Wednesday, 14 May 2025
Region

สุรินทร์ - ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ มอบเครื่องวัดปริมาณ ออกซิเจนในเลือดปลายนิ้ว ตามโครงการ “หอการค้าเพื่อคนสุรินทร์ไม่ทิ้งกัน”

นายวีรศักดิ์  พิษณุวงษ์  ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ และคณะฯ นำเครื่องวัดปริมาณ ออกซิเจนในเลือดปลายนิ้ว จำนวน 480 เครื่อง มอบให้แก่สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ เพื่อนำไปใช้กับ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ตามโครงการ “หอการค้าเพื่อคนสุรินทร์ไม่ทิ้งกัน”  โดยหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ และ YEC สุรินทร์  โดยมี นางจันทร์เพ็ญ กิติภัทย์พิบูลย์  นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้รับมอบ  หลังจากนั้น นายวีรศักดิ์  พิษณุวงษ์  ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับ คณะครูโรงเรียนวาณิชย์นุกูลสุรินทร์ใช้เวลาว่างที่ต้องหยุดการสอน ทำอาหาร มอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ป่วยที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังใจจากครู สู่ นักรบชุดขาว

โรงเรียนวาณิชย์นุกูล นำโดยนางเพ็ญศรี เงางาม ผู้อำนวยการโรงเรียนวาณิชย์นุกูลร่วมกับคณะครู ใช้เวลาว่างจากการปิดโรงเรียน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้ร่วมกันลงมือทำอาหารกล่อง จำนวนกว่า 600 กล่อง ต่อสัปดาห์ โดยได้ร่วมกับหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ ได้ร่วมอบของใช้ประจำตัวสำหรับผู้ป่วยเช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน แป้งฝุ่น และน้ำดื่ม ให้กับแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยผู้ป่วยที่ พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมหลวงปู่ดุลย์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  โดยโรงพยาบาลสนามปฏิบัติธรรมหลวงปู่ดุลย์ เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยหญิง เขตอำเภอเมือง มีจำนวนเตียง 290 เตียง 

ขณะนี้มีผู้ป่วยครองเตียงแล้วจำนวน 210 เตียง ยังคงว่างอีกเพียง 80 เตียง อย่างไรก็ตามทางทีมแพทย์เตรียมขยายเตียงเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับหากมีผู้ป่วยมากขึ้นกว่านี้ นายวรากร โรจน์จรัสไพศาล นายกสมาคมศิษย์เก่า โรงเรียนวาณิชย์นุกูล กล่าวว่า เนื่องจากโรงเรียนวาวาณิชย์นุกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ของคนสุรินทร์ ที่ก่อตั้งมายาวนานกว่า 60 ปี ทางสมาคมศิษย์เก่าจึงได้มีมติ ต้องการช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยที่มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากที่จังหวัดสุรินทร์ได้เกิดคัตร์สเตอร์ตลาดสดเทศบาล และยังคงกระจายไปเกือบทั่วพื้นที่ อำเภอเมือง ทั้งนี้อาหารกล่องเป็นฝีมือการทำอาหารของคณะครูและบุคลากรโรงเรียน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งน้ำใจของคุณครู ที่ต้องการเป็นกำลังใจให้กับด่านหน้าและผู้ป่วย ให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

นาราธิวาส - ผบ.พล.ร.15 จัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ Big Cleaningday ณ ศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน พล.ร.15 โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านโคกป่ายาบือซา

พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่15 ในฐานะ ผู้อำนวยการหลักสูตรศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่15  เดินทางมาเป็นประธานกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ Big Cleaningday ณ ศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่ 15 โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านโคกป่าฆาบือซา ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยมี พันเอก ยุทธนา สายประเสริฐ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 151 ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรภาครัฐ เอกชน กำลังพลจิตอาสา และ ประชาชนจิตอาสา เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งภายในกิจกรรมกำลังพลจิตอาสา หน่วยงานส่วนราชการ ทุกภาคส่วน ร่วมแรง ร่วมใจกัน ช่วยกันพัฒนาทำความสะอาดปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณโดยรอบ เพื่อให้ศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่ 15 สามารถมีความพร้อมต่อการรองรับการฝึกในอนาคตต่อไป โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 อย่างเคร่งครัด

โดยการจัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ Big Cleaningday ณ ศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่ 15 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งเป็นศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่15

สถานีฝึกปฏิบัติหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประจำหลักสูตรจิตอาสา (หลักสูตรพื้นฐาน) ภาค 4 ที่ใช้พื้นที่โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง บ้านโคกปาฆาบือซา  เป็นสถานที่ทำการฝึกหลักสูตรจิตอาสาพระราชทาน ภาค 4 โดยพลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ภาค 4 เป็นผู้บัญชาการศูนย์ฝึกจิตอาสาภาค 4 และแต่งตั้งให้ พลตรี ไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร ทำหน้าที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการจัดเตรียมสถานีฝึกปฏิบัติหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็น 2 สถานีศึกษา คือ สถานีฝึกการแก้ปัญหาตามภูมิศาสตร์สังคมที่ประกอบไปด้วย 7 ฐานการฝึกย่อย และสถานีฝึกเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ในลักษณะชุมชนต้นแบบ ที่มีจำนวน 9 ฐานการฝึกย่อย ให้มีความพร้อมสำหรับการฝึกอบรมของศูนย์ฝึกจิตอาสาภาค 4 รุ่นที่ 1 ประจำปี 2564 ที่เดิมนั้นมีแผนการปฏิบัติจะเปิดการฝึกในมีนาคม 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์ไวรัส covid-19 จึงได้เลื่อนการฝึกไปโดยไม่มีกำหนด แต่คาดว่าหากสถานการณ์คลี่คลายลง จะทำการเปิดการฝึกได้ในเร็ววันนี้

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ในฐานะ ผู้อำนวยการหลักสูตรศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่15  กล่าวว่า ฟาร์มตัวอย่างแห่งนี้ถือเป็นจุดสำคัญพื้นฐานของหลักสูตร ที่เป็นหนึ่งใน 5 หมวดวิชา ให้เราเรียนรู้ใช้องค์ความรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปต่อยอดเสริมสร้างความรู้ให้กับชุมชนและพี่น้องประชาชน โดยเรามีกองอำนวยการอยู่ที่ค่ายจุฬาภรณ์ มีสถานที่และมีวิทยากรที่ได้ผ่านการอบรม มีขีดความสามารถตรงตามเนื้อหาของรายวิชาแต่ละฐานแต่ละสถานี เราได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง จนมีความพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ผ่านกระบวนการเข้าศึกษาผ่านการคัดเลือกตัวบุคคล ถึงแม้จะเลื่อนการอบรมออกไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่อย่างไรก็ตามการเตรียมความพร้อมยังคงดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปิดให้เรียบร้อย หากสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลายลงก็พร้อมเปิดในทันที เพื่อการเรียนรู้สร้างงานสร้างอาชีพ และคาดว่าจะขยายไปทุกจังหวัดของชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับ 15 ฟาร์มตัวอย่างที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ บ้านเรานั้นหากในโคกมีผัก ในหนองมีปลา ในนามีข้าว อยู่ที่ไหนมีกินมีใช้ไม่มีอดตายแน่นอน


ภาพ/ข่าว  ปทิตตา หนดกระโทก ผู้สื่อข่าวนราธิวาสรายงาน

ขอนแก่น - มข. คลอดมาตรการช่วยเหลือนักศึกษา ลดค่าธรรมเนียมการศึกษา ในสถานการณ์ โควิด-19

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยความคืบหน้า มาตรการช่วยเหลือนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในสถานการณ์ COVID-19 ภายหลังจากที่นักศึกษาได้เริ่มลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์

จากการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กำหนดมาตรการในการช่วยเหลือนักศึกษาในสถานการณ์ COVID-19 ประจำภาคการศึกษาที่ 1/2564 คือลดค่าธรรมเนียมการศึกษา ภาคการศึกษาที่ 1/2564 ร้อยละ 50 (ต้องยืนยันตัวตนในการรับสิทธิ์) โดย ส่วนลดจากรัฐ (สูงสุด 30 %) ส่วนลดจากมหาวิทยาลัย(สูงสุด 20 %)ผ่อนผันการชำระค่าธรรมเนียมการศึกษา ดังนี้

1. ผลัดชำระค่าธรรมนียมการศึกษาได้ใน 6 เดือน และหากมีความจำเป็นสามารถขอขยายเวลาเพิ่มได้อีก 6 เดือน รวมเป็น 1 ปี

2. ผ่อนชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาในแต่ละภาคการศึกษาได้เป็น 3 งวด เพิ่มทุนการศึกษา(ทุนให้เปล่า) เป็นเงิน 75 ล้านบาท (ของมข. 45 ล้านบาท + ของคณะ 30 ล้านบาท) เพิ่มทุนจ้างงานนักศึกษาเป็นเงิน 25 ล้านบาท (ของมข. 15 ล้านบาท + ของคณะ 10 ล้านบาท)ให้แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือแบบ Top-Up Unlimited 4 เดือน ลดค่าธรรมเนียมหอพักนักศึกษาส่วนกลางของมหาวิทยาลัย 20 %ติดตั้ง High Speed Internet เพิ่มในหอพักนักศึกษาส่วนกลางของมหาวิทยาลัย (ขยาย FTTx ในหอพักอีก 1,000 ห้อง)

ขอความร่วมมือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศให้เพิ่มบริการการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่นักศึกษาทุกคนในราคาที่ถูกลง จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต ให้นักศึกษายืมเป็นเงิน 40 ล้านบาท (ของมข. 20 ล้านบาท+ของคณะ 20 ล้านบาท) (ขยายโครงการจากปีก่อน +50%)

ประกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับนักศึกษาให้มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเป็นค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจำนวน 50,000 บาท และเป็นค่าสินไหมทดแทนหากเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตจำนวน 500,000 บาทจัดคูปองอาหารกลางวันสำหรับนักศึกษาโดยมีการเปิดให้นักศึกษาลงทะเบียนขอใช้สิทธิลดค่าธรรมเนียมการศึกษาตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แจ้งความคืบหน้า ภายหลังจากที่นักศึกษาได้เริ่มลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ จนถึงวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ความว่า หลังจากที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ประกาศให้นักศึกษาลงทะเบียนขอใช้สิทธิลดค่าธรรมเนียมการศึกษา ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 นักศึกษาทุกระดับได้เริ่มมีการทะเบียนมากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับในส่วนลด 20% ของมหาวิทยาลัยนั้น มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาให้กับนักศึกษาที่ขอคืนรอบแรก (สำหรับนักศึกษาที่ชำระเงินครบ) โดยมหาวิทยาลัยได้โอนเงินเข้าบัญชีของนักศึกษาแต่ละคนไปแล้ว เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2564 จำนวน 24,150 คน เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 95,609,286.50 บาท (เก้าสิบห้าล้านหกแสนเก้าพันสองร้อยแปดสิบหกบาทห้าสิบสตางค์) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งยอดนี้รวมนักศึกษาต่างชาติจำนวน135 คนด้วย โดยนักศึกษาที่เหลือมหาวิทยาลัยจะดำเนินการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาให้ในรอบถัดไป

ระยอง - ‘หลวงพ่อรวย’ ประเดิม ฉีดวัคซีนโควิด-19 ชิโนฟาร์ม เข็มแรกของเทศบาลเมืองมาบตาพุด เพื่อความเป็นสิริมงคล ‘นายก ถวิล’ อำนวยความสะดวก ต้อนรับประชาชนพร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2564 เทศบาลเมืองมาบตาพุดได้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 วันแรก ตัวเลือกชิโนฟาร์ม ที่ได้รับจัดสรรมาจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อพี่น้องประชาชนชาวมาบตาพุด 

โดยได้รับเกียรติจาก พระครูสุขุมธรรมธาดา (หลวงพ่อรวย  อคฺคสาโร) เจ้าอาวาสวัดมาบตาพุด ฉีดเป็นลำดับแรก เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนชาวมาบตาพุด

สำหรับ บรรยากาศในวันแรก ช่วงเช้านี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ นายถวิล โพธิบัวทอง นายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้ร่วมให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่มารับบริการ ณ สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง


ภาพ/ข่าว  ทม.มาบตาพุด / ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน

กาฬสินธุ์ - มูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีฐานะยากจน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 สิงหาคม 2564 ที่ห้องประชุมโสมพะมิตร ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 4 ซึ่งวันนี้มีการประชุมประจำเดือนของส่วนราชการ พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ กรรมการมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นตัวแทนพล.อ.วีรชัย อินทุโศภน ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก มอบทุนการศึกษากับนักเรียนจำนวน 25 ราย ทุนละ 5,000 บาท ตามโครงการมอบทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และมีฐานะยากจน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นเกียรติในการร่วมมอบทุนการศึกษา

พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ กรรมการมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในวงกว้าง ดังนั้นมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก โดยพล.อ.วีรชัย อินทุโศภน ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมด้วยกรรมการมูลนิธิฯ ได้ร่วมกันจัดหาทุนและจัดโครงการมอบทุนการศึกษา สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีฐานะยากจนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

พล.ต.ต.มนตรี กล่าวอีกว่า ในการมอบทุนทางมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก ได้ประสานงานกับนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ และได้ให้นายอำเภอทั้ง 18 อำเภอ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคัดเลือกนักเรียน นักศึกษาที่มีความเหมาะสมจำนวน 20 ทุน และทางตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์คัดเลือกเพิ่มอีก 5 ทุน รวมเป็น 25 ทุน ซึ่งมอบทุนละ 5,000 บาท โดยเป็นทุนให้เปล่าไม่มีข้อผูกพัน เพื่อเป็นกำลังใจและส่งเสริมการศึกษาให้กับนักเรียน นำไปใช้ในการศึกษาเล่าเรียน รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ปกครองในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ด้านนายพรมนัส ผลิผล นักชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสามชัย อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก ที่เห็นความสำคัญของการศึกษา และตระหนักในความเดือดร้อนของพ่อ แม่ ผู้ปกครองนักเรียน ในช่วงประสบสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี ซึ่งตนจะนำทุนการศึกษาที่ได้รับ ไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาอย่างคุ้มค่ามากที่สุด และนอกจากนี้ ยังจะปฏิบัติตนและบอกผู้ปกครอง เพื่อนนักเรียน และชุมชน ในการร่วมกันรณรงค์จัดเก็บขยะ มีการคัดแยก ตั้งแต่ในระดับครัวเรือน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก ตามแนวทางของมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

ระยอง - ตำรวจทางหลวงระยอง แจกฟ้าทะลายโจร พร้อมเปิดโครงการเปลี่ยนไฟท้ายจักรยานยนต์ให้ประชาชนฟรี

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 30 ส.ค. 64 ที่สถานีตำรวจทางหลวง 3 กองกำกับการ 3 (ระยอง)  ริมถนนสุขุมวิท ต.แกลง อ.เมือง จ.ระยอง พ.ต.ท ศราวุฒิ ทองใหญ่ สว.สทร.3 กก.3 บก.ทล.(ระยอง) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง ได้นำพันธุ์ต้นฟ้าทะลายโจร แจกจ่ายให้กับชาวบ้านและผู้ที่ต้องการนำไปปลูก เพื่อไว้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ โดยมีประชาชนมารับแจกต้นฟ้าทลายโจรจำนวนมาก โดยบอกว่า ต้องการหาไปปลูกเพื่อใช้เป็นยา ตามที่มีการรับรองว่าสามารถต้านโควิด-19 ได้

พ.ต.ท.ศราวุฒิ กล่าวว่า สำหรับโครงการแจกต้นฟ้าทะลายโจรมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนปลูกต้นฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ในทางยาในการรักษาโรคต่างๆ โดยจะมีการเพาะต้นกล้าไว้แจกโดยผู้ใดสนใจก็สามารถติดต่อขอรับต้นกล้าได้ที่สถานีตำรวจทางหลวง3 กองกำกับการ 3 (ระยอง) ในวันและเวลาราชการ

นอกจากนี้ตำรวจทางหลวงระยอง ยังมีโครงการเปลี่ยนไฟท้ายรถจักรยานยนต์ฟรี เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน หากท่านใดต้อวการเปลี่ยนไฟท้ายรถจักรยานยนต์ สามารถนำรถเข้าไปติดต่อขอเปลี่ยนไฟท้ายได้ที่สถานีตำรวจทางหลวง 3 กองกำกับการทางหลวง 3(ทางหลวงสวนสน) ในวันเวลาราชการ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ฟรีทั้งหลอดไฟและเปลี่ยนให้ ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยเหลือผู้ใช้รถจักรยานยนต์และยังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อีกด้วย


ภาพ/ข่าว  วฐิต กลางนอก / ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน

ชลบุรี - กฟผ.มอบเสื้อชูชีพ 200 ตัว เงิน 50,000 บาท สนับสนุนอุทยานใต้ทะเลเกาะขาม ทัพเรือภาคที่ 1

ทัพเรือภาคที่ 1 รับมอบเสื้อชูชีพ จำนวน 200 ตัว พร้อมเงินจำนวน 50,000 บาท จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสนับสนุนให้แก่ อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม ทัพเรือภาคที่ 1 ในพื้นที่ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันที่ 30 สิงหาคม 2564 พลเรือโท โกวิท  อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 มอบหมายให้ พลเรือตรี อภิชัย สมพลกรัง รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 พร้อมด้วย นาวาเอก วิวัฒน์  ขวัญสูงเนิน ผู้อำนวยการกองข่าวทัพเรือภาคที่ 1 เป็นผู้แทนรับมอบเสื้อชูชีพ จำนวน 200 ตัว พร้อมรับมอบเงินจำนวน 50,000 บาท จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดย นางสุภาวิณี นาควิเชตร หัวหน้าหมวดประชาสัมพันธ์ (มปส.-ปส.) โครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน  (อค.-ปส.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนส่งมอบ ณ กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

การรับมอบเสื้อชูชีพ พร้อมด้วยเงินในครั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้มอบให้ทัพเรือภาคที่ 1 เพื่อสนับสนุนให้แก่ อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม ทัพเรือภาคที่ 1 ตามโครงการสร้างสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติเทิดพระเกียรติ ระยะที่ 3 ซึ่งอุทยานใต้ทะเลเกาะขาม เป็นหนึ่งในพื้นที่ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเสื้อชูชีพ จำนวน 200 ตัว ที่ได้รับมอบในครั้งนี้ อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม ทัพเรือภาคที่ 1 จะนำใช้ไปทดแทนเสื้อชูชีพที่เก่าและเสื่อมสภาพเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำแก่ประชาชนทั้งในระหว่างการเดินทาง และการเยี่ยมชมอุทยานใต้ทะเลเกาะขาม ทัพเรือภาคที่ 1 อีกทั้งจะนำเงินจำนวน 50,000 บาท ไปปรับปรุงโครงสร้างสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติเทิดพระเกียรติ และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมใต้ทะเล ณ อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม ทัพเรือภาคที่ 1 ตามเจตนารมณ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อไป


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

สุรินทร์ - กองกำลังสุรนารี และศูนย์ดูแลโควิดชุมชน โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน รับมอบถุงรอยส์ยิ้ม และชุดป้องกันเชื้อโรค (PPE) ให้กับศูนย์ดูแลโควิดชุมชน

วันที่ 27 สิงหาคม 2564 ที่จังหวัดสุรินทร์ พลตรีอดุลย์  บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี,เป็นตัวแทนรับมอบ ถุงรอยส์ยิ้ม จำนวน 500 ชุด และ ชุดป้องกันเชื้อโรค (PPE) จำนวน 300 ตัว จากบริษัท รอยส์ เซอร์วิส จำกัด โดย ดร.ภัทร์ฐิตา ทุมเกิด กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และ นายคณิน  อารีวานิช กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท รอยส์ เซอร์วิส จำกัด และคณะ ได้เดินทางเข้ามอบถุงรอยส์ยิ้ม จำนวน 500 ชุด และ ชุดป้องกันเชื้อโรค (PPE) จำนวน 300 ตัว  ให้กับศูนย์ดูแลโควิดชุมชน (Community Isolation) มณฑลทหารบกที่ 25 (กองกำลังสุรนารี) และศูนย์ดูแลโควิดชุมชน (Community Isolation) โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน

โดยมี พันเอกสงราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธินเป็นผู้รับมอบ เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 ได้นำกลับไปใช้ หลังจากที่หายป่วยแล้ว โดยภายในถุงรอยส์ยิ้มประกอบด้วย สเปรย์แอลกอฮอร์ หน้ากากอนามัย น้ำยาถูพื้นรอยส์ และเจลแอลกอฮอล์ และชุดป้องกันโรค (PPE) ไว้สำหรับให้บุคลากรทางการแพทย์ ใช้ในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับศูนย์ดูแลโควิดชุมชน (Community Isolation) มณฑลทหารบกที่ 25 (กองกำลังสุรนารี) ได้จัดตั้งมา ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 โดยรับผู้ป่วยเพศชาย จำนวน  30 เตียง  ยังคงรักษาตัวอยู่ จำนวน 25 ราย

ในส่วนของศูนย์ดูแลโควิดชุมชน (Community Isolation) โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน นั้น ได้ดำเนินการใช้เป็นศูนย์ดูแลโควิดย์ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยใช้รับผู้ป่วยเพศชาย มีจำนวน 60 เตียง จากนั้นจากบริษัท รอยส์ เซอร์วิส จำกัด และคณะได้เดินทางเข้ามอบถุงรอยส์ยิ้ม น้ำยาถูพื้นรอยส์ และเจลแอลกอฮอล์ ให้กับพันเอกวีระยุทธ์ รักศิลป์ รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ณ ศูนย์พัฒนาทักษะและฝึกอาชีพคนพิการทางสติปัญญา จังหวัดสุรินทร์ มูลนิธิเพื่อช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์เพื่อส่งต่อให้กับผู้นำชุมชนชาวบ้านไปใช้กับผู้กักตัวของชุมชนชาว ตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ โดยมี นายประภาส  ศรีจันทร์เวียง นายอำเภอปราสาท ร่วมเป็นเกียรติรับมอบ


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

แม่ฮ่องสอน - ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน กำชับเข้มงวดด่าน 3 ชั้น 24 ชั่วโมง พร้อมเตรียม Local Quarantine รองรับผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาในระดับพื้นที่ให้เพียงพอ

นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนในเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในพื้นที่

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุว่า ได้มีการเน้นย้ำขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ดำเนินการตามมาตรการของจังหวัดอย่างเคร่งครัด ทั้งเรื่องของการตั้งด่าน 3 ชั้น ให้เข้มข้นและเข้มงวด ตลอด 24 ชั่วโมง การเตรียมพร้อม Local Quarantine รองรับผู้ที่จะกลับคืนสู่ภูมิลำเนาในระดับพื้นที่ทั้งตำบล และอำเภอ ให้เพียงพอต่อจำนวนคน การเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครบตามเป้าหมายที่รัฐได้กำหนดไว้โดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / รุจิรา อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน  

เชียงใหม่ - รพ.สวนดอก เปิดวอล์กอินผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรค เรื้อรัง ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวันจันทร์และวันศุกร์

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ย้ำลูกหลานพาพ่อแม่อายุ 60 ปี ขึ้นไป มาฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบวอล์กอิน เผยผู้สูงอายุเชียงใหม่รับวัคซีนยังน้อย หากติดเชื้อความเสี่ยงเสียชีวิตสูง ส่วนหญิงนน.เกิน 70 กก.และชาย นน.เกิน 90 กก. หรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าเท่ากับ 30 วอล์กอินรับวัคซีนได้เลย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันจันทร์ และวันศุกร์

ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ได้เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ระยะแรกใช้สถานที่ชั้น 15 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มช. เพื่อทำการทดสอบระบบการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่อมาย้ายไปที่ชั้น 2 อาคารเรียนรวม คณะแพยศาสตร์ มช. ซึ่งพบว่ามีผู้มารับการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากทำให้พื้นที่มีความแออัด จึงได้ขออนุมัติไปยังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่ในการฉีดวัคซีนให้กับภาคประชาชนและบุคลากร

หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การสนับสนุนทั้งสถานที่ และบุคลากร ให้เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่สามารถฉีดได้มากถึง 1,700 คนต่อวัน โดยเริ่มฉีดระหว่างเวลา 08.00-14.00 น. ปัจจุบันฉีดไปแล้วทั้งหมดประมาณ 6 หมื่นราย เราได้ใช้หอประชุมอย่างเต็มพื้นที่ ทั้งการลงทะเบียน การคัดกรอง , การฉีดวัคซีน , การสังเกตอาการ และการปฐมพยาบาล แต่ด้วยวัคซีนที่วางแผนและถูกจัดส่งมาจากทางจังหวัดไม่ได้มีมากตามที่ได้คาดการณ์ไว้ จึงทำให้ไม่สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ทุกวัน ทางรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ จึงลดการฉีดลงเหลือเพียงแค่ 3 วัน คือ วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์เท่านั้น

ปัจจุบันมีผู้ได้รับ SMS นัดรับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวนมาก โดยในตอนนี้จังหวัดเชียงใหม่ใช้สูตรในการฉีดคือ วัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ซึ่งต้องห่างจากเข็มที่ 1 ประมาณ 3 สัปดาห์ รวมทั้งฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 ให้กับประชาชนที่ทำการวอล์กอินเข้ามา ภายใต้การบัญชาของกรรมการวัคซีนจังหวัด โดยระยะแรกประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “ก๋ำแปงเวียง” บุคคลที่เน้นตอนแรกคือกลุ่ม 607 หมายถึง กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง แต่ในภาพรวมของจังหวัด ยังพบว่าประชาชนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในจังหวัดเชียงใหม่ ฉีดวัคซีนเพียงแค่ 35 % ยังไม่ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ หากผู้สูงอายุได้รับการฉีดอย่างน้อย 50% ขึ้นไปแล้ว หลังจากนั้นจึงจะเป็นการฉีดวัคซีนในภาคประชาชนทั่วไป ซึ่งคงจะไม่นานนัก ขอให้ประชาชนรออีกสักนิด เพราะกลุ่มผู้สูงอายุเมื่อป่วยจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูง ดังนั้นนโยบายจังหวัดตอนนี้จึงยังคงเน้นที่กลุ่ม 607 อยู่ และได้เปิดวอล์กอินให้เข้ามาฉีดวัคซีนมากขึ้น”

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า “ในส่วน รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 และ 30 สิงหาคม 2564 ได้เปิดวอล์กอินเต็มกำลัง 1,000 คน ต่อวัน ให้ผู้สูงอายุเข้ามาฉีด แต่ก็ยังพบว่ามีผู้สูงอายุมาฉีดน้อยมากเพียงแค่ประมาณ 30% เท่านั้น อาจเพราะการเดินทางไม่สะดวก หรือความเข้าใจของผู้สูงอายุเองว่าไม่อยากฉีดเนื่องจากกลัวผลข้างเคียง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ผู้สูงอายุปฏิเสธในการรับวัคซีน

ผู้สูงอายุบางท่านที่อยู่แต่บ้านอาจมองว่าไม่ต้องฉีดก็ได้เพราะไม่ได้ไปไหน แต่อาจไม่ปลอดภัยเสมอไปเพราะลูกหลานบางคนที่แข็งแรงดี อาจป่วย แล้วเดินทางมาหา พูดคุย เข้าใกล้ สัมผัสผู้สูงอายุ ก็อาจจะทำให้ มีการแพร่กระจายเชื้อมาสู่ท่านได้ อยากให้ผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันไม่มากเท่าคนหนุ่มสาวทำความเข้าใจใหม่เรื่องความอันตรายของวัคซีน เพราะประโยชน์ของวัคซีนโควิด-19  มีมากกว่าผลเสีย

ข่าวการเสียชีวิตหรือผลข้างเคียงไม่ได้มีข้อพิสูจน์ว่าเกิดจากวัคซีนอย่างแท้จริง ในกลุ่มประชาชนทั่วไป เสียชีวิตกะทันหันจากโรคประจำตัวเดิม ก็มีอยู่ไม่น้อย หากแต่บังเอิญเสียชีวิตช่วงที่รับวัคซีนโควิด-19 พอดี อาจทำให้เข้าใจผิดว่า เสียชีวิตจากวัคซีนก็ได้ จึงขอให้ผู้สูงอายุ ออกมารับวัคซีนกันให้มาก ๆ เพราะผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วเสียชีวิตมีจำนวนมากในทุก ๆวัน

อีกหนึ่งกลุ่มคือ กลุ่มที่มีนำหนักตัวมาก ได้แก่ ผู้หญิงน้ำหนักมากกว่า 70 กิโลกรัม ผู้ชายน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าเท่ากับ 30 สามารถวอล์กอินเข้ามาฉีดที่ศูนย์ฉีด ของรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ได้เลย ในวันจันทร์ และวันศุกร์ ระหว่างเวลา 10.00 -14.00 น. ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องวัคซีนโควิด-19 โทร.053-934900-1 ทุกวัน ระหว่างเวลา 08.30-16.00 น.


ภาพ/ข่าว  นภาพร/เชียงใหม่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top