Wednesday, 14 May 2025
Region

สตูล - หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว.ฉีดวัคซีนพระราชทานซิโนฟาร์ม ให้แก่กลุ่มผู้นำศาสนาอิสลาม พระภิกษุสงฆ์ และประชาชนกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หลังได้รับวัคซีนมาจำนวน 5,000 โดส

ที่ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคาร 100 ปี สธ. โรงพยาบาลสตูล นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีเปิดและตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนพระราชทาน ซิโนฟาร์ม ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) โดยมีผู้รับบริการเป็นกลุ่มผู้นำศาสนาจากทั้ง 7 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 1,166 ราย มารับบริการที่ศูนย์ฉีดวัคซีนโรงพยาบาลสตูล โดยมีอาสาสมัครหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. จังหวัดสตูล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสตูล ให้บริการฉีดวัคซีนตั้งแต่เวลา 08.30 น. จนถึง 16.00 น.  

สำหรับวัคซีนพระราชทาน ซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนทางเลือกที่ได้รับพระราชทานจาก จาก ศาตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน์ วรขัตติยราชนารี  โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ที่จะฉีดให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง ที่ยังไม่ได้เคยรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดใดมาก่อน

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในพื้นที่จังหวัดสตูล การฉีดวัคซีนพระราชทานได้ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าถึงวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม และได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ มูลนิธิ พอ.สว. ได้จัดสรรวัคซีนพระราชทาน ซิโนฟาร์ม จำนวน 5,000 โดส เพื่อฉีดให้กับชาวจังหวัดสตูล จำนวน 2,500 ราย (รายละ 2 โดส) ใน 7 อำเภอของจังหวัดสตูลโดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบนัดของวัคซีน ผู้นำศาสนา และประชาชนผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล


ภาพ/ข่าง  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

กาฬสินธุ์ – มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งมอบหน้ากากอนามัย 144,000 ชิ้น ให้กับประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อใช้ในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 13 กันยายน 2564  ที่ห้องเจ้าเมือง ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 2 นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ประจำ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานในพิธีมอบสิ่งของพระราชทานหน้ากากอนามัยให้กับนายอำเภอทั้ง 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อนำไปส่งมอบต่อให้กับประชาชนในพื้นที่ใช้ในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดส่งสิ่งของพระราชทานหน้ากากอนามัย เพื่อให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนและขาดแคลนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์  จำนวน 2,880 กล่อง  กล่องละ 50 ชิ้น รวมเป็นจำนวน 144,000 ชิ้น โดยมีนายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมพิธี     

ทั้งนี้ กรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ประจำจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ  หัวหน้าส่วนราชการ รวมถึงประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "พระบรมราชูปถัมภก" แห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ทรงห่วงใยทุกข์ยากของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ และเป็นขวัญกำลังใจให้ประชาชน สามารถผ่านความทุกข์ยากเดือดร้อนในเบื้องต้นไปได้

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดวันนี้ 13 กันยายน 2564 พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 41 ราย เป็นผู้ติดเชื้อขอกลับมารักษาในภูมิลำเนา 5 ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 22 ราย ติดเชื้อภายในจังหวัด 14 ราย และหายป่วย 21 ราย โดยมียอดผู้ป่วยสะสมรวม 7,278 ราย รักษาหายแล้ว 6,516 ราย กำลังรักษาอยู่ 715 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 47 ราย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

จันทบุรี - ชาวประมงไม่ทน! รัฐบาล 7 ปี ไม่มีอะไรดีขึ้น ขอทวงคืนอาชีพประมงให้ชาวไทย ยื่นฎีกาถวายในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อขอความช่วยเหลือชาวประมง

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปยัง  ท่าเทียบเรือแบบเบ็ดเสร็จ ต.ปากน้ำแหลมสิงห์ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี  หลังชาวประมงมีการโพสข้อความลงสื่อโซเชียล และ มีการติดป้ายไวนิล ตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยระบุข้อความว่า “ 21 กันยายน 64 วันประมงแห่งชาติ วันทวงคืน อาชีพประมงไทย 7 ปี ฉิบหายหมดแล้ว ประมงไทย และประมงไทย Call Out ”

เรื่องนี้ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับ นายภูมินทร์ ภาณะรมย์  นายกสมาคมประมงแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี  เปิดเผยว่า  สืบเนื่องจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยมีการประชุมคณะกรรมการบริหารและที่ปรึกษา ครั้งที่ 1 ผ่านระบบ ZOOM เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2564 ผลสรุปในการประชุม ก็ได้มีการพูดถึงจะมีการจัดกิจกรรม เนื่องในวันประมงแห่งชาติ วันที่ 21 กันยายน 2564

โดยคณะกรรมการมีมติให้สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ขึ้นป้ายเพื่อแสดงออกทางสัญลักษณ์ ไว้ ณ ที่ทำการ สปท. และใช้ประโยค “ประมงไทย Call out โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกสมาคมฯ จัดทำป้าย และขึ้นป้ายเพื่อแสดงออกทางสัญลักษณ์ โดยให้สมาชิกทุกองค์กร ขึ้นป้ายตามอัธยาศัย ทั้ง 22 จังหวัด ทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ นายกสมาคมประมงแหลมสิงห์ ยังได้บอกอีกว่า ในที่ประชุมได้มีผู้เสนอขอให้มีการยื่นฎีกาถวายในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อขอความช่วยเหลือชาวประมงในช่วงสถานการณ์โควิด-19  

1.เรื่องขอผ่อนผันการควบคุมวันทำการประมงออกไปก่อนอย่างน้อย 3 ปี ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

2.เรื่องขอความช่วยเหลือเร่งรัดการเยียวยาเรือประมง (ขาวแดง) ที่ไม่สามารถออกทำการประมงได้ โดยที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหา IUU ของรัฐบาล คสช. ตั้งแต่ปี 2558 –ปัจจุบัน 

3.เรื่องขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ นำเสนอการตั้งงบประมาณในการจัดซื้อเรือประมงที่มีใบอนุญาตออกนอกระบบ

ทั้งนี้ ทางสมาคมสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้จัดทำฎีกาขอความช่วยเหลือ ถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 แล้ว ตามกระบวนการ ซึ่งก็เป็นความหวังของชาวประมงกว่าร้อยลำในจังหวัดจันทบุรี และอีกทั้ง 22 จังหวัดทั้วประเทศไทย นายกสมาคมประมงแหลมสิงห์กล่าว


ภาพ/ข่าว สุปราณี แก้วหุง จ.จันทบุรี

พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

สระบุรี – จัดพิธีมอบธงสัญลักษณ์หมู่บ้านสีฟ้า ปลอดโควิค! และประกาศเจตนารมณ์หมู่บ้านนี้ไม่มีโควิด-19

วันที่ 13 กันยายน 2564 เวลา 10:00 น. ณ ที่ว่าการอำเภอดอนพุด นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธาน ในพิธีมอบธงสัญลักษณ์ หมู่บ้านสีฟ้าปลอดโควิคและประกาศเจตนารมณ์หมู่บ้านนี้ไม่มี covid-19 โดยมีนางสาว​ญาณิพัชญ์ ศรี​โคตร นายอำ​เภอ​ดอนพุดได้กล่าวรายงานให้การต้อนรับในการมอบธงสัญลักษณ์หมู่บ้านสีฟ้าปอด covid ให้แก่ตัวแทนหมู่บ้านจำนวน 28 หมู่บ้าน และตัวแทนหมู่บ้าน 28 หมู่บ้านร่วมประกาศเจตนารมณ์บ้านนี้ไม่มีโควิด-19

จากนั้นนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีได้มอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมกับคณะได้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการการขับเคลื่อนหมู่บ้านสีฟ้าปลอดโควิด-19 ของอำเภอดอนพุดในการขับเคลื่อนหมู่บ้านของจังหวัดสระบุรี โดยมีดร.บุญมา อิ่มวิเศษ และคณะลงพื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี เพื่อถ่ายทำ วีดีทัศน์ประชาสัมพันธ์ในการขับเคลื่อนของหมู่บ้านสีฟ้า อีกด้วย


ภาพ/ข่าว  ดำรงค์ ชื่นจินดา รายงาน

สระบุรี - พิธีมหาพุทธาภิเษก หลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ รุ่น “ประวัติศาสตร์ตำรวจ”

ณ วิหารหลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ ตำบลคชสิทธิ์ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ได้รับความเมตตาจาก ท่านประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช มาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในพิธีนั่งปรกอธิษฐานจิตภาวนาฯ โดยมี พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธี มหาพุทธาภิเษก หลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ รุ่น “ประวัติศาสตร์ตำรวจ”

มี พลตำรวจตรี ชยานนท์ มีสติ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี / พันตำรวจเอก สถิตย์ สังข์ประไพ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรหนองแค พร้อมด้วย นาย สุนทร เข็มนาค นายกเทศมนตรีตำบลหนองแค / ดร.มงคล ศิริพัฒนกุล ที่ปรึกษาผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 / คุณแววตา หัฏฐะพงศ์ ที่ปรึกษา กต.ตร. สภ.หนองแค พร้อมคณะกต.ตร.สภ. หนองแค ให้การต้อนรับ และเข้าร่วมในพิธี

โดยรายได้ในการบูชาหลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ รุ่น ประวัติศาสตร์ตำรวจ โดยที่มีคนสั่งจองไว้หมดแล้ว รวมประมาณ 15,000,000, บาท โดยได้นำเงินไปซื้อที่ดินจำนวน 2 ไร่ 2งาน 71 ตารางวา โดยทำการโอนที่ดินเรียบร้อยแล้มีนาย สุนทร เข็มนาค นายกเทศมนตรีตำบลหนองแค พร้อมด้วย พ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ ผกก.สภ.หนองแค จ.สระบุรี ในฐานะประธานจัดสร้าง พิธีพุทธาภิเษก หลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ รุ่น ประวัติศาสตร์กรมตำรวจ โดยมี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ตำรวจ เป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษก หลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ รุ่นประวัติศาสตร์กรมตำรวจ เพื่อหารายได้ซื้อที่ดินให้กับ สภ.หนองแค จ.สระบุรี เพื่อเพิ่มขยายโรงพักให้กับประชาชนไว้ใช้บริการอย่างสะดวกสบาย

ส่วนวัตถุมงคลของหลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ รุ่น ประวัติศาสตร์กรมตำรวจ ได้มีประชาชนสั่งจองไว้หมดแล้ว ได้เงินเป็นจำนวน 15 ล้าน 5 แสนบาท ตามเจตนารมณ์ที่ต้องการซื้อที่ดินสองแปลง พื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน ติดกับโรงพักหนองแค เพื่อเพิ่มขยายโรงพัก ให้ประชาชนได้เข้ามาใช้บริการอย่างสะดวกสบาย โดยมอบให้กับกระทรวงการคลัง โดยมีธนารักษ์พื้นที่ จังหวัดสระบุรี เป็นผู้รับมอบ เป็นของทางราชการ แล้วได้มอบให้กับ สภ.หนองแค เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ภาพ/ข่าว  ดำรงค์ ชื่นจินดา รายงาน

พังงา - “จี้แดง” วันดี ปิยนามวาณิช ได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดพังงา ต่ออีก 1 วาระแบบไร้คู่แข่ง

ที่ห้องประชุมโรงแรม เลอ เอราวัณ อ.เมืองพังงา นายก้องเกียรติ รองรัตนพันธ์ ผอ.กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพังงา เป็นประธานการประชุมการคัดเลือกคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดพังงา โดยมีคณะกรรมการพัฒนาสตรีระดับอำเภอจาก 8 อำเภอและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติอย่างเอกฉันท์เลือก “จี้แดง”นางวันดี ปิยนามวาณิช ประธานคณะกรรมการสตรีจากอำเภอตะกั่วทุ่ง และประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดพังงา ที่เพิ่งหมดวาระ เป็นประธานคณะกรรมการฯต่ออีก1วาระแบบไร้คู่แข่ง พร้อมกันนั้นทางที่ประชุมได้เลือกรองประธานและคณะกรรมการด้านต่าง ๆ พร้อมคณะที่ปรึกษา เพื่อดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ในการพัฒนาสตรีของจังหวัดพังงาในวาระ 4 ปี

“จี้แดง” นางวันดี ปิยนามวาณิช กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการพัฒนาสตรีจากทุกอำเภอและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้ให้เกียรติและไว้วางใจให้เป็นประธานอีก1วาระ กรมการพัฒนาชุมชนได้เริ่มดำเนินงานพัฒนาสตรีในชนบทตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่ พ.ศ.2505 จนถึงปัจจุบัน โดยยึดนโยบายให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีให้มีความพร้อมเกี่ยวกับคุณลักษณะส่วนตัว ชีวิตในครอบครัว และการมีส่วนร่วมในสังคม โดยกระตุ้นให้สตรีมีความคิดริเริ่ม ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีความกระตือรือร้น มีความเชื่อมั่นในตัวเอง สามารถช่วยตนเองและครอบครัวได้ ตลอดจนมีความรู้ในการประกอบอาชีพและมีส่วนรับผิดชอบในการพัฒนาท้องถิ่น

โดยจัดตั้งและพัฒนาองค์กรสตรีแต่ละระดับ เพื่อเป็นแกนนำในการคิด ตัดสินใจ วางแผน แก้ไขปัญหาชนบทและการพัฒนาสตรี ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ประกาศใช้ปฏิญญาสตรีไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่  4 มกราคม  2537 โดยให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กร ธุรกิจ สื่อมวลชนและประชาชนร่วมมือกันในการพัฒนาสตรีเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดพังงา ได้ดำเนินการกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบุคลิกภาพ การสนับสนุนด้านอาชีพ การปลูกผักสวนครัวสร้างแหล่งอาหารในชุมชน การส่งเสริมและอนุรักษ์การแต่งกายด้วยผ้าพื้นถิ่น การให้ความรู้ในการใช้โซเชียลมีเดีย ฯลฯ รวมถึงการร่วมสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของกรมการพัฒนาชุมชนและจังหวัดพังงาด้วยดีอย่างเสมอมา


ภาพ/ข่าว  อโนทัย งานดี / พังงา

จันทบุรี - ประชุมหารือแนวทางการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ของศูนย์พักคอยในชุมชน CI ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ท้องถิ่นร่วมกันจัดตั้งรวม 37 แห่ง

วันนี้ ( 14 ก.ย.64 ) ที่ห้องประชุมไพลิน องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในฐานะ ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของศูนย์พักคอยในชุมชน Community Isolation หรือ CI ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดจันทบุรีร่วมประชุม ทั้งนี้ จังหวัดจันทบุรีได้บูรณาการความร่วมมือและจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน Community Isolation หรือ CI รวมแล้ว 37 แห่งครอบคลุมทั้ง 10 อำเภอ ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีเรื่องเพื่อพิจาณาในการหารือแนวทางการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของศูนย์พักคอยในชุมชน รวมทั้งเรื่องเพื่อทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของจังหวัดจันทบุรี / การมอบหมายการจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน / กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น / การจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อของศูนย์พักคอยในชุมชนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอำเภอดำเนินการอยู่ / การจัดการมูลฝอยติดเชื้อในโรงพยาบาลสนาม และศูนย์พักคอยในชุมชนที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีดำเนินการอยู่ 


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี

พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

อุดรธานี - ทหารอุดร บูรณาการ 14 หน่วยงาน ฝึกซ้อมบรรเทาสาธารณภัย เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุ

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ณ  บริเวณลานหน้าพระอนุสาวรีย์พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ค่ายประจักษ์ศิลปาคม ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี พลตรี พิทักษ์ จันทร์เขียว ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 24 /ผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 24 เป็นประธานเปิดการฝึกการซักซ้อมบรรเทาสาธารณภัย และช่วยเหลือประชาชน โดยมี พันเอก ปฏิวัติ ชื่นศรี เสนาธิการ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กรมทหารราบที่ 13 และหน่วยงาน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 14 หน่วยงาน เข้าร่วมพิธีฯดังกล่าว 

โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อบรมให้ความรู้ ซักซ้อมแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนเพื่อให้เข้าใจในเรื่องการบรรเทาสาธารณภัย ให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วย ระหว่างวันที่ 13 – 14 กันยายน  2564

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ในการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยได้ฝึกเตรียมความพร้อมด้านกำลังพล และยุทโธปกรณ์ให้เกิดความชำนาญในการใช้ยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อย่างปลอดภัย ทั้งผู้ให้การช่วยเหลือ และผู้ได้รับการช่วยเหลือ สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่ ที่จะเข้าให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที รวมทั้งบูรณาการวางแผน ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  


ภาพ/ข่าว  จ.ส.อ.กฤษฎา มณีใส กรมทหารราบที่ 13

แม่ฮ่องสอน - ชาวบ้านลุ่มน้ำยวมส่งหนังสือถึง “บิ๊กป้อม” วอน กก.วล.เลื่อนการพิจารณา EIA ผันน้ำยวม

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 นายสะท้าน ชีวะวิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เปิดเผยว่า ขณะนี้เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวินได้ส่งหนังสือ ถึงคณะรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.)และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ เพื่อขอให้เลื่อนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และขอให้ส่งกลับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก.) ทบทวนการพิจารณารายงานให้ครอบคลุมในทุกมิติ 

นายสะท้านกล่าวว่าเครือข่ายฯ  ทราบว่า คชก. ได้พิจารณาผ่านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดส่งรายงานดังกล่าวให้ กก.วล.เพื่อพิจารณาแล้ว และ กก.วล.จะมีการพิจารณาในวันที่15 กันยายน 2664 ซึ่งซึ่งเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน เห็นว่า EIA ฉบับนี้จะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งโครงการประกอบด้วยโครงสร้างต่าง ๆ อาทิ เขื่อนแม่น้ำยวม ถังพักน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ ฯลฯ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำเมย แม่น้ำยวม แม่น้ำสาละวิน และพื้นที่ของอุโมงค์ส่งน้ำใน 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่ นอกจากนี้โครงการดังกล่าว ยังจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเมยและสาละวิน อันเป็นเขตพรมแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ และอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

โดยที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือต่อเลขาธิการ สผ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำดังกล่าวไปยังหน่วยงานตลอดมา 

“เราระบุในหนังสือว่า คชก. ก็ยังคงผ่านรายงานเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม โดยหนังสือฉบับนี้ เครือข่ายฯ ขอเรียนมาเพื่อขอแสดงจุดยืนคัดค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ โดยขอให้เลื่อนการพิจารณารายงาน EIA ของ กก.วล.และขอให้ส่งกลับรายงานให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯทบทวนการพิจารณารายงานให้ครอบคลุมในทุกมิติ พร้อมทั้งขอให้ดำเนินการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างรอบด้านครบทุกกลุ่ม อีกทั้ง ขอให้นำข้อห่วงกังวลหรือข้อคิดเห็นของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโดยตรง ให้ดำเนินการทบทวนการทำรายงานรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ ให้ครอบคลุมในทุกมิติ” นายสะท้าน กล่าว

ในวันเดียกันมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล  โดยระบุว่าโครงการดังกล่าว ต้องใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5 แห่ง และพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง สูญเสียพื้นที่ป่าทั้งสิ้น 3,641.77 ไร่ ปัจจุบันรายงาน EIA กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ กก.วล.พิจารณาทั้งที่รายงานดังกล่าว ยังมีข้อกังขาถึงกระบวนการจัดทำรายงานฯ ความถูกต้องของข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ว่าผู้มีส่วนได้-เสียในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงหรือไม่

“มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในนามของตัวแทนเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ 19 องค์กรตามรายชื่อแนบท้าย ได้ทำการยื่นจดหมายถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ และประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ขอให้ยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกขนาดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และทบทวนนโยบายการจัดการน้ำของทั้งประเทศ เพื่อประเมินความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน

โดยมี นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับมอบเอกสารคัดค้านดังกล่าว โดยขอแสดงเจตนายืนยันไม่เห็นด้วยที่จะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทอื่น ๆ เช่น อุโมงค์ผันน้ำที่ผ่าใจกลางผืนป่าในพื้นที่อนุรักษ์อีกต่อไป ซึ่งโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล คือ 2 โครงการจาก 77 โครงการ องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ฯ ขอแสดงเจตนายืนยันที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด ยกเลิกการเร่งผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแบบเหมารวม และเลือกการจัดการแหล่งน้ำนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นลำดับแรก ส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการน้ำแบบไม่ทำลายพื้นที่ป่าเพื่อให้คนและสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน” แถลงการณ์ของมูลนิธิสืบระบุ 

ลำปาง - มจร.วส.นครลำปางจัดกิจกรรม "ปันน้ำใจ เราไม่ทิ้งกัน ครั้งที่ 2" ครบรอบสถาปนา "134 มหาจุฬา

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง จัดกิจกรรม โครงการ "ปันน้ำใจ เราไม่ทิ้งกัน ครั้งที่ 2" เนื่องในโอกาสครบรอบสถาปนา "134 มหาจุฬา" โดยทางกิจการนิสิตฯได้นำนิสิตบรรพชิตและคฤหัสถ์มาช่วยกันจัดทำข้าวกล่องเพื่อนำไปมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนผู้มาฉีดวัคซีนที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ซึ่งเป็นโครงการ "ปันน้ำใจ เราไม่ทิ้งกัน" ครั้งที่ 2 โดยวิทยาลัยสงฆ์นครลำปางได้จัดกิจกรรมเพื่อสังคมสนองนโยบายอธิการบดีและในวันนี้ ซึ่งได้ร่วมบูรณาการกับทางวิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตจัดทำข้าวกล่องจำนวน 600 ชุด โดยในงานนี้ได้รวบรวมปัจจัยจากคณะครู อาจารย์ นิสิต ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ และผู้มีจิตศรัทธา จำนวนหนึ่งมาเป็นค่าใช้จ่ายในครั้งนี้ ในยามเกิดวิกฤตทางวิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง ก็ไม่ทอดทิ้งกัน จะช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกันตามกำลังความสะดวก ดังสุภาษิตคำพังเพยที่ว่า "เพื่อนแท้ก็จะเห็นใจกัน ในยามทุกข์ยากลำบาก"

โดยในช่วงเวลา 11.00 น. ตัวแทนผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ ได้เดินทางไปมอบข้าวกล่องให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่อบจ.ลำปางที่ปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 200 ชุด และ ได้ร่วมออกโรงทานแจกอาหาร น้ำดื่ม ให้กับประชาชนที่มาเข้ารับการฉีดวัคซีน จำนวน 400 กล่อง ณ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ถ.ป่าขาม ต.หัวเวียง อ.เมือง จ.ลำปาง "134 ปี มหาจุฬาฯ พัฒนาปัญญาและคุณธรรม นำสังคมสู่สันติสุข"


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top