมพ์คำว่า แรงงานเราสู้ด้วยกัน แล้วคลิกที่เว็บไซต์ https://sso.icntracking.com/icntracking/self_register.php จากนั้นผู้ประกันตน กรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือเลขพาสปอร์ต กรอกข้อมูลประเมินความเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งเป็นบุคคลที่มีกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการป่วย ซึ่งเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์มาตั้งแต่เมื่อวานนี้ (15 เม.ย.64) เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป โดยแต่ละวันสามารถตรวจได้วันละ 3,000 คน แบ่งเป็นช่วงเช้า 1,500 คน ช่วงบ่าย 1,500 คน ทั้งนี้ ผู้ประกันตนจะต้องพกบัตรประชาชน พร้อมสำเนา 1 ชุด เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการตรวจด้วย หากผู้ประกันตนรายใดลงทะเบียนแล้วไม่มาตรวจตามนัดจะต้องลงทะเบียนใหม่ และเมื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด -19 เรียบร้อยแล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที เนื่องจาก ผลการตรวจจะส่งทาง SMS ให้ผู้ประกันตนทราบตามหมายเลขโทรศัพท์ที่แจ้งไว้

“ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.กำหนด สามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ https://sso.icntracking.com/icntracking/self_register.php เพื่อจองคิวตรวจโควิด-19 ซึ่งช่องทางดังกล่าวกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) และ สปสช.เพื่ออำนวยความสะดวก ลดความแออัดและเพิ่มช่องทางให้กับผู้ประกันตน ได้เข้าถึงการตรวจโควิด -19 ซึ่งหากพบเชื้อสามารถเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดได้อย่างทันท่วงที” รมว.สุชาติ กล่าวในตอนท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top