Saturday, 10 May 2025
Region

ชุมพร - สนข. เดินหน้าพัฒนาโครงการ Land Bridge ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคอาเซียน

นายกองเอกพุทธ กฤชคงพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อแนะนำโครงการและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ณ ห้องพุทธรักษา โรงแรมมรกตทวิน อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร

ด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ณ ห้องพุทธรักษา โรงแรมมรกตทวิน จังหวัดชุมพร เพื่อนำเสนอความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ และขอบเขตการดำเนินงาน โดยมีคณะผู้บริหารและสื่อมวลชน เข้าร่วมงานดังกล่าว

ปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดีย ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้า ทั้งนำเข้าและส่งออกผ่านช่องแคบมะละกา (สิงคโปร์) ซึ่งเส้นทางดังกล่าว เป็นเส้นทางที่อ้อมและมีระยะไกล การจราจรทางน้ำคับคั่ง จากข้อมูลปี 2561 ช่องแคบมะละกามีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 85,000 ลำ/ปี และในอีก 10 ปีข้างหน้า ปริมาณเรือจะเพิ่มขึ้นกว่า 128,000 ลำ ซึ่งเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกาที่รองรับได้ 122,000 ลำต่อปี ก่อให้เกิดปัญหาการติดขัดและเสียเวลาในการเดินทาง กระทรวงคมนาคม จึงมอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) โดยมีขอบเขตการศึกษา ประกอบด้วย

1.ศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ การเงิน วิศวกรรม สังคม ของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เช่น ท่าเรือ รถไฟ ถนน เป็นต้น ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

2.ออกแบบรายละเอียดเบื้องต้น และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

3.จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตามพระราชบัญญัติการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

4.วิเคราะห์จัดทำรูปแบบการพัฒนาและการลงทุน (Business Development Model) ของโครงการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เช่น ท่าเรือ รถไฟ ถนน เป็นต้น ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน และ สร้างความเข้าใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านตลอดระยะเวลาดำเนินงาน โดยมีระยะเวลาศึกษาโครงการ 30 เดือน ซึ่งคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2566

โดยแนวคิดการพัฒนาสร้างท่าเรือชุมพร กำหนดให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ทันสมัย โดยนำระบบออโตเมชั่นมาใช้เพื่อยกระดับท่าเรือสู่ Smart Port  ส่วนแนวคิดการพัฒนาท่าเรือระนอง กำหนดให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์และเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือกลุ่มประเทศแถมเอเชียใต้

นอกจากนี้จากการศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาท่าเรือเชื่อมอ่าวไทย-อันดามันแล้ว โครงการฯ ยังได้ศึกษาความเหมาะสมเพื่อบูรณาการการขนส่งทางท่อ ทางบก และทางราง เพื่อให้เชื่อมต่อกับ 2 ท่าเรืออย่างไร้รอยต่อ โดยศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และรถไฟทางคู่ และการขนส่งทางท่อ โดยจะก่อสร้างคู่ขนานบนเส้นทางเดียวกัน เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของภาคประชาชน

 

นราธิวาส - ศอ.บต.นำร่องโครงการ 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลครัวเรือนที่มีฐานะยากจนเพื่อช่วยเหลือ

นายธารธรรม คำแป้น นิติกร ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย นายอับดุลเลาะ สือรี กำนัน ต.รือเสาะ นายอัสรี หะยีสือนิ ผู้ใหญ่บ้าน ม.10  ต.รือเสาะ และบัณฑิตอาสา ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้เดินทางไปยังบ้านของนางเจ๊ะมะ สะอิ อยู่บ้านเลขที่ 292/3 ม.10 บ้านบาซาบาตอ ต.รือเสาะ อ.รือสา จ.นราธิวาส เพื่อสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่มีฐานะยากจน ตามโครงการ นำร่องโครงการ 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของ ศอ.บต.ที่บูรณาการขจัดความยากจนพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ประชุมคณะกรรมการศูนย์บูรณาการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดชายแดนภาคใต้วางแผนการดำเนินงานนำร่องให้ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง ศอ.บต. เป็นข้าราชการนำร่องประกบครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งมีจำนวนนำร่อง 379 ครัวเรือน ใน 43 อำเภอ จากจำนวนสำรวจทั้งสิ้น 37,395 ครัวเรือน โดยพิจารณาจากเกณฑ์ความยากจนทับซ้อน 5 มิติ คือ มิติความจนด้านสุขภาพ รายได้ การศึกษา ความเป็นอยู่ และความจนด้านมิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ หวังขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่าการแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จชต. โดย ศอ.บต. ในฐานะหน่วยนำการพัฒนา จะเป็นหน่วยขับเคลื่อน เสริม และเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยจะมี การนำร่องโครงการ ให้ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง ศอ.บต. ลงพื้นที่ประกบครัวเรือนเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายงานเรียบร้อยแล้ว และเตรียมลงพื้นที่ตามแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ประกบ ช่วยเหลือประชาชนในโครงการ 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจนในครั้งนี้ เป็นการนำร่องเพื่อค้นหารูปแบบที่ดีที่สุด ในการช่วยเหลือประชาชนให้พ้นเกณฑ์ ความยากจนอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งเป้าให้เห็นเป็นรูปธรรมในไตรมาสที่จะถึงนี้

 

สตูล - ผู้ว่าฯ ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกรรมการและผู้เข้าสอบแข่งขัน บรรจุเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น

วันนี้ 13 ธ.ค 2564 เมื่อวันที่ 12 ธ.ค 2564 ที่ผ่านมานายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกรรมการ เจ้าหน้าที่และผู้เข้าสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2564 ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) และภาคความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข) ตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ ที่โรงเรียนสตูลวิทยา อ.เมืองสตูล จ.สตูล โอกาสนี้นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้เยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ กรรมการคุมสอบ และผู้เข้าสอบแข่งขัน ตามห้องสอบต่าง ๆ รวมทั้งให้กำลังใจผ่านเสียงตามสายของโรงเรียนด้วย  

สำหรับโรงเรียนสตูลวิทยา มีผู้เข้าสอบแข่งขันจำนวน 1,080 คน 36 ห้องและเป็นหนึ่งในสนามสอบของจังหวัดสตูล จากจำนวนทั้งหมด 12 แห่ง มีผู้สอบแข่งขันรวม 6,922 คน โดยผู้เข้าสอบต้องปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัดสตูล ตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่น มีใบแสดงผลการได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดส ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ หากไม่ครบโดสก็ให้แสดงผลตรวจ ATK หรือRT-PCR ไม่เกิน 12 ชั่วโมง

 

‘ผบช.ภ.1’ ปล่อยแถวระดมกวาดล้าง ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์!!

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เวลา 16:00 น. ที่ลานจอดรถ ห้างแม็คโครคลองหลวง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค1 เป็นประธานปล่อยแถวเพื่อระดมกวาดล้างป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ 

โดยมี พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รองผบช.ภ.1 พล.ต.ต.ชุมพล ชาญชนะโยธิน ผบก.ภ.จว.ปทุมธานีพ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ มิตรปราสาท ผกก.สภ.คลองหลวง ว่าที่ร้อยตรี พิชญะ เพียราช ปลัดอำเภอคลองหลวง นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สาธารณสุขเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม แรงงานจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ตำรวจสันติบาลจังหวัดปทุมธานี และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปทุมธานี เข้าร่วมปล่อยแถว 



ในเวลาต่อมา พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค1 พร้อมส่วนเกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบตลาดผลไม้ตลาดไท ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยมี พ.ต.ต.สิรภพ บัวหลวง สว.สส.สภ.คลองหลวง พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ตลาดไท ให้การต้อนรับและนำตรวจแผงค้าผลไม้และพื้นที่ตลาดไทเนื้อที่กว่า 500 ไร่  

ด้านพล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค1 เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลและผบ.ตร.ให้ดูแลเรื่องแรงงานต่างด้าวให้เข้มข้นตลอดระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมามีการเข้มงวดตรวจสอบแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยเข้ามาอย่างถูกต้องหรือไม่ มีการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมายหรือไม่การตรวจวันนี้มีการทำพร้อมกันทั้งจังหวัดปทุมธานี ทุกโรงพัก ว่าเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เข้าเมืองอย่างถูกต้องโดยถูกกฎหมายหรือไม่ 

สุรินทร์ - สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 10 แห่ง ก่อนเปิดงาน “มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์" ครั้งที่ 61 เพื่อความเป็นสิริมงคลและให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

วันที่ 15 ธันวาคม 2564 เวลา 07.09 น. นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยนายกเหล่ากาชาด รองผู้ว่าราชการจังหวัด คณะหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดสุรินทร์ก่อนเปิดงาน "มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์"  

โดยเริ่มจากไหว้พระพุทธจอมสุรินทร์ พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ จากนั้นไหว้สักการะหลวงพ่อพระชีว์ (หลวงพ่อประจี) พระคู่บ้านคู่เมือง ณ วัดบูรพาราม (พระอารามหลวง) และเดินทางสักการะศาลหลักเมืองสุรินทร์ อนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จากวาง องค์อินทร์ ณ สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สนามแสดงช้าง ศาลพระภูมิ ณ สนามกีฬาศรีณรงค์ องค์อินทร์ ณ โรงเรียนสุรวิทยาคาร สุดท้ายที่พระพรหมและศาลปู่ย่า หน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์หลังใหม่

เพื่อให้การจัดงานดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้จัดงานและผู้มาร่วมชมงานนี้ จากที่จังหวัดสุรินทร์ได้กำหนดจัดงาน “มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์” ประจำปี 2564 ปีนี้เป็นปีที่ 61 กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 15 - 26 ธันวาคม 2564 ณ สนามกีฬาศรีณรงค์ และสนามแสดงช้าง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองอันดีงาม และอนุรักษ์การแสดงช้างซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติไทยให้คงอยู่สืบไป โดยช่วงเย็นวันที่ 15 ธันวาคม 2564 มีพิธีเปิดงานมหัศจรรย์ขึ้นอย่างเป็นทางการ ในเวลาประมาณ 17.00 น.

กระบี่ - ทำพิธี! “จมฝูงเรือรบหลวง” อย่างสมเกียรติ สร้างอุทยานเรียนรู้ใต้ท้องทะเลเกาะลันตา

วันที่ 15 ธ.ค.64 นายไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีจมเรือรบหลวง รวม 3 ลำ ใกล้กับเกาะหมา ท้องทะเล อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ลงสู่ใต้ทะเล เป็นอุทยานการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรทางทะเล และเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ ระดับโลก ในพื้นที่ทะเลเกาะลันตา จ.กระบี่ โดยมีนายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ / พลเรือตรี พัลลภ เขม้นงาน รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 / นายชวน ภูเก้าล้วน ประธานสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ และประชาชน เข้าร่วม

โดยก่อนการจมเรือหลวง ทั้ง 3 ลำ คือ เรือหลวงปราบปรปักษ์ เรือ ต 15 หรือเรือหลวงสู้ไพรินทร์ และเรือ ต 16 หรือเรือหลวงหาญหักศัตรู ลงสู่ใต้ท้องทะเล ได้มีพิธีวางพวงมาลาไว้อาลัยอย่างสมเกียรติ พร้อมทำการนำน้ำเข้าเรือใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง กว่าเรือจะจมดิ่งสู่ก้นทะเลทั้งลำ ซึ่งพิธีจมเรือดังกล่าวเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำของจังหวัดกระบี่ และจังหวัดฝั่งอันดามัน ตามโครงการอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล โดยความร่วมมือระหว่างจังหวัดกระบี่ ร่วมกับกองทัพเรือ และสภาการศึกษา จ.กระบี่

นายไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการสร้างอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลจังหวัดกระบี่ ได้รับการอนุเคราะห์จากกองทัพเรือ มอบเรือปลดประจำการ จำนวน 11 ลำ ซึ่งเป็นเรือที่ปลดประจำการ เพื่อจมใต้ท้องทะเลเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ โดยในวันนี้ ทำการจมเรือรบปลดประจำการจำนวน 3 ลำ ได้มีการทำพิธีวางเรือไปแล้ว จำนวน 3 ลำ เพื่อเป็นการจัดสร้างปะการังเทียม ตามโครงการอุทยานเรียนรู้ใต้ท้องทะเล จังหวัดกระบี่ ส่วนอีก 8 ลำ จะนำมาจมอีก ประมาณเดือนมีนาคม 65 ซึ่งจากนี้ไปเรือรบทั้ง 3 ลำ จะทำหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ตามโครงการอุทยานเรียนรู้ใต้ท้องทะเลจังหวัดกระบี่ตลอดไป

ด้านนายสมชาย หาญภักดีปฎิมา รอง ผวจ.กระบี่ กล่าวว่า เชื่อว่าในอนาคต จังหวัดกระบี่ จะเป็นศูนย์กลางการดำน้ำดูปะการังที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในท้องทะเลฝั่งอันดามัน เนื่องจากมีปะการัง ที่เป็นโครงการอุทยานเรียนรู้ และปะการังธรรมชาติ โดยก่อนหน้านี้ทางจังหวัดกระบี่ ได้นำเรือรบที่ปลดประจำการ ไปวางไว้ท้องทะเล จำนวน 2 จุด ได้แก่บริเวณเกาะยาวาซำ และเกาะพีพีเล ต.อ่าวนาง พบว่ามีปะการังเริ่มเจริญงอกงาม และกำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว

 

เพชบูรณ์ - มณฑลทหารบกที่ 36 สนับสนุนผลผลิตลำใย ที่ได้รับผลกระทบผลไม้ล้นตลาดและราคาตกต่ำ ของเกษตรกรในพื้นที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 36 ได้มอบลำไยพันธ์อีดอ (เกรดเอ) ให้กับกำลังพลของหน่วย โดยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากกรณีผลไม้ล้นตลาด และราคาตกต่ำของเกษตรในพื้นที่ อ.จอมทอง จว.ช.ม. จำนวน 25 ตัน ผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)

โดย มณฑลทหารบกที่ 36 สนับสนุนการรับซื้อลำไยจากเกษตรกรที่ได้รับ ผลกระทบ จำนวน 350 กิโลกรัม (117 ตะกร้า) ณ กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 36 ค่ายพ่อขุนผาเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์

นราธิวาส - ศึกษาธิการจังหวัด นำประกาศเจตจำนงต่อต้านการทุจริต!!

เมื่อวันพุธ ที่ 15 ธันวาคม 2564 ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาสนำทีมผู้บริหารและบุคลากรสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาสประกาศเจตจำนงต่อต้านการทุจริต ณ ห้องประชุมบุหงาตันหยง สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส

นายชาร์รีฟ สือนิ ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “ในวันนี้กระทรวงศึกษาธิการได้จัดงานวันต่อต้านการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งภายในงานได้มีพิธีประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริตและมอบนโยบายNo Gift Policy ของกระทรวงศึกษาธิการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด “กระทรวงศึกษาธิการโปร่งใส ไม่ทนต่อการทุจริต” (MOE TRUST & Zero Tolerance) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยได้ให้บุคลากรสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัดได้เข้าร่วมรับชมการถ่ายทอดสดกิจกรรมดังกล่าวทาง Facebook Live

ทั้งนี้ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาสได้จัดกิจกรรมต่อต้านการทุจริต โดยศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาสเป็นประธานในการประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริตของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาสซึ่งมีใจความว่า “จะปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์  สุจริต มีความโปร่งใส และมีคุณธรรมในการปฏิบัติงาน บริหารงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ

 

กาฬสินธุ์ - สองสามีภรรยาเกษตรกร ต้นแบบเลี้ยงโคขุน - ทอผ้าขาย สร้างรายได้ตลอดปี!!

สองสามีภรรยาเกษตรกรต้นแบบชาวอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ทิ้งอาชีพทำนา ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง หันมาทำฟาร์มเลี้ยงโคขุน 3 สายพันธุ์ เลี้ยงง่าย รายได้ดี และสบายกว่าทำการเกษตรที่ต้นทุนสูงราคาขายผลผลิตไม่แน่นอน ทั้งยังมีเวลาว่างรวมกลุ่มกับเพื่อนบ้านทอผ้าไหมแท้เป็นสไบแพรลายตาคู่  ซึ่งเป็นลายประจำตำบล จำหน่ายสร้างรายได้ตลอดปี

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชน ที่มีพื้นที่ทำกินนอกเขตใช้น้ำชลประทานในช่วงฤดูแล้ง หลังเก็บเกี่ยวผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลังเสร็จสิ้น ซึ่งพบว่าส่วนมากว่างงาน เนื่องจากขาดแหล่งน้ำทำการเพาะปลูกพืชประจำฤดู เป็นสาเหตุของการอพยพแรงงานออกนอกพื้นที่ ปล่อยผู้สูงอายุอยู่เฝ้าบ้าน เลี้ยงหลาน และทำอาชีพเสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ พอมีรายได้และอาหารจุนเจือครอบครัว

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้ง มีครอบครัว 2 สามีภรรยา ชาวบ้านโพนสวาง หมู่ 4 ต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้หันหลังให้กับอาชีพการเกษตร ทั้งทำนา ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง โดยได้เปลี่ยนอาชีพใหม่ คือการทำฟาร์มเลี้ยงโคขุน 3 สายพันธุ์ ทั้งบรามันห์ ชาโรเลส์และแองกัส ใช้เวลาเพียง 3 ปีประสบความสำเร็จ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านปศุสัตว์ระดับอำเภอ ทั้งยังมีเวลาว่างปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหมจำหน่าย สร้างรายได้ตลอดปี โดยในแต่ละวันจะมี “นายฮ้อย” และผู้ประกอบการค้าขายโค รวมทั้งมีคณะศึกษาดูงานจากต่างถิ่น แวะเวียนมาติดต่อและสอบถามอย่างต่อเนื่อง

นายประเสริฐ นครชัย อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 155 หมู่ 4 บ้านโพนสวาง กล่าวว่า เดิมครอบครัวตนทำนา 9 ไร่ ปลูกอ้อย 10 ไร่ และปลูกมันสำปะหลัง 10 ไร่ ระยะหลังประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากปุ๋ยแพง ค่าแรงสูง บางปีฝนทิ้งช่วง ผลผลิตตกต่ำ ไม่คุ้มทุน ทำมากี่ปี ๆ ก็ย่ำอยู่กับที่ เมื่อปี 2561 จึงคิดหาทางออกที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความชอบของตนเอง คือการเลี้ยงโคเนื้อ เนื่องจากเนื้อโคเป็นที่นิยมของผู้บริโภคตลอดปี และราคาซื้อขายเริ่มขยับสูงขึ้น เริ่มแรกตัดสินใจหาซื้อแม่โคลูกผสม สายพันธุ์บราห์มันที่กำลังตั้งท้องมา 5 ตัว เพื่อประหยัดเวลาในการเลี้ยงและเห็นผลผลิตเร็ว

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า เมื่อแม่โคทั้ง 5 ตัวออกลูกมา ก็ได้จำนวนโคในคอกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ตัว ก็เลี้ยงมาเรื่อยๆ มีโอกาสก็หาซื้อแม่โคที่กำลังตั้งท้องเพิ่มเข้ามา จำนวนโคก็ทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็กลายเป็นฟาร์มโคย่อมๆขึ้นมาเพียงเวลาไม่นาน ทั้งนี้เมื่อลูกโคโตขึ้นได้ขนาดและน้ำหนักพอขาย ก็จะขายเพศผู้ออกไป เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนซื้อโคเพศเมียเข้ามา เพิ่ม โดยจะเลี้ยงและรักษาโคตัวเมียเพื่อขยายพันธุ์ในฟาร์ม ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค นอกจากจะเลี้ยงหรือขุนโคสายพันธุ์บรามันห์แล้ว ยังนำสายพันธุ์ชาโรเลส์ และแองกัส ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วไปมาเลี้ยงด้วย

“การเลี้ยงโคขุนของตนทำง่าย ๆ โดยขังอยู่ในคอกและอยู่ในบริเวณจำกัด ไม่ได้ปล่อยเลี้ยงกลางทุ่ง อาหารมีทั้งหญ้าสด ฟาง และอาหารเสริม ซึ่งมีกินพอเพียงตลอดปี เนื่องจากเปลี่ยนพื้นที่ทำนา 9 ไร่ เป็นนาหญ้า 8 ไร่ ขุดบ่อกักเก็บน้ำ 1 ไร่ เพื่อหล่อเลี้ยงนาหญ้า ขณะที่พื้นที่ที่เคยปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง รวม 20 ไร่ ให้เพื่อนบ้านเช่าทำกิน จึงมีเวลาดูแลโคขุนในฟาร์มอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ได้ลงนามความร่วมมือกับผู้ประกอบการรับซื้อโคขุน โดยขายทั้งตัวราคาซื้อขายทุกสายพันธุ์ราคาเดียวกัน คือกิโลกรัมละ 100 บาท โดยโคอายุ 2 ปี น้ำหนักตัวละประมาณ 400-500 กิโลกรัมเริ่มจำหน่าย ซึ่งจะได้ราคาตัวละ 40,000-50,000 บาท” นายประเสริฐกล่าว

ด้านนางเกสร ฆารไสย อายุ 52 ปี ภรรยานายประเสริฐ กล่าวว่า หลังจากเปลี่ยนอาชีพจากการทำเกษตรมาเลี้ยงโคอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งมองเห็นอนาคตการเลี้ยงโคขุนจะมีอนาคตดีกว่าทำนา ปลุกอ้อยและมันสำปะหลัง จึงได้ร่วมกับเพื่อนบ้านที่ต้องการเลี้ยงโค ไปขอคำปรึกษากับทางปศุสัตว์ อ.สหัสขันธ์ และ ธ.ก.ส.สาขาสหัสขันธ์ จากนั้นเข้าร่วมโครงการสร้างอาชีพ เพื่อขอสินเชื่อเป็นทุนจัดซื้อแม่โคมาเลี้ยงและขยายพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมามีการเลี้ยงโคเนื้อและโคขุน จำหน่ายหมุนเวียนเรื่อยมา ทำให้มีรายได้ใช้หนี้และจัดซื้อแม่โคเพิ่มเข้ามา ปัจจุบันมีโคในฟาร์ม 40 ตัว

นางเกสรกล่าวต่อว่า การเลี้ยงโคขุนเลี้ยงง่าย ไม่ต้องปล่อยเลี้ยงกลางทุ่ง ไม่ยากลำบาก ไม่เหนื่อย เหมือนทำการเกษตร เพียงแต่ไปตัดหญ้าที่นาหญ้า และซื้อฟางข้าวอัดก้อนมาตุนไว้ให้โคกิน ถึงเวลาก็ให้อาหารเสริมเท่านั้น จึงมีเวลาว่างเยอะ ทำให้มีโอกาสที่จะทำอาชีพอื่นเสริมมากขึ้น ซึ่งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้า ถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านเราทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายอยู่แล้ว เพียงแต่หาเวลาทำไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น หลังจากเลิกทำนา เลิกปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง จึงมีเวลาที่จะสานต่ออาชีพทอผ้าอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ โดยการสนับสนุนของทางอำเภอสหัสขันธ์ และพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ได้รวมกลุ่มแม่บ้านตั้งกลุ่มปลูกหม่อนไหมเหลืองบ้านโพนสวาง มีสมาชิกกลุ่ม 16 คน กิจกรรมกลุ่มมีปลูกหม่อน เลี้ยงไหม รวมทั้งทุกกระบวนการทั้งสาวไหม เข็นไหม ทอผ้า ตัดเย็บและแปรรูป

 

ชุมพร - จัดโครงการ “สวมหมวกนิรภัย 100 % ตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร” เคารพต่อกฎหมาย- เคารพกฎจราจร ด้วยการสวมหมวก!!

วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เวลา 09.30 น.นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรให้เกียรติมาเป็นประธานในกิจกรรมโครงการสวมหมวกนิรภัย 100 % ตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร ร่วมกับพลตำรวจตรี วิรุฬ สุวรรณวงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร / พันตำรวจเอกประสิทธิศักดิ์ ศรีสุข รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร / พันตำรวจเอกเทเวศร์ ปลื้มสุทธิ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองชุมพร / นายประมูล อุ่นเรือน ท้องถิ่นจังหวัดชุมพร / นางสาวสุนารี บุญชุบ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชุมพร / นายนักรบ ณ ถลางนายอำเภอเมืองชุมพร / นายภาสกร ชาญกสิกร เลขานุการ อบจ. และ นายศรีชัย วีรนรพานิช นายกเทศมนตรีเมืองชุมพร

โดย พันตำรวจโทสมชาย มากอำไพ กล่าวว่า ท่านพลตำรวจโทอำพล บัวรับพร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ซึ่งเห็นความสำคัญว่าปัจจุบันอุบัติเหตุทางถนน ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ต่อทรัพย์สินและความสูญเสียต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก อุบัติเหตุทางถนนจะเกิดขึ้นกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นส่วนมาก ท่านจึงดำริให้จัดทำโครงการสวมหมวกนิรภัย 100 % ขึ้นทุกสถานีตำรวจในสังกัด ตำรวจภูธรภาค 8 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารตระหนักถึงความสำคัญในการสวมหมวกนิรภัย ซึ่งจะช่วยป้องกันให้ลดการบาดเจ็บ ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนน เป็นการปลูกจิตสำนึกของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ให้เคารพต่อกฎหมาย เคารพกฎจราจร ด้วยการสวมหมวก

จากนั้น พันตำรวจเอกเทเวศร์ ปลื้มสุทธิ์ กล่าวว่า โครงการสวมหมวกนิรภัย 100 %เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร การปลูกจิตสำนึกของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ให้เคารพต่อกฎหมาย เคารพกฎจราจร ด้วยการสวมหมวก นิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ขั้นตอนการปฏิบัติ มี 3 ช่วงด้วยกัน ช่วงเริ่มต้นรณรงค์ คือตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 ถึง 31 มกราคม2565  ช่วงกวดขันเข้มข้น มีด้วยกัน 3 ระยะ สำหรับผู้กระทำผิดข้อหา "ไม่สวมหมวกนิรภัยในขณะขับขี่รถจักรยานยนต์" และข้อหา "เป็นผู้ขับขี่ยินยอมให้ผู้โดยสารไม่สวม หมวกนิรภัยในขณะโดยสารรถจักรยานยนต์ จะมีอัตราเปรียบเทียบปรับต่างกัน ผู้กระทำผิดระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 จะเปรียบเทียบปรับในอัตรา 200 บาท ผู้กระทำผิดระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 จะเปรียบเทียบปรับในอัตรา 300 บาท ผู้กระทำผิดระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป จะเปรียบเทียบปรับในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมมอบหมวกนิรภัยให้แก่ผู้กระทำผิด

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top