Wednesday, 14 May 2025
Region

สตูล - บริการฉีดวัคซีนแบบ boat drive through ให้ชาวเลกลุ่ม 608 นับเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

วันนี้ 6 กันยายน 2564 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ที่ท่าเรือตำมะลัง อำเภอเมืองสตูล  จังหวัดสตูล ทีมแพทย์โรงพยาบาลสตูล สาธารณสุขอำเภอเมือง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ลงพื้นที่ให้บริการฉีดวัคซีนแบบ boat drive through ให้กับกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง, หญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) ซึ่งเป็นชาวเลอูรักลาโว้ย ที่เดินทางมาจาก ตำบลตำมะลัง ตำบลปูยู รวม 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน เข้ารับการฉีดวัคซีน

นายยาลา ใบกาเด็ม นายอำเภอเมืองสตูล กล่าวว่า พื้นที่ ตำบลตำมะลัง มี 3 หมู่บ้าน มีกลุ่มเป้าหมาย 608 ทั้งหมด 834 คน ฉีดวัคซีนแล้ว 197 คน ส่วนที่ตำบลปูยู มี 3 หมู่บ้าน มีกลุ่มเป้าหมาย 608 ทั้งหมด 467 คน ฉีดวัคซีนแล้ว 46 คน สำหรับการลงพื้นที่ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมาย 608 วันนี้ มีผู้ลงทะเบียนมาแล้ว 80 คน และกลุ่มเป้าหมาย walk in เข้ามาเพิ่ม 10 คน ก็จะได้รับการฉีดวัคซีนเช่นกัน เนื่องจากวันนี้ทีมแพทย์ได้เตรียมวัคซีนมาสำหรับฉีดกลุ่มเป้าหมาย 608  ซึ่งวันนี้มีผู้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนจากตำบลตำมะลัง ตำบลปูยู และลงไปให้บริการเชิงรุกในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน จำนวน 95 คน ซึ่งทั้งหมดนี้ มีคนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง อยู่ด้วย 5 คน

โดยมีนายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล,นาวาตรีหญิงโนสมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล ประชาสัมพันธ์จังหวัดสตูล พร้อมสื่อมวลชนได้ไปให้กำลังใจด้วย


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

ชลบุรี - ต้องรุกสู้! นายก อบจ.ชลบุรี ตรวจเยี่ยมการให้บริการวัคซีนซิโนฟาร์ม เร่งกระจายให้ประชาชนเร็วที่สุด

บริเวณศาลาประชาคมอ่าวอุดม ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ได้ร่วมกันลงพื้นตรวจเยี่ยมการให้บริการวัคซีนซิโนฟาร์ม ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี (อบจ.ชลบุรี) ที่ได้จัดหาวัคซีนทางเลือกในการป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันหมู่ และเพื่อเป็นการเสริมแนวทางการกระจายวัคซีนหลักจากทางรัฐบาล

ในวันนี้ได้กำหนดกระจายวัคซีนต่อ ให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนกับเครือข่าย อบจ.ชลบุรี โดยกำหนดใช้พื้นที่ศาลาประชาคมอ่าวอุดม ซึ่งเป็นสถานที่ให้บริการวัคซีนซิโนฟาร์ม กับประชาชน โดยพบว่าเจ้าหน้าที่ส่วนงานต่าง ๆ ได้ปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวก ท่ามกลางมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาด อย่างเคร่งครัด

นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ทางอบจ.ชลบุรี จะได้พยายามกระจายวัคซีนซิโนฟาร์ม ให้ทั่วทั้งจังหวัด โดยอำเภอศรีราชา ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่พบการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และเป็นกลุ่มเสี่ยงในการแพร่ระบาด เนื่องด้วยเป็นพื้นที่เมืองท่องเที่ยว

อบจ.ชลบุรี ได้ประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกอำเภอ เพื่อจะได้จัดสรรและกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงให้เร็วที่สุด  


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

กาฬสินธุ์ – รวมพลังคนจิตอาสา เก็บขยะแหลมโนนวิเศษ ปลูกจิตสำนึกนักท่องเที่ยว พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงปลดล็อกร้านอาหารนั่งทานได้

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะคนจิตอาสารวมพลังรณรงค์จัดเก็บขยะบริเวณแหลมโนนวิเศษ และสะพานเทพสุดา เขื่อนลำปาวแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวกินแล้วอย่าทิ้งขยะ พร้อมมีส่วนร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติรักษาทัศนียภาพ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงปลดล็อกร้านอาหารนั่งทานได้

ที่บริเวณแหลมโนนวิเศษ และบริเวณสะพานเทพสุดา เขื่อนลำปาว  ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายณัฐวัชต์ พิมพะนิตย์ หรือ สจ.เบ๊นซ์ รองประธานสภา อบจ.กาฬสินธุ์  นายกีรฒิการย์ พิมพะนิตย์ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ นายบุญมี แก่นนาคำ นายกเทศมนตรีตำบลโนนบุรี พร้อมด้วยประชาชนจิตอาสากลุ่มรสนิยม กู้ภัยกุดหว้าจิตอาสา และประชาชนร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เก็บขยะ พลาสติก เศษวัสดุ ของมีคม เพื่อให้มีความสะอาด ปลอดภัย ซึ่งเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วน ในการปลูกจิตสำนึกรักษาความสะอาด สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของ จ.กาฬสินธุ์ ทั้ง 2 แหล่ง โดยเฉพาะบริเวณแหลมโนนวิเศษ ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นทะเลมรกตอีสาน และสะพานเทพสุดา ซึ่งสะพานข้ามน้ำจืดที่ยาวที่สุดในประเทศ

นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จ.กาฬสินธุ์ มีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งเชิงธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมและอีกหลายด้าน ช่วงที่ผ่านมาซึ่งประสบสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวซบเซาไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแนวโน้มสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ประกาศปลดล็อกร้านค้า ร้านอาหาร ให้สามารถนั่งรับประทานได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา แต่ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้พบว่าผู้ประกอบการเริ่มเปิดกิจการค้าขายและต้อนรับลูกค้า โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยว เช่น แหลมโนนวิเศษ สะพานเทพสุดา เขื่อนลำปาว

นายวิรัช กล่าวอีกว่า หลังจากประกาศดังกล่าวออกมา เพื่อให้บรรยากาศการท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก และสร้างความตระหนักในการช่วยกันรักษาความสะอาด ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว จึงได้ร่วมกับเทศบาลตำบลโนนบุรี ประชาชน และกู้ภัยจิตอาสา ตัวแทนผู้ประกอบการร้านค้า ร่วมกันจัดกิจกรรมทำความสะอาดบริเวณแหลมโนนวิเศษ ใกล้สะพานเทพสุดา เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึก ร่วมกันรณรงค์รักษาความสะอาด และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ในช่วงปลดล็อกร้านอาหารนั่งทานได้ และเป็นการเตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง  โดยมีการจัดเก็บขยะ เศษวัสดุ ของมีคม และขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว ที่นำอาหารมานั่งทาน ให้นำถุงใส่อาหาร กล่องโฟม กลับไปด้วย  ทั้งนี้เพื่อช่วยกันรักษาความสะอาดดังกล่าว

ด้านนายบุญมี แก่นนาคำ นายกเทศมนตรีตำบลโนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า  ในพื้นที่ตำบลโนนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง เช่น แหลมโนนวิเศษ สะพานเทพสุดา พิพิธภัณฑ์สิรินธร วัดสักวันภูกุ้มข้าว จุดชมวิวภูสิงห์ วัดพุทธนิมิตภูค่าว เป็นต้น ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวดังกล่าว สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมตลอดปี

นายบุญมีกล่าวอีกว่า ในส่วนของการเตรียมการรับนักท่องเที่ยว ในช่วงนี้และต่อเนื่องถึงอนาคต หลังสถานการณ์โควิด-19 ก็จะได้ตระเตรียมความพร้อมในหลายๆด้าน เช่น การจัดการเก็บขยะที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล การจัดระเบียบร้านค้า ร้านอาหาร รวมทั้งการรักษาความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการมีวินัย ใส่ใจความสะอาด ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยว และประชาชน เพื่อการเป็นเจ้าบ้านที่ดี และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแหล่งท่องเที่ยว เพื่อที่จะสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว และกลับมาท่องเที่ยวอีก

กาฬสินธุ์ – ส่งเสบียงช่วยหมู่บ้านล็อกดาวน์ คลัสเตอร์งานวันเกิดติดเชื้อโควิด 29 ราย

“วิรัช พิมพะนิตย์” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ นำถุงยังชีพปันน้ำใจสู้ภัยโควิดมอบให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 ที่บ้านเหล่าสูง ตำบลห้วยโพธิ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ หลังพบคลัสเตอร์งานวันเกิด มีผู้ติดเชื้อในหมู่บ้าน 29 ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีก 13 ครัวเรือน และต้องสั่งล็อกดาวน์ทั้งหมู่บ้าน

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 5 กันยายน 2564 ที่บริเวณจุดคัดกรองทางเข้าบ้านเหล่าสูง ม.4 ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์  นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายณัฐวัชต์ พิมพะนิตย์ หรือ สจ.เบ๊นซ์  รองประธานสภา อบจ.กาฬสินธุ์  นายกีรฒิการย์ พิมพะนิตย์ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ พร้อมคณะ นำถุงยังชีพเครื่องอุปโภค บริโภค ปันน้ำใจสู้ภัยโควิด-19 ซึ่งมีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง ปลากระป๋อง น้ำดื่ม และหน้ากากอนามัย จำนวน 200 ชุด ไปมอบให้กับประชาชนบ้านเหล่าสูง ม. 4 ต.ห้วยโพธิ์ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 หลังพบคลัสเตอร์หญิงสาวรายหนึ่งที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีการจัดงานวันเกิด ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อในหมู่บ้านจำนวน 29 ราย และมีกลุ่มเสี่ยงสูงอีก 13 ครัวเรือน ทำให้ผู้นำชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปิดหมู่บ้าน ตั้งจุดคัดกรอง 250 หลังคาเรือน ห้ามเข้า-ออกโดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันและหยุดยั้งการแพร่ระบาด โดยมีนายสุนทร เจริญพันธ์ นายกเทศมนตรีตำบลห้วยโพธิ์ นายจันทร์ ดอนประชุม ประธาน อสม.ตำบลห้วยโพธิ์ นายอำนวย ศรีแพงมล ผู้ใหญ่บ้านเหล่าสูง พร้อมด้วย อสม.ร่วมรับมอบ

นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันนี้เป็นการเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่บ้านเหล่าสูง ซึ่งมีอยู่กว่า 250 หลังคาเรือน กว่า 800 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากต้องปิดหมู่บ้าน พร้อมให้กำลังใจผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม.ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้าประจำจุดคัดกรอง ทั้งนี้อยากฝากถึงทุกคนให้ช่วยกัน อย่าได้รังเกียจกันและกัน เพราะไม่มีใครอยากติดเชื้อ และอยากฝากถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนจะต้องร่วมแรง ร่วมใจกัน ต่อสู้โรคโควิด-19 และให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกันให้ได้

นายจันทร์ ดอนประชุม ประธาน อสม.ตำบลห้วยโพธิ์ กล่าวว่า เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บ้านเหล่าสูง ต.ห้วยโพธิ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ มีกลุ่มคลัสเตอร์โควิด-19 การจัดงานวันเกิด ทำให้พบผู้ป่วยยืนยันจำนวน 29 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรวมจำนวน 13 ครัวเรือน ทำให้ทางผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้านประชุมร่วมกันและมีมติปิดหมู่บ้าน พร้อมทั้งตั้งด่านคัดกรองการเข้า-ออก โดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันและหยุดการแพร่เชื้อไปยังพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตามสำหรับการปิดหมู่บ้านนั้น ประชาชนทั้ง 250 หลังคาเรือน กว่า 800 คน ต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันทำงานเชิงรุก ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นบ้างแล้ว ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้ง 13 ครัวเรือนก็ได้กักตัวสังเกตอาการ 14 วัน


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษฺ  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

สุรินทร์ - บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด ร่วมทำดีกับโครงการ “แยกขวดช่วยหมอ” เพื่อผลิตชุด PPE สู้โควิด-19

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ที่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายพัฒน์  เสถียรถิระกุล และนางสาววัชรนันท์  พิริยพูล ผู้บริหารรุ่นใหม่จาก KI Sugar Group (บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์สู้วิกฤตโควิด-19 ด้วยการมอบขวด PET จำนวน 130 กิโลกรัม ให้กับ PTT GC (YOUเทิร์น) และสนับสนุนทุน 100,000 บาท ให้กับมูลนิธิทันตแพทยศาสตร์มหิดล

โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ ทพ.นิติพันธ์  จีระแพทย์ นายกสมาคมศิษย์เก่าทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเป็นผู้รับมอบ เพื่อรวบรวมขวด PET นำไปผลิตเป็นชุด PPE ใช้สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และนำไปบริจาคในพื้นที่ที่ขาดแคลนต่อไป  “โครงการแยกขวดช่วยหมอ” เป็นภารกิจระดมขวด PET เพื่อนำไปผลิตเป็นชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ดำเนินการโดย YOUเทิร์น by PTT GC นำขวด PET ไปแปรรูปเป็นเส้นใย ถักทอเป็นผืนผ้าแล้วเคลือบสะท้อนน้ำ และมูลนิธิทันตแพทยศาสตร์มหิดล จัดสรรทุนในการตัดเย็บเป็นชุด PPE สำเร็จรูป ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ 


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

สงขลา - ม.อ. ลงนาม ศอ.บต. หนุนนักเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าเรียนคณะทรัพย์ฯ พร้อมสร้างเกษตรกรยุคใหม่

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย คณะทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพิเศษรับนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษา ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ” โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ผศ. ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต รักษาการแทนคณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม 260 อาคาร 2 ชั้น 2 คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 64

​ผศ. ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต รักษาการแทนคณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. แก่นักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ควบคู่ศาสนา ที่เป็นต้นแบบดีเด่นด้านการเกษตร จากโครงการสนองแนวพระราชดำริฯ “ครัวโรงเรียนสู่ครัวบ้าน” ของ ศอ.บต. ซึ่งเป็นนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกในระดับจังหวัด และเข้ารับรางวัล จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

​ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ กล่าวว่า ภารกิจการสร้างคนที่มีคุณภาพเป็นหนึ่งใน 3 ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นั่นคือ การสร้างคนที่มีคุณภาพ สร้างความรู้และนวัตกรรมเพื่อใช้ในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้และประเทศ และการสร้างความเป็นนานาชาติให้เกิดขึ้นในประเทศซึ่งเป็นด่านหน้าของอาเซียน การพัฒนากำลังคนจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ในพื้นที่ แต่รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียน

นักเรียนที่จะเข้ามาศึกษาที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้โครงการพิเศษรับนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษา ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ถือเป็นเกษตรกรยุคใหม่ ใช้ความรู้ความสามารถที่หลากหลายโดยใช้ดิจิทัลเป็นพื้นฐาน สาขาวิชาของคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีชื่อเสียงระดับต้นๆ ของประเทศ ขอให้นักเรียนที่จะเข้ามาศึกษาเชื่อมั่นในคุณภาพและโอกาสที่จะได้รับในวันข้างหน้า โดยเฉพาะความรู้เชิงปฎิบัติที่จะสอนให้นักศึกษาทำงานเป็น ทำงานได้ รู้จักรับผิดชอบต่อสังคมและครอบครัว เพื่อจะออกไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ศอ.บต. ทำงานร่วมกันมากมาย โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งโครงการนำร่องของภาคใต้ และมีความสำคัญ ภายใต้โครงการสนองแนวพระราชดำริฯ “ครัวโรงเรียนสู่ครัวบ้าน” ของ ศอ.บต. นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการเป็นเยาวชนที่มีศักยภาพและรักการเกษตร เราจะผลักดันเยาวชนเหล่านี้ให้เข้าสู่มหาวิทยาลัยที่ศึกษาด้านการเกษตรโดยเฉพาะ เพื่อกลับไปพัฒนาบ้านเกิด เป็นเกษตรกรต้นแบบ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของเกษตรยุคใหม่ ทำให้สังคมเห็นว่าอาชีพการเกษตรเป็นอาชีพที่มั่นคงอาชีพหนึ่ง เชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะสามารถบ่มเพาะ พัฒนาศักยภาพของเยาวชนเหล่านี้ให้มีศักยภาพต่อไป

ขอนแก่น - "ทม.ศิลา" มอบถุงยังชีพให้ครอบครัวผู้ติดโควิด-19 เพื่อใช้ชีวิตกลับเป็นปกติในสังคมต่อไป

รองนายกฯ พร้อมประธานสภาฯ ทม.ศิลา พร้อมด้วยผญบ.อสม.บ้านหนองกุง ร่วมมอบถุงยังชีพให้ครอบครัวผู้ติดเชื้อโควิด ที่ได้รับการรักษาหายป่วยแล้วพร้อมใช้ชีวิตปกติในสังคมต่อไป

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 นายกรวิทย์ ติวเฮือง รองนายกเทศมนตรีเมืองศิลา ,นายสุริยนต์ ติวเฮือง ประธานสภาเทศบาลเมืองศิลา พร้อมด้วยผญบ.,อสม.บ้านหนองกุง ม.2  ม.17 ลงพื้นที่ เยี่ยมและมอบถุงยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้งให้ครอบครัวผู้ติดเชื้อโควิด -19 ที่ได้รับการรักษาหายป่วยแล้ว พร้อมใช้ชีวิตปกติในสังคมต่อไป โดยมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคนในครอบครัวที่ติดเชื้อโควิค -19 ที่ได้ทำการรักษาจนหายดี แล้วมารับมอบ

นายกรวิทย์ ติวเฮือง รองนายกเทศมนตรีเมืองศิลา กล่าวว่าจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัย โดยต้องปรับตัวต่อมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันตนเองและการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ขณะที่ยังมีประชาชนกลุ่มเปราะบางหลายพื้นที่ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ศิลา ซึ่งในการลงพื้นที่ในวันนี้จึงเป็นการติดตามและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง และครอบครัวผู้ติดเชื้อโควิด - 19 ที่ได้รับการรักษาหายป่วยแล้วให้พร้อมใช้ชีวิตปกติในสังคม ต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกคน ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ไม่ประมาท โดยสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือเป็นประจำ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 หากทุกคนร่วมมือกัน มั่นใจว่าจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้แน่นอน

สระบุรี - รมช.เกษตรฯ ลงพื้นที่จังหวัดสระบุรี ส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกินจำนวน 2 หมื่นโดส ให้สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม หยุดการแพร่ระบาดโรคลัมปีสกินในโคนมแบบยั่งยืนต่อไป

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะลงพื้นที่ จังหวัดสระบุรี เพื่อส่งมอบวัคซีนป้องกันไวรัสลัมปีสกิน(Lumpy Skin Disease) ให้กับประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค เพื่อจัดสรรให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่อยู่ในพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค. โดยมีนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายชาญชัย จุลโลบล ปศุสัตว์จังหวัดสระบุรีและนายสุรักษ์ นามตะ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการ อ.ส.ค. ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ตลอดจนเกษตรกรและผู้นำภาคประชาชนเข้าร่วมงานและให้การต้อนรับ ที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนม ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี

โดยนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ว่าตามที่ประเทศไทยได้พบการระบาดของโรคลัมปีสกิน ในโค กระบือ เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งเป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ผ่านมาได้มีการมอบเวชภัณฑ์ยาฆ่าแมลงพร้อมถังฉีดพ่นให้กับสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์คในเขตพื้นที่ภาคกลางจำนวน 16 สหกรณ์ ดังนั้นเพื่อให้การป้องกันโรคที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเพื่อความยั่งยืนในการควบคุมโรค จึงได้จัดหาวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกิน ให้กับชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด เพื่อนำไปจัดสรรให้กับสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมที่อยู่ในพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค. อย่างทั่วถึงในครั้งนี้จำนวน 20,000 โดส ในการนำไปฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่โคนมและหยุดการแพร่ระบาดโรคลัมปีสกินในโคนมแบบยั่งยืนต่อไป

รมช.มนัญญาฯ กล่าวด้วยว่า "ตนในฐานะผู้ดูแลกำกับ อ.ส.ค. มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคล้มปีสกินในฟาร์มโคนมของเกษตรกรอย่างมาก ที่ผ่านมาได้กำชับให้ อ.ส.ค. และเกี่ยวข้องเข้มงวด กวดขันและจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในพื้นที่การเลี้ยงโคนมทั้งภายใต้การดูแลของ อ. ส. ค.และฟาร์มทั่วไป เพื่อไม่ให้เกษตรกรมีความเดือดร้อนและได้รับความเสียหายจากสัตว์ที่ส้มตาย ล่าสุดมติคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 64 งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อควบคุมโรคลัมปีสกิน ในโค-กระบือ วงเงินงบประมาณจำนวน684,218,000 บาท ทราบว่ากรมปศุสัตว์ได้นำเข้าวัคซีนลัมปีสกิน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 แล้ว รวม 360,000 โดส และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 อีกจำนวน 137,000 โดส จากแผนที่เตรียมจัดสรรทั้งหมด 5 ล้านโดส ซึ่งหากวัคซีนได้รับการจัดสรรไปยังเกษตรกร และสหกรณ์ฯ อย่างทั่วถึงก็จะช่วยให้การแพร่ระบาดค่อยๆ ลดลงอย่างแน่นอน ทุกวันนี้ประชาชนมีความเดือดร้อนจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) อยู่แล้ว กระทรวงเกษตรฯไม่อยากให้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในโคนมเข้ามาซ้ำเติมความเดือดร้อนของเกษตรกรซ้ำเข้าไปอีก การส่งมอบวัคซีคจำนวน 2 หมื่นโดส ในวันนี้จึงถือเป็นการส่งมอบกำลังใจให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและหยุดการแพร่ระบาดโรคลัมปีสกิน ในโคนม

ปทุมธานี – บิ๊กแจ็ส ชูสมุนไพรไทย! ทางเลือกเสริมภูมิคุ้มกันสู้โควิด-19

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 มิถุนายน 2564 ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ตำบลบ้านฉาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี พระมหาขวัญชัย เจ้าอาวาสวัดน้ำตกหรือวัดคีรีวงก์ จ.ชุมพร , นายชูศักดิ์ ศรีราชา รองประธานมูลนิธิตามรอยบาทพระศาสดา , แถลงข่าวเปิดตัวสมุนไทยเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันในยุคไวรัสโควิด-19 ระบาดอยู่ในขณะนี้

โดยมี ดร.สิริภัทร ชมัฒพงษ์ คณบดีแพทย์บูรณาการ มทร.ธัญบุรี , ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต , นางดารา นวลสุทธิ์ แพทย์แผนไทย และประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการแถงข่าวสมุนไพรไทยทางเลือก ซึ่งมีส่วนผสมสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ ฟ้าทลายโจร เหงือกปลาหมอ หนุมานประสานกาย พลูคาว และกระชาย ซึ่งเป็นสูตรรักษาไข้พิษไข้กาฬ ซึ่งยาสมุนไพรไทย 5 ชนิดเป็นตำรับยาวัดคีรีวงก์ เสริมภูมิต้านไข้พิษไข้กาฬ ใช้รับประทานในระหว่างที่มีโรคระบาด ใน 1 แคปซูล ประกอบด้วย ฟ้าทลายโจร 44 มิลลิกรัม , เหงือปลาหมอ 89 มิลลิกรัม , หนุมานประสานกาย 89 มิลลิกรัม , พลูคาว 89 มิลลิกลัม และกระชาย 89 มิลลิกรัม หากยังไม่ติดเชื้อให้รับประทานครั้งละ 2 แคปซูลต่อสัปดาห์ หลังอาหารหรือก่อนนอน ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแล้ว (โดสละ 28 แคปซูล) ผู้ใหญ่ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หลังอาหาร ต้องรับประทานต่อเนื่อง 7 วัน เพื่อเพิ่มฤทธิ์ยาให้ดื่มน้ำหอมแดงต้ม 1 แก้วต่อ1วัน

พระมหาขวัญชัย เจ้าอาวาสวัดน้ำตกหรือวัดคีรีวงก์ จ.ชุมพร กล่าวว่า อยากให้ญาติโยมทุกท่านเปิดใจรับฟังก่อน ว่าความเป็นมาในการใช้สมุนไพรไทยมีความเป็นมาตั้งแต่อดีต อาตมาได้ทำสมุนไพรแจกให้กับชาวบ้านตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เพื่อให้ทานเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เนื่องจากโรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ตามหลักที่คนโบราณได้ใช้สมุนไพรดูแลชาวบ้านมา ซึ่งการใช้ยาสมุนไพรอย่างถูกวิธี เช่น นายก อบจ.ปทุมธานี ได้เอายาสมุนไพรทดลองใช้กับชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอีกหลายตำหรับ ซึ่งเป็นผลผลิตจาก แพทย์แผนไทยและพื้นบ้านทั่วประเทศ เพื่อต้องการช่วยเหลือชาวบ้าน แล้วสรุปเมื่อใช้แล้วเห็นผลว่าเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สูตรยานี้หลวงปู่พัน จันทสิริ อดีตเจ้าอาวาสวัดบรรพตวิสัย จังหวัดชุมพร ท่านเคยได้ใช้ช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวบ้านในสมัยเมื่อ 100 ปีที่แล้ว โดยมีสูตรสมุนไพรดังนี้ พลูคาว หนุมานประสานกาย เหงือกปลาหมอ กระชาย และฟ้าทลายโจร ซึ่งสูตรยานี้เป็นของคนไทยทั่วประเทศ ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของเราทุกคนทั่วประเทศที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกับ เพื่อให้ประเทศไทยของเรากลับมาสงบสุข

ส่วน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ตนเองได้ศึกษาเรื่องยาสมุนไพรมากว่า 30 ปี ที่ผ่านมาเราใช้สมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เราต้องนึกถึงการใช้สมุนไพร ซึ่งศาสตร์ของพระมหาขวัญชัย อัคคชโย วัดคีรีวงก์ จังหวัดชุมพร ตนจึงได้ศึกษาดู หากใช้สมุนไพรฟ้าทลายโจรอย่างเดียวตามที่สาธารณสุขจ่ายให้คนไข้โควิด-19 เพียงแต่ชะลออาการ หากมีสมุนไพรตัวอื่นร่วมด้วย เช่น หนุมานประสานกายที่มีสรรพคุณฟอกปอด และสมุนไพรตัวอื่น ๆ ทั้งนี้ยาชุดนี้ไม่ได้คุยว่ารักษาโควิด-19 ได้ เพียงแต่ว่าเป็นการเสริมภูมิในร่างกาย เราได้ทดลองกับคนไข้จำนวน 100 คน ที่ผ่านมาตรวจคัดกรองด้วยแรปบิทแอนติเจนเทส เป็นผลบวกวันละ 40-50 คน เมื่อพบว่าติดเชื้อเราได้ทำประวัติและถ่ายภาพไว้ แล้วรับยาไป แล้วต้องทาน ผ่านไป 5 วันกลับมาตรวจใหม่ ผลออกมาเป็นลบ จะให้เราเข้าใจว่าอย่างไร ตนไม่ได้บอกว่าหายหรือไม่หาย แต่บอกว่าผลเป็นลบ นอกจากนี้ยังได้เอ็กซเรย์ปอดซ้ำพบว่าปอดปกติ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

ซึ่งคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว เพียงแต่ว่า สาธารณสุขจะยอมรับหรือไม่ หากเปิดใจยอมรับแพทย์สมุนไพร ผู้ใหญ่ในสาธารณสุขก็โตมาจากสมุนไพร ลอกเปิดใจกัน เอาวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์มา รีบวิจัยตรงนี้ด่วน หากพบว่าสมุนไพรมีผลจริงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านโควิด-19 ได้จริง สมุนไพรไทยจะเป็นสินค้าส่งออกทำเศรษฐกิจไทยฟื้นฟูขึ้นมาได้ เพราะว่าโควิ-19ได้ระบาดไปทั่วโลก ทั่วโลกก็ต้องคิดถึงสมุนไพรไทย จะเป็นสิ่งที่ทำให้พี่น้องประชาชนเกิดรายได้อย่างดี ที่ผ่านมาผมได้ทดลองภายในจังหวัดปทุมธานี ต่อจากนี้ผมจะแจกยาสมุนไพรตัวนี้ให้พี่น้องชาวปทุมธานีให้ไปทานเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายของพี่น้องชาวปทุมธานี ตนเองจะพาพี่น้องชาวปทุมธานีให้รอดจากสงครามไวรัสครั้งนี้ไปได้ด้วยความปลอดภัย

ทางด้าน นายเอกภพ คงมีสุข อายุ 52 ปี ชาวปทุมธานี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ที่ผ่านมาพบว่าตนเองมีอาการไม่สบาย จึงได้เดินทางมาตรวจคัดกรองด้วยแรปบิทแอนติเจสเทสที่ อบจ.ปทุมธานี ผลตรวจออกมาเป็นบวก ทางอบจ.ให้ยาสมุนไพรมาทาน ผมก็ทานตามที่ฉลากแนะนำ ขณะที่ป่วยมีอาการลิ้นไม่รู้รส จมูกไม่ได้กลิ่นเลย จนอาการดีขึ้นก็คือกินข้าวแล้วรู้สึกถึงรสชาต ได้กลิ่มหมอของน้ำแกง จากนั้นวันที่ 19 ผมเข้ามาตรวจที่ อบจ.พบว่าผลออกมาเป็นลบ


ภาพ/ข่าว  สหรัฐ แก้วตา รายงาน

ระยอง - สภ.เมืองระยอง เปิดตัวโครงการ “ระยอง สมาร์ท เซฟตี้โซน 4.0”ใช้ระบบกล้อง CCTV และแอพพลิเคชันแจ้งเหตุร้ายได้รวดเร็ว คุมพื้นที่ 4.4 ตารางกิโลเมตร

เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2564 ที่ สภ.เมืองระยอง ต.ท่าประดู อ.เมืองระยอง จ.ระยอง พล.ต.ต.มานะ อินพิทักษ์ รอง ผบช.ภ.2 รรท.ผบก.ภ.จว.ระยอง เป็นประธานเปิดตัวโครงการ”สมาร์ เซฟตี้ โซน 4.0(SMART SAFETY ZONE 4.0)สู่นวัตกรรมใหม่ของความปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะสุดล้ำ และการร่วมมือภาคประชาชน “เชื่อมั่น อุ่นใจ ปลอดภัย ในชุมชน”  มี พ.ต.อ.พรัชต์ศรุต วัชรธนโยธิน ผกก.สภ.เมืองระยอง และผู้นำชุมชนในเขตรับผิดชอบ สภ.เมืองระยอง เข้าร่วมโครงการ โดยมีการปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกรณรงค์เคาะประตูบ้านประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง เพื่อเชิญชวนเข้าร่วมโครงการด้วย

พล.ต.ต.มานะ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ที่ต้องการลดความหวาดระแวงภัยอาชญากรรมแก่พี่น้องประชาชน และเกิดความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ของความปลอดภัยด้วยระบบกล้อง CCTV แอพพลิเคชั่นที่แจ้งข้อมูลอาชญากรรม เหตุด่วนเหตุร้ายได้รวดเร็วดังกล่าวมาใช้ เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยมีสถานีตำรวจนำร่อง 15 แห่ง ซึ่ง สภ.เมืองระยอง เป็น 1ใน 3 แห่ง สังกัดตำรวจภูธรภาค 2 ที่ได้นำโครงการดังกล่าวมาใช้ดูแลครอบคลุมพื้นที่ 4.4 ตารางกิโลเมตร เขตพื้นที่เทศบาลนครระยอง เทศบาลตำบลเนินพระ และเทศบาลตำบลเชิงเนิน ประชากร 8,053 ครัวเรือน ซึ่งการนวัตกรรมดังกล่าว จะประกอบด้วย 1.การใช้ระบบกล้อง CCTV จำนวน 130 ตัว และห้อง ควบคุม CCOC  กล้องวงจรปิดที่ใช้ในงานสืบสวน จราจรและสายตรวจ 24 ชม. / 2.ตู้แดง 4.0 / 3.แอพพลิเคชั่น police I lert u / 4.โครงการฝากบ้านกับตำรวจ 4.0 / 5.ติดตั้งระบบ GPS ในรถสายตรวจ / 6.ระบบแจ้งเอกสารหายออนไลน์ / 7.การสร้าง Line official account ของโครงการ / 8.การใช้ระบบไฟฟ้าโซลาเซล และ 9.เสาไฟฟ้าอัจฉริยะ


ภาพ/ข่าว  วฐิต กลางนอก / ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top