Saturday, 10 May 2025
Region

พิจิตร- ‘ผู้ว่าฯ พิจิตร’ พาปั่นจักรยานเยี่ยมราษฎร - ส่งเสริมกลุ่มชาวบ้าน เป็นของขวัญของฝากในปีใหม่!!

วันที่ 16 ธันวาคม 2564 ความคืบหน้าจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชาวบ้านของ นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรคนที่ 58 จึงได้จัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ไมตรีของส่วนราชการกับส่วนท้องถิ่นด้วยการนำปั่นจักรยานเพื่อเยี่ยมเยือนราษฎรในเขตพื้นที่ ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร โดยมี  นายสุภโชค ศิลปคุณ นายอำเภอสามง่าม , นางกัญนิกา อินทรกูล นายกเทศมนตรีตำบลเนินปอ “นายกแหม่ม” ที่นำพาชาวบ้านและส่วนราชการท้องถิ่นรวมถึงกลุ่มเด็ก ๆ และเยาวชนเกือบ 200 คน ร่วมกันขี่จักรยานไปรอบหมู่บ้านโดยได้นำสิ่งของจากเหล่ากาชาดพิจิตรไปเยี่ยมผู้สูงอายุ/ผู้ป่วย 2 ครัวเรือน

โดยบ้านแรกที่ขี่จักรยานนำสิ่งของไปให้เป็นบ้านของ น.ส.นารี  ไสงาม อายุ 62 ปี อยู่หมู่ 6 ต.เนินปอ และ บ้านหลังที่สองเป็นบ้านของ นางบุญมี รอดผลุย อายุ 79 ปี อยู่หมู่ 5 ต.เนินปอ ซึ่งจากการไปเยี่ยมและให้กำลังใจผู้สูงอายุในครั้งนี้สร้างความปลาบปลื้มให้กับราษฎรทั้ง 2 ราย อีกทั้งผู้ว่าฯ พิจิตร ยังได้สั่งการให้ พม.พิจิตร และสาธารณสุขพิจิตร ช่วยดูแลผู้สูงอายุทั้ง 2 รายนี้

จากนั้นได้ขี่จักรยานไปพบปะชาวบ้านในชุมชนตลาดลาว ซึ่งเป็นย่านชุมชนของ ต.เนินปอ เพื่อดูการทำมาค้าขายและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรรวมถึงปั่นจักรยานไปที่กลุ่มทอผ้าลาวครั่ง บ้านสระยายชี ซึ่งเป็นกลุ่มทอผ้าและผลิตสินค้าOTOP ที่สร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้านนอกจากอาชีพทำนา โดย ผู้ว่าฯพิจิตร ได้ให้คำแนะนำถึงการทำตลาดแบบระบบออนไลน์เพื่อที่จะได้ขายสินค้าให้เป็นของกิน ของใช้ ของฝากในช่วงเทศกาลปีใหม่เนื่องจากกลุ่มทอผ้าลาวครั่งแห่งนี้มีฝีมือในการทำผ้าทอ ผ้าไทย ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนอีกด้วยจากนั้นได้ชมการแสดงพื้นบ้านของชาวบ้านที่จัดการแสดงมาต้อนรับ

 

นราธิวาส - “นิพนธ์” ร่วมคณะนายกฯ ลงยะลา - ปัตตานี ติดตามงานพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้ พร้อมประสาน ก.เกษตรฯ ขยายพันธุ์ปูทะเล

นายอับดุลนัสเซอร์ หะมิ พัฒนาการอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย , นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมคณะลงพื้นที่ติดตามงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในมิติงานสำคัญ

ได้แก่ การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ผ่านโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” การบริหารจัดการด้านความมั่นคง และชายแดน การบริหารจัดการนำการดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 และการเตรียมการภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเชิงพื้นที่ในพื้นที่ รวมทั้งการติดตามการปฏิบัติราชการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ในโครงการ “การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ภายใต้กรอบแนวทาง “1 ข้าราชการ ศอ.บต. 1 ครัวเรือนยากจน” พร้อมกันนี้ ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อีกด้วย 

ช่วงบ่ายลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการโครงการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมืองปูทะเลโลก ณ กลุ่มเลี้ยงปูดำทะล อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ตามกรอบแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดย ศอ.บต. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงปูทะเลให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ ร่วมกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนรวมทั้งมีการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่

ในการนี้ นายนิพนธ์ ได้ประสานงานให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้ทำความตกลงกับท่านอธิการบดี มอ. ในการตกลงร่วมมือกันเพิ่มพันธุ์ปูทะเล ให้มากขึ้นกว่าปัจจุบันโดยกระทรวงเกษตรฯ พร้อมสนับสนุนงบประมาณ ในการขยายพันธุ์ปูทะเล

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวว่า สำหรับข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีความพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการของรัฐบาลทุกประการ ซึ่งผมเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถื่นและอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งทั้งสองกรม มีงบประมาณส่วนหนึ่งและบุคลากรเต็มที่ทุกตำบลทั่วประเทศสามารถสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดี โดยเฉพาะกรมการพัฒนาชุมชน มีตั้งแต่พัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ และพัฒนากรตามอัตราครบทุกตำบลในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในโครงการ 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน

 

นราธิวาส - ฝนกระหน่ำ 5 วัน!! น้ำป่าทะลักจนแม่น้ำสุไหงโก-ลก ล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมบ้านจนเดือดร้อน

รายงานข่าวเกี่ยวกับสภาวะฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.64 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน จากพื้นที่ จ.นราธิวาส แจ้งว่า ล่าสุดบรรยากาศบนท้องฟ้ายังคงมีเมฆฝนมืดครึ้มปกคลุมพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ และมีฝนตกลงมาเป็นช่วง ๆ ไม่หนักเหมือนในทุกวันที่ผ่านมา แต่ส่งผลทำให้มวลน้ำป่าบนเทือกเขาสันกลาคีรี ซึ่งมีต้นกำเนิดในพื้นที่ อ.สุคิริน ได้ไหลทะลักลงสู่แม่น้ำสุไหงโก-ลก อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงคืนที่ผ่านมา จนปริมาณน้ำในแม่น้ำสุไหงโก-ลก ซึ่งอยู่ในระดับตลิ่งสูง 8.20 เมตร มีระดับน้ำที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยชั่วโมงละ 30 ซ.ม.

จนล่าสุดมีปริมาณน้ำล้นสูงจากระดับสูง 1.69 เมตร และได้ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน ที่ปลูกสร้างอยู่ที่ราบลุ่มริมตลิ่ง โดยเฉพาะบ้านน้ำตก ม.5 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งมีปริมาณน้ำท่วมขังสูงโดยเฉลี่ย 40 ถึง 60 ซ.ม. ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ จำนวน 50 ครัวเรือน รวม 250 คน ได้รับความเดือดร้อน จนต้องใช้เรือพายและเดินลุยน้ำหากมีธุระจำเป็นต้องติดต่อกับโลกภายนอก

นอกจากนี้แล้วยังมีชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อีก 4 ชุมชน คือ ชุมชนท่าประปา ชุมชนท่าชมพู ชุมชนท่าเจ๊ะกาเซ็ง และชุมชนหัวสะพาน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากจากปริมาณของแม่น้ำสุไหงโก-ลกล้นตลิ่ง แต่ในปีนี้กรมโยธาธิการได้สร้างกำแพงกันน้ำแล้วเสร็จร้อยละ 95 ทำให้พื้นที่ 4 ชุมชนหลุดพ้นจากปัญหาปริมาณน้ำในแม่น้ำสุไหงโก-ลก ไหลทะลักเข้าท่วม แต่มีเพียงปริมาณน้ำฝนเท่านั้นที่ท่วมบ้านเรือนของประชาชน โดยภาพรวมสูงเฉลี่ยเพียง 20 ถึง 30 ซ.ม. ซึ่งถือว่าเป็นเพียงอุปสรรค์เล็กน้อยที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ เนื่องจากกรมโยธาธิการได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ มาติดตั้งทำการสูบน้ำระบายออกจากพื้นที่ 4 ชุมชน และคาดว่าในปีนี้สภาวะน้ำท่วมขัง 4 ชุมชนจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากแม่น้ำสุไหงโก-ลก ล้นตลิ่งแต่อย่างใด

ส่วนความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนนั้น นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก ได้มอบหมายให้นายคมกฤต จันทร์เมือง ปลัดอำเภอสุไหงโก-ลก ร่วมกับ ร.ท.อัครวัฒน์ อยู่รอบเรือง หน.ชุดบรรเทาสาธารณภัย ร. 151 พัน 2 นำกำลังพลลุยน้ำลงพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนในการขนย้ายสิ่งของสัมภาระที่จำเป็นหนีระดับขึ้นที่สูง เนื่องจากเกรงว่าหากมีสภาวะฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในช่วง 1 ถึง 2 วันนี้ มวลน้ำป่าจากเทือกเขาสันกลาคีรีอาจจะไหลสมทบลงสู่แม่น้ำสุไหงโก-ลก อีกละลอก เพื่อระบายลงสู่ทะเลด้าน อ.ตากใบ อาจจะส่งผลกระทบให้มีระดับน้ำท่วมขังเพิ่มสูงขึ้น

 

เชียงใหม่ - Kick Off!! เปิดตัวแล้ว... “งานเกษตรแม่โจ้ (ออนไลน์) 2564” นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน วิถีใหม่!!

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วม Kick Off!! เปิดตัวVirtual Tour งานเกษตรแม่โจ้ (ออนไลน์) 2564 นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน (วิถีใหม่) Kaset Fair @Maejo 2021 Online Smart Agricultural Innovation for Sustainability (Next Normal) จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22 - 29 ธันวาคม 2564 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่

ภายในงาน มีการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติผ่านระบบออนไลน์ , การจัดแสดงแปลงสาธิตพืช สัตว์ ประมง พร้อม Virtual Reality , การแสดงนวัตกรรมทางการเกษตรด้านพืช สัตว์ ประมง ,การฝึกอบรมสัมมนาวิชาชีพและหลักสูตรอบรมระยะสั้น , งาน 45 ปี คณะผลิตกรรมการเกษตร “นวัตกรรมเกษตรยุคใหม่ อาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ”และการจำหน่ายสินค้าเกษตรและอาหาร  พร้อมจัดส่งถึงบ้าน

นราธิวาส - ผู้ว่านราฯ ปรุงอาหารมื้อเย็น ลุยน้ำแจกชาวบ้าน พร้อมเหมาลูกชิ้นแจกเด็ก พร้อมช่วยบรรเทาทุกข์ชาวนราธิวาส จากภัยน้ำท่วม

นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส ได้เดินทางมายังพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อปรุงอาหารมื้อเย็นเป็นผัดเผ็ดไก่กับไข่ต้ม จำนวน 1,800 กล่อง พร้อมน้ำดื่ม แจกจ่ายให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในตลาดมูโนะ พร้อมทั้งได้เดินลุยน้ำแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ไม่สามารถเดินลุยน้ำมารับอาหารในครั้งนี้ด้วย ซึ่งการเดินลุยน้ำในครั้งนี้ผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส ได้ถือโอกาสพูดคุยปรับทุกข์กับชาวบ้าน ถึงในบ้านพักที่ถูกน้ำท่วมขัง เพื่อเป็นการสำรวจความเสียหายไปในตัว หากสภาพน้ำท่วมกลับคลี่คลายกลับสู่สภาวะปกติ ก็จะได้เร่งตั้งงบประมาณในการช่วยเหลือได้ทันที

ซึ่งการเดินลุยน้ำแจกอาหารกล่องของผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาสในครั้งนี้ พบว่ายังมีระดับน้ำท่วมขังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงของมวลน้ำป่าที่ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน ที่บริเวณจุดพนังกั้นน้ำพังเสียหาย แถมมีกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากกว่าในช่วงเช้าที่ผ่านมา จนเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน อ.สุไหงโก-ลก ต้องนำเชือกผูกมัดไว้กับเสาไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เดินทางเข้าออกตลาด เนื่องจากเกรงว่าอาจจะถูกกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากพัดจนได้รับอันตรายถึงชีวิต ซึ่งภาพรวมระดับน้ำท่วมขังสูงจากช่วยเช้าประมาณ 20 ซ.ม.โดยอยู่ในระดับ 80 ถึง 90 ซ.ม.

และในระหว่างที่นายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.นราธิวาส เดินลุยน้ำแจกอาหารกล่องและน้ำดื่มแล้วเสร็จ ได้ถือโอกาสเหมาลูกชิ้นปิ้งของประชาชน ที่ตั้งร้านค้าในน้ำเป็นเงิน 2,000 บาท เพื่อแจกจ่ายให้กับเด็กและเยาวชนที่กำลังสนุกสนานกับการเล่นน้ำ และได้มีผู้ปกครองท่านหนึ่ง พูดทีเล่นที่จริงกับท่านผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส ว่า ท่านสมเป็นกับผู้ว่าติดน้ำและติดดิน และมีเสียงหัวเราะตามมาสร้างความคลายเครียดในช่วงน้ำท่วมครั้งนี้

 

ชัยภูมิ - ชวนเที่ยวเทศกาล “มหัศจรรย์ประเพณีตีคลีไฟ” พร้อมโต้ลมหนาวชมธรรมชาติที่มอหินขาว จ.ชัยภูมิ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอนุชา เจริญรักษ์ นายอำเภอเมืองชัยภูมิ เผยว่า จังหวัดชัยภูมิได้ร่วมกันจัดงานเทศกาล “มหัศจรรย์ประเพณีตีคลีไฟ” ปี2564 และเทศกาลท่องเที่ยว “มอหินขาว โต้ลมหนาวที่ชัยภูมิ” ปี 2564-2565 จังหวัดชัยภูมิ ได้ประสบภัยธรรมชาติจากอุทกภัยครั้งใหญ่ และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อนทางสภาพกายและจิตใจ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 จังหวัดชัยภูมิ จึงได้อนุมัติให้จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งนี้ยังคงมีมาตรการเข้มการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ซึ่งในวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 15.30 น. จะมีการจัดงานเทศกาล “มหัศจรรย์ประเพณีตีคลีไฟ” ปี2564 ณ วัดแจ้งสว่าง บ้านหนองเขื่อง ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีที่มีการละเล่นสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานของชาวบ้านตำบลกุดตุ้ม เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2489  “ตีคลีไฟ”  เป็นการละเล่นโดยใช้เหง้าไม้ใผ่ และท่อนไม้งิ้วเป็นอุปกรณ์ละเล่น แบ่งผู้เล่นออกเป็น 6 ทีม ทีมละ 4-12 คน ใช้กฎกติกาคล้ายกับการเล่นกีฬาฮอกกี้ เล่นในช่วงหัวค่ำเพราะลูกคลีไฟเป็นไม้งิ้วทำเป็นลูกกลม ๆ มาเผาไฟและมีน้ำหนักเบา เมื่อนำมาตีจะทำให้มองเห็นลูกคลีไฟพุ่งเป็นดวงอย่างสวยงามไม่ต่างจากไฟประทัด หรือไฟพะเนียง จังหวัดชัยภูมิได้เล็งเห็นความดีงามของประเพณีที่ประชาชนได้ร่วมกันสืบทอดมายาวนาน และมีความมุ่งหวังจะสืบทอดประเพณีให้คงอยู่และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งประชาชนทั่วไปในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด รวมถึงขยาย ผลถึงชาวต่างประเทศให้เป็นที่รู้จักงานเทศกาล "มหัศจรรย์ประเพณีตีคลีไฟที่ชัยภูมิ" หนึ่งเดียวในโลก จึงได้ส่งเสริมและอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามมาตั้งแต่เดิมให้อยู่คู่เมืองชัยภูมิตลอดไป

และอีกเทศกาลเด่น ที่ชาวไทยและชาวต่างประเทศรู้จักกันดี ก็คือ เทศกาลท่องเที่ยว “มอหินขาว โต้ลมหนาวที่ชัยภูมิ” อำเภอเมืองชัยภูมิร่วมกับส่วนราชการ อุทยานแห่งชาติภูแลนคา องค์การบริหารส่วนตำบลท่าหินโงม กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและพี่น้องประชาชนตำบลท่าหินโงม ได้จัดงานเทศกาลท่องเที่ยวมอหินขาว

โต้ลมหนาวที่ชัยภูมิ ประจำปี 2564-2565 โดยกำหนดเปิดงานในวันที่ 25 ธันวาคม 2564 ณ บริเวณลานหินห้าแท่ง มอหินขาว อุทยานแห่งชาติภูแลนคา ตำบลท่าหินโงม อำเภอเมืองชัยภูมิ โดยแหล่งท่องเที่ยวมอหินขาว ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูแลนคา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่มีความสวยงามแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มหินในบริเวณนี้เป็นหินทรายสีขาวเกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก การผุพังและกัดเซาะของทางน้ำ ลม และแสงแดด มาเป็นเวลานานนับล้านปี จนปรากฎเป็นหินรูปทรงต่าง ๆ แปลกตา ซึ่งเป็นลักษณะเด่นทางธรณีวิทยาที่หาได้ยากมาก แหล่งท่องเที่ยว มอหินขาวได้ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวในโครงการ 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ปี 2565

นายอนุชา เจริญรักษ์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงน่าเป็นห่วงและต้องมีมาตรการการป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาด จึงอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมได้ในช่วงเวลาเช้า-ค่ำไม่เกินเวลา 19.00 น. เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือมีการตรวจคัดกรองแบบ ATK (Antigen Test) ผลเป็นลบ ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยไม่อนุญาตให้มีการกางเต้นท์พักแรมในบริเวณของมอหินขาว หากต้องการพักค้างแรมหรือกลางเต้นท์นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปพักได้ที่บริเวณผาหัวนาค ซึ่งเดินทางขึ้นไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร

 

สระบุรี - จัดโครงการ “คลินิกเกษตรเคลื่อนที่” ในพระบรมราชานุเคราะห์ฯ ครั้งที่ 1/2565

วันนี้ (22 ธ.ค.64) นางอังคณา ชิตะติตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานเปิดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระบรมราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประจำปี 2565ครั้งที่ 1 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหัวโพ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี

ในสถานการณ์ปัจจุบันมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา covid-19 ทำให้วิถีการทำเกษตรเปลี่ยนไปการรวมกลุ่มการทำกิจกรรมทางการเกษตรไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติเกษตรกรไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้เท่าที่ควร เนื่องจากช่องทางจำหน่ายลดลงทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงต้นทุนผลิตสินค้าเกษตรมีราคาสูง ขาดอำนาจการต่อรอง ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง และยังประสบปัญหาด้านการเกษตรด้านโรค แมลง ศัตรูพืชระบาด จะเห็นว่าปัญหาด้านการเกษตรมีความหลากหลาย จึงจำเป็นต้องบูรณาการ ออกหน่วยให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพการเกษตรและแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี ได้จัดงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระบรมราชานุเคราะห์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประจำปี 2565 ครั้งที่ 1 เพื่อให้บริการเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาการผลิตด้านการเกษตรอย่างรวดเร็ว อย่างทั่วถึง และสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร บูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานส่งเสริม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการให้บริการและแก้ไขปัญหาทางการเกษตรร่วมกัน ให้สามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

ชลบุรี - ‘ผอ.เจ้าท่าพัทยา’ เผยโครงการเดินเรือเฟอร์รี่ชลบุรี-สงขลา กระแสตอบรับดี!! เสริมระบบโลจิสติกส์การขนส่งท่องเที่ยวทางทะเล

นายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาพัทยา เปิดเผยถึงโครงการเดินเรือเฟอร์รี่ระหว่างจ.ชลบุรี-จ.สงขลา ว่า กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่าได้มีการผลักดันในส่วนของการเดินเรือคอสอ่าวไทย จากท่าต้นทางท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (ท่าเรือจุกเสม็ด) ไป ท่าเรือเซ้าท์เธิร์น โลจิสติกส์ 2009 จ.สงขลา โดยเรือเฟอร์รี่ ซีฮอร์ส นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เดิมชื่อ Blue Dolphin มีขนาด 7,003 ตันกรอสส์  ความยาว 136.6 เมตร รองรับรถบรรทุกได้ประมาณ 80 คัน รถยนต์ส่วนตัว 20 คัน ผู้โดยสารประมาณ 586 คน ด้วยความเร็ว 17 น๊อต ใช้เวลาเดินทาง 18-20 ชม. เร็วกว่าทางบกที่ระยะทาง 1,130 กม. ช่วยร่นระยะทาง 519 กม. ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ในภาพรวมการขนส่งภายในประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำ อีกทั้งเพื่อลดปัญหา ความแออัดของการจราจร ลดการเกิดอุบัติเหตุท้องถนน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)

ซึ่งในส่วนพื้นที่ทางทะเลนั้นกรมเจ้าท่ามีความพร้อมในการควบคุมการจราจร ความปลอดภัยในการเดินเรือในเส้นทางดังกล่าวตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง อีกทั้งทางเทียบเรือต้นทางที่สัตหีบก็มีความพร้อมในการนำเรือเข้าเทียบท่าได้อย่างปลอดภัย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่มีการเปิดให้บริการที่ผ่านมาบริษัทที่รับผิดชอบในการบริการเรือเฟอร์รี่ ซีฮอร์ส เส้นทางชลบุรี (สัตหีบ) - สงขลา พบว่าได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการ ประชาชนที่มีการเดินทางมาท่องเที่ยวจากสงขลาและพัทยามีจำนวนผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่มีผู้มาใช้บริการแบบเต็มลำเรือที่สามารถให้บริการได้ แต่แนวโน้มในภาพรวมเป็นไปในทางที่ดีขึ้นอีกทั้งยอดของจำนวนรถที่เดินทางมาจากสงขลามาพัทยาก็มีจำนวนมากขึ้นจาก 10 คัน เพิ่มาเป็น 20 คัน และเพิ่มมาถึง 30 คัน ซึ่งเป็นรถบรรทุกเทเลอร์ขนาดใหญ่

 

ชลบุรี - ปลื้มใจ!! สวนนงนุชพัทยา เผย “พังฟ้าใส” ลูกช้างป่าถูกบ่วง - ยิงบาดเจ็บ อาการดีขึ้นมาก

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.64 นายกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา ได้เปิดเผยถึง ความคืบหน้าอาการ "พังฟ้าใส" ลูกช้างป่า ที่ได้รับบาดเจ็บข้อเท้าหน้าขวา ถูกบ่วงพรานป่าหนีบจนขาด และบาดแผลถูกยิงบริเวณหน้าขาซ้าย หัวกระสุนฝังใน 10 นัด จากในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งออ ชาติเขาสิบห้าชั้น อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ส่งมอบให้อยู่ในความดูแลรักษาของ ปางช้างสวนนงนุชพัทยา ตั้งแต่ 1 ธ.ค.64 รวมระยะเวลาแล้ว 21 วัน

คืบหน้าเรื่องนี้ โดย ทีมสัตวแพทย์ ปางช้างสวนนงนุชพัทยา ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการผ่าตัดชิ้นส่วนข้อเท้า ทำการใส่เฝือก เพื่อรักษาบาดแผล และผ่าตัดเอาหัวกระสุนออกทั้งหมดแล้ว ขณะนี้ อยู่ในการรักษาบาดแผล ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ และทำความสะอาดบาดแผลทุกวัน เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ พบว่า หลังการรักษา เริ่มมีผิวหนังงอกใหม่เพิ่มขึ้น ไม่พบเศษเนื้อตาย แต่พบหนองเล็กน้อย และขอบแผลด้านในเป็นเนื้อสดสีชมพู

นอกจากนี้ ได้ทำการเลเซอร์อาการอักเสบ และเร่งการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ อาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือน ในการฟื้นฟูเนื้อเยื่อ และหากหายจากอาการบาดเจ็บ ก็จะทำการธาราบำบัด (ด้วยน้ำ) เพื่อให้ช้างสามารถใช้ชีวิต เดินได้อย่างเป็นปกติ เต็มกำลังความสามารถ

ส่วนด้านสภาพจิตใจ และการตอบสนองโดยรวม “พังฟ้าใส” ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่ดิ้น ไม่ร้อง ไม่งอแง และยังมีอารมณ์ร่าเริง ดื่มนมเก่งวันละ 14 - 17 ลิตร อีกทั้ง ได้มีการเปลี่ยนเฝือกรองเท้าตามสีประจำวัน จนทำให้น้องช้างดูสดใส อีกด้วย

ตราด - ทัพเรือภาคที่ 1 จัดกิจกรรมพัฒนาอาชีพ ประยุต์สู่ “โคกหนองนา โมเดล” เพื่อเสริมสร้างรายได้ ภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง

ในวันที่ 21 ธ.ค.64 พลเรือตรี สุระศักดิ์ สิงขรวัฒน์ เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 1 /หัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่ในเขตทัพเรือภาคที่ 1 เป็นประธานในการจัดกิจกรรมพัฒนาอาชีพเพื่อเสริมสร้างรายได้ภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ อ.เมืองตราด จว.ตราด โดยมี นายกิตติพงษ์ ละชั่ว ผู้บังคับการเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ และคณะให้การต้อนรับ

การจัดกิจกรรมพัฒนาอาชีพเพื่อเสริมสร้างรายได้ภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคนให้พออยู่พอกินและพึ่งพาตนเองได้ ยึดหลักการดำเนินงานบนทางสายกลางเป็นขั้นเป็นตอน บนพื้นฐานของความสมดุลพอดีในทุกภาคส่วน มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตามวิถีแห่งธรรมชาติด้วยวิธีที่เรียบง่าย สามารถนำความรู้ที่ได้รับ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการอบรมให้ความรู้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “เกษตรกรปลอดภัย ก้าวไกลสู่เกษตรอินทรีย์” อีกทั้งยังได้มีกิจกรรมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม โดยการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทำการทดลองทำปุ๋ยหมักและอาหารปลา ที่ทำจากวัสดุอุปกรณ์ที่มาจากธรรมชาติ ซึ่งสามารถนำความรู้ที่ได้รับ ไปใช้ในชีวิตประจำวันและสามารถนำไปใช้ในการลดต้นทุนในการประกอบอาชีพ เพื่อให้มีเงินเหลือเก็บ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top