Wednesday, 14 May 2025
PoliticsQUIZ

ครม.อนุมัติงบประมาณกว่า 473 ล้าน ให้กระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) เพิ่มเติม รองรับผู้กักกันตัวในระยะที่ 5

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) เพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้กักกันตัว จำนวน 22,248 คน ในระยะที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. - 30 พ.ย 2563 วงเงิน 473,150,000บาท

ตามที่กระทรวงกลาโหม เสนอ แบ่งเป็นค่าตอบแทนบุคลากร ค่าเช่าที่พักกักกันตัวค่าวัสดุการแพทย์และยานพาหนะ เป็นต้น โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เบิกจ่ายในงบดำเนินงาน

นายอนุชา กล่าวว่า "ที่ผ่านมากระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกันจัดสถานที่ พื้นที่สำหรับสังเกตอาการ เพื่อใช้ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โดยเป็นสถานที่ราชการ 2 แห่ง และโรงแรมเอกชน 26 แห่ง เพื่อรองรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้ารับการกักกันตัว จำนวน 63,570 คน ตั้งแต่ 7 มี.ค - 30 ก.ย.2563 ระยะที่ 1 -ระยะที่ 4 โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ รวมวงเงินรวมทั้งสิ้น 1,536,340,514 บาท"

รองนายกรัฐมนตรี ‘วิษณุ เครืองาม’ เผยครม.เห็นชอบให้เลือกตั้งทิ้งถิ่นระดับเทศบาลก่อน ส่วนเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร รอคิวก่อน ระบุ ยังอยู่ระหว่างแก้กฎหมายจะยังคงมี สก.- สข. หรือไม่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้เตรียมการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ระดับเทศบาล และ สภาเทศบาล ว่า เป็นการเลือกตั้งระดับเทศบาล คือ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และ เทศบาลนคร ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เป็นลำดับที่จะพิจารณาต่อไป

การเลือกตั้งเกี่ยวกับกทม. ยังมีปัญหาเพราะขณะนี้ยังถกเถียงกันเรื่องสก. และ สข. ว่าจะให้มีสข. หรือไม่ ถ้าจะให้มีกฎหมายต้องแก้กฎหมาย ซึ่งขณะนี้ค้างอยู่สภาฯ ดังนั้นลำดับแรกเลือกระดับเทศบาลก่อน จากนั้น ค่อยเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จากนั้นเป็นเมืองพัทยา และ กทม. ซึ่ง 2 อย่างนี้อาจจะร่วมหรือแยกกันก็ได้

ซึ่งเลขากกต. ชี้แจงว่า พื้นที่เทศบาลไม่ทับซ้อนกับพื้นที่อบต. จึงไม่สามารถนำมาเลือกพร้อมกันได้ จึงต้องแยกกันเลยขอให้แต่ละอย่างเว้นช่วง โดยเรื่องเทศบาลควรเลือกภายใน 3 เดือนแรกของปี เนื่องจากมีความเกี่ยวโยงกับจำนวนประชากรที่พรบ.การทะเบียนราษฎรให้สรุปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 63 และต้องประกาศภายใน 3 เดือนจึงเลือกตั้งเทศบาลภายในเดือนมี.ค.64 ส่วนวันที่เท่าไหร่นั่นอยู่ที่กกต.เพราะครม.ไม่มีอำนาจ

เมื่อถามว่ามีการประเมินเบื้องต้นว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ช่วงไหน นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบเพราะครม.ในวันนี้ไม่มีการพูดเรื่องดังกล่าว เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับครม.เพราะจะเป็นผู้บอกว่าวันนี้เลือกเทศบาล โดยขอเอาเรื่องเลือกตั้งระดับเทศบาลก่อน ส่วนการเลือกตั้งระดับอื่น ๆ จะเป็นเมื่อไหร่ ครม.จะเป็นคนบอก และประเมินตามสถานการณ์หลายอย่าง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสข. ที่ค้างอยู่ในสภาฯที่รอความเห็นรัฐบาล

ครม. เห็นชอบ เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ ระดับ ประถม-มัธยม-อาชีวะ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และป้องกันความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษา

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปีงบประมาณ 2565 รวมวงเงินทั้งสิ้น 7,635.67 ล้านบาทประกอบด้วย 9 แผนงาน ได้แก่ นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาวงเงิน 364 ล้านบาท , ส่งเสริมโอกาสและพัฒนาคุณภาพนักเรียนวงเงิน 4,847.52 ล้านบาท, สร้างนวัตกรรมการพัฒนาครูและสถานศึกษาวงเงิน 459.15 ล้านบาท , พัฒนากลไกจังหวัดและระบบช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่ยากจนและเด็กนอกระบบการศึกษาวงเงิน 386 ล้านบาท ,สร้างต้นแบบระบบการผลิตและพัฒนาครูวงเงิน 298.73 ล้านบาท, สร้างนวัตกรรมสายอาชีพสร้างโอกาสนักเรียนอัจฉริยะที่มีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาสได้เรียนต่อระดับสูงและพัฒนาประชากรวัยแรงงานด้อยโอกาสวงเงิน 856.44 ล้านบาท , สร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติและวิเทศสัมพันธ์วงเงิน 39.20 ล้านบาท, งานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและระดมความร่วมมือทางสังคมวงเงิน 68.50 ล้านบาท และงานด้านการบริหารและพัฒนาระบบงานวงเงิน 316.13 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า "ได้เห็นชอบให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข(ทุนเสมอภาค) โดยกสศ.ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลให้ครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษมีรายได้ลดลงและเกิดการว่างงาน ประกอบกับผลวิเคราะห์จากโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ มีข้อเสนอว่า อัตราเงินทุนเสมอภาคในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษ

ดังนั้นจึงเห็นควรให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างนักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้แตกต่างกัน และป้องกันความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาของประชากรกลุ่มนี้ในระยะยาว"

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า "อัตราเงินอุดหนุนใหม่ คือ ในระดับอนุบาล อัตราเดิม 4,000 บาทต่อปียังคงจ่ายเท่าเดิม ระดับประถมศึกษา อัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 5,100 บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 2,100 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 4,500บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 1,500 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา อัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 9,100 บาท เพิ่มขึ้น 6,100 บาท"

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า "ตามนิยามของเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ หมายถึง นักเรียนยากจนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อมแบบ PMT หรือ Proxy Means Test จากระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอยู่ในกลุ่มค่าคะแนนความยากจนอยู่ในเกณฑ์ยากจนพิเศษ หรือ ครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน"

ส.ส.นครศรีธรรมราช “เทพไท เสนพงศ์” เสนอรัฐทบทวนวิธีการเยียวยาใหม่ แจกเงิน 3,500 บาทต่อคน 3 เดือน ใช้ฐานเยียวยาตามบัญชีทะเบียนบ้าน มั่นใจไม่ตกหล่น เป็นธรรมกับทุกคน

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ตนเห็นด้วยกับ 4 มาตรการของรัฐบาล ที่บรรเทาผลกระทบ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 2 คือ 1. ลดค่าไฟฟ้า 2 เดือนตามใบแจ้งหนี้ ก.พ.-มี.ค.64 โดยให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก สำหรับบ้านพักอาศัยที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน 2. ลดค่าน้ำ 10% เป็นระยะเวลา 2 เดือนตามใบแจ้งหนี้ ก.พ.-มี.ค.64 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก 3. ลดค่าอินเทอร์เน็ต เพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านและโทรศัพท์มือถือเพื่อสนับสนุนการทำงานที่บ้านหรือ Work From Home และสนับสนุนการโหลดแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" ฟรีโดยไม่คิดค่าดาต้า 3 เดือน และ 4.มาตรการคนละครึ่ง ให้ขยายสิทธิ์เพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิ์ โดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนช่วงปลายเดือน ม.ค.นี้

นายเทพไท กล่าวต่อว่า สำหรับการจะเยียวยา 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือนนั้น ส่วนตัวอยากเสนอให้เยียวยาเป็นเวลา 3 เดือน เท่าโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่ยังไม่ทราบวิธีการเยียวยาของรัฐบาลที่ชัดเจน ว่าจะใช้แนวทางการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น หรือเว็ปไซด์ใหม่ หรือจะใช้ฐานข้อมูลเก่าในโครงการเราไม่ทิ้งกัน ตอนช่วงโควิด-19 ระบาดรอบแรกหรือไม่ เพราะวิธีการดังกล่าว มีจุดอ่อนและปัญหาตามมามากมาย ทำให้คนจนผู้ได้รับผลกระทบจริง ไม่ได้รับการเยียวยา แต่บางครัวเรือนกลับได้รับการเยียวยาหลายคน

จึงอยากจะให้รัฐบาลทบทวนวิธีการเยียวยาใหม่ โดยตนยืนยันแนวความคิดเดิมคือ เยียวยาเป็นรายครัวเรือนตามบัญชีทะเบียนบ้าน ของสำนักทะเบียนราษฏร กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมั่นใจว่าจะมีผู้ได้รับการเยียวยาครบทุกครัวเรือน ไม่มีการตกหล่น และเป็นธรรมกับคนไทยทุกคนด้วย ยกเว้นครอบครัวพนักงานรัฐวิสาหกิจ และครอบครัวข้าราชการ ที่ได้รับเงินเดือนประจำจากรัฐบาลอยู่แล้ว เมื่อตัดออกจากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 20 ล้านครัวเรือน จะเหลือครัวเรือนที่ไม่มีสมาชิกในบ้านเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสากิจประมาณ 15 ล้านครัวเรือนเท่านั้น จึงเป็นการประหยัดเงินงบประมาณ ประหยัดเวลาในการเยียวยา และสามารถเยียวยาทั่วถึงอย่างรวดเร็วทุกคน ส่วนการช่วยเหลือกิจการรายย่อย SME รัฐบาลจะต้องมีรายละเอียดของมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่อไปด้วย

‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประชุมติดตาม 9 มาตรการแก้แล้ง ย้ำต้องเสร็จก่อนฤดูแล้งนี้ ให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภค/เกษตร/อุตสาหกรรม เพียงพอ พร้อมสั่งเร่งช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ขณะนี้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ผอ.กอนช. ได้เป็นประธานการประชุม กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ สทนช.

ที่ประชุม ได้รับทราบสถานการณ์น้ำในปัจจุบันเมื่อ 12 ม.ค.64 สภาพแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำทั้งประเทศ รวม 49,246 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 60 ปริมาณน้ำใช้การ จำนวน 25,143 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 43 ,รับทราบการให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมภาคใต้ จ.ยะลา และจ.ปัตตานี ซึ่งขณะนี้ สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อยู่ในขั้นการช่วยเหลือ ฟื้นฟู ต่อไป

โดย พล.อ.ประวิตร ได้กำชับเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และรับทราบ ผลการติดตามผลการดำเนินงานโครงการงบกลางปี 2563 ตามมติ ครม.เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำในภาพรวมทั้งประเทศ ทั้งสิ้น จำนวน 31,054 โครงการ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 23,286 โครงการ ทั้งนี้ที่ประชุมได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงาน พร้อมกำชับ สทนช.ให้กำกับ ติดตามการดำเนินโครงการ อย่างต่อเนื่อง ต่อไป

กอนช. ได้พิจารณาเห็นชอบ ผลการดำเนินงานตามมาตรการ แก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 63/64 ตามมติ ครม.เมื่อ 3 พ.ย.63 โดยให้มีการควบคุม การจัดสรรน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ,ปรับปรุงแผนการควบคุมการเพาะปลูกนารอบที่ 2 (นาปรัง) ให้มากกว่าแผนทั้งในเขต และนอกเขตชลประทาน รวมทั้งตรวจสอบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภาวะน้ำแล้ง ของประปาท้องถิ่น และติดตามค่าความเค็มของน้ำ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และเห็นชอบผลการดำเนินงาน ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ คราวตรวจราชการน้ำท่วมภาคใต้ พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยมอบให้ สทนช. บูรณาการแผน และงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ,พัฒนาแก้มลิงบริเวณพรุควนเคร็ง และเร่งรัดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ด้วย รวมทั้งได้เห็นชอบ การขับเคลื่อนโครงการ บรรเทาอุทกภัย พื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีปี 2565-2566 ซึ่งมีแผนงานทั้งหมด 7 โครงการ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มความจุได้ 21.13 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 61,610 ไร่ (41,990 ครัวเรือน)

พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ สทนช. ให้กำกับ ติดตามโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง งป.ปี 63/64 อย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งรัดหน่วยงานปฏิบัติ ที่รับผิดชอบโครงการต่างๆ จะต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อมุ่งให้ประชาชน ได้มีน้ำใช้ อย่างเพียงพอ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตามพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยซ้ำซาก ที่ผ่านมาก็ต้องเร่งแก้ไข ให้ทันท่วงที โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ บริเวณ จ.นครศรีธรรมราช และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี ตอนล่าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน อย่างเร่งด่วน ต่อไป

"รมว.แรงงาน" เผย ลุยโรงงานพื้นที่เสี่ยง ตรวจโควิดเชิงรุกฟรี ช่วยนายจ้าง-ลูกจ้างไม่ต้องหยุดงาน และ ภาคผลิตเดินต่อได้ ลั่นกระทรวงแรงงานพร้อมเป็นกองหนุนรัฐบาลปราบโควิดเต็มที่

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ภายหลังที่กระทรวงแรงงาน ได้รับนโยบายจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว กลาโหม ได้ให้แนวทางลงช่วยเหลือเชิงรุก นายจ้างและลูกจ้าง โดยให้โรงพยาบาลในเครือข่ายสำนักงานประกันสังคม ได้บูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ กระทรวงมหาดไทย ที่เข้าไปตรวจสถานประกอบการเพื่อตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ให้ผู้ใช้แรงงานในรูปแบบทางเดินหายใจ (PCR) ที่จังหวัดสมุทรสาครไปเบื้องต้นแล้ว

ล่าสุด กระทรวงแรงงาน จะทำงานตรวจเชิงรุกต่อไปใน 28 จังหวัด ที่มีการคำสั่งควบคุมสูงสุด ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไป โดยขณะนี้มีหลายโรงงาน หลายสถานประกอบการ ได้ยื่นเข้ามาจำนวนมาก โดยรอพิจารณาคำขอจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ทั้งนี้ผู้ประกอบการ สถานประกอบการ ที่ผ่านการอนุมัติ จะสามารถตรวจคัดกรองโควิด-19 ได้ฟรี ซึ่งสำนักงานประกันสังคมในสังกัดกระทรวงแรงงาน จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ตามนโยบายรัฐบาลและจากการกำชับของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลนโยบายของกระทรวงแรงงาน ได้ให้แนวทางการทำงาน ต้องทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้การช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้าง ให้ภาคการผลิตเดินต่อ และ ด้านสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง ให้ปลอดภัยจากโควิด-19

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบการใน 28 จังหวัดที่จะเข้ารับการตรวจนั้นจะต้องผ่านเกณฑ์พิจารณาต่างๆ โดยประการแรก ต้องยื่นความประสงค์ขอเข้าร่วมตรวจคัดกรอง จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ประกันสังคมจังหวัด ภายใต้การอำนวยการของ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เห็นชอบขั้นตอนสุดท้าย

โดยเงื่อนไขหลักๆ สถานการประกอบการจะต้องมีสถานกักกันในโรงงาน ที่มีความพร้อม Factory Quarantine (FQ) ในกรณี ตรวจไม่ผ่านก็ให้โรงงานไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ และ เมื่อผ่านการอนุมัติ แล้ว โรงพยาบาลในเครือข่ายสำนักงาประกันสังคม จะดำเนินการตรวจตามขั้นตอนการรักษาต่อไป

"กระทรวงแรงงานคาดหวังจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจเชิงรุกและป้องกันโควิด - 19 โดยสถานประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองโควิด-19 จากเดิมที่นายจ้างต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ในการตรวจคัดกรองลูกจ้าง และ ที่สำคัญนโยบายรัฐบาลนี้ ยังเป็นการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการและลูกจ้าง ทั้งชาวไทย และ ต่างด้าว ไม่ต้องหยุดกิจการ ภาคการผลิต และลูกจ้างไม่ต้องหยุดงาน และ การผลิตส่งออกเดินหน้าต่อไป เพื่อท่าจะมีเงินไปเลี้ยงชีพและดูแลครอบครัว อีกทั้งกระทรวงแรงงานถือว่าเป็นกองหนุน เปรียบเสมือนเป็นผู้ช่วยการทำงานทุกภาคส่วนของภาครัฐ อาทิ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข ที่เราเข้าไปลุยตรวจถึงโรงนั่นๆ ถือว่าเป็นการดูแล และ ห่วงใยผู้ประกอบการและลูกจ้างเพื่อให้ผ่านสถานการณ์เช่นนี้ไปด้วยกัน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องทำทุกมิติ เพื่อชาติ บ้านเมือง พี่น้องประชาชน ต้องผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ไปด้วยกัน" รมว.แรงงาน กล่าว

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เผย แรงงานสนใจเข้าฝึกอบรมออนไลน์คึกคัก หลังจัดหลักสูตรพิเศษผ่านระบบ Application Zoom Meeting สมัครแล้วกว่า 2,000 คน โดยหลักสูตรด้านดิจิทัลติดอันดับยอดฮิต คนแห่สมัครเพียบ

ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การอบรมออนไลน์ช่วยให้แรงงานได้รับโอกาสเข้าฝึกอบรมได้เป็นจำนวนมาก สามารถเข้าอบรมพร้อมกันถึง 100 คนต่อรุ่น เพื่อช่วยเหลือแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน จึงจัดหลักสูตรพิเศษ แบบออนไลน์ ผ่านระบบ Application Zoom Meeting โดยหน่วยงานในสังกัด กพร. ที่มีความพร้อมจำนวน 50 จังหวัด ปัจจุบัน ได้รับความสนใจจากผู้ใช้แรงงานสมัครเข้าฝึกอบรมแล้วกว่า 2,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มกราคม 2564) เหลืออีกเพียง 30 จังหวัดเท่านั้น ที่ผู้สมัครยังไม่เต็ม 100 คน

หลักสูตรที่ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก เช่น เทคนิคการสร้างร้านค้าและขายสินค้าออนไลน์ การผลิตสื่อโฆษณาและหนังสั้นด้วยสมาร์ทโฟน การสร้างอินโฟกราฟิกเพื่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ การออกแบบและตกแต่งภาพด้วยโปรแกรม Photoshop และ Illustrator การใช้โปรแกรม Microsoft Excel Advance และภาษาพม่าเบื้องต้นเพื่อการทำงาน เป็นต้น สังเกตได้ว่า แรงงานให้ความสนใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้น หลักสูตรการฝึกจึงต้องปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวต่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยต่อแรงงานทั่วประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ covid-19 โดยสั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งให้ความช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานทุกประเภทรวมถึงผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งการจัดหางาน การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อส่งเสริมด้านอาชีพแก่แรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมทั้งบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้ชีวิตวิถีใหม่

ซึ่ง กพร. ได้ปรับรูปแบบการฝึกอบรม เป็นการฝึกอบรมออนไลน์ ผ่านระบบ Application Zoom Meeting ทั้งการฝึกตามโครงการปกติและโครงการพิเศษ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานตามโครงการปกตินั้น กพร. ปรับแผนการฝึกให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เช่น สาขาอาชีพที่ต้องมีการฝึกภาคปฏิบัติ ต้องจัดเว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนคนเข้าฝึกภาคปฏิบัติ ส่วนภาคทฤษฎีจัดอบรมแบบออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM เป็นต้น มาตรการอื่น ๆ ให้มีการตรวจคัดกรอง การจัดเจลแอลกอฮอล์ ไว้ประจำจุดฝึกอบรม/ทดสอบมาตรฐานฝีมือ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น

ผู้ว่างงานที่สนใจเข้าอบรมสามารถสมัครได้ที่ www.dsd.go.th เลือก สมัครฝึกอบรม และค้นหา “ของขวัญปีใหม่” (โครงการนี้รับ 100 คน/รุ่น) ส่วนการฝึกตามโครงการปกติรับ 20 คน/รุ่น ส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรที่ต้องฝึกภาคปฏิบัติด้วย สามารถสมัครได้ที่ www.dsd.go.th เลือก สมัครฝึกอบรม

กูเกิล ประกาศระงับบัญชียูทูปของประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ แห่งสหรัฐเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน โดยระบุว่า ปธน.ทรัมป์ได้อัปโหลดวิดีโอที่มีเนื้อหาละเมิดนโยบายด้านการยั่วยุความรุนแรง หลังเกิดเหตุจลาจลครั้งใหญ่ที่รัฐสภาสหรัฐเมื่อสัปดาห์ก่อน

อัลฟาเบท อิงค์ บริษัทแม่ของกูเกิล สั่งระงับบัญชียูทูบ (YouTube) ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้บัญชียูทูบที่มีชื่อว่า “Donald J. Trump” ที่มีผู้ติดตามกว่า 2.77 ล้านคน จะไม่สามารถอัปโหลดวิดีโอใหม่หรือถ่ายทอดสดผ่านคลิปวิดีโอได้เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน หรืออาจจะนานกว่านั้น

แน่นอนว่า การดำเนินการล่าสุดของกูเกิลครั้งนี้ ส่งผลให้ปธน.ทรัมป์ไม่สามารถอัปโหลดวิดีโอใหม่ๆ ลงในยูทูบ นอกจากนี้ กูเกิล ยังสั่งปิดช่องการแสดงความเห็นใต้เนื้อหาที่อัปโหลดในยูทูบด้วย

ทั้งนี้ กูเกิลมีมาตรการ 3 ระดับในการเตือน ก่อนที่จะสั่งระงับบัญชีเป็นการถาวรสำหรับผู้ที่ละเมิดกฎระเบียบของบริษัท โดยแถลงการณ์ของบริษัทระบุว่า “หลังจากที่ได้ทบทวนเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว รวมทั้งเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ กูเกิลได้ตัดสินใจระงับบัญชียูทูบ Donald J. Trump เนื่องจากมีเนื้อหาละเมิดนโยบายของเรา นอกจากนี้ เรายังปิดคอมเมนต์ทางช่องยูทูบของปธน.ทรัมป์ เช่นเดียวกับที่เราดำเนินการกับช่องอื่นๆที่ละเมิดกฎระเบียบ”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กและยูทูปสั่งลบวิดีโอคลิปของปธน. ทรัมป์ออกจากแพลตฟอร์ม เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าคลิปดังกล่าวยุยงให้เกิดความรุนแรง หลังจากกลุ่มผู้สนับสนุนปธน. ทรัมป์ ได้บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา เพื่อขัดขวางการประกาศรับรองชัยชนะของนายโจ ไบเดนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

ขณะที่ อะมาซอนดอทคอม ได้สั่งระงับการใช้งานพาร์เลอร์ สื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมของกลุ่มผู้สนับสนุนผู้นำสหรัฐเช่นเดียวกัน

‘โฆษกฯศบค.’ แจง ปรับปรุงแอพฯ “หมอชนะ” ใส่แค่ข้อมูลจำเป็นให้ประชาชนสะดวกลงทะเบียน-ระบบน่าเชื่อถือ ลั่น ถ้าไม่ป่วยไม่ต้องง้อหน้ากากทางการแพทย์ ชวนใส่หน้ากากผ้าดีสุด

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (ศบค.)กล่าวถึงข้อสังเกตการประเมินความเสี่ยงในแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” ซึ่งบางคนใส่ข้อมูลความเสี่ยงสูงทุกข้อ แต่เมื่อแอพฯประเมินออกมาระบุว่าเสี่ยงน้อยถือว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ว่า เรื่องนี้ศบค.ชุดเล็ก และหน่วยงานที่รับผิดชอบแอพฯ รวมถึงกรมควบคุมโรค มาไล่เรียงข้อมูลที่มีความจำเป็น และตัดชุดคำถามให้เหลือเพียงการลงทะเบียน ถ่ายภาพใบหน้าจริง ซึ่งจะปรากฏคิวอาร์โค้ดสีเดียวออกมา ถ้าไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อหรือเป็นขอบของ 28 จังหวัด ที่มีผู้ติดเชื้อสูงเมื่อใส่ข้อมูลต่างๆ เข้าไปแล้วระบบจะบอกด้วยว่ามีความเสี่ยงแค่ไหน ซึ่งวันนี้มีคนลงทะเบียนรวม 4.8 ล้านคน และยิ่งลงทะเบียนกันมากขึ้นจะมีระบบนิเวศน์ของคนจะเกิดระบบการเตือนและจะบอกข้อมูลเราได้ทันที และเชื่อว่าคงไม่ยุ่งยากในการแปลผล เพื่อให้ประชาชนสะดวกในการใช้งาน

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อห่วงใยจากกรณีที่มีผู้ติดเชื้อที่จังหวัดพิษณุโลก มีอาชีพส่งของในบริษัทส่งของเอกชน จะทำให้เกิดความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องนี้อาจทำให้เกิดความวิตกกังวล แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะในความเป็นจริง ถ้ามีการสัมผัสสิ่งของก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ขอให้คิดไว้ก่อนว่าทุกคนมีโอกาสแพร่เชื้อได้จึงต้องเน้นย้ำเรื่องสุขลักษณะส่วนตัว ถ้าไม่อยากล้างมือบ่อยสามารถใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ได้ ให้ป้องกันไว้จะดีที่สุด ซึ่งการสวมหน้ากากผ้ายังมีความสำคัญ อย่าไปแย่งซื้อหน้ากากอนามัย ถ้าไม่มีขายก็ไม่ต้องง้อถ้าไม่ป่วย แต่ถ้าป่วยก็จำเป็นต้องใช้ ย้ำว่าเวลานี้หน้ากากผ้าดีที่สุด

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (13 มกราคม พ.ศ.2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 157 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 10,991 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 67 ราย รักษาหายเพิ่ม 211 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 6,943 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 3,981 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 157 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากไอซ์แลนด์ 1 ราย,สหรัฐอเมริกา 1 ราย,เยอรมนี 1 ราย,กาตาร์ 1 รายผ่านการคัดกรองและเข้าพักสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้

เดินทางมาจากต่างประเทศ เป็นคนไทย 21 ราย จาก เมียนมา เข้ารับการรักษาตัวใน รพ.แม่สอด

ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 90 ราย

ติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก 42 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 174 ราย รักษาหายแล้ว 153 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 396 ราย รักษาหายแล้ว 376 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 8.47 แสน ราย รักษาหายแล้ว 6.96 แสน เสียชีวิต 24,645 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.42 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.11 แสน ราย เสียชีวิต 559 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.32 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.15 ราย เสียชีวิต 2,878 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.91 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.58 แสน ราย เสียชีวิต 9,554 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,946 ราย รักษาหายแล้ว 58,694 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,520 ราย รักษาหายแล้ว1,361 ราย เสียชีวิต 35 ราย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top