Wednesday, 14 May 2025
Region

ชลบุรี - กองเรือยุทธการร่วมกับอำเภอสัตหีบ รวมพลังสามัคคีจัดกิจกรรม “มีแล้วแบ่งปัน” ร่วมเติมเครื่องอุปโภคบริโภคใส่ตู้ มอบให้กับประชาชนชาวสัตหีบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19

วันที่ 30 ส.ค.64 พล.ร.อ.สุทธินันท์  สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานในการจัดกิจกรรม “มีแล้วแบ่งปัน” ร่วมกับ นายกิตติพงษ์ กิติคุณ นายอำเภอสัตหีบ พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาในกองบัญชาการ กองเรือยุทธการ , ผู้บริหารอำเภอสัตหีบ และชมรมภริยากองเรือยุทธการ นำของอุปโภค บริโภค ที่จำเป็นเติมใส่ตู้ “มีแล้วแบ่งปัน” เพื่อส่งมอบพลังใจให้กับประชาชนชาวสัตหีบที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 ณ หน้าที่ว่าการอำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี

จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างทั่วประเทศ โดยเฉพาะโดยเฉพาะรายได้ครัวเรือนที่ลดลงเป็นระยะเวลานาน ในการนี้ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการได้มีดำริให้จัดตั้งตู้ “มีแล้วแบ่งปัน” ขึ้น เป็นหนึ่งในโครงการให้ความช่วยเหลือ โดยร่วมกับอำเภอสัตหีบ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.64 พร้อมกับเชิญชวนให้หน่วยขึ้นตรงกองเรือยุทธการ และส่วนต่าง ๆ ของอำเภอสัตหีบ ร่วมกันนำสิ่งของอุปโภคบริโภคตามขีดความสามารถที่มี เติมใส่ตู้อย่างต่อเนื่อง เป็นการแสดงออกซึ่งความห่วงใย  พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เป็นการส่งผ่านธารน้ำใจของของการให้  การแบ่งปัน ทั้งนี้กองเรือยุทธการ และอำเภอสัตหีบ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องจนกว่าวิกฤตนี้จะคลี่คลาย สอดคล้องกับนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือที่มุ่งให้กองทัพเรือได้ร่วมพลังสามัคคีพลังราชนาวี เป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์อันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

กรุงเทพฯ - พม. ดึงภาคีเครือข่ายร่วมแถลงข่าว “ผนึกกำลังสร้างวิถีใหม่ เพื่อเด็กและเยาวชนไทย” ป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก

วันนี้ (30 ส.ค. 64) เวลา 10.30 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในการแถลงข่าว “ผนึกกำลังสร้างวิถีใหม่ เพื่อเด็กและเยาวชนไทย” โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย

1) นายนิยม สองแก้ว รองปลัดกระทรวงแรงงาน

2) พลตำรวจเอก จารุวัฒน์ ไวศยะ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

3) นายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร

4) แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

5) ดร. ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ

6) นางวราภรณ์ สุวรรณเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต้นทุนและการกำหนดราคาสินค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องประชุม ชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถนนกรุงเกษม สะพานขาว กทม.

นายจุติ กล่าวว่า ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัยอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง รวมทั้งปัญหากลุ่มเด็กเร่ร่อนหรือกลุ่มเด็กเปราะบางที่เดินขอเงินหรือขายพวงมาลัยบนท้องถนน ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาความกดดันต่าง ๆ ในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ในการหารายได้เพื่อจุนเจือครอบครัวทั้งที่เด็กสมัครใจและถูกบังคับ ความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาความยากจน เป็นต้น อีกทั้งทำให้เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะหลุดจากระบบการศึกษาที่สูงมาก จากการรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ในแต่ละปีมีเด็กมากกว่า 10,000 คน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยสาเหตุของการถูกใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศ  และจากข้อมูลของ UNICEF พบว่า 3 ใน 4 ของเด็กในช่วงอายุระหว่าง 1 – 14 ปี เคยถูกลงโทษทางร่างกายหรือจิตใจโดยสมาชิกครอบครัวในเดือนที่ผ่านมา เด็ก 4.2 คนใน 100 คน เคยถูกลงโทษทางร่างกายในระดับรุนแรง เด็กโดยเฉลี่ย 52 คน ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศทางกาย หรือทางใจ ถูกทอดทิ้ง หรือถูกนำไปแสวงหาผลประโยชน์ในแต่ละวัน หรือประมาณ 2 คนในหนึ่งชั่วโมง อีกทั้งจากสถิติผู้ใช้บริการสายด่วน 1300 กระทรวง พม. ระหว่างเดือนตุลาคม 2561 - เดือนกันยายน 2562 มีการรายงานเคสความรุนแรงต่อเด็กหรือเยาวชนเฉลี่ย 5 เคสต่อวัน โดยจำนวน 3 ใน 5 เคส เป็นกรณีการใช้ความรุนแรงในครัวเรือน พบบ่อยที่สุดคือความรุนแรงจากพ่อหรือแม่ที่กระทำต่อเด็ก และจากข้อมูลของ National Working Children Survey of 2018 พบเด็กประมาณ 177,000 คน ที่ทำงานใช้แรงงานเด็ก ในจำนวนนี้ มี 133,000 คน อยู่ในงานที่เสี่ยงอันตราย สำหรับประเทศไทยรวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านถูกแสวงการประโยชน์จากการค้าประเวณีเชิงพาณิชย์ในร้านอาบอบนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ โรงแรม และในที่พักส่วนบุคคล นอกจากนี้ ยังมีการล่อลวงออนไลน์ทางสื่อโซเชียลและห้องแชทต่าง ๆ เพื่อบังคับเด็กมาผลิตสื่อลามกหรือมีเพศสัมพันธ์

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. ทำงานเพียงกระทรวงเดียวไม่ได้ เราต้องมีการทำงานแบบบูรณาการกัน ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้กับกลุ่มเยาวชน กลุ่มครอบครัว ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง  ตนทราบถึงปัญหาและได้ผนึกกำลังกันกับหลายกระทรวง  เพื่อเปลี่ยนมิติจากการปราบปราม เป็นมิติของการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง เพื่อสร้างอนาคต สร้างวิถีชีวิตใหม่ ที่สามารถให้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้เข้าถึงองค์ความรู้ ช่องทาง วิธีการที่จะสร้างอนาคต และเราจะมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆ ผู้ประกอบการสินค้าแปลก ๆ ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตเอง ทำเอง ขายเอง ในขณะเดียวกันเราใช้เมตตา โอกาส และความสร้างสรรค์ แต่เรามีกฎหมายตีกรอบว่า ถ้าเกิดมีการใช้ประโยชน์จากเด็กเยาวชนโดยไม่ชอบ ก็ต้องดำเนินการ ทั้งนี้ครอบครัวไหนที่มีความจำเป็นอยากจะประกอบอาชีพ เรามีกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงดีอีเอส กระทรวง พม. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่คอยช่วยเหลืออยู่ด้วยความเข้าใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือให้เดินหน้าไปด้วยกัน

นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้เราพยายามเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ และกระทรวง พม. ได้จับมือกับกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ ทั้งนี้ เรายังได้ผนึกกำลังกับสายด่วน ตำรวจ โทร. 191 โดยกระทรวง พม. จะมีเจ้าหน้าที่เพิ่มให้ครบทั้ง 50 เขต คอยดูแลปัญหาเหล่านี้และพัฒนากลุ่มเป้าหมายให้มีความยั่งยืนได้พ้นจากปัญหาที่ประสบอยู่ ในขณะเดียวกันเราให้ทั้งโอกาสและใครก็ตามที่มาใช้โอกาสโดยไม่ชอบก็ต้องจัดการ หากประชาชนเกิดปัญหาสามารถติดต่อ สายด่วน พม. โทร. 1300 หรือสายด่วน ตำรวจ โทร. 191 ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าจะมีเยาวชนที่เข้าใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเราได้รับการฝึกจิตวิทยา และเราจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ใช่ที่ปลายเหตุ โดยเราเชื่อว่าถ้าเราทำตรงนี้ได้ เด็กเหล่านี้จะไม่ถูกเอาเปรียบและไม่ถูกหลอกใช้

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหากลุ่มเด็กเร่ร่อนหรือกลุ่มเด็กเปราะบางที่เดินขอเงินหรือขายพวงมาลัยบนท้องถนน จำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกมิติ ตามที่รัฐบาลได้มอบนโยบายที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและต้องแก้ไขปัญหาของประชาชนให้ได้และเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งทุกปัญหา ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) มีภารกิจสำคัญในการดูแลงานด้านเด็กและเยาวชนโดยตรง ภายใต้การดำเนินงานของบ้านพักเด็กและครอบครัว และสถานสงเคราะห์สำหรับรองรับเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานช่วยเหลือเด็กในทุกมิติ ได้แก่

1) กระทรวงแรงงาน ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพมหานคร กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อตรวจสอบและช่วยเหลือเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 

2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเรื่องชี้แจงกับพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง กรณีปล่อยปละละเลยรู้เห็นเป็นใจหรือแสวงประโยชน์จากเด็ก ตามบทลงโทษตามกฎหมาย

3) สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ดำเนินกระบวนการช่วยเหลือเด็ก โดยมีพนักงานเจ้าหน้าที่และศูนย์สร้างโอกาส ทั้งหมด 7 แห่ง

4) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการให้ความรู้ การให้คำแนะนำแก่เด็ก พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และครอบครัว เพื่อสร้างความรักความเข้าใจ และการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมในครอบครัว อีกทั้งติดตามเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้เหมาะสมตามวัย หากเกิดพฤติกรรมซ้ำ จะประสานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย

5) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการทุกวัย โดยเฉพาะแนวทางส่งเสริมสำหรับเด็กและครอบครัว และ

6) กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการส่งเสริมกิจการด้านการตลาด สร้างโอกาส สร้างอาชีพ และรายได้ให้แก่เด็กและครอบครัว จาก on ground to online

ชลบุรี - ‘นายกปลื้ม’ มั่นใจ คนพัทยาฉีดวัคซีนครบ 70 % ทันตุลาคมนี้ หลังรับชิโนฟาร์ม 60,000 โดส ระดมแพทย์ฉีดให้ประชาชนวันละ 2,000 คน หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ก่อนเตรียมเปิดเมืองท่องเที่ยว

วันนี้ (31 ส.ค.) ที่โรงพยาบาลเมืองพัทยา นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วย คณะผู้บริหารเมืองพัทยา ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่ที่แพทย์ พยาบาล และประชาชนที่เดินทางมาเข้ารับวัคซีนซิโนฟาร์มเมืองพัทยาเข็ม 1 ในวันแรกจำนวน 2,000 คน ซึ่งเป็นวัคซีนซิโนฟาร์มที่เมืองพัทยาได้ตั้งงบประมาณไว้เพื่อทำการจัดซื้อจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ฯ จำนวน 100,000 โดส เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนเมืองพัทยาหวังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยปัจจุบันเมืองพัทยาได้รับการอนุมัติวัคซีนซิโนฟาร์มจากสถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในล็อตแรกจำนวน 60,000 โดส

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่าสำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มของเมืองพัทยาวันแรกที่โรงพยาบาลเมืองพัทยา สามารถดำเนินการได้วันละ 2,000 คน ซึ่งพบว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หลังจากที่ทางโรงพยาบาลได้นำประสบการณ์ปัญหาอุปสรรคในการให้บริการจัดฉีดวัคซีนที่ผ่านมาปรับแก้เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และไม่แออัดเหมือนที่ผ่านมา โดยทางเจ้าหน้าที่จะมีการนัดหมายเวลากับประชาชนที่จะการเข้ารับวัคซีนด้วยการส่ง SMS เพื่อไม่ให้มารอรับบริการเป็นเวลานาน ทั้งนี้คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ในการจัดฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มครบทั้ง 30,000 คน

นายสนธยา กล่าวอีกว่านอกจากวัคซีนที่ภาครัฐจัดสรรมาให้ทั้งในส่วนของซีโนแวค แอสตร้าวีเนก้า รวมทั้งวัคซีนชิโนฟาร์มที่เมืองพัทยาตั้งงบประมาณจัดซื้อมานั้น ถือว่ามีปริมาณเพียงพอต่อจำนวนประชากรในพื้นที่เกือบทั้งหมด และหากดำเนินการฉีดวัคซีนครบตามเป้าหมายก็คาดว่าจะสามารถให้วัคซีนแก่ประชาชนในพื้นที่ได้จำนวนที่กำหนดหรือ 70 % หลังจากที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่รับการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 40%  จึงคาดว่าจะสามารถมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัยด้านการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในเดือนตุลาคมนี้ หรืออย่างช้าสุดก็ภายในเดือนมกราคม 2565 ซึ่งหลังจากนั้นก็จะได้เร่งตามแผนการเปิดเมืองท่องเที่ยวหรือแผน Pattaya Move On  ที่จะเปิดการรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง


ภาพ/ข่าว  อนันต์ สุขวัฒนะ / เอกชัย สุขวัฒนะ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค พัทยา จ.ชลบุรี

ปทุมธานี - มทร.ธัญบุรี จับมือ บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด และ 3 วิสาหกิจชุมชน ร่วมกันวิจัย พัฒนา กัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปผลิตเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 สิงหาคม 2564 ที่ห้องประชุมมังคลอุบล ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 48 พระชันษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยการศึกษา วิจัย และพัฒนาโครงการวิจัย กัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกและแปรรูปบุกเขาค้อ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก,เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม และวิสาหกิจชุมชนทุ่งนางแลสมุนไพรเพื่อการแพทย์

โดยมี ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นายธนารัตน์ จิตต์พายัพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด นางอรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล ประธานที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกและแปรรูปบุกเขาค้อ นายพลวรรน์ พญาพิทักษ์สกุล รองประธาน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก,เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม และนายณัฐวรรน์ วรพนิตกุล รองประธาน วิสาหกิจชุมชนทุ่งนางแลสมุนไพรเพื่อการแพทย์ เข้าร่วมงาน

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในครั้งนี้ เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาโครงการวิจัย กัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปผลิตเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีสารสกัดจากกัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพรเพื่อใช้ในการรักษาทางการแพทย์ ทั้งในลักษณะที่เป็นยาสมุนไพร ยาแผนปัจจุบัน และกิจการอื่น ๆ ให้ถูกต้องตาม หลักวิชาการและชอบด้วยกฎหมาย โดยมีขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้

1. ร่วมส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนางานวิจัยด้านสายพันธุ์กัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร รวมไป ถึงระบบการเพาะปลูก นวัตกรรมต้านการผลิต การพัฒนาและการจัดจำหน่ายกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีสารสกัด จากกัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร เพื่อใช้ในทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์ เชิงอุตสาหกรรม และกิจการอื่น ๆ

2. ร่วมพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้และทักษะต้านการวิจัย การผลิต(ปลูก) การแปรรูป(สกัด) การตลาดของกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีสารสกัดจากกัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและชอบด้วยกฎหมาย

3. สนับสนุน ผลักดัน วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการผลิตยาที่มีส่วนประกอบจากวัตถุดิบและสารสกัดกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพร ให้เกิดการนำผลงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติที่มีสารตั้งต้นของสารสกัด CBD (Cannabidiol) / THC (Tetrahydrocannabinol จากงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์ ทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์ และเชิงอุตสาหกรรม การครอบครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิทธิใดของผลงานวิจัย โดยให้เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายจะได้ตกลงกัน เพื่อดำเนินการตามข้อตกลงนี้ และ

4. ร่วมสนับสนุนการใช้ครุภัณฑ์ เครื่องมือ และวัสดุอุปกรณ์ ในการสนับสนุนด้านนโยบายเพื่อผลักดัน พัฒนา พร้อมทั้งสนับสนุนด้านคำปรึกษาด้านวิซาการหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


ภาพ/ข่าว  สหรัฐ แก้วตา รายงาน

ชลบุรี - สัตหีบ เปิดศูนย์ CI แยกกักตัวผู้ป่วยโควิด-19 หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น

เมื่อเวลา 10.00 น วันที่ 31 ส.ค.64 นายกิตติพงษ์ กิตติคุณ นายอำเภอสัตหีบ เป็นประธานเปิดศูนย์พักคอยและแยกกักตัวสำหรับคนในชุมชน (Community Isolation :CI) ณ ศูนย์การเรียนรู้เทศบาลตำบลบางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

หลังพบการแพร่ระบาดในพื้นที่อำเภอสัตหีบ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกวัน ล่าสุดเมื่อ 30 ส.ค.64 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16 ราย ยอดสะสม 1,780 ราย กำลังรักษา 411 ราย หายป่วย 1,350 ราย เสียชีวิต 19 ราย และผู้ติดเชื้อในเขตเทศบาลตำบลบางเสร่ เมื่อ 30 ส.ค.64 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 รายยอดสะสม 132 ราย รักษาหาย 95 ราย อยู่ระหว่างรักษาในโรงพยาบาล36 ราย เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ทำให้เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาล ในการรับดูแลผู้ป่วย จึงมีความจำเป็นในการจัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับแยกกักตัวคนในชุมชน (CI) เพื่อดูแลผู้ป่วย กรณีที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 และแพทย์ผู้ดูแลรักษาของหน่วยบริการพิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้ผู้ป่วยได้กลับมาดูแลรักษาในศูนย์พักคอยและแยกกักตัว สำหรับคนในชุมชนจนครบกำหนด ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

โดยมี นายชัยวัฒน์ อินอนงค์ นายกเทศมนตรีตำบลบางเสร่ พร้อมคณะผู้บริหาร ผู้แทน สส.ชลบุรี เขต 8 ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สาธารณสุขอำเภอสัตหีบ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางเสร่ ร่วมในพิธีเปิดโครงการและนำนายอำเภอสัตหีบ เข้าเยี่ยมชมศูนย์พักคอยและแยกกักตัว สำหรับคนในชุมชน ในครั้งนี้ จำนวน 15 เตียง แบ่งเป็นผู้ป่วยหญิง 8 เตียง ผู้ป่วยชาย 7 เตียง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน

นายกิตติพงษ์ กิตติคุณ นายอำเภอสัตหีบ กล่าวว่าโครงการจัดตั้งศูนย์พักคอยและแยกกักตัวสำหรับคนในชุมชน (Community Isolation) มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับพี่น้องประชาชนชาวบางเสร่ เพื่อให้ชุมชนปลอดโรคและปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ด้วยการได้รับการป้องกัน เฝ้าระวัง ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการส่งตัวมาจากโรงพยาบาล ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ผ่านภาวะเฉียบพลันหรือวิกฤต และมีอาการดีขึ้นคงที่ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และเพื่อให้ประชาชนผู้ติดเชื้อ ได้รับการคัดแยกอาการและรักษาดูแลตามแนวทางการปฏิบัติ ด้านสาธารณสุข ในการป้องกันแพร่ระบาดและติดเชื้อโควิด-19

และขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ปฏิบัติตนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณะสุขอย่างเคร่งครัด ด้วยการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ลดกิจกรรมต่าง ๆ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือ เช็คอุณหภูมิร่างกาย ไม่มั่วสุมรวมกลุ่มดื่มสุรา ซึ่งเราจะผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 นี้ ไปให้ได้ ด้วยการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ ในทุกภาคส่วนขอให้พี่น้องประชาชน สบายใจได้


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ระยอง - คณะกรรมการ EEC เปิดโรงพยาบาลสนาม EEC บ้านฉาง จำนวน 120 เตียง ภายใต้โครงการจิตอาสา EEC ต้านโควิด

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นาชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นายแพทย์สุนทร เหรียญภูมิการกิจ นายแพทย์สาธาราณสุขจังหวัดระยอง และนายสุชิน พูลหิรัญ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านฉาง ร่วมเปิดโรงพยาบาลสนาม EEC บ้านฉาง ขนาด 120 เตียง พร้อมตรวจเยี่ยมระบบบริหารจัดการ การดูแลผู้ป่วยและการใช้ระบบ JITASA.CARE weSAFE@Home เป็นสื่อกลางดูแลผู้ป่วยทั้งระบบ ภายใต้โครงการจิตอาสา EEC ต้านโควิด ตั้งอยู่ริมถนนบูรพาพัฒน์ ม.2 อ.บ้านฉาง จ.ระยอง

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นตัวอย่างของความร่วมมือเพื่อจะช่วยกันบรรเทาปัญหาของโควิด-19 ของทางจังหวัดระยอง กระทรวงสาธารณสุข อบจ.ระยอง เทศบาลตำบลบ้านฉาง และภาคโรงงานอุตสาหกรรม และ EEC ด้วย โดย EEC จะเข้ามาช่วยประสานงานเพื่อให้เกิดเป็นระบบขึ้นมาในการดูแลผู้ป่วย ตั้งแต่ตรวจ ATK จนกระทั่งผู้ป่วยหาย โดยมีการนำเอาจิตอาสาเข้ามาร่วมทำงานในโรงพยาบาลแห่งนี้ด้วย เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ และบุคลากรทางแพทย์ ซึ่งจะมีการต่อยอดไปทำโรงพยาบาลที่อื่นต่อไป ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 300 เตียงในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่ด้วย โดยที่นี่จะเป็นต้นแบบการทำโรงพยาบาลสนามของพื้นที่ของ EEC ทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ปลวกแดง และอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ด้าน นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า เป็นโครงการความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมมือกันทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ให้ลุล่วงไป โดยการทำงานครั้งนี้เป็นการตรวจปูพรมทั้งพื้นที่ เพื่อจะดูว่าระบบมีปัญหาขัดข้อง และอุปสรรคอย่างำไร เมื่อสำเร็จก็จะขยายไปยังพื้นที่อื่นต่อไป ที่สำคัญโครงการดังกล่าวมีจิตอาสา และภาคเอกชนเข้ามาช่วยทำงานแก้ไขปัญหาโควิด-19 ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งจะนำไปบริหารจัดการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ที่อื่นต่อไป


ภาพ/ข่าว  วฐิต กลางนอก / ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน

นราธิวาส - สภาเกษตรนราฯ วอนรัฐช่วย ระบายผลไม้จังหวัดชายแดนภาคใต้ ราคาตกต่ำ ด้านแม่ทัพภาค 4 ย้ำ “ทหารไม่ทอดทิ้งประชาชน รับซื้อลองกองสานใจสู่สันติ กระจายผลผลิตสู่ตลาด ช่วยเกษตรกรใต้มีรายได้ สู้วิกฤติโควิด-19

นายแวฮามะ บากา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ผลไม้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมากมาย เนื่องจากเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ อาทิ มังคุด ทะเรียน เงาะ และลองกอง ซึ่งผลไม้อื่นๆเริ่มน้อยลงแล้ว แต่ที่มีผลไม้ที่กำลังออกผลผลิตจำนวนมากขณะนี้ คือ ผลไม้ลองกอง โดยมีผลผลิต ผลไม้ลองกอง ในพี้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด ปีนี้ประมาณ 13,000 ตัน แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่โรคระบาดสีแดงเข้ม ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการคุมเข้มพื้นที่เป็นกรณีพิเศษ เพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ มาตรการปิดพื้นที่หมู่บ้าน เคอร์ฟิวเวลา ออกเคหะสถาน การงดการเดินทางข้ามจังหวัด และอื่น ๆ เป็นต้น ทำให้พื้นที่และประชาชน ร่วมถึงพี่น้องเกษตรกร ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตามในการแก้ปัญหาผลไม้ที่ขายไมได้และราคาตกต่ำ ในส่วนจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ทางสำนักงานเกษตรจังหวัด พานิชย์จังหวัด สหกรณ์จังหวัด และ ไปรษณีย์ได้บูรณการร่วมกันช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวน แต่ผลไม้พื้นที่ผลผลิตยังจำนวนมาก ที่เกษตรกรขายไม่ได้ แม้จะระบายสู่ตลาดต่างจังหวัดและในพื้นที่บางส่วน  ผลผลิตโดยเฉพาะลองกอง ยังต้องให้ทุกฝ่าย มาช่วยซื้อ หรือระบายจำหน่าย ช่วยเกษตรอีกจำนวนหลายตัน จึงอยากให้หน่วยงานของรัฐ เข้ามาช่วยเหลือผลัดดันผลไม้สู่ตลาดถึงมือผู้บริโภคให้มาก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้าน พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เปิดกับผู้สื่อข่าวว่า กล่าวว่า ทางกองทัพบก โดยผู้บัญชาการทหารบได้ให้นโยบายในเรื่องการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ covid-19  ทั้งเรื่องการขนส่ง และการซื้อขายที่มีความยากลำบาก โดยให้หน่วยในภูมิภาคในส่วนของกองทัพบกช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ด้วยการเข้าดำเนินการประสานงาน ทั้งตลาดกลางในการรับซื้อ  ที่ผ่านมากองทัพภาคที่ 4 มีการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนทุเรียน มังคุด และอื่น ๆ

โดยการจัดซื้อนำไปขายยังส่วนกลาง และสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ตลอดจนแจกจ่ายให้กับทหารกองประจำการหน่วยต่าง ๆ ได้รับประทาน และในขณะนี้พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกลองกองมีผลผลิตออกมามากพอสมควร จึงได้ให้ศูนย์สันติวิธีของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นศูนย์กลางในการให้สมาชิกโครงการสานใจสู่สันติ ซึ่งเป็นพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ดำเนินการเป็นผู้แทนในการรับซื้อ จากทั้งในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี ในวันนี้สามารถรวบรวมผลผลิตลองกองที่รับซื้อมาได้จำนวนกว่า 6.5 ตัน เพื่อส่งไปให้กับพี่น้องสมาชิกชมรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหารกองทัพบก ที่มียอดการสั่งซื้อไว้ โดยชมรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้มาร่วมกันรับซื้อ และจัดส่งผลผลิตลองกองตามโครงการดังกล่าว ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ได้ร่วมกันทำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรในการรับซื้อ และประสานงานเพื่อส่งต่อให้ผู้บริโภค นำไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี  จังหวัดนครราชสีมา ให้ได้มีโอกาสรับประทานลองกองพันธุ์ดี รสชาติอร่อย ในราคาที่เป็นธรรม อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในการกระจายผลผลิตทางการเกษตร เพื่อบรรเทาผลกระทบจากกรณีผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดและมีราคาตกต่ำอีกด้วย

มทภ.4 ยังกล่าวอีกว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีผู้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้พยายามเข้ามาทำลายระบบสาธารณูประโภคสาธารณะ เช่น การก่อเหตุกับขบวนรถไฟขนส่งสินค้า และอื่นๆ อย่างไรก็ตามความพยายามการก่อเหตุของผู้ก่อเหตุรุนแรงอาจจะเกิดจากช่องว่างในการทำงานอยู่บ้าง แต่ในวันนี้มีการปรับปรุงซ่อมแซมเปิดให้บริการขนส่งได้เป็นปกติ สามารถนำผลผลิตทางการเกษตรไปขายสู่ท้องตลาดได้ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนพบเห็นสิ่งผิดปกติให้แจ้งทางหน่วยในพื้นที่ได้รับทราบ หรือแจ้งมายังสายตรงแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ตลอดที่หมายเลขโทรศัพท์ 061-173-2999 การขนส่งทางรถไฟเป็นขนส่งสำคัญที่คอยพยุงให้ความช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์  พี่น้องเกษตรกร อย่าเหยียบย่ำซ้ำเติมในภาวะวิกฤติแบบนี้


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

ชุมพร - ร่วมมือทุกหน่วยงาน ลงพื้นที่รับปากประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าแน่นอน ก่อนปีใหม่ 2565 แก้ไขชาวบ้าน อ.หลังสวน ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้นานกว่า50 ปี ร่วม 200 ครัวเรือน

วันที่ 31 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น. ภายใต้การอำนวยการของนายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร และนายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (รับผิดชอบด้านความมั่นคงและการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ) ได้มอบหมายให้ ปลัดจังหวัดชุมพร เป็นประธานการประชุม(ครั้งที่ 2) เพื่อบูรณาการเเก้ไขปัญหากับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดติดตามผลความคืบหน้ากรณีชาวบ้านในพื้นที่ ม.7 ม.9 ม.12 และ ม.13 ต.หาดยาย อ.หลังสวน ไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ติดเขตป่าของกรมป่าไม้ และเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานเเห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ณ ห้องประชุม อบต.หาดยาย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ท้องถิ่นจังหวัดชุมพร,  นายก อบต.หาดยาย ,ผู้เเทนรอง ผอ.รมน.จังหวัด ช.พ. (ฝ่ายทหาร) ผู้แทน หน.สนจ.ชพ.,ผู้แทนประชาสัมพันธ์จังหวัดชุมพร ,ผู้แทน ผอ.ทสจ.ชพ.,ผู้แทน ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี),ผอ.ศูนย์ป่าไม้จังหวัดชุมพร,ผจก.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหลังสวน,หน.อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว,ผู้แทนนายอำเภอหลังสวน,ปลัดอำเภอหลังสวน,กำนันตำบลหาดยายและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่

จากนั้นได้ลงพื้นที่ ม.7 ม.9 และ ม.12  ซึ่งมีเนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน 56 ตร.วา ที่อยู่ในเขตป่า ตาม ม.54 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และได้รับอนุญาตจาก สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี)ให้ดำเนินการโครงการขยายเขตระบบไฟฟ้าแล้ว โดยจะเริ่มดำเนินการปักเสาไฟต้นแรกพร้อมจ่ายไฟฟ้า ในพื้นที่ ม.12 ภายในวันที่ 25 ก.ย.64 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหลังสวน จะเรียนเชิญ ผวจ.ชพ. เป็นประธานเปิด เฟสเเรกต่อไป

ส่วนพื้นที่ป่าไม้ถาวร ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2504 เนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 67 ตร.วา กรมป่าไม้ ได้ทำหนังสือ เสนอ รมว.ทส. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อเห็นชอบแล้ว กรมป่าไม้ก็จะให้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี) พิจารณาอนุญาตตามที่ อธิบดีกรมป่าไม้ได้มอบอำนาจให้ต่อไป พื้นที่ขยายเขตไฟฟ้าดังกล่าวทั้ง 2 ส่วนระยะทาง 11.290 กม. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหลังสวนจะเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างปักเสาไฟฟ้าให้เเล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค.64 นี้

หลังจากนั้นได้ลงพื้นที่ ม.13 ต.หาดยาย ซึ่งชาวบ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จำนวน 178 ครัวเรือน จำนวน 4 เส้นทาง ระยะทาง 8.2 กม. เศษ อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ของอุทยานเเห่งชาติน้ำตกหงาว  การไฟฟ้าภูมิภาคอำเภอหลังสวนจะเป็นเจ้าภาพในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าโดยได้ทำการสำรวจออกเเบบและประมาณการเสร็จเรียบร้อยแล้วได้ส่งเรื่องเเละรายละเอียดให้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว เมื่อวันที่ 27 ม.ค.64(ฉบับเเก้ไขล่าสุด) ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว ได้รับทราบปัญหาและข้อเท็จจริงรวมทั้งได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม ณ ศาลา ม.13 ต.หาดยาย โดยจะเร่งรัดส่งข้อมูลให้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) พิจารณา และในเบื้องต้นปลัดจังหวัดชุมพรได้โทรประสาน ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 เพื่อพิจารณาให้ความอนุเคราะห์ด้วยแล้ว

ในส่วนรายละเอียดที่เกี่ยวข้องได้มอบหมายให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหลังสวน ,นายอำเภอหลังสวน และ อบต.หาดยาย ได้บูรณาการ โดยจัดทำโครงการร่วมกับ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาวในรายละเอียดข้อเท็จจริงและการใช้ประโยชน์ของอุทยานและปัญหาความเดือดร้อนเรื่องประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากได้อยู่อาศัยมากว่า40 ปี มีการปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยและประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักแหล่งมีถนนหนทางเข้าออกได้สะดวกเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งไม่สามารถใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า และอินเตอร์เน็ตได้ ปัจจุบันมี นักเรียนชั้นประถมศึกษา และมัธยมฯ จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเรียนออนไลน์ รวมทั้งประชาชนที่ป่วยโควิด19 ต้องได้รับการดูเเลรักษาอย่างทันท้วงที ซึ่งต้องเร่งรัดประสานงานเพื่อให้ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชต่อไปในการขยายเขตไฟฟ้าโดยเร็ว รวมทั้งได้ติดตามผลความคืบหน้าเป็นระยะ จนกว่าชาวบ้านในพื้นที่จะมีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน และในระดับจังหวัดที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานจังหวัดชุมพร(ศดธ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบแก้ไขปัญหา และติดตามผลความคืบหน้ากรณีเรื่องร้องเรียนดังกล่าวต่อไป อีกทางหนึ่งด้วย


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

จันทบุรี - ไรเดอร์รับส่งอาหารในจังหวัดจันทบุรีกว่า 100 คน รวมตัวยื่นหนังสือให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด เรียกร้องความเป็นธรรมในการจ่ายค่าตอบแทน

วันนี้ (1 ก.ย. 64) ที่หน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี ไรเดอร์รับส่งอาหาร ไลน์แมน กว่า 100 คน ได้รวมตัวกันมายื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมมอบให้กับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี เนื่องจากได้รับความไม่เป็นธรรมในเรื่องค่าตอบแทนในการรับส่งอาหาร โดยในปัจจุบันได้ค่าตอบแทนรับส่งอาหารรอบละ 17 บาท จากที่ตอนแรกตกลงกันที่ 17 +4 บาท และถ้าช่วงที่มีฝนตกจะได้ค่าตอบแทนเพิ่มอีก 10 บาท เป็น 27 บาท ซึ่งในตอนนี้ไลน์แมนได้เปิดวิ่งในจังหวัดมาแล้ว 1 เดือนไม่มีค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด จึงได้ลงความเห็นกันแล้วว่าค่ารอบที่วิ่งนั้นไม่คุ้มกับค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ค่าโทรศัพท์ รวมทั้งค่าสึกหรอของรถ จึงได้รวมตัวกันมายื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรม 

โดยมี นายภิชาติ โพธิ์บาทะ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี เป็นผู้รับมอบหนังสือร้องเรียนสำหรับข้อเรียกร้องของไรเดอร์รับส่งอาหาร ที่ได้รวมตัวกันในวันนี้คือ

1.ขอศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรีช่วยประสานงานติดต่อขอตัวแทนที่เจรจากับบริษัทได้เนื่องจากในจังหวัดไม่มีตัวแทนที่ติดต่อพูดคุยได้ ไม่มีสำนักงานในจันทบุรี

2.ต้องการค่าตอบแทนต่อรอบเริ่มต้นที่ 30 บาท และบวกเพิ่มตามระยะทางตามความเหมาะสม

3.ให้บริษัทพิจารณาเรื่องการจ่ายงานในระยะไกลที่ไรเดอร์ห่างจากร้านเกิน 4 กิโลเมตรและบวกค่ารอบตามความเหมาะสม

4 .ขอให้ทางบริษัททำการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นทางเพจ หรือป้ายประชาสัมพันธ์ และโค้ดส่วนลดต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับข้อมูลอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ในวันนี้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี ได้รับหนังสือข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมแล้ว จากนั้นจะนำไปดำเนินการติดต่อเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อไป


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี

พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

ชลบุรี - พัทยา เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ ป่วย 7 โรค เกิน 80 % แล้ว หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ก่อนเตรียมเปิดเมืองท่องเที่ยว มีนักร้องขับกล่อมแก่ผู้ใช้บริการเพื่อลดความเครียด

วันนี้ 1 ก.ย.64 ที่โรงเรียนเมืองพัทยา 2 นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วย คณะผู้บริหารเมืองพัทยา ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล และประชาชนที่เดินทางมาเข้ารับวัคซีนซิโนฟาร์ม เมืองพัทยาเข็ม 1 ในวันแรก จำนวน 1,000 คน  ซึ่งเป็นวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่เมืองพัทยา ได้ตั้งงบประมาณไว้เพื่อทำการจัดซื้อจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ฯ จำนวน 100,000 โดส เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนเมืองพัทยาหวังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยปัจจุบันเมืองพัทยา ได้รับการอนุมัติวัคซีนซิโนฟาร์ม จากสถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในล็อตแรกจำนวน 60,000 โดส โดยบรรยากาศวันนี้มีผู้ที่ลงทะเบียนออนไลท์ มาฉีดวัคซีนชิโนฟาร์ม และผู้ที่มาตรวจหาเชื้อโควิด ATK จำนวน 200 คน โดยบรรยากาศมีเพลงขับกล่อม เพื่อระบายความเครียดแก่ผู้ที่มาใช้บริการ

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า สำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ของเมืองพัทยาวันที่สอง ที่โรงเรียนเมืองพัทยา 2  ซึ่งพบว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเมืองพัทยา เร่งฉีดวัคซีนชิโนฟาร์ม ที่เมืองพัทยาตั้งงบประมาณจัดซื้อมานั้น ถือว่ามีปริมาณเพียงพอต่อจำนวนประชากรในพื้นที่เกือบทั้งหมด รวมถึงวัคซีนที่ภาครัฐจัดสรรมาให้ ทั้งในส่วนของซีโนแวค แอสตร้าเซเนก้า วันนี้สามารถฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคไปแล้ว มากกว่า 80% ส่วนประชาชนทั่วไปนั้น ได้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้จำนวนที่กำหนดหรือ 70 % เพื่อเร่งเปิดเมืองท่องเที่ยวหรือแผน Pattaya Move On สามารถมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่มีความปลอดภัยด้านการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในเดือนตุลาคมนี้ หรืออย่างช้าสุดภายในเดือน มกราคม 2565 ซึ่งหลังจากนั้นจะได้เร่งตามแผนการที่จะเปิดการรับนักท่องเที่ยว อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top